ความจริงชี้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราพูดถึงเวลาประพฤติปฏิบัติ เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา หลวงตาท่านบอกเลย ผู้รู้มี เวลาพูดอะไรออกไประวัง ผู้รู้เขามี ถ้าเราไม่รู้อะไรเราพูดไป ผู้รู้เขารู้ทันเรานะ ถ้าเราไม่รู้ นี้พอคนไม่รู้ก็พูดไปตามประสาไม่รู้ ยิ่งพูดภาษาไม่รู้ ความที่ไม่รู้พูดไปมันก็ผิดหมด พูดไปผิดหมด ฉะนั้นพอผิดไปแล้วเวลาจะแก้ไข มันไม่มีทางออก มันหาทางออกไม่เจอไง เราพูดไปเรื่องแชร์นิพพาน วันที่ ๘ พฤศจิกายน
ประเด็น : นี่เขาเทศน์มาวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พระอริยบุคคลมีโดยตำรา นี้นะแล้วก็นี่เป็นเทศน์ เรายังไม่เคยเห็นฆราวาสบรรลุพระอรหันต์เลย ยุคนี้มีไหม ยุคนี้จะมีพระอรหันต์ไหม ยุคนี้จะมีพระโสดาบันไหม มีโดยตำรานะ ถ้าตราบใดมีผู้เจริญสติปัฏฐาน โลกไม่ว่างจากพระอริยะเลย จากพระอรหันต์ แต่มีโดยการชี้ขาดไม่ได้ คนที่จะชี้ขาด คือ พระพุทธเจ้าเท่านั้น
หลวงพ่อ : มีโดยการชี้ขาด การชี้ขาด คือ ผู้รู้ไง นี้จะอ้างว่ามีโดยตำรา เขาว่ามีโดยตำรา
ประเด็น : ฉะนั้นพอสุดท้ายมาเห็นไหม อย่างที่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตไว้ อย่างมากก็ว่าคนนี้ภาวนาดี หลวงพ่อชม ใครว่าภาวนาดีก็ชอบไปลือว่า คนนั้นเป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคา หลวงพ่อเทศน์ว่ามีคนดี หลวงพ่อชมทุกคนว่าเป็นคนดี หลวงพ่อไม่ได้บอกว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคา ไปเข้าใจกันเองเห็นไหม
หลวงพ่อ : ไปเข้าใจกันเอง ตอนที่บอกว่า ถ้ามีโดยตำรา ทำไมไม่บอกว่า ตำราเป็นคนบอกล่ะว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา พอเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา ก็ยอมรับกันไปเอง แล้วพอตอนนี้มันโสดาบัน สกิทาคา อนาคามีโดยตำรา
มันไม่ได้หรอก โดยตำรานะ มันก็ผิดแล้ว โดยตำราผิดหมายถึงตรงไหน เราถึงเรียกร้องว่า เราจะเรียกร้อง สคบ. ไง
อย่างก.พ. ก.พ.เราไปเรียนจบมาจากเมืองนอก ถ้า ก.พ. ไม่รับ เข้าทำงานในเมืองไทยไม่ได้ สถาบันไหนก็แล้วแต่ที่มีการศึกษาต้องก.พ.ยอมรับ ถึงจะเข้ามาทำงาน เป็นข้าราชการในเมืองไทยได้ ฉะนั้นก.พ.ยอมรับทางวิชาการ มันต้องก.พ.ยอมรับใช่ไหม
นี่เหมือนกันถ้าทางวิชาการ ทางวิชาการ สัญญาจะเป็นสติได้ไหม
จำสภาวะเป็นสติโดยอัตโนมัติโดยข้อเท็จจริงมันเป็นไปไม่ได้ สติ คือ สติ สัญญา คือ สัญญา อัปปนาสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นมาจะเป็นไปได้อย่างไร อัปปนาสมาธิมันเป็นไปไม่ได้
ถ้าพูดถึงโดยตำรามันขัดแย้งกันโดยตำราอยู่แล้ว คำพูดมันขัดแย้งโดยตำรา ไอ้นี่มันปริญญาห้องแถว เป็นปริญญาห้องแถวที่ก.พ.ไม่ยอมรับ ถ้าก.พ.ไม่ยอมรับโดยตำรา โดยตำรานี่พูดถึงโดยตำรานะ เราจะแยกก่อน แยกโดยตำราคือปริยัติ แล้วจะพูดปฏิบัติทีหลัง
ถ้าโดยตำรา โดยทฤษฎี โดยตำรามันก็ต้องถูกต้องเหมือนกัน ถ้าตำราทำไมไม่เอาตำรามาขัดแย้งกัน ถ้าเอาตำรามาตรวจสอบ ก.พ.ต้องตรวจสอบสิ ตรวจสอบว่าสัญญาจำสภาวะจะเกิดสติ สัญญามันจะเป็นสติได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้
อัปปนาสมาธิ เวลาพิจารณาไปจนเป็นลงอัปปนาแล้วเกิดกระบวนการของมรรค มันเป็นไปไม่ได้ ที่มันเป็นไปไม่ได้เพราะว่า ทางวิชาการมันเป็นไปไม่ได้ไง ให้สมาคมบาลีไวยากรณ์ตรวจสอบ ถ้าโดยตำรานะ ถ้าจะอ้างตำราต้องให้สมาคมบาลีไวยากรณ์ตรวจสอบว่า สภาวะจำนี่ สัญญามันจะเป็นสติได้ไหม แล้วพิจารณาจนถึงที่สุดแล้วปัญญามันจะเกิดโดยอัตโนมัติ มันจะเป็นไปได้ไหม
หลวงพ่อ : ถ้าพูดโดยตำรานะ โดยตำราก็ต้องเอาตำราจับกัน โดยตำราก็ต้องเอาตำราเอาพระไตรปิฎกมาเช็คกันว่า ในพระไตรปิฎกพูดอย่างนี้ มันเป็นไปได้ไหม ถ้าจะอ้างว่ามันมีโดยตำราไง มีโดยตำรา มีโดยทางวิชาการ มีโดยตำรา ถ้ามีโดยตำราพระอริยบุคคลมีโดยตำรา
ไอ้มีโดยตำราไม่ต้องไปพูดถึง ตำรา คือ ตำรา ตำราเป็นตำราอยู่แล้ว
แต่ถ้าโดยข้อเท็จจริงนะ ปริยัติ ปฏิบัติ ถ้าเป็นปฏิบัติแล้ว เห็นไหมในตำราไม่มีพระอริยบุคคล ในตำราไม่มีทั้งสิ้น ในตำราเป็นทฤษฎี ในตำราเป็นทางวิชาการ
มันจะเป็นพระอริยบุคคลในหัวใจของสัตว์โลก ปริยัติ ปฏิบัติ มันจะเป็นขึ้นมาที่ใจเป็น ถ้ามันเป็นใจเป็นในตำราไม่มี ในตำราไม่มีพระโสดาบัน ไม่มีพระสกิทาคา ไม่มีพระอนาคา ไม่มีพระอรหันต์ ไม่มี ในตำราไม่มี แต่ในตำราชี้บอก ในตำราเป็นทฤษฎีบอกว่าทำอย่างนี้ๆ เป็นชื่อไง ในตำรานี้เป็นตำรา เป็นทางวิชาการ
แต่ถ้าเป็นความจริงมันเป็นในใจของสัตว์โลก โสดาบัน สกิทาคา อนาคา มันจะเป็นในใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันไม่มีในตำรา
ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์บ่อย หลวงตาท่านพูดบ่อยเลย สมาธิในตำราเห็นไหม ส.เสือ ม.ม้า สระอา ธ.ธง สระอิ สมาธิ มันชื่อ โสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ในตำราเป็นชื่อ ไม่มีเพราะมันเป็นตัวหนังสือใช่ไหม ด้วยความเคารพ คำว่า ตัวหนังสือนะ เวลาหลวงปู่มั่นเห็นไหม
หลวงปู่มั่นแม้แต่ตัวอักษร ท่านจะไว้ที่สูงมาก ท่านบอกว่าตัวหนังสือนะ มันเป็นการถ่ายทอดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ มันสื่อได้ ตัวหนังสือนะ ท่านจะบอกไม่ให้เอาหนังสือวางพื้น ไม่ให้เสมอกับพระ
แม้แต่เวลาท่านลงมาจากเชียงใหม่มาพักอยู่วัดบรมฯ แล้วพระเขาจัดห้องให้ท่านพัก ทีนี้พอเข้าไปพักในห้อง มันมีกองตำรากองอยู่กับพื้น ท่านไม่ยอมนอนเลย ท่านไม่ยอมนอน ต้องย้ายออกหมด ท่านถึงจะยอมนอน ท่านเคารพมากเห็นไหม
