เทศน์เช้า

เห็นธรรม

๖ พ.ย. ๒๕๔๓

 

เห็นธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พูดถึงเยี่ยมไง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ประเสริฐที่สุด เพราะอะไร? เพราะองค์ศาสดานี้เป็นผู้สิ้นกิเลส องค์ศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้วปฏิญาณตนว่าสิ้นกิเลสแล้วถึงเอาธรรมมาสอน แต่ลัทธิต่าง ๆ ศาสดายังไม่สิ้นกิเลส เขาก็ไม่รู้หรอกว่าสิ้นกิเลสหรือไม่สิ้นกิเลสเป็นอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบส เรียนมาจนสมาบัติเข้าหมด แล้วสงบหมด แล้วพอสงบเข้าไปแล้วนี่มันออกมา เวลามันคายออกมามันก็ยังมีความรู้สึกอีก ทำไมมีกิเลสอีก ความรู้สึกของเรานี้มันฆ่าไม่ได้ อันนี้ถึงว่าอย่างนี้ยังไม่สิ้น

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่ประเสริฐนี่เพราะต้องการหาความจริง อาฬารดาบสบอกเลย “อยู่กับเราเถิด ๆ” เพราะประกันว่าทำได้เหมือนอาจารย์ ลูกศิษย์อาจารย์เสมอกัน แต่หัวใจดวงนั้นรู้ว่ายังมีกิเลสอยู่ ยังต้องมาเริ่มอานาปานสติเอาเอง ทำเอาเองจนขาดเอาเอง ปฏิจจสมุปบาทขาดออกไป ขาดออกจากหัวใจนี่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ขาดออกไปๆ พอขาดออกไปนี่ มันเป็นวิมุตติสุข ย้อนกลับมาไปหาปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์บอกว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เมื่อก่อนทำเคร่งมาก แล้วย้อนกลับไปเป็นผู้มักมาก” ถึงได้หนีพระพุทธเจ้าไป

พระพุทธเจ้าบอกว่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นองค์ศาสดาแล้ว”

ไม่มีใครเชื่อไง ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ เพราะทำอุกฤษฏ์ยังไม่ได้เลย แล้วมาทำสายกลางจะได้อย่างไร มาทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอก “เคยได้ยินได้ฟังไหมว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเป็นพระอรหันต์ อยู่กันมา ๖ ปีเคยได้ยินได้ฟังไหม”

นี่มันยันกันตรงนี้ไง มันยันกันตรงที่ว่าต้องรู้เอง ต้องปัจจัตตัง ถ้าไม่ปัจจัตตังจะรู้ได้อย่างไรว่าขาดออกไป แต่เราไม่เป็นปัจจัตตัง พวกเรานี่เป็นธรรมะด้นเดา เดาตรงไหน? เดาที่ศึกษาธรรมมา ตั้งประเด็นไว้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ แล้วเราพยายามทำใจของเราให้เหมือนไง เราพยายามดันใจของเราให้เหมือน เห็นไหม อันนี้ธรรมะด้นเดา

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมด้นเดาธรรม จะได้ธรรมะด้นเดา”

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันจะขาดออกไปจากใจ”

ในพระไตรปิฎกบอกไว้เลย เวลากิเลสขาด ขาดเหมือนดังแขนขาด ตัดออกไปเห็นแขนขาดเลย แต่ถ้ามันไม่มีสิ่งใดหลุดออกไป ดังแขนขาด อะไรขาด? สังโยชน์ขาดไง พระโสดาบันนะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทุกคนมีความลังเลสงสัยอยู่โดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของใจนี่มันมีความลังเลสงสัยลึก ๆ มันเป็นจิตใต้สำนึก มันอยู่ในเนื้อของจิต เราบอกเราไม่สงสัย เราอ่านหนังสือทีแรก อู้หู...ซึ้งใจ เข้าใจหมดเลย พอวางหนังสือปิดเล่ม “เอ๊ะ! มันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า?” ลังเลสงสัยขึ้นมาทันทีเวลาปิดหนังสือแล้วงง แต่เวลาอ่านอยู่นี่เข้าใจ เห็นไหม

