เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ ก.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรามาทำบุญกุศล.. บุญกุศลเพื่อเปิดทางนะ หลวงตาบอกว่า “จะทำบุญสะสมมากน้อยขนาดไหน มันต้องไปสิ้นสุดกันที่การภาวนา” ถ้ามีการภาวนานะ มันทำให้เราสิ้นสุดแห่งทุกข์ ถ้าเราไม่มีการภาวนา การทำบุญกุศลมันก็เหมือนเขื่อนกันน้ำ ทำนบกั้นน้ำ มันจะกั้นน้ำของเราเอาไว้ น้ำซีกหนึ่งมีน้ำเห็นไหม ซีกที่มีน้ำมันจะเป็นซีกที่มีความร่มเย็นเป็นสุข ซีกที่ไม่มีน้ำก็จะแห้งแล้งมาก

ดูสิ เวลาภัยแล้งขึ้นมานี่ มันไม่มีความชุ่มชื่น เขาทำอะไรไม่ได้เลย แต่ซีกหนึ่งมันมีน้ำเห็นไหม เวลาฝนตกๆ หนักจนเกินไป น้ำมากเกินไป เห็นไหม อันนี้นี่ “ดี” และ “ชั่ว”

แต่บุญกุศล.. เราสร้างบุญกุศลเพื่อผลของวัฏฏะ เพื่อความคุณงามความดี เวียนไปในวัฏฏะ นี่เพราะการเกิดและการตาย เกิดด้วยบุญกุศลพาเกิดนะ เกิดมาแล้วร่มเย็นเป็นสุข เกิดมาแล้วมีคนช่วยเหลือเจือจาน แต่ถ้าเกิดมาเห็นไหม เกิดมาในทางแห้งแล้งเห็นไหม ก็เกิดเหมือนกัน.. เกิดมาต้องปากกัดตีนถีบ เกิดมาแล้วต้องพยายามช่วยเหลือตัวเอง แต่ช่วยเหลือตัวเอง หรือมีบุญกุศลเห็นไหม จิตนั้นก็ตาย !ตาย ! ตาย ! เวียนตายเวียนเกิด..

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลิกทาสมาตั้งแต่วันวิสาขบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถอดถอนกิเลสออกจากหัวใจทั้งหมด “เลิกทาส” เห็นไหม ..เรานี่เป็นทาสของตัวเอง.. เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลิกทาสแล้วนี่ ทรงสั่งสอนสัตว์โลก

ในโลกมีบุคคลทางสังคมถือดุ้นไฟคนละดุ้น คือความคิดของตัวเอง แล้วก็บ่นว่า ร้อน ! ร้อน ! ร้อน ! มีอยู่คราวหนึ่งบุรุษผู้ฉลาด คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทิ้งดุ้นไฟนั้นไปแล้ว.. แล้วบอกให้พวกเราทิ้งดุ้นไฟนั้น

“ดุ้นไฟ” คือ การปลดแอกไง ปลดให้เราพ้นจากกิเลส ปลดให้เราพ้นจากการเป็นทาส แต่เราเป็นทาสของตัวเองนะ.. เราเป็นทาสของความคิด..

ดูทางโลกเขาเห็นไหม สมัยโบราณนี่ เขามีสมัยเป็นทาส เขาล่านะ.. มนุษย์ล่ามนุษย์ ! ผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายว่าเป็นเจ้านาย เป็นเจ้าของทาส แล้วมนุษย์ผู้เป็นทาส.. เขาล่า.. ล่าด้วยความถูกต้องตามกฎหมายนะ

แต่ในปัจจุบันนี่ เราว่าเราเลิกทาสกันแล้ว.. เราเลิกทาสกันแล้ว.. แต่เราก็เป็นทาสความคิดของเราเองไง ความคิดมันปกคลุมหัวใจเราอยู่ ความคิดของเรามันครอบคลุมใจเรา มันล่าหัวใจของเรานะ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เลิกทาสแล้วนะ แต่เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นสาวก สาวกะ เราเป็นบริษัท ๔ เห็นไหม เราทำบุญกุศลขึ้นมานี่.. บุญกุศลก็เพื่อให้หูตาสว่างขึ้นมา บุญกุศลถ้าเราทำบุญกุศลขึ้นมามันมีศีลธรรมจริยธรรมนะ