นี้เลยบอกว่า คำว่าตำรานี้เราเคารพนะ เราเคารพตำรา เพราะตำราเป็นธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ทางวิชาการที่ท่านตรัสรู้ขึ้นมา ท่านบัญญัติไว้ให้เราก้าวเดินเป็นทางวิชาการ แต่ข้อเท็จจริงในความรู้สึกในตำรา มันไม่มีชีวิต ในตำรา ในตัวหนังสือมันไม่มีชีวิต มันไม่มีความรับรู้อะไรหรอก แต่มันเป็นทฤษฎีใช่ไหม จะบอกว่าโดยตำรา ตำราชี้มาเหมือนตำราเป็นกฎหมาย กฎหมายมันอยู่ที่การตีความ ใครตีความอย่างไรก็ดึงให้ไปตามความเห็นของตัว
ประเด็น : บอกว่าใครจะมาชี้ขาดไม่ได้นะ สิทธิ์ขาดอยู่ที่พระพุทธเจ้าคนเดียว เราเป็นโจร เราไปขโมยของมา สิทธิจะจับโจรไม่ได้นะ ต้องพระพุทธเจ้าคนเดียว อ้าว..ก็ไปขโมยเขามา ขโมยศรัทธา ขโมยความเชื่อถือ ขโมยทุกอย่างเขามาหมดเลย แล้วเวลาตรวจสอบกัน ตรวจสอบไม่ได้
หลวงพ่อ : เวลาตรวจสอบมันต้องตรวจสอบได้สิ เวลาตัวเองไปขโมยของเขามา ขโมยมาได้ เวลาจะตรวจสอบขึ้นมาบอกตรวจสอบไม่ได้ ต้องพระพุทธเจ้าเท่านั้น โดยตำรา คำว่าตำราเป็นตำรา แต่โดยข้อเท็จจริงมันเป็นข้อเท็จจริง โดยข้อเท็จจริงนะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่แยกไว้หรอก ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
คำว่าปฏิบัติ การปฏิบัติคนเราปฏิบัติมันก็ต้องมีการผิดพลาดเป็นธรรมดา คนเราทำงานนะ คนเรามีการศึกษาจบมาแล้วมาฝึกงาน มันก็ต้องมีการฝึกงานมีความชำนาญเป็นชั้นเป็นตอนของมันขึ้นมา
พอเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติไปแล้วเห็นไหม เราปฏิบัติถ้าเรามีทางวิชาการ ทางวิชาการมันจะรองรับ ดูสิทางช่างเห็นไหม ผู้ที่จบวิศวะมาต่างๆ ที่ทางการช่าง เขาทำงานแล้วนะ จบมายังทำงานไม่เป็น กรรมกรแบกหามเขาชำนาญกว่าเขาทำงานได้นะ เขาทำได้เร็วกว่าแต่เขาไม่มีทางวิชาการรองรับ เขาทำด้วยความชำนาญของเขา
แต่ถ้าเราจบวิศวะมาเห็นไหม เราทำงานด้วย เรามาเป็นการช่าง เราลงมือทำ แต่วิศวะส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้ทำ จะใช้แต่ทางวิชาการ แล้วให้กรรมกรทำ วิศวะนี่เข้าใจเรื่องทฤษฎีหมดนะ แต่ให้ลงไปทำงานเงอะๆ งะๆ ทำไม่ถูกเหมือนกัน
แต่ถ้าจบวิศวะมานะ แล้วมีความชำนาญมากลงมือทำเองก็ได้ ยิ่งทำเข้าไปนะ มันยิ่งซาบซึ้งวิชาการ เพราะวิชาการเป็นทฤษฎีที่เราเรียนมาอยู่แล้วใช่ไหม แล้วลงไปทำมันมีรูปร่างขึ้นมา ถ้ามันมีทางวิชาการรองรับ มันทำด้วยความองอาจกล้าหาญ น้ำหนักของมัน แรงโน้มถ่วงของมัน รับน้ำหนักสิ่งที่ค้ำยันของมัน เขาทำด้วยยิ่งทำยิ่งมีความชำนาญเห็นไหม
นี้ถึงภาคปฏิบัติ ทางวิชาการ มันเป็นวิชาการรองรับ ถ้ามีรองรับ ภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัตินะ ทางวิชาการนะ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ อุปัชฌาย์ให้ไว้แล้ว
ถ้าพอมันผ่านกระบวนการนี้ไป การประพฤติปฏิบัติมันจะเหมือนกับกรรมกรต่างๆ ที่ชำนาญในการก่อสร้าง แล้วในการก่อสร้างมันเห็นการล่มสลาย ถ้าแรงโน้มถ่วง หรือความรองรับของการค้ำยันไม่ได้ มันพังหมด แต่พอมันทำมันเคยพังต่อหน้า มันมีประสบการณ์อันนี้
นี่มันก็เหมือนกับทางวิชาการเหมือนกัน ทางวิชาการโดยประสบการณ์จริงไง แล้วมันทำขึ้นมา มันเห็นผลของมัน ขนาดค้ำยัน ขนาดปูนตอนเช้ามันยังไม่แข็งตัวเห็นไหม มันยังไม่เซ็ทตัวของมัน เราไปรื้อแบบก่อน มันแตก มันร้าวทั้งนั้นน่ะ จิตของคนที่ภาวนา ถ้ามีสติ มีสมาธิ คำว่าสติ คำว่าสมาธิ มันเป็นพื้นฐาน สติต้องการในทุกเมื่อ ใน การทำงานสิ่งใดก็ต้องการสติพร้อมไปตลอดเวลา แล้วสติมันคือสติ แล้วสติมันเป็นอนิจจัง สติมันเกิดดับ แล้วสติมันมีทุกคน
แล้วเมื่อวานเขามาถามเรื่องสติ สติทำอย่างไร เราบอก สติฝึกมาโดย สติก็กำหนดสตินี่แหละ สติโดยธรรมชาติของคนมีสติอยู่แล้ว โดยธรรมชาติของสัตว์ก็มีสติ ยิ่งเสือมีสติดีมากเลย สติมันมีอยู่ทุกคน ทุกคนมีสติอยู่โดยดั้งเดิม มีทุนเดิมอยู่ในใจของทุกคน ทุกคนมีสติปัญญาหมดล่ะ แต่มันเป็นสติปัญญาของปุถุชน มันเป็นสติปัญญาพื้นฐานของมนุษย์ เพราะเราฝึกมาเรามีสติมีสมาธิขึ้นมา
ดูไอน์สไตน์ ดูนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เขาทำงานวิจัย เขาต้องตรึก เขาต้องพิสูจน์ เขาต้องใช้สมอง เขาต้องคิดของเขา นั่นน่ะนั่นก็สติ สติแบบนี้สติปัญญามันเป็นโลกียะ มันเป็นโลก สติมันมีอยู่พื้นฐาน แต่สติอย่างนี้มันชำระกิเลสไม่ได้ สติอย่างนี้เป็นสติพื้นฐานของมนุษย์ สติพื้นฐานเขาเรียกปุถุชนแล้วเราพิจารณาของเรา เราฝึกของเราไปจากปุถุชนมันจะเป็นกัลยาณปุถุชน
เขาบอกสติตัวจริง สติตัวปลอม ถ้าสติตัวจริงสติตัวปลอมนะ ถ้ากำหนดสตินะ กำหนดนี่เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นสติปลอมหมดเลย เผลอปั๊บสติมาเองเป็นสติจริง สติจริงสติปลอมมันมาจากไหน นี่โดยตำรา โดยตำรามันต้องเอาตำราบอก ถามตำราว่ามีสติตัวจริงตัวปลอมไหม
แต่ในตำราบอกว่า มิจฉาสติ สัมมาสติ สติมันมีมิจฉา มันมีความหลงผิด มีสติแล้วมันหลงผิด มีความผิดพลาดไป นั่นเป็นมิจฉา ถ้ามีสติแล้วเอาสติมาทำสัมมา คือมาทำมรรคญาณ มาทำปัญญาของเราเป็นสัมมาสติ มรรค ๘ เห็นไหม นี่มรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ
มีมิจฉา มีสัมมา มิจฉา คือ ใช้ผิด สัมมาคือใช้ถูก แต่ตัวของมันเองเป็นอนิจจัง ตัวของมันเองเป็นกลางที่มันมีอยู่แล้ว สติมันคือสติ สัญญาเป็นสติไม่ได้ เผลอเป็นสติไม่ได้ เพราะเผลอมันคือดำ สติมันคือขาว เผลอดำกับขาวเป็นอันเดียวไม่ได้ ดำกับขาวมารวมแล้วเป็นเทาๆ สติเทาๆ ไม่มี
