เทศน์เช้า

ขอบกระด้ง

๓ มิ.ย. ๒๕๔๓

 

ขอบกระด้ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องวัฏฏะ ว่ามดไต่ไปในขอบกระด้ง ถ้ามดไต่ไปในขอบกระด้งนี่ มันเหมือนกับว่าวัฏวน มดไต่ไปในขอบกระด้ง เห็นไหม พอเวลาไต่ถึงขอบกระด้งตรงไหนก็เป็นภพชาตินั้น แล้วก็ไต่ไป มันก็เหมือนกับใหม่ไปเรื่อย ๆ แต่ไต่ไปในขอบกระด้ง มันหมุนไป พอไต่ไปมันเป็นของเก่า วัฏวนเป็นของเก่า เราก็นึกว่าภพชาติเกิดมามันยึดมั่นถือมั่น อันนี้นี่ถ้าไต่ไปในขอบกระด้ง

นี้เวลาประพฤติปฏิบัติเข้ามา เวลาทำความสงบเข้ามา มันไม่ใช่อยู่ตรงขอบกระด้งนั้นแล้ว ถ้าประพฤติปฏิบัติเข้ามานี่ มันเหมือนกับเข็มนาฬิกา มันมาอยู่ตรงกลางของขอบกระด้งนั้น แล้วเข็มนาฬิกานั้นมันหมุนเวียนไป ๆ พร้อมทั้งสงบเข้ามา แต่ถ้าโลกุตตระกับโลกียะมันแบ่งแยกกันตรงนี้ไง ถ้าเป็นโลกียะนะ มันอยู่ตรงขอบกระด้งนะ มดกับขอบกระด้ง มดนี่มันไต่บนขอบกระด้ง หมายถึงว่าภพชาติมันเกิดตรงนั้น มันจะเป็นเนื้อเดียวกัน มันไม่สามารถแบ่งแยกอารมณ์กับใจออกจากกันได้ อารมณ์กับใจมันจะเป็นเนื้อเดียวกัน

อย่างพวกเรานี่ อารมณ์กับใจเป็นสิ่งเดียวกัน แต่พอทำความสงบเข้าไป อารมณ์เป็นอารมณ์ ใจเป็นใจ เพราะมันสงบจากอารมณ์เข้ามา มันถึงว่ายกจากมดตัวนั้น เลื่อนมาอยู่ตรงกลางของขอบกระด้งนั้น แล้วเข็มนาฬิกาหมุนไป พอหมุนไปนี่อารมณ์มันเกิดขึ้น ๆ จิตมันสงบมันสงบมาอย่างนั้น มันแยกกันตรงนี้ไง ตรงถ้าเป็นขอบกระด้งนี่เป็นโลกียะ หมุนไปเวียนไป ๆ เวียนไปถึงชาติใด เกิดขึ้นมาใหม่ก็เป็นว่าเกิดมาเป็นชาตินั้น ก็เป็นชาตินั้น เพราะอยู่ที่ขอบนั้น ยึดอยู่ที่ขอบ ขอบของวัฏฏะไง ขอบของวัฏฏะที่หมุนเวียนไป แล้วก็หมุนไปเรื่อย ๆ

แล้วเพราะเรามาพบพุทธศาสนา ถ้าอยู่ที่ขอบของวัฏฏะ เห็นไหม เราเชื่อในหลักของศาสนา แล้วเราประพฤติปฏิบัติเพื่อให้จิตนี้สงบเข้ามา ห่างออกมาจากโลกียะเป็นโลกุตตระ จุดศูนย์กลางของการไปไต่ที่ขอบกระด้งนั้น เพราะว่าจุดศูนย์กลางมันไม่มี มันมองไม่เห็น เพราะว่ามันไม่ได้ทำความสงบ มันถึงไม่เห็น มันเห็นเป็นเราทั้งหมด เพราะเป็นเรา เราก็ยึดตรงขอบนั้น ยึดตรงขอบนั้นตลอดไป

แล้วความคิดมันก็หมุนเวียน เอาขอบนั้นมาเป็นจุดศูนย์กลาง มันก็ไม่เป็นสัมมาสมาธิ เพราะขอบของนั้นมันก็เป็นขอบของนั้นไป แต่ถ้าเป็นจุดศูนย์กลางนี่ ทำสมาธิความสงบเข้ามา เป็นจุดศูนย์กลาง เห็นไหม เพราะทำสมาธิขึ้นมา มันถึงเลื่อนจากขอบนั้นมาเป็นจุดศูนย์กลาง เป็นสัมมาสมาธิ