เพราะว่ากิเลสของเรานี่มันลังเลอยู่ มันข้องแวะอยู่ มันเป็นไปไม่ได้ นี่ถ้าเวลาขาดมันขาดตรงนั้น มันขาดถึงจิตใต้สำนึก มันขาดจากภายใน มันไม่ได้ขาดจากความเทียบเคียง ความเทียบเคียงนี่มันเป็นทางผ่าน จะไม่มีตรงนี้เลยไม่ได้นะ มันต้องมีตรงนี้ วิปัสสนาเข้ามานี่ มันจะเทียบเคียงเข้ามาก่อน ก็จากหยาบก่อน เห็นไหม อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างละเอียดสุด

นี่ก็เหมือนกัน อย่างหยาบ ๆ นี่เริ่มต้นจากการจับกายได้ พิจารณาเข้าไป ๆ แล้วมันจะพิจารณาซ้ำเข้าไปเรื่อย ๆ มันจะละเอียดอ่อนเข้าไป ๆ จนกว่ามันจะขาด ต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งหลุดออกไปจากใจ กิเลสนี่ขาดออกไปชัด ๆ นะ ดังแขนขาดเลย แต่ถ้าเทียบเคียงแล้วมันปล่อยวาง ๆ อันนั้นมันก็ปล่อยวางอยู่ ปล่อยวางเพราะว่ามีการต่อสู้ไง

แต่เดิมเราไม่รู้เรื่องเลยนะ พวกที่ว่าอยากปฏิบัตินี่ก็คิดกันไป จับอารมณ์ของตัวเองไปตลอด วนออกไปข้างนอก ๆ ทำความสงบเข้ามา เห็นไหม สัมมาสมาธิเป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ จากปุถุชน เรานี่เป็นปุถุชนกัน ความคิดของเรานี่ ทั้งความคิดเป็นเหมือนกำปั้นทุบดิน คิดไปด้วยเราทั้งหมดเลย แล้วเวลาทำความสงบเข้ามา ๆ เหมือนหินทับหญ้า เห็นไหม กัลยาณปุถุชน ปุถุชนกับกัลยาณปุถุชนต่างกัน ผู้ที่เป็นกัลยาณปุถุชนสามารถทำให้ใจนี่สงบเป็นสัมมาสมาธิได้ สัมมาสมาธินี้ถึงได้ออกไปขุดคุ้ยหาจิตหากาย ถ้าจิตนี้สงบแล้วออกไปพิจารณา อันนั้นถึงจะเป็นวิปัสสนา

แต่ถ้าเป็นปุถุชนใช้วิปัสสนาอยู่ ใช้ความคิด นามรูปเข้ามาอยู่นี่ อันนั้นพิจารณาเพื่อปล่อยวางเข้ามา มันก็จะเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินี้ถึงยกขึ้นวิปัสสนา ตอนยกขึ้นวิปัสสนานี่ คำว่า “ยกขึ้นวิปัสสนา” ทุกคนจะงงว่าวิปัสสนาอย่างไร ในเมื่อเราทำอยู่นี่ก็วิปัสสนาอยู่แล้ว ๆ วิปัสสนาอยู่นี่เพราะเราคิด เวลาเราป่วยไข้ เราต้องวิเคราะห์โรคใช่ไหม เป็นโรคอะไรถึงรักษาตามโรคนั้น แล้วมันจะหายไป

นี้ก็เหมือนกัน วิปัสสนานี่เราเข้าใจว่าวิปัสสนา เราทำไปไง เหมือนกับเราเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ แล้วเราเอายาแดงเอย มาทาตามเนื้อตามตัวนี่ แต่มันเป็นเชื้อโรคอยู่ภายใน มันจะหายได้ไหม วิปัสสนาอยู่ข้างนอกที่ว่าเป็นโลกียะนี่ เราพิจารณาทุกอย่าง สรรพสิ่งเป็นธรรมะ สรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติ กิเลสนี้ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันก็หลอกตัวเราเองอันหนึ่ง แล้วก็จับต้องสรรพสิ่งไว้ทั้งหมดเลย ยึดมั่นถือมั่นทั้งหมดออกไป นี่เขาเรียกโลกียะ

