เทศน์เช้า

สุปปพุทธ

๒๖ ส.ค. ๒๕๔๓

 

สุปปพุทธ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นินทา สรรเสริญ โลกธรรมมันกระทบเข้ามา เรื่องโลกธรรม ๘ นะ เรื่องโลกภายนอก โลกธรรมข้างนอกใช่ไหม แล้วโลกธรรมที่เกิดจากข้างในนี่ เราถึงบอกว่า พระเจ้าสุปปพุทธะนะ แต่ขณะที่ว่าเวลาเราเทศน์นะพูดผิด พูดว่า “สุปปพัทธะ” อันนี้พอพูดอย่างนั้น มันเน้นย้ำคำว่า “สุปปพุทธะ” เป็น “สุปปพัทธะ” ตลอดทั้งม้วนเลย

ก็เลยบอกว่า ขนาดชื่อคนยังจำไม่ได้ ยังพูดผิดเลย แล้วจะไปสอนใคร

แต่เนื้อหาสาระนะ เอาเนื้อหาสาระ ว่าเวลาโลกธรรมภายนอกเกิดขึ้น เราเจ็บปวด เราหวั่นไหวกันไปนะ เราสะเทือนหัวใจ โลกธรรม เสียงสรรเสริญนินทามา ทุกข์สุขมันกระแทกเข้ามา มันจะสะเทือนหัวใจ แต่พระเจ้าสุปปพุทธะได้ข่าวมาไง แล้วไปนั่งวิตกวิจารณ์อยู่ เวลามีความโกรธ มีความไม่พอใจพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าไม่รักน้อง เพราะพระเทวทัตนี่เป็นน้อง เป็นลูกผู้น้องไง ไม่รักน้อง ไปเชื่อคนอื่น เหมือนแกล้งไง ก็เลยมาปิดทางไม่ให้พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต

ผลกรรมอันนั้นนะ พระพุทธเจ้าบอกเลย “พระเจ้าสุปปพุทธะ ภายใน ๗ วันจะต้องโดนธรณีสูบ”

เวลาโลกธรรมมันเกิดขึ้นไง ก็เน้นย้ำให้เห็นโทษ พยายามจะพูดให้เห็นโทษ เพราะตรงนี้มันเห็นโทษชัดว่าโลกธรรมภายนอกที่เขานินทามา เขาสรรเสริญมา เราก็ฟังมา เราก็สะเทือนใจ แต่ไม่เห็นโทษของโลกธรรมภายในที่เราคิดปรุงแต่งขึ้นมาเองของพระเจ้าสุปปพุทธะ มันเห็นโทษอย่างนั้น ก็เลยเน้นย้ำ ตรงนี้ผิด ผิดมากเลย

แต่ในเนื้อหาสาระของเทป เราพูดเป็นชั้นๆ เข้ามา เห็นไหม จากโลกธรรม ๘ ภายนอก โลกธรรม ๘ นะ จากภายนอก จากภายใน พระเจ้าสุปปพุทธะนี้เป็นคนวิตกวิจารณ์ขึ้นมาเอง เป็นคนปรุงแต่ง คือว่าเป็นเรื่องของภายในหัวใจคิดขึ้นมา เป็นโลกธรรมภายใน

แล้วพระเทวทัตนะ เวลาภาวนาอยู่ไป ทำความสงบเข้าไปอีกชั้นหนึ่งนะ ทำความสงบเข้าไปจนเหาะเหินเดินฟ้าได้ แต่ก็ยังไปโดนโลกธรรมกระทบอีก โลกธรรมกระทบอีก ที่ว่าเวลาอยู่ที่วัด เวลานางวิสาขามา นี้อยู่ในพระไตรปิฎกนะ นางวิสาขามาเยี่ยมพระ “พระอานนท์อยู่ไหน พระนันทะอยู่ไหน” แล้วก็มีน้ำปานะมีอะไรมาถวาย แล้วพระเทวทัตก็เป็นเชื้อกษัตริย์เหมือนกัน เป็นลูกกษัตริย์เหมือนกัน เป็นญาติพี่น้องกัน ทำไมไม่มีใครถามถึงเลย ถามแต่คนอื่น ไอ้ความคิดอันนี้ เห็นไหม นี่โลกธรรมกระทบแล้ว โลกธรรมกระทบถึงได้ไปแสดงฤทธิ์แสดงเดชกับอชาตศัตรูเพื่อจะได้สิ่งนั้นออกมา นี่โลกธรรม ๘

นี่ขนาดที่ว่าทำความสงบได้แล้วนะ คนที่ว่าขนาดเหาะได้ ใจนี่ต้องสงบพอสมควร สงบมากเลย ไม่สงบพอสมควร ต้องได้สมาบัติ เหาะได้ ยังไม่พ้นจากโลกธรรมที่เกิดขึ้นจากภายใน แล้วพระเทวทัตถึงได้เสียไป

เวลาจะยกขึ้นโลกธรรมภายใน แล้วมันละเอียดเข้าไปชั้นๆ จนโลกธรรมของตัวตนที่มันยึดมั่นในตัวตนไง แล้วก็โลกธรรมภายในเข้าไปเป็นอุปาทาน เป็นกาม เป็นเรื่องของตัวภพ มันละเอียดเข้าไปๆ ถึงเสียดายเทปม้วนนี้ เลยอัดมาแจกกัน

