เทศน์เช้า

เปลือกส้ม

๑๓ ส.ค. ๒๕๔๓

 

เปลือกส้ม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

สำหรับของเขา เขาเคยปฏิบัติ เป็นประโยชน์ เห็นไหม เพราะว่า การสอนว่า กระทบนามรูป รูปนาม แล้วเราตัดเลยๆ มันจะปล่อยวางเข้ามาได้ ตากระทบนามรูป รูปสักแต่รูป ตาสักแต่ว่าตา ทุกอย่างสักแต่ว่า มันก็ปล่อยๆ แต่มันปล่อยนี่มันก็เข้าใจว่ามันมีความสุขมาก อันนี้มันปล่อยเข้ามา แต่อันนี้มันเป็นเงา เห็นไหม พอมันเป็นเงา เขาบอกว่า แล้วถ้าปล่อยไปบ่อยๆ เข้า บ่อยๆ เข้ามันถึงจะปล่อยถึงเนื้อหาสาระได้ไหม

เราบอก ได้ น่าจะได้อยู่บ้าง ถ้าคนนั้นมีวาสนา ปล่อยอยู่ตรงนั้นเลยนะ ตากระทบรูปแล้วปล่อยๆ มันจะปล่อยไปเรื่อยๆ แต่ในวิธีการของเขา เขาจะให้ผ่านเรื่อยๆ ขึ้นไปใช่ไหม ผ่านกาย ผ่านเวทนา ผ่านไป พอปล่อย ปล่อยแล้วเขาจะผ่านไปเลย นี่มันลูบคลำไป มันก็ปล่อยแต่ข้างนอก มันไม่ปล่อยถึงเนื้อหาสาระ แล้วถ้าปล่อยถึงเนื้อหาสาระ อย่างเช่นของเขา นี่เขาคงทำอยู่ เขาบอกว่าเวลามันปล่อยๆ ความคิดเรานี่มันคอนโทรลได้ เวลาคอนโทรลขึ้นมา ความคิดนี่มันจะคอนโทรลได้

เราบอก อันนี้มันเป็นขันธ์ เป็นเปลือก แต่ความคิดบางอย่างมันคอนโทรลไม่ได้ มันมาเอง เราบอก นี่มันมาจากไหน เราบอก เห็นไหม นี่ตัวจิต ตัวจิตมันเป็นตัวข้างนอก ตัวที่ว่าหูกระทบเสียง ความรู้สึกเกิดขึ้น ตากระทบรูป ความรู้สึกเกิดขึ้น นี่โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ ไง เขาเอาอะไรกระทบ? เขาว่าละตรงนี้ พอละตรงนี้มันก็ปล่อย ปล่อยตรงนี้ปั๊บ ไอ้จิตปฏิสนธินี่มันไม่ได้ทำอะไรมันเลย พอไม่ได้ทำอะไรมันเลย แล้วมันมาจากไหน

เราบอก นี่สำคัญมากเลย ว่าภวาสวะไง ตัวภพของจิตที่มันจะเริ่มความคิดออกมา ตัวในนี้มันสำคัญมากเลย สำคัญมาก แล้วเราเข้าไม่ถึงไปตรงนี้ เราก็ไม่ได้ชำระอะไรตรงนี้ ถึงบอกว่า ตรงนั้นมันเป็นเงา ถ้ามันปล่อยวาง ปล่อยวางตรงนั้น ถ้าเข้าใจว่าเป็นผลแล้วนะ ทำให้เราเนิ่นช้า หนึ่ง ทำให้เราติดข้องตรงนั้น เราจะไม่เข้าไปทำสัจจะความจริง

เขาบอก “เอ้อ! จริง”

เขาบอก “อย่างนี้คนที่จะเข้าไปหาครูบาอาจารย์ เจอครูบาอาจารย์จริงก็ต้องมีวาสนา”

เราบอก ใช่ ต้องมีวาสนาเหมือนกัน เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเขาก็สอนกันอย่างนั้น เดี๋ยวนี้พระสอนอย่างนั้น บอกว่า กระทบนามรูป กระทบนามรูป

เราก็เห็นด้วย นี่บอกว่า ถ้าเห็นด้วยในเริ่มต้น คิดพิจารณากายนอกไง ถ้าพิจารณานามรูปกระทบ แล้วเราปล่อยเข้ามา แต่นี่บอกเป็นอย่างนั้นแล้วได้ผลกันหมด ได้ผลกันหมดเลยนะ ใครประพฤติปฏิบัตินี่ได้ผลหมดเลย แต่ถ้าทำสมถะ พุทโธ พุทโธนี่ทำจนตายก็ไม่ได้

