เทศน์เช้า

อริยประเพณี

๑๔ พ.ค. ๒๕๔๓

 

อริยประเพณี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ของนี่จำเป็นนะในหลักของศาสนา อริยประเพณี เห็นไหม การซ้อนผ้าออกบิณฑบาตนี้เป็นอริยประเพณี การทรงประเพณีของพระอริยเจ้านี่แสนยาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ แล้วพระเจ้าสุทโธทนะไม่ได้นิมนต์ให้ไปฉัน กำหนดย้อนดูเลยว่าประเพณีพระพุทธเจ้าทำอย่างไร “อ้อ...ประเพณีพระพุทธเจ้าออกบิณฑบาต” เช้าขึ้นมาออกบิณฑบาต พระเจ้าสุทโธทนะออกมาขวางเลย “ทำไมมาฉีกหน้าพ่อขนาดนั้น?” เห็นไหม ประเพณีของพระอริยเจ้า ได้เวลาแล้วอรุณขึ้นออกบิณฑบาต

เหมือนกับพุทธกิจ ๕ นั่นน่ะ พุทธกิจ ๕ นั่นเป็นพุทธกิจของพระพุทธเจ้า ก่อนออกบิณฑบาตเล็งญาณว่า โปรดสัตว์แล้วจะโปรดใครก่อน จะโปรดเขานี่ไปโปรดเขาให้เขาได้ศรัทธา เห็นไหม ไปโปรดเขาก่อน เล็งญาณก่อน แล้วโปรดสัตว์ โปรดสัตว์มาแล้วกลางวันนี้สอนคฤหัสถ์ ฉันข้าวเสร็จสอนคฤหัสถ์ ตอนหัวค่ำสอนพระ แล้วตอนดึกเทศน์สอนเทวดา นี่พุทธกิจ นี่คือว่าอริยประเพณีของพระอริยเจ้า แล้วก็วางไว้ไง

ทีนี้อย่างการซ้อนผ้า การออกบิณฑบาตของเรานี่ ที่ต้องซ้อนผ้าออกบิณฑบาตเพราะว่า คือว่าพระทั่วไปไม่ซ้อนผ้าออกบิณฑบาต เห็นไหม ว่าไม่เป็นไร เพราะวินัยไม่ได้บังคับ ธุดงควัตรก็ไม่ได้บังคับ ธรรมในธรรม ศีลในศีล วินัยในวินัย นี้วินัยในวินัยนี่ ทรงประเพณีของพระอริยเจ้า เหงื่อออกซกเปียกไปหมดเลย แล้วทำไปเพื่ออะไรในเมื่อไม่ได้อะไร ถึงย้อนกลับมาว่าตอนนี้อเมริกาเริ่มจะให้นักเรียนแต่งชุดยูนิฟอร์มนะ เขาเริ่มแล้ว เพราะประธานาธิบดีเซ็นแล้ว เหมือนตำรวจเราเหมือนกัน ชุดข้าราชการนี่ทำให้เคารพสถานที่

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตใจยอมลงกับธรรมวินัย ถ้าจิตใจไม่ศรัทธา ความศรัทธาของเรานี่ เราจะมาทำบุญกุศลได้ ความศรัทธา...เชื่อไง ความเชื่อ ความยึดมั่นถือมั่น มันมีหลักเกณฑ์ อันนี้ก็เหมือนกัน อริยประเพณี ประเพณีของพระอริยเจ้า นี่ทรงไว้ วัตรในโรงฉัน ธุดงค์ ๑๓ วัตร ๑๔ อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร นี่เป็นคนที่มีหลักใจ มีเครื่องอยู่อาศัย พอมีเครื่องอยู่อาศัยวัดนั้นก็งาม

วัดที่ไม่งามเพราะว่าวัดร้าง วัดร้างเข้าไปในศาลา ศาลาก็ไม่เคยเก็บไม่เคยกวาด ในวัจจกุฎีวัตร วัตรในห้องน้ำ ปล่อยรกร้าง แต่ถ้าเป็นประเพณีแล้วพระพุทธเจ้าให้ทำอย่างนั้น นี่คนที่ไม่ร้างคือคนที่มีข้อวัตรปฏิบัติ คนที่มีข้อวัตรปฏิบัติก็ต้องทรงไว้ การทรงไว้คือการออกกำลังกาย คือการทำงาน ย้อนกลับมาคนคนนั้นเป็นคนดี แล้วศีลมันหอมทวนลม

