ความเห็นโลกกับธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ฟังธรรมบ่อยๆ ธรรมนี่มันเป็นการเข้าไปชำระเรื่องของโลก เขาเป็นเรื่องของโลก ความคิดนั้นเป็นเรื่องของโลกไง มองจากโลก โลกคือวัตถุ มองวัตถุมองภาพเดียว แต่ศาสนานี่เป็นภาพเชิงซ้อน มีภาพของเราภาพหนึ่ง ภาพที่เห็นนี่ภาพหนึ่ง แต่ภาพที่มองไม่เห็นคือภาพของหัวใจที่มันอยู่ในหัวใจ นี่มองไม่เห็นอีกภาพหนึ่ง
ศาสนาเน้นเรื่องของภาพภายใน ภาพภายนอกนี้เป็นผลแล้ว เราเข้าใจว่าภาพภายนอกคือวัตถุนิยม หรือร่างกายเรานี่เป็นภาพเดียวแล้วไม่มีภาพเชิงซ้อนไง ในทางวัตถุ เห็นไหม ในทางวัตถุ ว่าวัตถุกับวัตถุนิยม วัตถุนิยมที่เขาเป็นไป ทางโลกจะเป็นวัตถุ กับศีลธรรมจริยธรรมที่เสื่อมลงก็เพราะเหตุนี้ไง เหตุที่มองแต่วัตถุ มองแต่อย่างนั้น
แต่ศาสนาพุทธไม่ได้สอนตรงนั้น ศาสนาพุทธสอนว่า ครอบครัวใดมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส อันนั้นคือบุญ บุญคือในครอบครัวมีความสุขกันต่างหาก ความสุขนั้นเป็นบุญ ไม่ใช่วัตถุมีมากมีน้อยเป็นบุญ วัตถุมีมากขนาดไหนก็เป็นทุกข์บนวัตถุนั้นถ้าหัวใจนั้นเป็นความทุกข์ เรามองเฉพาะภาพภาพเดียว เห็นไหม
อย่างที่ว่า ปล่อยปลาชนิดไหนไปแล้วกินปลาชนิดนี้ไม่ได้ กรรมมันคลุกเคล้ากัน ถ้าเราปล่อยอย่างนั้น ถ้าคิดอย่างนี้แล้วนะ พระอริยบุคคลเกิดได้แทบลำบากมากเลยเพราะอะไร เพราะโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี่มันติดไป
ถ้าโสดาบันก็ติดในโสดาบันใช่ไหม มรรค ๔ ผล ๔ ก็ต้องขยับขึ้นไป ต้องปล่อยอันนี้ขึ้นไป พอปล่อยอันนี้ขึ้นไปมันก็ปล่อย สมุจเฉทปหาน โสดาบัน ก็เป็นสกิทาคามี อนาคามีขึ้นไป นี่มรรคหยาบ มรรคละเอียด ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป
อันนี้ก็เหมือนกัน เราปล่อยปลา นี่ความดีนะ เราไปปล่อยปลานี่เป็นความดีมากเลย เพราะอะไร นี่เราให้ชีวิตสัตว์ สัตว์นั้นมีความทุกข์ร้อนอยู่ แล้วหัวใจเรา หัวใจเรามีความทุกข์ร้อนอยู่ เราคิดว่าเรานี่ต้องโดนเขาฆ่าอยู่แล้ว ชีวิตเราต้องตายไปในไม่กี่วันข้างหน้านั้น แล้วมีคนเอาเราปล่อยไป บุญกุศลนี่เกิดมหาศาล เพราะให้ชีวิต การให้ชีวิตแล้วชีวิตเราจะยืนยาว
ชีวิตเราจะมีอุปสรรค ไม่ปาณาติปาตา นี่มีศีล ถ้าศีล ๕ โดยความบริสุทธิ์นะ ก้อนหินนี่มันมีศีล ๕ ด้วยความบริสุทธิ์ ต้นไม้ภูเขานี่มันมีศีล ๕ เพราะมันไม่เบียดเบียนกันเลย เห็นไหม แล้วมันได้อะไรขึ้นมาล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน ศีลบริสุทธิ์แล้วต้องมีธรรม ๕ ประการไง ไม่พูดปดก็ต้องพูดคุณงามความดีด้วย พูดคำพูดที่มันถูกต้อง ควรพูดให้สมานประโยชน์ด้วย ปาณาติปาตา ไม่ฆ่าสัตว์ ต้องมีเมตตาด้วย ไม่ฆ่าสัตว์แล้วก็ไม่ฆ่าสัตว์เฉยๆ ไม่ฆ่าสัตว์นั้นมันเป็นกรอบไง กรอบของศีลธรรมความปกติ แต่คุณงามความดีเกิดขึ้นจากการกระทำอันนี้ไง