เห็นไหม ทำไมอย่างนั้นได้ผล

มันได้ผลจริงๆ เพราะว่าอะไร เพราะเราศึกษาธรรมะ จากเดิมเราไม่ศึกษาธรรมะ เราไปศึกษาธรรมะ พอศึกษาธรรมะ ความเข้าใจของเรา แล้วเรานี่ พอความเข้าใจ ความเข้าใจกับความไม่เข้าใจต่างกันไหม พอความเข้าใจ ความเข้าใจ มันก็ทำให้เข้าใจ ก็ปล่อยความลังเลสงสัยทั้งหมด แล้วนามธรรมมันเข้าไปกระทบรับรู้ มันก็ปล่อยๆ มันปล่อยมา นี่มันก็เป็นสมถะไง มันเป็นสมถะทางหนึ่ง แต่ตัวเองเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา หมายถึงว่าอันนี้กระทบนามรูปแล้ววิปัสสนาญาณเกิดขึ้น รู้เท่านามรูปแล้วปล่อยวางนามรูปทั้งความเป็นจริง

เราบอก มันเสียดายตรงนี้ไง ตรงที่ว่า อย่างพวกที่เขามาจากลพบุรี ที่บอกกระทบผ่านกาย เห็นกายแล้วผ่านกาย เราบอกเลยนะ ถ้าคำว่า “ผ่านกาย” มันต้องพิจารณากายจนสมุจเฉทปหาน อย่างนี้ถ้าพิจารณากาย ถ้าพิจารณากาย กระทบกายแล้วปล่อยกาย ปล่อยกายไป เปรียบเหมือนผลไม้ที่ยังไม่แก่ ผลไม้ที่ไม่แก่นี่เราเก็บมาบ่ม มันจะเน่าเสีย ถ้าผลไม้นั้นแก่จะได้ประโยชน์มาก

การพิจารณากาย พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ จนกว่ามันจะถึงที่สุดของการพิจารณานั้นถึงจะถูก ไม่ใช่พิจารณา เข้าใจแล้วก็ปล่อยเข้าไป...ความเข้าใจนั้นมันเข้าใจแต่เปลือก แต่ถ้าเข้าใจถึงเนื้อหาสาระขึ้นไป พิจารณาไปเรื่อย มันก็ปล่อย อย่างที่ว่ามันปล่อยๆๆ นี่มันปล่อยๆ ข้างนอก นี่ที่ว่าผิด มันผิดตรงนี้

พอผิดตรงนี้ ถ้าอย่างที่เวลามันได้ประโยชน์ล่ะ มันได้ประโยชน์ก็ได้ประโยชน์จริง อย่างที่ว่ามันได้ประโยชน์จริงๆ ได้ประโยชน์เริ่มต้น แต่มันได้ประโยชน์เริ่มต้น แล้วการศึกษาของเขา อย่างเช่นการจบเปรียญ จบพระอภิธรรมนี่มีมากเลย แล้วจบอภิธรรมแล้วจบสิ้นจริงไหม? มันก็จบด้วยความจำ

อย่างเช่นที่ว่า ที่มาจากลพบุรี เขาจบอภิธรรมด้วยนะ จบ ๙ ประโยคด้วยนะ สุดท้ายแล้วไปปฏิบัติกับอาจารย์มหาบัวด้วย แล้วบอกว่าทางนู้นรับประกันกันมา เวลาพูดถึงสังโยชน์ นี่บอกว่าไม่ได้นะ สังโยชน์นี่เป็นเรื่องใหญ่มากนะ ไปพูดถึงไม่ได้เลย

แต่ในหลักความจริง สังโยชน์นี่มันต้อง เห็นไหม พระโสดาบันยังตัดสังโยชน์ ๓ ตัวขึ้นมา สังโยชน์ ๓ ตัว ทั้งๆ ที่เขาจบอภิธรรมนะ เขาบอกเขาจบอภิธรรมด้วย ๙ ประโยคด้วย เวลาจบแล้ว นี่จบด้วยการจำมา ด้วยสุตมยปัญญา แล้วถ้าไปเรียนมาก็ได้เท่านั้น ผู้ที่จบแล้วก็จบแล้ว แต่ผู้ที่ไปเรียนใหม่นี่ตื่นเต้นมากเลย แต่เป็นประโยชน์ ประโยชน์ที่ว่า จากคนที่ไม่มีพื้นฐานเลย มีพื้นฐานนะ มีพื้นฐานในการนั้นขึ้นมา แต่พื้นฐานอันนั้นถ้ามันยอมรับทั้งหมด เห็นไหม ถึงบอกว่าพื้นฐานของเขา เขาถึงบอกว่าพระอรหันต์ไม่มี เพราะอะไร เพราะพระอรหันต์ต้องสร้างสมบารมีมา ๔ อสงไขยแสนมหากัป แล้วเราก็เพียงแต่ปฏิบัติสร้างบารมีเฉยๆ ส่วนใหญ่ความคิดเขาจะเป็นตรงนี้ หลักการเขาจะคิดตรงนี้ไงว่าพระอรหันต์ไม่มี มันก็ไปขัดนี่