นี่ประเพณีของพระอริยเจ้า การทรงไว้ประเพณีของพระอริยเจ้า นี้ภายนอกนะ พอเริ่มทรงประเพณีของพระอริยเจ้านี่ บุญกุศลมันเกิดขึ้นมา การกวาดลานเจดีย์นี่ กิจ ๑๐ อย่างของสงฆ์ กิจ ๑๐ อย่างของสงฆ์นี่เป็นผู้ที่อาจหาญ เป็นผู้ที่รื่นเริง เข้าได้ทุกสังคม เห็นไหม เข้าได้ทุกสังคมนี่ ข้างนอกมันเริ่มอาจหาญเข้ามา มันจะย้อนกลับเข้าไปข้างใน จิตใจจะทำความสงบขึ้นมา มันจะไปหลบ หลบอยู่ที่ไหน มันจะไปหลบหลีก หลบหลีกได้อย่างไร มันต้องเผชิญหน้า ในสัมมาสมาธินี่จิตมีพลังงาน แต่นิ่งอยู่ มันไม่ได้จิตไม่มีพลังงานนะ น้ำใสแล้วเห็นตัวปลา น้ำใสจิตนี่สงบอยู่ แต่มันมีกิเลสอยู่ภายในตัว ต้องหากิเลสตัวนั้น นี่เพราะน้ำใส

แต่ถ้ามันไม่ใช่ความอาจหาญรื่นเริง เป็นการหลบเอา ๆ นี่มันหลบไป หลบเรื่องไป เหมือนกับตะกอนที่ว่ามันหยุด เพราะว่าตะกอนนี่ถ้าแกว่งตะกอนจะขึ้นมาจากน้ำ ถ้าตะกอนนิ่งอยู่น้ำต้องนิ่ง ตะกอนถึงได้ลงไป พอตะกอนลงไปนี่ มันยังไม่มีพลังงานไง ความไม่มีพลังงานนั้นน่ะ จิตดวงนั้นไม่มีพลังงาน ถ้าเป็นเราทรงไว้ซึ่งประเพณีของพระอริยเจ้านี่ ทรงไว้แต่ข้างนอก อาจหาญรื่นเริงเข้ามานี่ แต่ความสงบด้วยความอาจหาญรื่นเริงไง

นี่พระพุทธเจ้าถึงสอนว่าในธรรมวินัย “อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า” พระอริยเจ้านิ่งอยู่ นิ่งอยู่แบบรู้ไง ไม่ใช่นิ่งอยู่แบบไม่รู้ นิ่งอยู่แบบรู้เท่าหมด แม้แต่จะกระดิกออก จะพูด จะเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์นี่ ความนิ่งอยู่อันนั้นก็รู้เท่าหมด มันไม่ได้อยู่เฉยหรอก มันอยู่เฉยไม่ได้ มันรู้ มันตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา พุทโธเป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เห็นไหม ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เบิกบานอยู่ในหัวใจ

นี่มันเบิกบานไปอย่างนั้น มันไม่ได้เศร้าหมอง การทำนี่ขันติธรรม ความอดทนอยู่เฉย ๆ การอดทนอยู่เฉย ๆ นี่อันนั้นว่าเป็นธรรมเหรอ? ความเป็นธรรม เห็นไหม ขันติบารมีคือความอดทนการกลั้นไว้ แต่วิปัสสนาญาณนั้นเป็นการต่อสู้ การต่อสู้ การชำระกิเลส การชำระกิเลสกับขันติธรรม ขันติธรรมนี้เป็นเริ่มต้น จากเด็ก ๆ นี่ยกของไม่ไหว พยายามอยู่ ๆ นี่ขันติธรรม

แต่ผู้ที่จะทำวิปัสสนาญาณนั้นเหมือนผู้ใหญ่ที่ทำงาน จะทำงานเสร็จเป็นชั้นเป็นตอน เป็นขั้นตอนขึ้นไป งานนั้นสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ๆ เข้าไป การทำงานสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันนั้นไม่ใช่ลูบคลำ ขันติธรรมคือการยันไว้ ขันติธรรมนี่ เริ่มต้นดูอย่างเวทนาเกิดขึ้น เราเริ่มทำความสงบเข้ามา อย่างเช่นเราข้างนอกก็เหมือนกัน ประเพณีวัฒนธรรมนี่เราไม่พอใจเราก็กดไว้ด้วยขันติธรรม อย่างเริ่มทำสมาธิธรรม เวลาเวทนาเกิดขึ้น เราพุทโธ ๆ กดไว้ เรากดไว้ นี่ขันติธรรม

