ผู้วิปัสสนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อันนี้ละเอียดอ่อนมาก แล้วแต่ภูมิปัญญา เราว่าวุฒิภาวะของใจมันจะเข้าไปเห็น เวลาศึกษาเข้าไปมันก็เหมือนกับทฤษฎีไอ้พวกนักวิชาการ ที่ปรึกษานี่จะเสนอโครงการต่าง ๆ ต้องโครงการอย่างนั้น ๆ แต่จะทำได้ไม่ได้นี่ นักปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติเขาจะรู้ว่ามันจะทำได้จริงหรือทำไม่ได้จริง ถ้าทำได้จริงนะ ผู้ปฏิบัติมันอีกอย่างหนึ่ง เพราะเข้าไปในพื้นที่แล้วมันจะเข้าไปประสบ แบบว่ามีปัญหา มีอะไร ทำไม่ได้แบบโครงการที่นักวิชาการเขาตั้งโครงการขึ้นมา อันนี้เป็นโลกนะ
แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ไม่ใช่ ถ้าเป็นธรรมในปริยัตินั่นน่ะถูกหมด ไม่มีผิดเลย เดินตามนั้นจะถูกหมด แต่ทำไมเวลาเดินเข้าไปนี่ เราจะผิด เราจะคลาดเคลื่อนไป เขาบอกว่าในอนัตตา ความเห็นอนัตตานี่ มันเป็นอนัตตาโดยวัตถุทั้งหมดเป็นอนัตตา ยกตัวอย่างเช่น แม่น้ำไหลมานี่ ทำไมน้ำมันไหลไปโดยธรรมชาติ ทำไมต้องรู้ว่าน้ำไหล? เพราะน้ำไหลนี่มันแปรสภาพเป็นอนัตตา ทำไมเราต้องรู้ว่าน้ำไหล เห็นไหม
นี่มันเป็นอนัตตาโดยธรรมชาติของมัน เขาบอกว่า ทุกข์ของวัตถุ สิ่งที่เป็นวัตถุนี่มันมีทุกข์ มันต้องแปรสภาพ มันอยู่คงที่ของมันไม่ได้ กับทุกข์ในอริยสัจต่างกัน ทุกข์อริยสัจนี่เป็นทุกข์ของใจ เขาบอกทุกข์อริยสัจแคบ ถ้าทุกข์ในไตรลักษณ์นี่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกข์อันนี้ทุกอย่างมันต้องแปรสภาพหมด อันนี้มันเป็นกว้างขวางมาก วัตถุมันเป็นทุกข์...มันไม่ใช่ มันผิดไง
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะใจ ในศาสนาถึงสอนลงที่ใจไง สิ่งที่เป็นวัตถุมันแปรสภาพ มันไม่ทุกข์เพราะมันไม่มีชีวิต มันไม่รู้เรื่อง เพียงแต่ว่าสิ่งข้างนอกมันแปรสภาพนี่ เราเป็นทุกข์ ไม่ใช่มันเป็นทุกข์ สิ่งของที่เรามีใช้ขึ้นมา ของที่เราเก็บไว้ดี ๆ แล้วมันเสียหายไป อย่างเช่นไฟไหม้บ้านอย่างนี้ เราต้องทุกข์มากเลย แต่บ้านเวลาไฟไหม้มันรู้เรื่องไหม มันทุกข์ไหม ไฟไหม้บ้านนี่ ไฟไหม้ก็ไหม้ไป บ้านมันเป็นไม้มันก็โดนไหม้ไป แต่เรานี่เป็นทุกข์