ปล่อยปลานี่มันตรงข้ามกับปาณาติปาตา หนึ่ง เราให้ชีวิตเขาไปแล้ว หมดกันแค่นี้ เพราะความตั้งใจ ความดีใจของเรา ความสุขใจเกิดที่เราปล่อยให้เขาไป อันนั้นหมดแค่นี้ เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ชีวิตของเขา เขาต้องรักษาชีวิตเขา อย่างนั้นมันก็แบกโลกน่ะสิ แบกโลกทั้งโลกไว้บนบ่า แล้วโลกนี้ขยับไปไม่ได้ นี่มรรคหยาบไง
การทำคุณงามความดีนั้นเป็นคุณงามความดีแล้วมันก็จบกัน แต่ความละเอียดขึ้นไป อีกชั้นๆ ขึ้นไป มันเป็นสองชั้นสามชั้นขึ้นไป ถ้าเราติดตรงนั้นแล้วเราขยับก้าวเดินไม่ได้ เหมือนที่ว่าความเห็นอันนี้เป็นความเห็นอยู่ แล้วไม่ยอมทิ้ง เพราะเราคิดอยู่แล้วว่าความเห็นเราถูกต้อง ไม่ยอมทิ้งความเห็นนั้นเลย มีความเห็นใหม่ๆ เข้ามา มีเหตุผลที่ดีกว่าเข้ามาก็ต้องปล่อยความเห็นนี้เข้าไป
ทีนี้ว่า ถ้าเจตนาไปกินเขาด้วยความเจตนา บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน
ไม่ใช่หรอก
อาหารนะ เนื้อ ๓ ส่วนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้กับพระภิกษุไง พระภิกษุเป็นผู้ที่ว่าสละหมดแล้ว เขาจาบจ้วง เขาว่านะ แหม! เวลาตักเนื้อสัตว์เข้าปากนะ แล้วก็ให้ศีลให้พรอีก มันจะเอาพรที่ไหนมาให้เขา ในเมื่อตักเนื้อเขาเข้าปากอยู่
เนื้อ ๓ ส่วน เนื้อนั้นเขาได้มาวางอยู่ข้างหน้านั้น ปล่อย มันก็เน่าเสียไป นี่คนที่ไม่เห็นประโยชน์ของโลกเขาไง ประโยชน์ของโลกเกิดขึ้น ในเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น
คนเรา นี่พูดถึงลูกหลานเรา เราจะให้เป็นคนดีทุกคนหมด สังคมโลกนี่ เราไปบอกเขาไม่ให้ฆ่าสัตว์ ในเมื่อเขามีอาชีพอย่างนั้น เขาต้องทำอย่างนั้น กรรมของเขา เขาจงใจทำของเขา เขาทำมาแล้วสิ้นสุดที่การกระทำของเขา เขาเชือดของเขาแล้ว เขาทำแล้ว วางอยู่ตรงนั้น เขาทำเพื่อการตลาด เขาไม่ได้ทำเพื่อเรา
นี่ภิกษุไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้ว่าเขาฆ่าเพื่อภิกษุนั้น หนึ่ง เราเหมือนกัน ไม่ได้ฆ่าเพื่อเรา เขาจะฆ่าสัตว์นั้นมาขายให้เราคนเดียวเหรอ ถ้าขายให้เราคนเดียว ตลาดนั้นเจ๊ง เพราะบางทีเราก็ไม่ได้ไปตลาดนั้น เห็นไหม เขาฆ่ามาเพื่อตลาดนั้น นี่เจาะจงนี้ไม่มี เจาะจงเพื่อเรานี้ไม่มีอยู่แล้ว รู้เห็นก็ไม่มี เนื้อ ๓ ส่วน คือว่าสิ่งที่เป็นอยู่อย่างนั้น แล้วเราใช้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ โลกนี้เป็นแบบนี้
