รดน้ำบุญ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
หาที่เป็นสัปปายะไง หาที่ที่พอใจที่เราจะทำบุญกุศลกัน ทำบุญทำกุศล บุญกุศลเกิดขึ้นจากไหน อย่างเช่นต้นไม้ เขาปลูกต้นไม้ เขาทำ เขารดน้ำที่ไหน? เขารดน้ำที่โคนต้นไม้ ต้นไม้จะโตขึ้นมาเอง อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะทำบุญกุศลน่ะ เราอุตส่าห์เอาของนี่ เหมือนกับรดนะ รดออกไป แล้วมันกลับมาโตที่ใจไง รดสิ่งที่นี่ เป็นทานเสียสละออกมา อุตส่าห์หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา แล้วเราสละออกไป
นี่สละออกไป ใจมันถึงโตขึ้นมา ถ้าเราเก็บไว้ ๆ มันกลับไม่โตขึ้น นี่รดน้ำ รดน้ำต้นไม้แล้วต้นไม้จะเจริญเติบโต ทาน ศีล ภาวนา เราสละออกไปแล้วหัวใจจะเข้มแข็งขึ้นมา หัวใจเราจะเบิกบานขึ้นมา เพราะเราต้องมีตรงนี้ขึ้นมาก่อน ถ้าไม่มีเหตุมันจะมาจากไหน เขาบอกรักษาร่างกาย ร่างกายนี่เรื่องกินอาหาร ถ้าอาหารดีร่างกายจะเข้มแข็ง ร่างกายเติบโตแข็งแรงใช่ไหม ถ้าอาหารไม่ดีก็ร่างกายไม่แข็งแรง
อันนี้ก็เหมือนกัน นี่เริ่มทำบุญอีกแล้ว บุญกุศลน่ะพระพุทธเจ้าบอกเลย ทำสิ่งที่เราควร เราพอใจ ที่ไหนเราพอใจเราควรทำที่นั่น แต่พอเราถาม
พระเจ้าพิมพิสารเป็นคนถามพระพุทธเจ้าเองว่า ควรทำบุญที่ไหน?
พระพุทธเจ้าบอกว่า ทำบุญในสิ่งที่เธอพอใจ ที่ไหนก็ทำบุญที่นั่น
แต่เวลาบุญกุศลจะเกิดน่ะ นี่รดน้ำถูกไม่ถูก รดน้ำแล้วต้นไม้จะโตไม่โตนี่ เอาน้ำร้อนไปรดต้นไม้ ต้นไม้ก็ตายหมด มันต้องเอาน้ำเย็น เอาน้ำที่มีปุ๋ยรดน้ำต้นไม้ ต้นไม้ถึงจะเจริญเติบโต ถ้าน้ำร้อนลวกต้นไม้ ต้นไม้ก็ตายหมด
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าทำบุญอยู่ที่ไหน? อยู่ที่เนื้อนาบุญไง พระพุทธเจ้าถึงว่า ยกตั้งแต่พระพุทธเจ้าเลย ทำบุญมากที่สุดทำบุญกับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์อัครสาวก แล้วพระอรหันต์ลงมา ลงมาเรื่อย ๆ จนหมดแล้วนี่ หมดไปเลยไม่มี ก็ให้ย้อนกลับมาทำสังฆทาน ทำสังฆทานก็เหมือนกับว่า ในเมื่อบุคคลที่เป็นสงฆ์เราไว้ใจไม่ได้ พอเราไว้ใจไม่ได้ เราก็ทำเป็นแบบสภา เห็นไหม สภาต้องมีสังฆะรวมกันถึงจะเป็นสภาขึ้นมาได้
นี่ก็สงฆ์เป็นสมมุติสงฆ์ เราบวชกันมาเป็นสมมุติสงฆ์ สมมุติสงฆ์ ๔ องค์ขึ้นไป หรือรวมกันแล้วถึงเป็นสงฆ์ขึ้นมา สังฆทานถึงว่าเป็นที่สาธารณะ สังฆทานไม่ใช่ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ให้กับสงฆ์ ให้กับพระทั้งหมด พระที่จะปฏิบัตินี่ มันต้องมีบ้างที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่เราไม่รู้ เพราะเราไม่มีอะไรไปจับได้ เราไม่มีความสามารถไปจับว่าพระองค์ไหนดีไม่ดีได้
