เทศน์เช้า

ปล่อยอนัตตา

๕ พ.ย. ๒๕๔๓

 

ปล่อยอนัตตา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ศาสนามันเรื่องของใจ เรื่องของใจหมายถึงว่าความสุขความทุกข์มันเกิดที่ใจ บุญกุศลมันเข้าถึงใจ แต่คนเรามันไพล่ไปเอาที่วัตถุ สิ่งนี้เป็นปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย เวลาถวายเป็นปัจจัยนี่ ถวายเป็นใบปวารณา พอเป็นใบปวารณานี่ ขอให้ภิกษุเรียกร้องปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยนี่ได้ในเงินจำนวนนี้ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่า “ภิกษุให้ยินดีสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง ไม่ให้ยินดีในตัวเงินและทอง”

ฉะนั้นถึงว่าถ้าตัวเงินและทองนี่จับต้องไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง เงินและทองนี่เปลี่ยนเป็นปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย เห็นไหม ปัจจัย ๔ เครื่องดำรงชีวิต คนที่จะชำระกิเลสมันต้องฉลาด ฉลาดหมายถึงว่าต้องรักษาชีวิตนี้ไว้เพื่อจะชำระกิเลสใช่ไหม อะไรก็ปฏิเสธ ๆ ชีวิตนี้เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาจะปล่อยให้ชีวิตนี้ขาดไปเหรอ ถึงว่าอย่างเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ หยูกยาขึ้นมา มันก็มาจากเงิน ถ้าเรารังเกียจตัวเงิน เงินนี่ไปซื้อของนั้นมา มันก็รังเกียจด้วยใช่ไหม

แต่ตัวเงินนี่พระพุทธเจ้าไม่ให้ไปยุ่งกับมัน ไม่ให้ยินดีในตัวเงินและตัวทอง แต่ให้ยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่แลกเปลี่ยนขึ้นมาจากเงินและทอง ฉะนั้นว่าถึงต้องมีการกสงฆ์ มีพวกผู้ทำการแทนในสงฆ์ ที่ว่าเราทำกันนี่ ให้พวกนั่นเขาจับเงินไว้ แล้วต้องการอะไรก็บอกเขา ๆ แต่ถ้าเงินมาอยู่กับเรานี่ ดูที่ว่าเสียเสียกันตรงไหน? เสียตรงนี้ เสียตรงที่ว่าพอมีอยู่กับเรานี่ ความชินชานะ จับทุกวัน แล้วมันก็คิดสิ จินตนาการว่าอยากได้อะไร พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “เงินนี้เปรียบเหมือนอสรพิษ”

ถ้าคนเรามีเงินนี่ มันคิดจินตนาการแบบมันทำลายตัวเอง ดูอย่างที่ว่าเขาติดพวกยาเสพติดกัน มันไปจากเงินไหม? แล้วเงินนี่มันทำลายตัวเองไหม? นี่อสรพิษมันกลับมา อสรพิษแบบอ่อน ๆ เห็นไหม เราเก็บไว้รักษาไว้เราก็ทุกข์เราก็ยากไปเหมือนกัน นี่มันไม่มองกลับมา มองมาที่ใจ เพราะเงินถึงได้ทำให้เสียกันไป

แต่ถ้าตัวศาสนา เห็นไหม ที่ว่าโลภ โกรธ หลง นี่มันยังหยาบนะ เพราะโลภ โกรธ หลง มันเป็นเรื่องของขันธ์ เรื่องของความคิดไง แล้วความคิดนี่มาจากไหน นี่ดู ฟังสิ ความคิดนี่มันมาจากไหน ความคิดต้องมีที่มาสิ ความคิดจะมาลอย ๆ ได้อย่างไร ถึงบอกว่า ในแก่นธรรมที่ว่านี่ เขาบอกว่านิพพานเป็นอนัตตาอีกแล้ว เขาบอกนิพพานเป็นอนัตตาเพราะอะไร? เพราะว่าเป็นขันธ์ ขันธ์นี่มีเหตุและมีปัจจัย พอหมดเหตุหมดปัจจัยไปแล้วมันก็วนไป วนไปในตัวของใจที่ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เขาบอกตัวนั้นคือตัวนิพพาน นิพพานคืออนัตตา

