เทศน์เช้า

อยู่กับบุญ

๑ ก.ค. ๒๕๔๓

 

อยู่กับบุญ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันปกติต่างกัน วันปกติเราก็ทำบุญกุศลของเราอยู่แล้ว แต่วันพระนี่ วันพระเป็นวันนัดหมายไง วันนัดหมายให้ทำบุญกุศล แล้วมันเป็นพุทธประเพณีแต่โบราณกาลมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนพระเจ้าสุทโธทนะนิมนต์ไปที่เมือง ไปโปรดบิดา แล้วว่าประเพณีของพระพุทธเจ้าทำอย่างไร เพราะพระเจ้าสุทโธทนะไม่ได้นิมนต์ไว้

ย้อนดูประเพณีของพระพุทธเจ้าทำอย่างไร แล้วว่า “อ๋อ! พระพุทธเจ้าบิณฑบาต” ทีนี้ประเพณีของพระพุทธเจ้าทำอย่างไรอยู่ ประเพณีของสงฆ์ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่มีองค์เดียว มีหลายพระองค์มา ครั้งหนึ่งในสวรรค์ที่ว่าทำบุญกับพระพุทธเจ้าไว้ แล้วลงมาใส่บาตรกับพระกัสสปะ พระพุทธเจ้าก็มีอยู่ พระสมณะโคดมยังมีชีวิตอยู่ แต่เขาลงมาใส่บาตรพระกัสสปะตอนนั้นเพราะว่าเขาได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้าองค์ต่อๆ มา

ทีนี้ว่าประเพณีวันพระ ไม่ใช่สมณโคดมนี้เป็นประเพณีของเรา เป็นพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทำมาอย่างนั้น ถึงเป็นเสมอกันไง วันพระถึงว่าเป็นวันนัดทำบุญกุศลอีกทีหนึ่ง วันพระวันเจ้า

การเกิดนะ เห็นไหม ตายไปๆ นี่ ชีวิตนี้สั้นนัก แต่ทำไมชีวิตเราเวลาเราทุกข์อยู่นี่ทำไมมันยาวนัก ชีวิตนี้ตั้งแต่เด็กมาจนเป็นผู้ใหญ่ แล้วยังต้องดำรงชีวิตอยู่ไป จนกว่าเมื่อไหร่ บางทีเบื่อหน่ายในชีวิต ความเบื่อหน่ายในชีวิต เห็นไหม ถ้ามันทุกข์อยู่ มันก็ว่าชีวิตนี้ยาวไกล เพราะมันอยากจะให้ชีวิตให้เวลามันหมดไปๆ แต่เวลามันประสบกับความสุขทำไมมันอยากให้อยู่กับเรานานๆ

แต่มองแล้วชีวิตนี่สั้นนักจริงๆ ๑๐๐ ปีนี่แป๊บเดียวเอง ดูอย่างที่ว่าในสวรรค์เขาไปเก็บดอกไม้กัน เวลาไปเก็บดอกไม้แล้วหายไป เห็นไหม ชั่วบ่ายขึ้นมาน่ะ มาเสวยชีวิตในมนุษย์นี่ ๑ ชาติแล้วขึ้นไป ตั้งแต่มาเกิดจนแก่เฒ่าตายไป ๑๐๐ ปีของเราเท่ากับ ๑ วันของเขา แล้วเราก็ไปดูอย่างพวกสัตว์ เห็นไหม อย่างพวกสัตว์ พวกแมลงนี่มีอายุแค่ ๗ วัน ๗ วันบ้าง มีอายุ ๑๐ ปี อย่างสัตว์บางชนิดมีอายุ ๑๐ ปี สัตว์บางชนิดมีอายุมากอายุน้อยแล้วแต่ชีวิตของสัตว์ การเกิดเป็นอย่างนั้นนะ แต่ของเขา เขาว่าของเขานานนะ

นี่เราก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่พลั้งเผลอในชีวิตของเรา เกิดมาเป็นมนุษย์ เหมือนกับอย่างที่อาจารย์ว่า อาจารย์ว่าเหมือนกับเห็ดมันเกิดขึ้นมา ชั่วเห็ดเกิดขึ้นมาวันสองวันมันก็โรยไปแล้ว เห็ดนะ แต่นี่ว่าเราเป็นเหมือนต้นหญ้าเกิดขึ้นมา เห็นไหม ชีวิตนี้ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะดำรงความเป็นกุศลของเราเป็นอย่างไรไง ถ้าชีวิตนี้เราเห็นว่าชีวิตสั้นนัก เราก็จะขวนขวายทำคุณงามความดีของเรา

