เทศน์เช้า

ให้รู้เอง

๒๒ พ.ย. ๒๕๔๓

 

ให้รู้เอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ที่ว่าความเห็นจริง ถ้าของเขานี่เป็นการศึกษามา เป็นปริยัติมา เป็นการจดจำมา แล้วเขาทำของเขามาอย่างนั้นตลอด มันก็เป็นสัญญาอารมณ์ที่ว่าไปเห็นตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงในความเห็นของเขา เขาเห็นจริงก็เขาพยายามคิด ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ๆ ต้องเป็นอย่างนั้นคือว่าท่องจำมาไง จะละอย่างนั้น จะวางอย่างนั้น ๆ ก็วางมา ๆ มันก็เป็นว่าความเห็นของเขามันอย่างนั้นมาตลอด เขาก็ว่าอันนั้นเป็นความถูก เพราะอะไร? เพราะมันทำแล้วสบายใจ

อย่างเช่นเราไปฟังเทศน์ พอพระเทศน์ขึ้นมานี่ เราฟังเข้าไป เราจะคิดตามมันก็สบายใจส่วนหนึ่ง ความสบายใจของเขา มันเข้าใจไง “อ๋อ...พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น เราประสบแล้วมันก็เห็นตามความเป็นจริง มันก็ปล่อยวาง” มันปล่อยวางด้วยความที่ว่ามันเข้าใจ ความเข้าใจกับความเห็นมันต่างกัน สิ่งที่เขาบอกเขาเห็นกาย ๆ นี่ พอเขาเห็นกายมันเป็นการรู้เห็น สิ่งที่รู้เห็นมันเกิดขึ้นปั๊บนี่ มันจะไปค้านกับไอ้สิ่งที่ว่าความเข้าใจอันนั้น เราเข้าใจนี่มันเป็นการหยิบยืมมา มันจินตนาการขึ้นมา มันเป็นจินตมยปัญญา มันจินตนาการมาว่าเป็นอย่างนั้น แล้วเราเข้าใจพยายามกดไว้ อารมณ์มันเป็นไปตามนั้น ความเป็นไปตามนั้นมันก็เป็นความเห็นของเขาอันเดิม

แต่ถ้าเขามาเห็นกาย เขาเห็นจริงปั๊บนี่ มันจะขัดกับอันนั้น มันเป็นปมอันหนึ่ง แต่เป็นปมอันหนึ่งนี่มันจะรู้เลยว่า เพราะอาการมันจะต่างกัน ความเห็นมันต่างกัน เราถึงว่าอันนี้เห็นจริง แต่ความเห็นจริงนี่มันจะคลาดเคลื่อนกับความเห็นอันเดิม ถ้าความเห็นอันเดิมนี่มันจะเป็นปมไว้ไง แล้วทีนี้มันจะเป็นความลำบาก ลำบากตรงไหน? ลำบากที่ว่าถ้าเราเห็นแล้วนี่ มันเห็นปั๊บ แล้วจะให้เห็นอีกน่ะมันเห็นด้วยไม่ได้ไง ความที่เขาเห็นไม่ได้นี่มันสืบต่อไม่ได้ คือว่ารักษาจิตไว้ไม่ได้

จิตที่จะไปเห็นอย่างนี้มันต้องสงบปล่อยวางทั้งหมด แล้วจิตเป็นตาใน ตาธรรมไปเห็น พอตาธรรมไปเห็นกายนี่ ความเห็นกายมันจะมีความรู้สึกดูดดื่มต่างกัน แล้วถ้าจะไปทำอีกมันทำไม่ได้ เขาเลยบอกว่า การเห็นหนเดียวนี่มันก็เป็นการที่ว่าเห็นตามความเป็นจริงแล้วจะปล่อยวางแล้ว

