เทศน์เช้า

สติปัฏฐานสี่

๒๔ ก.ย. ๒๕๔๓

 

สติปัฏฐานสี่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

จะพูดเรื่องสติปัฏฐาน ๔ นะ สติปัฏฐาน ๔ ในภาคปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ ในภาคปริยัติ เขามาถามกันบ่อย เวลาเขาไปปฏิบัติมากันน่ะ เขาบอกว่า อย่างวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ว่านี่เขาได้ขั้นอะไร เวลาเขาเข้าใจว่าวิตก วิจารนี่ เห็นไหม พุทโธ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ อันนี้เป็นปฐมฌาน เวลาปฐมฌานนี่ ถ้าคิดเอาเอง เราคิดเอาว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เราคิดเอาเอง แล้วเราจะไม่ได้อะไรเลย

คนที่ปฏิบัติอย่างนี้เขาเคยเหมือนกัน เวลาจิตของเขา เวลาลงนะ เวลาจิตเขาเป็นสมาธิจริง เป็นสมถะจริง ๆ เขาอธิบายไม่ได้ เขาบอกเวลาเขาลงไปนี่ ขนาดว่าฟ้าผ่าเขายังไม่รู้เรื่องเลย เขาเคยนั่งได้ แต่เสร็จแล้วตอนนั้นทำไม่ได้ เขาก็เลยมาทำแบบว่าไปตามปริยัติไง วิตกวิจารขึ้นมา นึกพุทโธขึ้นมา แล้วก็ให้พุทโธมันหายไป พุทโธ วิตกวิจารนี่หายไป เกิดปีติ ปีติแล้วก็สุข พอปีติหายไป เกิดสุข สุขหายไป เกิดเอกัคคตารมณ์ มันเป็นการน้อมนึกไป

สติปัฏฐาน ๔ ในภาคปริยัติก็เหมือนกัน ในภาคปริยัตินะสติปัฏฐาน ๔ นี่เขาบอกว่า พิจารณากาย รู้เท่าทันกาย รู้กายผ่านกายไปรู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม เห็นไหม อันนี้มันเป็นการพูดภาคปริยัติ ในภาคปริยัตินี่เราเอาใจกัน เราปล่อยกันคือว่า ในกำหนดกายนี่ แม้แต่ลมหายใจกระทบกับปลายจมูกเราก็ว่าเป็นกายานุสติปัฏฐาน เป็นการสติปัฏฐานในเรื่องของกาย

อันนี้มันเป็นภาคปริยัติ มันเป็นการเอาใจกันเฉย ๆ ในการกำหนดให้รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ถ้าลองก้าวเดินไปอย่างนี้ มันก็เหมือนกับวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ นี่มันเดินตามเข้าไป ๆ ในความเห็นของเราตามเข้าไป พอตามเข้าไปมันก็จะเห็นตามเข้าไป มันเป็นความเห็นในภาคปริยัติ เพราะมันมีแบบแผนอยู่ เราต้องทำตามแบบแผนนั้น

เหมือนกับเราเข้าครัวนี่ มีมีด มีดทำครัว เห็นไหม มีดทำครัวมันต้องเล็ก มันมีดบาง มีดทำครัว มีดผ่าฟืน เห็นไหม มีดผ่าฟืนต้องเป็นมีดที่ใหญ่ขึ้นมาเพื่อจะผ่าฟืนได้ เราเอามีดทำครัวเข้าไปในป่าเพื่อจะล้มต้นไม้นี่ มันก็ฟันได้ยาก มีดเหมือนกัน

ในปริยัติก็เหมือนกัน ตำราว่า “กาย เวทนา จิต ธรรม” นี่บอกว่ามันเป็นวิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ แต่เริ่มต้นนี่ต้องหามีดก่อน แต่ในภาคปริยัติบอกว่า ต้องทำวิปัสสนาไปเลย ในกาย เวทนา จิต ธรรม พอทำวิปัสสนาไปเลยนี่ มันก็บอก ทุกอย่างต้องเอามาไว้บนโต๊ะ ทุกอย่างต้องเล่นกันบนโต๊ะหมด มันไม่มีกรณีพลิกแพลงทั้งสิ้น