นี้เราเป็นทุกข์ เห็นไหม เพียงแต่ว่า ถ้าเขาบอกว่าสิ่งข้างนอกนี่มันเป็นทุกข์ ทุกอย่างเป็นทุกข์นี่เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา มันก็เปรียบเหมือนกายนอกไง แม้แต่กายของเรา เราป่วยเราไข้นี่ เราทุกข์ของเรานะ แต่โยมมองดูน่ะโยมไม่ทุกข์หรอกเพราะโยมไม่รู้ เพราะคนมองมามันจะรู้ได้อย่างไร มันคนละหัวใจ วัตถุภายนอกนี่มันแปรสภาพอยู่ มันเป็นสิ่งภายนอก ถ้าเรามองแล้วเป็นคตินี่มันจะเข้าตรงนี้ เห็นไหม สิ่งนี้แปรสภาพ มันสลดหดหู่ มันคิดแล้วมันเศร้าใจ นี่ธรรมมันเกิด ธรรมมันเกิดได้แม้แต่ข้างนอกข้างใน
ถ้าเราไปเห็นว่าสิ่งสภาพนี่ วัตถุนี่มันแปรสภาพไป แล้วเราว่า แม้แต่วัตถุก็แปรสภาพไป สรรพสิ่งนั้นแปรสภาพไป นี่มันจะหดเข้ามาที่ตัวเรา มันจะร่นเข้ามาที่ตัวเรา ร่นเข้ามา ๆ สุดท้ายแล้วมันต้องร่นมาที่เรา ที่ทุกข์ในอริยสัจนี้ เราถึงบอกว่า เขาพูดในทำนองที่บอกว่า ในเรื่องอนัตตานี่ไม่ต้องเอาอะไรไปดู มันเป็นโดยธรรมชาติ เพียงแต่เราศึกษากลไกไป ศึกษากลไกของความคิดไง เห็นไหม ศึกษากลไกของหัวใจ ถ้าหัวใจมันแปรสภาพนี่มันแปรสภาพอยู่แล้ว เราดูไปถึงตามทัน ๆ อันนี้เป็นโลกียะไง
อย่างที่เรานี่ เราคิดถึงเมื่อวานนี้สิ เราคิดถึงเมื่อวานเราผิดพลาดอะไร เราทำอะไรผิดพลาดไป เราคิดถึงเมื่อวานนี้ เราบอกมันไม่ควรผิดพลาดเลย อย่างนี้เห็นไหม เราคิดทันไหม? ทัน เราคิดได้ สิ่งที่แปรสภาพไป แล้วมันสลดสังเวชไหม? มันสลดสังเวชถ้ามันเป็นของที่ว่าเราเสียหาย ถ้าอย่างนี้มันสะเทือนใจ ถ้าของนั้นไม่เสียหายมันไม่สะเทือนใจ อันนี้มันเป็นอดีตอนาคตจนเราเปรียบเหมือนเมื่อวานนั้นเลย พอเปรียบเหมือนเมื่อวานนั้นเพราะอะไร?
อันนี้ก็เหมือนกัน เราเข้าไปดูอาการของใจนี่ ถ้าไม่มีตัวจิต เขาถึงบอกว่า เขาไม่ต้องทำความสงบ ของเขาเขาบอกว่าเป็นวิปัสสนาพร้อมกับสมถะ เพราะไม่มีจิตดู เขาอ้างตรงนี้ชัด ๆ เลย บอกว่าไม่ต้องมีอะไรเข้าไปดูมัน ดูสภาวะตามความเป็นจริงนั้น อันนั้นน่ะเป็นวิปัสสนา อันนั้นเป็นความจริง ไม่ต้องมีอะไรไปดู พอไม่มีอะไรไปดูมันก็ขับเคลื่อนกันไป มันก็เป็นสภาวะไป
มันก็เหมือนเอาหัวใจนี่มาเปรียบเหมือนวัตถุ ถ้าพูดถึงอย่างนี้ต้องเอาเจ้าคุณอุบาลี วัดบรมนิวาส เจ้าคุณอุบาลีนี้พูดถึงถ้าเอาสถานะเรื่องว่าเป็นนักปราชญ์ เทียบเท่าเสฐียรพงษ์ได้ แล้วเวลาปริยัติท่านก็เก่ง พอท่านมาปฏิบัตินี่ มันบอกว่าเรื่องของความปฏิบัติ คือว่าเรื่องของข้อเท็จจริงในพื้นที่ กับวิชาการนี่ต่างกันราวฟ้ากับดิน ฟ้ากับดินนะความต่างกันนี่ ฟ้ากับดินเลย ความเห็นต่างกัน เพราะอะไร? เพราะว่าทางปริยัตินี่เขาศึกษาทฤษฎีแล้วเขาคำนวณทฤษฎีนั้น เขาเห็นทฤษฎีนั้น แต่เขาไม่ทำความสงบของใจ
