เทศน์เช้า

ผงเข้าตา

๖ ส.ค. ๒๕๔๓

 

ผงเข้าตา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ผงมันเข้าตา เวลาผงเข้าตา เห็นไหม ธรรมะนี่เขาศึกษากันมา นี่รู้ เขาเข้าใจ เขามีหลักมีเกณฑ์ รู้นะ สิ่งที่ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สำคัญ แล้วเมื่อก่อนก็เป็นคนติด้วย เขาเป็นคนติเองเลยว่าพระนี่ไม่เข้าหลักไม่เข้าเกณฑ์ พระนี่ออกนอกลู่นอกทาง แต่เวลาคนมันจนตรอก เห็นไหม พอคนมันจนตรอก ความเจ็บไข้ได้ป่วยมาถึงที่ตัว แล้วตัวไม่มีทางออก นี่ผงเข้าตา

ตรงนี้มันถึงสำคัญที่ครูบาอาจารย์ไง สำคัญที่ครูบาอาจารย์เป็นหลัก

ดูอย่างที่ว่าพระป่วยอยู่ในป่าอย่างนี้ อยู่ในป่า เห็นไหม หลวงปู่มั่นไปบอกนะ ถ้าการครวญครางมันเป็นยารักษาโรคนะ มันต้องหาย ครวญครางเอาเถอะ เห็นไหม ไม่ให้ครวญครางเอา ให้พิจารณาว่าทุกข์มันเกิดขึ้นจากอะไร เหตุที่มันเกิดทุกข์เพราะอะไร ไอ้ครวญครางนั่นไม่หายหรอก

นี่เหมือนกัน เวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เขาไปอยู่ที่อารมณ์ที่เจ็บไข้ได้ป่วย ว่าเขาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไปหาหมอ หมอก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย แต่พอเขารับองค์แล้วเขาหาย เพราะอะไร เขาหายชั่วคราว หายเพราะอะไร เพราะเรารับแล้วเราสบายใจ เราว่าเราได้ทำปมในหัวใจบางปมออกไปจากใจแล้ว มันก็พอใจ พอมันพอใจขึ้นมา...

เราบอก มันไม่หายหรอก เราเห็นมาเยอะแล้ว มันไม่หาย เพราะมันไม่ได้แก้ไข ไปหาหมอซะ ถึงเวลาไปหาหมอต้องไปหาหมอ แล้วเวลาเรื่องของจิตใจเรา เราต้องรักษา แต่เรื่องของโรคนี่มันต้องหาหมอ ถ้าหมอวินิจฉัยไม่ได้ มันเป็นเรื่องของกรรม

โรคมี ๓ ชนิด โรคร่างกายนี้เสื่อมสภาพอย่างหนึ่ง โรคอุปาทานอย่างหนึ่ง โรคของกรรมอย่างหนึ่ง ถ้าโรคของกรรม เราก็ทำบุญกุศล เราแก้ไขไป ถึงจุดจุดหนึ่ง เห็นไหม ธรรมโอสถไง ว่าธรรมโอสถ

ถึงว่านะ ครวญครางไม่หายหรอก เรากำหนดตั้งใจให้มั่น พุทโธอย่างหนึ่ง ทุกอย่างจะเข้ามาหาเราไม่ได้

เขาบอกว่า “เขาพุทโธแล้วมันก็ช่วยอะไรไม่ได้”

เราบอก พุทโธนั้นพุทโธด้วยความคลอนแคลน พุทโธด้วยความไม่มั่นใจไง พุทโธด้วยความไม่ปักใจ ถ้าเราปักใจ เรามั่นใจ เราเชื่อใจนะ เราน้อมเหนี่ยวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจมันเข้มแข็งขึ้นมา สิ่งนั้นเข้ามาไม่ได้ รับประกันได้ว่าสิ่งใดๆ ก็เข้าไม่ได้ ถ้าเราเข้มแข็งจริงจังนะ สิ่งนั้นมันจะเข้ามาไม่ได้เลย

เพราะว่า เขาเองเขาก็เคารพ เขาบอก เขาเองเขาตั้งศาลที่บ้านเขานะ เขามีศาล แต่เขาก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระพุทธรูป ๒๑ องค์ ยังจำได้ เขาบอก เขาต้องกราบพระพุทธรูป พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก่อน แล้วค่อยมากราบของเขา เพราะเขาหมดที่พึ่ง

