เทศน์เช้า

รู้ที่ใจ

๑๑ พ.ย. ๒๕๔๓

 

รู้ที่ใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความศรัทธา ความเชื่อนี่เป็นสมบัติ เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐที่สุด เพราะถ้ามีความศรัทธา มันก็จะลากเราเข้าไป ถ้ามีศรัทธาความเชื่อนี่ การกระทำจะเกิดขึ้น การกระทำของเราเราใฝ่ไป อันนี้มันใช้สมองจริง ๆ ถ้าความศรัทธานี่มันใช้ความจำ เราเชื่อเริ่มต้น ถ้าเอาเรื่องของสมองมันก็เป็นสุตมยปัญญา เราศึกษาเล่าเรียนนี่เป็นเรื่องใช้สมองทั้งหมด

แล้วบอกว่าถ้าคิดว่าเรื่องสมองทั้งหมดเวลาลึกเข้าไปนี่ มันไม่ใช่เรื่องของสมองนะ มันเป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องของสมองนี่มันก็เป็นเรื่องของสมองใช่ไหม ถ้าเป็นเรื่องของสมองเราผ่าตัดสมองนี่ มันก็ต้องเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทั้งหมดสิ สมองนี่ผ่าตัดได้นะ เพราะแก้ไขได้ เปลี่ยนแปลงได้ เราพยายามจะให้มันเป็นไปได้ ถ้าเราจะผ่าตัด ถ้าเราคิดว่ากิเลสมันอยู่ที่สมอง เราสามารถผ่าตัดสมองเอากิเลสออกได้ หรือไม่ก็หัวใจเหมือนกัน ถ้ากิเลสมันอยู่ที่เนื้อของหัวใจที่มันสูบฉีดโลหิตอยู่อย่างนี้ก็เปลี่ยนหัวใจได้ ทำไมเขาไม่เป็นพระอรหันต์ล่ะ?

ไอ้นี่มันเป็นเรื่องของร่างกาย เห็นไหม แล้วมันเป็นเรื่องของโลกเขา เรื่องที่เราศึกษา เปรียบเหมือนมนุษย์กับสัตว์นี่ก็ต่างกัน สัตว์นี่มันทำตามสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เป็นผู้ที่มีสมอง มนุษย์ถึงคิดได้ แล้วมนุษย์พยายามควบคุมตัวเองได้ ใช้สมองยั้งคิด สมองมีส่วนหนึ่ง ส่วนที่ว่ามันควบคุมได้ แล้วสมองส่วนนี้ถ้าเราศรัทธาขึ้นมา เราเอามาศึกษาศาสนามันก็ซึ้งใจมากนะ

เวลาศรัทธามันเกิดขึ้น เห็นไหม พอศรัทธาเกิดขึ้นเราก็ใคร่ครวญไป เราต้องปฏิบัติไป การที่ประพฤติปฏิบัติมันไปชำระกิเลส กิเลสมันไม่ได้อยู่ที่สมอง กิเลสมันอยู่ที่หัวใจ หัวใจ เห็นไหม ขันธ์ ๕ สังขารการปรุงการแต่งเป็นความคิด แต่มันอาศัยสมองเป็นที่สื่อออกมา สมองนี่เป็นที่ควบคุมร่างกายไว้เฉย ๆ อันนั้นเป็นเรื่องของสมอง ถ้าสมองมันเรื่องควบคุมสมอง เรื่องที่ร่างกายทำได้หมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหาร ๔๙ วัน อดอาหารจนขนนี่หลุดหมดเลยเพราะรากขนนี่มันเน่า มันหลุดออกไป นี่การบังคับของร่างกาย

นี้กิเลสมันไม่ได้อยู่ที่กาย กิเลสมันอยู่ที่ใจ มันก็ต้องพยายามศึกษาเข้ามา นี่เวลาถึงว่ามันจะยกกลับมาที่เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาของสมองนี่เป็นศรัทธาความเชื่อ มันเกี่ยวเนื่องกัน มันจะปฏิเสธเรื่องกายก็ไม่ได้เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์เราถึงมีกายกับมีใจ แล้วเรามาศึกษาใคร่ครวญเข้าไป จนทำความสงบเข้าไป พอความสงบเข้าไปนี่มันจะเห็นเรื่องของใจ