กฎหมาย..เวลาคนล่าทาสกันนี่ เขาว่ามีสิทธิตามกฎหมาย นี่ก็เหมือนกัน กฎหมายมันปกครองสังคม กฎหมายมันคุ้มครองสังคมนี่ แล้วกฎหมายมันคุ้มครองได้แค่ไหนล่ะ กฎหมายมันคุ้มครองแต่คนที่มีศีลธรรมจริยธรรม กฎหมายคุ้มครองแต่ผู้ที่มีความละอายไง

แต่กฎหมายไปปกครองไอ้พวกหน้าด้านไม่ได้หรอก ! ไอ้พวกหน้าด้านหน้าทน กฎหมายขนาดไหนมันก็หลบหลีกของมันไป

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นความคิดเรา ถ้าเป็นความคิดที่ดี.. ความคิดที่ดี นายทาสที่ดีเขาเลี้ยงทาสของเขาด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนะ ถ้านายทาสที่ดี ถ้านายทาสที่เลว มันก็ขูดรีดเอาแรงงานจากทาส ความคิดที่ดี ความคิดที่มีศีลธรรมจริยธรรม จิตที่คุ้มครองหัวใจของเรา เราทำบุญกุศลนี่ เราเสียสละของเรา เขาบอกว่า “พวกนี้เป็นพวกที่สูญเปล่า.. สูญเปล่า..”

สูญเปล่ามันสูญวัตถุน่ะ.. วัตถุมันหาเพิ่มเติมได้นะ แต่ความสุขของใจมันจะหาที่ไหนได้ วัตถุมันเจือจานกันได้ เราช่วยเหลือกันได้ เราเจือจานกันได้ แต่ความสุขความทุกข์ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เขาก็มาปลอบประโลมได้ “ให้ใจเย็น ๆ นะ.. ใจเย็น ๆ นะ ” แต่มันก็สุขทุกข์ของเรานะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามีการภาวนา เราจะปลดจากความเป็นทาสของเรา ไอ้ทาสความคิด.. ความคิดของเราเห็นไหม มันเหยียบย่ำใจของเรา ยิ่งคนที่เป็นพาลชน เขายิ่งทำอะไรของเขา เขาคิดว่าเป็นผลประโยชน์ของเขา แต่พวกที่มีศีลธรรมจริยธรรมนี่ ศีลธรรมจริยธรรมเท่านั้น ที่จะควบคุมมนุษย์ได้

“มนุษย์” เห็นไหม ถ้ามีความละอายแก่บาป มีความละอาย มีความระลึกรู้ มีความเห็นใจ มีการเสียสละเห็นไหม สังคมร่มเย็นเป็นสุขด้วยศีลธรรมจริยธรรมที่ปกครอง

นี่ศีล ๕.. ถ้ามี ศีล ๕ พวกเราเสียสละ พวกเราไม่เบียดเบียน ไม่ลักกัน ไม่ฉ้อโกงกันต่าง ๆ ศีล ๕ มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว แต่ความร่มเย็นเป็นสุข มันก็มีการเวียนตายเวียนเกิด บอกคุณงามความดีขนาดไหน เรื่องของคุณงามความดี เรื่องของความดีเห็นไหม

นี่ปริยัติ แล้วก็ต้องปฏิบัติ การศึกษามาศึกษาเพื่อปฏิบัติ ไม่ได้ศึกษามาเพื่อเรารู้ ดูสิ เวลาเรียนจบมาได้กระดาษมาคนละใบ นี่มีความรู้.. มีความรู้แล้วได้กระดาษมาคนละใบ แล้วทำอะไรต่อไปละ นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริยัติ.. แล้วก็ปฏิบัติ

ปฏิบัติมันต้องดัดแปลงตนแล้ว.. การดัดแปลงตน.. การฝืนตน.. “การฝืนตน คือ การฝืนกิเลส” ดูสิ เวลาเราทำอะไร เราว่าลำบากไปหมดเลย ไอ้ความลำบากใครเป็นคนลำบากละ.. มันความคิดลำบากใช่ไหม แต่เวลาคนเขาชื่นใจ เวลาคนเขามีความร่มเย็นเป็นสุขของเขา

นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัตินะ ท่านบอกว่า “เวลาปัญญามันหมุน ๆ นี่ อยู่กับใครไม่ได้” ลำบากไหม.. เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ทั้งวันทั้งคืนเพราะอะไร เพราะจิตมันผ่องแผ้ว จิตมันหมุนของมันไป ความคิดของมันที่เรา..