แต่เรื่องของกิเลสมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เรื่องของกิเลสมันเป็นอีกแบบหนึ่ง มันมีการพลิกแพลงในการต่อสู้ของกิเลส ฉะนั้นว่าถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ในภาคปฏิบัติ มันไม่เป็นอย่างนั้น สติปัฏฐาน ๔ ในภาคปฏิบัตินะ เวลาจิตเราสงบเข้าไป ความจิตสงบนั่นน่ะมันมีมีดขึ้นมา มันต้องทำความสงบขึ้นมาก่อน ทำความสงบเข้ามาแล้ว พอวิปัสสนาเข้าไป ไม่ต้องเดินไป กาย เวทนา จิต ธรรมนี่เอาชิ้นเดียว เอาอันเดียว

พอเอาอันเดียวนี่ วิปัสสนาไป เห็นไหม จิตมันสงบเข้ามาแล้ววิปัสสนา พอวิปัสสนาในกาย ในกายก็ดูความแปรสภาพของกาย พอแปรสภาพของกายนี่มันเป็นไตรลักษณ์ขึ้นมา มันเป็นวิปัสสนาขึ้นมา มันจะปล่อยกายนั้น พอปล่อยกายนั้นปั๊บ ถ้าปล่อยกายนั้นนะ ความปล่อยนี่ มันรู้ถึงความสุข นั่นคือเวทนา จิตที่มันปล่อยนั่นคือตัวของจิต ธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นน่ะ กาย เวทนา จิต ธรรม มันจะเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะที่เราทำอย่างเดียว เราทำงานเสร็จ

อย่างเช่นเราทำอาหาร เห็นไหม อยู่ในครัวน่ะ ทุกอย่างรวมลง ถ้ามันสุกขึ้นมาแล้วนี่ มันเป็นแกงขึ้นมาหม้อเดียวนั้น แต่มันมีทุกอย่างอยู่ในนั้น แต่มันเป็นแกงหม้อเดียวกันมา ถ้าพิจารณากายต้องพิจารณากายเข้าไป มันสะเทือนกันหมด มันปล่อยไปหมด ถ้ามันปล่อยมันปล่อยหมด

นี่เวลาถ้าเป็นความถูกของฝ่ายปฏิบัติ มันจะว่ากาย เวทนา จิต ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า “อย่างใดอย่างหนึ่ง” อย่างครูบาอาจารย์น่ะ เริ่มต้นเป็นบางองค์นะ พิจารณากายก่อน ๆ พอพิจารณากายขึ้นมาเป็นชั้น ๆ เข้ามานี่ เป็นสเต็ปขึ้นไป สเต็ปขึ้นไปหมายถึงเป็นอริยบุคคลเป็นขั้น ๆ ขึ้นไป พอมันพิจารณากายแล้วมันจะย้อนกลับเข้ามาพิจารณาจิตก็ได้ จิตคือว่า พิจารณากายแล้วพิจารณาจิต แต่พิจารณากายพิจารณาจิตนี้ มันคนละขั้นตอน หมายถึงว่า ขั้นตอนหนึ่งพิจารณากายจนปล่อยวางพิจารณากาย ขั้นตอนต่อไป เห็นไหม เป็นขั้นตอนต่อไป ไม่ใช่ว่าในขั้นตอนเดียวนะ

เราพิจารณากาย พิจารณากายเข้าใจกายแล้วต้องไปพิจารณาเวทนา พิจารณาเวทนาแล้วเข้าใจเวทนาแล้วก็ไปพิจารณาจิต เข้าใจจิตแล้วเข้าไปพิจารณาธรรม อันนี้เพราะเรากลัวไง เรากลัวว่าเราจะไม่รู้อริยสัจตามความเป็นจริง ถ้าเราคิดอย่างนี้ ในภาคปริยัติทำอย่างนี้ เพราะว่าต้องเอาภาคทฤษฎี คือปริยัตินี่คลุมไว้ในภาคปฏิบัติหมด แล้วต้องเดินตามทฤษฎีนั้นไป ถ้าผิดจากทฤษฎีนั้นกลัวตัวเองผิดไง นี้ความเข้าใจจริงถึงไม่มี

อย่างเช่นเราฝึกทหารนี่ เราฝึกทหารมาทั้งหมด ในทฤษฎีรู้หมด การยิงปืนภาคสนาม แต่เวลาออกไปยิงจริง เสียงของปืนที่มันดังขึ้นมา เสียงของดินปืนระเบิดขึ้นมา ความสะบัดของปืน ความจะเข้าเป้าไม่เข้าเป้า แต่ในการที่เราศึกษาอยู่ในปริยัติมันก็เป็นปริยัติ เป็นจินตนาการ พอเข้าไปเจอสภาพความเป็นจริงมันจะต่างกับความที่เราศึกษามา มันต้องมีพลิกแพลง มีเทคนิคต่าง ๆ

