เทศน์เช้า

สร้างบุญ

๒๓ ต.ค. ๒๕๔๓

 

สร้างบุญ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความบริสุทธิ์เสมอกันหมดเลย ความถึงธรรมเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้านี้พูดถึงว่าเป็น พุทธวิสัย เห็นไหม บารมีต่างกันมหาศาลเลย กำหนดจิต กำหนดนี่ดูหมด รู้วาระจิต รู้ทุกอย่างพร้อม แต่ว่าองค์อื่นไม่ได้ ดูอย่างพระจักขุบาล เห็นไหม พระจักขุบาลสำเร็จเป็นพระอรหันต์นะ แต่กลับเมืองไม่ได้ ต้องกลับมาฝึกหลานให้หลานไปจูงกลับมา สุกขวิปัสสโก มีแต่ความสุขว่างเข้าไป เวลามันเสมอเสมอกันด้วยความบริสุทธิ์ แต่ว่าปกติธรรมดานั่นล่ะ

แต่เวลาพระพุทธเจ้า เห็นไหม ต่างกัน พระอนุรุทธะก็ต่างกันไป ๆ นี่ความบริสุทธิ์เสมอกัน แต่ต่างกันด้วยบารมี ฉะนั้นพระพุทธเจ้าถึงบอกไว้ “บารมีธรรมนี้ควรสะสมอย่างยิ่ง” ดูสิ แม้แต่ความเป็นไปนะ น้ำที่ตอนพระพุทธเจ้าพาโคข้ามเห็นไหม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นขุ่นหมดเลย เป็นโคลนเป็นตม แต่พอจะตักน่ะ เหตุเพราะตรงนั้นที่เดียว เฉพาะตรงที่ว่าตักบาตรที่เดียว ที่ว่าเอาบาตรไปตักน้ำ น้ำตรงนั้นน่ะใส ใสสะอาดเฉพาะตรงนั้น

นี่มันเป็นมหัศจรรย์อย่างนั้นเลย เพราะน้ำนี้ขุ่นหมด แล้วเฉพาะตรงที่ตักนั้นใส พอตักมาให้พระพุทธเจ้า ถ้าธรรมดาตักแล้วมันต้องขุ่น เพราะอันนี้นี่กรรม เห็นไหม พอพระอานนท์ไปถวายพระพุทธเจ้าแล้วมีความปลื้มใจ “เหตุที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็นได้เป็นแล้ว” น้ำที่เคยขุ่นอยู่เวลาตักใสเฉพาะตรงนั้น

นี่พระพุทธเจ้าบอก ๒ – ๓ ประเด็นซ้อนกันนะ ประเด็นหนึ่งคือว่าท่านเคยเกิดชาติหนึ่งเป็นพ่อค้าโคต่าง แต่ด้วยความบริสุทธิ์ของใจนะ ด้วยความรักโค เวลาจูงโคมาค้าขายแล้วมันจะกินน้ำนั้น โคมันผ่านไปหลายตัวใช่ไหม น้ำก็ขุ่นเป็นโคลนเป็นตม โคของท่านท่านยังไม่ให้ดื่มน้ำนั้น ดึงไว้ก่อน ให้ไปน้ำข้างหน้า น้ำมันใสกว่า ไปกินน้ำข้างหน้า นี่กรรมอันนั้น เห็นไหม เวลาท่านจะกินน้ำนี่ขุ่นเป็นโคลนเป็นตม นี่กรรมอันหนึ่ง กรรมมันให้ผลมาขนาดที่ว่า ให้ผลมาเฉพาะเรื่องนี้

แต่ที่ว่าเวลาตักมันใสขึ้นมานี่ ในอีกประเด็นหนึ่ง ประเด็นที่ว่า “อานนท์ บารมีธรรมที่ควรสะสมอย่างยิ่ง” บารมีของธรรม อย่างพวกเทวดานี่เป็นไป เทวดานี่ให้ เทวดานี่ปกป้องรักษาต่าง ๆ นี่ก็เหมือนกัน ฤทธิ์ของเทวดา ฤทธิ์ของใครที่ต้องการบุญกุศลน่ะ นี่เทวดารักษา ทำให้ตรงนั้นใสสะอาดขึ้นมาได้ ตักขึ้นมา นี่บารมีธรรมควรสะสมอย่างยิ่ง บารมีธรรมของท่าน

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ก็บารมีแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน จริตนิสัยก็ไม่เหมือนกัน ความเป็นไปไม่เหมือนกัน นี่ต่างคนต่างเป็นไป ๆ อย่างพวกเราเวลาไปทำกันนี่ เวลาไปด้วยกัน บางคนมีความปลื้มใจ มีความสุขมากเลย บางคนนะไปเป็นแกน ๆ นี่มันต่างกัน พอมันเข้าถึงใจ ๆ คนที่เข้าถึงใจ ถ้าเขามองมุมกลับนะ ทำไมเราต้องเดือดร้อน ต้องพยายามไปหาครูบาอาจารย์กัน เพราะมันเป็นโอกาสที่สะสม

