เทศน์เช้า

กาลามสูตร

๒๕ มิ.ย. ๒๕๔๓

 

กาลามสูตร
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ผีพื้นบ้าน...คิดเอาเองน่ะ ตามหลักกาลามสูตรถึงได้บอกว่า ไม่ให้เชื่อตาม ๆ กันมา ไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน ไม่ให้เชื่อ ให้เชื่อหลักความจริง นี่เชื่อว่าตาม ๆ กันมา เหตุผลสอนตาม ๆ กันมา ครูบาอาจารย์สอนตาม ๆ กันมา ตามกระแสไง เชื่อตามกระแส เชื่อตามตื่นข่าวไป

“กาลามสูตร” พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้เลย อันนี้เป็นหลักของศาสนาที่ว่าเยี่ยมมาก จน ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้วสอนไว้ไง กาลามสูตร ชาวกาละบอกเลยว่า “อย่าเชื่อ ๆ” เขาไปถาม ถามว่า “ใครมาก็ว่าศาสนาเขาแจ๋ว ใครมาก็ว่าของเขาดี พระพุทธเจ้าว่าไง” พระพุทธเจ้าบอก “อย่าเชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อใครทั้งสิ้น แม้แต่ตถาคตก็อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ฟัง แล้วประพฤติปฏิบัติให้ได้สมจริง”

มันก็ถึงมาเข้ากับหลักของศาสนาเรา พระพุทธเจ้าบอกให้ปฏิบัติจริง ตามสัจจะความเป็นจริงนั้นมันจะเข้ามา นี่ก็เหมือนกัน เชื่อตาม ๆ กันมา พับแล้วมันจะอาภัพ ก็พับดอกไม้เพื่อความสวยงาม อำนาจวาสนาอยู่ที่เราพับกระดาษนั้นหรือ? อำนาจวาสนามันเกิดตาย ๆ มาสะสมมา จิตน่ะเกิดตาย ๆ มา แล้วหมักหมมมาในใจของเรา มันทุกข์ยากอยู่ในใจของเรานี่ขนาดไหน ใจเรานี่หมักหมมมานะ มันเกิดตาย ๆ มา เกิดตายมาตลอด

จนมาพบพุทธศาสนา เห็นไหม การทำบุญกุศล ทำทานนี่เปิดประตูระบายน้ำออก ที่มันขังไว้ให้มันระบายออก เจตนาที่มันแสดงอยากจะทำบุญกุศลนี่มันพุ่งออกไป ความคิดอยากทำ ความคิดอยาก เห็นไหม เพราะเราเวลาคิด คนเรามันทุกข์ขึ้นมานี่มันทุกข์ที่หัวใจ แล้วก็สะสมมาที่ใจ ทุกข์กับใจ แล้วก็ย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำเรื่องทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย

ย้ำคิดย้ำทำในกำหนดพุทโธ ๆ ๆ เพื่อภาวนา อันนี้เยี่ยมมาก พุทโธ ๆ เห็นไหม ย้ำคิดย้ำทำ พุทโธนี่แบบว่าเป็นสิ่งที่สะอาด เป็นพุทธานุสสติ พูดชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย้ำเข้าไป ๆ เพื่อให้จิตมีอาหารกินไง จิตนี้กินแต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นจากภายใน เห็นไหม อารมณ์เกิดขึ้นมาจากใจ แล้วมันก็กินอาหารอันนั้นไปตลอด ความคิดย้ำคิดย้ำทำ ย้ำอยู่ในความคิด ย้ำจนแบบเสียสติไปเลย เสียจริตเสียไปได้

แต่เวลาอาหารเป็นธรรมเข้าไป นี่อันนี้เวลาธรรมน่ะมันมาจากข้างนอก มาจากข้างนอก แล้วนึกขึ้นมานี่ อาหารที่ว่ามันไม่เคยกิน มันถึงว่าย้ำคิดย้ำทำ ถ้าย้ำคิดย้ำทำแต่เรื่องความคิดในหัวใจ เรื่องสะสม เรื่องของกิเลส มันจะทำให้เราเศร้าหมอง จนถึงกับทำลายตัวเองได้นะ คนที่ทำลายตัวเองเพราะมันไม่มีทางออก อันนั้นมันเป็นสิ่งที่ว่าหมักหมมอยู่ที่ใจ มันหมักหมมมาตลอด มันอยู่ภายใน

กายกับใจ เห็นไหม หัวใจอยู่ในร่างกายของเรา แล้วก็คิดแต่เรื่องของเก่า ทีนี้สิ่งที่เรามาเจอศาสนานี่ เจอพุทธศาสนา ศาสนาสอนเรื่องทาน ศีล ภาวนา อยู่จากภายนอก แล้วเราก็เจตนาทาน ศีล ภาวนา เห็นไหม นี่ก็สื่อ สื่อสิ่งที่แสดงออกไป เป็นกระแสออกไป เป็นสื่อออกไป แต่พลังงานไฟฟ้าไง สื่อพลังงาน เห็นไหม แต่ตัวพลังงานคือตัวหัวใจ พลังงานสื่อออกไปนี่ มันเปิดไอ้ของที่หมักหมมออกไป แล้วก็บุญกุศล เนื้อนาบุญ เห็นไหม เนื้อนาบุญเป็นปุญญักเขตตังของเรา