ในภาคปฏิบัติก็เหมือนกัน จิตนี้มันจะพลิกแพลงมาก มันจะพลิกแพลงไป แล้วมันจะทำอย่างที่ว่านั่นน่ะ ทำอย่างปริยัตินั่นน่ะ คือว่าให้จับสิ่งนี้ ให้พิจารณากายไป แล้วต้องไปรู้เวทนา เพราะมันจะเบี่ยงเบนไง นี่มันสะบัดไปให้เราเปลี่ยนจากที่ไป

เราปลูกต้นไม้ ต้นไม้ถ้าเราปลูกอยู่ตรงไหนนะ แล้วเราพยายามบำรุงต้นไม้ขึ้นมา ต้นไม้นั้นจะออกดอกออกผลมาให้เรา ต้นไม้เราปลูกในกาย แล้วเราก็ย้ายไปปลูกในเวทนา แล้วเราก็ย้ายไปปลูกในจิต แล้วก็ย้ายไปปลูกในธรรม ย้ายไปย้ายมาเพื่อจะเข้าใจ เพื่อศึกษาให้รู้ขึ้นมาจากในอริยสัจนั้น ให้รู้ขึ้นมาในอริยสัจไง

เห็นไหม บอกว่า “ความเข้าใจ” ความเข้าใจไม่ใช่ความจริง ความจริงนั้นมันต้องแสดงออกรู้แจ้ง ความรู้แจ้งนี่มันจะปล่อยวางทั้งหมด นี่มันต่างกันตรงนั้น ต่างกันในสัจจะ ในสัจจะคือว่าในภาคเข้าไปเห็น นี้ในทฤษฎีมันเป็นอย่างหนึ่ง ถึงว่ามันเป็นการพูดกันเพื่อจะไม่ให้มันบาดหมางกันนะ ถ้าบอกว่าผิดมันจะผิดตรงไหน? มันจะผิดตรงที่ว่ามันเป็นสมถะ เห็นไหม ความเป็นสมถะ

อย่างเช่นที่ว่า เวลาลมหายใจเข้าออก กำหนดลมหายใจเข้าออกนี่ อันนี้ก็เป็นกายานุสติปัฏฐาน...ยอมรับ ยอมรับที่ว่าอะไร? เพราะว่ากายมันกระทบ ลมหายใจมันกระทบปลายจมูก กายนี้รู้สึกตัวขึ้น มันสะเทือนถึงกาย แต่มันเป็นทำความสงบเฉย ๆ แต่ในเมื่อว่ากายานุสติปัฏฐานก็ยอมรับ เพราะยอมรับว่ามันสะเทือนถึงกาย มันเข้าใจถึงกาย แต่มันเป็นการเข้าใจถึงกายเรื่องเพียงแต่หามีดไปทำครัว ถ้าหามีดไปทำครัว ทำความสงบเข้ามาอันนี้

แต่ถ้าเราเข้าใจว่าอันนี้เป็นกายานุสติปัฏฐานแล้ว มันเป็นวิปัสสนาไปพร้อมกับวิปัสสนาไปเลย แล้วพอจิตมันสงบ มันลอยตัว ไอ้อย่างนั้นน่ะมันเป็นปีติ ความเป็นปีติในปฐมฌานมันก็มีอยู่แล้ว ถ้าปีติอันนั้นมันเกิดขึ้นนี่ มันเป็นสิ่งที่ว่า มันเป็นเรื่องสุดวิสัย สุดวิสัยเหมือนกับจิตทุกดวงนี่ มันสร้างบารมีไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าจะลอยหรือจะพองตัวทุกคน แต่มันจะเป็นอย่างนั้นเพราะมันเป็นทางผ่าน เหมือนที่ว่าปืนมันสะบัดน่ะ

ในเทคนิคของจิตที่มันเป็นไป มันจะมีเทคนิคข้างในมันเป็นไปอีก ความเป็นไปอันนั้น มันต้องพยายามบังคับเข้ามาให้ถึงความสงบ เห็นไหม ในสติปัฏฐาน ๔ ที่ว่ากำหนดลมหายใจเข้าออกนี่ พิจารณาไปมันจะพิจารณาแล้วปล่อยวาง ๆ นี่คือความเข้าใจ พิจารณาปล่อยวาง แต่ถ้าเป็นภาคปฏิบัติให้กำหนดตรงนั้น ไม่ให้ปล่อยวาง ซ้ำอยู่ตรงนั้น ๆ ๆ ปลูกต้นไม้แล้วไม่ย้ายที่ ซ้ำอยู่ตรงนั้น