แต่ถ้าร่างกายของเรามีสิ่งที่มันแสลงกัน กินแล้วร่างกายเราเป็นอะไร เราจะไม่อย่างนั้น นั่นมันเรื่องของเรา แต่ไอ้เรื่องที่ความบริสุทธิ์ของตรงนั้นไง ความบริสุทธิ์ของที่ว่าอยู่ที่คนกิน อยู่ที่คนกิน
คนกินนั้นดำรงชีวิต กิเลสอยู่ที่ใจ กิเลสนี่มันอยู่ที่ใจนะ เรากินเข้าไป มันไปเพิ่มพูนกิเลสไหม เราไม่กินเข้าไป มันเพิ่มพูนกิเลสเราไหม เราอดอาหาร ไม่กินจนตายไป กิเลสเราจะชำระได้ไหม เราไม่กินอาหารจนตาย เราหยุด เราอดอาหารจนตายเลย กิเลสมันจะหลุดไปไหม
กิเลสมันอยู่ที่ใจ มันต้องชำระกันที่ใจ ด้วยอาการของการทำสมาธิเข้าไป ด้วยการชำระ เห็นไหม มันอยู่ที่ตรงนั้น ไอ้ประเพณีที่โบราณว่ากันมา ถูกก็มี ผิดก็มี การปล่อยสัตว์แล้วไม่กินสัตว์นั้นอีก ไม่กินสัตว์นั้นอีก
มันไม่กินเพราะตัวนั้นเหรอ ไอ้ไม่กินนะ ถ้าไม่กินด้วยความเห็นเป็นโทษ เราเห็นด้วยนะ อาหาร ๓ อย่าง เช่น พระเรานี่ อย่าว่าแต่ว่าไม่กินเนื้อสัตว์เลย เวลาภาวนากันนะ ไม่กินข้าว กินลมเอา เพื่อให้ร่างกายนี้เบาขึ้นมา เวลาประโยชน์ที่เราจะใช้สอยขึ้นมา อดอาหารเพื่อเป็นกลอุบายวิธีการจะประพฤติปฏิบัติ มันมากกว่าการกินอันนั้นนะ การกินอันนั้นมันกินเพื่อ...
เราจะบอกว่า มันกินเพื่อร่างกาย ร่างกายนี้ดำรงชีวิตไป อายุ ๗๐-๘๐ แล้วนะ กินไม่ได้ พยายามหาอาหารเสริม เสริมขึ้นมาเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นมานะ ร่างกายเวลาหนุ่มแน่นมันเป็นอย่างนี้ มันมีพลังงานเหลือใช้ มันจะมีความคิดไปร้อยแปด จนทางตะวันตกเขาต้องมีการกีฬามาเพื่อผ่อนคลายอันนั้นออกไป เราไม่มีกันก็มั่วสุมกันเข้าไป อันนี้มันออกไปทางนั้น
ร่างกายนี่ส่วนของร่างกาย แต่พอแก่เฒ่าขึ้นมาแล้วต้องดำรงให้มันอยู่ได้ขึ้นมา ร่างกายเป็นเรื่องของร่างกาย แต่เกี่ยวเนื่องกัน อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี่ ถ้ากินแล้วเพิ่มกิเลสไหม? มันเพิ่มได้ ถ้าหัวใจไปกินสิ่งนั้นแล้วพอใจ แล้วอยากกินซ้ำกินซาก นั่นคือกิเลสนะ
กิเลสคือว่าความเคยสัมผัสทีหนึ่งแล้วอยากสัมผัสซ้ำสัมผัสซาก อันนี้มันอยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่นของใจ มันไม่อยู่ที่เรื่องของกายแล้ว เรื่องของกายนี้กินเพื่อดำรงชีวิตไปเท่านั้นเอง แต่เพราะใจนี้ไปติด เห็นไหม มันอยู่ที่ใจทั้งหมด นี่ปัญหาหนึ่ง ปัญหาที่ว่าเรายินดีไม่ยินดี