แต่ถ้าเราศึกษาธรรมวินัยนี่ เอาธรรมวินัยเข้าไปจับ เอาธรรมวินัยเข้าไปจับว่าพระองค์ไหนอยู่ในธรรม ในร่องในรอยไหม ถ้าอยู่ในร่องในรอยตั้งแต่ตรงนี้เข้าไปนี่ ถ้าเริ่มต้นพื้นฐาน เราบอกพื้นฐาน ถ้าพื้นฐานถูก ศีลมันบริสุทธิ์ขึ้นมา มันจะทำให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าพื้นฐานไม่ถูกเลย พื้นฐานเริ่มต้นเขาทำผิดแล้ว ออกบิณฑบาตไปก็บิณฑบาตผิด ทำอะไรก็ทำผิด มันผิดจากพื้นฐาน พอพื้นฐานไป ผงเข้าตาแล้วนี่จะให้ตาใสตาสว่างได้อย่างไรในเมื่อผงเข้าตา ผงเข้าตาต้องชำระผงออกจากตาก่อน
นี่เราก็เอาธรรมวินัยเข้าไปจับ จับว่าพระองค์นั้นทำตัวเป็นอย่างไร นี่เนื้อนาบุญ ถ้าเราไม่สามารถจะขึ้นถึงข้างบนได้ เนื้อนาบุญของเรานะ นี่ต้องน้อมขึ้นมามันถึงจะเป็นบุญกุศลขึ้นมา พอมันเป็นบุญกุศลขึ้นมานี่ มันชื่นใจ เริ่มต้นเกิดจากความชื่นใจ เราสวดมนต์สวดพรเริ่มต้นเกิดจากความพอใจ ความพอใจ ความชื่นใจ ความชื่นใจนี่เกิดจากฐานที่มั่นของเรา เพราะถึงที่สุดแล้วนี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
แต่เหมือนกับเรานี่อยู่กลางทะเลกัน เราไม่สามารถจะแหวกว่ายเอาตัวรอดได้จากกลางทะเล หัวใจอยู่ท่ามกลางกิเลสไม่สามารถจะแยกแยะได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก คิดขึ้นมาเราว่าเราถูกทั้งหมด เพราะเราอยู่ท่ามกลางทะเล ทะเลแห่งกามกิเลสของเราทั้งหมดอยู่ในหัวใจของเรา เราจมอยู่กลางทะเลนี่ ถ้าจมอยู่กลางทะเลมันก็ไม่มีแรง เห็นไหม พระมหาชนกที่ว่าว่ายน้ำเข้าฝั่ง ๆ เพราะมีความเพียรขึ้นมา
ไอ้เราก็เหมือนกัน พอหัวใจขึ้นมา เราให้ทาน ทำบุญกุศลขึ้นมา บุญกุศลทำให้ใจเชื่อมั่น ใจเชื่อมั่นว่ามรรคผลนิพพานหรือว่าผลที่เราทำมี บุญที่เราทำมี มันมีแก่ใจจะทำเริ่มต้น มีแก่ใจจะทำเห็นไหม พอมีแก่ใจจะทำจิตใจก็มีกำลังขึ้นมา พอมีกำลังขึ้นมาทุกอย่างสามารถทำได้หมด แต่ก่อนว่าสิ่งใดบางอย่างนี่เราไม่สามารถทำได้ ทำไมคนนู้นทำได้ คนนี้ทำได้
เหมือนกัน เหมือนกับสมบัติอยู่ที่ตัวของเรานี่ อยู่กับเรานี่ไม่สวยเลยนะ สมบัติหรือเสื้อผ้าอยู่กับเรานี่ใส่นี่ปกติ เวลาหลุดจากออกไปนะ คนอื่นใช้ทำไมมันสวยงามไปหมด นี่มันไปมองคนอื่นไง มันไม่มองที่หัวใจของตัว มันไม่มองว่าเรานี่มีกำลังใจ ถ้ามันแช่มชื่นขึ้นมา พอใจมันแช่มชื่น ใจมีหลักเกณฑ์ขึ้นมา เราเห็นคุณค่าของเรา
ดูพระสิ พระใช้ผ้า ๓ ผืน พระสมัยพุทธกาลมาจนปัจจุบันนี้ผ้า ๓ ผืนไม่เคยเปลี่ยนเลย แฟชั่นในโลกนี้หมุนเวียนไปแล้วกี่ร้อยกี่พันรอบ แฟชั่นของสงฆ์นี่ไม่เคยเปลี่ยน จะไปดูรูปภาพสมัยโบราณขนาดไหน จะเห็นพระสงฆ์ในปฏิทิน ในอะไรนี่ จะเห็นเลยว่าพระสงฆ์เขาห่มผ้าอย่างนี้มาตลอด นี่ผ้า ๓ ผืน พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้กันเหลือบ ยุง ริ้น ไร ให้กันหนาวกันร้อน