ความสงบมันเกิดขึ้น อาการของใจมันไปเอง สิ่งใดสิ่งหนึ่งจับตรงไหนแล้วจับตรงนั้น ไม่ต้องก้าวเดินตามไป แล้วจิตมันจะพัฒนาขึ้นไป ความพัฒนาของจิตขึ้นไปอันนั้นมันเป็นผลของจิตที่มันพัฒนาขึ้นไป มันพัฒนาขึ้นไปเอง แต่นี่เราคาดหมาย เราเลื่อนจิตของเราไป กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นสิ่งใดแล้วให้ดู ดูความเข้าใจว่า ให้มันปล่อยวาง ๆ ให้มันปล่อยวางทีเดียว เห็นไหม มันเป็นการปล่อยวาง มันมีอารมณ์ของโลกเข้าไปเจือปน พอเจือปนเข้าไปมันจินตนาการได้เพราะเรื่องของใจ

แต่ถ้าเป็นภาคปฏิบัติ อารมณ์ของโลกมันสงบตั้งแต่สมถะ พอทำสมถะสงบเข้ามาแล้ว พอมันไปเห็นเข้า ความเห็นเข้านี่ มันเห็นอย่างนั้นแล้วมันปล่อย ถึงว่าอธิบายไม่ได้ เหมือนกับผลไม้บนต้นตกลงดิน ทีเดียวเราจะอธิบายว่าขั้นตอนช่วงไหนเขาจะอยู่ตรงไหนไม่ได้ มันจะตกจากขั้วก็หล่นลงดินปุ๊บ แต่ถ้าเป็นภาคปริยัติ ต้องเอาเชือกขึงไว้ แล้วพยายามหย่อนลงมา ชั้นนั้น ๆ ๆ ๆ

นี่มันต่างกัน มันไม่เป็นความจริง มันเป็นความจริงไม่ได้เพราะว่าสัจจะความจริง ถึงบอกว่าเวลาจิตมันสงบนี่ ส่วนใหญ่จะบอกว่ามันสงบ มันเป็นสักแต่ว่า มันไม่รู้ นี่คนพูดจริง แต่ถ้ามันอธิบายเป็นขั้นตอนเข้าไปนะ มันจะไม่มีการเผลอไผลเลย นี่ความสงบ นี่ความสงบนะ

แต่ในรู้อริยสัจในภาคปฏิบัติ มันไม่ใช่ความสงบ มันเห็นความแปรสภาพ เพราะถ้ากาย เวทนา จิต ธรรมนี่ อย่างพิจารณาเวทนานี่ง่ายมากเพราะเวลานั่งไปแล้วมันจะปวด นี่ต่อสู้ตรงนั้น เวลาเวทนาหายไปจะอธิบายอย่างไร เวทนาเริ่มชา ชาปั๊บ เข้าใจเวทนา เวทนาจะหายไป พอเวทนาหายไปจิตเด่นขึ้นมา นี่มันรู้หมด เพราะเวทนาเกิดที่กาย จิตนี้อยู่ในกาย มันรู้เข้าใจเวทนา พอมันปล่อยวางตามความเป็นจริง พอมันปล่อยตรงนี้สังโยชน์มันขาด พอสังโยชน์มันขาดมันรู้อริยสัจ นี่รู้อริยสัจออกมาตามความเป็นจริง รู้อันหนึ่ง แต่รู้ตามที่ว่า รู้ทุกข์ รู้สติปัฏฐาน รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม นี่มันย้ายมา ๆ ๆ ย้ายมาแล้วมันไม่ขาด

แต่ถ้าสมมุติเราพิจารณากาย กายานุสติปัฏฐาน กายมันขาดปั๊บนี่ มันหมดเลย เวทนามันก็ไม่มี จิตมันเด่นออกไปอีกส่วนหนึ่ง ธรรมนี่เกิดขึ้นมา มันไม่ต้องย้ายมาที่เวทนาเพราะมันไม่มี มันขาดออกไป มันพร้อมกัน คือว่ากาย เวทนา จิต ธรรมนี่ มันเป็นอันเดียวกัน แต่ว่าเวลาแยกมานี่ เป็นพุทธวิสัยนะ แยกออกมาเพื่อจะให้เราทำสิ่งใดก็ได้ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่ไปก้าวเดินอย่างนั้น ถ้าก้าวเดินอย่างนั้นมันเป็นปริยัติไป หมุนไปตามอย่างนั้น ก้าวเดินไป ๆ พอก้าวเดินไปแล้วมันรู้ไง

