เทศน์เช้า

ธรรมจากใจ

๓๑ ก.ค. ๒๕๔๓

 

ธรรมจากใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

บอกเลยว่าเรานี่จริตเป็นอย่างไร ถ้าตรงทางไหน มันตรงปั๊บมันจะภาวนาไปเลย อย่างอาจารย์เราบอก ถ้าภาวนาแล้วตรง มันจะโล่ง มันจะสว่าง มันจะแบบว่าคล่องตัว นั่นน่ะมันไปได้ง่าย นั่นการภาวนา นั่นน่ะคือจริตนิสัยของตัว ดูอย่างเขาว่า เขาชอบในถ้ำ เห็นไหม มันจริตนิสัยไป

พวกเราศึกษาศาสนานี่เราศึกษาจากตำรา เราศึกษาศาสนาจากตัวหนังสือ ถ้าพูดจริงๆ ว่า เราศึกษาศาสนาจากกระดาษ กระดาษไม่มีชีวิต มันสื่อออกมามันไม่เข้าถึงใจ เราศึกษามา ทุกคนมีกิเลสโดยพื้นฐาน การตีความ ทุกคนต้องตีความเข้าความเห็นของตัว ถ้ามีความเห็นของตัวก็จะตีความเข้าความเห็นของตัว พอความเห็นของตัวนี่ ถึงว่าเราไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเราเห็นธรรมตามความเป็นจริง “ผู้ใดเห็นธรรมสมควรแก่ธรรม ต้องรู้ธรรม”

แต่พวกเราศึกษาในตำรามา เราศึกษามา ทำสมควรแก่ธรรม สมควรแก่การตีความ การตีความนี้เป็นสุตมยปัญญา เห็นไหม ปัญญามันมีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา สุตมยปัญญานี่มันเข้าใจลึกซึ้งมาก เราดีใจกันมาก เวลาศึกษาตำรามา นั่นน่ะสุตมยปัญญา สุตมยปัญญานี่เข้าไม่ถึงหัวใจไง

ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการแต่ละทีนี่ เทวดาสำเร็จ เป็นมรรคผลเลยนะ เพราะอะไร เพราะศึกษาใจถึงใจ การศึกษาธรรมะจากใจดวงหนึ่งให้กับใจดวงหนึ่ง เราเป็นการชุบมือเปิบมากๆ เลย ถึงว่า อำนาจวาสนาเกิดมาพบครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ชี้นำทางไป แล้วเราศึกษานี่ ใจดวงหนึ่งให้กับใจดวงหนึ่ง เห็นไหม ออกมาจากหัวใจ หัวใจดวงนั้นได้ผิดพลาดมาตลอด

หลวงปู่มั่นไม่มีครูบาอาจารย์มานะ ศึกษามาตลอด ศึกษามา แล้วเจ้าคุณอุบาลีฯ นี่เป็นปราชญ์เมืองไทยขนาดไหน เป็นปราชญ์เมืองไทยที่ว่าศึกษามา เพราะว่าท่านจบ ๓ ประโยค เจ้าคุณอุบาลีฯ นี่ ๓ ประโยค แล้วยังศึกษามาด้วยประสบการณ์ตรงของท่าน แล้วก่อนหน้านี้ นี่อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ไปคุยกันไง ไปคุยกันอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง พยายามจะให้เจ้าคุณอุบาลีฯ หันกลับมาวิปัสสนา คือว่าศึกษาธรรมะจากใจ อย่าศึกษาธรรมะจากกระดาษ

ศึกษาธรรมะจากกระดาษนั้นเป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐานของเรา เป็นข้อมูลเดิม ข้อมูลอันนี้เป็นข้อมูล ไม่ใช่ว่าอย่างนั้นนะ พระไตรปิฎกนี้ต้องกราบต้องไหว้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ต้องเคารพนะ เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่จะเข้าถึงพระธรรม เข้าถึงธรรมจริง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เห็นไหม สมควรแก่ธรรมด้วยหลักการอะไร ด้วยอำนาจวาสนาของใคร? ด้วยอำนาจวาสนาของที่ว่า การศึกษามาจากกระดาษ มันก็เป็นพระไตรปิฎก เป็นการจารึกจดจารมา นี่แน่นอนของจริง ต้องเคารพบูชา แต่ของนั้นเป็นของจริง ศึกษาจริงมา