แล้วพอมันเข้าใจ สรรพสิ่งมันเป็นธรรมชาติกับธรรมชาติ มันเหมือนกัน กิเลสก็เหมือนกัน พอมันปล่อยวางเข้ามา กิเลสมันปล่อยวางสิ่งหยาบ ๆ ข้างนอกเข้ามา แต่กิเลสภายในมันก็ไปสุมตัวอยู่ในหัวใจ ไม่ได้ปล่อยอะไรเลย พอไม่ได้ปล่อยอะไรเลยนี่ เราถึงต้องยกขึ้นระหว่างกายกับจิต เพราะกายกับจิตเอาอะไรดูสรรพสิ่ง? เพราะเอาจิตดูใช่ไหม เอาสัมมาสมาธิ เอกัคคตารมณ์ จิตนี้เป็นหนึ่งเดียว

จิตนี้เป็นหนึ่งเดียวนี่ ถึงกลับมาดูกายใหม่ กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ กับอริยสัจ ๔ นี่มรรค ๘ ๔ กับ ๔ เป็น ๘ มรรค ๘ ก็รวมลงที่นี่ เห็นในสติปัฏฐาน ๔ จะรู้อริยสัจ ๔ แล้วจะปล่อยวาง จิตนี้เวลามันทำงานไปนี่เหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในวงงานนั้นด้วย จิตนี้เป็นเหมือนกับวงงานนั้นเลย อยู่ในงานนั้นเลย เวลามันออกมาจากอริยสัจแล้วนี่จิตมันจะปล่อยวางออกมาจากอริยสัจ แล้วรู้นะ กาย เวทนา จิต ธรรม รู้ส่วนใดส่วนหนึ่ง กายก็ได้ จิตก็ได้ เวทนาก็ได้ ธรรมก็ได้ รู้อันเดียว เวลามันรู้อันเดียวนี่มันสลัด มันรู้หมดไง

เหมือนกับเรากินข้าวคำเดียวนี่ ข้าวคำนึงมันมีข้าวและมีกับข้าวอยู่ในปากคำเดียว เรากลืนเข้าไปในคอนี่ คำข้าวนั้นต้องกลืนเข้าไปในคอ ไม่ใช่ว่าเราต้องกลืนข้าวเข้าไปก่อนนะ ให้เหลือแต่อาหารเอาไว้ในปากก่อน อย่าพึ่งกลืน นี่ก็เหมือนกัน ในอริยสัจเราคิดกันอย่างนั้น คิดว่าต้องรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม รู้อันเดียว พอรู้อันเดียวเหมือนกันหมด เหมือนคำข้าว กลืนเดียวทั้งคำลงไปในกระเพาะเลย คำข้าวกลืนลงไปเหมือนกัน

นี่รู้อริยสัจรู้อย่างนั้น พอรู้อริยสัจรู้อย่างนั้นมันก็ปล่อย จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ รู้อันเดียวอันหนึ่งแล้วเข้าใจหมด แต่ถ้าจะไปตามรู้ทั้งหมด อย่างที่ว่าเช่นคำข้าวในปากนี่จะรู้ว่าส่วนใดเป็นรสเค็มรสหวานนี่ เราพยายามจะแยกแยะอาหารในปาก ใครมันทำได้...มันทำไม่ได้ แต่อาหารในปากนี่มันมีรสเค็ม รสหวาน ทุกอย่างมันกลมกล่อมใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน อริยสัจก็เหมือนกัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เหมือนกัน ถึงจับตัวเดียว จับอันเดียว จับให้มั่นคั้นให้ตาย แล้วพิจารณาเข้าไปจนเห็นโทษไง เห็นโทษมันสลัดออก มันสลัดออกนะ มันสลัดออกด้วยความเห็นโทษ แต่วิปัสสนาใหม่ ๆ นี่มันสลัดออกด้วยความเชื่อธรรมะของพระพุทธเจ้า ย้อนกลับมาที่ว่านี่ พุทโธนี้ก็เป็นพระพุทธเจ้า พูดไม่ได้มันเป็นของสูง ทำนั่งสมาธิก็เหมือนพระพุทธเจ้าไม่ได้ คนถ้ามีอย่างนี้เขาเรียกจิตอ่อน จิตมีความเคารพ

แต่เวลารู้นะ ถ้าโลกเรานี่บอกว่าวัดรอยเท้านี่เป็นสิ่งที่ไม่สมควร...

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)