เหมือนกับเครื่องยนต์ เห็นไหม ในอริยสัจนี่ เราต้องแยกแยะออก เครื่องยนต์นี้มันกำลังทำงานอยู่นี่มันออกมาไม่ได้ แต่พลังงานที่ออกมาจากเครื่องยนต์นั้น นี่พลังงานที่ออกมาจากอริยสัจ พลังงานที่ออกมาจากกาย เวทนา จิต ธรรม กาย เวทนา จิต ธรรมนี้มันเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนากับสมถกรรมฐาน แต่การทำกรรมฐานนี่ทำความสงบเข้ามา โดยไม่ต้องใช้ปัญญามาก ใช้คำกำหนดเพ่งพินิจ เห็นไหม

ความเพ่งอยู่เพื่อทำความสงบเข้ามา อันนั้นเป็นสมถะ แต่เอาอารมณ์ของกาย เวทนา จิต ธรรมนี่เป็นคำบริกรรมแทน ตามดูกาย เวทนา จิต ธรรม นี่เหมือนกับคำบริกรรม มันไม่ใช่ปัญญา ถ้ามันเป็นปัญญามันจะแยกแยะวิปัสสนาไป พอวิปัสสนาในกาย เวทนา จิต ธรรมนั้น มันเป็นวิปัสสนานั้นมันต้องเป็นวิปัสสนา มันถึงไม่เหมือนกันที่ว่า อย่างคำบริกรรมนี่ คำบริกรรมในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เห็นไหม กายสักแต่ว่าเคลื่อนไป ๆ ตามกายไป ตามเวทนาไป ตามจิตไป ตามทันมันก็หยุด

นี่เวลาตามกายทัน ตามเวทนาทัน ตามจิตทัน มันหยุดหมด มันหยุดเข้าไปเฉย ๆ มันถึงต้องว่า เวลากายจบ มันมีเวทนา เวทนาจบ มีธรรม หมุนไป จะตามให้ทันอย่างนั้นออกไป อันนี้รู้ในภาคปริยัติ แต่ในภาคปฏิบัติไม่รู้อย่างนั้น ในภาคปฏิบัติมันมีความรู้สึกอีกอันหนึ่ง จิตนี้เป็นผู้ใคร่ครวญไง อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ จิตนี้ใคร่ครวญแล้วจิตนี้มันถึงปล่อยวางใช่ไหม? มันมีผู้ทำงานใช่ไหม?

ผู้ที่ไปทำงานนี่ พอเริ่ม เห็นไหมนี่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิยกขึ้นทำงาน พอยกขึ้นทำงานมันถึงมรรคไม่สามัคคี มันไม่รู้เท่า เพราะว่าจิตนี้มันยังโคลงเคลงอยู่ มันไม่ชำนาญการ พอวิปัสสนาไป ชำนาญการเข้า ๆ นี่จิตมันปล่อย ตัวจิตมันปล่อยมันถึงเข้าใจตามความเป็นจริง เข้าใจสิ่งนั้นตามความเป็นจริงแล้วปล่อยหมด อันนั้นถึงว่าเป็นภาคปฏิบัติ มันปล่อยมันปล่อยไปเอง

อันนี้ถึงเป็นว่า ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันเป็นขั้นของในสติปัฏฐาน ๔ ปล่อยก็ปล่อย ๔ ปล่อย ๔ ครั้งคือว่า ปล่อยข้างใน ๆ มันไม่ใช่ปล่อยแล้วเดินตามในสติปัฏฐาน ๔ นั้น มันปล่อยแล้วมันปล่อยสังโยชน์เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มรรค ๔ ผล ๔ ไง มันปล่อยเป็นชั้นเข้ามา ถึงว่าจับพลัดจับผลูขึ้นมานี่ มันผูกมัดกันไปหมด แล้วเราก็งงไปหมด พองงไปหมดนี่ เราจะเอาตรงไหนในสติปัฏฐาน ๔ ในการที่ว่าใช้สัญญาอันที่เขาสัญญากัน เขาเดินตามกันไปนั้นเป็นสัญญา แต่ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ในการปฏิบัตินั้น มันต้องฝึกขึ้นมา (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)