เขาเข้าใจว่าอันนี้เป็นผลไง พอเข้าใจว่าอันนี้เป็นผลมันก็จะไปเสริมกับความเห็นเดิม เราถึงว่าไม่ค้านตรงนี้ ที่เราไม่ค้านตรงนี้เพราะความเห็นเดิมเขาเห็นอยู่แล้วใช่ไหม แต่เห็นเดิมนี่มันเป็นบาทฐาน มันเป็นพื้นฐาน พอพื้นฐานขึ้นมามันมาเห็นกายจริง พอเห็นกายจริงอันนี้เป็นปมแล้ว เป็นปมในหัวใจว่าอันนี้มันขัดกับความเห็นของตัวเอง แต่จะไปทำตรงนั้นอีกไม่ได้

พอไปเห็นกายอีกไม่ได้ก็ต้องย้อนกลับว่า มันเหมือนกัน ๆ แต่จะเหมือนกันขนาดไหนมันก็มีปมในหัวใจ มันมีปมแล้วนะ ถ้ามีปมแล้วนี่เราถึงว่าไม่ไปค้านเขา ถ้าไปค้านเขามันจะเกิดทิฎฐิมานะว่าแบ่งเขาแบ่งเราแล้ว อันนั้นถูก อันนั้นผิด เพียงแต่ว่าให้เขารู้เองเห็นเองไง พอเขาเห็นเองว่า เห็นกายกับจำกายนี่ต่างกัน ความจำ การท่องจำ เรื่องกาย เรื่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่เป็นการท่องจำ ความท่องจำนี่เป็นที่เขาท่องจำมา แต่เขาไปเห็นนี่ มันขัดกันโดยธรรมชาติ

แต่ขัดกันโดยธรรมชาตินี่ มันเป็นเรื่องสุดวิสัยของผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ๆ มันต้องพยายามทำความสงบ ถ้าจะเห็นกายอย่างเก่าอีกต้องหันกลับมาทำความสงบ ถ้าอยากเห็นกายไม่เห็นหรอก เพราะอะไร? เพราะความอยากนั้นเป็นตัณหา ความเป็นตัณหานี่มันทำให้ใจนี่ฟุ้งออกมา มันอยากไง สมุทัยซ้อนสมุทัย มันถึงว่าต้องพยายามทำความสงบไป ทำแบบไม่อยากเห็นไม่อยากรู้ พอจิตมันสงบเข้ามามันจะเห็นอีกครั้งหนึ่ง

ความเห็นกายนี่เห็นได้ยาก แล้วการเจริญต่อไปนี่มันทำได้ยาก ต้องทำความสงบของใจถึงจะเห็นจริง ทีนี้เห็นจริงนี่ ถ้าเห็นจริงเรื่อย ๆ นี่ อันนี้ถ้ามันเห็นจริงเรื่อยๆ มันจะเป็นการรู้โดยตัวเอง พอรู้โดยตัวเองนี่จะรู้ว่าตัวเองถูกหรือตัวเองผิด ต้องให้เกิดตรงนี้

ถ้าไม่เกิดตรงนี้มันเกิดทิฏฐิ ทิฏฐิตรงที่ว่าอาจารย์สอนมาอย่างนี้แล้ว พออาจารย์สอนมานี่มันยึดของอาจารย์อยู่ มันถึงว่าความเห็นผิด ผิดก็ผิดเถิดเพราะอาจารย์สอนมา แล้วเราทำได้ประโยชน์มา แล้วอีกอย่างหมู่เขามากไง หมู่เขามากคือว่าเขาเป็นหัวหน้า เขาจะยอมรับความผิดไม่ได้หรอก ถ้าพูดถึงถ้าเขาบอกว่า ความเห็นเดิมผิด สิ่งที่ทำมาทั้งหมดผิดหมดเลย แล้วไปชักหมู่คณะไว้ หมู่คณะต้องผิดหมด ไอ้ตรงนี้มันค้ำไว้ จะค้ำไว้ขนาดไหนอันนี้เป็นความเห็นผิด มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ

แต่ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐินี่ต้องให้เขารู้เอง เพราะคนอยู่ในสถานะนี้มันยึดมั่นถือมั่นความเห็นของเขา เราถึงบอกปล่อยให้เขารู้เองเห็นเอง การเห็นกายที่เขาบอกว่าเห็นจริงนั้นยอมรับว่าเห็นจริง แต่เห็นจริงแล้วจะทำอย่างนี้อีกเราก็ว่าทำได้ยาก ทำได้ยากเพราะว่ามันเป็นความเห็นจริง รู้จริง รู้จากใจ รู้จากความเห็นของตัว มันถึงว่าเป็นทิฏฐิ มันเป็นกิเลส ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ

นี่อุบายวิธีการไง ทำไมพระสมัยพุทธกาลเขาบอกเขาเป็นพระอรหันต์ แล้วจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกไม่ต้องหรอก ให้ไปนู่นก่อน ให้ไปเที่ยวป่าช้าก่อน ไปถึงที่ป่าช้าไปดูซากศพไง พอไปเห็นซากศพมันเกิดอารมณ์ มันไม่ใช่ เห็นไหม ถ้ามาหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพูดมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่ามันเป็นการคัดค้านความเห็น แต่ตัวเองไปประสบเอง ไปประสบกับซากศพนั้น พอไปเจอคนตายใหม่เข้ามันมีอารมณ์ความรู้สึก

อันนี้ก็เหมือนกัน ต้องให้เขาประสบเอง ถ้าเขาไม่มีความเห็นนะ เขายังยึดของเขาอยู่ พอยึดของเขาอยู่เขาก็มีปมในใจ เขาต้องเกิดปมในใจแล้วว่า เอ๊...อันนั้นมันอะไรน่ะ ที่เห็นกายคราวนั้นทำไมไม่เป็นอย่างนี้ ไอ้สิ่งที่เราเห็นนี่มันเป็นอารมณ์ความคิดเฉย ๆ มันเป็นอารมณ์ที่ตื้น ๆ แต่คราวนั้นทำไมมันดูดดื่มอย่างนั้น แล้วทำอย่างไรถึงจะเป็นอย่างนั้น

นี่มันเป็นปมอยู่แต่ยังไม่กล้าพูด ไม่กล้าพูดเพราะว่ากิเลสมันบังอยู่ นี่กิเลสบังเงา สิ่งนี้มันอยู่ในหัวใจของเขา ถึงบอกว่าเราถึงไม่ค้านเขา ต้องการให้เขารู้เองเห็นเอง ให้เขาเข้าใจความเห็นของเขาเอง ถ้าอย่างนั้นแล้วนี่ มันถึงเป็นการที่ว่าอุบายวิธีการที่จะช่วยเหลือเขา ถ้าเราบอกว่าถูก...ถูกจุดเดียว ผ้าทั้งผืนเลอะสกปรกหมดเลย แต่จุดขาว ๆ บนผ้านั้นถูก จุดนี้ถูก ไอ้อื่นเราไม่พูดถึง

เพราะอะไร? เพราะเขายึดผ้าทั้งผืน เขาว่าผ้าทั้งผืนของเขาถูกหมด แล้วบอกจุดนี้ถูกก็ถูกด้วย เพราะจุดนี้มันอยู่ในผ้าผืนนั้น แต่เราบอกถูกเฉพาะจุดขาวนี้เท่านั้นเอง แต่ไอ้สกปรกในผ้านั้นเราไม่พูดถึงมัน ให้เขาเห็นเอง จุดขาวนั้นกับความเห็นของผ้านั้นมันให้เขาเห็นเองไง เขาถึงจะเข้าใจเอง จะได้ว่าไม่มีอาจารย์เขาอาจารย์เรา เพราะอะไร? เพราะว่าเห็นเอง สารภาพเอง สารภาพผิดทุกอย่าง ความเห็นเข้าใจเองมันจะยอม ตรงนั้นจะยอม

แต่ถ้าไปพูดอย่างนี้มันจะเกิดให้เขามีทิฏฐิมานะ ถ้าเขามีทิฏฐิมานะขึ้นมาแล้วมันก็ไม่เป็นประโยชน์กับเขาและเราด้วย ฉะนั้นก็อย่างว่านี่อาจารย์มหาบัวบอก “แพ้เป็นพระ ให้เขาชนะไปเถิด” เราเป็นพระ เขาชนะเป็นมาร ให้เขาชนะไป เราเป็นแพ้ไปเรื่อย แต่ถ้าวันไหนเขาไปรู้ว่าของเขาผิด เขาจะซึ้งใจมาก อันนี้ครูบาอาจารย์ถึงว่า กราบพระพุทธเจ้าแล้วกราบแล้วกราบอีกไง