ในวิปัสสนาก็เหมือนกัน ในวิปัสสนา ในการหลบ ในการยันไว้เฉย ๆ นั้นเป็นขันติธรรม ขันติธรรมนี้เป็นการเริ่มต้นที่ว่า เราไม่มีกำลังพอใช่ไหม เราใช้ขันติธรรมยันไว้ก่อน ใช้ขันติธรรมกดไว้ แต่ถ้ากำลังพอแล้วนี่ มันต้องกดไว้ คือเราเก็บขยะนั้นซุกไว้ใต้พรม เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซัก เราเก็บพับเข้าไปเลยนี่ เราไม่มีเวลาทำ เราเก็บพับขึ้นมา ลูบ ๆ คลำ ๆ ตากผึ่งแดดให้มันหมดกลิ่น มันก็พอใช้ได้อยู่ แต่มันเป็นการซักไหม? มันไม่เป็นการซัก มันเป็นการให้มันหมดไปไม่ได้ด้วยกิเลส มันต้องการมีการซักล้างมันถึงจะเกลี้ยงได้ อันนี้เห็นไหม วิปัสสนาญาณถึงมีการซักฟอก การซักการฟอก การซักล้างนั้นให้สะอาดขึ้นมา

งานก็เหมือนกัน งานในขุดคุ้ย งานในค้นคว้า เห็นไหม เวทนาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เวทนาเกิดขึ้นได้เพราะใจยึด นั่งอยู่เฉย ๆ นี่ เป็นชั่วโมงก็ไม่เป็นไรนะ พอเริ่มต้นจะเข้าภาวนานี่ ความเจ็บความปวดจะตามมาเลย เพราะว่าเราเริ่มต้นจะเก็บไง เราเริ่มต้นที่จะเก็บของ เราเริ่มจะทำงานนี่ มันจะเหนื่อย เห็นไหม การจะออกทำงานเริ่มต้นนี่ขี้เกียจมากเลย แต่พอทำไป ๆ แล้วมันเป็นไปได้ แต่เริ่มต้นจะดึงออกไป

อันนี้ก็เหมือนกัน พอเริ่มต้นจะวิปัสสนานี่ มันก็เริ่มต่อต้าน ความเริ่มต่อต้านอันนั้น นี่ความเริ่มต่อต้าน ถ้ามันสู้ไม่ไหว มันเป็นเรื่องงานใหญ่เราก็กดไว้เฉย ๆ ดันไว้เฉย ๆ คือว่า พุทโธ ๆ ถอนออกมา ถอนความรู้สึกออกมา ไม่ให้ไปรับรู้อันนั้น มันก็หลบหลีกออกไป

แต่ถ้าจะให้จริงมันต้องวกเข้าหามัน กำลังพอแล้วนี่วิปัสสนาเกิดขึ้น จับเวทนาคือจับความทุกข์ใจ จับความเจ็บปวดนั้นน่ะ แล้ววิปัสสนา อะไรมันเกิดขึ้น อะไรมันทุกข์ ร่างกายนี้ทุกข์ไม่ได้ เวทนานี่เกิดเพราะใจยึด เพราะใจไปยึดมันถึงมี ถ้าใจไม่ยึดมันก็ปล่อย มันปล่อยโดยใจของมัน ธรรมชาติของใจคือรับรู้เฉย ๆ แต่อาการที่ว่ามันไม่สะดวก ที่ว่าเรานั่งข้อพับแล้วมันไม่สะดวกนั้น อันนั้นธรรมชาติของมัน

นี่ธรรมชาติของมัน ถ้ามันไล่เข้าไป ๆ มันปล่อยเอง ปล่อยเองด้วยความรู้เท่า แต่ก่อนจะรู้เท่านี่ ธรรมชาติของพลังงาน เห็นไหม พลังงานอันนั้นมันไหลออกมานี่ พลังงานมันต้องให้ค่า พลังงานของเวทนาที่มันเริ่มขยับตัวไปแล้วนี่ ยิ่งเข้าไปต่อสู้มันยิ่งปวด ๒ เท่า ๓ เท่านะ เวลาพูด เวลาเข้าใจนี่ คนเข้าใจมันทำได้ แต่ถ้าคนยังไม่เข้าใจ เหมือนเชื้อโรคนี่ โรคเกิดขึ้นมามันต้องหาย ไม่หายก็ตายเท่านั้น มีเท่านั้นเองเรื่องโรค เวลามันเกิดขึ้นมานี่ ถ้าเรารักษาหายก็หาย ไม่หายเราตายไปโรคนั้นก็ต้องหายไปโดยธรรมชาติของมัน

