เทศน์เช้า

โปรดสัตว์

๒๙ ส.ค. ๒๕๔๓

 

โปรดสัตว์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกโปรดสัตว์ ตอนเช้านี่ออกโปรดสัตว์ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกโปรดสัตว์เพราะว่าท่านโปรดสัตว์จริงๆ โปรดสัตว์เพราะใจอันนั้นมันบริสุทธิ์ โปรดสัตว์ เห็นไหม โปรดแล้วสัตว์ได้บุญหมด พระอริยสาวกออกโปรดสัตว์ นั่นก็โปรดสัตว์ ครูบาอาจารย์ออกโปรดสัตว์ โปรดให้สัตว์ได้บุญกุศล ให้สัตว์ไปเกิดที่ดี

แต่พระในปัจจุบันเรานี่โปรดสัตว์ เห็นไหม โปรดทั้งสัตว์ โปรดทั้งเขาด้วย โปรดทั้งตัวเองด้วย เพราะตัวเองยังข้องอยู่ ต้องโปรดตัวเองด้วย เพราะโปรดตัวเองมันได้ดำรงชีวิตอยู่ไป นี่โปรดสัตว์

สัตว์เป็นผู้ข้องอยู่ เรายังข้องอยู่ในสัตว์โลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีสิ่งใดข้องในหัวใจ ใจนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นเนื้อนาบุญของโลกที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถ้าทำบุญกุศลจะได้บุญกุศลมาก นั้นน่ะโปรดสัตว์อย่างนั้น อันนั้นถึงว่าโปรดสัตว์

อันนี้โปรดสัตว์ เห็นไหม เราทำบุญกุศลเพื่ออะไร เวลาตายไป เกิดมาแล้วมาสร้างสม เวลาตายไป มีผู้ที่ว่าสืบต่อทำบุญกุศลให้ แต่อันนั้นเป็นสายกรรมที่ทำไป เราเกิดมาแล้ว เราทำของเราเอง บุญกุศลของเราเอง เราสร้างสมของเราเอง

เราโปรดสัตว์ เห็นไหม โปรดสัตว์คือโปรดเราก่อน เราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง สัตว์ที่ข้องอยู่ในโลกนี้ โปรดเราแล้วเราเป็นของเราไปได้ ไปพร้อมกับการไปของเราเอง ไม่ต้องรอให้ใครเขามาโปรด ไม่ต้องรอให้ใครเขามาส่งเสียออกไป แต่อันที่ส่งเสียกันนั้น มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นอันดับ ๒

อันดับ ๑ เกิดขึ้นจากเราเอง เห็นผลจากภายนอก คนอื่นอุทิศส่วนกุศลให้ เราต้องรอรับจากเขา แล้วมันยังเป็นว่าต้องรอด้วย ถ้าใจเขาเป็นกุศล ใจเขาคิดถึงเรา มาถึงเรา ใจเขามาไม่ถึงเรา มาไม่ถึงเรา แต่ถ้าโปรดตัวเอง เห็นไหม โปรดสัตว์ ถ้าโปรดได้ก่อน โปรดสัตว์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อาสวักขยญาณ”

พระในสมัยพุทธกาลว่า “สิ่งใดดีที่สุด”

“อาสวักขยญาณ”

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะพูดว่า “สิ่งใดดีที่สุด สิ่งใดดีที่สุด”

“อาสวักขยญาณ”

เราโปรดจนเราสิ้นอาสวะขัยออกไป สิ้นสุดของความหมุนเวียนของเชื้อ ของสิ่งที่พาให้เกิดให้ตาย เราโปรดตรงนั้น นี่โปรดสัตว์ถึงที่สุดแล้ว โปรดนี้สำคัญที่สุดเลย สัตว์คือสัตว์ผู้ที่ข้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้ข้องอยู่ เพราะว่าอาสวักขยญาณ นี่ไม่มีสิ่งที่ข้องอยู่ สิ่งที่เกาะเกี่ยวอยู่นี่มันหมดไป