แต่โยมเขาฟังแล้วเขาบอกว่า ถ้าขนาดที่ว่าชื่อคนยังจำไม่ได้เลย ยังฟั่นเฝือขนาดนี้ แล้วจะไปสอนใครไง

นี่มันก็เข้ากับในมิลินทปัญหา เห็นไหม พระนาคเสนนะ มิลินทปัญหา นี่ถามพระนาคเสนว่า “พระที่ว่ามีหลักมีเกณฑ์ หลงในอะไร ไม่หลงในอะไร”

“หลงในบัญญัติ” บัญญัติคือว่าข้อบัญญัติ หมายถึงข้อกติกา นี่หลงลืมได้

“หลงในอะไร พระที่ประพฤติปฏิบัติ พระขีณาสพนี่หลงในอะไร ไม่หลงในอะไร”

“หลง หลงในบัญญัติ” หลงในการสวดมนต์ สวดมนต์ผิดก็สวดมนต์ผิด สวดมนต์นี่ผิด เพราะนี่เป็นบัญญัติของพระพุทธเจ้า หลงว่าข้อมันตายตัวแล้วมันพลาดได้ แต่ไม่หลงในอะไร? ไม่หลงในอริยสัจ ไม่หลงในสิ่งที่ประสบในหัวใจ ในหัวใจนี่เรื่องอริยสัจ เรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่มีทางหลง

หลวงปู่มั่นถึงได้บอก เห็นไหม เวลาอาจารย์มหาบัวถามหลวงปู่มั่นว่า “เวลาเทศน์ให้พระนี่ทำไมไปลื่นเลย แต่เทศน์ให้โยมฟังนี่ทำไมติดขัดๆ”

หลวงปู่มั่นบอกว่า ปลาในสุ่ม ถ้าเราเอาสุ่ม สุ่มไปแล้ว เราจับปลาในสุ่ม มันจับได้เพราะปลาอยู่ในสุ่ม สุ่มนี่มันครอบไว้ ถ้าเทศน์เรื่องหัวใจ เรื่องอริยสัจ นี่ไม่มีหลง ไปได้เรื่อยๆ พูดถึงเรื่องอริยสัจนี่ไปได้เรื่อย แต่ถ้าพูดถึงเรื่องนอกๆ เรื่องความจำในบัญญัตินี่หลง หลงในเรื่องของบัญญัติ อันนี้ถึงว่าเป็นเรื่องของภายนอก เป็นเรื่องของสิ่งนั้น

อันนี้ถึงว่าเสียดายเนื้อหาสาระ ถึงบอกว่าถ้าแจกไป พูดไว้ก่อนว่าผิด ตั้งแต่หัวม้วนยันท้ายม้วนเลย สุปปพัทธะ สุปปพัทธะ มาตลอดเลย ถ้าให้ใครฟังนะ ถ้าคนมันผิด มันผิดแบบทั้งตัวไง ผิดแบบทั้งตัวหมายถึงว่า ถ้าผิดแล้วเริ่มต้นคำแรกผิด คำสอง คำสามนี่อาจจะระลึกได้ อาจจะว่าพูดถูกได้

แต่นี้ขึ้นต้นก็สุปปพัทธะ จนไปท้ายม้วนก็สุปปพัทธะ แสดงว่าหลงไปหมดตัวเลย เชื่อมั่นในความเห็นผิดอันนั้น ในความเห็นนั้นผิด พอผิดก็ยึดมั่นถือมั่น ก็เลยพูดผิดไปตลอดเลย ทีนี้มันผิดเฉพาะชื่อบุคคล แต่ในเนื้อหาสาระที่ว่าเป็นชั้นเป็นตอนที่โลกธรรมกระทบเข้ามานี่เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา อันนี้ถึงว่ามันอยู่ในเทปนั้น เดี๋ยวแจกไปแล้วมันจะต้องมีการกระทบกลับมา เราต้องจำตรงนี้ไว้ไง จำตรงนี้ไว้ว่า รู้อยู่ว่าผิด แต่เนื้อหาสาระเป็นเนื้อหาสาระ เรื่องความผิดในชื่อบุคคลนั้น ในชื่อบุคคล ถ้าจำได้นะ ถ้าเราออกไปข้างนอก แต่ถ้าคนไม่รู้ มันต้องเป็นอย่างนั้น

นี่พูดอยู่ในเทปไว้ พูดให้อยู่ในเทปเพราะนั่นก็อยู่ในเทปเหมือนกัน เป็นหลักฐานกันไงว่ารู้ว่าผิด รู้ว่าผิด เห็นไหม อริยวินัย วินัยปกติ อาบัตินี่ถ้าเรารู้ว่าผิด เราปลงอาบัติ เราขอโทษ พระพุทธเจ้าบอก “อริยวินัย”

นี่เหมือนกัน รู้ว่าผิดแล้วยอมรับว่าผิด นี่ว่าผิด รู้ว่าผิด แต่ผิดส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่มันจะเป็นประโยชน์ก็อีกส่วนหนึ่ง ส่วนที่เป็นประโยชน์ยังพอมีเป็นประโยชน์ ฉะนั้น ถึงว่า ถ้าออกไปจะเป็นประโยชน์ไหม ไม่เป็นประโยชน์ก็ว่ากันไปอีกทีหนึ่ง เอวัง