หลักของใจ เห็นไหม ใจตั้งมั่น ถ้าใจมันสงบเข้าไปบ่อย ๆ ไปทีแรกนี่มันจะคลอนแคลน แล้วมันจะจับใจไม่ได้ ใจมันยังไม่ตั้งมั่น เห็นไหม มันยังเห็นตัวใจไม่ได้ ถ้าจับตัวใจไม่ได้เราก็ไม่สามารถยกขึ้นวิปัสสนาได้ ยกขึ้นวิปัสสนานี่เอาอะไรวิปัสสนา ถ้าเริ่มต้นเข้าไปเป็นนิมิต เป็นความเห็นนี่ มันอาศัยกึ่งสมอง เหมือนกับเรามีส่วนรู้เห็นด้วย แต่พอทำเข้าไป ๆ ส่วนรู้เห็นของเราจะไม่มี มันถึงเป็นธรรมจักร ธรรมจักรคือว่ามันจะหมุนไปเอง พอมันเห็นเองนี่ แล้วเห็นนี่เหมือนกับเราช็อก เราไม่มีตัวตน เราไปปนกับสิ่งที่เราเห็นนั้น

นี่เวลาใจมันทำงานมันทำงานอย่างนั้น พอใจมันทำงานไปมันจะไปแก้ไขกันที่ใจ ใจตัวนั้นเป็นตัวที่กิเลส กิเลสมันอยู่ที่ใจ ใจที่เป็นนามธรรมไม่ใช่ใจที่เป็นดวงใจที่สูบฉีดโลหิตอยู่นั้น แต่อาศัยคำพูดสื่อกัน มันถึงว่าเขาว่าใช้สมองแล้วเป็นการล้างสมอง เหมือนกับถ้าเราเชื่อศาสนา แล้วเราทำไปน่ะเป็นการล้างสมอง มันพูดแบบกิเลสพาพูดไง

แต่ถ้าเป็นการล้างสมองที่ดี ล้างสมองทำให้เราเป็นคนดี เราไม่อยากโดนล้างสมองเหรอ เราศึกษาเล่าเรียนอยู่นี่ เรื่องวิชาการมันก็เป็นการจำของเขามา มันก็เหมือนกับจำของเขามา เหมือนกับล้างสมองแต่มันล้างเป็นสิ่งที่ดีขึ้น การทำสิ่งที่ดีขึ้นมันเป็นประโยชน์ทั้งหมด

ทีนี้ว่าความเห็นของเรามันยังไม่เข้าใจเรื่องของธรรม มันก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นการล้างสมอง แล้วเป็นการเห็นตามกันไป ความเห็นตามกันไปนี่กิเลสมันอยู่ข้างหลังความคิดนั้น ดูเวลาพระพุทธเจ้าเย้ยมาร “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” เกิดจากก่อนที่จะมีความคิดนี่ มารอาศัยความคิดเราเป็นเครื่องหากินออกมา

เวลาเราทำใจของเราสงบขึ้นมาแล้วนี่ เราต้องจับขันธ์ ๕ มาวิปัสสนา วิปัสสนาคือการใคร่ครวญ การดัดแปลง ดัดแปลงในสังขารความคิดความปรุงความแต่งของเรา ความคิดความปรุงความแต่งของเรานี้มันโดนมารใช้ก่อนไง โดนความเห็นแก่ตัวใช้ ความคิดของเราจะรวบรัดตัดความว่า จะทำในทางลัด จะทำในทางที่สะดวก แล้วพอจะมาทำอย่างนี้ เพราะความลังเลสงสัยของเราเอง เราถึงบอกสิ่งนี้เป็นการล้างสมอง ถ้าเป็นการล้างสมองนี่มันเป็นความที่ว่าไม่เป็นตัวตน

นี่มันถึงว่าเป็นล้างสมอง ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้า เราเชื่อแล้วเราแก้กิเลสได้ไหม เราเชื่อพระพุทธเจ้า เราทำตามพระพุทธเจ้าไป ทาน ศีล ภาวนา เราพยายามทำอยู่ แล้วมันได้ผลไหม ถ้ามันล้างสมองแล้วเราเชื่อแล้วมันต้องเป็นผลขึ้นมาสิ แต่ทำไมมันยังหงุดหงิดอยู่ล่ะ? เวลาทำความสงบเข้ามานี่ ทำไมมันไม่สงบเข้ามา ทำไมกิเลสมันยังฟุ้งซ่านอยู่ในหัวใจของเราล่ะ?