แล้วว่าภาพเชิงซ้อนนี่ มันอยู่ที่กายกับใจ ใจเราเป็นอย่างนี้ไง ใจเราเป็นโดยธรรมชาติของมัน เพราะมันมีกิเลสสะสมมาโดยธรรมชาติ เพราะเนื้อของใจมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วพอมาอย่างนี้ อันนี้มันเป็นความคิดของโลก
เราจะบอกว่า ความคิดของโลกเป็นความคิดผูกมัด มัดเข้าไปนะ ทุกอย่างมัดแน่นแล้วแก้ไขไม่ได้ ความคิดของธรรม ถ้าความคิดของธรรม ปัญญาเกิดขึ้น มันจะละเข้ามาเป็นเปลาะๆ เข้ามาไง อาการแบบนี้เป็นอาการแบบนี้ คือกรรมนี้ไม่คลุกเคล้า กรรมนี้แยกออกจากกัน ถ้ากรรมนี้แยกออกจากกันได้ มันเป็นประเด็นๆ ไป เราแก้ประเด็นนี้ไปประเด็นนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของโลกแล้ว ประเด็นมันมัดกันไปหมดเลย ประเด็นมันผูกเป็นประเด็นเดียว แล้วมันแกะไม่ออก เห็นไหม
ถึงว่ามรรคหยาบๆ ไง ความเห็นหยาบๆ ว่าถ้าเราละได้ คือปล่อยปลาแล้วไม่กินปลานั้นอีก ถ้าไม่กินอีกนะ มันเป็นกุศโลบายการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์หรือไม่ให้เบียดเบียนกัน อันนั้นเห็นด้วย แต่ถ้ากินอีก แล้วเป็นโทษเป็นกรรมนี้ เราไม่เชื่อ มันเป็นไปไม่ได้ มันเอาความจริงเข้าไปจับความจริง เข้าไปจับว่ามันคนละส่วนกัน มันบริสุทธิ์หมดเลย
แล้วยังว่าการฆ่ากัน เขาถึงว่า การฆ่ากันเอย การอะไรนี่ ทำบุญวันพระได้ผลไหม? มันเป็น เขาบอก ทำบุญ เขาเห็นพระ เวลาวันพระนี่มีของมาก เขาสงสารพระ ก็เลยไม่ใส่บาตร เพราะพระต้องแบกเอาของมาก
แล้ววันหยุดนักขัตฤกษ์ เราบอก นักขัตฤกษ์ วันปีใหม่นี่ไม่มีประโยชน์เลย เพราะอันนี้ปีใหม่ มันขยับได้ ผู้บริหารเลื่อนวันปีใหม่ไปวันอื่นมันก็เป็นวันอื่น มันเป็นวันของประเทศนั้น วันของกลุ่มชนนั้น แต่วันพระวันเจ้านี่เป็นสากลของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาหลายพระองค์แล้ว แล้วหลายพระองค์ก็บัญญัติไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนพระเจ้าสุทโธทนะนิมนต์ไปที่บ้าน แล้วพระเจ้าสุทโธทนะลืมนิมนต์ไปฉันที่บ้าน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณไปเลยว่าพระพุทธเจ้าทำอย่างไร ประเพณีของพระพุทธเจ้าทำอย่างไร เห็นไหม ประเพณีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทำอย่างไร ประเพณีของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์บิณฑบาต เห็นไหม นี่ทำเหมือนกัน ทำเหมือนกับพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์มา