เหมือนเข็มนาฬิกาหมุนไป พอหมุนไปอยู่ตรงไหนอารมณ์ก็เกิดขึ้น อารมณ์เกิดขึ้นหมุนเวียนไป ๆ อารมณ์เกิดขึ้น มันอยู่ตรงนั้น มันแยกออกมา แยกออกจากกัน แยกให้เห็นออกจากกันว่าอันนั้นเป็นโลกียะ นี่ถ้าความคิดของขอบกระด้งนั้น มันเอาขอบนั้นเป็นศูนย์กลาง มันถึงเบี่ยงเบน มันถึงเอียงเอนเข้าข้างเราตลอด มันเบี่ยงเบนประเด็นเพราะมันเอียง มันไม่เสมอภาค มันเห็นเราเป็นใหญ่ ความคิดถึงเป็นเรา

นี่โลกียะมันยึดมั่นในตัวตน มันยึดมั่นเราของเรา แล้วมันก็หมุนไป ๆ เอาจุดศูนย์กลางของเราหมุนไป มันถึงไม่เป็นภาวนามยปัญญา มันเกิดเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมาไม่ได้ มันเป็นสุตมยปัญญา แต่ถ้ากระเถิบเข้ามา พอกระเถิบเข้ามาก็เป็นจินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญานี่จุดศูนย์กลางของกระด้งนั้น แล้วเข็มมันหมุนไปตามขอบ หมุนตามขอบเพราะอะไร? เพราะเห็นโทษของขอบไง เห็นโทษของวัฏฏะไง เห็นโทษของวัฏฏะมันก็ต้องเข้าใจวัฏฏะนั้น

นี่เริ่มเห็นโทษ เห็นโทษมันก็ปล่อยวาง นี่ตทังคปหาน เห็นโทษแล้วปล่อยวาง ๆ แต่มันไม่สามารถสมุจเฉทปหานได้ เพราะว่าความชำนาญมันยังไม่พอเพียง ความชำนาญมันต้องพอเพียงขึ้นมา พอความชำนาญพอเพียงของเข็มนาฬิกานั้น เข็มนาฬิกานั้นหมุนไป แล้วมันหมุนไปโดยธรรมชาติของมัน หมุนจนคล่องตัวไป ๆ ๆ ๆ

จุดศูนย์กลางนั้น จุดศูนย์กลางของกระด้งกับขอบกระด้งมันห่างกัน วัฏฏะกับจิตที่เกิดนี้คนละอัน จิตนี่เกิดในวัฏฏะเป็นเสวยภพชาติ ขอบของกระด้ง วัฏวน เห็นไหม วัฏฏะ วิวัฏฏะ วัฏฏะคือจิตนี้มันต้องหมุนไปตามขอบกระด้งนั้น วิวัฏฏะ จิตก็มีอยู่จุดศูนย์กลางนั้น แต่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับวัฏฏะนั้น มันทิ้งวัฏฏะนั้นออกมาด้วยภาวนามยปัญญา

นี่ถึงบอก พูดไว้หน่อยนึงว่าขอบของกระด้ง ถ้าให้มันจุดศูนย์กลาง เพราะว่าในนั้นตรงนี้มันข้าม ๆ ไป มันข้าม ๆ ช่วงนี้ไปเรื่องขอบกระด้ง เอ้า! เน้นไว้หน่อย แล้วไปฟังแล้วมันจะเป็นเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง เพราะในนั้นเทศน์อีกอย่างหนึ่ง เทศน์เรื่องความผิดพลาด เรื่องระหว่างขอบของกระด้งกับเรื่องจุดศูนย์กลาง แล้วไม่เป็นสัมมาสมาธิ ไม่เป็นมรรคอริยสัจจัง มรรคนี่ไม่เป็นสัมมา สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ไม่มีความเห็นชอบ มันเอนเอียงไป ความเอนเอียงไปมันถึงว่า ภาวนาแล้วไม่เป็นผล