ถ้าเขาทำความสงบของใจ ใจนี้เข้าไปเห็น สิ่งที่เขาค้านนั่นน่ะสิ่งนั้นตรงกันข้าม มันเป็นความจริง ที่ว่าทำไมน้ำนี่มันแปรสภาพ มันไหลไปนี่ทำไมน้ำต้องมีคนไปรู้มัน แล้วสภาวะสมณะ ธรรมะคือธรรมชาติ มันรู้ มันแปรสภาพอยู่แล้ว แล้วมันแปรสภาพอยู่ในป่า อย่างลำธารนี่มันไหลมาจากในป่า ลำธารนั้นมันมีชีวิตไหม? ลำธารมันรู้เรื่องไหม? มันไม่รู้เรื่อง คือว่ามันเป็นสภาวะความจริงแต่มันไม่มีคุณค่า
แต่ถ้าเรากระทบกับเรานี่ เห็นไหม เมื่อวานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ นี่มันไหล นี่ความไหลของใจ ถ้าเราจับตรงนี้ได้ ความไหลของเรานี่เราจับได้ เราจะช็อกเลยนะ อึ๊ก...อึ๊ก...อย่างเช่นเราจับความคิดนี่ เราย้อนกลับมาความคิดนี่ เรายังเสียใจถ้าทำสิ่งใด มันย้อนไปมันจะเสียใจ มันจะดีใจ อันนั้นเราจับได้ จับที่อดีตอนาคต จับนี่เป็นสัญญา
แต่ถ้าเราจับความจริง เห็นไหม ถ้าจับความจริงเอาอะไรไปจับ? มันต้องเอาจิตไปจับ เอาจิตไปดู พอเอาจิตไปดู เขาถึงบอกว่าไม่ต้องมีอะไรไปดูนี่ มันถึงผิดไง มันต้อง! มันต้องมีอะไรเข้าไปดู มันต้องมีอะไรเข้าไปจับ มันต้องมีอะไรเข้าไปวิเคราะห์ มันถึงต้องมีสมถะ มีสมถะคือความทำความสงบของใจ แล้วใจนี่มันไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ถึงยกขึ้นวิปัสสนา
แต่ถ้าเดินตามอย่างนั้น ถึงบอกว่า ที่ตามหลักของศาสนานี่ ที่ว่านี่ ทางโลกนะนักวิชาการคิด กับผู้ปฏิบัตินี่ มันเป็นเรื่องคิดของสมมุติ แต่อันนี้เป็นธรรมะ เขาศึกษาธรรมะมานี่ มันเป็นภาคปริยัติไง มันถึงยังไม่ปฏิบัติ มันถึงยังไม่รู้สึก ถ้ารู้สึกขึ้นไปนี่มันจะช็อกเลยนะ ๆ เพราะว่ามันต้องมีตัวใจ ถ้าตัวใจไม่ไปจับนะ ถึงว่าตัวใจไม่ไปจับ ดูอย่างอาจารย์เจี๊ยะถามคุณแม่... เห็นไหม
พิจารณานามรูปสิคะ ๆ
แล้วเอาอะไรพิจารณา?
ก็พิจารณานามรูปสิคะ
แล้วเอาอะไรพิจารณาล่ะ?
ก็พิจารณานามรูปสิคะ
นี่เข้ากับหลักอันนี้เลย สภาวะธรรมะมันเป็นอยู่แล้ว เราก็ดูสภาวะธรรมะ แล้วไม่ต้องมีอะไรไปดู เพราะมันไม่มีจริง ๆ เพราะเราไม่ได้ตั้งสมถะขึ้นมา เราทำใจเราสงบไม่ได้ เราไม่มีตั้งมั่นขึ้นมา เพราะอย่างนั้นก็พิจารณานามรูปไปเลย เห็นไหม พิจารณานามรูปสิคะ ๆ อาจารย์เจี๊ยะบอกว่า แล้วเอาอะไรพิจารณา เอาเครื่องมือสิ่งใดไปพิจารณา? เห็นไหม อาจารย์เจี๊ยะถามเลย เรานั่งอยู่ด้วย
พิจารณานามรูปสิคะ
แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ?
ก็พิจารณานามรูปสิคะ
แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ?