สติมันเป็นสติ มหาสติ สติมันจะละเอียดเข้าไปถ้าฝึกสติขึ้นมา สติก็คือสติ สติตัวจริงสติตัวปลอมในตำราไม่มี ถ้าเอาตำราชี้ ตำราก็ชี้ว่า ไอ้นี่มันปริญญาห้องแถว ก.พ. ไม่ยอมรับ ปัญญาอย่างนี้ในก.พ.เขาไม่ยอมรับ
แต่เวลาบอกว่าเวลาครูบาอาจารย์เห็นไหม เวลาหลวงตา หลวงปู่มั่น เขาบอกว่าหลวงตาบอกว่า เวลาหลวงปู่มั่น พระอรหันต์มาอนุโมทนา มาได้อย่างไร ในตำราไม่มี ไอ้ที่ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า เห็นไหม ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า นี่เหมือนกันคำว่าใบไม้ในป่าต้องเป็นสัมมา เป็นความถูกต้อง เป็นความดีงามของท่าน ท่านรู้จริงของท่าน ท่านเห็นของท่าน นั้นเป็นความจริงของท่าน
สิ่งต่างๆ ที่ว่า สติมันจะเกิดจากการฝึกสติ พอฝึกสติขึ้นมาแล้ว สติมันควบคุมจิต พอมันควบคุมจิต จิตมันก็มีพื้นฐานของมัน พอจิตมีพื้นฐานของมัน วุฒิภาวะของจิตมันเพิ่มขึ้น พอวุฒิภาวะของจิตมันเพิ่มขึ้น โดยสามัญสำนึกนะ พวกเรานะ รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นศัพท์มันเป็นสื่อสาร
ถ้าพวกเรา เราทำวิชาการต่างๆ จะทางวิชาการ เราจะมีวิชาชีพอะไรก็แล้วแต่ มันก็ต้องอาศัย รูป รส กลิ่น เสียง กลิ่น นี่รูป รส กลิ่น เสียงเห็นไหม นี่สัญญาอารมณ์ต่างๆ เพราะมันตรึกเป็นทางวิชาการออกมา ตรึกเป็นหน้าที่การงานออกมา
ขันธ์ ๕ โดยพื้นฐาน มันเป็นข้อเท็จจริง แต่อารมณ์ความรู้สึกในขันธ์ ๕ นั้นดูสังขารมันปรุงแต่ละเรื่องสิ สัญญาข้อมูลมันแตกต่างกันเห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน คำว่า สติกับจิต มันเป็นพื้นฐาน มันออกมาเป็นหน้าที่การงาน ที่เราใช้ทางวิชาชีพของเราเห็นไหม สิ่งนี้มันก็ต้องมีสติ ไม่มีสติสิ่งนี้มันจะผิดพลาดไปทั้งนั้นน่ะ
สติแบบนี้เป็นสติแบบปุถุชน แล้วเรากำหนดสติ เราควบคุมความรู้สึกเห็นไหม เราพุทโธๆๆ มันก็จะหดสั้นเข้ามา ตัวจิตมันจะหดสั้นเข้ามา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ความคิดเกิดจากจิต อารมณ์ต่างๆ เกิดจากจิต
แล้วถ้าจิตมันเข้าใจของมัน มันปล่อยของมัน มันปล่อยของมันเห็นไหม พอปล่อยของมัน จิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาเห็นไหม พอสงบเข้ามา ความสงบกับความฟุ้งซ่านมันแตกต่างกันอย่างไร ความฟุ้งซ่าน ความสามัญสำนึกความคิดของเรานี่
ที่ว่าความคิดๆ เขาบอกให้ดูจิตๆ ไปเรื่อยๆ นะ แล้วอย่าไปกดความคิด เพราะถ้ากดความคิดจะเกิดวิปัสสนาไม่ได้ วิปัสสนาคือความคิดนั่นแหละ
ความคิดอย่างนี้มันเป็นความคิดของปุถุชน มันเป็นความคิดของโลก มันเป็นความคิดของกิเลส เพราะความคิดอย่างนี้มันเกิดจากจิต ความคิดจากจิต จิตถ้ามันเป็นสามัญสำนึก มันจะสำนึกของมันอยู่ แล้วมันพลังงานออกมาจากขันธ์ ๕ แล้วมันออกมาใช้เป็นวิชาชีพ มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ มันเป็นปุถุชน
แต่เรามีสติควบคุมมันไปเรื่อยๆ ควบคุมไปเรื่อย จนจิตมันสงบเข้ามา สงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามานะ สงบต่างกับฟุ้งซ่านอย่างไร ความฟุ้งซ่านคือสามัญสำนึกที่มันคิดอยู่ แล้วมันมีแรงขับด้วยตัณหาความทะยานอยาก แรงขับของคน ความชอบ ความชอบบ้า ๕๐๐ จำพวก มันจะขับอันนี้ออกไป
นี่แรงขับอันนี้ มันฟุ้งซ่านเกิดจากแรงขับ คำว่าแรงขับหมายถึงว่าคนชอบไม่เหมือนกัน คนฝักใฝ่ผูกพันไม่เหมือนกัน ความผูกพันของคน กับอารมณ์ความรู้สึกของคนแตกต่างกัน อย่างนี้มันแรงขับอันนี้มันทำให้ฟุ้งซ่าน
ฟุ้งซ่านหมายความว่า ฟุ้งซ่านออกไป มันฟุ้งซ่านมันพยายามจะคิด พยายามจะตรึกให้เข้าใจ มันเป็นฟุ้งซ่าน แต่สติปัญญามันตามเข้ามาเห็นไหม ความฟุ้งซ่านนั้นมันสงบตัวลง เพราะสิ่งต่างๆ รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นธรรมชาติ ดูสิ ดูลมสิ พัดมาไปไม้ไหว มันมีเสียงของมัน มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมดาของเรื่องของผลกระทบของมัน
มันเป็นธรรมดาของมัน เราให้ค่ามันต่างหากล่ะ เพราะสติมันทันใช่ไหม สติมันทัน รูป รส กลิ่นเสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้ของมาร พอรูปรส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้ของมาร แต่มีสติสัมปชัญญะ สติ สติ สติ
สติกับจิตมันตามทันเห็นไหม พอมันตามทัน มันก็เริ่มปล่อยวาง ปล่อยวางเห็นไหม พอมันเริ่มปล่อยวาง มันควบคุมจิตได้ง่ายขึ้น เพราะจิตมันมีเหตุมีผล โดยปัญญาของมัน ที่มันตามมันขึ้นมา มันมีเหตุมีผลของมันว่า สิ่งที่แรงขับเพราะตัณหาความทะยานอยากเป็นสมุทัย สิ่งที่ตัณหาความทะยานเป็นแรงขับที่เราไม่รู้เท่าทันมัน
พอมีปัญญาขึ้นมาก็รู้เท่าทันแรงขับอันนี้ พอรู้เท่าทันแรงขับอันนี้ เราเป็นเองต่างหาก แรงขับของเราเองต่างหาก ทำให้เราฟุ้งซ่านออกไปโดยสัญชาตญาณ ถ้ามีสติเข้ามาควบคุมเข้ามา มันจะปล่อยตัวมัน หดตัวมันเข้ามา หดตัวเข้ามาเป็นตัวของมันโดยสัจจะของมันเห็นไหม
พอเห็นหดตัวเข้ามา รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร พอทันแล้วเห็นรูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มารมันเป็นบ่วงเป็นพวงดอกไม้ บ่วงก็คือรัด พวงดอกไม้ก็คือล่อ มันก็ทั้งเชิญทั้งล่อลวงทั้งหลอกลวง
พอสติมันทันขึ้นมา มันรู้เท่าทันมัน มันเป็นเอกเทศของมันเห็นไหม สติมันตามทันมาตลอด พอตามทันมันทันจิต จิตมันเป็นเอกภาพ จิตมันปล่อยวางรูป รส กลิ่น เสียงเข้ามาเห็นไหม สติกับจิตมันมีปัญญาขึ้น มันมีความรู้เท่าตัวมันเองมากขึ้น มันเป็นสัมมาสมาธิ มันหดตัวเข้ามามากขึ้น นี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน
พอเป็นกัลยาณปุถุชนสติมันดีขึ้น สมาธิมันดีขึ้น มันเห็นมันรู้มันเห็น รู้เห็นอะไร รู้เห็นรูป รส กลิ่น เสียง รู้เห็นในสิ่งสัมผัสของมันในธรรมชาติของมัน มันรู้เห็นของมันเพราะสติมันหดสั้นเข้ามา เพราะปัญญา วุฒิภาวะของจิตมันเพิ่มขึ้นมา จากปุถุชน กัลยาณปุถุชน
กัลยาณปุถุชน ปุถุชนมันต่างกันด้วยการควบคุมจิต ปุถุชนจะควบคุมจิตได้ยาก จะเข้าสมาธิได้ยาก จะทำให้จิตตั้งมั่นได้ยาก กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนคือทำจิตให้ตั้งมั่น ตั้งมั่นเพราะอะไร รูป รส กลิ่น เสียง มันขาดออกไปจากจิต จิตเป็นเอกภาพ จิตเป็นตัวของมันอง พอจิตเป็นตัวของมันเอง สติมันพร้อมมาไหม
ไหนไปฝึกสติที่ไหน สติมันเผลอที่ไหน เผลอปั๊บสติมาเอง ต้องดูให้มันเผลอๆ แล้วสติมาเอง แล้วมันจะทรงตัวของมันขึ้นมาเองได้อย่างไร
ถ้าพูดถึงว่าพวกเราทำกรรมทำบุญกุศลกัน ก็ถูกเห็นไหม โต๊ะ อาสน์สงฆ์ มันไม่ผิดศีล ๕ เลย มันไม่รังแกใครเลย มันเป็นกลาง มันไม่เคยเบียดเบียนใครเลย โต๊ะนี้ต้องเป็นพระอรหันต์ คำพูดของเขา เขาพูดเป็นสสาร เขาพูดเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ไม่มีจิตรองรับ ไม่มีผู้รู้ผู้เห็นไง ไม่มีผู้ทุกข์ผู้ยากรองรับ มรรคผลนิพพานมันอยู่ที่ผู้รู้ รู้ทุกข์รู้ยากนี้ มันไม่ได้อยู่ที่วิทยาศาสตร์ ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ ไม่ได้อยู่ที่ใดๆ ทั้งสิ้น มันอยู่ที่ใจ
ถ้ามันอยู่ที่ใจ แล้วสติไปคิดเอาเองว่าเป็นวัตถุอันหนึ่ง เหมือนกับขวดน้ำต่างๆ เราจับต้องได้ เราพลิกแพลงได้ เราทำได้ แต่สติมันเป็นนามธรรม เกิดมันก็เกิดเอง ดับมันก็ดับเอง มันเกิดจากจิต แล้วก็ดับไปจากจิต แล้วมันเกิดจากจิต มันดับจากจิต มันดับอย่างไร แล้วจะบอกว่าให้เป็นสภาวะจำ จำให้มันจำให้ได้ มันจำได้อย่างไร
มันจำได้ไม่ได้ ถ้าบอกโดยตำรา ก็ตำราห้องแถว มันปริญญาห้องแถว มันอาศัยสังคมเขายอมรับกัน ปริญญาโท ปริญญาตรี เขายอมรับกัน ก็อ้างว่าตัวเองก็มีปัญญาเหมือนกัน แต่วุฒิภาวะความรู้ในปัญญานั้นมันมีไหม ถ้ามีคำพูดผิดๆ อย่างนี้พูดออกมาได้อย่างไร ทางวิชาการมันขัดแย้งมาหมดนะ
แต่ทางวิชาการเขาไม่ได้โต้แย้งมาเพราะอะไร เพราะบอกว่าเป็นภาคปฏิบัติ พอภาคปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่มันปริยัติปฏิบัติใช่ไหม เวลาปฏิบัติพอผู้รู้ในปฏิบัติเขาจะจับได้ ย้อนกลับไปดูตำราอีกแล้ว แล้วเวลายอมรับเอาอะไรยอมรับล่ะ เอาตำรายอมรับไหม ก็เอาภาคปฏิบัติเข้าไปรับว่าสิ่งนั้นเป็นขั้นเป็นตอน แต่เวลาจะเอาความจริงเข้ามา กลับย้อนไป มันเป็นการฉ้อฉล มันเป็นการฉ้อฉลเพราะอะไร เพราะภาคปฏิบัตินี่นะ ในการปฏิบัติ หลวงปู่มั่นบอกประจำ ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น
เหมือนกับหนทางที่เข้ากรุงเทพฯ ถ้าเราเป็นคนทางภาคใต้ มันจะเข้าเพชรเกษมเส้นเดียว เราเป็นคนภาคใต้นะ แต่ถ้าเราเป็นคนภาคเหนือพหลโยธินเส้นเดียว ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก พหลโยธินเส้นเดียว มันเส้นเดียว คำว่าเส้นเดียวนี่นะ เวลาทั้งภูมิภาคนั้นจะเข้าไปเส้นนั้น คือจะเข้าอริยสัจมันมีเส้นทางเดียว ฉะนั้นต้องเป็นอย่างนี้ ! ต้องเป็นอย่างนี้ ! เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
การเข้าสู่อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วการเข้าสู่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้อย่างไร อันนี้พูดถึง นี่คำพูดอย่างนี้ คือ กระรอกจะหาทางออกไง ชี้ทางให้กระรอก คือบอกว่าการจะรู้ว่ามีพระอรหันต์ พระโสดาบัน พระสกิทาคา พระอนาคา จะชี้ขาดไม่ได้นะ คนที่จะชี้ขาดมีพระพุทธเจ้าองค์เดียว คือว่าห้ามตรวจสอบฉันนะ ห้ามเอาธรรมะนี้ไปตรวจสอบ ป้องกันตัวเองไว้ ล็อคตัวเองไว้ห้ามใครมาตรวจสอบนะ
ใครจะไปตรวจสอบ ไม่มีใครตรวจสอบใครหรอก ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน กรรมของใครก็เป็นกรรมของคนนั้น ใครทำกรรมดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว แต่คนทำชั่วมันเดือดร้อน คนทำชั่วมันกลัวความชั่วมันเปิดเผยออกมา ถ้าคนทำกรรมดีมันจะไปเดือดร้อนอะไร คนทำดีไม่ต้องเดือดร้อนสิ่งใดๆ เลย แต่คนทำชั่วเท่านั้นถึงจะเดือดร้อน
ฉะนั้นถึงว่าการตรวจสอบ ไม่มีใครตรวจสอบใครหรอก แต่ความดีความชั่วในใจมันตรวจสอบ มันรู้อยู่ว่าทำชั่ว ถ้ารู้ว่าทำดี ทำไมคนทำดีต้องออกตัว พูดถึงเวลาเขาพูดนะ อันล่างนี้ไม่อยากจะพูด แต่จะพูดไว้ให้มันเป็นเหตุเป็นผลว่า มันมีที่มาที่ไปไง
ประเด็น : ขณะจิตพระอรหันต์ของผู้เทศน์ พอใจมันยอมรับตรงนี้แล้ว ใจมันหมดแรงดิ้น วันหนึ่งนั่งเก้าอี้อยู่นะครับ นั่งดูต้นไม้ นั่งดู นั่งดู จิตมันรวมลง รวมเลยนะ แล้วมันเห็นแจ้งอริยสัจขึ้นมา มันเห็นว่าจิตตัวนี้แหละทุกข์ล้วนๆ เลย พอมันเห็นแจ้งอริยสัจ มันสลัดจิตทิ้งเลย สลัดนะ มันเหมือนมันสลัดทิ้งออกไป
หลวงพ่อ : เขาว่ามรรคผลของเขา เวลาเขาบอกนี่มรรคผลของเขา ทำไมไม่เอาตำรามาจับล่ะ
เวลาเราพูด เวลาพูดน่ะ เราพูดภาคปฏิบัติ เราปฏิบัติอยู่ในการวงการพระนะ ปริยัติก็คือปริยัติ ถ้าเอาตำรามาชี้นำนะ เพราะหลวงปู่ฝั้น พระเป็นเลขาของเจ้าคณะภาค ๙ ประโยค ไปถามหลวงปู่ฝั้น บอกว่าผม ๙ ประโยค ในตำรารู้หมด ทุกอย่างทำได้หมดเลย แล้วผมจะไปปฏิบัติผมก็สับสน สับสนเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนพระสารีบุตรก็อย่างหนึ่ง สั่งสอนพระโมคคัลลานะก็อย่างหนี่ง สั่งสอนพระอุบาลีก็อย่างหนึ่ง แล้วให้ผมเอาอันใดเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติล่ะ หลวงปู่ฝั้นบอกว่า