ไอ้แฟชั่นนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้เป็นแฟชั่น ของควรเป็นประโยชน์อยู่มันก็เป็นให้เราต้องมีรายจ่ายมากขึ้น นี่เป็นแฟชั่น แล้วหัวใจเป็นแฟชั่น เห็นไหม ปฏิบัติกันเป็นแฟชั่น ปฏิบัติกันไปตามเขา ๆ มันไม่มีความตั้งมั่น ถ้ามีความตั้งมั่น ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าสอนไว้ จำได้ไหม ไม่ให้เชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ให้เชื่อครูบาอาจารย์เราสอน ไม่ให้เชื่อว่าทำตาม ๆ กันมา ไม่ให้เชื่อ แต่ให้สัมผัส ให้สัมผัส ไม่ให้เชื่อเห็นไหม ไม่ให้เชื่อในผลนั้น
แต่ถ้าเราเชื่อในมรรค เราเชื่อในการประพฤติปฏิบัติ เราเชื่อในมรรคไง เราเชื่อเหตุ พระพุทธเจ้าสอน สุภัททะ เธออย่าถามให้เนิ่นช้าไปเลย ศาสนาไหนก็ว่าศาสนานั้นดี ๆ ลัทธิไหนก็ว่าลัทธินั้นดี ๆ มันมีเหตุไหม มีเหตุ มีเหตุแล้วสร้างเหตุ เดินเหตุแล้วเข้าถึงผลไหม ถ้าเข้าถึงผล
อันนี้ก็เหมือนกัน เราไม่เชื่อในผล คือว่าไม่เชื่อว่าทำอย่างนั้นแล้วได้อย่างนั้น แต่เราทำของเราไปนี่ เราทำทานขึ้นมาก่อน เราทำทาน เรารักษาศีล เรามาภาวนา ว่าธรรมะนี้ปฏิบัติแสนยาก มันไม่ยาก ๆ มันเป็นสิ่งที่ดี น้ำร้อนกับน้ำเย็น เห็นไหม น้ำมันเย็นอยู่นี่ มันทำให้ปลาตาย ถ้าน้ำร้อนขึ้นมา เห็นไหม น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย น้ำร้อนขึ้นมานี่ เราทำให้ใจเรามีสมาธิธรรมขึ้นมา นี่น้ำร้อน หมายถึงว่ามันเห็นภัยไง มันจะหาทางออก ถ้าน้ำเย็น น้ำเย็นอุ่นใจ นอนใจอยู่ไง
นี่มันว่า ใหม่ ๆ เราก็อุ่นใจนอนใจ เราเชื่อมั่นในตัวของเรา เราว่าเราสามารถเอาตัวรอดได้ เราเชื่อมั่นของเรา เราว่าเกิดมาแล้วต้องหาที่พึ่งที่อาศัย มันไม่มีอะไรพึ่งอาศัยได้เลย น้ำร้อน? น้ำร้อนก็นี่ไง ขวนขวายขึ้นมาเดือดเนื้อร้อนใจต้องมาจากไหน อุตส่าห์ขวนขวายมา น้ำร้อนไหม? คนจะหาทางออก น้ำมันร้อน เพราะมันจะหาทางออก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ สุดท้ายแล้วมันก็มาตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่มันตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนต้องสร้างขึ้นมาไง
สิ่งที่โยมทำกันอยู่นี้ ที่สละเป็นทานขึ้นมานี่เป็นอามิสทาน สุขที่เกิดขึ้นจากอามิส กับสุขจริง ๆ น่ะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วยังพอเข้าไป พอให้จิตมันสงบขึ้นมา ความสุข เห็นไหม ความสงบของใจขึ้นมานี่ ใจอันนี้สงบเข้ามา มันไม่เจือด้วยอามิส อย่างเช่นพ่อแม่กับลูกจะพลัดพรากจากกันมา พอลูกมานี่ อย่างส่งไปเรียนในกรุงเทพฯ นะ กลับมาวันศุกร์ วันเสาร์อาทิตย์นี่ ดีอกดีใจมากเลย มีความสุขขึ้นมา แต่มันก็จะพลัดพราก วันจันทร์ก็ต้องกลับไปแล้ว เห็นไหม