สิ่งที่ข้องอยู่ สิ่งที่เกี่ยวอยู่ อันนี้สิ่งที่ข้องอยู่ สิ่งที่เกี่ยวอยู่มันยังมีอยู่ มันเกี่ยวอยู่ มีอยู่ เราก็ทำสิ เกี่ยวอยู่มีอยู่นี่ ให้เกี่ยวอยู่มีอยู่ในทางฝ่ายดีไง ถ้าเราทำ คิดถึงเป็นฝ่ายดี มันจะกลับเข้ามาฝ่ายดี เจตนาที่เป็นฝ่ายดี ดีเข้ามาตลอด ดีเข้ามาตลอด ถ้าเจตนาเป็นฝ่ายดี ดีเหมือนกัน แต่ดีของใคร ถึงต้องมีศีลมีธรรม เห็นไหม

ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาว่าดีของใคร ถ้าดีของเรา เราเอาเราเข้าไปบวก เราว่าเป็นความดีของเรา ความดีของเรา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานธรรมไว้แล้ว บอกว่าเป็นผู้ชี้ทางธรรมนี้ให้ไปถึงที่เป้าหมาย ถ้าชี้ไปถึงเป้าหมาย คนเดินถึงก็มี คนเดินไปกึ่งกลางก็มี คนไม่ก้าวเดินเลยก็มี

เขาบอก ความคิดเขาฉลาด เขารักตัวเขาเองทั้งหมด แต่ทำไมก้าวเดินไปไม่ถึง เพราะที่ว่าตัวเองคิด ตัวเองว่าเป็นความถูกต้องไง ถึงว่าดีนี่ดีของใคร? ดีของเราเองมันมีความเห็นของเราเองบวกเข้าไปด้วยในความดีของเรา พอความดีของเราบวกกับความดีที่ว่าเราดี แต่มันเป็นความเห็นของเรา ไม่ใช่ดีในศีลในธรรม ถึงต้องเอาศีลธรรมนี้มากั้นกลางไง ดีอยู่ในความองอาจกล้าหาญในธรรมในวินัย องอาจกล้าหาญนะ ต้องกล้าหาญในธรรม ไม่ใช่กล้าหาญแบบเราคิด ถ้ากล้าหาญแบบเราคิด เราจะรังแกใครก็ได้ นั้นเป็นความกล้าหาญของเรา

กล้าหาญในธรรม เห็นไหม คนที่นิ่มนวลอ่อนโยนอ่อนหวาน แต่ว่าความเข้มแข็งของหัวใจนี่กล้าหาญ คือข้างนอกเรียบร้อยไง ข้างนอกเรียบร้อย ข้างนอกยอม เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน แต่ในความเห็นของภายในนี้องอาจกล้าหาญ องอาจกล้าหาญในการต่อสู้กับตนไง ความเห็นของเรามันอยากจะสะดวกอยากจะสบายทั้งนั้นนะ อยากจะไปคล่อง ไปมาง่าย แต่การสะดวกสบายมันจะได้ผลอะไรขึ้นมา? มันก็ได้ความมักง่าย ความไม่จริงไม่จัง

แต่ถ้าเราพยายามเข้มแข็งในหัวใจ ดูสิ อย่างการลุกการนั่งไป การขยับเขยื้อนของเราไป นี่ฝึกไปจากนั่น อยู่กับครูบาอาจารย์มา นี่ฝึกนะ ฝึกตั้งแต่ว่าไม่ให้อยู่ติดที่ไง ให้ลุกเร็วไปเร็ว คือว่าถ้ามันติดที่แล้ว ดูสิ อย่างการนอน ยิ่งนอนมากมันยิ่งอยากนอนไปเรื่อยๆ นะ ไม่มีอิ่มหรอก การนอนนี่ มันก็เหมือนเราทำ อยากสะดวกสบาย ยิ่งสะดวกสบายขนาดไหน มันก็อยากจะไม่ต้องทำอะไรเลยนะ ให้อยู่เฉยๆ แต่อยู่เฉยๆ แล้วมันก็ทุกข์ คนมองไม่ออกตรงนี้ไง ตรงที่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วมันรำคาญไง

คนถ้ามีงานทำนี่เหนื่อยในงานมาก ทุกข์มาก คนที่ทุกข์ยากนี่ พยายามทำการทำงานนี่มีความทุกข์มาก อยากจะพักผ่อน นี่พักผ่อนได้ เพราะอะไร เพราะมันมีสิ่งเปรียบเทียบกับความทุกข์อันนั้น แต่ถ้าเราไม่มีอะไรทำเลย อยู่เฉยไปเรื่อยๆ จนรำคาญนะ จนผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ไปถึงบอกไม่อยากอยู่ อยากจะมีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไป

นั่นเพราะว่าเราไม่เห็นตรงนั้นไง เราอยาก อยากของเรา แต่อยากถึงที่สุดแล้ว มันไม่พอหรอก กิเลสนะ ความอยากของเรา อยากสะดวกอยากสบาย อยากมีความสุข มันอยากเฉยๆ แต่มันเป็นความเห็นผิด

นี่ถึงบอกปัญญาของเรามันเป็นเท่านี้ เราถึงต้ององอาจกล้าหาญในธรรมในวินัย เห็นไหม มันจะมีความทุกข์ยากความลำบากมากเพื่อดัดตน การดัดตน มันไม่ใช่เข้าไปถึงว่าความสุขความสบายที่เราคาดหมาย มันจะเป็นความสุขความสบายตามสัจจะความจริง คือมันปล่อยวางได้ตามความเป็นจริง ถ้าเราทำตามธรรมตามวินัย ทำตามศีลแล้วมีสมาธิขึ้นมา ความสุขเกิดขึ้นจากความเป็นจริง นี่โปรดสัตว์

โปรดสัตว์จากข้างนอก เห็นไหม เราโปรดสัตว์จากข้างนอก โปรดสัตว์จากข้างใน เราโปรดตัวเราเอง บุญกุศลเราก็ทำเพื่อตรงนี้ไง เพื่อความสุขจริงจากภายในหัวใจของเรา ความสุขจริงมันจะเกิดขึ้นมาจากภายใน

ความสุขจริงกับความสุขจอมปลอม ความสุขที่เราคิดว่าจะมีความสุขความสบายอันนั้น มันเป็นความสุขจากอารมณ์มั่นหมาย อารมณ์มั่นหมายนี่มันเป็นเงาของใจ พอเป็นเงาของใจ นี่ความคิดของเรา เห็นไหม เป็นความคิดของเรา มันอยู่ที่อาการของจิต ไม่ใช่ตัวจิต แต่ถ้าเราฝึกหัดดัดตน มันก็ฝึกหัดดัดตนตรงที่เป็นอาการของใจ แล้วมันจะเข้าถึงตัวใจได้ เข้าถึงตัวใจคือมีความสุขแท้ไง พอความสุขแท้อันนี้เกิดขึ้นมา คุณค่าของศาสนามันจะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ คุณค่าของศาสนาเกิดขึ้นพร้อมกับคุณค่าของใจดวงนั้น

คุณค่าของเรา นี่โปรดสัตว์ ถ้าคุณค่าของใจดวงนั้นเกิดขึ้น ความเห็นความจริงของตัวเองเกิดขึ้น มีฐานกำลังของตัวเองเกิดขึ้น คุณค่ามันเกิดขึ้นมา มันก็หมุนไปอีก นี่มันดัดตนไปเรื่อย โปรดสัตว์ๆ ของเราขึ้นไปเรื่อยๆ การโปรดตนของตัวเองขึ้นไป นี่มันถึงเป็นไปตามสัจจะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้

ถ้าเราเชื่อธรรม เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นครูของเรา แล้วพระอริยสาวกต่างๆ ที่เป็นพยานยืนยันกันไป ยืนยันกันไปข้างหน้านั้นเป็นความจริงไปข้างหน้านั้น เราตามความจริง เราตามครูบาอาจารย์ไป มันจะทุกข์จะยาก ทุกข์ยากทั้งนั้น ความทุกข์ยากเพื่อจะดัดตนนะ มันทุกข์ยากเพราะมันไปดัดอาการของใจตัวนี้ไง

แต่ถ้าเราพอใจของเรา ปัญญามันต่างกันตรงนี้ ถ้าเป็นปัญญาของเรา มันพอใจ อันนั้นเป็นว่าปัญญาของเรา เป็นความเห็นของเรา อันนี้เป็นความถูก คิดว่าเป็นปัญญาไง นี่ความเห็นของตน ความกล้าหาญของตนแล้วกล้าหาญเข้าไปเรื่อย มันจะเสียหายไปเรื่อยๆ เพราะเป็นความเห็นของตน ไม่มีใครการันตี ไม่มีใครรับรอง