ทุกข์ของเอ็งอยู่ที่ไหน จับตรงนั้น จับความรู้สึกของเรา จับทุกข์ของเราเป็นตัวตั้ง แล้วให้เรารื้อค้นหาตรงนั้นเข้าไป
ถ้าบอกว่าถ้าเอาตำรา มรรคผลนิพพานมีในตำรา พวกที่จบ ๙ ประโยคเขาก็เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว ๙ ประโยคเป็นเลขาของพระไตรโลกาจารย์เจ้าคณะภาค วัดที่หนองคาย วัดพระใสๆ นั่น พระไตรโลกาจารย์มาถามหลวงปู่ฝั้น นี่หลวงปู่ฝั้นไม่มีแม้แต่เปรียญเดียว แต่ถ้าปฏิบัติทุกข์อยู่ที่ไหน จับที่ทุกข์นั้น แล้วเอาทุกข์นั้นเป็นตัวตั้ง ฉะนั้นบอกไว้ในตำรา สาธุนะ ไม่ใช่ลบหลู่ ตำราก็คือตำราก็ยอมรับ เพราะปริยัติยอมรับไม่มีใครไม่ยอมรับพระพุทธเจ้าหรอก
แต่นี้ยอมรับพระพุทธเจ้า ตำราก็เป็นการชี้นำเข้ามา นี้ภาคปฏิบัติตำรามีแต่ชื่อ ตำราอ่านไว้เป็นแนวทางใช่ไหม คำว่าแนวทางเฉยๆ อ่านแนวทางเวลาบอกถึงว่า หลวงปู่มั่นท่านบอกกับหลวงตาเห็นไหม สาธุ หลวงตาเรียนจบจนเป็นมหามา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทิดไว้บนศีรษะ เคารพมากแต่เก็บไว้ก่อน
ถ้าประพฤติปฏิบัติไป มันจะเตะ มันจะถีบกัน คำว่าเตะถีบนี่นะ ตำราบอกไว้เป็นทฤษฎีชัดเจน แต่พอใจเราเป็น เล็กๆ น้อยๆ มันพยายามจะบวกไง ให้ค่ามากกว่าตำรานั้น หรือให้ค่าน้อยกว่า
เช่น เวลาเราปฏิบัติจิตเรายังไม่เป็น เราพยายามหน่วงตำราลงมา ว่าจิตเราเป็นอย่างนั้นแล้ว เป็นอย่างนั้นแล้ว มันเป็นวิปัสสนึก แล้วเวลาถ้าจิตมันเป็นอย่างนั้นปั๊บ มันเป็นโดยที่ยังไม่สมดุล คำว่าไม่สมดุลนะ คนทำอาหารจะรู้
คนที่ทำอาหารถ้าพ่อครัว แม่ครัวที่ชำนาญ อาหารบางชนิดต้องใช้ไฟอ่อน อาหารบางชนิดต้องใช้ไฟปานกลาง อาหารบางชนิดต้องใช้ไฟแรง จิตของคนเวลามันสงบนะ มันมีขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
การใช้ปัญญา เวลามันใช้ปัญญามันกระเพื่อมอย่างไร เวลาเราใช้ปัญญาขึ้นไป ความคิดปัญญาคือสังขารนี่แหละ สังขารที่มีสติ ที่มีสมาธิพร้อม ถ้าเราคิดแรงไปมันกระเพื่อม มันก็เหมือนกับเราใส่ไฟมากเกินไป เราจุดติดไฟมากเกินไปนะ โอ๋ย..ไหม้หมดนะ อาหารนั้นไหม้หมดเลย
ความชำนาญของผู้ปฏิบัตินะ ไฟอ่อน ไฟแก่ ไฟพอประมาณ จิตสมาธิสมควรแบบไหน แล้วออกทำ มันยังมีข้อปัจจัยนะ มันยังมีปัจจัย มันยังมีข้อเท็จจริงที่จะให้แก้ไขอีกเยอะมาก ในภาคปฏิบัติ ตำราก็บอกไว้เป็นกลางๆ หลวงตาบอกว่า ตำราบอกไว้เป็นกลางๆ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติแล้วนี่ มันจะมีเทคนิค มันจะมีการรู้ว่าจิตเราจะต้องเป็นไป เป็นไปด้วยประสบการณ์ของเรา มันอีกมากๆ ครั้นพอมากขึ้นไปแล้ว พอมากนะ พอเป็นไป พอวิปัสสนาไป พอมันปล่อย คำว่าปล่อยนะ ปล่อยโดยวิปัสสนากับปล่อยโดยสมาธิ มันก็แตกต่างกันอีกแล้ว
การปล่อยโดยสมาธินะ จิตถ้าปล่อยโดยสมาธิ อย่างที่เวลาเขาพูด มันเหมือนกับการวางโดยสมาธิ เวลากำหนดพุทโธๆๆ พอมันวางขึ้นไป ถ้าอัปปนาสมาธิ สมาธิสามารถแยกกายกับจิตได้ พอสมาธิมันลงไปจนลึกมาก อัปปนาสมาธิ
คำว่าอัปปนาสมาธิ รวมใหญ่มันสักแต่ว่ารู้ มันปล่อยกายหมดเลย จิตมันหดสั้นเข้ามา เป็นเฉพาะจิตล้วนๆ ครั้นพอจิตล้วนๆ นี่ มันจะดับหมด ตา หู จมูก ลิ้น หูนี้จะไม่ได้ยินอะไรเลย ความกระทบของผิวหนังไม่รับรู้ จิตเป็นเอกเทศของมัน มันปล่อยกายเลย สมาธิสามารถทำจนจิตกับกายแยกออกจากกันได้ แต่แยกออกจากกันได้ด้วยสมาธิ ถ้าแยกออกจากกันได้ด้วยสมาธิไม่ใช่วิปัสสนา แก้กิเลสไม่ได้
เหมือนฤๅษีชีไพรทำจิตสงบเข้ามา สงบได้ เวลามันแผ่ออกมาแล้ว มันก็กิเลสอย่างเดิม ไม่ได้แก้ไขกิเลสแม้แต่นิดเดียว ถ้าเวลาพูดถึงธรรมะแบบ ดู ๆๆๆๆ อย่างนี้โดยที่ไม่ต้องใช้ปัญญา อัตโนมัติมันเป็นเอง มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนั้นถ้าเป็นข้อเท็จจริงนะ แต่มันไม่เป็น มันไม่เป็นเพราะมันไม่เป็นสมาธิจริง มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นวิปัสสนึก มันเป็นการคาดหมาย เป็นการใช้ปัญญาให้มันปล่อยวางโดยกดไว้ด้วยปัญญา
แต่ถ้ามันใช้ปัญญานะ โดยใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอสมาธิมันปล่อยเข้ามานะ ขนาดสมาธิปล่อยเข้ามา อาการที่เขาพูดยังไม่ใช่เลย เราฟังมาตลอดแต่ไม่พูด เรารอให้เขาพูดออกมา เราจะกระทืบ อาการที่เขาทำนั้นไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่สมาธิเพราะจิตมันไม่ปล่อยเข้ามาให้เป็นอิสระ มันปล่อยด้วยความคิด มันปล่อยด้วยสามัญสำนึกไง มันบังคับให้จิตบังคับให้ปล่อย ให้ว่างๆ สบายๆ ว่างๆ ว่างๆ คือคิดให้ว่าง แต่ความจริงไม่ว่าง
เหมือนในบ้านเรา เราพยายามเอาของไปเก็บซ่อนๆๆๆ ไว้ให้หมดเลย บอกว่าในบ้านเราไม่มีอะไรเลย ว่างๆๆ แต่ความจริงเราไปซ่อนไว้ แต่ถ้าเป็นสมาธินะ มันจะเอาของในบ้านโยนทิ้งหมดเลย เอาของในบ้านโยนออก โยนออก จนในบ้านนั้นว่างหมดเลย นั่นเป็นสมาธิ แต่ถ้าบอกว่าเอาของไปซุกไว้ ซุกไว้ ซุกไว้ แล้วปิดไว้หมดเลย ว่าง ว่าง มันไม่ว่างจริง
ถ้ามันว่างจริง บอกไว้ว่าโดยตำรา โดยข้อเท็จจริง โดยข้อเท็จจริงภาคปฏิบัติ โดยข้อเท็จจริงใครไม่เป็นสมาธิพูด รู้เลยว่าไม่เป็นสมาธิ หลวงตาพูดบ่อยมากว่า สมาธิใครอย่ามาหลอกเรานะ เพราะเราติดสมาธิอยู่ ๕ ปี เรื่องสมาธิหลวงตาชำนาญมาก เพราะตัวเองติดอยู่ ๕ ปี ในสมาธิใครอย่าเอาสมาธิมาหลอกเรานะ เรารู้ทันหมด