นี่มันจะเข้า ถ้าเข้ามาไม่ได้ ใหม่ ๆ มันจะเข้ามาไม่ได้ มันก็เพราะว่ามันไม่เคย สิ่งที่มันต่อต้านอยู่ภายใน จะไปทำบุญกุศลมันถึงทำได้ยาก ถ้าเราลงไปอย่างทางโลกเขา เห็นไหม ไปตามกระแสโลกไปได้ง่าย เชื่อตามอย่างนั้น เชื่อไม่มีเหตุมีผล เชื่อมันพาเชื่อ แต่ปัญญาไม่เกิด ถ้าปัญญาพาเกิด เห็นไหม ความเชื่อของเราต้องประสบการณ์ตรง

นี่หลักของการวิปัสสนา หลักของการทำความสงบ หลักของการบำเพ็ญกุศล บำเพ็ญกุศลจากภายนอก ถ้าบำเพ็ญกุศลเข้าไปนี่ ไปแล้วมันยังไม่ถูก ถูกอกถูกใจไปอย่างหนึ่ง ถ้าไปแล้วถูก เห็นไหม เชื่อในครูบาอาจารย์ขึ้นมานี่ ความเชื่ออันนั้นมันชักนำไป ศรัทธาความเชื่อชักนำไป ๆ แล้วสะสมเข้ามา นี่ฟังธรรมเข้ามา ธรรมหมายถึงว่าความเข้าใจไง

เหมือนเด็กน่ะ เด็กเรามันไม่รู้เรื่องเลย เราสอนให้มันเข้าใจ ธรรมอันนี้ก็สอนหัวใจไง หัวใจมันเป็นนามธรรม ศาสนานี้เป็นเรื่องของนามธรรม ศาสนธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เห็นไหม พระพุทธ พระธรรม พระธรรมคือศาสนธรรม พระสงฆ์ พระสงฆ์จำมา พระสงฆ์ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วก็มาสอนเรา แต่พระสงฆ์ถ้าปฏิบัติประพฤติมานี่ มันจะจำแนกแจกแจงเรื่องของหัวใจได้จริง

อาภรณ์ของใจ เห็นไหม ศีลคืออาภรณ์ของใจ ใจนี่มันอยู่ปกติเลย เหมือนกับที่ว่า หมักหมมนี่มันความคิด คิดของตัวเอง อาภรณ์คือความประดับใจ ถ้าใจมีสิ่งนี้เข้าไปประดับใจ อาภรณ์น่ะศีล ศีลมันกั้น อาภรณ์คือเครื่องกางกั้น ไม่ให้มันไหลไปตามนั้นไป

แล้วธรรมนี่ ฟังธรรม ธรรมหมายถึงว่า กิริยาความคิดอย่างนี้ เห็นไหม มันแยกแยะได้ กุศลอกุศลเกิดขึ้นมานี่ เราแยกไม่ถูก แต่ธรรมจะแยกออกไปว่าสิ่งนี้ทำแล้ว พระพุทธเจ้าสอนว่า “สิ่งใดก็แล้วแต่ ทำแล้วนึกถึงย้อนหลังแล้วน้ำตาตก คอตก สิ่งนั้นไม่ดีเลย” สิ่งนั้นถ้าย้อนคิดกลับไป สิ่งใดคิดกลับไปแล้วอาจหาญรื่นเริง สิ่งนั้นเป็นบุญกุศล

แต่ที่ว่าเราคิดถึงว่า เราทำมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีสักเท่าไร แต่เราทำคิดว่า “สิ่งนั้นก็ผิด สิ่งนี้ก็ผิด ไม่ควรเลย ไม่ควรเลย” เพราะอะไร? เพราะขาดสติขาดสัมปชัญญะการยับยั้งของเรา เราถึงต้องฝึกฝนขึ้นมา ถ้าฝึกใจเข้มแข็งขึ้นมานี่ เห็นไหม เวลาคนเขามา คนที่มีอายุมากน่ะ พระเด็ก ๆ พระเด็ก ๆ จะมาสอนอะไรเขา พระเด็ก ๆ พระเด็กหรือไม่เด็กไม่สำคัญ สำคัญจริงหรือไม่จริง รู้จริงหรือไม่จริง

เราว่าเราเป็นผู้ใหญ่น่ะ ผู้ใหญ่แต่เปลือก ผู้ใหญ่แต่เปลือกหมายถึงว่า มีชีวิตอยู่ ดำรงในชีวิตนี่ เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา อายุขัยมาก เป็นผู้ใหญ่เพราะอายุขัยมาก แต่มันสะสมเข้ามา เรื่องสะสมคือเรื่องหัวใจ สะสมแต่ความหมักหมมมาในหัวใจ แล้วพอจะมาเป็นผู้ใหญ่จริงทำไมนั่งภาวนาไม่ได้ ถ้าผู้ใหญ่จริงต้องทรงกายไว้ได้จริง เวลานั่งภาวนาทั้งคืน ๆ นี่ หรือทรงใจเอาไว้ได้ เวลากำหนดพุทโธขึ้นมา นี่ทรงไม่ได้ มันเหลาะแหละยิ่งกว่าเด็ก ๆ