นิพพานอยู่แค่เอื้อมนะ.. มือนี้เอื้อมจับนิพพานได้เลย เพราะอะไรล่ะ เพราะมีความพร้อมใช่ไหม จิตใจมันสดชื่นใช่ไหม งานอย่างนั้น การกระทำอย่างนั้น มันไม่มีความลำบากกับผู้ที่เป็นอย่างนั้นเลย

แต่ของเรานี่กิเลสเต็มหัวไง จะทำสิ่งใดมีแต่ความลำบากไปหมดเลย ลำบากคือกิเลสมันลำบาก มันก็เหมือนกัน เวลาจิตใจมันผ่องแผ้ว ทำไมไม่เห็นมันลำบากตรงไหนเลย ทำไมมีความสดชื่น ทำไมมีแรงปรารถนา มันจะหักกิเลสในหัวใจให้ได้ มันจะเลิกทาสตัวมันเองให้ได้ ทำไมมันมีความขวนขวายได้ขนาดนั้น

ความขวนขวายได้ขนาดนั้น เพราะว่าอะไร.. เพราะว่าถ้าจิตใจมันดีงามขึ้นมา มันถึงว่าฝืนความคิดของเรา ฝืนตัวเรานี่ฝืนกิเลส ถ้าฝืนกิเลสพยายามฝืนมัน.. ฝืนมันเพื่อคุณงามความดี ฝืนมันเพื่อความดีของเรา นี่วางไว้หมดเห็นไหม ความดี.. ความดี..

เพราะถ้าพูดถึงความดี.. “ติดดี” “ติดชั่ว” ก็เป็นอย่างหนึ่ง ติดดีก็อย่างหนึ่ง ต่างคนต่างเอาว่าตัวเองเป็นความถูกต้อง ตัวเองเป็นความดีงาม แล้วดีของใครล่ะ ดีอย่างนั้นมันประสบผลสำเร็จที่ไหน แต่ดีของเรานะ นี่สันทิฏฐิโก นี่เป็นปัจจัตตัง ความรู้สึกของเรานี่ เรารู้เลยว่าชั่วหรือดี

ความจริงคนนี่ รู้ดีรู้ชั่ว แต่มันทนสิ่งเร้า ทนกิเลสที่มันเร้านี่ ไอ้นายทาสอ่ะ ไอ้ความคิด ไอ้ตัณหาความทะยานอยาก ไอ้นายทาส ที่มันฉุดกระชากลากถูใจนี่ เราทนสิ่งนี้ไม่ได้ต่างหาก แล้วเราไม่ได้ฝึกฝนไง ทุกคนบอกว่า ธรรมะคือเข้าใจธรรมะ เป็นความดีความงามก็รู้หมดน่ะ แต่ทำไมมันทนแรงเร้าของหัวใจไม่ได้.. เพราะว่าไม่ได้ฝึกไง

เรามาวัดมาวานี่ เรามาฝึกของเรา เวลาฟังธรรม ! ฟังธรรม ! นี่ตอกย้ำ ได้ยินทุกวันเลย.. หลวงพ่อพูดทุกวันเลย เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ในเซนเขาไปถาม..

“อาจารย์สอนอะไร”

“ละชั่ว..ทำดี”

“สอนแค่นี้เหรอ”

สอนแค่นี้ มึงทำทั้งชาติมึงก็ทำไม่จบ..! นี่ละความชั่ว ทำความดี ละความชั่ว.. แล้วเวลาเราละของเรา เราฝืนใจของเรา เรารู้ของเราเองนะ สิ่งใดที่มันปรารถนา เวลาเราบังคับใจของเราไม่ให้ไปตามมัน พอถึงมันพ้นวาระนั้นไปแล้วนะ เราจะภูมิใจมากว่าเราแก้ไขได้ ถ้าสิ่งที่มันปรารถนา แล้วเราตามมันไป มันได้สิ่งนั้นมา มันเสพอารมณ์ความรู้สึก แล้วมันว่ามันมีความสุข

แต่ถ้าเราฝืนมันนะ มันดิ้นรนมาก แต่เมื่อมันพ้นวาระนั้นไปแล้วนะ มันจะมีความภูมิใจมากว่า เราชนะมัน เราชนะพวกนายทาส เราชนะตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา นายทาสมันบังคับให้เราไป แต่เราฝืนมัน.. เราฝืนมัน..