แต่นี้คนที่พูดนี่ไม่เคยเป็นสมาธิ พอไม่เคยเป็นสมาธิ พอติดสมาธิ
หลวงปู่มั่นถาม มหาจิตเป็นอย่างไร ดีครับ มันติดสมาธิ มันสุข มันสุขจนตัวเองเข้าใจว่านี้คือนิพพาน จิตเป็นอย่างไร ดีครับ จิตเป็นอย่างไร ดีครับ
มันจะดีบ้าเหรอ สุขอย่างนี้ พอจิตมันสงบใช่ไหม จิตเป็นสมาธิ มันก็สุข สุขก็เข้าใจว่าเป็นนิพพาน
ท่านพูดเอง สุขอย่างนี้เหมือนกับสุขแบบเศษเนื้อติดฟัน กินอาหารแล้ว อาหารคำข้าวอร่อยไหม อร่อย เวลามีเศษเนื้อติดอยู่ที่ฟันเห็นไหม มันจะมีรสชาติอยู่น่ะ อร่อยแค่นั้นเอง สุขอย่างนี้เป็นสุขเศษเนื้อติดฟัน มันไม่สุขเหมือนคำข้าวหรอก
สุขในสมาธิมันสุขเหมือนคำข้าว กินเต็มปากเต็มคำ ไอ้สุขอย่างนี้มันสุขแบบเศษเนื้อติดฟัน นี่คนเป็นเห็นไหม คนที่ผ่านแล้วจะรู้เลย พออย่างนี้ถ้าสุขเศษเนื้อติดฟัน นี่ตำรานะ แล้วถ้าเป็นสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในตำรา ทำไมมันจะเป็นอย่างไรล่ะ
หลวงปู่มั่นก็ตอบ ถ้าในตำราสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้า สัมมาสมาธิคือสัมมาถูกต้อง ไม่มีสมุทัย ไม่มีกิเลสบวก แต่สัมมาสมาธิของท่านมันมีความหลง มันมีสมุทัยบวกด้วยเว้ย
งงนะ งงเลย เออจริง จริงสิเพราะอะไร เพราะพอบอกเศษเนื้อติดฟันก็ไม่รู้ บอกว่าไปอีกก็ยังไม่รู้ งงไหม งง
ถ้าเราคิดด้วยตัวเอง เราจะไม่งง เพราะอะไร เพราะเราคิดโดยตัวเราเอง โดยสมุฏฐาน โดยความคิดของเราไม่มีใครโต้แย้ง แต่ถ้ามีผู้รู้จริงเขาโต้แย้ง อืม.. ผู้รู้จริงเขาพูดมีเหตุผลเหนือกว่าเรา เราจะเกิดความลังเลสงสัย แต่ถ้าเราคิดโดยตัวเราเองนะ เพราะเราไม่ได้เข้าสังคม เราไม่มีครูบาอาจารย์
ถ้าเราเข้าสังคมมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้ว ท่านจะรู้เลยว่าเราพูดอย่างไร คำพูดของเรามันสะอาดบริสุทธิ์แค่ไหน แต่นี้เพราะไม่มีครูบาอาจารย์ ก็เข้าใจเองว่าสุขที่เศษเนื้อติดฟันนั้น เป็นผลของนิพพานไง
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ตรวจสอบนะ ผู้รู้มี ผู้รู้มี อย่าอ้างตำราไม่ได้ ตำราเป็นตำรา ตำราไม่มีโสดาบัน ตำราไม่มีสกิทา ตำราไม่มีอนาคา ตำราไม่มีพระอรหันต์ แต่ตำรานี้จะชี้ให้ผู้ประพฤติปฏิบัติเข้าสู่โสดาบัน
ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น จิตนั้นจะเข้าสู่โสดาบัน จิตนั้นจะเข้าสู่สกิทา จิตนั้นจะเข้าสู่อนาคา จิตนั้นจะเข้าสู่พระอรหันต์ ตำราชี้ให้จิตนั้นเข้าสู่มรรคผลนิพพาน ตัวตำราเองกระดาษเปื้อนหมึก กระดาษแล้วเอาหมึกไปพิมพ์ไว้เฉยๆ กระดาษเป็นนิพพานไม่ได้ หมึกเป็นโสดาบันไม่ได้ กระดาษกับหมึกเป็นอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น แต่กระดาษกับหมึกนั้นจะชี้ใจนี้ให้เข้าสู่มรรคผลนิพพาน
ถ้าตำราเป็นอย่างนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ที่เป็นภาคปฏิบัติจะชี้บอกเข้ามาให้กระทำต่อไป ถ้ากระทำต่อไปได้ แต่นี้มันไม่กระทำต่อไป แต่นี้พื้นฐานไม่มี พอพื้นฐานไม่มี บ้านเราจะไปสร้างอยู่ที่เลนไม่ได้ บางคนฝันว่าจะไปสร้างบ้านอยู่บนแม่น้ำนะ ไม่ได้ น้ำของเหลว รับของมีน้ำหนักไม่ได้
มรรคผลนิพพานจะต้องมี ศีล สมาธิ ปัญญา ทาน ศีล ภาวนา จะต้องฝึกสติ จะต้องทำสมาธิขึ้นมา สมาธิเป็นพื้นฐาน เพราะฐีติจิต จิตนี้เป็นผู้ที่มีอวิชชาครอบงำมันอยู่ แล้วถ้าเราเข้าไม่ถึงฐีติจิต ไม่เข้าสู่ตัวจิต แล้วเราจะเอาอะไรไปแก้ไขกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่ที่นั่น นี่ไปแก้ไขที่ความคิด ดูความคิด ดูจิตๆๆ ไม่มี ไม่มีหรอก
เราบอกเลยนะ ขันธ์ ๕ นี่มันก็เป็นข้อเท็จจริง เป็นสสาร ขันธ์ ๕ ตัวจิตก็เป็นพลังงาน แต่เวลาเขาคิดออกมาตัวจิตก็ไม่เห็น ตัวสสารความคิดก็ไม่เคยเห็น แต่ไปเห็นอารมณ์ ไปเห็นอารมณ์ความรู้สึก ก็บอกอารมณ์นั้นเป็นจิต ไปดูที่อารมณ์นะ
ความคิดเราถ้าไม่บวก เราดูเฉยๆ เราไม่มีความคิดเข้าไปบวก เราจะมีสุขมีทุกข์ไหม เราก็นั่ง อื้อ.. สบายๆ แต่ถ้าเราคิดเรื่องดี เราก็คิดถึงการมุมานะทำดี เราคิดถึงเรื่องไม่ดี เราจะทุกข์ขึ้นมาทันที นั่นน่ะมันเป็นอารมณ์ แล้วไปจับที่อารมณ์นั้น ดูที่อารมณ์นั้น พออารมณ์นั้นมันสงบตัวลง แล้วมันไปไหน เห็นไหมมันไม่เข้าสู่จิตเลย
ถึงบอกว่า ถ้ากำหนดพุทโธๆๆ พุทโธมันไปจากไหน ความระลึกมาจากไหน มาจากจิตหมดเลย จิตระลึกออกไป ระลึกออกไปในอะไรก็แล้วแต่ ระลึกออกไปในอะไร ออกไปพุทธานุสสติ พุทโธๆๆ คำว่าระลึกออกไปจากฐานใช่ไหม ฐาน แล้วถ้ามันสงบเข้ามา มันสงบที่ไหน ก็สงบเข้ามาสู่ฐาน นี่ กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน กรรมฐาน คือ จิต ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานต้องลงสู่จิต
แต่ถ้าไปกำหนดอยู่ที่ความรู้สึก ความรู้สึกไม่ใช่จิต จิตเป็นพลังงานเฉยๆ ความรู้สึกอารมณ์อย่างนั้นไม่ใช่จิต แล้วไปรู้สึกอารมณ์นั้นแล้วดับอารมณ์นั้น นี่ไงมันถึงไม่มี สมาธิก็ไม่มี สิ่งต่างๆ ก็ไม่มี แต่เป็นปริญญาห้องแถว คิดกันเอง ว่ากันไปเอง ก.พ.ไม่ยอมรับ ถ้าก.พ.ไม่ยอมรับ สมัครงานไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน พอสมัครงานไม่ได้ มันเลยไม่มีเหตุมีผล
ทีนี้พอไม่มีเหตุมีผล เราพูด แชร์นิพพาน ออกไป วันที่ ๘ อันนี้วันที่ ๒๒ พฤศจิกาเห็นไหม เพราะแชร์นิพพาน มันบอกชัดๆ นะ แชร์นิพพานเป็นความหลงผิดของคนไปลงแชร์ เพราะได้รับผลประโยชน์ นี่ไงเป็นความหลงผิดของชาวพุทธ ว่าชาวพุทธไปกำหนดง่ายๆ แล้วมันจะได้มรรคผลกัน ได้มรรคผลขึ้นมา แชร์นี่นะถ้ามันมีคนไปลงเยอะ เขาก็จะมีผลประโยชน์จ่ายตอบแทนได้ แชร์นั้นก็จะไม่ล้ม