จะพูดให้เห็นว่า เห็นโทษของการเวียนว่ายตายเกิด เรามีโอกาสจะทำคุณงามความดีแล้ว แต่เวลาคุณงามความดีทำไมเราต้องแสวงหา เราแสวงหาที่ที่เราพอใจ เห็นไหม เราแสวงหาคุณงามความดีของเราที่เราจะทำของเรา แล้วเราต้องให้ความคิดของเราดำรงเอาไว้ไง นี่เวลาบุญกุศลมันเกิดขึ้น

ความคิดของมนุษย์เราเปรียบเหมือนช้างสารที่ตกมันนะ ความคิดของเรานี่ แล้วมันเป็นไปตามอำนาจของมัน แล้วเวลาทำบุญกุศลขึ้นมา เราจะทำบุญกุศลขึ้นมา เราพยายามทำอยู่ แต่เวลาความคิดที่ว่า ความเคยใจนี่กิเลสมันเคยใจ มันอยากจะสะดวก อยากจะสบาย อยากแต่ว่าผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ

นี่ถ้าเราเห็นโทษ...ว่าโอกาสเรามีขนาดนี้ ถ้าความคิดเรามันเป็นบุญเป็นกุศล อยากทำคุณงามความดีขึ้นมาต้องทำคุณงามความดี เพราะคุณงามความดีนี้แนบไปกับใจ ใจนี่ ความคิดของเราเกิดขึ้นมาจากไหน? เกิดขึ้นมาจากใจ แล้วความคิดมันก็ดับไปที่ใจ ความคิดนี้เกิดขึ้นมาจะมีศรัทธาขึ้นมา พอศรัทธาขึ้นมา เจตนาความคิดอยากทำบุญกุศลอันนั้น เจตนาไปทำบุญกุศล เวลาเจตนาทำบุญกุศลแล้ว กิริยาการก้าวไป การสะสมการแสวงหาเครื่องไทยทานมาเพื่ออุทิศเป็นส่วนกุศลมา อันนั้นเพื่อย้อนกลับมาให้ถึงใจ

ใจคิดเฉยๆ ขึ้นมา ถ้าพูดถึงว่าเราไม่มีวาสนาบารมีจะหาของมาทำบุญได้ มันก็ว่าอนุโมทนาไปกับเขา เพราะคิดแล้วไม่มีความสามารถเป็นไปได้ นี่บุญกุศล แม้แต่ไม่มีก็สร้างบุญกุศลให้กับใจตัวเองได้ แล้วเวลามีขึ้นมาล่ะ เวลามีขึ้นมาเราแสวงหาขึ้นมา ทำขึ้นมาก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมา เห็นไหม เหมือนกับรถเรานี่เติมน้ำมันบ่อยๆ เข้า น้ำมันจะเต็มถังไป ขับเคลื่อนไปได้ตลอดเวลา อามิสทานไง ทานที่เกิดขึ้นมา อามิสเกิดขึ้นมา

เราหามา เวลาเราหามา เราสะสมมา จนใจนี้เป็นบุญกุศล มันเป็นจนเคยใจ เวลาดับไป ดับไปกับบุญกุศลนั้น ไปเกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นเทวดาแล้วก็ใช้หมดไป เห็นไหม อามิสทาน ทานที่เกิดขึ้นมาจากการที่เราสละ เราแสวงหาออกไป กับสุขที่เกิดขึ้นจากใจ ใจพยายามแสวงหา แสวงหาแล้วแสวงหาอย่างนั้นเพื่อฟังธรรม พอฟังธรรมเสร็จแล้ว ธรรมคืออะไร? ธรรมคือความปกติของใจ

ถ้าใจปกติ เห็นไหม แต่เดิมมันปกติไม่ได้เพราะว่ากิเลสมันอยู่ในใจ มันพยายามจะดิ้นรน มันจะแส่ส่ายไปความคิดของมัน เราเชื่อในศรัทธาความเชื่อ เชื่อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บอกว่า “การสละออกคือการได้มา” เห็นไหม การสละออกไปแล้ว เพราะว่าพลังงานของเราจะสละออกไปๆ เหมือนสละความตระหนี่ถี่เหนียวออกไป มันได้มาเป็นอามิส เห็นไหม