แต่ทำไมมันเจ็บไข้ได้ป่วย มันทุกข์ร้อนมากล่ะ? เวทนาก็เหมือนกัน เวทนาก็เหมือนโรคอันหนึ่ง โรคของใจ มันเกิดขึ้นมานี่ มันต้องตั้งอยู่ แล้วมันต้องดับไป แต่เวลาเราเข้าไปต่อสู้นี่ มันต้องต่อสู้กันยาวนานมาก มันต้องมีศรัทธาก่อน ความเชื่อของเราพยายามต่อสู้เข้าไป ๆ ต่อสู้นี่ พอมีศรัทธา มีความต่อสู้ มันมีความอาจหาญ ความรื่นเริงขึ้นมาของใจ ใจรื่นเริง ใจอาจหาญขึ้นมา นี่มันเริ่มต้นตั้งแต่ถ้าเราเข้าถูกทางนี่ มันจะมาถูกทางทั้งหมด

แต่ถ้าเราเข้าต้นมาไม่ถูกทางนะ หรือเริ่มต้นที่ว่าศรัทธาอย่างนั้นน่ะ ศรัทธาด้วยเกียรติ ศรัทธาด้วยศักดิ์ศรี พระพุทธเจ้ายังสอนไง สมณะฉันอาหารนี่ ฉันด้วยเหมือนกับหยอดน้ำมันในเกวียนเท่านั้น เพื่อจะให้ชีวิตดำรงอยู่ไป แต่ทางคฤหัสถ์เขากินอาหารนะ เขากินด้วยเกียรติ ด้วยศักดิ์ศรี ด้วยดำรงชีวิตอยู่ พลังงานเขาเหลือใช้มาก

พออย่างนั้นปั๊บ การเข้ามาของเขาถึงไม่เหมือนของเรา ไม่เหมือนของเราเพราะว่า เราไม่มีสิ่งนั้นอยู่แล้ว เราปล่อยไปเพื่อว่า ที่ทางโลกเขาว่าเป็นคุณ ๆ ของเขาน่ะ เป็นโทษของเรา เพราะอะไร? เพราะว่าพลังงานเหลือใช้ขึ้นมานี่ ทำให้สัปหงกโงกง่วง การอดนอนผ่อนอาหารนี่มันทำให้ร่างกายเบาขึ้นมา ทำให้หัวใจนี้มีโอกาสได้เข้าไป

แต่ทางโลกเขาบอก อันนี้เป็นทุกข์ มีความสุขไปได้อย่างไร ฉันมื้อเดียวมีความสุขไปได้อย่างไร ของเขาสิ ๓ มื้อ ๔ มื้อ จะมีความสุข แต่มีความสุขในการลิ้มรส รสนั้นมีความสุขพอใจ แต่มันให้โทษกลับมามหาศาล นี่คนที่ไม่เข้าใจ ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคุณ มันกลับเป็นโทษ สิ่งที่ว่าเห็นว่าเป็นโทษ มันกลับเป็นคุณ เห็นไหม เห็นโทษว่ามักง่าย มักง่ายแล้วมันจะทำอะไรลวก ๆ แล้วมันจะไม่ได้ผล ความพยายามอุตสาหะ ความพยายามนี่ ความทำยากเข้าไป มันจะง่ายขึ้นมาเอง เพราะว่าทำไปแล้วงานมันจบ มันสิ้น มันไม่มีจะทำ มันสำเร็จลุล่วงไป

ความสำเร็จลุล่วงไปอันนี้มันทำให้สะดวกสบายไป แต่ความสำเร็จลุล่วงไปต้องใช้วิริยอุตสาหะ มรรค ๘ ถึงมีความเพียรชอบ ความเพียรไม่ชอบมันก็ลูบ ๆ คลำ ๆ ไป เป็นความเพียรเหมือนกัน แต่มันไม่ชอบ ไม่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่ลงตรงกลาง ในระหว่างวิปัสสนานะ นี่งานของนักบวชเป็นอย่างหนึ่ง งานของนักบวชเป็นงานของเรื่องหัวใจ เรื่องหัวใจนี้เป็นเรื่องใหญ่โตมาก งานของนักบวช ทำงานของใจ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ เลี้ยงใจชอบ เลี้ยงอารมณ์ชอบ งานของคฤหัสถ์ งานประกอบอาชีพนั้นมีโดยธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วยังต้องมาทำงานวิปัสสนาเพื่อจะชำระอีก เห็นไหม งานทางคฤหัสถ์นี่

