จิตหยาบ-ละเอียด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
โยม ๑ : ขอพระอาจารย์ช่วยอธิบาย ไอ้เพลินนี่มันเพลินอย่างไรพระอาจารย์ ไม่ใช่ความฟุ้งกระจายหรือครับ
หลวงพ่อ : ไม่หรอก นี่มันต่างกันไง เพราะการปฏิบัติมันมีอย่างนี้ไง การปฏิบัติมันมีอย่างนี้ใช่ไหม แล้วไม่ปฏิบัติ ในตำรามันพูดมันอ่านมันตายตัว อุทธัจจะ กุกกุจจะ มันเป็นนิวรณ์ ๕ อุทธัจจะ กุกกุจจะ มันนิวรณ์ ๕ ใช่ไหมตั้งแต่ อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือการฟุ้งซ่าน อุทธัจจะ กุกกุจจะ มีการฟุ้งซ่าน นี่มันเป็นปุถุชน ความฟุ้งซ่านของเรานี่คืออุทธัจจะ กุกกุจจะ
แต่ทีนี้พอปฏิบัติไป อุทธัจจะ กุกกุจจะ มันสงบลง ไม่สงบจิตเป็นสมาธิได้อย่างไร พอจิตมันเป็นสมาธิขึ้นมา มันปฏิบัติไป ผู้ประพฤติปฏิบัติไปเป็นขั้นตอนขึ้นไปนะ มันก็จะเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคา เป็นพระอนาคา พอเป็นพระอนาคาแล้วนะ เพราะอะไร เพราะมันสังโยชน์เบื้องบนไง สังโยชน์เบื้องบนคือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ กุกกุจจะ อวิชชา นี่ไงเหนือพระอนาคาแล้ว
ปุถุชนนี่อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน ทีนี้พระอนาคา แล้วพระอนาคาไปติดอีกนะ เพราะถ้าพระอนาคาส่วนใหญ่ พระอนาคานี่คิดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ดูสิ..เช่นหลวงตาท่านไปแก้หลวงปู่ฝั้นเห็นไหม เพราะหลวงปู่ฝั้นบอก พุทโธผ่องใส พุทโธสว่างไสว ไอ้พุทโธผ่องใสๆ นั่นแหละติด แล้วท่านก็พูดมานานใช่ไหม
พอถึงสุดท้ายแล้วท่านเล่าเอง ตอนนั้นแก้คือไปงานเผาหลวงปู่กงมาที่วัดดอยธรรมเจดีย์ แล้วกลับมาจากงานเผาหลวงปู่กงมาที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ก็มาพักที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ สมัยนั้นหลวงปู่ฝั้นอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ไง แล้วกลางคืนก็เข้าไปคุยธรรมะกันไง แล้วคุยธรรมกันก็คุยกันธรรมดา พอคุยถึงตรงนี้ปั๊บนี่ การจะแก้นะ การแก้นี่ยากมากนะ การแก้คือว่ามันเป็นสันดาน เป็นพฤติกรรมของเรา
แล้วมีคนๆ หนึ่งบอก เรานี่ผิด ทำพฤติกรรมอย่างนี้ผิด เราจะยอมรับได้ง่ายๆ ไหม เราทำมาเคยชินไง พอจิตมันอยู่ในสภาวะแบบนั้น ว่างหมด ผ่องใส ใสหมด นี่พอจะเอาไง หลวงตาท่านต้องเอาแบบ เอาหมายถึงว่าต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนมาก แหม.. นึกว่าไปถึงไหนแล้วมาตายอยู่นี่ได้อย่างไร ไอ้คนหนึ่งก็คิดว่านิพพานใช่ไหม อีกคนบอกว่านึกว่าไปถึงไหนแล้วมาตายอยู่นี่ พอตายอยู่นี่ปั๊บ ตายเพราะเหตุใดล่ะ
มันต้องมีข้อมูลให้เห็นว่าถ้าเป็นนิพพานเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไอ้นี่มันไม่ใช่นิพพาน แต่ทีนี้คนถ้ามีปัญญาพอบอก อ๋อ.. รู้แล้วๆ พอรู้แล้ว ก็เข้าใจล่ะ ต่อจากนั้นไป เราถึงว่าพ้นไปได้ นี่พูดถึงพระอนาคาถ้าติดนะ อุทธัจจะก็ไม่มีด้วย เพราะอะไร เพราะว่าถ้าพระอนาคาที่ไม่ติด ที่ไม่ติดเห็นไหม หลวงปู่คำดี หลวงปู่คำดีท่านภาวนาของท่านไป ท่านผ่านมาถึงตรงนี้ แล้วท่านไปไม่ได้ ท่านไปไม่ได้ปั๊บท่านก็ เพราะท่านเคยคุยธรรมะกับหลวงตาเห็นไหม
พอคุยธรรมะกับหลวงตา ก็คิดว่าหลวงตาเวลาธรรมะแสดงออก คนที่แสดงออกนี่เราทำงานด้วยกัน เราจะรู้ว่า คนนี้แสดงออก คนไหนที่แสดงออกจะมีความรู้เหนือกว่าเราหรือเปล่า อันนั้นพอถึงตรงนี้ปั๊บ มันก็ใช้สมองหรือใช้ความรู้สึกของเรา ความจำของเราเทียบเคียงได้ไง พอเทียบเคียงได้ อ๋อ.. มันมีผู้ที่รู้เหนือกว่าเรา คือหลวงตามหาบัว ออกมาจากที่ปฏิบัตินะ จุดธูปอธิษฐานกับเทวดาเลย ขอให้หลวงตามหาบัวมาแก้ให้หน่อย
อุทธัจจะ เพราะไม่ติด จะไปก็ไปไม่ได้ อยากจะไปอยู่ พออยากจะไป พอขยับ อุทธัจจะ เพลินไง แต่ทีนี้พอเพลินมันจะไปอย่างนั้น มันไปไม่ได้ รู้ว่าติดอยู่แต่ไปไม่ได้ นี่พออาราธนาแล้ว หลวงตาก็มา หลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำนะที่ไปหาหลวงปู่คำดี พอมาแล้ว โอ๋ย..มาเร็วโว้ย มาเร็วแท้ มาเร็วอย่างไร เพราะต่างคนต่างอธิษฐานด้วยความรับรู้จากเทวดาเป็นคนสื่อสาร
เหมือนกับพระสารีบุตรเป็นโรคเสียดท้องเห็นไหม พระโมคคัลลานะมาเยี่ยม เป็นอะไร เป็นโรคปวดท้องหรืออะไรนี่แหละ เคยกินอะไร เคยกินยาแล้วใช่ไหม นี่บอกเคยกินยาคู เพราะยาคูมันจะทำให้โรคนี้เบาบางลงได้ ก็ไปให้เทวดาดลใจให้ฆราวาส คฤหัสถ์คนที่ใส่บาตรประจำ ดลใจแล้วก็ทำ นี่คนกลาง นี่เหมือนกัน หลวงปู่คำดีอาราธนาเลย อาราธนาผ่านเทวดาเลย ทางนี้ก็มาเลยนะ พอมาแล้ว อุ้ย! มาเร็วแท้ เข้าไปคุยกัน พอเข้าไปคุยกัน พอถึงยกปุ๊บ บอกว่าต้องทำอย่างนั้นต่อไป รู้แล้วเหมือนกัน เออ! ได้ทางแล้ว ได้ช่องทาง พอเห็นทางล่ะ
นี่ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เวลาคนที่ปฏิบัติไป คนที่ติดตรงนี้ อย่างเช่นหลวงตา ท่านปฏิบัติไปเห็นไหม ท่านถึงเข้าใจไง อุทธัจจะ กุกกุจจะ กุกกุจจะมันต่างกัน อุทธัจจะ กุกกุจจะของปุถุชน ความคิด ไอ้เครียด ไอ้ทำงานแล้วปวดหัว ไอ้ตุ้บๆ นี่แหละ อุทธัจจะ กุกกุจจะ ไอ้พวกเราทำงานแล้วแบบว่าความคิดไม่หยุด นี่แหละความคิดที่ว่าเราเข้าสมาธิกันไม่ได้เพราะอะไร เพราะนิวรณธรรม ๕ กั้นสมาธิเห็นไหม สมาธิตรงข้ามกับฟุ้งซ่าน เรามีความฟุ้งซ่านอยู่ มันเข้าสมาธิไม่ได้หรอก
เพราะความคิดเหมือนกับ ไอ้ปวดตุ๊บๆ ของเรานี่ ไปถึงหัวนะ ไปถึงบนนั้นแล้วนี่เหมือนผลไม้ ผลไม้เห็นไหมมีทั้งเปลือกด้วย มะพร้าวมีทั้งเปลือก เรายึดไปหมดเราให้ทั้งลูกเลย มะพร้าวปอกเปลือกแล้ว กะเทาะกะลาแล้ว เหลือแต่เนื้อเห็นไหม เนื้อนี่กระเทาะออกมาแล้ว เหลือแต่ใจมัน ถ้าใจมันละเอียดแล้วนี่พูดถึงใจ นี่พระอนาคา พอถึงใจมะพร้าว มันละเอียด มันนุ่มนวลกว่าเนื้อมะพร้าวอีก
พอไปถึงตรงนั้นปั๊บ พอจิตมันขยับเห็นไหม เราหยิบมาเปลือกมะพร้าว มะพร้าวยกทุ่มขนาดไหน มะพร้าวมันก็ทรงรูปอยู่อย่างนั้นน่ะ ใจมะพร้าวนี่กระแทกหน่อยเดียวมันก็เสียแล้ว แต่ทีนี้จะทำอย่างไรให้ใจมะพร้าวมันย่อยสลายในตัวมันเอง ขยับปั๊บเป็นอุทธัจจะ เพลินในงานไง เพลินในงาน คืออยากได้ อยากเป็นไป
โยม ๑ : ครับ นี่คือความแตกต่างอย่างมหาศาลเลย คนละเลเวล คนละระดับ
หลวงพ่อ : แตกต่างมหาศาลเลย เราถึงบอกว่าคนละมิติ เวลาพูดอะไร เราบอกว่าคนละมิติเห็นไหม ความคิดของปุถุชน ความคิดของพระโสดาบัน ความคิดของพระสกิทาคา ความคิดของพระอนาคา ความคิดของพระอรหันต์ ต่างกันหมด! แล้วมันจะต่างกันเพราะเหตุใด มันจะต่างกันเพราะว่าระดับของจิตที่มันยกขึ้น ปุถุชนและกัลยาณปุถุชนแตกต่างกันอย่างไร โสดาปัตติมรรคกับโสดาปัตติผลแตกต่างกันอย่างไร
โสดาปัตติมรรคมีโอกาสเสื่อมสภาพ โสดาปัตติมรรคขณะทำงาน ลองงาน ๕ เดือน ลองงาน ๓ เดือน ทดสอบลองงานนี่กูรับก็ได้ ไม่รับก็ได้นะเว้ย แต่ถ้ากูบรรจุมึงเข้าแล้วเห็นไหม เข้ารับข้าราชการแล้ว กูจะไล่มึงออกนี่ โอ้โฮ.. เหตุผลเยอะแยะเลย มันบกพร่อง มันชำรุด จะไล่ออกก็ไม่ได้ ยังไงก็ไม่ได้เพราะตำแหน่งหน้าที่มัน.. นี่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพาน ๑ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