กราบพระพุทธเจ้าแล้ว กราบแล้วกราบอีกเพราะอะไร? เพราะมันลึกซึ้งมาก รู้ได้อย่างไร เห็นได้อย่างไร แล้วเรามารู้มาเห็นเองของเรา เราเห็นได้อย่างไร มันถึงได้ซึ้งใจ ซึ้งใจแล้วกราบ แล้วไม่พูดให้ใครฟัง พูดให้ใครฟังแล้วมันก็ต้องไปอธิบายอีกเพราะว่าสิ่งที่มันลึกละเอียดอ่อน มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนอยู่ในหัวใจมากนะ มันลึกมาก ๆ สิ่งที่เห็นนั้นมันถึงบอก ภาวนามยปัญญายังไม่มีใครเคยเกิด สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้เป็นจินตมยปัญญาทั้งหมดเลย สุตมยปัญญานี่เรียนมา ๆ แล้วจินตมยปัญญาเกิดขึ้น

ถ้าภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมานี่ มันจะเคลื่อนไป ๆ แล้วมันจะตัดออก สิ่งที่ว่าเป็นเหตุเป็นผลนี่มันจะปล่อย มันหยาบเกินไป ความท่องจำน่ะ กิเลสมันอยู่ในหัวใจใช่ไหม แล้วท่องเอาได้กิเลสมันขาดออกไป มันเป็นไปได้อย่างไร ใจ เห็นไหม นี่ตัวจิต เคลื่อนออกมาเป็นขันธ์ ๕ ความเป็นขันธ์ ๕ นี่อารมณ์เกิดขึ้นมา แล้วถึงมาเป็นอารมณ์ขึ้นมา ท่องจำมันอยู่ทั้งนั้นน่ะ มันเป็นปมที่ ๓ แล้วมันจะชำระกิเลสได้อย่างไร

เมื่อวานนี้เขามาก็เหมือนกัน พระเขามา ๒ ฝ่าย เขาถามกันนี่ ฝ่ายหนึ่งเขาปฏิบัติทางนี้เหมือนกัน อีกฝ่ายหนึ่งเขาบอกว่า มันชำระกิเลสไม่ได้ ฝ่ายนี้เขาถามว่า “การใช้ปัญญาอย่างนี้ถูกไหม?” เราบอก “ถูก เป็นปัญญาอบรมสมาธิ” เขาก็ยังทำมาอยู่ แต่เขาอยากให้คนค้ำประกันเขา เราบอกเขาว่าถูก ทีนี้พระเขามา ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่า “แล้วอย่างนี้มันจะฆ่ากิเลสได้หรือ?” บอก ไม่ได้ เราบอกเลยบอกไม่ได้ ไม่ได้แต่บอกว่า ถูก

ถูก แต่มันยังไม่ถึงจุดที่จะฆ่ากิเลส มันยังฆ่าไม่ได้ แต่มันเป็นจุดของการเริ่มต้นเข้ามา ทำปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา พยายามดูจิตเข้ามา ๆ มันตะล่อมจิตให้เข้ามาถึงจุดศูนย์กลาง จากอารมณ์ก็ย่นเข้าไปในขันธ์ ๕ จากพิจารณาขันธ์ ๕ เข้าไปมันถึงเป็นตัวจิต ตัวจิตตัวปล่อยขันธ์ ๕ ปล่อยขันธ์ขาดเข้ามา ตัวปล่อยขันธ์ ๕ คือตัวฆ่ากิเลส