แต่ถ้าเราเชื่อขึ้นไป ลึกเข้าไปอีก เราทำความสงบของใจของเรา พอสงบใจของเรา เหมือนกับว่าใจมันเต็มอิ่มของมันโดยธรรมชาติ ไม่ต้องเติมน้ำมัน รถไม่ต้องเติมน้ำมัน รถขับเคลื่อนไปเอง เวลาจิตมันสงบขึ้นมา ความสุขอันนั้นมันละเอียดเข้าไปอีก พอละเอียดเข้าไปนี่ มันจะแนบแน่นไปกับใจได้มากกว่า ความแนบแน่นไปกับใจ ความซึ้งใจ เห็นไหม

สมบัติที่ออกไปด้วยการสละออกไปนั้นเป็นอามิสทาน เป็นเครื่องอามิส ต้องมีสิ่งที่สะท้อน สะท้อนกลับมาหาเราได้ ถึงจะสะท้อนกลับมาหาเรา แต่อันนี้ไม่ใช่สิ่งสะท้อนกลับมาหาเรา เราปิดล้อมใจของเราด้วยศีล กระแสที่ส่งออกไปนั้น กระแสให้มันอยู่กับตัวเรา พอกระแสนั้นสะสมลงไปที่ใจขึ้นมา ใจมันอิ่มเต็มขึ้นมาได้ นั่นน่ะจิตเป็นสมาธิ จิตมีหลัก จิตตั้งมั่น

พอจิตตั้งมั่น ถ้าดับขันธ์ตรงนั้น หรือถ้าไม่ดับขันธ์ตรงนั้น เราสะสมขึ้นมานี่มันเคย เราเคยไปลิ้มรสอาหารที่ไหน ที่ไหนอาหารดีเราก็อยากจะลิ้มรสนั้นอีก ใจถ้าได้สัมผัสกับสมาธิธรรมแล้ว มันจะฝังใจ ความฝังใจอันนั้นมันจะเข้ากับใจอันนั้น พอฝังใจนี่ เวลาจิตจะออกจากร่างกาย ถ้ามันมีสติอยู่ จะย้อนกลับมาตรงนั้น เกิดเป็นพรหมทันที เห็นไหม เกิดเป็นพรหมนะ ทำคุณงามความดีบุญกุศลนี้ให้เกิดบนสวรรค์ คุณงามความดีให้เกิดขึ้นเป็นพรหม คุณงามความดีออกไป สามารถชำระล้างอันนี้ได้ สามารถทำให้ใจนี้สะอาดขึ้นมาได้

ใจมันสกปรก ความสกปรกของใจคือ ความคิดที่ว่ามันคิดตามอำนาจของมัน ความสะอาดคือว่า เริ่มต้นตั้งแต่เอาความคิดนั้นล่ะ ให้มันสะอาดขึ้นมา คือว่าเป็นสัมมาสมาธิ เป็นความคิด เป็นความดำริชอบ ความเห็นชอบ ความเห็นของตัวมันเห็นแต่ตามใจของตัว ใจของตัวคิดออกไปตามอำนาจของใจแล้วว่าถูกไง นี่มันผิดผิดตรงนี้ ตรงที่ว่าเวลาคิดแล้วว่าถูก แต่ทำเข้าไปแล้วทำไมมันให้ผลออกมาเป็นลบหมดล่ะ ให้ผลกลับมาเป็นความทุกข์ เศร้าเสียใจตลอดเวลา

นี่ขนาดว่าเราอยากจะประพฤติปฏิบัติ อยากจะทำคุณงามความดี มันยังผัดวันประกันพรุ่งไป ขณะที่ว่าความดีอยู่ต่อหน้า ซึ่งๆ หน้า ที่ความคิดนี่เริ่มเปิดออกมาแล้วว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ยังทำไม่ได้เลย เพราะอำนาจของกิเลสมันเหนือกว่า เห็นไหม เรารู้อยู่ แต่เราทำไม่ได้ ทำไมเราแพ้ตัวเอง นี่เราแพ้ตัวเอง แล้วพยายามจำกัดเข้ามาๆ จำกัดเข้ามาจนกว่าเราจะสามารถต่อต้านตัวเองไว้ได้นะ

ถ้าเราพยายามบังคับใจของเรา เราต่อต้านกิเลส ต่อต้านความคิดของเรานี่ เราเพิ่งเสมอตัว ความเสมอตัวเป็นอุเบกขา ใจมันจะเริ่มไปทางไหน พยายามต้องเสริมขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องเสริมให้มาก นี่ตรงนี้สำคัญ ตรงที่เวลาจิตมันเจริญขึ้นมา ความเชื่อของเรานี่เชื่อในบุญกุศลอยู่ เราต้องเจริญของเราขึ้นไป แล้วทำของเราตลอดขึ้นไป ทำให้เป็นนิสัย