ฉะนั้นธรรมะมันเป็นอย่างนี้ เวลาพูดธรรมะถ้าคนเป็นนะจะพูดเรื่องอย่างนี้ ระดับนี่แตกต่าง เหมือนเราพูดกับลูกเลย ลูกเราเรียนระดับไหน เราจะคุยกับมันเรื่องอะไร แล้วลูกเราโตขึ้นมาจะเอาเรื่องอะไร ถ้าพูดถึงธรรมะอย่างที่เวลาปฏิบัติธรรมกัน คนที่เป็นความจริง มันเห็นตรงนี้นะ โธ่..ฟังทีเดียวก็รู้ แล้วธรรมะมันไม่มีระดับที่แตกต่างเลย มันระดับพื้นๆ ระดับที่เป็นพื้นๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า โลกียปัญญา เป็นตรรกะ เป็นปรัชญา แต่ถ้าคนปฏิบัติธรรม ไม่เป็นอย่างนี้เด็ดขาด เป็นอย่างนี้ไม่ได้ ฟังทีเดียวก็รู้ ธรรมะฟังทีเดียวก็รู้ มีไม่มีนี่ฟังรู้
โยม ๑ : ทำไมฟัง อย่างแม่ผมหรืออย่างผมนี้ ฟังเทศน์หลวงพ่อเทศน์แล้ว
หลวงพ่อ : ไม่เข้าใจเลย
โยม ๑ : รับพวกนี้ไม่ได้เลย สมมุติว่าตอนแรกมันยังไม่ยอมรับเทศน์หลวงพ่อใช่ไหม
หลวงพ่อ : ใช่
โยม ๑ : แต่พอมันยอมรับแล้ว พวกนี้มันฟังไม่ได้เลย
หลวงพ่อ : มีคนพวกนี้เยอะ ไม่ใช่เยอะ มีพอประมาณ ที่มาปั๊บนะ ใหม่ๆ เป็นลูกศิษย์ตายตัวอย่างนี้หมดล่ะ ทีนี้พอมาปฏิบัติปั๊บนะ อย่างที่มาที่นี่ เขาบอกว่าเมื่อก่อนนะ โอ้โฮ.. มันแบบว่าเชิดชูมากเลย พอมาปฏิบัติพุทโธแล้วจิตมันลงเท่านั้นน่ะ หันไปดูเลย ทำไมเมื่อก่อนเราเชื่ออย่างนี้ได้ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นเลยนะ ฉะนั้นนี่เราเอาตรงนี้มาเทียบ เราถึงบอกว่าเวลาโยมเข้ามาหาเราน่ะ เขาแบบว่า ทำไมเราแก้พวกนี้ไม่ได้ แก้พวกนี้ไม่ได้
เราบอกว่า เขาโคกับขนโค กว่าจะให้เขามีความเห็นอย่างนี้ ยากไหม แล้วความเห็นอย่างนี้ นี่ไง ที่ว่าภาวนากันแล้วมีพื้นฐาน ที่ว่าบารมีธรรมๆ เราพูดบ่อยในเทศน์ของเรานี่แหละ เรายกประเด็นให้เห็นไง ว่าพระพุทธเจ้า เวลาท่านไปเที่ยวสวนเห็นคนเกิด เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย ทำไมท่านสะท้อนใจล่ะ เอ๊ะ.. มีอย่างนี้ด้วยหรือ แล้วท่านก็คิดขึ้นเองนะ ถ้ามีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ต้องมีตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วเราเห็นเหมือนกันทุกวันเลย ทำไมเราไม่ปิ๊ง..มั่งเลย นี่บารมีเห็นไหม คนที่สร้างมาเป็นอย่างนั้นน่ะ
โยม ๑ : เป็นโลกียชน
หลวงพ่อ : นี่ ใช่.. มันมองเห็นจนจำเจ แล้วพอคติธรรมเห็นไหม เวลาไปเผาศพ เวียน ๓ รอบ กามภพ รูปภพ อรูปภพ คนจะตายจะเผานะเป็นคติ ใครจะเผาศพถ้าไม่เอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าไม่ได้นะ ต้องเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้า เขาล้างทำไม ก็บอกว่ามึงน่ะโง่ มึงจะได้หูตาสว่างสักที เขาเฉาะเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้านี่มันเป็นคติธรรมนะ พวกมึงน่ะตื่น ลืมตาซะทีสิ หลับตาตายหลับตาเกิดมากี่ร้อยกี่พันชาติแล้ว แต่เราทำเป็นประเพณีนะ ต้องล้างหน้าด้วยน้ำมะพร้าว ไม่ล้างด้วยน้ำมะพร้าวเผาไม่ได้นะ (หัวเราะ) มันมีคติซ่อนอยู่ในนั้นนะ เตือนใจไอ้คนที่ไปงานกันน่ะ
แต่ทีนี้ไอ้กรณีอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ มันยาก มันยากที่ว่าเราจะเอาให้คนเข้าใจ มันพูดมันยาก มันเป็นเหมือนวุฒิภาวะ มันเป็นเรื่องของหัวใจที่มันจะพัฒนาไม่พัฒนา แล้วเวลาคนส่วนใหญ่ฟังเทศน์ของเรานะ เทศน์เรานี่ โทษนะถ้าเอาไปแจกใครนะ สงสารคนได้รับเลย บอกว่า ปวดหัว ฟังไม่รู้เรื่อง แล้วมันจะฟังได้อย่างไร น่าสงสารคนได้รับซีดีกูฉิบหายเลยนะมึง แต่ถ้าฟังเป็นแล้วนะ ถ้ามันเป็นแล้วนะ
แล้วรูปในหลวงนี่ ในหลวงทีแรกน่ะ ลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น เราได้ฟังมาจากคนที่เป็นข้าราชบริพารน่ะ เพราะในหลวงพูดเองว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นท่านเทศน์นะ เทศน์ว่า พุทโธสว่างไสว พุทโธ... ท่านนิ่มนวลแล้วท่านพูดมีช่องไฟยาว พอหลวงปู่ฝั้นไปแล้ว ตั้งแต่นั้นท่านก็มาศรัทธาหลวงตา ท่านบอกว่าฟังหลวงตาไม่ค่อยเข้าใจใหม่ๆ มันเร็วไง คนมันเคยช้า แล้วพอสปีดมันเร็วขึ้น มันแปลกละ แล้วพอฟังไปๆ เห็นไหม สุดท้ายพอมีพื้นฐานขึ้นมา เราก็ลูกศิษย์หลวงตานะ ใหม่ๆ ฟังแทบไม่รู้เรื่องแน่ะ
โยม ๑ : ผมว่าถ้าฟังของพระอาจารย์ แล้วไปฟังของหลวงตาจะเข้าใจเพิ่มขึ้น
หลวงพ่อ : ทุกคนเป็นอย่างนี้ เมื่อก่อนลูกศิษย์นะ ลูกศิษย์หมายถึงพระด้วยกัน พวกนี้สอนอยู่มหามกุฎฯไง ทางปริยัติ เขาบอกว่าเขาไปฟังดูแล้วมันมี.. ฟังนี้เขาพูดเองนะ นักวิชาการนะ เขาบอกว่าฟังแล้ว ในประเด็นในเนื้อหาสาระ มีหลวงตากับเรา จะพูดถึงธรรมจักร จะพูดถึงจักรที่มันหมุน ถึงปัญญามันเคลื่อนไหวไง เขาบอกมี ๒ องค์ที่เขาฟังๆ อยู่ ส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครพูดถึงตรงนี้ ถ้าไม่พูดถึงตรงนี้นะ คือไม่รู้ไม่เห็น
โยม ๑ : ผมบอกว่าเป็นโชควาสนาจริงๆ ครับพระอาจารย์
หลวงพ่อ : ถ้าไม่รู้ไม่เห็นนะ เราถึงพูดบ่อย เราพูดเพื่อจะเตือนสตินะ เราไม่ใช่พูดนะ ใช่..ไอ้หินแกรนิตที่แกะเป็นธรรมจักรนี่ เขาแกะไว้เป็นสัญลักษณ์ เป็นที่เคารพบูชานี่ สัญลักษณ์เห็นไหม พระพุทธรูปนี่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า เราก็มีไว้เพื่อกราบบูชากัน แต่ทางวิทยาศาสตร์เขาบอกว่า มึงมีสติไหมมึงกราบทองเหลือง ทำไมไม่ไปกราบที่โรงทองเหลืองล่ะ มึงไปกราบทำไมตรงนี้ เห็นไหม เราสร้างไว้เป็นรูปเคารพเป็นสัญลักษณ์
ไอ้หินแกรนิตที่ธรรมจักรนี่เราก็มีไว้เป็นสัญลักษณ์ แต่เวลาเราพูดนะ เราบอกว่าเขาแกะไว้ให้หมาเยี่ยวนะ ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ก็มันหิน! ธรรมจักรแท้ๆ มันอยู่ในนี้ เวลาจักรที่มัน ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มรรค ๘ มันเคลื่อนตัว มันไหวตัวนั่นน่ะ ไอ้อย่างนั้นน่ะธรรมจักร ภาวนามันอยู่ที่นี่ ไอ้นั่นมันเป็นสัญลักษณ์ ไอ้เราก็ไป โอ้โฮ..ธรรมจักรต้องเป็นอย่างนั้นๆ แต่ธรรมจักรที่มันมี เนี่ยถ้ามันมีจริงขึ้นมา มันเห็นของมัน เวลาปัญญามันเคลื่อนน่ะ เวลามันออกไป
แล้วถ้าเป็นความจริงนะ อันนี้เราก็พูดเห็นไหม เราก็พูดถึงเวลาหลวงตาเห็นไหม บอกเวลาลูกศิษย์เขามาหาเรา เขาจะพูดบอกว่าเขาภาวนาแล้วจะให้เรายอมรับ เราบอกว่าจริงๆ พวกนี้มันคุ้นเคย เราเลยพูดตัดขาดว่าไม่ใช่ๆ แต่เวลาหลวงตาท่านไปแก้ ที่มีคนมาถามท่านบอกว่า เห็นแล้วล่ะ เห็นนิพพานอยู่หนองเสม็ด นิพพานอยู่ที่หนองเสม็ดนะ หลวงตาท่านก็รู้ว่ามันผิดใช่ไหม ท่านก็บอกว่า อ้าว..ถ้านิพพานหนองเสม็ดเป็นอย่างนั้น วางไว้ก่อนนะ แล้วพิจารณาอย่างนี้ๆ ต่อไปนะ
พอพิจารณาปั๊บ พอมันผ่านมา โอ้! หลวงพ่อ ตำราที่สอนไปมันดีกว่านิพพานหนองเสม็ดอีก เห็นไหม มันทิ้งเองไง คือว่าจิต หลวงตาบอกว่า เวลาจะสอนคนนี่นะ จิตใจเขาหลักยึดเขาอยู่ที่ไหน เขาเคยยึดพุทโธอยู่ เขาเคยยึดคำบริกรรม เขาเคยยึดหลักการปฏิบัติของเขาอยู่ แล้วเราจะไปล้มเขาทั้งหมดเลย แล้วเขาจะยืนอย่างไร
ในเมื่อเราทำอะไรมา เราใช้เป็นพื้นฐานอย่างนี้มา ทรงตัวมา แล้วต่อไปจะทำอย่างไร มันถึงต้องเสนอวิธีการ เสนอให้เขาแบบสันทิฏฐิโกไง