เราบอกว่า ไอ้อย่างนั้นมันทำให้เราไขว้เขว เห็นไหม ถ้าเราอยู่ของเรา เราพยายามอยู่ของเรา เราเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราทำคุณงามความดีอะไร ไม่ใช่ทำอย่างนั้นนะ เราพลิกใจของเราต่างหาก พลิกใจของเราขึ้นมาเป็นคนที่ประเสริฐขึ้นมานะ เขาต่างหากยังต้องมาไหว้เรา

แต่นี่เราเป็นคนอิสระ เป็นมนุษย์เป็นอิสระ เขาจะเป็นเทพหรือเขาจะเป็นผีก็แล้วแต่ เขาอยู่ในสถานะนั้น เขามาประทับเรา เขาต้องมาขอความช่วยเหลือ มาขอสถานที่อยู่อาศัย ถ้าเขาจะมาช่วยเหลือ เขาบอก เขามาช่วยเหลือ

เขามาช่วยเหลือนั้นเขาช่วยตัวเขาเองก่อน เราพยายามทำบุญกุศลของเราแล้วอุทิศส่วนกุศลให้เขา เห็นไหม เราประเสริฐกว่าเขา

นี่จะชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ที่นั่งอยู่นี่ประเสริฐกว่าที่เขามาประทับทรง ประเสริฐกว่าหมดเลย สิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ว่าเขาไม่มี เขาต้องหาที่พึ่งหาที่อาศัย แต่ส่วนใหญ่เราจะพูดว่าเขามาช่วยเหลือ เขามาอะไร

ถ้าเขามาช่วยเหลือ ทำไมต้องเดือดร้อนกัน ที่ว่าต้องไปรับประทับทรงที่นั่น รับจนในครอบครัวมีปัญหาเลยล่ะ ในครอบครัวมีปัญหา เขาบอก แล้วถ้าในครอบครัวแบบว่าดึงกันไปแล้วมันจะมีไหม

ความปกติ พระพุทธเจ้าสอนเรียบง่าย ไม่ให้เชื่อผีเชื่อสาง ให้เชื่อเราเองไง อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันนี้สำคัญที่สุด ทุกข์มันอยู่ที่เราทั้งหมด แล้วมันต้องกำจัดตัวสมุทัย ตัวความตัณหา ตัวความเห็นผิด พอมันดับทุกข์ นิโรธเกิดขึ้น ความดับทุกข์เกิดขึ้น แล้วดับทั้งหมดนี่มันเป็นเหตุผล เกิดจากอะไร? เกิดจากมรรคไง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในอริยสัจ เห็นไหม มรรคมันก็อยู่ในอริยสัจนั้น นี่กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตใจดวงนั้นจะประเสริฐขึ้นมา จะเหนือสิ่งนั้น

เพราะตรงนี้ เราถึงบอกว่า ไอ้สิ่งที่ว่าเขาประทับทรงแล้วเขามีอำนาจเหนือกว่าอะไรอย่างนี้ เราบอก เป็นไปไม่ได้ เพราะใจเราเองเรายังพลัดพรากจากอารมณ์ของใจ นี่หลุดพลัดพราก สิ่งที่มันรักกันน่ะพลัดพราก ปลดมันออกจากใจได้ ทำไมไอ้อารมณ์จากข้างนอกเข้ามา ที่เขามาประทับทรง ทำไมเราจะหักห้ามเขาไม่ได้

เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหักห้ามเขาไม่ให้เขาเข้ามา เพราะใจเราไม่สู้ เราอ่อนแอเฉยๆ เขาถึงมีอำนาจเหนือเราไง ถ้าเรามีอำนาจ เหนือเขาไม่เหนือเขานะ เราภาวนาเข้าไป เรื่องของอริยสัจ เรื่องแก่นของใจ เรายังมีอำนาจเหนือเรา แล้วเราปลดเปลื้องเรา จิตใจมันคนละสภาวะเลย

ถ้าปลดเปลื้องอันนี้ออกมานะ ปลดขันธ์ ๕ ออกจากใจได้นี่ เห็นไหม ขันธ์ไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่ขันธ์ ชั้น ๑ นี่มันเป็นอริยบุคคลขึ้นมานะ สิ่งนั้นยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะอะไร เพราะมันไม่สีลัพพตปรามาส มันไม่ใช่สีลัพพตปรามาส มันไม่ถือมงคลตื่นข่าว มันจริงจังไง มันเป็นอจลศรัทธา มันศรัทธาในศาสนาพุทธโดยเห็นด้วยตัวเอง มันยิ่งมั่นคงเข้าไปใหญ่ มันยิ่งมั่นใจตรงนั้น