นี่มันหมุนเวียนไป สุขที่เจือด้วยอามิสก็ต้องมีอามิสขึ้นมา มีสิ่งที่ตอบแทนขึ้นมา ใจนี้มันถึงจะพอใจ พอใจความสุขจะเกิดขึ้น สมบัติพัสถานนี้เป็นกรณีนี้ทั้งหมดเลย เราหามาขนาดไหนต้องหามาให้มันพอใจ พอใจถึงมีความสุข ๆ ๆ แต่ในความสงบนี้ต่างกัน ในความสงบ ศีล สมาธิ ปัญญา จิตพอมันตั้งมั่นหรือแช่มชื่นขึ้นมา น้ำมันร้อนขึ้นมา มันจะหาทางออกเอง แล้วหาทางออกกลับมีความสุขต่างกับโลกทั้งหมดเลย
มันเกิดขึ้นจากความพอใจของเรา มันเกิดขึ้นจากมันตั้งมั่นได้ มันไม่เจือด้วยอามิส พอไม่เจือด้วยอามิสนี่ มันเข้าไปสัมผัส จิตนี้มันสงบไง เรากำหนดพุทโธ ๆ กำหนดอะไรก็แล้วแต่ กำหนดไป กำหนดนี้เป็นนามธรรมขึ้นมาก่อน เป็นคำบริกรรม กำหนดเป็นคำบริกรรม กำหนดไป ๆ อาศัยนี้เป็นก้าวเดิน เหมือนคนตาบอดมีไม้เท้านำทางไป ถ้าคนตาบอดไม่มีไม้เท้านำทางไป มันก็ต้องชนโดยธรรมชาติของมันเลย ตัวต้องชนก่อน แต่ถ้าไม้เท้าไปโดนสิ่งกีดขวางข้างหน้านี่ มันจะทำให้เราสำนึกตัว หลบหลีกได้
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธนี่ต้องให้พุทโธก้าวเดินเหมือนไม้เท้านำทางเราไป นำทางเราไป แต่คนตาบอดเดิน เห็นไหม นี่ใจมันบอดน่ะ ใจมันบอด ใจมันไม่สัมผัส แต่พอไปจับต้องวัตถุนั้นมันรู้เข้า มันก็พอสว่างขึ้นมา ใจก็เหมือนกัน พอสัมผัสกับความสงบขึ้นมา ที่ว่าสุขจริง ๆ คือความสงบของใจกับสุขด้วยอามิสน่ะมันจะต่างกันตรงไหน
นี่มันจะเกิดขึ้นจากตรงนั้น จากที่ว่าเราสร้างผลบุญจากข้างนอก บุญกุศลเกิดขึ้นจากข้างนอกใช่ไหม เรารดน้ำพรวนดินต้นไม้ให้เจริญงอกงาม เราสละทานขึ้นมา ทำใจให้เราเข้มแข็งขึ้นมา ต้นไม้เกิดขึ้นมาต้นหนึ่งในหัวใจของเรา คือความตั้งมั่นของเราเกิดขึ้นมา นั่นคือว่าเราสละทานออกไป ใจก็ตั้งขึ้นมา
แล้วเราสละกิเลส คือความฟุ้งซ่านออกไปจากใจ เห็นไหม ปากของเรานี่กินเข้าไป ร่างกายก็เข้มแข็งขึ้นมา หัวใจของเรากินอารมณ์เป็นอาหารน่ะ ความคิดต่าง ๆ นี้เป็นแขกจรมานะ เราคิดว่าเป็นเรา เราเวลาคิดขึ้นมา ทุกอย่างว่าเรานี่คิดหมดเลย ทุกอย่างนี้เป็นเรา แต่เวลาเราลืม หรือเวลามันไม่คิดถึงข้อที่ความคิดที่เกิดขึ้นนี้ ความคิดมันไปไหน นี่ความคิดถึงไม่ใช่เราไง ความคิดถึงเป็นแขกจรมา ความคิดนี้ถึงเป็นอาหารของใจไง