นี่มันยังไม่ใช่ถึงที่เราจะไปแก้ไขสิ่งที่เริ่มต้นจากความคิดได้ เราถึงต้องจับตรงนี้เข้าไป ทำความสงบเข้ามาก่อน พอความสงบเข้ามานี่ ปัญญาอันนี้เกิดขึ้นนี่ มันเป็นปัญญาของเรา ล้มลุกคลุกคลานนะ เริ่มต้นจากการทำความสงบนี้ก็ล้มลุกคลุกคลานแล้ว มันล้มลุกคลุกคลานหมายถึงว่าหัวใจมันกลิ้งมันล้มไป มันไม่ได้ ตัวนั่งอยู่นี่แหละ แต่ความคิดมันหมุนไป ล้มลุกคลุกคลานคือเราทำไม่ได้อย่างที่เราตั้งใจ

ถ้าเราล้างสมอง เราควบคุมตัวเราเองได้ เราต้องทำสิ่งนั้นสิ เราต้องควบคุมตัวเราเองได้ ถ้าเราล้างสมองได้...มันไม่ได้ มันล้างสมองมันก็ล้างแต่เรื่องของร่างกาย ล้างแต่วัตถุ แต่ไม่สามารถชำระล้างกิเลสในหัวใจนั้นได้ ถึงพยายามสงบเข้าไป ๆ ถ้าทำแล้วมันจะเห็นว่า มันเป็นความคิดที่ต่างกัน มันเป็นความเห็นที่ห่างกันเป็นชั้น ๆ ระดับเข้ามา จะปฏิเสธเลยว่าสิ่งนั้นผิดมันก็ไม่ใช่เพราะมันเป็นสิ่งที่เริ่มต้น มันเป็นการก้าวเดินเริ่มต้นต้องอาศัยสมอง อาศัยเราคิด เราใคร่ครวญ เราจำมาแล้วเราใคร่ครวญขึ้นมา

แต่พอความสงบเข้าไปนี่ มันจะเกิดขึ้น สิ่งนี้ไง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อยากสอนเพราะมันลึกลับ ความที่ลึกลับนี่ใครมันจะหยั่งรู้ได้ ใครมันจะหยั่งรู้สิ่งนี้ได้ มันต้องประสบการณ์เอง พอพูดแล้วคนพูดความหมายอย่างหนึ่ง แต่ผู้ฟังฟังอีกชั้นหนึ่งก็คิดได้แค่วัตถุไง แค่วิทยาศาสตร์ที่ว่ามันคิดได้ ที่จับต้องได้ ที่เป็นรูปธรรม

สิ่งที่เป็นรูปธรรม เห็นไหม แต่เป็นรูปธรรมนี่มันจะละเอียดเข้าไป จนเข้าถึงนามธรรม นั่นน่ะเข้าถึงใจ เข้าถึงนามธรรม นามธรรมอันนั้นถึงเข้าไปชำระล้างได้ พอชำระล้างได้ ความหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมายถึงตรงนี้ไง ความหมายที่ว่ามันละเอียด มันลึกซึ้งอยู่ในหัวใจนัก แล้วใครจะหยั่งรู้ได้ ธรรมนี้ตรรกะก็คาดเดาไม่ได้ คาดเดาด้วยตรรกะก็ไม่ได้ ความด้นเดาของเรานี่ คาดด้วยสมอง คาดด้วยความคิดหมายไม่ได้

แต่ผู้ที่รู้นั้น รู้จำเพาะตน ปัจจัตตัง เห็นไหม ความรู้กระทบ ความรู้ประสบการณ์ตรงอันนั้น อันที่พิจารณาเข้าไปแล้วชำระล้างเข้าไป มันถึงเป็นเรื่องของใจไง ความที่เป็นเรื่องของใจนี้เป็นเรื่องของนามธรรม เราพิจารณาพอจิตสงบขึ้นไปนี่ เราย้อนกลับมาดูกาย พอย้อนกลับมาดูกายนี่ อะไรดูกายคราวนี้ เวลาเราสงบ เราพิจารณากายของเราโดยปกติที่เราเริ่มพิจารณาของเรา เราเข้าใจว่าเราพิจารณากาย พิจารณาสรรพสิ่งนี้ให้เป็นนามธรรม เป็นธรรมชาติทั้งหมด นี่อะไรพารู้พาเห็น เรานี่เข้าไปอยู่ในสิ่งที่รู้ที่เห็นด้วย เราเข้าไปทำ