อย่างที่ว่าไง สวดมนต์ทุกวันๆ ทีแรกมันไม่อยากจะสวดมนต์ทุกวัน พอสวดเข้าไปๆ พอสวดมนต์ขึ้นมาแล้วนี่ ถ้าขาดไปมันรู้ว่าการขาดไป ความขาดไปน่ะมันเริ่มแปลกประหลาด จากแต่ก่อนการฝืนทำ ทำยากนะ แต่ถ้าทำจนเคยชินแล้ว ถ้าไม่ทำมันก็เห็นว่าขาดแคลนอะไรไปอย่างหนึ่ง เห็นไหม ใจเราถ้าเป็นบุญกุศลขึ้นมา เราพยายามเสริมขึ้นมาๆ เสริมขึ้นมาเพื่อจะให้มันยืนอยู่ได้ ให้ใจนี่ทำโดยธรรมชาติของมัน

เวลาทำโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมัน มันทำกันไป นี่แรงต่อต้านมันจะสงบเบาตัวลง ความต่อต้านนะ กิเลสคือการต่อต้านใจ กิเลสมันต้องการให้เป็นไปอำนาจของมัน เห็นไหม ถ้าทำความชั่วหรือทำความผิดพลาดออกไปนี่กิเลสมันชอบใจเพราะอะไร เพราะทำสิ่งนั้นคือกรรม กรรมสะสมลงที่ใจ พอกรรมสะสมลงที่ใจ มันก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปตามอำนาจของกรรม กิเลสมันก็อยู่อาศัยไปพร้อมกัน

สิ่งที่เขาพอใจคือว่า เขาต้องอาศัยหัวใจของสัตว์มนุษย์เป็นที่อยู่อาศัย แต่เวลาชำระกิเลสไป จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระกิเลส ชนะกิเลสขึ้นมา จนเย้ยพญามาร “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เธอเกิดบนหัวใจของเราอีกไม่ได้แล้ว” เดี๋ยวนี้มองเห็นไง ความดำริ ใจเรานี่ก่อนเริ่มความคิด เราไม่รู้เลยว่ามันคิดมาจากไหน คิดอย่างไร ไม่เคยเห็นความคิดของตัวเอง แต่เราพยายามฝึกฝนเข้าไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าความฟุ้งซ่าน ความคิดที่มันคิดออกไปที่เรายับยั้งไม่ได้นี่ มันเป็นความเคยใจ

แต่ถ้าเราเริ่มยับยั้งขึ้นมาได้ เห็นไหม ต้องหาสิ่งที่เข้าไปแลกเปลี่ยนกันไง คือพุทธานุสตินี่ พุทโธๆ เพื่อความคิดที่เคยคิดออกไปนั้นให้มาคิดอยู่ที่พุทโธนี้ เห็นไหม เปลี่ยนไง เปลี่ยนเหมือนกับเด็ก เด็กเล่นอะไรอยู่โดยที่มันยึดอยู่ ของนั้นจะเป็นอันตรายกับหัวใจ ของนั้นจะเป็นอันตรายกับเด็ก เราก็เอาของเล่นที่เป็นคุณประโยชน์ให้กับเด็กนั้น ที่ว่าไม่มีโทษ

อย่างเช่นเล่นมีดผาหน้าไม้นี่มันจะมีโทษกับเด็ก ความคิดของเราเหมือนกัน มันคิดอยู่ตลอดเวลา มันเป็นโทษกับใจโดยไม่รู้สึกตัว เปลี่ยนพุทโธๆ เข้าไป พอเปลี่ยนพุทโธเข้าไปนี่ เปลี่ยนความคิดขึ้นมาเป็นอยู่อีกความคิดหนึ่ง เปลี่ยนความคิดออกมา ออกความคิดหนึ่ง พอความคิดนี้ไม่มีโทษนี่ เพราะว่าพุทโธแล้วตัด พุทธานุสติ เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าตลอดเวลา นี่เมตตาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาธรรม คุณวิเศษขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอาศัยอันนั้นเป็นที่พึ่งเข้ามา