อัตตาและอนัตตานี่มันของก้าวเดิน อย่างตัวขันธ์นี่ ขันธ์ ๕ เห็นไหม โลภ โกรธ หลง เกิดจากอวิชชา เห็นไหม นางตัณหา นางอรดี เป็นลูกสาวของพญามาร พญามารคือตัวใจ แล้วตัวขันธ์นี่ เห็นไหม ลูกสาวที่ออกมา ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เทียบมา อย่างเงินเมืองไทยนี่ เราเอาเงินไทยให้คนต่างชาติมาที่ไม่รู้จักเงินเมืองไทย เห็นกระดาษนี่เขาจะไม่รับเลย เพราะเขาไม่รู้จักว่าเงินเมืองไทย เห็นไหม

ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดจากสัญญา ความจำได้ ความเทียบค่าไง สิ่งที่เทียบค่าได้นี่คือสัญญา สัญญาความจำได้หมายรู้ สัญญาว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งนี้สิ่งที่ดี แต่เราไม่เข้าใจ เราก็จะไม่มีความโลภในสิ่งนั้นเลย นี่โลภ โกรธ หลง เกิดจากขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี่มาจากจิต ย้อนกลับไป ถ้าทำลายในขันธ์ ๕ ทั้งหมด ขันธ์ ๕ นี่โดนทำลายออกไปทั้งหมด เราพิจารณาแล้วปล่อยวางขันธ์ ๕ ไปทั้งหมด นี่เข้าใจว่าตรงนั้นมันสิ้นไง

มันสิ้นไปไม่ได้ เพราะว่าเป็นอนัตตา ตัวอนัตตานั่นนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ไม่ใช่ขันธ์ จิตเดิมแท้นี้เป็นผ่องใส แต่จิตเดิมแท้นี่หมองไปด้วยอุปกิเลส ความที่ว่าจิตเดิมแท้นี่ผ่องใสอยู่ จิตเดิมแท้ที่ว่าตัวนิพพานที่ว่าเกิดดับ ๆ มันก็เข้ากับจิตเดิมแท้สิ มันยังไม่เข้าถึงตัวจริง ตัวจริงมันไม่ใช่จิตเดิมแท้ ถ้าจิตเดิมแท้นี่มันก่อรูปแล้วเป็นภวาสวะ เป็นภพ นี่เขาว่าตัวนี้เป็นตัวนิพพาน เป็นตัวนิพพานได้อย่างไร ที่พูดนี่ว่าจิตเดิมแท้ จิตอะไรนี่ มันคืออะไร คือใจใช่ไหม จะเทียบดูว่าถึงเรื่องของใจ ใจเท่านั้นที่ว่าเป็นเรื่องของความสุขความทุกข์

เวลาเราปฏิบัติเข้าไป ถ้าผู้ปฏิบัติเข้าไปจะเห็นอย่างนั้น ย้อนกลับมาบุญกุศล ถ้าบุญกุศลเราสร้างขึ้นมานี่ เป็นอาหารของใจ พอเสพกับบุญกุศลนี่ มันจะพัฒนาตัวมันเองขึ้นไป แต่ทีนี้เราไพล่ไปมองดูที่วัตถุ แล้วพอดูวัตถุนี่ มันก็มองข้ามตัวเอง พอเวลาเราทำอะไรผิดพลาดขึ้นมานี่ เราจะเสียใจมากเลย เราไม่ได้อะไรมาสมหวังเราก็จะเสียใจมาก เราเสียใจมากจนลืมว่ามองดูเราไง มองดูว่าผู้ที่ผิดพลาดไป ตรงนั้นสำคัญที่สุด

มองดูเราใช่ไหม ถ้าเราพลาดจากสิ่งนั้นมาทุกอย่างนี่เราจะเสียใจ แล้วสิ่งที่มันผิดพลาดมันอยู่ที่ไหน ถึงว่ามองข้ามตัวตน มองข้ามหัวใจที่จะไปรับรู้สิ่งนั้น เราไปมองสิ่งนั้น เห็นไหม มันไพล่ไปเอาข้างนอก มันไม่เอาเข้ามาข้างใน ถึงเวลาวิปัสสนาเข้ามาหมายถึงว่า เราทำความสงบเข้ามาเพื่อจะหาใจของตัวเอง ย้อนกลับมาที่ใจของตัวเอง จับใจเข้าไป ย้อนจับใจ จับใจนี้คือวิปัสสนา คือการแก้ไข จับวิปัสสนาหมายถึงว่าการชำระ