ก็พิจารณานามรูปสิคะ
อาจารย์เจี๊ยะท่านบอกว่า แล้วเอาอะไรพิจารณาล่ะ? อาจารย์เจี๊ยะบอก ต้องอาศัยจิตนี่ไปพิจารณา อาศัยผู้ที่พิจารณา มโนปุพฺพงฺคมา เห็นไหม มโน มโน ตัวใจนี่เป็นตัวก่อเหตุ ตัวใจนี่เป็นตัวรู้ ตัวใจนี่เป็นตัวแก้ไข นี้พอตัวใจสงบขึ้นมา มันไปแก้อาการนั้นก่อน แล้วค่อยกลับมา
ถึงว่าเขาเป็นภาคปริยัติ เขาถึงบอกว่าไม่ต้องมีอะไรไปรับรู้ นี่มันชัดเจนมาก ฟังแล้วมัน อื้อฮืม ๆ เลยนะว่าไม่ต้องมีอะไรไปรู้สภาวะธรรมชาติ ธรรมชาติมันเป็นสภาวะอยู่อย่างนั้น อันนั้นเป็นสภาวะธรรมชาติภายนอก พระพุทธเจ้าไม่ทิ้งเรื่องเป็นประโยชน์หรอก อันนี้เป็นประโยชน์มากนะ เช่น เราเห็นคนเจ็บคนป่วยนี่ เราจะสลดสังเวชเข้ามาเลย คนนี้เป็นญาติเราเราจะสลดสังเวชเข้ามา
นี่สภาวะกันข้างนอก นี่ธรรมะมันเป็นข้างนอก สลดสังเวชนี่เป็นหัวใจ ทีนี้สลดสังเวช เห็นไหม ถ้าเราเป็นปกติของเรานี่ เราสลดสังเวช เราจะมีความทุกข์ ยิ่งถ้าเป็นเครือญาติเรานี่ เราจะพยายามแก้ไข เราจะเข้าไปโอบอุ้ม หัวใจนี่มันจะเข้าไปเกาะเกี่ยว แล้วมันจะทุกข์ร้อนไปในหัวใจของเรา ยิ่งถ้าเป็นญาติใกล้ชิดมันยิ่งสะเทือนใจ
แต่ถ้าเป็นผู้มีธรรม เห็นไหม ปลงธรรมสังเวช นี่มันต่างกันตรงนี้ ปลงธรรมสังเวชนี่มันรู้สภาวะตามความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนั้น แต่มันก็สังเวช มันสลดหัวใจ แต่ถ้าหัวใจที่ยังไม่ได้แก้ไขเลย อย่างที่ว่าสภาวะธรรมะ ๆ นี่มันจะเข้าไปยึดเลย เข้าไปเกาะเกี่ยวเลย เข้าไปยึดเพราะอะไร? เพราะมันยังไม่ได้ทำอะไร ตัวหัวใจน่ะ ไอ้ตัวที่ว่าไม่ต้องมีอะไรไปรับรู้น่ะ มันหลบอยู่ ตัวที่ไม่ต้องไปรับรู้สิ่งนี้
แต่ถ้าเราทำความสงบเข้าไป ตามวิปัสสนาของครูบาอาจารย์เราสอน เห็นไหม ส่วนใหญ่ต้องทำสมถกรรมฐานขึ้นมาให้ได้ก่อน ทำสมถะขึ้นมา ความสงบของใจ พอความสงบของใจนี่ เอาใจตัวนี้เข้าไปค้นหา ถ้าค้นหาไม่เจอ คนที่ทำความสงบของใจแล้วมันจะเสื่อมไป ๆ มีมากเลย ทำความสงบของใจได้ อันนี้เป็นงานที่ว่ายากพอสมควรแล้ว พอทำความสงบของใจ ใจจนตั้งมั่น ใจจนเป็นหลัก เอาใจนี่เข้าไปค้นคว้าหากาย คือว่าถ้าเห็นกาย เห็นจิต ถึงได้วิปัสสนา
อันนั้นถึงเป็นวิปัสสนา มันถึงว่าจำเป็นต้องมีผู้เข้าไปขุดค้น จำเป็นต้องมีคนเข้าไปค้นหา อันนี้จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นแล้วมันจะเป็นเลอะเลือน มันจะไหลเลื่อนไป อย่างที่ว่าน่ะ สภาวะธรรมชาติ ๆ มันไม่มีที่สิ้นสุดไง มันไม่มีเริ่มต้น แล้วไม่มีที่จบ แต่อันนี้มันมีที่เริ่มต้น แล้วมีที่จบ พอมีที่จบนี่ มันสมุจเฉทปหาน มันขาดตอน เริ่มต้นแล้วจบ ขณะจิตที่พลิกนั่นคือพระอริยเจ้า จากปุถุชนคนธรรมดานี่ ขึ้นไปเป็นพระอริยเจ้า เป็นโสดาบัน เป็นอะไรขึ้นไปนี่ มันรู้เองทั้งนั้นเลย