อย่างที่ว่า ปุญญักเขตตัง เห็นไหม เนื้อนาบุญของโลกมีอยู่ขนาดไหน แล้วเนื้อนาบุญของโลก ถ้านานี่มันอยู่มันอยู่ตลอดไป เนื้อนาบุญของโลกที่เป็นครูบาอาจารย์นี่ ถึงเวลาแล้วก็ล่วงไป ๆ แล้วเนื้อนาบุญใหม่จะเกิดขึ้นมามีกี่องค์ เวลาเราพูดกันถึงหลวงปู่มั่น เราคิดกันถึงหลวงปู่มั่น เราอยากจะพบหลวงปู่มั่นมาก ใครก็อยากจะเห็นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็ไปแล้ว นี่ใครเกิดมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ทุกคนเกิดมาอยากพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การพบนี่เขาเรียกสหชาติ การเกิดร่วมไง การเกิดร่วมนี่เป็นบุญอย่างยิ่ง แต่คนเกิดร่วมแล้วก็ไม่ทำบุญร่วม เห็นไหม เยอะแยะไปที่ว่าเกิดสมัยนั้น แล้วนับถือศาสนาลัทธิต่าง ๆ ไม่ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดร่วมนั้นเป็นเกิดไปของเขาเฉย ๆ

แต่ถ้าเราเกิดร่วมแล้วแล้วเข้าไปฟังน่ะ เพราะเราเกิดร่วมเข้าไปอย่างนี้ อย่างผู้ที่ปฏิบัตินี่ ทุกคนบอกเลย “หนูควรทำอย่างไร เราควรจะปฏิบัติอย่างไร?” ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบอกว่า “ควรเป็นอย่างนั้น” ขนาดที่ว่าไม่นะ อย่างคนที่ว่าไม่มีความสนใจเลย ท่านยังอุตส่าห์พยายามดึงให้มีความสนใจขึ้นมา พยายามแสดงออกมาให้เห็น

อย่างที่ว่านางอะไรที่ว่าไปบวชเป็นพระภิกษุณี แล้วเป็นคนที่ว่ารักษาความสวยความงามมาก มีความสวยความงามไม่ยอมไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า แล้วพอวันนั้นจำเป็นต้องไป มีเหตุต้องไป ไปฟังก็ไม่อยากจะไปฟังเลย แต่เวลาไปฟังนั่งอยู่คนเดียว พระภิกษุณีนั่งอยู่คนเดียว แต่ของท่านนะ ท่านเทศน์อยู่นี่ พูดถึงคฤหัสถ์ทั้งหมด เห็นพระพุทธเจ้าเทศน์อยู่ปกติ แต่ท่านทำภาพอีกภาพหนึ่งให้ภิกษุณีนั้นมองเห็นว่า ร่างกายของท่านนี่เปล่งปลั่งสวยงามมาก เพราะพระพุทธเจ้านี่เป็นมหาบุรุษ จะสวยงามมากเลย แล้วก็แก่หง่อมไป ๆ จนเห็นว่ามันแปรสภาพไปโดยธรรมดา ทีแรกเห็นก็เห็นว่าสวยงามมาก เฉพาะให้ภิกษุณีนั้นเห็นคนเดียว

นี่ที่ว่าจากต้องการให้เห็น เกิดพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันสะดวกตรงนี้ไง ตรงที่แง่คำสอนนั้นหนึ่ง จริตนิสัยหนึ่ง พุทธวิสัยรู้หมด รู้ว่าเราทำกรรมอะไร จุตูปปาตญาณ สัตว์ตายแล้วไปเกิดที่ไหน ทำกรรมอะไรมา กรรมอันนี้สร้างผลอย่างไรมา แต่พวกเราไม่มี พวกเรามันมีแต่บางองค์นี่พอรู้เรื่องกรรม เรื่องอะไร เรื่องนั้นไม่มี ส่วนนั้นไม่มี สาวกะวิสัย

นี่บารมีธรรมควรสะสมอย่างยิ่ง เราไปหากัน เราไปทำกัน ก็สะสมตรงนี้ไป ใครทำได้ก็ได้ ใครทำไม่ได้นะ โอกาสมันไม่มี ๆ พอโอกาสไม่มี ถึงเวลาล่วงไปแล้วนี่ พอมาเสียดายทีหลังจะทำให้เหมือนอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้ จะทำให้เหมือนที่เราทำมานี่ เป็นไปไม่ได้ อันนี้ที่เราทำไปแล้ว ผ่านไปแล้ว กาลเวลาล่วงไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ เห็นไหม “สิ่งใดที่ล่วงไปแล้วเสียดายภายหลัง ที่ทำแล้วน่ะเสียดาย สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