แต่บุญกุศลน่ะหมายถึงว่า การเพิ่มบารมี การเพิ่มบารมีนี่ให้ความเข้าใจนั้นเข้าไปใกล้ชิดกับธรรม ใกล้ชิดกับคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัย เห็นไหม เราถึงรักษากันไว้ ถ้าถูกธรรมขึ้นไป ธรรมมันเป็นธรรม พอธรรมเข้าไปธรรม มันจะรู้เข้าไป พอรู้เข้าไปนี่ เป็นปัจจัตตัง จะไม่พูดสิ่งนั้นเลย จะไม่พูดว่าสิ่งนั้นเป็นอนัตตา นิพพานเป็นอนัตตา

มันไม่เป็นอนัตตาหรอก ถ้าเป็นอนัตตา ความหมายของคำว่า “อนัตตา” มันมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เหมือนจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แล้วหมองไปด้วยอุปกิเลส มันเศร้าหมอง มันผ่องใสขนาดไหนมันก็เศร้าหมอง ความเข้าใจตามหลักของเรา เราว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปนั้น เป็นนิพพานเพราะมันเกิด มันเป็นธรรมชาติของมัน เลยไม่ได้จับต้องตรงนั้นไง เลยไม่จับต้องตัวอวิชชา ปัจจยาการนี่มันปัจจยาการมันเรื่อยไป

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นี่มันเป็นอันเดียวกันแต่มันเปลี่ยนสภาพ มันมีเหตุปัจจัย เขาบอกว่ามีเหตุปัจจัย สิ้นเหตุปัจจัยคือสิ้นกิเลส แต่สิ่งนี้มันเป็นเหตุปัจจัยที่เผาตัวมันเอง แล้วมันไม่เข้าไปจับต้อง เราเป็นตัวเหตุและปัจจัยเสียเอง สิ่งที่เป็นเหตุและปัจจัยนี่มันมีการกระทบกัน เหมือนขันธ์กับใจนี่ เริ่มต้นระหว่างขันธ์กับใจมันกระทบกันมาตลอด แล้วมันแปรสภาพเป็นอนัตตา มันเห็นอนัตตานะ มันเป็นอนัตตาโดยเนื้อหาสาระ

แต่เพราะเราวิปัสสนา แล้วเราเอาจิตเข้าไปวิปัสสนา ไปดูสิ่งนั้น เห็นสิ่งนั้นตามความเป็นจริง แล้วมันจะปล่อยวางสิ่งนั้นเป็นตามความจริง จิตนี้ต่างหากปล่อย เห็นอนัตตาแล้วปล่อยวางไว้เป็นตามความจริง ไม่ใช่ว่ามันเป็นอนัตตาในตัวมันเอง ตัวมันเองเป็นอนัตตาถ้าไม่ทิ้งอนัตตามา สิ่งที่เราปล่อยวางมาคือปล่อยวางอะไร ถ้าเราไม่มีการปล่อยวางสิ่งใด ๆ เลย เราก็เป็น เห็นไหม ที่ว่ารู้อริยสัจ ๆ นี่ รู้ทุกข์ รู้สมุทัย รู้นิโรธ รู้มรรค รู้อริยสัจ ต้องรู้ทุกข์ก่อน อธิบายอริยสัจนี่

แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้อริยสัจจริง มันจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกันหมดเลย ไม่ได้รู้ทุกข์ รู้สมุทัย เห็นไหม รู้ทุกข์ก่อนแล้วแยกเป็นสมุทัย อันนี้เป็นวิชาการที่เอามาอธิบายกัน แต่ขณะที่รู้จริงนี่มันจะเกิดปั๊บ! เห็นปั๊บ! ปล่อยวางปั๊บ! เพราะความไวของจิตนี้จะไวมาก เร็วมาก เร็วขนาดไหน แม้แต่ว่าเรานะ เวลาร่างกายเราตายไป คนเรานี่อายุ ๘๐ ปี อย่างสูง ๑๐๐ ปีตายไป ตายไป ๓ – ๔ วันมันจะเสีย ร่างกายนี้มันจะเน่า มันจะเปื่อย มันจะพุพองไป นี่ธรรมชาติของมัน

แต่เวลาถ้าเราวิปัสสนา เราพิจารณากายนี่ เห็นกายปั๊บ! เวลาจิตมันสงบมันไม่มีมิติ กาลเวลาไม่เข้าไปยุ่งกับสิ่งนั้น ใจนี่จะบอกว่าให้กายนี้แปรสภาพ มันจะเปื่อย มันจะเน่า ไปเห็นขนาดนั้น มันจะเห็นทันที นี่ความไวของใจที่มันเป็นคงที่อยู่ ไม่มีมิติ มันจะวิปัสสนา มันเห็นอย่างนั้น พอเห็นอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ความเห็นโทษ ความรู้เห็นโทษ โทษเพราะอะไร? โทษเพราะมันรู้ซึ่งหน้า พอรู้ซึ่งหน้ามันจะปล่อยวาง