แต่ถ้าใครไปบอกว่าแชร์นั้นมันไม่ใช่ความจริง คนที่จะไปลงแชร์นั้นจะน้อยลง แล้วแชร์นั้นจะล้ม เพราะอะไร เพราะไม่มีผลตอบแทนเขาใช่ไหม นี่เหมือนกันถ้าคนเข้าใจในเรื่องศาสนา เขาจะทำในเรื่องความที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ สิ่งที่ว่ามีการตรวจสอบ ไม่ต้องมีใครตรวจสอบหรอก แค่ไม่มีใครไปลงแชร์มันก็ล้มแล้ว นี่ถึงบอกว่าจะโดยชี้ขาดของคนไม่ได้ จะชี้ขาดก็ชี้ขาดโดยพระพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วถ้าจะมีก็มีโดยตำรา
ขนาดคนชี้ขาดก็ไม่ให้ชี้ขาดนะ แล้วไม่มีใครไปชี้ขาดด้วย เพราะเวลาพระอรหันต์มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอุบาลี ใคร ๕ องค์ที่เถียงกันที่สวนมะพร้าวน่ะ พระอรหันต์ด้วยกัน ต่างคนต่างพูดถึงความถนัดของตัว
พระสารีบุตรบอกว่า ปัญญาเลิศที่สุด พระโมคคัลลานะบอก ฤทธิ์เลิศที่สุด พระอุบาลีบอกพระวินัยเลิศที่สุด แล้วมีอีกสององค์จำชื่อไม่ได้ ต่างคนต่างบอกว่าความถนัดของตัวเลิศที่สุด แล้วตกลงกันไม่ได้ ตกลงกันไม่ได้อย่างนั้นก็ตกลงกันว่า ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่วินิจฉัยว่าอะไรเลิศที่สุด คืออะไรดีที่สุด
พระทั้ง ๕ องค์ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า อาสวักขยญาณ เลิศที่สุด
อาสวักขยญาณ คือ มรรคญาณที่ทำให้พระ ๕ องค์นี้เป็นพระอรหันต์เลิศที่สุด สิ่งที่เป็นจริตนิสัยนั้น มันเป็นนิสัยของแต่ละบุคคล เอามาวัดค่ากันไม่ได้ แต่ความเลิศคือเลิศตั้งแต่อริยสัจที่ทำมรรค มรรคที่ทำให้เป็นพระอรหันต์อันนั้นเลิศที่สุด นี้พอคนมันผ่านไปแล้ว มันไม่เห็นคุณค่าตรงนั้น เห็นแต่ความชำนาญของตัวไง ว่าความชำนาญของตัวเลิศที่สุด
ฉะนั้นถึงบอกว่าสิ่งที่พูดว่า ให้ความเป็นไป ความเป็นไปว่า ให้พระพุทธเจ้าชี้ พระพุทธเจ้าชี้ มันเป็นการบอกกล่าวนะ ถ้าพูดอย่างนี้ เราดูอย่างนี้ เข้าใจว่า รู้สึกตัวคือกลัว มันก็น่ากลัวนะ เพราะว่าไม่ควรขึ้นขี่หลังเสือ
สังคมเวลาเขาเชื่อ เขาก็เชื่อนะ คนน่ะ แต่ถ้าคนเขาไม่เชื่อขึ้นมาแล้วนะ นี่ขึ้นขี่หลังเสือเอง แล้วจะลงจากหลังเสือ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่น ครูบาอาจารย์ของเราเขาไม่ได้ขึ้นขี่หลังเสือ ท่านอยู่กับสัจจะความจริงของท่าน เราไปศึกษาเองนะ เราไปศึกษาสิ่งนั้น แล้วเราอยากได้สิ่งนั้น แล้วครูบาอาจารย์ของเราไม่มีลูบหน้าปะจมูก
หลวงตาพูดบ่อย อย่างพวกเราลูบหน้าปะจมูก แต่สัจธรรมไม่มีลูบหน้าปะจมูก ผิดคือผิด ถูกคือถูก แต่พวกเรารับกันไม่ได้ บอกว่าผิด ไม่ยอมรับเลยจะถูกอยู่ข้างเดียว จะให้ถูกอยู่อย่างนั้นน่ะ คนเรามันก็มีถูกมีผิดทั้งนั้นน่ะ
เวลาถูกผิดจากสัจธรรมนี่นะ สัจธรรมไม่เอียงข้างให้ใครทั้งสิ้น ธรรมะไม่เคยเอียงข้างให้ใครทั้งสิ้น ถูกคือถูก ถ้าเป็นสมาธิก็คือเป็นสมาธิ แล้วสมาธิมาก สมาธิน้อย ไม่ใช่สมาธิมากจะยกขึ้นวิปัสสนาได้ง่ายนะ สมาธิมากสมาธิน้อยมันอยู่ที่จริตนิสัย เพราะคำว่าจริตนิสัย เช่น อย่างอาหาร อาหารบางอย่าง อาหารไม่มีน้ำเลย บางอย่างอาหารต้องใช้น้ำมาก
นี่ก็เหมือนกันสิ่งที่ทำ ถ้าจิตของเราไม่ต้องใช้น้ำมากเลย สมาธิเราแค่นี้เราพิจารณาได้แล้ว ไม่ต้องสมาธิเข้มแข็งขนาดไหนถึงพิจารณาได้ สมาธิเรานะถ้าเรามีพื้นฐาน อย่างเช่น ปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตมันปล่อยวาง มันว่างๆ คำว่าว่างๆ มันรู้ตัวมันเองนะ ไม่ใช่ว่างๆ แล้วจับต้องอะไรไม่ได้เลย ว่างๆ มีกำลังของมัน ว่างๆ นี่มันเห็นเลย เพราะถ้าจิตเราไม่ว่าง เราจะไม่เห็นความคิด ความคิดเหมือนเห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด ไข่กับจานของไข่ จานใส่ไข่ จานกับไข่ไม่ใช่อันเดียวกัน
ความคิดกับจิตมันไม่ใช่อันเดียวกัน จิตมันเป็นพลังงาน พอความคิดมันสงบเข้ามา มันจะเห็นความคิด ความคิดนะพอมันสงบมาเป็นจิตใช่ไหม จิตมันจะเห็นความคิดเห็นไหม มันเป็นเหมือน ถ้าเป็นไข่ก็มีเปลือกไข่กับเนื้อไข่ เนื้อไข่กับเปลือกไข่ก็คนละอัน นี่ไงความคิดกับจิตก็คนละอัน
ถ้าจิตสงบ จิตมันจะจับมันจะรับรู้กัน รับรู้กันมันจะจับต้องได้เห็นไหม การจับต้องได้ เราบอกว่า เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ กิเลสต้องขุดคุ้ยหามัน กิเลสเป็นนามธรรม กิเลสมันอาศัยขันธ์ ๕ อาศัยความคิดออกไปหาผลประโยชน์ของมัน ออกไปหาขันธ์ ๕ นี่กิเลสมันอาศัยสัญชาตญาณของเรา อาศัยสามัญสำนึกของเราออกไปหาเหยื่อ นั้นกิเลสมันอาศัยนี้ออกไปหาเหยื่อใช่ไหม
แต่กิเลสมันเป็นนามธรรมที่มันอาศัยสิ่งนี้อยู่ แล้วพอจิตมันสงบเข้ามา มันเห็นขันธ์ ๕ ใช่ไหม เห็นขันธ์ ๕ เห็นความคิดมันก็จับความคิด ทำไมคิดดี ทำไมคิดชั่ว ทำไมคิดแล้วมันคิดแต่ทำร้ายตัวเองพิจารณาความคิด ถ้ามันมีสติมันจะคิดพิจารณาได้ พอมันไม่มีสติสมาธิมันอ่อนลงนะ ความคิดเป็นเรา ก็เราไปคิดเองเออเอง มันเป็นอันเดียวกัน นี่ก็ต้องทำความสงบของใจให้มันแยกออกอีก พอแยกออกอีก จิตมันสงบแล้วมันจับความคิดได้ มันพิจารณาของมัน พิจารณาความคิด
พอพิจารณาความคิด ความคิดดี คิดผิด คิดชั่ว คิดดีต่างๆ นี่มันมาจากพลังงาน เพราะพลังงานเป็นอวิชชา มันอวิชชาเห็นไหม มันเป็นตัณหาความทะยานอยากที่มันเป็นแรงขับแรงปรารถนา มันต้องการการคาดหมายให้ได้ดั่งใจมัน พอมันคิดมันอาศัยพวกนี้ออกไป
ทีนี้พอปัญญามันไล่เข้าไป ไล่เข้าไป ขันธ์มันก็เป็นขันธ์เฉยๆ ความคิดเป็นความคิดเฉยๆ เห็นไหม ความคิดเป็นความคิดเฉยๆ นะ แต่ไอ้ที่เห็นผลดีเห็นผลชั่วเป็นเพราะตัณหาความทะยานอยากที่จิตต่างหากล่ะ มันจะหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามาเห็นไหม