พอฝืนถึงที่สุดแล้วนะ วาระนั้นผ่านไป ชีวิตนี้ก็ยังอยู่ ทุกอย่างปกติ ไม่มีอะไรบุบสลายไปเลย แล้วเราชนะด้วย.. เราชนะ เราฝืนมันได้ด้วย เห็นไหมนี่การประพฤติปฏิบัติ การกำหนดพุทโธ ๆ จิตมันสงบได้.. สงบได้เพราะเหตุนี้ เพราะบังคับ เพราะมีสติ

“สติ” เห็นไหม หลวงตาบอก “สติสามารถกั้นน้ำทะเลได้ สติสามารถกั้นคลื่นลมได้” ดูสิ เวลาพายุเฮอริเคนมันเกิดขึ้นมานี่ สติยับยั้งได้ ๆ เวลาลมพายุ อารมณ์ความรู้สึกที่มันรุนแรงนี่ ถ้ามีสติยับยั้งได้ ๆ แล้วพายุเดี๋ยวมันก็เกิดอีก ๆ .. เกิดอีกเพราะอะไร เพราะมันมีเหตุมีปัจจัยมันก็ต้องเกิดอีก

ในเมื่อเรามีชีวิตอยู่ เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ มันก็ต้องเกิดอีก ถ้าเกิดอีกเห็นไหม เราตั้งสติ พอยับยั้งได้เราก็เห็นว่าเราก็สามารถยับยั้งได้ เราสามารถควบคุมของเราได้ ถ้าควบคุมของเราได้นี่ เราจะภูมิใจมาก คนที่ทำสิ่งใด ๆ ไม่ได้เลย แล้วมันประสบความสำเร็จสิ่งใดขึ้นมา มันก็ภูมิใจทั้งนั้นล่ะ

นี่ถ้าเราเอาชนะตัวเองบ่อยๆ ครั้งเข้า เห็นไหม “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว การชนะสงคราม คูณด้วยแสน คูณด้วยล้าน มันสร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้นล่ะ .. การชนะตนเองสำคัญที่สุด ..

ดูสิ สมัยสงครามโลก ถ้าผู้นำทั้ง ๒ ฝ่าย เขาเอาชนะตัวเขาเอง เขาไม่รักษาหน้าของเขา สงครามมันจะเกิดไหมล่ะ.. ถ้าเอาชนะตัวเองได้สงครามมันก็ไม่มี แต่นี่เพราะทิฏฐิของผู้นำ ทิฏฐิของผู้ที่จะเอาชนะคะคานกัน ลากหมู่คณะ ลากทั้งประเทศเข้าไปเผชิญกับสงคราม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเอาชนะตนเองสำคัญมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้เอาชนะตนเอง แล้วเราก็พยายามจะเอาชนะตนเองเห็นไหม ถ้าเราชนะตนเองได้ เราจะเลิกทาส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลิกทาสมาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว แต่โลกเพิ่งเลิกทาสกันเมื่อไม่กี่ร้อยปีนี้เอง

..ว่าเลิกทาส.. เลิกตามกฎหมาย แต่หัวใจยังเป็นทาส !

เลิกกฎหมาย เปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่หัวใจยังเป็นทาส !

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลิกทาสมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ไม่เป็นทาสอีกเลย ไม่ใช่เลิกทางกฎหมาย.. เลิกจากหัวใจ เลิกจากสัจธรรม

นี่เหมือนกัน เราศึกษาธรรม ! ศึกษาธรรม ! นี่ ศึกษาธรรมตามกฎหมาย ศึกษาตามความรู้ ศึกษาเห็นไหม เราเข้าใจๆ กระดาษแผ่นเดียวน่ะ ความรู้อย่างนี้มันเปลี่ยนแปลงกันได้ ความจำมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา.. ความจำมันเปลี่ยนแปลง แล้วความจำ..จำแล้วมันได้อะไรขึ้นมา

แต่ถ้าจำแล้วมาปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องการตรงนี้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธะ ปริยัติ.. การศึกษาเล่าเรียนมา ศึกษามาเพื่อเป็นวิชาการ ศึกษามาเป็นแบบอย่าง ศึกษามาเพื่อการฝืนตน ถ้าฝืนตน.. นี่ปฏิบัติ !

ฝืนตนเห็นไหม เวลาปฏิบัติ ดูสิ เวลาคนเขามีทรัพย์สินเงินทองขึ้นมานี่ โอ้..เขามีตู้เซฟเก็บไว้นะ เวลาเราปฏิบัติกันน่ะ นั่งอยู่โคนต้นไม้ แล้วได้อะไรมา.. ได้ความรู้สึกมา ได้สมาธิมา ได้ปัญญามา แล้วมันอยู่ที่ไหน.. เวลาเราบรรลุธรรมขึ้นมา มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสมบัติเฉพาะตน แต่สื่อสารได้ สื่อสารด้วย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระลูกศิษย์ไปกราบถามปัญหาหนึ่ง.. เวลาผู้ที่สิ้นกิเลสไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ไปถามปัญหา ไปถามปัญหาด้วยความลังเลสงสัย ด้วยความขุ่นข้องหมองใจ..