นั้นคือการเห็นอนัตตา สิ่งที่เห็นพระไตรลักษณะ เห็นพระไตรลักษณะคือว่านี่เป็นอนัตตา แล้วปล่อยวางจริง จิตนั้นหลุดออกมาจากอนัตตา รู้อริยสัจรู้อย่างนี้ ความรู้อริยสัจปล่อยอริยสัจมา ใจมันรู้เอง ความเข้าใจของใจนี่ คือว่ามันเห็นโทษไง

แต่ที่เราศึกษากันนี่ เราศึกษาธรรมะกันที่ว่า พระไตรปิฎกนี้เป็นธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า...ถูกต้อง เป็นทฤษฎีที่ว่าเป็นธรรมะที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ถ้าเราเข้าไปอ่านศึกษานี่ เราจะตื่นเต้นนะ เราจะดีใจ “โอ้โห! พระพุทธเจ้าสอนขนาดนี้เชียวเหรอ?” เราฟังข้างนอกเขาไม่พูดกันเรื่องอย่างนี้เลย ทำไมเรานี่ เราโอ้โห! โอ้โหนั้นอะไรโอ้โห? ใจนั้นโอ้โห โอ้โหนี่คือใจ

นี่แค่สัมผัสด้วยสุตมยปัญญา แค่เราไปสัมผัสข้อเท็จจริงด้วยสุตมยปัญญา แล้วจินตมยปัญญา เรามาจินตนาการน่ะ “ควรจะเป็นอย่างนั้น ๆ” เห็นไหม จนรู้แจ้ง รู้แจ้งมันต้องเป็นภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น ความเห็นจริงนี่เห็นโทษ ทีแรกรู้จากเปรียบเทียบ รู้จากความเห็นจินตนาการ รู้จากความเห็นโทษ ภาวนามยปัญญาคือการเห็นโทษซึ่ง ๆ หน้า แล้วสลัดผลัวะ! ปล่อยวางไปซึ่ง ๆ หน้า อนัตตาถึงไม่ใช่ผลไง

อนัตตาเป็นทางผ่าน เป็นขณะที่จิตมันแปรสภาพแล้วหลุดออกไป ผลอันนั้นมันไม่เป็นอนัตตา ผลอันนั้นเป็นอกุปปธรรม กุปปธรรมนี้หมุนสภาพ อกุปปะถึงไม่ใช่ อกุปปะหมายถึงไม่แปรสภาพ ไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้วแน่นอนไง แน่นอนในโสดา สกิทา อนาคา แน่นอนขึ้นไปพระอรหันต์นี่ แน่นอน ๆ ไปตลอด ไม่เป็นอนัตตา ความเป็นอนัตตา คำว่า “อนัตตา” นี้คือการเวียนวน เวียนไป ความเคลื่อนไป

ความเคลื่อนไปมันจะเป็นไปอย่างนั้นได้อย่างไร ความเคลื่อนไปมันไม่เป็นผลหรอก เงินทองเรานี่มันแปรสภาพ มันเคลื่อนไปมันจะเป็นของเราไหม เงินทองอยู่กับเราต้องเป็นของเราสิ ทีนี้มันถึงว่าไม่เป็นอนัตตา ใจสัมผัสอย่างนั้นถึงจะเป็นผลของใจ ถ้าใจสัมผัสอย่างนั้น สัมผัสอะไร? นี่สัมผัสธรรม พอถึงสัมผัสธรรมแล้ว พวกผู้ปฏิบัติเราถึงเห็นเรื่องอย่างเมื่อวานนี้เป็นเรื่องน่าอาย ถ้าพูดประสาเราเรื่องน่าอายเลย แต่คนที่ยังปัญญาไม่ถึง เขาเข้าแค่ปัจจัย ๔ เห็นปัจจัย ๔ เขาก็พอใจตรงนั้น

แต่ถ้ามันผ่านเข้ามานี่ ถึงว่าปฏิบัติเข้ามามันจะเห็นโทษนะ เราปฏิบัติเราย้อนกลับไปดูคนอื่น แล้วมันจะทำไมทำอย่างนั้นได้ ทำไมทำอย่างนั้นได้? เพราะว่าใจเขาเข้าไม่ถึง ถ้าใจเราเข้าถึงมันก็เป็นใจของเราพัฒนาขึ้นมา นี้เป็นผลจากการเราเข้าถึงธรรมของเราเรื่อย ๆ ไป เอวัง