คือเขาไปสัมผัส เขาจะรู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ เขาจะปล่อยจากไม่ใช่มาสู่สิ่งที่ใช่ แต่นี้อย่างถ้าเวลาเราพูดไปแล้วบางคนมันก็ดื้อดึง ก็บอกว่ามึงไม่ใช่หมดเลย หลวงตาท่านยังพูดอยู่นะ เวลาท่านไปหาหลวงปู่มั่นอย่างนี้ คือขึ้นมาจากต่างจังหวัด ท่านบอกหลวงปู่มั่นท่านก็ดูนิสัย ท่านดูนิสัยคน นิสัยคนบางทีเป็นอย่างนี้ก็ควรสอนอย่างนี้ หลวงตาท่านบอกว่านิสัยท่าน.. ท่านมีเหตุผลของท่านอยู่อย่างนี้น่ะ เวลาขึ้นไปนี่นะ เวลาขึ้นไปหาท่านน่ะ ท่านล้มโต๊ะเลย คือว่าพับทิ้งเลย คือว่าให้มึงหาใหม่
มันอยู่ที่นิสัย อยู่ที่จริตนิสัย จริตของคนบางทีมันฟังแล้วมันมีปัญหา มันจะโต้แย้ง คนอย่างนี้ปั๊บ ยิ่งอย่างนี้อย่างที่มันมีปัญหา พอยิ่งพูดเท่าไร เขาก็เอาคำพูดเราไปแปลงเป็นอีกความหมายนี้ ล้มโต๊ะเลย ล้มโต๊ะหมายถึงว่า ไม่ใช่ มึงไปหาเอาเอง แล้วถ้ามันเข้ามาถูกทางแล้วเราค่อยมาคุยกันไง โธ่.. ที่เราพูดน่ะเห็นไหม คนปฏิบัติมันจะรู้ว่า อะไรนะมันจะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ พอเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติแล้ว เราจะทำอย่างไร
เมื่อเช้าวานนี้พูดดีมาก เพราะพวกนี้พวกอภิธรรมเขามาที่นี่ พออภิธรรมมาอยู่ที่นี่ปั๊บ เวลาเขาเมื่อก่อนนะ เพราะอภิธรรมใช่ไหม แล้วให้พุทโธนี่ไม่ยอมเลย อะไรๆ ก็ไม่ยอม แล้วกลัวที่สุด กลัวเป็นสมาธิ ถ้าบอกว่าเป็นสมถะ ผงะอย่างนี้เลยนะ ผงะเลยล่ะ พอเราพูดว่าเราเห็นแล้ว พวกนี้มันเข้าสายเลือด เพราะมันได้รับการตอกย้ำมาว่า พุทโธนี่ผิด สมถะมันจะไม่มีประโยชน์ สมาธินี่ไม่มีปัญญาหรอก ต้องใช้วิปัสสนาสายตรง ต้องใช้ปัญญาเลย อย่างนี้เขาใช้ปัญญากันเลย แล้วมันก็คากันอยู่อย่างนั้นน่ะ มันตัน
ถึงเวลา ถึงจุดหนึ่งแล้วมันตัน มันไปไม่ได้หรอก แล้วพอเป็นอย่างนี้เราพยายามให้พุทโธๆ ตอนนี้เขาพุทโธอยู่ สองวันนี้ก็มาเลย เห็นแสงเลยนะ จิตมันดีจะเห็นแสงเลยนะ แล้วจะรักษาอย่างไรให้แสงมันดีนะเขาว่า เราย้อนกลับ เมื่อก่อนมึงก็ว่าสิ่งนี้ผิด กูก็เน้นว่าถูก แล้วพอไปเห็นแสงไม่เห็นแสง ก็อยากเห็นแสงเห็นไหม นี่ก็ผิด เราถึงบอกว่าการปฏิบัติเห็นไหม เหมือนเด็ก เด็กขึ้นมานี่เห็นไหม เด็กที่เวลามันเกิดมาตั้งแต่เด็ก แล้วเด็กธรรมชาติของมัน มันต้องเดินได้ มันต้องวิ่งได้เป็นธรรมดา
แต่ของเรานี่ เราต้องฝึกมันเห็นไหม ตั้งแต่มันนอนอยู่ ถ้ามันคลานได้ เราก็ตบมือละ ดีใจละ ถ้ามันนั่งได้ ถ้ามันยืนได้ ถ้ามันเดินได้ นี่ก็เหมือนกันพอจิตมันขยับ มันก็เห็นสงเห็นแสง เห็นแสงคือจิตมันมีการเปลี่ยนแปลง มันถึงเห็นนะ แล้วถูกหรือยังล่ะ มันก็ยังไม่ถูกหรอก พอเห็นแสงมึงอยากเห็นแสง มึงจะคลานเลยหรือ มึงไม่นั่งเลยหรือ เอ้า มึงก็ต้องนั่งสิ แล้วมันเห็นแสง จิตมันเปลี่ยนแปลงแล้ว แล้วออกไปทำไง ทำไมไม่กลับมาอยู่ที่จิตล่ะ
พุทโธๆ อยู่ที่จิตสิ อย่าออกไปรับรู้มันสิ พอออกไปรับรู้ ก็ไปรับรู้หมดก็ไปอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วอยากรู้อีกนะ ก็คิดว่าถูกเพราะมันมีอารมณ์ไง มีความรู้สึกไง มันมีความสุขของมันไง แต่ถ้าเราดึงไว้ มันเฉยๆ มันไม่รู้ อยากรู้น่ะ นั่นก็ผิด ถ้ากลับมาอยู่ที่จิต พอจิตสงบขึ้นมาแล้วถูกหรือยัง นั่นก็ผิดอีกล่ะ ผิดตรงไหน ผิดว่ามันสงบแล้วทำอย่างไรต่อ
ถ้าจิตมันสงบขนาดไหน พอสงบแล้วเราจะออกรู้อะไร พิจารณาอย่างไร มันยังมีขั้นตอนไปเรื่อยๆไง สติปัฏฐาน ๔ เราถึงพูดไง ผิดหมด! ถ้าจิตมันยังไม่เป็นผิดหมด คำว่าผิดนะ มันแบบว่ามันจะมีเป้าหมายให้เราไปได้อีก แต่ถ้ามาอย่างนี้ผิดไหม ไม่ผิดหรอก แต่ในอภิธรรมเขาบอกว่าผิดหมดเลยใช่ไหม เริ่มต้นก็ผิดเลย แล้วมันจะไปได้อย่างไรล่ะ
ฉะนั้นเราจะพูดคำนี้ มันมีในพระไตรปิฎกนี่มีนะ พระพุทธเจ้าพูดเอง ท่านพูดกับพระสารีบุตร บอกว่า เราไม่อยากพูดคำนี้เลย บอกว่านี่ภาวนาแบบเข้มเกินไป แก่เกินไป เข้มข้นเกินไป ต้องพยายามให้มันออกแบบว่า ให้มันเป็นมัชฌิมา ถ้าท่านพูดอย่างนี้ไปแล้วคนจะขี้เกียจหมด ทุกคนจะอ้างตรงนี้ไง พระพุทธเจ้าเคยพูดอย่างนี้เลย นี่หลวงตาท่านก็พูด หลวงตาเวลาท่านปฏิบัติไปนี่นะ ท่านบอกว่า ถ้าปฏิบัติสูงขึ้นไป มันจะมีความสุขมาก สงบมาก
ถ้าปฏิบัติไป กิเลสมันละเอียดไปเรื่อยๆ ท่านพูดบ่อยใช่ไหม การคาดหมายพวกเรานี่ ถ้าเป็นโสดาบันกูจะสุขละ เป็นสกิทาคากูจะยิ่งสุขเข้าไปใหญ่เลย พอเป็นสกิทาเข้าไปนะ มันไม่ใช่อย่างนั้นน่ะ เป็นโสดาบันมันสุขไหม สุขจริงๆ แต่! เหมือนเศรษฐีเหมือนไอ้งกน่ะ พอเป็นโสดาบันแล้วเอ็งอยากเป็นอะไรต่อ พอเป็นสกิทาแล้วเอ็งอยากเป็นอะไรต่อ มึงมีเงินร้อยล้านนะ มึงก็อยากมีพันล้าน พอมึงได้พันล้านมึงจะเอาหมื่นล้าน เอ็งคิดสิบริหารต่อ เอ็งทุกข์ไหม เดินไปอะไรไป มีเงินพันล้านมีความสุขไหม ถ้าเอ็งพอใจในพันล้านเอ็งก็มีความสุขจริงๆ นะ แต่เอ็งพอหรือยังล่ะ มันไปทุกข์ตรงนั้นไง มันไม่ได้ทุกข์เพราะมีเงินพันล้านนะ
โสดาบันนี่ตายตัวนะ แต่มันทุกข์ตรงจะเป็นสกิทาไง มันเป็นทุกข์ตรงจะเป็นอนาคานี่ไง ทุกข์ฉิบหายเลย ต้องลงทุนลงแรงมากเข้าไปอีก พอเป็นอนาคาแล้วนึกว่าจบ กูยังจะเป็นพระอรหันต์อีก กูยังทุกข์ต่อไปอีก หลวงตาท่านพูด ท่านเคยคาดหมายว่าอย่างนั้น แล้วเวลาท่านเทศน์กับพระไง ท่านบอกเวลาปฏิบัติไปแล้วนี่นะ ปฏิบัติไป ตอนปฏิบัตินี้ถูก ถูกกับการปฏิบัติ แต่ถ้ามันถูก เอ็งไปทิ้งมันอย่างนั้นเอ็งไปไม่ได้ แต่พอผ่านไปแล้วนะ ไอ้ที่ว่าถูกนะ ผิดหมดเลย ท่านบอกว่าไอ้ความเคร่งครัดนั้นก็คือ บ้า ตัวหนึ่ง เป็น บ้า อันหนึ่ง
สัมมาทิฏฐินี่ ความทิฏฐิถูกต้องนี่ก็เป็น บ้า อันหนึ่ง แต่บ้านั้นก็ถูกนะ ขณะทำนั้นน่ะถูก พอผ่านมาแล้วนะ คิดดูเราผ่านมาแล้ว เราจะกลับไปอยู่ตรงนั้นอีกไหม ถ้าเราไม่ผ่านมา ก่อนนั้นอยู่เราจะผ่านมาไม่ได้ เหตุที่ทำน่ะทำเพื่อให้จิตนี้ผ่านออกไป ขณะที่ทำนั้นน่ะ ขณะที่ทำถูกไหม ถูก แต่ถ้าผ่านมาแล้วนะ นั่นก็เป็นทิฏฐิอันหนึ่ง นั่นเป็นบ้าอันหนึ่งไง นี่ถ้าย้อนกลับมาตรงนี้ ตรงที่ว่าขณะที่ปฏิบัติน่ะถูกไหม ถูก แต่ถูกแล้วนี่มันยังต้องไปอีกไง แล้วเราอธิบายให้เขาฟัง อธิบายวันนั้นตอนเช้าพูด
โยม ๑ : หลวงพ่อ การฟังเทศน์แล้วจิตมันสงบได้ แสดงว่าการฟังเทศน์เป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่าครับ
หลวงพ่อ : การฟังเทศน์นี่นะ มันเหมือนปัญญาอบรมสมาธิก็ว่าเหมือน เพราะว่า ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้ปัญญาของเราโดยเอกเทศ
โยม : ไม่ต้องฟัง
หลวงพ่อ : ใช่ มันเป็นปัญญาโดยเอกเทศ แต่การฟังเทศน์นั้นน่ะ เขาเรียกว่าเอาเทศน์นั้นกล่อมใจ ฉะนั้นการฟังเทศน์มันเป็นภาคปฏิบัติอันดับ ๑ เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ เทวดา อินทร์ พรหม เป็นพระอรหันต์เป็นแสนๆ ล้านๆ เลย การฟังเทศน์นี่นะเหมือนคนไข้ช็อกมา กูปั๊มหัวใจนี่ ปุ๊บ..สะดุ้งกลับมาให้มีชีวิต การฟังเทศน์ตัวเทศน์นั้นเข้าไปสปาร์กไปปั๊มจิต
โยม : เป็นการปฏิบัติอันดับ ๑
หลวงพ่อ : การฟังเทศน์นี้อันดับ ๑ เลย
โยม : เป็นปัญญาอบรมสมาธิด้วย