แต่ถ้าเวลาจิตมันสงบแล้วนี่ มันไม่ใช่เราเข้าไปทำ เราเป็นผู้รู้ผู้เห็น จิตนั้นเป็นผู้วิปัสสนา ผู้ที่เข้าไปรู้ไปเห็น ใจที่ว่ามีกิเลสอยู่นั้นน่ะ ออกมาวิปัสสนากาย คือว่าเอาหัวใจนี้เป็นสัมมาสมาธิ มรรคในองค์ ๘ มันเคลื่อนไป แต่ถ้าเราพิจารณานามรูปโดยเริ่มต้นเลยนี่ พิจารณาไป ๆ เราอยู่ในสิ่งนั้นด้วย เราอยู่ในสิ่งนั้นคือว่าเราก็ต้องเข้าไปให้ค่ากับสิ่งนั้น มันปล่อยวางนี่ อันนี้เป็นเรื่องของสมองได้ อันนี้เป็นเรื่องของความศรัทธาได้ ความศรัทธา ความเชื่อเข้ามา ๆ

แต่ความละเอียดอ่อนเข้าไปนี่ มันจะเห็นของมันเอง นี่พิจารณากายก็เหมือนกัน ปัญญาเกิดขึ้นเกิดขึ้นตรงนี้ ถ้าเราเห็นเราพิจารณากาย ยกกายขึ้นมาตั้ง ความเห็นอันนั้นกับความเห็นทีแรกมันจะต่างกัน ความเห็นทีแรกนี่พิจารณากายเข้าไป ๆ เหมือนกับหมอที่เขาผ่าตัดกาย พิจารณากาย หมอเขาผ่าตัดเป็นวิชาชีพ แต่เราวิเคราะห์อย่างนั้น เราเห็นแล้วมันสลดสังเวชไง ความสลดสังเวชเอากายเข้าไปเทียบ ความเห็นเคยชินน่ะเขาจะไม่ปล่อยวาง เขาจะเห็นแล้วเฉย ๆ

แต่ถ้าเราเห็นแล้วนะ คนเจ็บไข้ได้ป่วยนี่เห็นแล้วมันสลดสังเวชขึ้นมา นี่ใจมันเริ่มคิด นี่ขนาดเราเทียบนะ เราเทียบเข้าไป แต่ถ้าวิปัสสนากายไม่ใช่ตรงนั้น มันไม่มีเรา ถ้ามีเรานี่ใจมันตั้งมั่นไม่ได้ มีเราขึ้นมามันจะเอนเอียงเข้าไป พอเราตั้ง เห็นไหม จิตมันสงบ มันไม่ใช่ตัวตน มันตั้งกายขึ้นมา วิปัสสนาเข้าไป

ความดูนี่ พอดูเข้าไป ความเห็นกายครั้งแรกจะขนพองสยองเกล้า เพราะมันสะเทือนเป็นโลกุตตระ โลกุตตระมันสะเทือนถึงก้นบึ้งของหัวใจ มันสะเทือนถึงจิตใต้สำนึก มันสะเทือนถึงกิเลสไง มันจะขนพองสยองเกล้า ความขนพองสยองเกล้านี่เห็นแล้วมันจะตกใจ มันจะปล่อยวางเข้าไปชั่วคราว มันปล่อยหลุดมือไปไง ภาพนั้นจะหายไป พอเราตั้งภาพขึ้นมาใหม่ พยายามตั้งขึ้นใหม่ เริ่มต้นทำครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ เริ่มต้นนี่ความไม่เคยมันจะยากหน่อย ความยากหน่อยเพราะอะไร? เพราะว่าจิตมันไม่สงบ จิตมันไม่ตั้งมั่นหนึ่ง