วันพระวันเจ้าก็เหมือนกัน เป็นวันที่ศาสนานี้วางไว้ พอวางไว้ นี่เป็นสากลของศาสนา เช่น ภาษาบาลี พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะมาตรัสเรื่องภาษามคธ ภาษาบาลีเพื่อเป็นภาษากลาง เพราะภาษากลางเขาสื่อรู้กัน พอสื่อรู้กัน ถึงวันนี้เป็นวันที่ว่าเขาจะได้ส่วนบุญส่วนกุศลจากผู้ที่ทำบุญทำกุศล ผู้ที่ทำบุญทำกุศลนั้นอุทิศส่วนกุศลไป
อุทิศ ก็เรื่องของจิตไง เราทำบุญกุศลไปแล้วเรากรวดน้ำ เรากรวดอะไรไป? เรากรวดคุณงามความดีของใจนั้น ใจนี้สื่อไปถึงใจดวงนั้นๆๆ ใจของพวกญาติ พวกสายของกรรม เพื่อให้เจ้ากรรมนายเวร เพื่อจะให้ปลดเปลื้องกัน เพื่อให้เบาบางไป เพื่อให้กรรมนี้น้อยไป ใจอันนี้มันเหมือนกับขออิสรภาพจากความเกี่ยวพันกับกระแสของกรรมทั้งหมด เขาถึงยอมรับตรงนี้
วันพระมันถึงเป็นวันที่ทำบุญแล้วได้บุญมากกว่าวันปกติ วันปกติก็ทำบุญธรรมดา แต่ทำเป็นส่วนของเรา ได้บุญอยู่แล้ว แต่เป็นส่วนของเรา แต่ถ้าเป็นวันพระนี่ เป็นวันสื่อถึง ๓ โลกธาตุ สื่อกันได้หมด ความสื่อกันอันนั้นเป็นส่วนที่เขารอรับอยู่
นี่ภาพเชิงซ้อนอีกล่ะ ซ้อนก็ว่า ถ้าเป็นสากล อันนี้เป็นสากล สากลของหลักของศาสนา แต่ไอ้ที่ว่านักขัตฤกษ์นั้นเป็นสากลสำหรับเรา มันคิดขึ้นมา มันต่างกันตรงนั้น นี่ภาพเชิงซ้อนอีกล่ะ เน้นลงที่ใจ เน้นลงตรงที่การเกิดการตายของศาสนา ของลัทธิ ของศาสนาที่ว่าการหมดไปเป็นช่วงๆ ไปแล้ว แต่จิตวิญญาณนั้นมันยังเกี่ยวพันกันไป
กระแสของกรรม เพราะภพชาตินี้มันต่างกัน อายุนี้ มิติของแต่ละมิตินี้ กาลเวลามันต่างกัน แล้วจิตเวียนอยู่ในนั้น ถึงเวลาจะรับผลของบุญก็รับผลของบุญ อนุโมสาธุการกับผู้ที่ทำบุญ บุญกุศลถึงได้มากกว่าไง วันพระจะได้มากกว่า
แต่ทางโลกก็มองอีกว่า วันพระ พระได้มาก เห็นไหม สงสารพระ นี่ไม่ทำบุญ ไปตักบาตรวันอื่นดีกว่า วันที่เราควรจะได้ผล เหมือนกับมันให้ผลได้มากกว่า เรากลับคิดว่าพระได้มาก
พระได้มากส่วนพระได้มาก อันนั้นเป็นภาพของวัตถุที่เราเห็นแล้วเราทนไม่ได้ กิเลสนี่มันทนไม่ได้ไง ก็ว่าสิ่งนี้สูญเปล่า สิ่งนั้นเสียไป แต่ไม่เห็นในภาพของนามธรรมว่า สิ่งที่ว่าได้คุณประโยชน์จากหัวใจอันนี้มันได้คุณค่ามากกว่า สิ่งที่เป็นวัตถุที่ว่าเป็นข้าวของที่ใส่บาตรไปจะเสียไม่เสียอยู่ที่พระ อยู่ที่ความเข้าใจกันแล้ว เขาจะสร้างประโยชน์ได้สร้างประโยชน์ไม่ได้ แต่ขณะที่เราใส่บาตรขาดจากมือของเราไป เราปล่อยจากมือของเราไป เราขาดออกจากมือของเรา นั่นคือบุญกุศลเกิดขึ้นเต็มๆ แล้วเราอุทิศส่วนกุศลของเราไปถึงเปรต ถึงญาติของเรา ถึงทุกคน เจ้ากรรมนายเวรนั้นเป็นบุญกุศล เห็นไหม