แต่ปัจจุบันเราจะทำอย่างไร ถ้าเราทำได้ ใจเราบริสุทธิ์ ใจเรามีศรัทธา มีความเชื่อ เราสะสมของเราไปบุญกุศล บุญกุศลมันทำเป็นกาลเท่านั้นเองนะ หมดกาลนี้ก็ไป ชีวิตของคนมันต้องหมุนเวียนไป ๆ ๆ แล้วหมุนเวียนไปมันก็หมดไป ๆ ความหมดไปของชีวิต แล้วนี่เกิดมา ทำอะไรถึงได้เกิดมาอย่างนี้ ถ้าย้อนกลับมาดูตัวเรา เกิดมานั่งอยู่นี่ อะไรพาเกิด? บุญกุศลพาเกิด ถ้าบุญกุศลไม่พาเกิดนะ เกิดเป็นคนเหมือนกัน ทำไมจริตนิสัยไม่เหมือนกัน เกิดเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน แต่ไม่ใช่มนุษย์เป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี

การเกิดนี่มันเกิดตลอดเวลา แล้วจิตนี่คิดอยู่ตลอดเวลา แล้วพอเกิดขึ้นมาแล้วจะทรงไว้นี่แสนลำบากเลย ทรงไว้นี่ เห็นไหม มันคลอนแคลนไง มันคิดร้อยแปด นี่ความคิด เกิดเป็นมนุษย์นี่ ตรงนี้ประเสริฐที่สุด ประเสริฐที่ว่าเป็นอิสระไง คิดทำดีทำชั่วก็ได้ ทำความไม่ดีก็ได้ คิดมีความสุขก็ได้ คิดมีความทุกข์ก็ได้ เพราะว่าความคิดทำให้มีความสุขความทุกข์นะ ถ้ามันคิดโดยปกติมันจะเป็นของเราธรรมดา นี่พอธรรมดา กลาง ๆ ไง

แต่เวลามันไม่พอใจมันคิดไปนี่ พอมันคิดไปนะ ย้ำคิดย้ำทำมันก็เป็นไป นี่มันมีอิสระทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ มันสำคัญตรงนี้ ทำอะไรก็ได้ นี่มนุษย์มีสิทธิ์ตรงนี้ ทีนี้มีสิทธิ์ตรงนี้ อย่างเทพเทวดามันทำความดีไป แต่เทวดาก็มีรบกัน เพราะคนทำไม่ดีทำบุญกุศล นิสัยไม่ดีเป็นเทวดาก็มี แต่ของเขาก็มีเสวยทิพย์สมบัติอย่างเดียว อย่างนั้นมันก็มีความสุขอยู่แล้ว

อย่างของเรานี่มันมีสิ่งกดถ่วง การทำมาหากิน การหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนี่ มันต้องมีส่วนหนึ่ง มนุษย์ถึงว่าสนใจแต่เรื่องของตัวเอง คิดเข้าใจว่าสนใจเรื่องของตัวเองไง สนใจแต่เรื่องร่างกาย จะทำให้เรามีพออยู่พอกิน แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองนี่มันเป็นเปลือก สิ่งที่อยู่ในตัวเองน่ะ หัวใจที่มันอยู่ในร่างกายของเรา ไอ้ความคิดอันนั้นน่ะ มันก็ต้องกินอาหาร กินบุญกุศลเหมือนกัน เราคิดแต่ว่าสะสมมาเพื่อร่างกาย เพื่อเกียรติ เพื่อยศ เพื่อฐานันดรศักดิ์ แต่ว่าหัวใจมันคิดอย่างไร

ดูอย่างวินัยนี่ การอ่อนน้อมถ่อมตน เห็นไหม ถ้าการอ่อนน้อมถ่อมตนนี่ ทางโลกว่า อันนี้มันเปรียบเหมือนกับไม่สู้คน แต่ความจริงการอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนนอกแต่แข็งใน หัวใจที่รู้แล้วนิ่งสงบอยู่ เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าว่า “อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า” พระอริยเจ้านี่ทั้งรู้ด้วย อย่างเรารู้อะไรนี่มันจะแสดงออก แต่ของท่าน รู้ด้วย แล้วพูดไปกระทบกระเทือนใครไหมด้วย รู้ถึงว่าความรู้อันนั้น แล้วแสดงออกไปจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นอีกทีหนึ่ง