ถ้าเขาเรียนพระอภิธรรมจริงนะ มันก็มาจากพระไตรปิฎก แล้วทำไมพระพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์นะ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ถ้าเหตุมันสมควร มันต้องเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ

เขาอ้างว่ากึ่งพุทธกาลไง

1กึ่งพุทธกาลมันจะหมดพระอรหันต์แล้ว

2ที่ว่าการสร้างสมบารมีมา ๔ อสงไขยแสนมหากัปถึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วเราจะเป็นได้อย่างไร

ทั้งๆ ที่เขาเรียนอภิธรรมมาเพื่อจบอภิธรรมนะ นี่จะบอกว่าจบอภิธรรมแล้วกลับลังเลสงสัย แต่เวลามาพูดว่าครูบาอาจารย์นี่หลงใหล ต้องของเขาถึงจะถูกต้อง

พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้หลายอย่าง บอกพระอานนท์ที่ว่า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างศาสนาเลย” เอาชนิดที่ว่าขนาดที่ว่าโลกเราว่างจากศาสนา หมายถึงว่าศาสนานี่เสื่อมไป ไม่มีใครเชื่อถือแล้ว หมดไปเลย แต่สัจธรรมยังมีอยู่ แต่ความเชื่อของคนไม่มี

ถ้าคนปฏิบัติสมควร พระปัจเจกพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นมาได้ พระปัจเจกพุทธเจ้ายังเกิดมาท่ามกลางที่ไม่มีศาสนาได้ใช่ไหม ทีนี้ไอ้คำว่ากึ่งกลางศาสนา ๒,๕๐๐ ปีแล้วนี่ เขาบอกอย่างสูงเลย เป็นแค่พระอนาคามี พระอรหันต์ไม่มี ตรงนี้เราไม่เห็น ในพระไตรปิฎกเราไม่เห็น แต่เขาว่าเขาเห็น เขาอ้างตรงนี้กันมากเลย แล้วถ้าใครอ้างเป็นพระอรหันต์ คนนั้นไม่ใช่

นี่ยิ่งเรียนมันก็ยิ่งสงสัย สงสัยในความเห็นของตัว พอเรียนขึ้นมาก็สงสัยความเห็นของตัว แล้วถ้ามาหาครูบาอาจารย์ล่ะ ครูบาอาจารย์ถึงบอก กำใบไม้ในป่ากับกำใบไม้ในกำมือ...กำใบไม้ในป่า มันเป็นจริตนิสัยของคน อย่างไรก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้เข้าถึง แล้วครูบาอาจารย์ชี้นำเข้ามา อย่างที่เขาทำของเขา เขาบอก เวลาทำของเขาขึ้นมามันก็ปล่อยวางเข้าไป ปล่อยวางเข้าไป แต่ทำไมไม่เข้าใจว่าไอ้ที่มันคิดขึ้นมา คิดขึ้นมาได้อย่างไร

นี่บอก มันจะเห็นได้อย่างไรในเมื่อมันเป็นตัวในใช่ไหม มันต้องเลาะเปลือกเข้าไป เลาะเปลือกเข้าไป มันจะไม่เห็นตรงนี้หรอก เห็นไหม ทุกคนจะสงสัยว่าจิตนี้มาจากไหน ความคิดนี้มาจากไหน อะไรนี้มาจากไหน แต่ถ้าคนที่เข้าถึงแล้ว นี่อนุสัย มันนอนเนื่องมากับความคิดของเขา แต่ของเขาคิดแต่ทางเป็นอารมณ์

เมื่อวานเขามาคุยอยู่ ถึงบอกว่า เขาสรุปเลยว่าอย่างนี้ต้องเป็นวาสนาของคน หนึ่ง เจอครูบาอาจารย์ชี้นำถูกต้องด้วย แล้วตัวเองต้องมีวาสนาความเชื่อ

มีมากนะ มีมากเลยที่ว่าเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์เรา แล้วก็มาทำอยู่ แต่มันเป็นไปไม่ได้ ทำไปไม่ได้ก็ออกไปอภิธรรม พอออกไปอภิธรรมนี่กลับมาติเลยๆ เวลาออกไป แต่เวลาเชื่อทางนี้เชื่อเต็มที่เลย