แต่ตัวนี้เหมือนกัน ดูกายนอกนี่มันอันเดียวกัน เขาบอกว่า แล้วเขาก็วิตกกังวลมาก คนที่ถามนะ แล้วถ้าเกิดอย่างนั้นแล้วเขาจะรู้เรื่องกายได้อย่างไร เราบอกว่า เอ้า...เวลาเรากินข้าวน่ะ เรากินเฉพาะข้าวในจานนั้นใช่ไหม แล้วเราอิ่มไหม?...อิ่ม ทำไมเราต้องไปกินจานด้วยล่ะ พอเรากินข้าวอยู่ก็เป็นห่วงว่าเรากินข้าวแล้วจานก็ยังไม่ได้กินเลยนะ แล้วจานนั้นทำอย่างไร? จานมันก็เหลือไว้ ก็ต้องกินจานเข้าไปด้วยสิ

นี้ก็เหมือนกัน ละกิเลส ละที่กายหรือละที่จิตก็เหมือนกัน มันปล่อยวางกิเลสเหมือนกัน ไม่ต้องไปห่วงว่าละที่จิตแล้วก็ต้องไปละที่กายอีก หรือละที่กายแล้วต้องไปละที่จิตอีก ละที่กายหรือละที่จิตมันอิ่มเหมือนกัน ฉะนั้นถึงว่าไม่ต้องไปห่วงที่ชามข้าว ให้ห่วงที่อาหารในจานนั้น ห่วงที่อาหารในจานนั้นคือความรู้ความเข้าใจในจานนั้น

นี่คือบอกว่าฝ่ายหนึ่งเขาบอกละกิเลสไม่ได้ สงสัยเขาจะมีความเห็นต่างกันมา แล้วเขามาที่พูดน่ะ เขาบอกต้องการคนรับประกันว่าทำมานี่ถูก เราบอกถูก กาย เวทนา จิต ธรรม นี่ถูก พิจารณากายหรือจิตได้เหมือนกัน แต่การเห็นนี่มันต้องเห็นจากหยาบเข้ามา ๆ แล้วละเอียดเข้าไป แล้วต้องทำอยู่ตรงนี้ ถ้าทำอยู่ตรงนี้อย่างเดียวนะ รับประกันได้ไม่ผิด แล้วนี้เอานี่ค้ำประกันเลย ๆ บอก “เอานี่ค้ำประกัน” ฉะนั้นให้ทำเข้ามา...ไม่ผิด ๆ

แต่ถ้ายังชำระกิเลสไม่ได้ อย่างที่เขาว่านี่ เห็นกายอันนี้ยังละกิเลสไม่ได้ แต่เขาเห็นแล้วมันยังละไม่ได้หรอก เพราะอะไร? เพราะเห็นเฉย ๆ ไม่ได้วิปัสสนา เห็นเฉย ๆ แล้วก็หลุดมือไป นี่ครูบาอาจารย์บอก เห็นไหม อาจารย์ยื่นจากใจดวงหนึ่งให้อีกใจดวงหนึ่ง ใจดวงนี้รับจากมือแล้วก็ทำหลุดมือไป ๆ มันตั้งไว้ไม่ได้

การเห็นกายจริงนี่ โธ่...ไม่ใช่เห็นแล้วมันจะเห็นเรื่อย ๆ เป็นไปไม่ได้ มันต้องพยายามฝึกฝนให้เห็น พยายามฝึกฝนที่ใจ นี่เอาเพชรมาวางไว้ที่นี้เม็ดนึงสิ พอใครเจอเพชรก็วิ่งไปเอาเพชรทั้งหมดเลย ทำไมเราเจอเพชรต่างคนต่างนั่งดูเพชรได้ไหม เพชรอยู่ที่นั่น ถ้ามีเพชรอยู่เม็ดหนึ่งต่างคนต่างมาคว้าเพชรเม็ดนั้น จะทะเลาะกัน

เห็นกายก็เหมือนกัน ใจนี้ไปเห็นเพชรเม็ดนั้น แล้วมันก็อยากได้เพชรเม็ดนั้น มันก็ไปตะครุบที่เพชรเม็ดนั้น เวลาภาวนาก็คิดถึงเพชรเม็ดนั้น ๆ จิตมันไม่สงบสักที มันก็ไม่เห็น ถ้าเพชรเม็ดนั้นวางไว้นั่น กลับมาอยู่ที่เราเรานั่งดูเพชร กลับมาที่จิตความสงบมันจะเห็นเพชรอีก