เหมือนกับเงินในธนาคาร เงินในธนาคารนี่เงินจริงหรือเงินปลอม ธนาคารทั้งธนาคารเลย เป็นแสนๆ ล้านในธนาคารเลย แต่เป็นเงินของธนาคารเขา เห็นไหม เราไปศึกษาว่า แจ้งยอดบัญชีสิ้นปีนี้ยอดบัญชีในธนาคารมีเท่าไรๆ นั่นน่ะศึกษาตามตำรา ศึกษาตามจำนวนกระดาษ ตามตัวเลขที่จดไว้ในกระดาษของเขา คือการยืมมาไง การยืมมา การรับรู้ นี่การยืมมา การรับรู้ นั้นเป็นสุตมยปัญญา

จินตมยปัญญาคือการใคร่ครวญ การวิเคราะห์วิจัย การใคร่ครวญไป แบบนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์วิจัยไป มันจะได้สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นหลักทฤษฎีออกมาเป็นประโยชน์กับโลก นั่นเขายังมีประโยชน์กว่า เพราะเขาจินตนาการลึกกว่าการเข้าไปก็อปปี้ออกมาจากกระดาษนั้น แล้วคิดเป็นจินตมยปัญญาวนไปวนมาจนเกิดภาวนามยปัญญา เห็นไหม ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่มันไม่รู้จริง เราไม่มีความรู้เรื่องอย่างนี้เลย มันก็ต้องขัดข้องไปตลอด

แต่เวลาไปศึกษาธรรมจากใจ ใจจากใจไง ศึกษาธรรมเพราะใจเป็นสิ่งที่มีชีวิต ใจมีชีวิต ใจดีดดิ้น ใจอยู่ในการปกครองของอวิชชา นั่นน่ะ ความเห็นของตัวมันจะน้อมมา อุปาทานนะ อุปาทานส่วนลึกของใจ เราว่าไม่มี ก็จริงอยู่ มันลึกละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป มรรค ๔ ผล ๔ นะ กิเลสมันละเอียดเข้าไป หยาบเป็นชั้นๆ เข้าไป มันละเอียดเข้าไปๆ จนเข้าไปถึงที่ว่า อย่างอาจารย์พูด เห็นไหม อาจารย์บอกว่า ในตำราบอกว่าอวิชชานี่เปรียบเหมือนยักษ์เหมือนมาร อวิชชานี่เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวมาก แต่ทำไมเวลาคนเข้าไปพบอวิชชา ทำไมต้องไปสยบยอมอยู่กับอวิชชา เพราะอะไร เพราะมันไม่เคยเห็นไง มันละเอียดอ่อน มันเป็นความเห็นที่สุดสงวน รักที่สุดในหัวใจของตัว

แต่ในตำราองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งนี้เป็นเจ้าวัฏจักร เป็นพญามาร เป็นสิ่งที่ว่าต้องทำให้เราทุกข์ยากไปตลอด ทุกข์ยากไป เพราะความเห็นมันจะคลาดเคลื่อน คลาดเคลื่อนตรงนี้ไง ถึงพยายามศึกษา

ใจไง ใจถึงใจ ศึกษาธรรม ใจจากใจดวงหนึ่ง ใจของครูบาอาจารย์ถึงใจของพวกเรา แล้วศึกษาเข้าไปมันจะเป็นอย่างนี้ เห็นไหม เราฟังไปบ่อยๆ ดูอย่างวุฒิภาวะของเราสิ เมื่อก่อนเราพูดไปนี่จะไม่เข้าใจเลย แล้วอย่างเวลาเราเทศน์ขึ้นมานี่ “เอ๊ะ! พูดอะไร ไม่รู้เรื่อง” เพราะมันไม่มีในตำรา ไม่มีในตำรานะ แต่พอฟังไปๆ นี่สามารถพูดเอาจนแบบพระยังต้องยอมรับ เห็นไหม พระยังต้องยอมรับเพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะของเรามันเจริญขึ้นมาๆ นี่ศึกษาจากใจ ใจมีประสบการณ์ตรงของใจ

ถ้าพูดถึงตำรา เหมือนกับนักกฎหมาย นักกฎหมายนี่ตั้งกฎหมายข้อหนึ่ง แล้วอยู่ที่การตีความกฎหมายนั้น แล้วมีนะ ดูสิ อย่างตอนนี้ที่การปกครองมีปัญหามากเลย ต้องให้ตีความ ต้องรัฐธรรมนูญตีความ ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตีความไป เพราะกฎหมายนี่มันแล้วแต่คนตีความ เหมือนกัน หัวใจมีกิเลสตีความธรรมะ พอการตีความธรรมะ มันจะตีไม่เหมือนกัน พอตีไม่เหมือนกันก็ไปตามนั้นไป

