เทศน์เช้า

ฐีติจิต

๘ ก.ค. ๒๕๔๓

 

ฐีติจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พูดในเทปว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเย้ยมาร เวลาท่านสำเร็จแล้วท่านเยาะเย้ยมาร “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” แล้วเราเวลาเทศน์อีกม้วนหนึ่ง เราเทศน์ว่าเวลายกย่องครูบาอาจารย์ของเราไง ยกย่องครูบาอาจารย์ของเราว่า เวลาหลวงปู่มั่นบอกเลยว่า “กิเลสเกิดจากฐีติจิต กิเลสเกิดจากความตั้งมั่น”

ถ้าอย่างนั้นแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกว่า “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” นี่ มันก็ดูว่ามันจะต่ำต้อยกว่าน่ะสิ...ไม่ใช่ ดูว่ามันไม่มีเหตุไม่มีผลเท่ากับหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นว่า “กิเลสเกิดจากฐีติจิต กิเลสเกิดจากความตั้งมั่น”

มันคนละประเด็นไง คนละประเด็นหมายถึงว่า หลวงปู่มั่นสอนปุถุชนเรา สอนพวกเรา จะสอนว่า เวลาพวกเราว่ากิเลสๆ กิเลสมันเกิดจากไหน ว่ากิเลสมันเกิดๆ กิเลสมันมาอย่างไร นี่สอนพวกเรา พวกเราจะฝ่าเข้าไปหากิเลสไง สอนคนมีกิเลสใช่ไหม สอนคนมีกิเลสว่า เวลากิเลสเกิดขึ้นนี่ มันเกิดมาจากไหน มันเป็นอย่างไร คือว่ามันไม่ใช่ว่ามาลอยๆ กิเลสมันเป็นนามธรรม มันเกิดขึ้นจากจิตเรา มีฐาน มีภวาสวะ ฐีติจิต คือจิตมันตั้งขึ้นมา มันเป็นรูป มันเป็นฐานที่ตั้ง แล้วมันก็มีการก้าวเดินออกไปจากฐานที่ตั้งนั้น นี่กิเลสมันเกิดจากตรงนั้น

แต่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ว่าอย่างนั้น ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดถึงคนที่สิ้นจากกิเลสแล้ว คือธรรมล้วนๆ คือพระอรหันต์ เข้าใจเรื่องกิเลสหมดแล้ว มันถึงไม่มี เห็นไหมว่า “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เดี๋ยวนี้เราจะดำริอีก แต่จะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดอีกไม่ได้เลย” เห็นไหม ว่าเกิดจากความดำริ คือเกิดจากความคิด

ฐีติจิตมันมีความตั้งมั่นอยู่ เพราะคนมีกิเลสอยู่ มันมีภวาสวะ มีภพ พอมีภพ กิเลสมันก็อาศัยตรงนั้นขับเคลื่อนออกมา กิเลสเอาตรงนั้นเป็นที่อยู่อาศัย แล้วมันก็ก้าวเดินออกมา อันนี้เป็นเรื่องของปุถุชน เป็นเรื่องของในโลกธาตุนี้ ใน ๓ โลกธาตุ เป็นเรื่องของจิตทั่วๆ ไป หรือจิตจะมีคุณประโยชน์ขนาดไหนก็ยังมีภวาสวะอยู่ คือว่ามีภพอยู่ คือว่ายังไม่สิ้นไป

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ว่าอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระกิเลสจนสิ้น แล้วมันไม่มีภพ มันไม่มีที่อยู่อาศัย ขันธ์นี้เป็นถึงพระอรหันต์ ขันธ์นี้เป็นนิพพาน พอเป็นนิพพานมันถึงไม่มีภพ ไม่มีที่ตั้งมั่น ไม่มีจิตตรงที่จะให้กิเลสเกิดอีกก็ไม่มี เห็นไหม สิ่งที่ว่ากิเลสจะอาศัยเป็นเชื้อสืบต่อไม่มี แล้วเวลาคิดออกมาถึงว่าดำริอันนั้น ถึงว่าจะไม่ดำริถึงกิเลสเลย เพราะมันไม่มีเชื้อ