หลวงพ่อ : ยิ่งกว่าด้วย เราถึงบอกเมื่อกี้นี้ว่า ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่เราไม่ได้ฟังเทศน์ใช่ไหม มันเกิดเอกเทศโดยเราไง มันไม่มีเครื่องปั๊มหัวใจไง คือว่าเครื่องปั๊มหัวใจนี่เราจะบอกว่าเครื่องนั้นคือเทศน์นี่ไง เทศน์นี่เหมือนเครื่องปั๊มหัวใจ เข้าไปปั๊มหัวใจเลย เทศน์นี่ เพราะเทศน์นี้เป็นเทศน์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศน์จากครูบาอาจารย์ใช่ไหม เสียงออกไปแล้ว แล้วมันกระตุ้นหัวใจไหม มันกระแทกไหม นี่อันดับ ๑ เลย เพียงแต่ว่าจิตของเราอยู่ในระดับไหน หรือจิตของเราอยู่ในขั้นไหนที่มันจะรับได้ ไม่ได้
โยม ๒ : ดีกว่าคิดเองอีกหรือครับพระอาจารย์
หลวงพ่อ : เอ้า! เฮอะ เดี๋ยวก่อน จะบอกดีกว่าคิดเองไม่ได้ ถ้าดีกว่าคิดเองเพราะคิดเองถึงเป็นพระอริยบุคคล ฟังเทศน์ถ้าหัวใจมันไม่รับ มันเป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคาไม่ได้ไง การจะเป็นโสดาบัน สกิทา อนาคา พระอรหันต์ มันเกิดจากมรรคญาณในจิตของเรา
โยม ๒ : คือคำว่าดีกว่าคิดเอง คือคิดเองอาจจะผิดก็ได้ เทศน์นี่เป็นตัวสื่อนำความคิดที่ถูกต้อง ปัญญาที่ถูกต้อง
หลวงพ่อ : ใช่ การฟังเทศน์นี่มัน เพราะฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์ ประสาเรามันสะอาดจากใจแน่ๆ ถ้าฟังเทศน์พระพุทธเจ้า มันถูกล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะใจเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว แล้วสิ่งที่ถูกมันมากระทบเรา แต่เราจะบอกว่าถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เราต้องทำเอกเทศโดยตัวเรา เราจะบอกว่าก็เหมือนกับเอกชนน่ะ เราทำด้วยตัวของเราเอง กับเราทำโดยที่มีผู้เกื้อหนุนเห็นไหม เทศน์นี่มันเกื้อหนุน พยายามอัดเข้ามาไง
อันดับ ๑ หมายถึงว่าการเทศน์นี่ เพราะหลวงตาท่านพูดตรงนี้บ่อย แล้วในธรรมะก็มี แล้วอย่างนี้ถ้าเราเกิดร่วมพระพุทธเจ้า เกิดร่วมกับครูบาอาจารย์ที่ท่านมีตรงนี้อยู่ มันมีอันนี้คอยชักเราไง โห..อยู่กับหลวงตานี่นะ ประสาเรามันก็เหมือนกับสัตว์ในคอก เจ้าของคอกคอยเอาปฏักทิ่มอยู่นี่ เอ้อเฮ๋ย! ก็ท่านพูดไง ใครเจอไม่ได้ พระเจอพรวดหนีหมดเลยล่ะ เดินมานี่ใส่แล้ว ศพเดินได้ อู้หูย! แรงนะ ท่านเจอนะ ท่านบอกเลย การเดิน การเหินของคนนี่ มันมีสติไม่มีสติ ท่านดูออกหมดไง
นี้เพียงแต่ว่าท่านจะดู บางทีคนไหนถ้ามันไม่.. เอ็งสังเกตได้ไหมว่าคนมันเดินตกท่อตกอะไรกันนี่ เอ็งเห็นคนเดินบนถนนสิ ต่างคนต่างรีบก้าวเดิน เขามีสติอะไรของเขาไหม เขาจะไปถึงที่เป้าหมายให้ได้ เขาต้องรีบไปถึงเป้าหมายของเขา แต่เขาไม่รู้หรอกเขาจะเจออุบัติเหตุอะไร เขาไม่รู้นะ แต่ถ้าคนมีสติเขาเดินเขามีพร้อมของเขานะ เขารับรู้ของเขา นี่เอามาเทียบกัน เวลาหลวงตาท่านมองคนไง เวลามองคนมองพระนี่ แล้วทางนี้ก็ช็อกสิ เพราะอยู่ในวัด โอ้โฮ.. เหมือนเจ้าของฟาร์มเลย ... ไอ้วัวตัวไหนมันเดินตกท่อ อัดเลย อัดเลย
โยม ๑ : แต่อย่างไรเราก็ต้องใช้.. ที่เป็นเอกเทศของเราเองด้วยใช่ไหมครับ เราจะฟังเทศน์อย่างเดียวไม่ได้ใช่ไหมครับ
หลวงพ่อ : ใช่ เราฟังเทศน์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันไม่มีโอกาสไง ถ้าฟังเทศน์แล้วมันดีขึ้นมาเห็นไหม มันดีขึ้นมา บางทีเราคิดอะไรไม่ออกอ่ะ มันจะปิ๊ง..ในเทศน์นั้นน่ะ พอปิ๊ง..ในเทศน์ปั๊บนี่เราก้าวเดินได้ เหมือนกับเปิดช่องทางไง ที่หลวงตาท่านพูด เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์นะ โอ้โฮ..พระนี่เต็มไปหมดเลย แล้วพระสมัยที่หลวงปู่มั่นน่ะมันมีระดับที่พื้นฐานตั้งแต่..จิตถึงพระอนาคา มีถึงพระอรหันต์ด้วย
อย่างเช่นหลวงปู่ฝั้นครูบาอาจารย์จะไปฟังเทศน์เห็นไหม เวลาหลวงปู่ขาวมาอย่างนี้ เพราะหลวงปู่ขาวเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่พรหม หลวงปู่โต๊ะอย่างนี้ หลวงปู่ที่วัดอโศการามเดินไปหาท่าน เพราะสมัยนั้นนะ ไอ้นี่มันเป็นเรื่องวงในของพระ เราไม่ค่อยอยากจะพูด พอพูดออกไปแล้ว ทีนี้ว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น วงในของพระนี่เราได้ยินข่าวอยู่ ว่าพระผู้ใหญ่สมัยนั้นน่ะ เขาจะหาว่าหลวงปู่ลีนี่ เหมือนกับเข้าเมืองน่ะ แล้วพระป่าท่านอยู่ป่าไง เขาว่าหลวงปู่ลีนี่แบบว่ามาเข้าเมือง ก็แบบว่าติดญาติโยมว่างั้นเถอะ ในมุมมองของพระเขาคิดกันอย่างนั้นไง
แต่ทีนี้พอหลวงปู่ลีไปกราบหลวงปู่มั่นไง หลวงปู่มั่นให้หลวงตาไปสร้างกุฏิให้เฉพาะอยู่ในป่าลึกๆ เลย แล้วหลวงปู่มั่นบอกว่า ท่านลี ท่านลีมาจากในเมือง ท่านลีมานี่ คือว่าท่านมีคุณธรรมของท่านไง หลวงปู่มั่นรู้ไง อันนี้อำนาจวาสนาท่านเป็นอย่างนั้นใช่ไหม ทีนี้คนที่อยู่ป่าเคยมันก็..นะ เราก็อยู่ป่าอยู่เขา เราพระป่า เรามีศักยภาพไง แล้วเห็นพระอีกองค์หนึ่งไปอยู่ในเมืองมันก็แปลกๆ อยู่นะ มันก็มีมุมมองแปลกๆ อยู่ นี่หลวงปู่มั่นท่านก็ต้อนรับอย่างนี้เห็นไหม เพราะหลวงปู่มั่นใช้ให้หลวงตาเป็นคนไปทำกุฏิให้โดยเฉพาะ
หลวงตาถึงเอามาเล่าไง หลวงตาถึงบอก ถ้าหลวงปู่มั่นมีน้ำใจ มีความรับรู้กับพระองค์ไหนนี่ หลวงตาท่านบอกต้อง ๑๐๐ % แล้วพอหลวงปู่มั่นท่านให้หลวงตาไปทำกุฏิให้หลวงปู่ลี เสร็จแล้วหลวงปู่มั่นท่านชราภาพท่านไม่ค่อยได้ไปไหน เพราะคนชราภาพท่านจะใช้จิตดูหมด ท่านไม่ค่อยได้ไปด้วยร่างกาย กุฏิหลวงปู่ลีนี่หลวงปู่มั่นท่านเดินไปดูเองเลย นี่หลวงตาท่าน โอ้โหย.. ท่านจับทุกกระเบียดเลยนะ ท่านจับทุกอย่างว่าหลวงปู่มั่นแสดงออกกับครูบาอาจารย์ที่มาหาอย่างไร
ทีนี้หลวงปู่ลี เราก็ดูอยู่ หลวงปู่มั่นท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านสร้างบุคลากร แต่เหมือนกับหลวงปู่ลีครูบาอาจารย์ของเราเป็นแม่ทัพนายกอง ที่เอาธรรมะของครูบาอาจารย์ออกไปขยาย เพราะฉะนั้นเวลาท่านต้อนรับ ท่านถึงเวลาเทศน์ของท่านน่ะ มันถึงมีหลายระดับไง เช่นครูบาอาจารย์ที่มานี่ เราอยู่ที่บ้านตาดเราสังเกต เราสังเกตหลวงตาเวลาท่านเทศน์ แล้วหลวงปู่ลีผาแดงนั่งอยู่ด้วย เราก็สังเกตอยู่ พระอรหันต์องค์หนึ่งเทศน์ พระอรหันต์องค์หนึ่งนั่งฟัง
โธ่ เรานี่นะอยู่กับใคร หูตานี่.. เรานี่สังเกตนะ สังเกตว่าเวลาหลวงตาท่านพระอรหันต์ เรามั่นใจว่าหลวงตาเป็นพระอรหันต์ เพราะกูอยู่กับท่านน่ะ กูโดนปฏักมาเยอะ แล้วหลวงตาท่านก็ชมเองว่าหลวงปู่ลีนี่เป็นพระอรหันต์ แล้วเวลาเทศน์นี่ก็มีหลวงปู่ลีนั่งฟังด้วย แล้วอาจารย์พงศ์ ธัญญะ อาจารย์เชอรี่ พวกเรานี่นั่งกันเต็มไปหมดเลย เวลาท่านเทศน์บนศาลาตอนกลางคืนน่ะ เวลาท่านเทศน์จบ เนาะท่านลีเนาะ ท่านลีเนาะเห็นไหม ธรรมะที่เทศน์ เนาะมีอะไรค้านไหม นี่พระอรหันต์กับพระอรหันต์น่ะ ถ้าภูมิคุณธรรมเท่ากันน่ะ
โธ่.. เวลาเรามาอยู่ที่โพธาราม เราถึงบอกว่าครูบาอาจารย์ พระป่าของเรานี่ ครูบาอาจารย์ของเรามีคุณธรรม เขาถามทุกคนน่ะ แล้วหลวงพี่มีอะไรยืนยัน หลวงพี่มีอะไร ก็พวกเดียวกันก็ยืนยันกันไง เราพยายามพูดถึงตรงนี้ ตรงที่หลวงปู่มั่นท่านชมหลวงปู่ขาว หลวงปู่มั่นท่านพูดอะไร ท่านจะมีเหตุผลไปข้างหน้า เพราะสมัยนั้นหลวงปู่พรหมก็ไปคารวะท่านบ่อย หลวงปู่จงหลวงปู่ตื้อแวะเข้าไปหมดน่ะ ลูกศิษย์ที่เป็นพระอรหันต์มาคารวะหลวงปู่มั่นทั้งนั้นน่ะ