แต่ถ้าพูดถึงเราเคารพนะ เราก็ยึดหลักนั้นไปก่อน แต่มันก็ไม่เห็นตามความเป็นจริง “น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้” ในหัวใจต้องมีอยู่ นี่ถึงต้องทำความสงบเข้ามา หลักการถึงว่า สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เห็นไหม การวิปัสสนาเหมือนกัน การขุดคุ้ยหาจำเลย กับการวิปัสสนานี่

ทีนี้ว่าถ้าเราไปใช้ปัญญาไปเลย มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา แต่ความจริงมันเป็นการใคร่ครวญให้ใจสงบเข้ามาที่ว่านี่ ให้แบบเวลาศึกษาธรรมแล้วสมควรแก่ธรรม เข้าใจความกระจ่างแจ้ง อันนั้นมันปล่อยวางชั่วคราว อันนั้นเป็นสมถะโดยธรรมชาติ แต่เวลาเราคิดไป เราไม่รู้ว่าอันนี้เป็นสมถะ ว่าอันนี้เป็นวิปัสสนา เพราะมันใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

แต่ถ้าหมดสมถะเข้าไปนะ นี่สมถะเข้าไปเพื่อจะตรงนี้ เพื่อจะไม่ให้ตีความคลาดเคลื่อนไง จากเดิมเราตีความด้วยความมีอุปาทาน มีความเห็นของตัว แต่พอสมถะมันเกิดขึ้น มันเป็นกลางอยู่ ความเป็นกลางคือว่า จิตนี้มันสงบอยู่ชั่วคราว พอชั่วคราวนี่มันเป็นกลางโดยชั่วคราว นี่วิปัสสนาโดยชั่วคราว เพราะอะไร เพราะการวิปัสสนาไปมันต้องวิปัสสนาไปบ่อยๆ วิปัสสนาหลายครั้งหลายหนเข้า ในมุตโตทัยบอก หมั่นคราด หมั่นไถ จนดินนั้นควรแก่การงาน จนดินนี้ควรแก่การปัก การหว่าน การไถ

ใจนี้ก็เหมือนกัน เราจะศึกษาด้วยความสกปรกนะ สกปรกคือว่า ใจเรามีความสกปรกอยู่นี่ เราอ่านไป ก็ถึงว่าศึกษาจากกระดาษ ถ้าศึกษาจากกระดาษแล้วมันก็เป็นความเห็นกระดาษ มันเป็นความเห็นวิชาการ วิชาการของโลก ไม่มีศาสนาเลยนะ แต่เดิมไม่มีศาสนาเลย ๑. พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาเกิดได้ ๒. คนทำคุณงามความดี ศีลธรรม ผู้ที่เกิดมามีหัวใจสูงหัวใจต่ำต่างกัน เกิดมาดีนี่ ใจเขามีศีลธรรมอยู่ ไม่มีศาสนาเขาก็ทำความดีได้ ทำความดีก็เป็นความดีโดยธรรมชาติ เป็นอัตโนมัติ ดีคือดี ชั่วคือชั่ว เด็ดขาด ใจผู้ทำนั้นถึงเป็นสมบัติไป ทีนี้อันนั้นเป็นศีลธรรมจริยธรรม

แต่ถ้าไม่มีองค์ศาสดาของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ มรรคไม่เกิด เพราะมรรคตัวนี้เป็นตัวทำลาย มรรคตัวนี้เป็นดำริชอบ เห็นชอบ งานชอบ เพียรชอบนี่ เข้ามาทำลายอวิชชาเท่านั้น นี่ธรรมตัวนี้ ไม่มีเหตุไม่มีผล “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากความไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีเหตุ ศาสนาจะมีผลไม่ได้ ไม่มีรอยเท้าในอากาศ รอยเท้าต้องปักบนพื้นดิน” เห็นไหม ถ้าไม่มีเหตุ เอาผลมาจากไหน รอยเท้าปักบนพื้นดินที่ไหน

ภวาสวะ ภพของใจไง ใจนี้เป็นภพ แล้วความคิดนี่ออกไปจากภพของเรา แล้วก็หมุนเวียนออกไป ออกจากความคิดของเรา แล้วใครเป็นคนไปศึกษาในตำรา? ก็ใจดวงนี้ไปศึกษาตำรา ใจดวงนี้ผ่านตา ผ่านหู หูได้ยินนี่ผ่านหู จิตใจมันอยู่ที่ภวาสวะ คือภพของใจ แผ่นดินน่ะ แผ่นที่หนักที่สุดคือหัวใจของเรา แล้วทำความสงบเข้าไปจนแผ่นดินนั้นสะอาด แผ่นดินนั้นพร้อม มันไม่สะอาดโดยธรรมชาติ แต่มันสะอาดด้วยการกดไว้ไง ด้วยธรรม ด้วยการกดของสมาธิธรรม