แต่ถ้าเป็นความเห็น ดัดตนในธรรมนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับรองด้วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้นำด้วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติ ถึงเป็นผู้ที่ถึงวิมุตติสุขก่อนด้วย แล้วพระอัครสาวกต่างๆ เป็นพยานต่อไปข้างหน้า อันนี้เป็นพยานยืนยัน เราถึงมีความเชื่อมั่นอันนี้ ถ้าเรามีความเชื่อมั่นอันนี้ เราก็มีศรัทธา พอมีศรัทธาเราก็พยายามจะดัดตนได้ ถ้ามีศรัทธาขึ้นมา มันเป็นไปได้ ถ้าไม่มีศรัทธา นี่ความเชื่อ ความเชื่อต้องมีปัญญาด้วย ความเชื่อว่าศรัทธาๆ

สักแต่ว่าทำ ทำกันอยู่นี่สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าทำไปเพื่อจะว่ามันจะเป็นไป แล้วมันไม่เป็นไป พอมันไม่เป็นไป มันก็เป็นความทุกข์ มันก็กลับมาย้อน เห็นไหม นี่อาจารย์ว่า “หมาบ้า” หมาบ้ามันย้อนกลับมากัดศาสนาไง กัดศาสนาหมายถึงว่า “เราทำคุณงามความดีตลอดทำไมไม่เห็นมีผลเลย เราทำคุณงามความดี” นี่ไปกัดตัวศาสนาไง ไปกัดตัวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หมาบ้าคือเรา ความเห็นผิดของเรา “เราทำแล้วไม่ได้ผลประโยชน์” ถ้าความคิดอย่างนี้เรียก “หมาบ้า” มันกัดไม่เลือก กัดแม้แต่ทฤษฎี กัดแม้แต่ธรรมที่ว่าเป็นสุตมยปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าจะไม่ให้ผลกับเรา “เราทำความดีของเรา แล้วเราไม่ได้ผล” นี่หมาบ้ามันกลับมากัดตรงนั้น มันไม่เห็นคุณค่าว่าอำนาจวาสนาบารมีของเราไม่ถึง หนึ่ง เราทำไม่ถึงเหตุ เหตุของเราไม่เพียงพอ ถ้าเหตุของเราไม่เพียงพอ ผลมันจะเกิดมาจากไหน ถ้าเหตุของเราเพียงพอนะ เหตุและผลรวมกันแล้วเป็นธรรม มันไม่มีเหตุ มันจะเอาแต่ผล เหตุไม่มีเลย เหตุไปคนละเรื่องเลย แต่ผลนี่ต้องการผลดีๆ

ถ้าเหตุมันสมควรแก่ผล มันก็จะเป็นผลขึ้นมา เหตุผลรวมแล้วเป็นธรรม มันก็จะให้ความถูกต้องขึ้นมา พอความถูกต้องขึ้นมา มันก็เอาความเข้าหลักธรรม พอหลักธรรม ใจมันก็เป็นไป พอใจเป็นไป มันก็เป็นพยานยืนยันขึ้นมากับใจตัวเอง เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะใจดวงนั้น ไม่ใช่เป็นหมาบ้า

หมาบ้ามันไม่คิดอย่างนั้น มันคิดแต่ว่ามันทำแล้วมันไม่ได้ผล แล้วไปโทษคนอื่นๆ ไง หมาบ้ามันกัดตัวเอง มันทำลายตัวเองแล้ว บ้าจนสติไม่ดีอยู่แล้ว ยังไปกัดคนอื่น กัดศาสนา กัดทุกอย่าง นั่นคือความเห็นผิดของเรานะ

ความกล้าหาญ เวลามันกล้าหาญขึ้นมานี่เหมือนหมาบ้าตัวหนึ่ง เราจะมีความกล้าหาญของเรา ต้องกล้าหาญในความเป็นจริง กล้าหาญในธรรมของเรา แล้วเรากล้าหาญของเรา เราปฏิบัติของเราเข้ามา เชื่อมั่นตนเอง ทำตนเองขึ้นมา นี่โปรดสัตว์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดสัตว์ เพราะว่าโปรดตัวเองได้ก่อน พระอริยสาวกโปรดตัวเองได้ก่อนถึงโปรดสัตว์ แต่พวกเรายังทำไม่ได้ เราก็ต้อง...เวลาออกบิณฑบาตก็โปรดสัตว์เหมือนกัน โปรดสัตว์เป็นประเพณี ไม่ใช่โปรดสัตว์จากเนื้อหาสาระ ประเพณีว่าพระพุทธเจ้าออกโปรดสัตว์ พระออกโปรดสัตว์ โปรดสัตว์ทั้งสัตว์เขาด้วย สัตว์เราด้วย สัตว์คือเรา เราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง เราข้องอยู่ในความทุกข์ในหัวใจของเรา เราต้องโปรดตัวของเราด้วย