ถึงว่าธรรมะน่ะสอนไม่ถูก แล้วเราพยายามปฏิบัติเข้าไป เพียงแต่ยังไม่ได้ปฏิบัติไง แล้ววิเคราะห์วิจัยเอากิเลสของเรา คือของยืมมาสัญญามา แล้วเราก็วิเคราะห์วิจัยไปอย่างนั้น ถึงบอกยืนยันเป็นอย่างนั้น แต่ฟัง ๆ ไปแล้วดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างหนึ่งเพราะว่าเขายอมรับว่า จิตนี้มีอยู่ นรกสวรรค์นี้มีอยู่ ใจนี้ตายไปแล้วต้องไปเกิดอีก
แต่เขาพูดในธรรมะนี่ ความเห็นของเขา ความเห็นเขายึดมั่นนะ เห็นว่าสภาวะธรรมะเป็นธรรมดา ถึงบอก นาย ก. ตายไป ไปเกิดเป็นนาย ข. นาย ก. กับ นาย ข. เป็นคนละคน ถ้าฟังอย่างนี้ปั๊บมันจะเหมือนกับปฏิเสธกรรม แต่เขาบอกไม่ปฏิเสธกรรม เพราะอะไร? เพราะว่านาย ก. ทำมาแล้ว พอนาย ก. ทำมาตายไป กรรมนั้นมันก็เข้าไปในหัวใจดวงนั้น ดวงใจดวงนั้น
แต่เขาไม่ยอมพูดดวงใจดวงนั้น เพราะมันไปเข้ากับฮินดู ฮินดูสอนเรื่องตัวตน เรื่องการเกิดการตาย ศาสนาพุทธก็สอนเรื่องการเกิดการตาย แต่ไม่ยอมรับตัวตน สภาวะจิตนี้มันหมุนไป มันแปรสภาพไปตามประสากรรม มันแปรสภาพ เออ..เขายอมรับตรงนี้ แปรสภาพจริง แล้วก็เป็นตัวตนจริง ๆ เป็นอัตตาไปอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเขาไม่มีสภาวะธรรมะ คืออนัตตาเข้ามาทำให้จิตปัจจุบันเรานี่ ที่เราเป็นปัจจุบันนี่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ไง
ถ้าธรรมะเรานี่ ธรรมะสอนปัจจุบันนี้ ไม่ได้สอนว่าเกิดแล้วตาย แล้วไปภาวนาเอาชาติหน้า...ไม่ใช่ เพียงแต่อธิบายเรื่องชีวิตถูกต้อง ชีวิตนี้เกิดมาเพราะกรรม มีจิตดวงที่ว่าสร้างสมมา เกิดมาเพราะกรรม แล้วเราสร้างสมกรรมอยู่นี่ สร้างกรรมดีตายไปก็ไปเกิดดี ตายชั่วไปเกิดชั่ว เขายอมรับสภาวะตายเกิด เออ...ตอนนี้เห็นด้วย สภาวะตายแล้วเกิด แล้วไม่ต้องหมุนเวียนไป แต่ไม่ใช่ตัวตน เขาว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะเขาไม่เห็นตัวตน เขาถึงจับสมาธิไม่ได้
สมาธินั่นคือตัวตน สมาธิคือจิตตั้งมั่น สมาธินั่นคือตัวตน ตัวตนแล้วชำระตัวตนนั้น ต้องอาศัยตัวตนเข้าไป เราปฏิเสธตัวตนตั้งแต่ทีแรกเลย จะให้เป็นอนัตตาเลย เพราะอนัตตานั้นเข้าไปชำระล้างไอ้ตัวตนของเรา ถ้าชำระล้างตัวตนของเราได้ นั่นน่ะเราจะเข้าถึงความสะอาด แล้วตัวตนเป็นตัวตนที่สะอาด ถึงว่ามันจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่เป็นตัวตนไม่ได้ เพราะตัวตนนี้คือตัวอวิชชา ตัวตนนี้คือตัวมานะใหญ่ ตัวตนนี้คือตัวเริ่มต้นที่จะออกไปเหยียบย่ำคนอื่น
ทีนี้ชำระตัวตนอันนี้ นั่นน่ะถึงว่าอันนี้เขาพูด พูดถึงเปรียบเทียบศาสนาไง เปรียบเทียบถึงพุทธกับฮินดู เพราะเราไปปฏิเสธฮินดู เราเลยปฏิเสธหลักของเราด้วย หลักของเราเหมือนกัน คล้าย ๆ กันว่ายอมรับเรื่องจิตกับเรื่องกาย แต่ของเรามีวิชาการคือมรรคนี่ ไอ้ตัวทำลายนี่ ไอ้ตัวนี่ ของเขาไม่มี ฉะนั้นของเขาเลยสำคัญกว่า ถึงว่าฟังแล้วก็ใช้ได้อยู่ เพียงแต่ว่ามันเข้าใจอะไรเยอะขึ้นมากเลย สิ่งที่เขาปฏิเสธอยู่ เพราะเขาไม่เห็น