สมถกรรมฐานสามารถทำให้กิเลสสยบตัวลง ความสยบตัวลงตัวนี้สำคัญมาก สำคัญที่ว่ามันเป็นอิสระชั่วคราว ความคิดในอุปาทานมันจะน้อยลงไป แล้วยังต้องหมั่นคราดหมั่นไถบ่อยๆ เพราะความทำบ่อยๆ มันจะเห็นผลบ่อยๆ ความเห็น เห็นไหม ใจเห็น ไม่ใช่ตาเห็น ใจภายในเห็นความจริง ใจภายในต้องซึ้งใจตัวนั้น พอใจในเห็น ใจสลัด กิเลสอยู่ที่ใจ กิเลสไม่ได้อยู่ที่กาย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อดอาหารอยู่ ๔๙ วัน คิดว่ากิเลสอยู่ที่กาย พยายามจะละกัน เห็นไหม เพราะความจริงยังไม่เห็นกายกับใจแยกโดยธรรมชาติ ก็คิดว่าทำตบะธรรมนี่ คือว่าจะพยายามแผดเผามัน แผดเผาร่างกายนี่ มันจะเห็นธรรม

แต่เวลาผ่านไปแล้ว เห็นไหม ถึงบอกว่าพระไม่ให้อดอาหาร แต่ถ้าใคร...นี่อยู่ในอรรถกถามี “ถ้าภิกษุผู้ใดอยากใช้กลอุบายนี้ ตถาคตอนุญาต” อนุญาตเห็นไหม แต่เวลาห้ามนี่ห้ามโดยกฎหมายอยู่ในรัฐธรรมนูญ ห้ามโดยส่วนใหญ่ เพราะห้ามแล้วคนเราส่วนใหญ่จะไม่รู้ ก็ว่าการอดอาหารนี่เป็นความดีความชอบ เป็นการชำระกิเลส

มันส่วนปลีกย่อย ปลีกย่อยที่ว่า คนกินมาก คนนอนมาก ดูสิ เรากินมาก เราใช้มาก เราต้องไปลดความอ้วน เห็นไหม ต้องไปเสียเงินเสียทองน่ะ เพื่ออะไร? เพื่อให้มันเข้าพอดี อันนี้ก็เหมือนกัน กินมาก นอนมาก ทำให้กิเลสมันพองตัว มันสบายตัว มันคล่องตัวมัน เราอดอาหารเพื่อดัดแข้งดัดขาของกิเลสตัวนี้ เห็นไหม มันก็อ่อนตัวลง แล้วปัญญาที่จะวิปัสสนาไปอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

“ถ้าเป็นกลอุบายด้วยเพื่อการมาเป็นวิปัสสนา ตถาคตอนุญาต” บอกไว้ชัดๆ ในบาลีมี บอกไว้ชัดเจนว่าอนุญาต อนุญาตเฉพาะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แต่ไม่อนุญาตผู้ที่อวดตัว ผู้ที่อวดเก่ง ผู้ที่ว่าฉันอดอาหาร ฉันเป็นคนดี ปรับอาบัติทุกกฏ ทุกกิริยาเคลื่อนไหว การอวดอุตริ เห็นไหม นี่ไม่ใช่อวดอุตริ แม้แต่อดอาหารแล้วมาอวดว่าฉันอดอาหาร ฉันเก่งนี่ ปรับอาบัติทุกกฏนะ แม้แต่ทุกคำพูดที่พูดออกไป เห็นไหม ไม่อนุญาตสำหรับการมาโอ้อวดกัน แต่อนุญาตสำหรับผู้ที่อยู่ในป่าในเขา ที่ไม่มีใครรู้เห็น แล้วอดเพื่อตนเอง อดเพื่อเป็นวิธีการ เป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะชำระกิเลส นี่เห็นไหม ศึกษาศาสนาจากใจ มันต้องเข้าไปชำระกิเลสในใจ

ถ้าเราศึกษาศาสนาจากตำรา มันก็ขอบของระบบไง มันอยู่ในระบบนั้น แต่ถ้าเรานอกระบบนี่ มันมีนอกระบบเพราะอะไร เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ใบไม้ในกำมือ” กรอบนี้ แค่นี้ แต่เป็นหลัก เหมือนกับรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญนี่การทำงานอาจจะแยกไปทางไหนบ้าง แต่ไม่ผิดนะ เจตนานี่การทำไม่ผิด หมายถึงไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่ออกนอกกรอบได้ ออกนอกกรอบเพื่องานอันนั้น เห็นไหม ศาสนาปฏิบัติ ศึกษาจากใจ เข้าถึงใจ เอวัง