ความภาวนาที่ไม่เป็นผล เพราะว่าเราสร้างเป้า สร้างเป้าคือตัณหาความทะยานอยากเกิดขึ้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันละที่สมุทัย แต่ถ้าภาวนา ความเห็นของตัวเอง มันไปเอาผลของสมุทัยเป็นเรา มันกลับไปยึดสมุทัย ยึดสมุทัยเพราะความอยาก อยากได้ผลก่อนไง อยากได้เหตุได้ผลก่อนที่มันจะเกิดตามความเป็นจริง ถ้ามันเกิดตามความเป็นจริงอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ถ้านาฬิกานี้หมุนไป ความชำนาญหมุนไป มันจะเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน มันหมุนเป็นธรรมชาติของมัน นี่ภาวนามยปัญญาจะเกิด เกิดเพราะเป็นธรรมชาติของมัน มันหมุนคล่องตัวขึ้นไป

แต่เพราะเราหมุนไปรอบ ๒ รอบแล้วคิดว่า พอหมุนอีกรอบ มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากภายใน พอมหัศจรรย์เกิดขึ้นจากภายใน ตัณหาความทะยานอยากเป้าลวงเกิดขึ้น เป้าลวงเกิดขึ้นนี่ ตทังคปหานเกิดขึ้น ปล่อยวาง...มหัศจรรย์มาก แต่เพราะตัวนี้มันทำให้เรายึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นอะไร? ยึดมั่นถือมั่นอีกชั้นหนึ่งขึ้นมาไง เพราะเรารู้เราเห็นไง นี่กิเลสมันบังเงาเข้ามา บังเงาเข้ามาก็เลยว่าอันนั้นเป็นผล

นี่ถึงว่าชี้ให้เห็นระหว่างขอบกับจุดศูนย์กลางคนละส่วนกัน ขอบหมายถึงวัฏฏะ หมายถึงเรา หมายถึงว่าสิ่งที่เป็นไปเรายึดมา เพราะใจกับกายนี้ อารมณ์กับใจ ใจทุกอย่างยึดมั่นถือมั่นอยู่ที่ขอบนั้น แล้วถ้าเอาขอบนั้นวิปัสสนานี่มันไม่เป็นกลาง มันต้องเลื่อนมาตรงกลางนั้น คือสัมมาสมาธิเกิดขึ้นก่อน สมาธิที่เป็นประโยชน์ขึ้นมานี่ สัมมาสมาธิเกิดขึ้น พอสัมมาสมาธิเกิดขึ้นมามันก็เป็นเครื่องมือชี้ออกไปที่ขอบกระด้งนั้น ชี้ไปที่วัฏฏะนั้น วัฏฏะ เห็นไหม ชี้ไปที่กายนั้น

กายนี่ขอบของกระด้ง ผลของกายเกิดขึ้นมาจากการเกิดนั้น กายนี้ไม่ใช่ใจ มันก็ห่างออกไป กายกับใจแยกออกจากกัน แยกออกจากกันด้วยสมาธิ ทำสมาธิสงบ ๆ เข้าไปนี่ มันสามารถปล่อยกายได้ แต่ปล่อยโดยธรรมชาติของมัน ไม่ได้ปล่อยด้วยสมุจเฉทปหาน ด้วยปัญญา ปล่อยโดยธรรมชาติของจิตที่มันเป็นธรรมอยู่แล้ว ธรรมนี้มีอยู่โดยธรรมชาติ พระพุทธเจ้ามารู้ธรรมอันนี้ไง ปล่อยอันนั้นมันปล่อยไม่ขาด

แต่ถ้าปล่อยด้วยสมุจเฉทปหานด้วยปัญญา มันปล่อยขาด นี่เห็นโทษ เห็นกายกับใจแยกออกจากกันด้วยสมาธิอย่างหนึ่ง เห็นกายกับใจขาดออกจากกันด้วยวิปัสสนาญาณนั้นอย่างหนึ่ง เห็นไหม อาสวักขยญาณ ญาณที่เกิดขึ้นกำจัดอาสวะทั้งหลายที่เกาะเกี่ยวผูกมัดเป็นอันเดียวกันอีกอย่างหนึ่ง อาสวักขยญาณคือญาณสุดท้ายที่สมุจเฉทจุดศูนย์กลางนั้น จุดของขอบกระด้ง จิตดวงนั้นต้องทำลายทั้งหมด