ถึงบอกว่า ทางคฤหัสถ์นี่เป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะว่าต้องแบ่งเวลาครึ่งหนึ่งไปทำมาหากิน ถ้าปฏิบัติ แต่คนเวลาไปทำมาหากินแล้วไม่ค่อยคิดถึงปฏิบัติ ถ้ามีเวลาทำมาหากินนี่ ทำมาหากินเพราะคนมีปากมีท้อง แต่เวลาเป็นนักบวชแล้วนี่ชีวิตฝากไว้กับปลีแข้ง บิณฑบาตออกมาฉัน ชีวิตนี้แค่เติมไปให้ชีวิตนี้สืบต่อไป

แล้วประเพณีวัฒนธรรมที่พระพุทธเจ้าวางไว้ บิณฑบาตตอนเช้าอย่างนี้ แล้วทำความเพียรชอบ ประเพณีนี้ชาวพุทธถึงได้ตักบาตร ถึงได้ทำบุญ มันได้ทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้ที่ตัก ทำบุญกุศลนั้นก็ได้บุญกุศล ฝ่ายหนึ่งผู้ที่อาศัยปลีแข้ง เห็นไหม ทำกิจ ทำภัตตกิจ ทำกิจการบิณฑบาตของตัว ภิกขาจารมาแล้ว แล้วได้มาแล้วทำภัตตกิจ กิจทั้งหมดไง การฉันอาหารนี้ก็เป็นกิจอย่างหนึ่ง เป็นงานอย่างหนึ่งในงานหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นงาน ๆ ไปทั้งหมด

ถึงว่าถ้าเข้าใจเรื่องอย่างนั้น มันปล่อยโลกไว้ทั้งหมดเป็นตามความเป็นจริง มันถึงไม่เกาะเกี่ยว ไม่ยึดมั่นถือมั่น มันอาศัยไป อาศัยสิ่งนั้นไป นี่สิ่งมีชีวิตที่ว่าไม่แน่นอน ชีวิตที่ยืนอยู่บนศรัทธาความเชื่อของเขานี่กลับมั่นคง เพราะว่าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่สนใจ จะอดจะอิ่มไม่สนใจเลย เพราะว่ารู้อยู่ว่าอันนี้เป็นโทษ ถ้าไปยึดแล้วเป็นโทษ ถ้าปล่อยแล้วเป็นสุข

แต่ทางคฤหัสถ์เขา เขาหาของเขามาแล้ว เขาต้องทำให้สมความปรารถนาเขา อันนั้นน่ะยึดมั่นถือมั่น มันเป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะตรงนั้น คับแคบเพราะว่าทุกอย่างทำให้ติดข้องไปหมดเลย ความติดข้องของใจที่ก้าวเดินดำรงชีวิตเรานั่นล่ะ

ถึงว่าการเป็นคฤหัสถ์ การบวช โกนผม โกนคิ้วออกมานี่ ถึงบอกการสละ สมณเพศนี้สำคัญ สำคัญเพราะต้องสละตรงนั้นออกมา ถึงมาเป็นนักรบ พอนักรบมันก็ได้สิทธิขึ้นมา จตุตถกรรมขึ้นมาเป็นสงฆ์โดยสมมุติ สงฆ์นี้เต็มของสงฆ์ สิทธิของสงฆ์ก็ในธรรมวินัย เห็นไหม ภิกขาจารไปเลี้ยงชีวิตไปด้วยอาหารภายนอก เลี้ยงชีวิตใจ ใจนี่ทำใจให้เป็นพระแท้ขึ้นมาจากภายใน เลี้ยงชีวิตใจด้วยมรรคอริยสัจจัง

มีหมดนะพระพุทธเจ้าวางไว้หมดเลย ถึงประเพณีวัฒนธรรมนี่เข้ามา หยาบเป็นหยาบ กลางเป็นกลาง ละเอียดเป็นละเอียด ถ้ามันดีขึ้นมามันก็สำเร็จเป็นประโยชน์ขึ้นมา เราเป็นชาวพุทธ เราต้องมีปัญญา ปัญญาของเรา ปัญญาภายนอก ปัญญาภายใน ทำให้เราพ้นไปได้นะ เอวัง