พุทธะอยู่ที่ใจ พุทโธคือผู้รู้ พอผู้รู้มันอิ่มเต็มกับตัวมันเองขึ้นมา พออิ่มเต็มขึ้นมานี่เริ่มสงบลง จะเริ่มเห็นความคิดไง อ๋อ! ความคิดมันจรมา นี่ความคิดจะเริ่มเห็น เห็นความคิดของเรา ที่ว่าเริ่มต้นเราไม่เคยเห็นความคิดของเราเลย จับต้องอะไรก็ไม่ได้สักอย่างหนึ่ง แต่เราจับต้องได้

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราเท่านั้นเป็นผู้ชำระเรา

ความสกปรกในร่างกายเรา ถ้าเราไม่เข้าไปอาบน้ำชำระล้างร่างกาย ร่างกายเราจะสะอาดไม่ได้เลย นี่เรื่องเปรียบเทียบนะ แต่ถ้าเป็นทางโลก เด็กหรือว่าพวกเราไม่สบายนะ พยาบาลก็ยังชำระล้างร่างกายเราได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของใจ ใจเท่านั้นชำระล้างใจของใจตัวเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น ทางที่พูดอยู่นี่ เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา

เรื่องของทาน นี่ก็ว่าเห็นเรื่องของทานเป็นเรื่องเล็กน้อย...ไม่เล็กน้อยเลย ทานนี่ล่ะสะเทือนถึงหัวใจ เพราะหัวใจคิดแล้วถึงได้มา ทานนี่สะเทือนถึงใจ แล้วพอให้ทานไป ทานก็ขอบเขตของทาน เห็นไหม ทานแล้วก็มีศีล แล้วมีภาวนา ภาวนานี่ดัดตนเลย ดัดความคิดเลย ความคิดที่เกิดขึ้นเราดัดเข้ามา แต่ก็ต้องอาศัยทานเข้ามาใช่ไหม ทาน ศีล ภาวนา เพราะถ้าไม่มีทานเลย มันมืดแปดด้าน ความคิดนี้เป็นเราทั้งหมด เราจะยึดเรา ยึดมั่นถือมั่นของของเรา “ต้องเป็นของของเรา เราจะสละออกไปทำไม เพื่ออะไร ของเราหามาเหนื่อยยากขนาดนี้ สละขึ้นมาเพื่ออะไร”

แต่ถ้าเข้าใจเรื่องของทาน เพราะฟังธรรมเข้าใจเรื่องของทาน ทานคือการสละออก พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับว่า เรือนของเราโดนไฟไหม้อยู่ บ้านโดนไฟไหม้อยู่ ถ้าเราเอาสมบัติออกจากเรือนนั้นเท่าไร เราก็ได้สมบัตินั้นเป็นของเรา นี่สละออกไปตอนนี้ เราสละออกเข้าไปเป็นของเราๆ บุญกุศลนี้ต้องให้เป็นของเรา วัตถุสิ่งของที่เราสละออกไปไม่ใช่เป็นบุญเป็นกุศล ใจของเราเป็นผู้สละออกเป็นบุญกุศล วัตถุสิ่งของที่เราสละออกไปไม่ได้ไปสวรรค์ ใจของเราต่างหากเป็นผู้รับผลของอันนั้น ถึงว่าสื่ออันนั้นถ้าเรากล้าสละออก

แต่ถ้าไม่ได้ฟัง มันมืดแปดด้าน มันจะไม่ยอม ความไม่ยอมนั้นก็ทำให้เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ถึงว่าเกิดมาก็ตายเปล่า เหมือนกับเห็ดเกิดมาแล้วเฉาไป ร่วงโรยไปโดยที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ทั้งๆ ที่ว่าการเกิดมานี้เป็นประโยชน์มาก เกิดมาพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนเรื่อง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เรื่องตนดัดตนเลย

แต่ก่อนจะตนดัดตนได้ก็ต้องอาศัยจากข้างนอกเข้ามาก่อน อาศัยจากครูบาอาจารย์ชี้นำเข้ามา แล้วเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป ยังผิดยังถูกต้องคอยชี้นำเข้าไป จนถึงกับว่า ถูกๆๆ ถูกจนเข้าใจจริง จนปล่อยวางได้หมด ใจนั้นก็สะอาดบริสุทธิ์โดยธรรมชาติของใจดวงนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเห็นโดยธรรมชาติของดวงนั้นเอง เป็นปัจจัตตัง อิ่มเต็มแล้วต้องรู้โดยธรรมชาติของใจดวงนั้น เอวัง