เวลาเราเปิดก๊อกน้ำออกมาน่ะ น้ำเวลาเปิดจากก๊อกออกมา เห็นไหม ก๊อกนั้นสะอาด น้ำนั้นสะอาดทั้งหมดเลย พอน้ำสะอาดเข้ามานี่ มันออกมาจากก๊อกนั้นมันก็สะอาด แต่ถ้าก๊อกสกปรก น้ำผ่านออกมานี่ ดำริเห็นไหม ความดำริ คือน้ำผ่านออกมาจากก๊อก ความดำริดำริออกมาจากใจ ถ้าใจนั้นมันไม่มีกิเลสแล้ว ใจนั้นไม่มี ที่หมายถึงว่า “เธอเกิดจากความดำริของเรา” เกิดจากความดำริ แต่ฐีติจิตนี้มันตั้งมั่น มันเป็นธรรมชาติเลย

เพราะตัวพาเกิดพาตาย จิตนี้เป็นภวาสวะ เป็นอวิชชา เห็นไหม อาสวะ ๓ มันมีพร้อมอยู่ในหัวใจของปุถุชน จิตที่หมุนเวียนตายเวียนเกิดนี่มันมีอยู่ กิเลสสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ นี่อวิชชาก็เป็นอวิชชา อวิชชากับกิเลส เห็นไหม กิเลสเป็นกิเลสอีกอันหนึ่งอยู่ในหัวใจ มันเคลื่อนไปๆ แล้วมันก็พาเกิดพาตาย จะเกิดในภพไหนชาติไหน พอตรงนี้มันตั้งมั่นโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้วโดยพื้นฐาน แล้วพอมันมีพื้นฐาน มีพื้นฐานนี่มันเป็นเฉยๆ

อย่างเช่นเวลาเราเหม่อ เราอยู่เฉยๆ เรามองภาพหรือเราสบายใจนี่ เราไม่คิดอะไรเลย วันนี้สบายใจ สบายอกสบายใจ สบายใจมากเลย นั่นน่ะ ตรงนั้นน่ะคือตัวใจ ใจ คือความที่ว่ามันสบายอกสบายใจ แล้วเวลามันคิดดำริออกมานิดหนึ่ง นั่นก็คือว่า นั่นแหละกิเลสมันเกิดอย่างนั้น อวิชชาถึงเกิดจากฐีติจิต ถ้าเกิดจากตรงนั้น แล้วของใครของมัน ใครคิดใครออกไปก็เป็นอย่างคิด ความคิดอย่างนั้น

ถึงว่าถ้าเวลาเราคิดออกมา อาจารย์ถึงพูดไง บอกว่าเราจะศึกษามากศึกษาน้อยก็แล้วแต่ อวิชชาพาใช้นะ ความคิดของเราจะมีวิชชามากวิชชาน้อย คนฉลาดมากแต่ถ้าไม่ใช่คนดี มันก็ทำให้โลกนี้ปั่นป่วนได้ คนฉลาด คนมีไหวพริบนี่คิดพลิกแพลงมากนะ แต่ถ้าเป็นคนดี คิดอะไรนี่มันคิดดี ความคิดดีมันจะไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ถ้าจะฉลาด ฉลาดเกิดไป ฉลาดมาก ความฉลาดนี้ ไม่ใช่ฉลาดเกินไป ฉลาดโดยปุถุชน ทุกคนฉลาดหมด

แต่ฉลาดขนาดไหน เวลาคิดออกมานี่ เพราะกิเลสมันอยู่หลังความฉลาดนั้น กิเลสถึงบังคับกิเลสถึงเอาเครื่องมือที่เราเรียนมานี่เป็นเครื่องมือของกิเลสหมดเลย ใช้เพื่อ...เพราะความเห็นแก่ตัว เพราะมักได้ ความอยากได้ ความทุกอย่าง เวลากิเลสพาใช้ นี่ฐีติจิตมันเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วพอขับเคลื่อนออกมา จะเป็นปัญญาขนาดไหน กิเลสพาใช้ๆ กิเลสพาใช้ทั้งหมด เพราะเรายังไม่สามารถชำระกิเลสได้

นี่อันนี้ออกไป มันถึงว่ามันคนละประเด็น พูดถึงเรื่องของปุถุชน พูดถึงเรื่องของในวัฏวน นี่หลวงปู่มั่นพูดถึงตรงนั้น เพราะสอนพวกเรา