นี้เหมือนกัน ถ้าทำความสงบของใจ เกิดจิตมีพื้นฐานมันจะเห็นเอง เห็นเองถ้ามันเห็นอยู่แล้ว ถ้าไม่เห็นก็ต้องนึกให้เห็น นึกให้เห็นเพชรขึ้นมา เห็นขึ้นมาแล้วค่อยพยายามแยกแยะวิปัสสนาอันนั้น มันถึงว่าไปละกิเลสตรงนั้น เห็นกายไม่ใช่ละกิเลส ความเห็นละกิเลสไม่ได้ สมาธิละกิเลสไม่ได้ สมาธิทำให้จิตนี้สงบ สมาธิละกิเลสไหม?...ไม่ แล้วสมาธิสำคัญไหม?...สำคัญ

ถ้าไม่มีสมาธิมันก็ไม่มีปัญญา ต้องมีสมาธิก่อน แต่ตัวสมาธิไม่สามารถชำระกิเลสได้ ตัวความสงบไม่สามารถชำระกิเลสได้ ตัวที่ชำระกิเลสคือตัวปัญญา ตัวปัญญาเกิดขึ้นจากการใคร่ครวญพิจารณาดูกายให้มันแปรสภาพ ให้มันเป็นไตรลักษณ์ขึ้นมาให้เราเห็น เราเห็นจริงตามนั้น

นี่คือตัวปัญญา ปัญญาเท่านั้นชำระกิเลส แต่ปัญญาต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐาน ศีลที่บริสุทธิ์ทำให้เกิดสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิจะให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เป็นสัมมาสมาธิจะทำให้เกิดวิมุตติได้ไง เกิดความชำระกิเลสได้ ปัญญาตัวนี้จะต้องอาศัยสมาธิเกิดขึ้น สมาธิเกิดขึ้นแล้วปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาใช้ในตรงไหน? ใช้ในการใคร่ครวญพิจารณา ใคร่ครวญให้มันเป็นความเป็นจริง ถ้าพิจารณากายนี้ความใคร่ครวญมันน้อยเพราะมันแปรสภาพเฉย ๆ มันจะไปชำระกิเลสที่ตรงนั้น ชำระกิเลสที่กายหรือที่ใจนี้จิตเป็นผู้ที่ชำระ จิตนี้เป็นผู้ผ่อนทั้งหมด มันเหมือนกัน

แต่เขาก็ห่วงตรงนี้ ห่วงว่าพิจารณาตรงนั้นเขาจะไม่เข้าใจเรื่องกาย ฉะนั้นถึงปล่อยเขา ปล่อยไว้ตามความเป็นจริง ถึงจุดนั้นมีดเชือดคอไก่เป็นมีดเชือดคอไก่ มีดเชือดคอโคเป็นมีดเชือดคอโค มันต่างกัน ในเมื่อเขามีมีดเชือดคอไก่ เขาเห็นขนาดนั้นเราจะบอกว่ามีดเชือดคอไก่ไม่ได้ เอามีดเชือดคอโคไปนี่ เขารับไม่ได้ ต้องปล่อยให้เขารู้ขึ้นมาเป็นชั้น ๆ ขึ้นมา แล้วเขาจะรู้เอง

เราเป็นผู้ที่ฉลาดกว่า เหมือนผู้ใหญ่สอนเด็ก ถ้าเด็กมันจะร้องไห้ เด็กมันจะเสียใจ เราอย่าไปขัดใจมัน ปล่อยให้มันดีใจของมันไป แล้วเราก็ดูของเราไป แต่ถ้าเราไปขัดนี่ มันเหมือนกับผู้ใหญ่ไปขัดเด็ก เวลาเด็กมันเป็นอย่างนั้นไป เวลานี้วุฒิภาวะของใจเขาเป็นอย่างนั้น ความเชื่อของเขาเป็นอย่างนั้น ปล่อยเขาไป อย่าไปกังวลกับเขา แล้วเขาจะรู้ของเขาเอง เอวัง