แล้วพอคาดหมายนี่ ความเห็นอันนั้นมันจะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด พอเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดนี่มันอยากได้ไง ความอยากของใจมันอยากได้ภาพอย่างนั้นมาอีก ความนี่เป็นความอยาก เป็นตัณหาซ้อนตัณหา ต้องพยายามปล่อยวางจนกว่ามันจะปล่อยวางไป นี่ไง สิ่งที่ว่าห้ามมีความอยากในการประพฤติปฏิบัติ อยากในความเห็นเป็นผลนั้น แต่ถ้าอยากในวิปัสสนา อยากในเหตุ อันนี้ถึงว่าเป็นมรรค

แต่ถ้าอยากในเห็นผล เวลาเราเห็นภาพอันนั้นน่ะ จิตใต้สำนึกมันอยากโดยธรรมชาติของมัน พออยากโดยธรรมชาติของมันมันจะอยากเห็นภาพนั้น พอทำไปจะไม่เห็น จนเมื่อไหร่เราปล่อยวาง เหมือนพระอานนท์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อานนท์ ถ้าพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่ช้าพระอานนท์จะต้องเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา” นี่มันเกาะเกี่ยวกันอย่างนั้น พอปล่อยวาง “ขอพักสักหน่อยเถิด” ปล่อยวาง พอเอนหลังจะนอน นั่นน่ะสำเร็จตอนนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำไปนี่จะผิดพลาดไปเรื่อย จนบางทีมันบอก เฮ่อ...ทำสักแต่ว่าทำไปเถิด นี่มันจะเห็นภาพอย่างนั้นอีก ความเห็นภาพนั้น เห็นโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เห็นโดยเราอยากเห็น ถ้าเราอยากเห็นจะไม่เห็นภาพอย่างนั้น เราอยากเห็นจะเห็นโดยวิปัสสนึก โดยความเห็นของเรา โดยการนึกภาพขึ้นมา แต่มันเป็นการเริ่มต้นที่เราต้องน้อมนำเข้ามา พอน้อมนำเข้ามาเราตั้งขึ้นมาให้ได้นะ พอตั้งได้นี่วิปัสสนาไป มันจะละลายไป มันจะแปรสภาพไป เพราะว่าความคิดไง ขอให้แปรสภาพเป็นไตรลักษณ์

สิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม เห็นพระไตรลักษณะ ถ้าเห็นโดยความเห็น เห็นโดยสมุจเฉท เห็นโดยเห็นเข้าบ่อย ๆ เข้า มันจะสมุจเฉทปหาน แต่ถ้าเห็นทีแรกมันจะปล่อยวางไปเฉย ๆ เพราะอะไร? เพราะแก่นของกิเลสไง มันเกาะเกี่ยวในใจนี้ มันอยู่ในวัฏฏะมาเนิ่นนาน ความเห็นครั้งแรกนี่เราจะปล่อยวางเฉย ๆ ปล่อยวางเข้าไป จิตมันจะเวิ้งว้างออกไป ซ้ำเข้าไป ๆ ซ้ำเข้าไปจนมันสมุจเฉทไง

นี่มันไปเห็นว่าสิ่งที่หลุดออกไปจากใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจ ความเข้าใจผิด ความยึดไว้ เห็นไหม สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็น ความเห็นกายกับใจนี้คือว่าเป็นเรา กายนี้ก็เป็นเรา เราเป็นมนุษย์นี้ร่างกายของเรานี้ต้องเป็นเรา โดยสัญชาตญาณ ไม่ใช่เห็นด้วยสมอง เห็นด้วยสัญชาตญาณ เห็นด้วยสมองนี่อ่านหนังสือเราก็รู้แล้ว กายนี่พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่ แล้วเทียบด้วยเหตุผลมันก็เห็นจริงนะ ว่าร่างกายนี้ต้องตายไป ร่างกายนี้ต้องสละทิ้งไว้ในโลกนี้ หัวใจต้องหลุดลอยออกไป ถ้าเราเทียบด้วยสมองมันก็เห็นด้วยสมอง

แต่ถ้าวิปัสสนาเข้าไปเห็นด้วยสัจจะความจริงถึงจิตใต้สำนึกนี้ มันจะสมุจเฉทปหาน สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็นอันที่ว่าใครแก้ไขไม่ได้อยู่ลึก ๆ ในหัวใจ หมอก็ผ่าตัดไม่ได้ ใครก็ทำไม่ได้ มันอยู่ในจิตใต้สำนึก พอมันเห็นจริง นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนา ชำระที่ใจตรงนั้น มันจะปล่อยขาดออกไป ปล่อยสังโยชน์ออกไป ถึงว่าเห็นกิเลสขาด กิเลสขาดเหมือนแขนขาด หลุดออกไปจากหัวใจ สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิที่ความเห็นผิดออกไป หลุดออกไป