แต่ทำไมหลวงปู่มั่นท่านจะย้ำเตือนกับพระที่เข้าไปอุปัฏฐากท่านบอกว่า ถ้าเราตายแล้ว หมู่คณะอย่าลืมท่านขาวนะ อย่าลืมหลวงปู่ขาวนะ หลวงปู่ขาวนี่เราได้ศึกษาแล้วได้คุยกันแล้วเห็นไหม นี่ไงองค์ไหนที่จะเป็นประโยชน์ไปข้างหน้า องค์ไหนที่จะเป็นหลักเป็นชัยไง แล้วพอหลวงปู่ขาวเห็นไหม ขนาดหลวงปู่มั่นฝากอาจารย์จวนไว้กับหลวงปู่ขาวเลย ขณะที่ว่าเวลาเผาศพหลวงปู่มั่นแล้ว อาจารย์จวนท่านจะไปภูเก็ตกับหลวงปู่เทสก์ แล้วหลวงปู่ขาว เพราะหลวงปู่ขาวได้รับภาระอันนี้มาจากหลวงปู่มั่น เห็นไหม
หลวงปู่ขาวบอกว่า ทีแรกก็ไม่กล้าพูด พอพูดออกไปมันก็เหมือน พระเรานี่นะถ้าเป็นของจริงแล้วนะจะอ่อนน้อมถ่อมตนนะ ในใจจะติดดิน จะไม่มีการอวด ก็จะชวนไว้ หลวงปู่มั่นสั่งไว้แต่ก็ไม่กล้าพูดโดยตรงเห็นไหม เดี๋ยวมันจะมีแบบว่าโอเวอร์ สิทธิพิเศษ อะไรอย่างนี้ ก็พยายามจะชวนอาจารย์จวนให้ไปอยู่กับหลวงปู่ขาวไง ธรรมดาพระหนุ่มก็อยากจะไปเที่ยวภูเก็ต จะไปให้ได้ พูดไปพูดมาสุดท้ายไม่ยอมก็บอกว่า ท่านไปไม่ได้ล่ะ หลวงปู่มั่นสั่งไว้ท่านต้องอยู่กับผม หงิกเลย (หัวเราะ) แต่สุดท้ายแล้วท่านก็ปั้นมาจนเป็นพระอรหันต์หมดเห็นไหม
เวลาติดขัด ขึ้นไปหาหลวงปู่ขาวเลย แล้วหลวงปู่ขาวเป็นคนสั่งมาเอง เวลากามราคะมันเกิดให้เอากระดูกช้างแขวนคอ กินหมากให้ย้อยลงมา มีคนไปเห็นอาจารย์จวนทำอย่างนั้น ไปฟ้องหลวงปู่ขาวว่าอาจารย์จวนสติวิปลาสไปแล้ว หลวงปู่ขาวนั่งหัวเราะเลย ก็กูสั่งให้ทำเอง วงในกรรมฐานมันมีของมันอย่างนั้น นี่เราจะบอกว่าหลวงปู่มั่นน่ะท่านเห็นไง ว่าอนาคตองค์ไหนจะเป็นที่พึ่ง องค์ไหนจะเป็นประโยชน์อย่างไรเห็นไหม ถึงบอกหมู่คณะจำหลวงปู่ขาวไว้นะ หลวงปู่ขาวได้คุยกับเราแล้ว คำนี้หลวงตาเล่าให้ฟัง หลวงปู่เจี๊ยะก็เล่าให้ฟัง
หลวงปู่เจี๊ยะตามหาหลวงปู่ขาวเลย หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังนะ ตอนไปหาหลวงปู่ขาว ขึ้นไปน่ะ ผมเจี๊ยะครับ เพราะมันลงใจตั้งแต่ตอนหลวงปู่มั่นบอกแล้วไง หลวงปู่เจี๊ยะบอกเลยว่าถ้าหลวงปู่มั่นพูดถึงใครแล้วสั่งไว้ถึงใคร องค์นั้นต้องใช้ได้ ต้องของจริง แล้วหลวงปู่เจี๊ยะออกมาจากหลวงปู่มั่นเพราะว่า ออกมาเที่ยววิเวกไง ก็ยังไม่ถึงที่สุดไง ก็ไปกราบหลวงปู่ขาว รายงานตัวเลย ผมเจี๊ยะครับ มากราบหลวงปู่ขาว ฝากตัวเป็นลูกศิษย์เลย
ทีนี้พอลูกศิษย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาวท่านก็รักน่ะ เพราะธรรมดานะ หมู่คณะเรามันต้องมีน้ำใจต่อกัน หลวงปู่เจี๊ยะเล่าประจำ เวลาไปกราบหลวงปู่ขาวนะ เจี๊ยะเอ้ย ม้างกายบ่ หลวงปู่เจี๊ยะบอก ม้างหลายๆ พิจารณากายไหม ดูกายไหม ท่านคอยจี้ คอยเตือนตลอดเห็นไหม หลวงปู่เจี๊ยะบอก ม้างหลายๆ พอถึงว่า ม้างกายอยู่บ่ พิจารณากายอยู่ไหม แล้วได้แยกกายไหม แยกแยะมากน้อยแค่ไหน ม้างหลายครับม้างหลาย ม้างหลาย หลวงปู่เจี๊ยะไม่ลงใครง่ายๆ นะ
เวลาหลวงปู่มั่นเห็นไหม ท่านพูดถึงใครแล้ว โอ้โหย.. มันมีเรื่องเล่ามาในวงในเยอะมากว่าหลวงปู่ขาวท่านทำอะไรผิด ทำอะไรไม่ถูก หลวงปู่มั่นจะมาในนิมิตคืนนั้นเลย นั่นถูกนั่นผิด ท่านทำไม่ถูกยังนี้จะไปสอนใครล่ะ อู้ฮูย.. เยอะแยะไปหมด ท่านพูดยังนี้ออกมาน่ะ พระอรหันต์ตายแล้วมาได้อย่างไร มันไม่รู้เรื่อง นิพพานมันมีของมัน
โยม ๒ : ท่านอาจารย์ครับ ตอนท่านพระอาจารย์ลีไปพบหลวงปู่มั่นนี่ ท่านจบแล้วหรือ
หลวงพ่อ : ต้องจบ เพราะหลวงปู่ลีก็เป็นบารมีของท่าน เพราะหลวงปู่ลีนี่ ถ้าไปดูประวัติหลวงปู่ลีก็แปลกนะ เพราะหลวงปู่ลีบวชแล้วเป็นมหานิกายมาก่อน เพราะบวชที่อุบลฯ นั่นน่ะ แล้วคิดแล้วเห็นสภาพนั้นมันอยู่ไม่ไหว ก็อยากจะสึก เวลาจะสึกก็อธิษฐานว่าจะมีดีไหม ก็บวชอยู่พักหนึ่ง ก็ธุดงค์อยู่พักหนึ่ง ธุดงค์พักหนึ่งก็ไปเจอครูบาอาจารย์แล้วกลับมาญัตติ มาญัตติที่วัดบรมนิวาสหรือไง แล้วมาจำพรรษากับสมเด็จมหาวีรวงศ์หรือไง แล้วท่านก็เอาไว้อุปัฏฐาก
มันแปลกนะว่าหลวงปู่มั่นนี่ลงมาเอาเองเลยนะ หลวงปู่มั่นลงมาที่วัดบรมนิวาสมาขอเองเลย มาขอเอาหลวงปู่ลีออกไปปฏิบัติน่ะ เราศึกษาประวัติของคนนี่มัน.. เรา แหม ต้องเอาที่มาที่ไปเลยนะ โอ๋ย..เห็นแล้วมันแปลก ท่านอุปัฏฐากอยู่ ท่านก็อยากสึก ในประวัติเห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าสึกแล้ว จะไปทำงานบริษัทเป็นภาค จะได้เงินเดือนกี่บาท ท่านไปนั่งบนเจดีย์ที่วัดบรมฯ แล้วคิดว่าถ้าสึกแล้วจะไปทำงานกับลูกศิษย์ เจ้าของบริษัทเขามาที่วัดไง ลูกศิษย์เนี่ย
ถ้าสึกแล้วจะไปทำงานกับเขา เขาจะให้เงินเดือนเท่าไร แล้วพอได้เงินเดือนแล้วไปเจอสาว ในประวัติหลวงปู่ลี ไปอ่านเห็นไหม ไปเจอสาวก็อยากรักเขาก็เอาหนังสือให้เขาที่มือ ขอเบอร์โทรศัพท์ไว้ แล้วแต่งงานกับเขา พอแต่งงานกับเขาแล้ว ได้ลูกคนหนึ่ง ได้ลูกคนหนึ่งแล้ว ก็ตายไปเมียตาย พอตายขึ้นมา ลูกมันเล็กก็หาคนมาดูแล พอหาคนมาดูแล คนมาดูแลเห็นคุณงามความดีของเขา ก็ได้เสียกับเขาอีก ก็เกิดมีลูกอีกคนหนึ่ง เป็นลูกเมียน้อย แล้วลูก รักมันก็ไม่เท่ากัน มีทะเลาะเบาะแว้งกัน นี่มันตรึกในธรรม
โยม ๒ : นี่ปัญญาอบรมสมาธิหรือครับ
หลวงพ่อ : ใช่ พอตรึกในธรรมเห็นไหม พอตรึกในธรรมสุดท้ายเห็นแต่ความทุกข์ในชีวิต พอแก่แล้วก็กลับมาบวชใหม่ อย่างนั้นกูไม่สึกดีกว่า นี่ท่านจะสึกนะ ตอนที่ท่านจะสึกที่ท่านไปนั่งที่.. ประวัติหลวงปู่ลีนั่นน่ะไปอ่านสิ สุดท้ายก็ไม่สึกไง วิตกวิจารอยู่นาน จะไปไหนดี หลวงปู่มั่นมา ท่านอธิษฐานเลย ถ้ามีโอกาสได้อยู่ ขอให้ได้ออกปฏิบัติ เพราะจะไปก็ไปไม่ได้ เพราะสมเด็จฯ เอาไว้อยู่ หลวงปู่มั่นลงมาขอเองเลยนะ แปลกอยู่
หลวงปู่มั่นมาเองเลย หลวงปู่ลีถามอย่างนี้ หลวงปู่มาทำไม ก็มาเอาท่านไง ก็มาเอาท่านน่ะออกไปปฏิบัติ เอาขึ้นไปเชียงใหม่เห็นไหม แล้วเอาขึ้นไปเชียงใหม่ไปวัดเจดีย์หลวงก่อน พรรษาแรกไง ประวัติหลวงปู่มั่นน่ะ
ที่แบบว่าหลวงปู่มั่นออกไปบิณฑบาต ไปเห็นกางเกงเสื้อผ้าเก่าของชุดข้าราชการไง ก็เอาตีนเขี่ยไป เขี่ยไปไง มันอยู่เพราะคนเห็นเยอะไง ที่เชียงใหม่ เขี่ยไปก่อน พอพ้นจากคนไปท่านก็สะบัดๆ เอามาเหน็บไว้ กลับวัด ทีนี้หลวงปู่ลีท่านบิณฑบาตตามข้างหลังไง
คำนี้หลวงปู่ลีท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตามาเขียนประวัติหลวงปู่มั่นไง พอเขี่ยแล้วเอากลับวัด เห็นเป็นเสื้อผ้าเก่าๆ ของชุดสีกากี หลวงปู่ลีท่านก็ยังไม่สนใจอะไร สัก ๕ วัน ๑๐ วัน หลวงปู่มั่นโยนให้เลย อ้าว.. เอาไปใช้เนี่ย ย่าม! เอาไปเลาะขอบ ไปทำความสะอาด ตัดเป็นย่าม เย็บเป็นย่ามเสร็จ ยกให้หลวงปู่ลีใช้น่ะ นี่หลวงตาเวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดเอาไว้ ครูบาอาจารย์ท่านเห็นว่าหลวงปู่ลีอนาคตไปจะมีชื่อเสียงมาก
คือสอนไว้ตั้งแต่เด็กๆ เลยนะ ให้ใช้ของบังสุกุล ให้ใช้ผ้า ทำให้เห็นมันฝังใจ ทำให้เห็นเลยเห็นไหม เศษผ้านั่นน่ะ เขี่ยมา เขี่ยมา มาซักมาย้อม มาซักมาทำความสะอาดแล้ว ตัดเย็บปะชุน มาเป็นย่ามใบหนึ่งให้ใช้น่ะ โอ้.. หลวงปู่มั่นนี่.. ท่านมองถึงอนาคตไปไกลเลยว่าใครจะมาอย่างไร ท่านดูอำนาจวาสนาของคนเลยนะ นี่อนาคตังสญาณของพระพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นมีครบเลย แล้วคิดว่าคนนู้นขุนนางคนนี้จะมาค้ำศาสนา ส้นตีนน่ะ ส้นตีน