สิ่งที่ทำลายทั้งหมด เห็นไหม ยิ่งทำลายยิ่งผ่องใส ยิ่งทำลายยิ่งประเสริฐ การทำลายนั้นประเสริฐ การฆ่ากิเลส การชำระกิเลส การสมุจเฉทปหานกิเลส กิเลสมันอยู่ที่ใจ ต้องทำลายลงไปที่ใจทั้งหมด ทำลายลงไปที่จุดศูนย์กลางที่มันเกิดทั้งหมด ไม่ใช่ทำลายที่ขอบนั้น แต่ด้วยความคิดของทั่ว ๆ ไปต้องคิดว่าทำลายจุดที่มันอยู่ตรงนั้นคือขอบอันนั้น ถ้าขอบอันนั้นแล้วมันเอียง มันไม่พอดี ความไม่พอดี ความไม่พอดีไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันเอียงข้าง มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นกามสุขัลลิกานุโยค เพราะความพอใจความคิดของตัวมันหยุดอยู่ตรงนั้น ความเป็นตรงนั้น เป็นโลกียะ

แต่ถ้าเลื่อนมาด้วยสัมมาสมาธินี่ มันจะเลื่อนมาเอง ๆ มันหลุดมาเอง มันเบามาเอง มันเป็นอิสระจากขอบนั้นออกมา ความคิดขึ้นมาถึงเป็นกลางไง ความคิดที่เป็นกลางเกิดขึ้นจากสัมมาสมาธิตัวนี้ มันเป็นธรรมอยู่โดยธรรมชาติแล้ว ความคิดที่เป็นกลาง นี่พอเป็นกลางแล้วมันก็ยังมีเราอยู่ในจิตใต้สำนึกนั้น วิปัสสนาไปจนเราอันนั้นก็ไม่มี เราไม่มี มัคคะถึงสามัคคี มรรคสามัคคีมันหมุนไปโดยธรรมชาติของมัน

เริ่มต้นจากเราขับไสขึ้นไป แล้วพอมันหมุนเวียนออกไปมันก็จะหมุนเวียนออกไปโดยธรรมชาติของมันอันนั้น ธรรมชาติของมันอันนั้นจะออกไปทำลายออกทั้งหมด ๆ อันนั้นถึงเป็นผลแท้ ถ้าผลแท้นั้นเกิดขึ้น นี่ขอบของกระด้ง เพราะว่าถ้าตรงนี้มันไม่ได้พูด มันยังคาใจอยู่ คาใจอยู่ว่าระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ ถ้าโลกุตตระแล้วนี่ มันเป็นนามธรรมซ้อนนามธรรม นามธรรมนี้ละเอียดเข้าไป ซ้อนเข้าไป

เหมือนเงากับกาย เห็นไหม มีกายเงาเกิดขึ้น แต่คนเห็นว่าเงากับกายนี่ ถ้าไปตื่นที่เงา เห็นมันเคลื่อนไหวได้ กายนี้ต่างหากที่มันของมั่นคง แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงแล้ว กายนี้คือตัวจิตกลับมองไม่เห็น มันเห็นแต่เงาไง เงากลับ...เหมือนสลับกัน เงากับกายนี้มันสลับกัน ข้างนอกกับข้างในสลับเป้าหมายกัน ความเห็นชัดจะต่างกัน พอเห็นชัดต่างกันนี่มันก็ยึดต่างกัน ไปยึดที่เงา ถ้าบอกกันพูดทางโลกว่า “ยึดที่เงา” นี่เราก็ต้องไม่เอา เพราะกายสำคัญกว่าเงา

แต่เวลาวิปัสสนาเข้าไปแล้ว มันเห็นเงาขึ้นมานี่ อาการของใจมันเห็นได้หมด เพราะใจเป็นผู้ไปเห็น เพราะตัวเราเห็นของเขา เห็นเงาอันนั้น พอเห็นเงาอันนั้นก็ตื่นเงาอันนั้น ตะครุบเงาอันนั้นไง ความตะครุบเงาอันนั้น ตะครุบเข้าบ่อย ๆ เห็นไหม ตะครุบแต่เงา ๆ มันถึงไม่เป็นสัมมา มันถึงไม่เป็นวิปัสสนาญาณเข้าไป ตะครุบที่เงาก็ตะครุบที่ขอบ ตะครุบที่ขอบมันก็เอียงข้าง ไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา โดยธรรมชาติของมัน เป็นไปโดยธรรมชาติของมันเลย

แต่ผู้ภาวนาใหม่นี้ไม่รู้ ผู้ภาวนาใหม่ธรรมดาต้องเคลิบเคลิ้มไปโดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติของกิเลส เห็นไหม ธรรมนี้ถึงเหนือกิเลสไง ธรรมนี้เหนือกิเลส เหนือธรรมชาติทั้งหมด ธรรมชาตินี้เป็นสภาวะที่แปรปรวนโดยธรรมชาติของมัน สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็น...

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)