นี่มองกันแต่ภาพภาพเดียว มองกันแต่เรื่องของปัจจุบัน เรื่องของปัจจุบันถ้าจริงแล้วมันต้องมาลองภาวนา ภาวนานี่ปัจจุบัน แก้กิเลสกันด้วยปัจจุบัน การชำระปัจจุบันไม่มีการโน้มถ่วงไปอดีตอนาคต เราคิดออกมานี่เป็นอดีตไปแล้ว เพราะความคิดออกมา มันขยับออกมาจากใจ แต่ถ้าเป็นปัจจุบันนะ มันต้องเป็นปัจจุบันขณะที่ปฏิบัตินี้
เรามองกิเลส นี่มันพลิกแพลงเอาความคิดของเรานี้มา อาจารย์มหาบัวบอกว่า จะเรียนสูง เรียนต่ำ จะมีหลักวิชาการขนาดไหนก็แล้วแต่ กิเลสมันพาใช้ไง การเกิดขึ้นจากก่อนความคิดนี่มันผลักไสให้เราคิดไปตามความเคยใจของเรา ใจเราเคยคิดอย่างไรมันจะผลักไสให้คิดอย่างนั้น ความเห็นของเราเป็นอย่างไรมันจะผลักไสให้ไป แล้วผูกมัดเข้าไป เห็นไหม ใช้ความคิดนั้นทำให้เราก้าวเดินไม่ออก ความคิดเราจะก้าวเดินออกมาเป็นประโยชน์กับเรากับตัวเราเองนะ แต่กลับเป็นความเสียของเราเอง นี่ความคิดของอันนั้น
ถึงว่าเรื่องของโลก นี่เป็นปกติ ของธรรมดา เราถึงต้องมาฟังธรรม ทำเพื่อตอกย้ำสิ่งที่ว่าได้ยินได้ฟัง หนึ่ง แล้วเราพยายามน้อมเข้ามาเพื่อจะแก้ตรงนั้นไง ฟังธรรมแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ทำความสงบขึ้นมาให้ได้
ถ้าจิตนั้นสงบขึ้นมา ความสุขเกิดขึ้นมหาศาลในความสงบนั้น เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดของโลก อารมณ์ของโลก ความสุขที่เราเคยสัมผัสในโลกนี้ทั้งหมด ไม่มี เป็นของโลกเขา อันนี้มันจะเป็นสิ่งออกจากโลกแล้ว นี่ความสุขที่เกิดขึ้นจากใจ อารมณ์ที่เป็นความสงบนี้เป็นความสุข ความสุขนั้นเริ่มวิปัสสนา มันต้องมีความสงบ ไม่ขยับเขยื้อน มันถึงเป็นปัจจุบัน พอถึงเป็นปัจจุบันนั้น เราถึงเข้าไปแก้สิ่งที่ว่า
ล้อรถนี่หมุนอยู่ตลอดเวลา แล้วไม่สามารถจะขันน็อตขันอะไรของมันได้ รถต้องจอดนิ่งใช่ไหม พอล้อรถจอดนิ่ง เราสามารถเปลี่ยนถ่ายล้อรถนั้นได้ นี่เหมือนกัน หัวใจหมุนอยู่ หัวใจขับเคลื่อนด้วยความคิด ความคิดนี่มันขับเคลื่อนไป พลังงานไปเต็มที่ของมันหมดแล้ว นี่ความคิดขับเคลื่อนอยู่ เราจะไปแก้ไขหัวใจเราได้อย่างไร
หัวใจเราต้องทำความสงบเข้ามา พอสงบเข้ามา เราเริ่มต้นแก้ไขเพราะเรามีความสงบ เห็นไหม สิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่แล้วหยุดนี่มันก็แปลกประหลาดอยู่แล้ว แล้วยังพยายามแก้ไขด้วยการดัดแปลงมัน เปลี่ยนความคิดเปลี่ยนความเห็นด้วยวิปัสสนาอันนี้
ศีล สมาธิ ปัญญา สมถะ วิปัสสนา สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน นี่คือคำสอนของหลักของศาสนา นี่คือศาสนาพุทธ ศาสนาของผู้ที่ว่าเคยผ่านไปแล้ว แล้วทำได้จริง ทำได้จริงๆ เหตุความจริงจะเกิดขึ้นกับเรา เอวัง