โยม ๒ : ตอนนี้ฟังเทศน์พระอาจารย์ ยังนึกถึงคำที่พระอาจารย์เทศน์ถึงคนที่เอากระโถนของพระอาจารย์มหาบัวมาดื่ม ผมพูดทีไรนะพระอาจารย์ ขนลุก ใจมันเอามาคิดอยู่ตลอดเวลา อาจารย์ครับ
หลวงพ่อ : นั่นน่ะ แล้วคิดถึงว่าจิตคนมันลงเห็นไหม นี่คนเคารพนับถือ กับคนไม่เคารพนับถือมันต่างกัน แล้วคนที่ไม่เคารพนับถือแล้วเราไปพูดอะไรกับเขานี่ ใครๆ ก็ว่าเราบ้าน่ะ เพราะมันเคารพศรัทธาขนาดนั้นนะ แล้วบางคนนะ บางคนเห็นไหม ดูสิ บางคนที่ไปขอขมาท่านเดี๋ยวนี้เห็นไหม เดี๋ยวคนโน้นไปขอขมาที คนนี้ก็ไปขอขมาที เพราะกระแสเห็นไหม
โธ่ อย่างเรานี่ ดูทุกคนเห็นไหม ถ้าพูดถึงว่าเวลาเราบอกว่า เราอยากหาพระดี จะไปกราบอาจารย์หลวงตา ถ้าคนที่ไม่เห็นด้วย มึงจะกราบทำไม ดูสิ ท่านยังกินหมาก ท่านยังสูบบุหรี่อยู่เลยน่ะ หยุดละ ทุกคนไม่ไปละ มันปิดกั้นได้ง่ายๆ เลยนะ แล้วจะไปได้ไง โอ้โฮ.. ฝ่ายตรงข้ามเขาโจมตีน่ะ ด่ามา ใบอะไรนะ ไปรษณียบัตร อะไรน่ะ
โยม ๒ : บัตรสนเท่ห์
หลวงพ่อ : ไปรษณีย์เลย บัตรไปรษณีย์เนี่ย มันส่งไปทั่วประเทศเลย กูก็ได้รับด้วย โอ๋ย กิริยาทุกอย่างผิดหมด บอกว่ากิเลสทั้งตัวไง
โยม ๒ : ขบวนการหรือเปล่าครับ
หลวงพ่อ : ใช่ๆ
โยม ๓ : อ๋อ จะล้มหลวงตา
หลวงพ่อ : ด่ามาเยอะ มีเยอะ ใต้ดินมันมี พอใต้ดินมันมีงี้ปั๊บ กระแสมันออกไป แล้วกระแสมันออกไป คนมันฟัง ไอ้นี่เราพูดถึงเวลา เราสงสารคนที่ แล้วเวลาสุดท้ายก็ไปขอขมากันไง ถ้าคนมันกลับใจ เห็นใจ มีคนไปขอขมาเยอะมาก แต่ถ้าไม่ขอขมามันก็เรื่องของเขาเนอะ
โยม ๒ : อาจารย์ครับ ต้องขอขมากับองค์ท่านเองหรือเปล่าครับ
หลวงพ่อ : ถ้าขอขมากับองค์ท่านเองนี้อย่างนี้เลย ถ้าเราไม่มีโอกาส
โยม ๒ : เห็นพระอาจารย์เคยบอก จุดธูปบอกได้ไหมครับ
หลวงพ่อ : ได้ ฮึ! เราให้ขอขมากับพระพุทธรูปที่บ้าน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะเราเห็นกรรมอย่างนี้ แล้วมีลูกศิษย์หลายคนนะ ลูกศิษย์ใกล้ๆ นี่แหละ บางทีเขามากราบเนี่ย ขอขมา เพราะว่าอยู่ที่บ้านนะ นึกถึงหลวงพ่อทีไร ด่าทุกทีเลย เรานี่แหละ พอนึกถึงเราขึ้นมาแล้วเขาก็แบบว่า มันปลุกจิตใต้สำนึกไง ทั้งๆ ที่เขา.. มันก็แปลกนะ เขามาขอขมาอยู่ ทีแรกเขาไม่กล้าพูด เขาพูดมาแล้วก็ เรากลับสงสารเขา
เพราะเรามีเหตุการณ์อย่างนี้ เวลาออกพรรษา เราถึงให้ขอขมาลาโทษไง เพื่อไม่ให้เป็นเวรเป็นกรรมไปเรื่อยๆ ไง มันมีพระมาพูดอย่างนี้เยอะ พระนี่มาบอกเลยนะ ตั้งพระพุทธเจ้าขึ้นมาแล้วก็โจมตีๆ ตลอด ทั้งๆ ที่เคารพ บางทีก็ครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนี่ มันเกิดขึ้นมาโดยจิตใต้สำนึก คือเขาบอกเราก็อาจารย์เรา โดยสามัญสำนึกนี่เราก็เคารพไง แต่เวลาจิตสงบ หรือว่าสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้มันมาละ มันใส่ล่ะ
โยม ๓ : หลวงพ่อแล้วอย่างทำวัตรเย็น ก็ไม่ต้องขอขมาแล้ว เพราะมันก็อยู่ในบทสวด
หลวงพ่อ : ใช่ แล้วก็เท่ากับขอขมานั่นแหละ ไอ้แผ่ส่วนกุศลนั่นน่ะ นั่นก็ขอขมา
โยม ๒ : แล้วเวลาขอขมานี่ ไม่ต้องมีพิธีกรรมอะไร แค่เอ่ย
หลวงพ่อ : ใช่ การขอขมา ขอจากจิตเรา จากความรู้สึกของเรา ถ้าความรู้สึกเราขอขมา มันขอมาจากที่นี่ มันหายไม่หายอยู่ที่นี่
โยม ๒ : ครับ เพราะพระอาจารย์เคยบอกว่า พิธีกรรมให้ลดละไปเลย
หลวงพ่อ : จริงๆ คือเราจะปฏิเสธให้หมดเลยไง เพราะธรรมดา ของเรานี่นะ ตัวเราเองหรือว่าความเชื่อของเรา เราอยากจะให้เห็นว่า เนื้อหาสาระในพุทธศาสนาคืออะไร เนื้อหาสาระในพุทธศาสนา เปลือกเราจะไม่ให้เข้ามายุ่งไง เมื่อก่อนหลวงตาท่านทำตรงนี้ โห.. เวลาอยู่กับท่าน ท่านเทศน์ใหม่ๆ นะ ตอนอยู่กับท่านนะ เราขำ
เช้าๆ เทศน์กับโยม กว่าจะถวายทานกันนี่ แล้วก็เอาอาหารมาวางไว้ แล้วก็เอาพัดปัดกัน จนยุงมันไข่ จนมันฟักเป็นตัว ยังกล่าวคำถวายไม่จบเลย โห.. ท่านใส่ กูนั่งฟังแล้วขำทุกทีเลยนะ แล้วพอท่านไม่ให้มี ไม่ให้มี ตอนหลังนี่ท่านชราภาพมาก จนตอนหลังตามประสาเราว่าท่านจะออกบริหารไม่ค่อยได้ ขนาดนี่เราก็ชมเต็มที่แล้วนะ ๙๗ ความจริงร่างกายมันจะควบคุมไม่ค่อยได้แล้ว ระบบประสาทน่ะ เวลาท่านเอาข้าวใส่ปากนี่มันจะตกละ
คนเราอายุ ๙๐ กว่า เราอยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ร่างกายเรามันดื้อแล้ว มันไม่ยอมฟัง เราจะทำยังงั้นไม่ได้ แต่ท่านก็ยังมาฉันให้เราดูอยู่ทุกวัน เราดูทีวีทุกวัน เราสะท้อนใจนะ ขนาดหลวงปู่มั่นนี่ ๘๐ เห็นไหม หลวงตานี่เป็นคนขอเอง บอกไม่ต้องไป ขอให้ไม่บิณฑบาต หลวงปู่มั่นก็ไม่ยอม ครึ่งทาง สุดท้ายไม่ไหวก็ปากประตูวะ ไม่ไหวก็บิณฑบาตบนศาลา คือท่าน ชีวิตจะเป็นแบบอย่างให้คนเขาดู ให้ลูกศิษย์เห็นว่า กูพูดได้ ทำได้ไง ถ้ากูพูดได้ต้องทำได้ แล้วถ้าพูดได้ทำได้ก็ ๘๐ นิพพาน
นี่หลวงตาท่านเลยมาถึง ๙๐ กว่าแล้ว อย่าให้แต่ว่ายืนบิณฑบาตเลย แค่เอาบาตรคล้องคอก็จะล้มแล้วน่ะ บางสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เราต้องมองว่า จิตใจนั้นมันผ่องแผ้ว แต่ร่างกายนี่ ถ้าร่างกายยังแข็งแรงอยู่ อยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ แต่ถ้าร่างกายมันเป็นอย่างนี้ล่ะ จิตใจมันไม่วิตกกังวลหรอก
โธ่ เวลากล้องมานะ มันโคลสไปที่เท้าเห็นไหม โอ้โฮ.. บวมเป่ง อยู่ยังงั้นน่ะ เอ๊ะ.. เราก็ว่ามันแปลกนะ มันถอดเล็บไปแล้ว มันก็น่าจะหายนะ ไอ้ตรงนี้ทำให้เรายอกใจ เราเสียวๆ อยู่ เสียวๆ ที่ว่าไอ้แผลเล็กๆ นี่แหละ มันจะทำให้ร่างกายเป็นอย่างนี้ ไอ้ของเล็กๆ นี่แหละ ผู้เฒ่านี่ ความจริงมันน่าหายแล้ว มันน่าหายแล้วนะ มันไม่หายสักที ของเล็กๆ น้อยๆ นี่ต้องระวัง
โยม ๓ : หลวงพ่ออธิบายทุกข์ในอริยสัจ กับทุกขเวทนาให้ทราบได้ไหมครับ
หลวงพ่อ : ไม่หรอก ทุกข์ในเวทนา ทุกขเวทนามันเกิดจากเวทนาแล้วเห็นไหม เวทนาเกิดสุขน่ะทุกขเวทนา อันนี้คือผลไง เวทนาคือผลใช่ไหม เวทนามันเหมือนค่า ค่าของน้ำ ค่าของความรู้สึก สุขเวทนา ทุกขเวทนา นี่ค่าของความรู้สึกคือวิบาก คือผล วัดค่า แต่ทุกข์ในอริยสัจน่ะ ทุกข์ในอริยสัจน่ะมันตัวเหตุ ทุกข์ควรกำหนด คือตัวเหตุ หลวงตาท่านเทศน์ เราฟังแล้วขำนะ ท่านบอกเลยนะ กิเลสนะ มันตื่นขึ้นมานะ แล้วมันก็ขี้รดหัวใจเรา แล้วมันก็ไปแล้ว
คือความคิดเห็นไหม เราคิดเรื่องอะไร เรายังไม่ทุกข์นะ ความคิดน่ะ แล้วเรื่องความคิด ความคิดนี่มันคิดพอใจไม่พอใจ มันขี้ลงไปแล้ว มันขี้ลงไปที่หัวใจเรา แล้วมันก็ไป พอคิดไม่พอใจเราก็ เห็นไหมทุกข์ล่ะ นี่ทุกขเวทนา แล้วเทศน์เรานี่เราจะสบประมาทมากเลย พวกมึงไม่เคยเห็นทุกข์ๆ ไอ้ที่มึงเห็นกันนี่มันเป็นวิบาก เป็นผลของทุกข์ต่างหากล่ะ แล้วเราดีใจเสียใจ ถ้าดีใจเราก็สุข เสียใจเราก็ทุกข์ ทุกข์อันนี้เห็นไหม นั่นแหละผล วิบากไง ดีใจเสียใจนี่ต้นเหตุ นี่ทุกข์ในอริยสัจอยู่ตรงนั้นน่ะ ทุกข์ในอริยสัจคือตัวภพไง
โยม ๓ : ก็คือจิตเคลื่อนออกมา
หลวงพ่อ : ใช่.. ตัวทุกข์คือตัวจิตนั่นแหละ
โยม ๓ : แล้วมันจะทำอย่างไรให้จิตไม่ส่งออกอยู่ตลอดเวลา มันต้องส่งอยู่แล้ว..