แต่เพราะเขาไม่มีตรงนี้ พอสิ่งใดเข้ามาทับถมหนักหน่วงขึ้นไป ผงเข้าตา ปัญญาจะมีมากขนาดไหนก็มืดบอดไปชั่วคราว กิเลสมันครอบงำ พอกิเลสมันครอบงำให้หลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งต่างๆ ไป เห็นไหม

จากคนเรายึดเข้ามาในหลักของศาสนา แล้วยังถอยออกไป ถอยออกไปนะ อย่างนี้ถือว่าถอยออกไป เขาบอก เขาไม่ได้ถอย แต่อยู่ในศาสนา

แต่ถือว่าถอย ถอยเพราะไปรับภาระสิ่งต่างๆ เข้ามาให้เป็นภาระ เป็นภาระนะ จะต้องไปทำอย่างนั้น ต้องไปทำอย่างนี้ ถึงเวลาต้องคอยอุปัฏฐากเขา เห็นไหม นี่เป็นภาระ แต่ตัวเองภูมิใจ ภูมิใจว่ามีสิ่งรับรู้ไง มีสิ่งแปลกประหลาด แล้วจะรู้สิ่งต่างๆ

รู้หลอกหมด! นี่เป็นพันๆ อย่าง นี่รู้หลอกไง รู้ว่าคนนั้นจะมา รู้ว่าคนนั้นจะไป รู้แล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา รู้แล้วให้เกิดเป็นภาระขึ้นมา รู้แล้วเกิดเป็นความกังวลขึ้นมา เห็นไหม เขาว่าเป็นสิ่งที่รู้ แต่เราถือว่าเป็นภาระ เป็นภาระที่ทำให้เขาเดือดร้อนไป แต่ถ้าเขาปลดตรงนี้ออกไปได้ ถ้าเขาพยายามทำขึ้นมานะ แต่เพราะว่าเขาเชื่อไปหลายเปอร์เซ็นต์แล้ว แต่มีหลักอยู่ เขาขอเวลา ๓ เดือน แล้วจะกลับมาให้เป็นคนปกติคนเดิม

ถ้าขอเวลา ๓ เดือนนะ เพราะว่าเราเอาประกันว่าสิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้น ถ้าถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วจะเป็นไปไม่ได้ จะไม่ต่างจากนี้ไป เราอยู่ในหลักของเรา ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ยึดหลักในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึกที่เราจะอาศัยไป แล้วมันจะเคลื่อนไปจากไหน

แต่นี้ยึดจับไม่ได้ ตื่นแต่เงา แล้วจับตัวหลักไม่ได้ พอจับตัวหลักไม่ได้ พอผงเข้าตาแล้วไม่มีคนปรึกษาไง ปัญญารู้ท่วมหัว เห็นไหม รู้หมดทุกอย่างเลย แต่เวลาประสบการณ์เฉพาะหน้าเอาไปไม่รอด เห็นไหม

ที่ว่า “ต้องเชื่อธรรมๆ อย่าเชื่อ อย่าติดในบุคคล”

มันต้องติดบุคคลไปก่อน ครูบาอาจารย์จะชี้นำตรงนี้ จะแหวกได้ให้ตรงนี้ อาจารย์มหาบัวถึงบอกว่า เปรียบเหมือนใจดวงหนึ่งให้ใจดวงหนึ่ง แล้วถ้าใจดวงนั้นจับพลัดจับผลู จับไปโดยที่ว่าผิดพลาดไปนะ อาจารย์จะคอยตีมือนะ

ตีมือคือว่าพยายามห้าม “อย่า! สิ่งนั้นอย่าเข้าไปยุ่ง ใจอย่าไปเกาะเกี่ยว อย่าไป” นั่นคือการตีออกไปๆ เราไม่รู้เราก็จับ จับทุกเรื่อง เวลายื่นออกไปก็ยื่นแล้วก็ยังรับผิด พอรับผิดแล้วก็ไปจับแต่สิ่งที่ผิดๆ นี่ต้องคอยอย่า คอยชี้ คอยห้ามว่าต้องเอาสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกต้องคือเข้ามาว่า ยึดหลักให้ได้ ยึดหลักตัวนี้ให้ได้ พุทโธคือใจ ถ้าเอาใจของตนได้ เห็นไหม คำพูดว่า “พุทโธ” นี่เป็นพุทธานุสติ

แล้วเวลาท้าวมหาพรหมทั้งหมดก็บอกเลย ถ้าเราชาวพุทธนะ ระลึกถึงพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผีจะมาหลอกไม่ได้ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)