เวลามันทำลาย มันทำลายจนขันธ์ ๕ กับจิตแยกออกจากกันเลย ขาดออกจากกันเลย ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่พระโสดาบันเกิดตรงนี้
พระโสดาบันไม่ได้เกิดที่.. เห็นนิพพานแว้บพระอรหันต์ ไม่มีหรอก เห็นนิพพานแว้บเป็น เพราะเขาไม่เข้าใจ เขาสรุปไม่ได้ไง เขาสรุปถึงกระบวนการของการทำงานนี้ไม่จบ กระบวนการทำงานของพระโสดาบันทำงานกันอย่างไร กระบวนการของพระสกิทา กระบวนการของพระอนาคา กระบวนการของพระอรหันต์มันไม่มี กระบวนการของโครงการที่จบกระบวนการของโสดาบัน สกิทา อนาคา อรหันต์ มันไม่มี พอมันไม่มี ในตำราสอนอะไร ตำราตรงไหนที่สรุปบ้าง
แต่ครูบาอาจารย์เราสรุปนะ หลวงปู่มั่นก็สรุป สรุปที่พิจารณากายอย่างไร พิจารณากายก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่กิเลส ไม่ให้กิเลสกับใครเลย เนื้อให้กิเลสกับใครได้ กะโหลกให้กิเลสกับใครได้ กายให้กิเลสใครได้
แต่ความผูกพันของจิตมันยึดแล้วมันไปทำลายเขาได้ มือของคน ดูสิเพชฌฆาตมันยิงคน มันเอาอะไรยิง มันก็เอานิ้วมันกระดิกไก นิ้วมันยิงคนได้ไหม แต่ทำไมนิ้วมันเหนี่ยวไกได้ล่ะ ก็ความคิดของใจมันไปเหนี่ยวไกเห็นไหม
แต่ถ้าเข้ามาถึงจิต แล้วจิตมันสะอาดแล้ว จิตเป็นธรรมมันเหนี่ยวไม่ได้นะ ชีวิตเขาชีวิตเรานะ ทำใครไม่ลงนะ ทำใครไม่ได้เลย ถ้าจิตมันไม่ทำแล้วนะ ทำใครไม่ได้แล้ว ทำใครไม่ได้ แม้แต่ตัวเองยังทำไม่ได้ แล้วจะทำข้างนอกได้อย่างไร ถ้าจิตมันสะอาดขึ้นมาแล้วทำไม่ได้
ฉะนั้นบอกว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่กิเลส แต่กิเลสมันอยู่ที่จิต แต่มันอาศัยสิ่งนี้ออกไปทำร้ายเขาต่างหาก แล้วสิ่งที่ทำร้ายเขาจับมันมา แล้วพิจารณามัน การวิปัสสนามันต้องหากิเลสให้เจอ ถ้าจับกิเลสได้ถึงวิปัสสนามันได้ หากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม ถ้ามันอาศัยสิ่งนี้ออกไป พอมันสะอาดขึ้นมาแล้ว พระอรหันต์เห็นไหม
พระอรหันต์ ขันธ์ ๕ ภาราหเว ปัจจักขันธา ขันธ์ ภาระ มันเป็นภาระที่ต้องดูแลกันไป มันไม่ให้โทษใครเลย
เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานเห็นไหม พระพุทธเจ้าจะเดินไปตายนะ ยังไปสอนพระจุนทะ ยังไปเอาพระสุภัททะให้เป็นพระอรหันต์ จะไปตายนะ เทศน์สอนเขาไปตลอดทางเลย
ไอ้เราจะไปตายนะ โอ้โฮ..เดินก็ขาอ่อนแล้ว บอกเย็นนี้จะตายเดินไปไหนก็ไม่ไหวแล้ว พระพุทธเจ้าจะไปตายนะ เทศน์สอนไปตลอดทางเลย ยังได้สุภัททะเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้าย นี่ไม่ตื่นเต้นเลยเห็นไหม
เพราะไม่มีอะไรที่มันมีคุณค่าเลย ไม่มีอะไรมีคุณค่าเลย เพราะว่าเวลาอยู่เห็นไหม จิตที่มันสะอาดแล้วมันอยู่ในร่างกาย มันก็ต้องรับผิดชอบนั่งนานก็เมื่อย อยู่นานก็หิว ก็ต้องดูแลมันไป ถึงที่สุดแล้วนะ พอมันจะตายแล้วนะ เออ..เลิกกันเสียที มึงอยู่นี่กูไปโน่น จบแล้ว กูไม่มีร่างกายไม่มีกระเพาะให้เติมอาหารอีกแล้ว พอใจตายไหม ไปด้วยความสุข ไปด้วยความพอใจ แต่พวกเราพอจะไปนี่ไม่ได้
นี่พูดถึงโดยตำรา โดยข้อเท็จจริงนะ มันไม่มีใครชี้ใครหรอก มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความจริงในใจ แต่กรรมชั่วนั่นแหละ มันเผาผลาญ อยู่ไม่เป็นสุขหรอก แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันมีความร่มเย็น อยู่ที่ไหนมันก็มีความร่มเย็น
หลวงปู่มั่นมีชีวิตเป็นแบบอย่าง อยู่ในป่ามาตลอด คนจะไปทำบุญกับหลวงปู่มั่นต้องซื้อทางเข้าไป พระจะไปหาหลวงปู่มั่น ต้องเข้าไปหาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นเห็นไหม เวลาพระเข้าไปแล้ว ไปทำตัวไม่ดี ท่านจะเอ็ดนะว่า หลวงปู่มั่นไม่ได้นิมนต์มานะ
เราไปหาท่านเองนะ เราไปหาหลวงปู่มั่นกันเอง ไปหาครูบาอาจารย์กันเอง แล้วเราจะมาเป็นทัพพีขวางหม้อ เอาแต่ทิฏฐิมานะมาขวางท่านอยู่ได้อย่างไร ท่านไม่เคยต้องการให้ใครไปหาท่านเลย บุคคลากรท่านเลือกของท่าน เพื่อเอามาเป็นประโยชน์กับศาสนาเรา เอามาเป็นประโยชน์กับผู้ที่รับช่วงศาสนามา นั้นพูดถึงท่านไม่เดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น คนทำความจริง คนมีความจริงในหัวใจจะไม่เดือดร้อน
แต่คนที่ไม่มีความจริง ถ้าพูดนี่พูดครั้งแรก แล้วถ้าวันนี้เราไม่พูด มันจะออกมาเรื่อยๆ จะปั่นกระแสเข้ามาว่า อย่าฟังคนอื่นให้ฟังตำรา แล้วก็เอาตำรามาเขียนไว้บนหน้าพระอรหันต์ อันนี้พระอรหันต์นะ แล้วพระอรหันต์จะชี้คนนะ ให้ฟังตำรา นี่คือหินถามทาง นี่หินก้อนแรกที่โยนออกไป โยนหินถามทาง โยนหินหาช่องทางออกไว้ ว่าต้องเป็นตำราเท่านั้นถึงจะชี้ได้ ใครก็ชี้ไม่ได้ยกเว้นแต่พระพุทธเจ้า
แต่หลวงตาบอกว่าสันทิฏฐิโก ถ้าตำราชี้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนชี้ พระอรหันต์จะไม่มีอีกแล้ว ต้องรอให้พระพุทธเจ้ามาเกิด แล้วให้พระพุทธเจ้าชี้
พระอรหันต์จะเกิดขึ้นมาจากหัวใจที่ผู้ปฏิบัติรู้จริงเห็นจริง เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาจริงๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรากราบ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ใครเป็นพระอรหันต์คนนั้นจะอยู่กับพระพุทธเจ้าโดยเนื้อหาสาระ โดยข้อเท็จจริงเลย ไม่ใช่ว่าตำราชี้
สันทิฏฐิโก ความจริงที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงอันนั้นชี้ ปฏิบัติจริงสมควรนะ ผู้ใดปฏิบัติสมควรแก่ธรรมตามข้อเท็จจริง ความเป็นจริงในหัวใจนั้นเป็นคนชี้ เอวัง