ใจกินอารมณ์เป็นอาหาร เห็นไหม แล้วมันอยู่ของมันไม่ได้ มันเหมือนกับน้ำนี่ น้ำนี่มันต้องมีภาชนะใส่มันถึงจะอยู่ของมันได้ ถ้าน้ำไม่มีภาชนะใส่จะซึมไปในดินหมดเลย ซึมหายไปหมดน้ำนี่ น้ำนี้ก็เหมือนกัน คำบริกรรมนี่เราก็พยายามจะประกอบขึ้นมาให้น้ำนี้ คือว่าให้ใจนี้ตั้งมั่นขึ้นมาได้ มันแผ่ซ่านไปหมด ๓ โลกธาตุ คนเคยไปต่างประเทศ ไปไหนมานี่ ลองคิดถึงสิ แวบเดียวถึงหมด นี่ใจมันเร็วขนาดนั้น สิ่งที่เคยประสบขึ้นมามันคิดถึงหมด นรกสวรรค์ สิ่งที่นรกสวรรค์นี่เราเคยสัมผัสมาทั้งหมด มันถึงคิดแล้วมันถึงย้อนไปได้
แต่ไม่มีดวงใจดวงไหนเลยเข้าไปอยู่ในสุทธาวาส ๕ ชั้นที่พระอนาคาขึ้นไปอยู่ กับในที่พระอรหันต์ที่สิ้นออกไป มันไม่เคยอยู่มันถึงคิดหมายไม่ได้ ธรรมะถึงคาดเดาไม่ได้ไง ความคาดเดาของธรรมะเป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าไปสัมผัสจริง ๆ จนเชื่อมั่นเข้าไปเรื่อย ๆ ตั้งมั่นขึ้นไปเรื่อย หัวใจมันจะยืนขึ้นมาได้ ๆ พอยืนขึ้นมาได้ ยืนขึ้นมาได้เพราะอะไร? เพราะไม่ได้เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่ได้เชื่อธรรม ไม่ได้เชื่อมงคลตื่นข่าว ไม่ได้เชื่อเขาว่า แต่ใจมันสัมผัสเอง อ๋อ...เอ๊าะ...เราก็เป็นได้ ๆ เห็นไหม มันพิจารณาไป
นี่การเลี้ยงใจ การปลูกต้นไม้ข้างนอกอย่างหนึ่ง การทำให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างหนึ่ง การทำใจของเรา ใจของเราทำขึ้นมานี่ รดให้ถูกขึ้นมา เวลาเรากรวดน้ำ เรากรวดน้ำเพื่อจะอุทิศส่วนกุศลกัน เรากรวดน้ำเพราะใจเราไม่มั่นคง แล้วอาศัยน้ำนั้นมาเป็นเป้าหมาย ให้ใจเพ่งที่น้ำนั้น ให้น้ำนั้นไหลลงไป แล้วเรากรวดน้ำ ทำบ่อย ๆ เข้า บ่อย ๆ เข้า สุดท้ายแล้วเราก็กรวดน้ำใจของเราเอง เรานึกขึ้นมาก็เป็น อุทิศส่วนกุศลนี่ตั้งใจอุทิศให้ใครนั่นเป็นหมด แต่เพราะไม่เป็น ใหม่ ๆ เริ่มต้น เด็ก ๆ ขึ้นมาต้องใช้เอาน้ำ น้ำนั้นเป็นเครื่องล่อ
แต่พอโตขึ้นมานั้นมันก็แข็งแรงขึ้นมา เข้มแข็งขึ้นมา รู้จริงเห็นจริง รู้ว่าใจนี้เป็นบุญกุศล แล้วอุทิศส่วนกุศลได้ มันก็ทำเป็นได้ พอมันทำไปได้ก็ทำไป นี้พอใจที่มันเติบโตขึ้นไปอีก สัมผัสเองรู้เอง ถึงว่าไม่ได้เชื่อใครทั้งสิ้น เชื่อเพราะความสัมผัสตามความเป็นจริง นั่นน่ะใจมันเติบโตขึ้นมา มันเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ผู้ใหญ่ขึ้นมาจนมันถึงที่สุดได้
ใจมีนะ ทุกคนมีกายกับใจ มีลมหายใจเข้าออกอยู่ หัวใจของเรานี่สัมผัสธรรม นี่หัวใจของเรา สิ่งที่เก็บข้าวของเงินทองนั้น ภาชนะเก็บข้าวของเงินทองนั้นอยู่ข้างนอก เป็นกระเป๋า เป็นอะไรเก็บข้าวของเงินทอง แต่เก็บคุณงามความดี เก็บความชั่ว เก็บการกระทำไว้ อยู่ที่ใจทั้งหมด ใจทำอะไรแล้วมันต้องอยู่ที่นั่นทั้งหมดเลย ทีนี้ใจเก็บคุณงามความดี เก็บคุณงามความดีนี่เป็นอาการของใจ อาการของใจคืออารมณ์ของใจนี่ เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี
แต่เราทำสิ่งที่ดีขึ้นมา มันก็เป็นอารมณ์ของใจเข้าไปเรื่อย มันก็เข้าไปคัดง้างกันอยู่ในหัวใจนั้น จนถึงที่สุดแล้วอาการของใจนี้หลุดออกไปหมด จนเป็นใจล้วน ๆ ใจทั้งแท่งขึ้นมา อันนั้นน่ะเป็นเป้าหมายของชาวพุทธ พุทธศาสนาสอนถึงนิพพาน ลัทธิศาสนาต่าง ๆ นี้สอนถึงบุญกุศล สอนหมด ทุกลัทธิศาสนาสอนทำคุณงามความดี คุณงามความดี ศีลธรรมจริยธรรม ใครก็ทำกันมาตลอด ทำได้ทั้งหมด
แต่เป้าหมายของศาสนาพุทธเรานี้ ทำคุณงามความดีนี้มันยังเวียนว่ายตายเกิดไปในวัฏฏะไง มันยังหมุนไปตามวัฏฏะ เพราะความหมุนไปอันนี้มันถึงทำให้เราต้องเกิด ๆ ตาย ๆ อยู่ ทำคุณงามความดีก็เกิดไปที่สูง ใช้หมดแล้วก็ต้องเกิดมาที่ต่ำ หมุนไป นี่วัฏวน ลัทธิศาสนาต่าง ๆ สอนถึงการเวียนว่ายตายเกิด สอนถึงว่าการมีเครื่องดำเนิน มีพาหะพาให้ใจไปดีไปชั่ว
แต่พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนั้นเหมือนกัน สอนจนถึงที่สุดว่า จนหักพ้นออกจากวัฏฏะไป จนพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งเดียว เป็นผู้สอน เป็นผู้ชี้ทาง ถึงบอกว่า สุภัททะ ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ นี่พระพุทธเจ้าย้ำตลอด ก่อนคืนจะนิพพานสอนสุภัททะ คนเรานะกำลังจะนิพพาน ต้องมีความตกใจบ้าง กำลังจะไปตายนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปตาย คนกำลังจะตายยังสามารถสอนให้คนที่มีกิเลสอีกคนหนึ่งพ้นจากกิเลสได้ เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายที่เป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้สอน ไม่ได้บวชให้ เพราะให้พระอานนท์บวช คนกำลังจะสิ้นจะดับขันธ์ ถ้าเป็นกิเลสของเรานี่มันต้องตื่นตกใจมาก ต้องห่วงตัวเองก่อน แต่นี่ตัวเองไม่เคยห่วงเลย ไปตายนี้เพื่อว่าตายแล้วพระธาตุแบ่งกันจะได้ว่าไม่ให้ชาวโลกเขาเดือดร้อน
นี่คนคนหนึ่งนะ เป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสในหัวใจ ห่วงแต่คนอื่นไปทั้งหมด ห่วงว่าถ้าตัวเองตายไปแล้วนี่โลกนี้จะมีปัญหากัน ก็เลือกชัยภูมิสถานที่ว่าจะไปตายโดยที่ว่าไม่ให้มีปัญหา แถมยังไปสอนสุภัททะให้เป็นพระอรหันต์ในคืนนั้นได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง นั่นน่ะถ้าหัวใจเป็นถึงที่ว่าสร้างรากฐานด้วยจนไม่ตื่นเต้น จนเป็นตัวของตัวท่านเองแล้ว เป็นตัวของตัวเอง นี่ศาสนาพุทธสอนอย่างนั้น