นั่นน่ะตัวกิเลสขาดออกไป เห็นตามความจริงมันจะปล่อยวางเอง มันต้องเห็นจริงแล้วปล่อยวางเองจริง แล้วจิตก็รู้จริง ๆ ความรู้จริง ๆ อันนั้นถึงว่าเป็นผล แล้วละเอียดเข้าไปเป็นชั้น ๆ เข้าไป พิจารณากายก็เป็นชั้น ๆ เข้าไป เป็นสักกายทิฏฐิ ความเป็นพระไตรลักษณะ ความแยกสภาพตามธรรมชาติเดิมของมัน ความเห็นเป็นอสุภะอสุภัง กามราคะอยู่ตรงนั้น ความเห็นเป็นตอคือว่าเป็นรูปร่างของจิต รูปร่างของกายอยู่ภายในละเอียดอ่อน ละเอียดสุดอันนั้น

อันนี้พอปล่อยวางหมดสิ้น ปล่อย เห็นไหม ปล่อยตามความเป็นจริง นั่นน่ะชำระกิเลสถึงใจ ใจอันนั้นหมดจากกิเลสทั้งหมด นั้นถึงว่ามันเป็นเรื่องของภาวนามยปัญญา เป็นเรื่องของนามธรรมที่สื่อออกมาเป็นวัตถุ เป็นความคิดของเรา เป็นวิทยาศาสตร์ มันก็เลยคิดกันไปคนละชั้น ถึงว่าอันนี้เป็นการล้างสมอง ถ้าล้างสมองแล้วมันก็เหมือนกับการล้างสมองนี่เป็นการไม่อยากทำ เป็นความเห็นว่าง่าย ๆ ไง

แต่ความจริงเป็นสิ่งที่สุดยอด สิ่งที่ยากมาก มันไม่ใช่เรื่องของสมอง มันเป็นเรื่องของภาวนา เป็นเรื่องของนามธรรมที่ชำระถึงหัวใจได้ เพราะใจนี้เป็นนามธรรม แต่แก่นเป็นนามธรรมแต่แก่นสิ่งที่เป็นวัตถุ เห็นไหม ร่างกายนี่พอฟันออกไปหรือเปลี่ยนสภาพไปนี่ มันจะเน่าเปื่อยไปโดยธรรมชาติของมัน แต่อารมณ์เก่า ๆ อารมณ์ที่มันผูกเจ็บในหัวใจไม่เคยแปรสภาพ คิดขึ้นมามันก็ใหม่ขึ้นมาตลอด นี่สิ่งที่เป็นนามธรรมมันกลับเป็นของที่คมแข็ง ที่เป็นเข้มแข็ง ที่มันวนเวียนในวัฏฏะไม่มีวันที่สิ้นสุด

แต่สิ่งที่เป็นวัตถุที่ว่าเราเป็นวัตถุนี่ มันกลับแปรสภาพง่ายกว่ามากเลย ทีนี้นามธรรม ที่ว่าเป็นนามธรรม เริ่มต้นเป็นนามธรรม พอจับต้องวิปัสสนาเข้าไปแล้วมันจะเป็นรูปธรรมขึ้นมา มันเห็นเองรู้เอง วิปัสสนาเข้าไปเป็นชั้น ๆ เข้าไป นั้นเป็นการชำระกิเลสเข้าไปเป็นชั้น ๆ อันนี้เป็นภาคปฏิบัติไง

ถ้าภาคปริยัตินั้น..ถูกต้อง อาศัยสมอง จะว่าไม่อาศัยเลยก็ต้องอาศัย แต่ถ้าเป็นสิ่งที่อาศัย สิ่งนั้นเป็นเรื่องของความจริง มันเป็นเรื่องของเริ่มต้นเท่านั้นเอง เข้าไปแล้วถึงที่สุดแล้ว ถึงจะเห็นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นตามความจริงสื่อมันก็เข้าใจกันได้ สื่อใหม่ ๆ เข้าใจไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ก็ต้องอาศัยฟังไปก่อน แล้วจะตามเข้าไปมันจะเห็นเอง เอวัง