ยิ่งกว่าเด็ก ๆ เพราะอะไร? เพราะหัวใจมันเคยใจ เคยใจกับความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา อารมณ์ที่เกิดขึ้นมันเสวยไป มันกินแต่อารมณ์ไปอยู่ในใจ หัวใจนั้นมันเสวยไปตลอด มันก็เคย พอมันเคยขึ้นมามันก็เหมือนกับเด็กอ่อนไง เพราะว่ายืนตัวเองไม่ได้ ตัวเองยืนแล้วล้ม ๆ ทรงใจไว้ไม่ได้ ตั้งใจไว้ให้เป็นเอตทัคคะไม่ได้ ตั้งใจให้เป็นหนึ่งโดยไม่ได้ ใจนี้ล้มลุกคลุกคลานไป มันถึงว่ายิ่งกว่าเด็ก ๆ

มีแต่อายุขัยเฉย ๆ ว่าตัวเองมีอายุขัย แล้วว่าพระเด็ก ๆ พระเด็ก ๆ พระเด็ก ๆ เอาอะไรมาสอน พระเด็กหรือไม่เด็กจำเป็นแต่ว่าข้างในทำได้จริง ถ้าทำได้จริงมันก็จำแนกสิ่งที่ว่าเป็นประโยชน์และเป็นโทษได้จริง เป็นประโยชน์เป็นโทษได้จริงนั่นน่ะธรรมไง มันเป็นธรรม พอชี้เข้ามาในหัวใจของเราถึงยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับ เอาแต่ข้างนอกมาว่ากัน ถ้าพระเด็ก ๆ ไม่มีหลักก็จะเชื่อเขาไป

แต่เชื่อเขา ถ้าเขาดีจริงเขาต้องทำสิ่งที่ว่า หนึ่ง หลวงปู่ฝั้นบอกไง แม้แต่ผมดำ ๆ บนหัวยังสละไม่ได้เลย คุยกันแต่มรรคผลนิพพานนะ จะเข้าถึงมรรคผลนิพพาน ๆ แม้แต่เส้นผมบนศีรษะยังไม่สามารถสละได้ ไม่สามารถสละโลกได้ แล้วจะไปเอาอะไรที่เกินกว่านั้น ท่านถึงไม่ค่อยฟังเรื่องของคฤหัสถ์มาพูดเรื่องการภาวนา

แต่เดี๋ยวนี้ทำได้จริงเพราะว่า เดี๋ยวนี้มุ่งมานะความจริงของเขา จริงหมายถึงว่า ถ้าเขาทำได้จริง มันต้องพูดออกมาตามหลักความจริง ไม่ใช่ว่าคิดเอาเอง คิดเอาเองแล้วว่าไป เห็นนิมิต เห็นอะไรไป หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “เห็นนั้นเห็นจริง ผู้ที่เข้าไปเห็นน่ะ เห็นนิมิตเห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง เพราะนิมิตเกิดขึ้นจากความหลอกของใจ” นิมิตขึ้นมาใหม่ ๆ นี่มันจะหลอกไปก่อน เพราะยังมีกิเลสอยู่ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ จะเป็นสิ่งที่หลอกไปก่อน แต่มันเพียงแต่สัมผัสเปิดโอกาสให้ใจนี่มันรับภาพได้ ใจนี่มันเกิดความเป็นอิสระขึ้นมา อิสระขึ้นมามันจะเห็นสิ่งต่าง ๆ

ความเห็นนั้นเป็นนิมิตไง สิ่งที่เป็นนิมิตน่ะ ความเห็นนั้นเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง เห็นไหม ฉะนั้น เวลาเขาสื่อออกมาถึงจะรู้ตรงนั้น ถ้ารู้ตรงนั้นออกไปมันจะทำขึ้นไปเรื่อย ๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ วุฒิภาวะของใจก็ก้าวขึ้นไปเรื่อย ๆ ก้าวขึ้นไปเรื่อย ๆ สิ่งที่หมักหมมในหัวใจนี้ก็หลุดออกไป ๆ ใจเราถึงเป็นอิสระขึ้นมา ถึงเป็นคนที่มีความสุขพอสมควรกับสถานะของเรา

แต่ตอนนี้มีแต่ความคิดเจ็บปวดแสบร้อนในใจ ทุกดวง! คนมีกิเลสอยู่ทุกดวงเลยต้องมีความเสียดสีในหัวใจทุกดวง ไม่มีเว้น เว้นไว้แต่พระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์หรือว่าผู้ที่สิ้นกิเลสออกไปน่ะ หัวใจนี้เป็นอิสรเสรีจากความกดถ่วงของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา แต่เรายังอยู่ในการกดถ่วง อยู่ในการควบคุมของอวิชชา คือความไม่รู้เท่าในหัวใจนั้น เป็น...

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)