หลวงพ่อ : พลังงานมันส่งใช่ไหม ตัวสมาธินี่คือไม่ส่งออก
โยม ๓ : มันไม่สามารถที่จะคอนโทรลให้มันอยู่อย่างนี้ได้ตลอด
หลวงพ่อ : มันอยู่ไม่ได้ตลอดเพราะเราไม่ชำนาญไง ถ้าเราชำนาญเราคอนโทรลได้
โยม ๓ : อย่างคุยกันอย่างนี้
หลวงพ่อ : อ้าว..คุยกันอย่างนี้เราออก มันเป็นกาลเทศะ ถ้าบอกว่าอย่างนี้ปั๊บ เอ็งอยู่กับสมาธิทำไม อยู่ในสมาธิเป็นพลังงานใช่ไหม สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ มันต้องใช้ปัญญา ตัวสมาธิเป็นฐาน มันมีมรรค ๘ เห็นไหม มรรคมีองค์ ๘ แล้วมรรคมีองค์ ๘ นี่มันต้องสมดุลกัน ฉะนั้นบอกว่าเอ็งจะทรงสมาธิเฉยๆ โดยที่ไม่ทำอะไรเลย
อ้าว..เอ็งมีเงินพันล้าน แล้วเก็บใส่ตู้เซฟแล้วล็อกกุญแจไว้ มึงบ้ารึเปล่า ทำไมไม่เปิดเอาเงินพันล้านไปลงทุน มีสมาธิ แล้วเอ็งเอาสมาธิไปล็อกไว้ในตู้เซฟ ไม่ให้มันขยับเลยหรือ เห็นไหมนี่เอ็งคิดผิดแล้ว คิดว่าสมาธิต้องสมาธิอยู่อย่างนั้นเฉยๆ ทีนี้เวลาเราพูดกับโยมนี่มันมีหลายแง่มุม เราบอกสมาธินี่นะ ถ้าเอ็งไม่รักษาสมาธินะ เสื่อมหมด เพราะสมาธิเป็นผลของการปฏิบัติ สมาธิเป็นผลจากการพุทโธๆๆ สมาธิมาแต่เหตุ เหตุคือคำบริกรรม เหตุคือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
เหตุคือเรารักษามันมา เราสร้างเหตุมา ผลมันคืออะไร ทำงานได้เงินเดือน สมาธิเป็นผลของการกระทำของคำบริกรรมนั้น ถ้าเอ็งจะรักษาสมาธิ เอ็งรักษาที่เหตุ สมาธิเอ็งจะไม่มีวันเสื่อมเลย สมาธิเอ็งจะคงที่ตลอดเวลา แต่ที่เรารักษาสมาธิกันไม่ได้ เพราะว่าเอ็งขี้เกียจทำเหตุกันไง ถ้าเอ็งอยู่ที่เหตุ เอ็งกำหนดคำบริกรรม หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิอยู่นี่ สมาธิเอ็งจะอยู่ของมันตลอด เพราะมันเป็นผล ผลจากเหตุนั้นเห็นไหม นี่พอผลแต่เหตุนั้นแล้ว สมาธิคืออะไรนะ
เราถึงบอกว่า เขาบอกว่า สติ สมาธิเป็นไตรลักษณ์ เขาพูดนะ กูบอกว่า ไม่มีทาง!! สติ สมาธิ ขันธ์ ๕ มันเป็นอนิจจัง มันไม่ใช่เป็นไตรลักษณ์ มันเป็นอนิจจัง คือมันเกิดดับ มันแปรปรวนเห็นไหม เพราะมันเป็นอนิจจังเห็นไหม เขาว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ กูถึงเทศน์ไง ที่พระพุทธเจ้าถามปัญจวัคคีย์ไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ มันอะไรนะ รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ขันธ์ ๕ นี่เที่ยงหรือไม่เที่ยง
อย่างที่เอ็งว่า สมาธิเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ไม่เที่ยงน่ะ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเราอยากได้ เราอยากให้เที่ยงเห็นไหม มันเลยเป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นทุกข์นั้น ควรไหมที่ควรยึดไว้ เห็นไหม แต่นั้นเขาบอกว่าสมาธิมันเป็นอนัตตาๆ มันเป็นอนิจจัง คือมันไม่เที่ยง มันเป็นอนัตตาตรงไหน
โยม ๓ : มันคือปลายเหตุ.. เขาว่าสติเป็นอนัตตาด้วย
หลวงพ่อ : นั่นน่ะ กูถึงด่ามันอยู่ทุกวันนี่ไง สติมันเป็นอนัตตาได้อย่างไร สติมันไม่เที่ยง มันเกิดดับ เห็นไหม
โยม ๒ : สติมันเป็นอนิจจัง
หลวงพ่อ : ใช่.. สติมันเป็นอนิจจัง พอมันเป็นอนิจจังแล้วน่ะ มันสุขหรือมันทุกข์ล่ะ มันทุกข์ ความทุกข์น่ะ มันพอใจไม่พอใจน่ะ มันเป็นอะไรล่ะ ทุกข์แล้วมึงยึดไว้ทำไมละ มันเป็นอนัตตา ฉะนั้นบอกว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาน่ะ ทุกอย่างเป็นอนัตตา ส้นตีนน่ะ ส้นตีน
คือว่ามันละเอียดอ่อนไง ในกระบวนการน่ะ มันอยู่ขั้นตอนไหน แล้วมันอธิบายผิด คนไม่รู้จะอธิบายผิดหมด ฉะนั้นเราถึงบอกสมาธินี่ เวลาหลวงตาท่านทำสมาธินะ แล้วทำสมาธิได้สมาธิแล้ว พอสมาธิมันตั้งมั่นเพราะเราทำชำนาญแล้ว ท่านบอกว่าผลของมัน ผลของสมาธิ ทำให้จิตใจเราคงที่ได้ ๓ วัน ๔ วัน แล้วถ้าทำต่อๆ ไป คำว่าคงที่ได้ ๓ วัน ๔ วัน เอ็งทำสิ ทำคงที่ได้ ๓ วัน ๔ วัน ถ้าเอ็งทำมากกว่านั้น มันจะคงที่ได้มากกว่านั้นไหม
ถ้ามีมากกว่านั้นเห็นไหม วันนี้เอ็งได้สมาธิมา เอ็งสร้างมันมา เอ็งมีความสุขมากเลย เอ็งมาทำบุญ เอ็งเห็นกูพูด อู้หู ฟังอะไรก็เข้าใจไปหมดเลย มันดีไปทุกอย่างเลยเห็นไหม เพราะฐานมันดี พอจิตมันเสื่อมนะ หลวงพ่อเทศน์น่ะหยุดสักทีสิ รีบกลับบ้าน เบื่อตายห่าแล้ว เห็นไหม มันไปต่างตรงนั้นเห็นไหม เราจะบอกว่าสมาธิเป็นฐาน พอมันเป็นฐานแล้วเห็นไหม กรรมฐาน ฐานที่ตั้งของแห่งการงาน หลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้าฉลาดมาก
เราถึงบอกว่า เราเปรียบเทียบว่า นักกีฬานี่มันต้องมีสนามซ้อมของมัน คนทำงานต้องมีออฟฟิศ ต้องมีสถานที่ทำงาน เราจะฆ่ากิเลสมันต้องมีที่ทำงาน ฐานนี่ไง แล้วเขาปฏิเสธตรงนี้กันน่ะ แล้วมึงทำอะไรกัน กูเปรียบเทียบ โอ๋..เยอะมากนะ เป็นบัญชีเปิด บัญชี..ไม่เปิดบัญชี มึงไม่มีบริษัท เนี่ยๆ ฐานของมันน่ะ ข้อมูลของมันน่ะ นี่ตรงนี้เป็นสมาธิ เป็นสมาธิแล้ว เอ็งทำอะไรต่อไปล่ะ เอ็งมีออฟฟิศนะ แล้วเอ็งไม่ทำอะไรเลยนะ ออฟฟิศมึงร้างนะมึง สมาธิเกิดขึ้นมาแล้วนะ เป็นสมาธิ สมาธิตั้งมั่นๆ ตั้งมั่นให้มันร้างหรือ
โยม ๓ : หลวงพ่อแล้วอย่างนี้ เราก็ดูอย่างเดียว
หลวงพ่อ : ให้มันมีกำลังใช่ไหม สมาธิคือสมาธิ แต่สมาธิพอมันมีกำลังแล้วนี่เราออก ออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญาได้ตลอดเวลา
โยม ๓ : เวลาเขาบอกว่าให้ดูอย่างเดียว ก็คือว่ามันเหมือนเราดูหนังอย่างนี้ ดูโทรทัศน์นี้ มันมีเรื่องอะไร เราก็คือผู้ดู เราอย่าไปรวมกับเขา อย่าไปเศร้าโศกเสียใจ ถ้าเราไปบวกเมื่อไร ก็เหมือนกับว่าจิตส่งออกอย่างนี้หรือเปล่า
หลวงพ่อ : ไม่..ถ้าจะส่งออกนะ มึงดูเขาก็ส่งออกไปแล้ว มึงไม่ส่งออกมึงจะรู้ภาพนั้นได้ไง
โยม ๒ : แต่เราดูอย่างนี้มันไม่บวกกับทุกข์มันไม่มี
หลวงพ่อ : บวกไม่บวกนั่นอีกกรณีหนึ่ง บวกไม่บวก มันไม่เกี่ยวกับคำว่าส่งออกหรือไม่ส่งออก ถ้ามันส่งออกต้องไม่รู้อะไรเลย ถ้ารู้ก็ส่งออกแล้ว นี้ส่งออกแล้วเราจะไปกั้นๆ ไว้ กั้นไว้อะไร แล้วส่งออกไปแล้วมันต้องพิจารณาเลยสิ ถ้ามีสติใช่ไหม เอ็งอย่างที่เอ็งพูดเมื่อกี้
ถ้าเอ็งมีสติ เอ็งส่งออกไปเอ็งก็รู้ว่าส่งออก เอ็งรู้เท่าทันตัวเองนี่มันมีโอกาสแล้ว แต่ถ้าเผลอนะ ไปหมดแล้ว นี่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องไป..อย่างที่เอ็งว่าเป็นวิทยาศาสตร์เลย ต้องเป็นอย่างนั้นๆ ไอ้อย่างนี้มึงตั้งระบบขึ้นมา แล้วเอ็งจะเดินตามนั้นนะ เอ็งก็เป็นหุ่นยนต์ไง พอทำเป็นหุ่นยนต์แล้วจิตเอ็งก็ไม่ได้อะไรละ ไม่เป็นปัจจุบันแล้วนะ เราถึงดูถูกมากนะ ไอ้ปล่อยวางๆ เนี่ย
โยม ๓ : มันก็เป็นผู้ดูอย่างเดียวแล้ว..