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนขณะนั้นท่านไม่ได้สอนใคร ท่านพูดกับตัวเอง เพราะตอนนั้นกำลังเสวยวิมุตติสุขอยู่ “มารเอย เธอเกิด...” เวลาท่านสำเร็จแล้ว แล้วนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ แล้วพออย่างนี้ ถ้ามารจะแย็บออกมา ยังเยาะเย้ยได้ เพราะมันมีความสุข คือผู้ชนะ แล้วไม่ได้พูดบอกใคร เย้ยพญามารให้พญามารคอตกเฉยๆ ไปเลย “...เกิดจากความดำริของเรา เธอจะเกิดไม่ได้อีกเลย มารจะเกิดจากใจดวงนั้นไม่ได้อีกเลย” นั่นน่ะ

แต่ถ้าในเทปเราพูดคู่กันอยู่ มันก็เลยว่า ถ้าคนฟัง คนไม่มีพื้นฐานก็ต้องบอกว่า “โอ้! หลวงปู่มั่นพูดได้ละเอียดกว่า หลวงปู่มั่นจะเก่งกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”...หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์เหมือนกันกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เหมือนกัน ความรู้เสมอกันด้วยความบริสุทธิ์ คือความรู้วิชาการนี่เหมือนกัน แต่ต่างกันด้วยบารมีของสาวกะกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพุทธะ เป็นบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ต่างกันราวฟ้ากับดิน เพราะอะไร เพราะรอบรู้โลกธาตุ หลวงปู่มั่นรู้ไปหมดนะ แต่ก็รู้ไม่ได้ถึง...

ดูอย่างที่ว่าสิ ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ระลึกชาติได้ บางคนได้ ๕๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ ๕ ชาติ ๑๐ ชาติ แล้วแต่ว่ามันมีบารมีจะมากน้อยต่างกัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีที่สิ้นสุด สาวไปไม่มีที่สิ้นสุด พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญามาก เห็นไหม นับเม็ดฝนได้ ๗ วัน เม็ดฝนที่ตกลงมา ๗ วันนี่นับได้หมดเลย คำนวณได้ขนาดว่าเม็ดฝนตกในทวีปนี้เท่าไร ลงมากี่เม็ด แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านับได้ไม่มีที่สิ้นสุด เวลาพระสารีบุตรไปพูดต่อหน้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ารับประกันไง รับประกันว่าพระสารีบุตรพูดจริง

แต่ถ้าเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ปัญญากว้างขวางกว่า ไม่มีที่สิ้นสุด นับได้ตลอดไง กี่วันก็ได้ ถ้าเกิน ๗ วันไปนี่ พระสารีบุตรจะนับ มันจะเกินความสามารถ มันต้องตั้งต้นใหม่แล้ว มีขอบเขต ความมีขอบเขตนี้คือบุญญาธิการของแต่ละบุคคล แล้วสาวกะนี่เหมือนกับลูกอาศัยพ่อแม่ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อาศัยใครเลย หาเอง ค้นคว้าเอง

ความค้นคว้าเองอันนั้นถึงว่า ปัญญานี่มากมหาศาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเลิศประเสริฐที่สุด แล้วพวกเรากราบ เห็นไหม เวลาเรากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลากราบ กราบธรรม แต่เรากราบผู้ที่ค้นคว้าธรรมด้วย กราบธรรมด้วย กราบครูบาอาจารย์ที่เป็นคนชี้นำด้วย ทำไมหลวงปู่มั่นอุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์ตลอด อยู่กับหลวงปู่เสาร์มา เห็นไหม เวลาเรื่องสมถกรรมฐานนี่หลวงปู่เสาร์สอนหลวงปู่มั่น แล้วเวลาเป็นวิปัสสนานี้หลวงปู่มั่นกลับไปสอนหลวงปู่เสาร์ นี่ครูบาอาจารย์ว่ากันมาอย่างนั้น

แล้วเวลาหลวงปู่มั่นก็ต้องเป็นครูของหลวงปู่เสาร์ ในมุมกลับ แต่เวลาถือด้วยความเคารพ ด้วยธรรมวินัยนี้ หลวงปู่มั่นนี่เคารพหลวงปู่เสาร์มาก หลวงปู่เสาร์เป็นครูบาอาจารย์ของหลวงปู่มั่น แต่ด้วยบุญญาธิการต่างกัน ด้วยความเห็นข้างในต่างกัน ปัญญาต่างกัน แต่ความเคารพก็ต้องเสมอกัน ทีนี้ว่าครูบาอาจารย์ถึงเคารพกัน เคารพผู้ใหญ่มาก เคารพผู้ที่สั่งสอนมามาก ฉะนั้นถึงว่ากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้า...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)