ถึงว่า สิ่งที่โปรดสัตว์ได้มา เป็นภิกขาจารได้มาเป็นซึ่งอาหารเลี้ยงชีวิตสืบต่อไป แล้วพยายามโปรดตัวเองขึ้นมาให้มีธรรม ธรรมอันนั้นจะเข้าไปชำระหัวใจของเรา เห็นไหม เลี้ยงทั้งปาก ปากคือร่างกาย กับเลี้ยงทั้งหัวใจ หัวใจนี้เป็นสิ่งที่พาเกิดพาตาย ถึงว่า เกิดมาแล้วถึงไม่เสียชาติเกิดไง โปรดทั้งชีวิตนี้ให้สืบต่อไป โปรดทั้งหัวใจให้ผ่องแผ้ว ให้หัวใจนี้เข้าถึงสัจจะความจริง ถึงว่า โปรดสัตว์จริงๆ ได้โปรดถูกต้องตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ใช่โปรดสัตว์แบบที่เราคิดกันไปเรื่อยเฉื่อย อันนั้นโปรดสัตว์ออกไป

ที่ว่า คิดว่าเป็นพิธีการโปรดสัตว์แล้วก็ว่าถูกต้องแล้วๆ ถ้าถูกต้องแล้ว อันนั้นมันเป็นแค่ภิกขาจาร เป็นแค่ประเพณีภายนอก แต่การทำหัวใจเข้ามานี้มันต้องดัดตนจากภายในเข้ามา มันเป็นการชนะตนนะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ จะเห็นชัดๆ ขึ้นมา

ที่ว่า เราเข้าใจแล้วเราถึงขยับเข้ามาใกล้ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจ เป้าหมายอยู่ข้างนอกนู่น ประเพณีอยู่ข้างนอก ความเห็นจริงมันอยู่ที่หัวใจ แล้วความทุกข์จริงก็อยู่ที่หัวใจ การประพฤติปฏิบัติจริงเข้ามาก็เข้าไปที่หัวใจ หัวใจนั้นชำระถึงที่สุดแล้ว หัวใจนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เห็นไหม หัวใจนี้เป็นผู้สัมผัสธรรม หัวใจนี้เป็นภาชนะรอง

ถึงว่า โปรดปากคือร่างกายนี้ กับโปรดหัวใจพร้อมกันไปๆ ก้าวเดินพร้อมกันไป ชีวิตนี้มีคุณค่า ชีวิตของคฤหัสถ์ก็เหมือนกัน เราทำบุญกุศลของเรา มันก็เหมือนกับโปรดสัตว์ เป็นผู้ให้ ให้คือให้ทาน แต่มันก็โปรดหัวใจของตัวเอง เพราะหัวใจของตัวเองเป็นผู้ให้ เป็นผู้มีเจตนา มันก็จะเข้ามาตรงนั้น นี่โปรดทั้งเขาทั้งเรา ปฏิคาหกไง พระเป็นผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ รับแล้ว เห็นไหม ผู้ให้ให้ด้วยตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ ให้แล้ว หลังให้ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ รับแล้วปฏิคาหกเกิดขึ้นมา บุญกุศลมันก็เกิดเต็มๆ ความเป็นไปมันเกิดขึ้นมาเต็มๆ เพราะมันมีหลักการ เห็นไหม บิณฑบาตเป็นวัตร

บิณฑบาตออกไปนี่โปรดสัตว์ แล้วผู้ที่มาใส่บาตรก็เหมือนกัน ปฏิคาหกเกิดขึ้น เป็นธรรมชาติที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นประเพณีภายนอก เราก็ยึดไว้เป็นประเพณีภายนอก แต่ถ้าพอมันเข้ามา (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)