นี่ถึงว่ายับยั้งไว้ นิ่งไง ไม่แสดงออก อยู่ในหัวใจ การนิ่งนิ่งแบบผู้รู้ ไม่ใช่นิ่งแบบไม่รู้เรื่องเลย นิ่งแบบไม่รู้เรื่องก็ทำกันไป เขาปฏิบัติกันไป เห็นไหม พยายามจะปฏิเสธทุกอย่าง พอปฏิเสธทุกอย่างมันก็ไม่เข้าใจ ถ้าไม่ปฏิเสธความเข้าไปต่อสู้ เข้าไปต่อสู้หมายถึงว่าเข้าไปเผชิญไง เข้าไปเผชิญกับทุกข์ เข้าไปเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด แล้วพิจารณาเอา แก้ไขเอา นี่ความอ่อนนิ่มของใจ อาการของใจ เห็นไหม

บุญกุศลก็เหมือนกัน เราสร้างขึ้นมานี่ เราต้องขวนขวาย ขวนขวายคือการแสวงหามา แต่สุดท้ายแล้วมันเข้าลงที่ใจ ใจนี่เป็นผู้รับไว้ เราเคยนึกถึง มันเป็นทิพย์สมบัตินะ คิดถึงเมื่อไหร่มันก็เป็นบุญกุศลขึ้นมา คิดถึงเมื่อไหร่มันก็เป็นของสดขึ้นมา ของเก็บไว้นะ มูลค่าของเงินนี่ เห็นไหม ตั้งแต่สมัยก่อนนับเป็นสตางค์นะ กี่สตางค์ ใช้เป็นสตางค์ เดี๋ยวนี้นับเป็นบาท แล้วก็กี่ร้อยบาท กี่พันบาทถึงจะได้มีค่าเท่ากับของเดิม นี่มันเสื่อมค่าไป แต่การกระทำของหัวใจที่ทำแล้วไม่มีเสื่อมค่า มันสละออกไปแล้วมันอยู่ในหัวใจตลอด มันเข้าใจตลอด พอเข้าใจนี่คิดถึงเมื่อไหร่ค่ามันจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลาด้วย เป็นทิพย์ทิพย์ตรงนั้น นึกถึงปั๊บเป็นไป ๆ แต่เวลาเรามีเรื่องของหัวใจ เห็นไหม เราคิดถึงอย่างอื่น ถ้าเราไม่พลิกอารมณ์มันก็ไม่เป็นไป ถ้าพลิกอารมณ์นะ เครียด ๆ อยู่นี่คิดถึงเรื่องอื่นเลย คิดถึงเรื่องอื่นเลยนี่ มันเป็นไป

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าพอมันคิดถึงเรื่องบุญขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมานี่เป็นทิพย์สมบัติ ถ้าไม่คิดขึ้นมามันก็นอนเนื่องอยู่ในใจนั้นน่ะ อันนั้นเป็นสมบัติของเรา นี่บารมีธรรมเกิดจากที่ว่าเราสะสมของเราด้วย ทุกข์ยากก็ทำเอา มันทุกข์ยาก มันทุกข์ยากเพราะอะไร? สิ่งที่ทำนี่ประเสริฐหมด ไม่ทุกข์ยาก เป็นของมีค่านะ แต่มันทุกข์ยากเพราะกิเลส ความกิเลสก็ความต่อต้านของใจ กิเลสนี่มันต้องการต่อต้านของใจ มันทุกข์ยากตรงนั้น

ถ้าเราว่าทุกข์ยาก ๆ ทุกข์ยากเพราะความเห็นผิดนี่ กิเลสคือความเห็นผิด คือความไม่เชื่อ คือความคัดค้าน นี่ทุกข์ยากตรงนั้น พอมันคัดค้านมันก็หาเหตุหาผลว่า ไม่ควรเลย ๆ ๆ เสียเวลา อย่างนั้น ๆ ๆ แต่ถ้าเราคิดถึงเป็นบุญกุศลมันจะเป็นไป เห็นไหม มันยากยากตรงความคัดค้านของกิเลส ถ้าพูดประสาเราว่าคัดค้านของใจ คือความเห็นผิดของใจตัวนั้น

ถ้าเราพยายามศึกษาเข้าไป หรือว่าดัดแปลงตนเข้าไป มันจะเห็นถูกขึ้นมา ความเห็นถูกนี่ สิ่งที่ว่าทุกข์ยากนี่ ทุกคนมีความปลื้มใจยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นความสุข ไม่ความทุกข์ยากเลย เป็นความรื่นเริง เป็นความดีใจมาก อันนั้นเป็นบารมีธรรม แต่ถ้ามันคัดค้านนั้นเราก็ต้องแก้ไขไป แต่ละหัวใจมันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป แล้วถึงแล้วเราทำไปแล้วมันเป็นสมบัติของเราเอง เอวัง