หลวงพ่อ : ผู้ดูไม่มีปัญญา
โยม ๓ : เรารู้เราถึงไม่ตาม ถ้าไม่รู้เราก็ตามไปแล้ว
หลวงพ่อ : ก็บอกถ้ากูพูดอย่างนี้ เหมือนกับพูดเรื่องอภิธรรมตั้งแต่ตอนเริ่มต้น เด็กอ่อนไง พอมันคลานได้เก่งแล้ว มันต้องนั่งเองนะ มันจะยืน แล้วมันจะวิ่ง ถูกต้อง เอ็งถามนี้ถูก ถูกระดับหนึ่ง แต่เอ็งเวลาพูดกับเรานี่ เราต้องการให้มันสูงกว่านี้อีกไง ถูกในระดับหนึ่ง แล้วทำไปอีก ทำไปอีก มันจะเห็น แยกค่า แยกความเป็นไป แล้วจะแยกว่า อ๋อ..เห็นอาการ เห็นใจออกไปเลย ออกไปยึดมันเห็นอย่างนี้ แล้วถ้าหดเข้ามาจะเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าหดมาอยู่อย่างนี้ละ
แล้วถ้าหดอย่างนี้ กำลังมันสะสมอย่างไร มันชำนาญขึ้นไปเรื่อย มันต้องออกบริหารจัดการ ถ้าออกไปนี่วิปัสสนา ออกที่จิตมันออกอย่างนี้ เนี่ยธรรมจักร จักรเคลื่อน มึงจะเห็นเลยล่ะ ภาวนามยปัญญา ธรรมจักรจักรที่ฆ่ากิเลส เห็นเองนะมึง สันทิฏฐิโกนะมึง ไม่ต้องรอพระพุทธเจ้าพยากรณ์ ไม่ต้อง ผลัวะ! ตรงนี้ แต่ถ้าเราออกไปอย่างนี้ปั๊บ เอ็งก็ไปดูที่นั่น ดูที่นั่น มันเป็นขั้นตอนของมัน ถูก..
ถูกว่า ปฏิบัตินี่ถูกไหม ถูก.. ก็อย่างที่ว่า รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เห็นไหม เห็นรูป นั่นน่ะมาร บ่วงกับบ่วงมันจะล่อเราไปละ แล้วเราทันเห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่เรา เราเป็นเอกเทศนะ ทีนี้เอกเทศ เอกเทศออกไป เพื่อหามรรค หาปัญญาเราเกิดมาอีกชั้นหนึ่งเห็นไหม มันต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ช้าๆ ใจเย็นๆ อย่ารีบร้อนนะ พอบอกว่าผิดเราไปเลย ปุ๊บไปเลย จะเอาใหญ่เลย ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำไป
ถ้าเราไปตั้งกระบวนการแล้ว แล้วต้องให้เป็นอย่างนั้นๆ ปั๊บ มันเป็นโลกเกินไป เราตั้งสติไว้ แล้วถ้าทำอย่างนั้นถูกไหม ถูก แล้วถ้าทำต่อไปล่ะ พอเราบอกว่าอย่างนี้ถูกปั๊บ มันตายตัวใช่ไหม เราก็อยู่แค่นี้เอง ขยับไม่ได้ ขยับหลวงพ่อบอกว่าผิด แต่ความจริงถูกระดับหนึ่ง แต่กระบวนการที่จะพัฒนายังมีไปมากกว่านี้ พอมาถามหลวงพ่อ ถูกไหมถูก.. แล้วพอมันเปลี่ยนแปลง อ้าว..หลวงพ่อ ไหนว่าถูกไง ทำไมมันเปลี่ยนอีกล่ะ อ้าว..ก็ถูกตรงนั้น
ที่หลวงตาพูดเมื่อกี้ บ้าอันหนึ่งเห็นไหม บ้าอันหนึ่ง เวลาทำอย่างนั้นถูกไหม ถูก.. แต่ถ้าพัฒนาไปแล้ว ไอ้นั้นก็บ้าอันหนึ่ง เพราะไม่ติดอันนั้น หัดวาดภาพ ภาพแรกสวยไหม สวยฉิบหายเลย พอภาพที่สอง สวยกว่าภาพแรกอีก ภาพต่อไป กูชำนาญขึ้นสวยขึ้นเรื่อยๆ เอ็งจะเอาภาพที่หนึ่ง ที่สองที่สามล่ะ ฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวภาพมึงจะสวยขึ้นมามากกว่านี้ ผลงานจะดีมากกว่านี้ฝึกไปเรื่อยๆ
เราถึงได้พูดว่า สติปัฏฐาน ๔ ผิดหมด! ผิดเพราะจิตมันเริ่มต้นผิดหมดล่ะ แต่ถ้ามันพัฒนาขึ้นไปแล้ว มันถูกตรงจิตเราถูกต้อง ถูกหมดเลย เวลาเราคุยกับเอ็งอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างนี้ พระที่ปฏิบัติส่วนใหญ่ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นข้อเท็จจริงนะ แล้วเวลาปฏิบัติแล้ว เราพยายามทำไป อย่างที่ขึ้นมานี่ใช่ไหม บางทีมันยึด ขึ้นบันได บันไดลิง มึงอย่าประมาท ตกตายห่าเลยนะ ต้องจับให้มั่น ค่อยๆ ปีนขึ้นไป ปีนขึ้นไป เดี๋ยวมันจะขึ้นไปถึงยอดเลย มันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ นี่ธรรมะปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ต่อมา
โยม ๒ : จะขอถามเรื่องปฏิฆะอีกเรื่องหนึ่งครับ พระอาจารย์
หลวงพ่อ : มาดูแบตมันบ่ายโมงแล้ว เอานี่ให้จบเลย
โยม ๒ : เรื่องปฏิฆะ คือของพระอาจารย์นี่ ผมฟังแล้วผม
หลวงพ่อ : ได้เหตุผลไหม พูดถึงเหตุผล
โยม ๒ : ได้ครับ แต่ผม.. คือที่พระอาจารย์บอกว่าเป็นสเป็ค แล้วจะทำอย่างไร
หลวงพ่อ : ไม่ ไม่ต้องทำอย่างไร ตอนนี้เราภาวนาของเราไป ไอ้คำว่าสเป็คน่ะ ปฏิฆะ กามราคะ เวลาเราเทศน์นี่นะ มันมีเหตุมีผล เราจะเทศน์ให้เห็นภาพชัดเจน แต่! แต่ถ้าเป็นแง่มุมของจริตนะ มันไม่ออกอย่างนี้ก็ได้ อันนี้คำว่ากามราคะนี่มันเกิดจากอะไรล่ะ มันต้องกามราคะ ปฏิฆะ ปฏิฆะคือขัดข้องหมองใจ พอขัดข้องหมองใจมันถึงเกิดโทสะ
แต่นี่มันกามราคะ มันก็เกิดจากสุภะ เกิดจากความพอใจ นั่นคือสเป็คไง ถ้าไม่มีสเป็คมันจะเกิดกามราคะได้อย่างไร โทษนะ อย่างที่เขาชอบเพศเดียวกันอย่างนี้ แล้วเอาเพศตรงข้ามไป เขาไม่เอานะ เขาไม่เกิดกามหรอก เขาว่าชะนีด้วย ก็เขาไม่ชอบผู้หญิง เขาว่าชะนี ไม่เอาน่ะ เห็นไหม เขาไม่เห็นเกิดกามเลย แล้วถ้าบอก ถ้าผู้หญิงอยู่ตรงข้ามแล้วมันเกิดกาม แล้วพวกนั้นเขาชอบเพศเดียวกัน ทำไมเขาไม่เกิดกามล่ะ เพราะปฏิฆะ ข้อมูลของเขา สเป็คเขาไม่เหมือนเราไง
โยม ๒ : แสดงว่าปฏิฆะนี่ มีทั้งสุภะและอสุภะ
หลวงพ่อ : แน่นอน คำว่าข้อมูลหลักฐานเท่านั้นเอง มันยังไม่ได้ออกมาเป็นรูปแบบอะไรอีก เพราะกิเลสมัน โอ้..เวลามันออกมาแล้ว อย่างเช่น เราต้องการอะไร มันต้องมีตัวรับตัวแปรเยอะแยะเลย ก็อย่างขันธ์ ๕ นี่ สัญญา สังขารนี่ปรุงแต่ง แล้วปรุงแต่งเรื่องอะไร อ้าวปรุงแต่งเรื่องอะไร ขันธ์ ๕ เนี่ย
โยม ๒ : อย่างนั้น ชอบหรือไม่ชอบ
หลวงพ่อ : ร้อยแปดเลย
โยม ๒ : แล้วครอบจักรวาล
หลวงพ่อ : ครอบจักรวาล แล้วถ้ามีสมาธิเข้ามาเห็นไหม มันมีฐานขึ้นมา ถ้ามันมีฐานขึ้นมา เวลาออกมามันถึงเป็นธรรม เพราะเราไม่มีฐานของสมาธิ นี่สมาธิสำคัญมากเลย ถ้าไม่มีสมาธินะ มันคิดไปตามธรรมชาติของมันน่ะ ถ้ามีสมาธิมันยับยั้ง เพราะตัวสมาธิเห็นไหม สำนึกตน รู้จักตนเอง เฮ้ย.. มึงคิดชั่วนะ มึงห้ามคิด แล้วคิดสิ ลุยเลย แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ กูถูกคนเดียว กูถูกทั้งนั้น กิเลสเอาไปกินหมดเลย
เหมือนกัน นี้โดยหลักพระพุทธเจ้าบัญญัติมาอยู่แค่นี้ไง แต่ถ้ามันกระจายออกไป โอ้โฮ.. พูดอีกห้าปีไม่จบ นี่ก็ถือว่า สมมุติบัญญัติไง ถ้าพูดสมมุติกัน สมมุติจนตาย บัญญัติไว้แค่นี้ นี่บัญญัติข้อเท็จจริงนี่พระพุทธเจ้า พระเทวทัตทำไม่ได้ บัญญัติอย่างนี้ เราคุยกันที่บัญญัตินี่ สมมุติบัญญัติ บัญญัติก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่สมมุติของพระพุทธเจ้า สมมุติให้เห็นเราสื่อความหมายกัน สมมุติบัญญัติ วิมุตติ
นี่ถ้าสมมุติมันก็ ภาษาต่างๆ ร้อยแปด บัญญัติไป ดูสิ พระท่านเป็นเถรวาทนะ ไปอยู่ที่ไหนก็สวดบาลีเหมือนกันหมด นี่บัญญัติของพระพุทธเจ้า บาลีคืออะไร บัญญัติไป อันนี้สื่อสารกัน แล้วพ้นจากนี้ไปล่ะ ถ้ายึดบัญญัติอยู่น่ะ บัญญัติก็สมมุติอันหนึ่งนะมึง พระพุทธเจ้าสมมุติขึ้นมาให้เราคุยกันนะ เป็นบัญญัติภาษาให้เราคุยกัน แล้วเป็นข้อเท็จจริงไปอีกเรื่องเลย จบ เอวัง