แต่พอเราศึกษาอภิธรรม นี่ถึงบอกว่า ถ้าศึกษาอภิธรรมแล้ว อภิธรรมตัวนั้นเป็นอย่างไรถึงได้มาว่า มาขัดกับหลักความจริง หลักความจริงมันต้องเข้าถึงสัจจะความจริง ตัวอภิธรรมนี่เป็นความจำมา เราถึงว่าผิด ผิดตรงนั้น ถ้าผิดนะ ผิดตรงนั้น แต่ถ้าถูก มันต้องเข้าใจ มันเป็นปัจจัตตัง ของเขาบอกนี่ของเขาถูกอยู่ มันผ่านเข้ามาเป็นชั้นๆ มันจะผ่านเข้าไปๆ ถึงบอกว่าเป็นวาสนา

ไปเรียนกันมาก แล้วพอเรียนกันมาก ทุกคนมันตื่นเต้น มันเหมือนกับของใหม่ พอของใหม่ คนไปเจอของใหม่เข้า มันเข้าใจของใหม่ ตัวเองทำไม่เคยได้ผลประโยชน์เลย แล้วพอไปทำนี่เข้าถึงผลประโยชน์ แต่กับการทำสมถะของเรา ให้ทำเลย กำหนดพุทโธๆ ทำเลยนะ แต่มันทำเลยแบบว่าซึ่งๆ หน้าไง มันไม่รู้อะไรเลย มันทำให้ลังเลสงสัย พยายามทำเข้าไปๆ ทำไม่ได้ แต่ถ้าทำได้นะ มันเข้าถึงเนื้อหาสาระ ถ้าถึงเนื้อหาสาระอย่างที่เราว่า ถ้าจิตมันเป็นสมถะแล้วนะ มันเป็น ๑ ในมรรค ๘

ธรรมจักรมันจะเกิดขึ้นได้ มันต้องสมควรแก่การงาน งานนี่สมควรแก่การงาน สัมมาสมาธิเกิดขึ้น ใจนี้พร้อม มันเป็นพื้นฐาน พื้นฐานที่ว่ายกขึ้นควรแก่การงาน ไม่ใช่ผ่านไปเฉยๆ พอจิตควรแก่การงานก็ผ่านไปเรื่องใหม่ ผ่านไปเรื่องใหม่ เห็นไหม ผ่านกาย ผ่านนาม ผ่านรูป ผ่านเข้าไปหมด ผ่านเข้าไปๆ แล้วก็แค่ความเข้าใจ ผ่านไปแค่ความเข้าใจ ไม่ได้ผ่านชำระล้างอะไรทั้งสิ้น แต่ปฏิบัติของเราปฏิบัติเพื่อให้ถึงตรงนี้เลย เป็นกุปปธรรมกับอกุปปธรรม อกุปปธรรมคือไม่เสื่อมสภาพอีก อย่างของเขาเสื่อมสภาพอีก เห็นไหม

เจอ เจอนะ พระมาถาม “เพิกจิตนี้เพิกอย่างไร” พระนะ พระเลย ตัวพระตัวนั้นเลย มาถามเลย เพิกจิตนี้เพิกอย่างไร ไอ้ญาณ ๑๖ นี่รู้หมด โคตรภูญาณนี่รู้หมด แต่เวลาเพิกจิตนี่ไม่เข้าใจ นี่ท่องได้หมด ๑๖ ชั้น ญาณนี่ท่องได้หมดเลย แต่เพิกจิตไม่เป็น

เพิกจิตมันเป็นเอง จิตมันเพิกออก เหมือนเพิกแผ่นดิน เพิกออกหมายถึงว่า จิตมันพลิกไปเลย มันเพิกออก มันเพิกอวิชชาออกไป แต่เวลาท่องมาก็ท่องมาเป็นอย่างนั้น ถึงว่าเรียนแล้วมันเป็นอย่างนั้น ถ้ามันไม่เรียน ไม่ปฏิบัตินะ

เขาว่าเรียนแล้วเขาปฏิบัติไปด้วย ถึงว่าเป็นอำนาจวาสนาของเขา แต่ดี ดีตรงนี้ ดีตรงที่ว่าคนที่ว่าในที่ทำงานนั้นเคยมีปัญหากันมาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีปัญหากัน ต่างคนต่างพยายามเก็บของตัวเองไว้ไง ไม่กระทบกระทั่งกันรุนแรง เออ! อันนี้เห็นด้วย ถ้าเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ตรงนี้ แต่ประโยชน์ที่ลึกกว่านั้น มันทำให้พลาดตรงนั้น เอวัง