ฉะนั้นเราเป็นชาวพุทธ เราก็ต้องเลือก ต้องหาที่ของเรา ฟังธรรมไง เวลาให้ทานนี่ได้บุญกุศลเป็นให้ทานไป เวลาฟังธรรมนี่แก้ไขเข้าไปที่ใจ ถึงได้ ๒ ต่อ ได้ทั้งอาหารกาย อาหารใจ อาหารกายคือบุญกุศลนี่มันขับเคลื่อนไป เป็นอาหารใจด้วย แต่มันไม่ถึงที่สุด แต่ธรรมนี่ ธรรมคือวิชาการ ธรรมไง ศาสนธรรมคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ศาสนาพุทธคือศาสนธรรมนี้เป็นตัวหลัก ตัวหลักคือพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมถึงเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อัครสาวกก็เข้าไปรู้ธรรมตามนั้น รู้ธรรมขึ้นมา ถึงเป็นรู้ธรรมในอันเดียวกัน ธรรมถึงเป็นตัวกลางไง ธรรมถึงเป็นตัวศาสนา ตัวศาสนาคือคำสั่งสอน ลัทธิความเชื่ออันนั้น นี่เข้าไปถึง ทีแรกเป็นความเชื่อ เป็นลัทธิไปก่อน แต่พอเป็นศาสนาขึ้นมาแล้ว เป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะตนขึ้นมา เป็นอกาลิโก ๒,๕๐๐ ปีนี้ไม่ใช่ว่าหมดมรรคหมดผล ยังมีต่อไป มีต่อไปเพราะมีหัวใจนี่แหละ หัวใจดับเท่านั้นถึงจะดับ หัวใจหมดสิ้นไปแล้ว หัวใจตายไปแล้ว
นี่อาฬารดาบส อุทกดาบส พระพุทธเจ้าจะสอนไง จะสอนว่าใครเอ่ยที่ว่ามีจิตใจอ่อนจากกิเลส แต่จิตใจที่เข้าสมาบัติอยู่แล้วนี่มีจิตใจที่ควรแก่การงาน ใครควรจะไปสอน ศาสนานี้รู้ยาก มองไปที่อาฬารดาบส...อุ๊ย เพิ่งตายไปแล้ว อุทกดาบสก็ตายไปแล้ว ถึงกลับมาสอนปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้าสอนคนที่มีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเขาตายไปแล้วนี่เขาเสวยภพใหม่ ถ้าเขาเพลินไปนี่ พอเสวยภพใหม่เป็นคนใหม่นะ เราอยู่สถานะนี้เราก็เป็นคนนี้นะ เราอยู่ในสถานะใหม่ ความคิดเราเป็นคนใหม่นะ
การเกิดใหม่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราศรัทธาในศาสนา เวลาเราตายไปแล้วจะศรัทธาศาสนาอีก เราไปเกิดในประเทศที่เขาไม่มี อย่างเด็กเกิดมานี่ เขาสอนมา แต่ลัทธิไหนเขาสอนมา เด็กก็ต้องเชื่ออย่างนั้นไป เป็นวัฒนธรรมของเราไป นี่เราเกิดเราตายอยู่ ถ้าเราเกิดแล้ว เราพบพุทธศาสนา ถึงว่าเป็นบุญกุศลมาก เป็นบุญกุศลของเรามหาศาลเลยที่พบพระพุทธศาสนา แล้วพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง เจริญรุ่งเรืองตอนนี้ เจริญรุ่งเรืองหมายถึงว่ามีผู้ชี้นำอยู่
ถ้าเราเชื่อ เราปฏิบัติไป เราจะถึงความจริงของเราได้ ฉะนั้น เราต้องเห็นว่าเรามีวาสนา เราเชื่อตัวเราเองไง เราเชื่อตัวเราเอง เชื่อชีวิตจิตใจของเราเอง ชีวิตจิตใจของเราว่ามีคุณ ฉะนั้นว่าพอมีคุณขึ้นมานี่ เราก็มาเห็นคุณค่าของตนเอง การเห็นคุณค่าของตนสำคัญที่สุดนะ การเห็นคุณค่าของเรา เพราะเราเห็นคุณค่าของเรา เราถึง...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)