ผู้ที่บรรลุธรรม ผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว ไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความซึ้งใจ ด้วยความเห็นบุญเห็นคุณ ด้วยความซาบซึ้ง ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมานี่ เราจะรู้สิ่งนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

ไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเศร้าหมอง ไปกราบท่านด้วยความลังเลสงสัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศนาว่าการ

เวลาไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความขอบคุณ ด้วยบุญคุณ ด้วยความซาบซึ้ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ใครทรมานมา ใครทรมานมา” ทรมานมาเพราะอะไร เพราะคนที่จะพ้นจากสิ่งนี้ไป มันต้องมีกิจจญาณ มันมีเหตุการณ์ในหัวใจที่การกระทำ ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ แล้วมันจะหายไปเอง ไม่มีหรอก !

สิ่งใดๆ แล้วมันจะอยู่เฉยๆ แล้วจะหายไปเอง มันเป็นไปไม่ได้ ! ถ้าอยู่เฉยแล้วหายไปเอง เราจะไม่มาเกิดเลย ทุกคนไม่อยากมาเกิด ทุกคนอยากสุขอยากสบาย แต่ทุกคนทนทาสตัวนี้ไม่ได้ ไอ้ตัณหาความทะยานอยาก สิ่งเร้า ทุกคนอยู่ในใต้อำนาจของมัน ทุกคนต้องมีกัน มันเป็นนามธรรมหมดนะ

แต่เวลาสิ้นกิเลสไปแล้วเห็นไหม ซาบซึ้งบุญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลิกทาส แล้วถือดุ้นไฟมาคนละดุ้น แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สละดุ้นไฟนั้นแล้ว เพราะมันร้อน.. ร้อน.. แล้วสละดุ้นไฟนั้น ถ้าใครทิ้งได้คนนั้นก็ร่มเย็น

เรายังถือของเราอยู่ เพราะเรามีชีวิตของเราใช่ไหม เราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยใช่ไหม แต่ถ้าเราสิ้นกิเลสไปแล้ว มันก็มีปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน แต่อาศัยด้วยความไม่ร้อนไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการอยู่ ๔๕ ปี ก็อาศัยเหมือนกัน แต่อาศัยด้วยความไม่เป็นทาส

แต่เราอาศัยด้วยความเป็นทาสนะ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไว้เห็นไหม ดูสิ นี่มนุษย์เขา สังคมเขา เขากินด้วยเกียรติ กินด้วยกาม กินด้วยศักดิ์ศรี กินด้วยความดำรงชีวิต สมณะเรานี่กินเพื่อดำรงชีวิต ไม่ใช่เกียรติ.. ไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี มนุษย์เหมือนกัน

กินเพื่อดำรงชีวิตนี้ เอาชีวิตนี้ไว้เพื่อแสวงหา เอาชีวิตนี้ไว้เพื่อจะเลิกทาสมัน เลิกเอาจิตใจนี้ไว้เพื่อให้เป็นอิสรภาพให้ได้ ถ้าเป็นอิสรภาพนะ นี่พุทธศาสนาสอนที่นี่ สอนให้ทุกคนเป็นอิสระ สอนให้ทุกคนไม่เป็นทาส ดูสิ ไม่ให้เชื่อสิ่งใดทั้งสิ้น ไม่เชื่อเทวดา ไม่เชื่ออะไรทั้งหมด.. ให้เชื่อธรรมะ สัจธรรม ถ้าสัจธรรมมันเกิดขึ้นกลางหัวใจ..

เวลาเราศึกษามามันอยู่ในตำรา ชื่อทั้งนั้นเลย เราไปได้ชื่อมาหมดเลย แต่เวลามันเป็นขึ้นมานะ สมาธิเป็นอย่างไร แล้วว่าปัญญาๆ นี่ ปัญญาที่ว่าใช้กันนี่ ไอ้นั่นปัญญาโกหก ไอ้ปัญญาของทาส ปัญญาที่ทาส ที่ตัณหาความทะยานอยากมันควบคุมไว้ ปัญญาที่เกิดมานี่ อูย.. มรรคญาณ.. มรรคญาณ อูย.. มันว่างหมดเลย ว่างของทาส ! เพราะว่างคู่กับไม่ว่าง ว่างไปว่างมา มันพลิกไปพลิกมาเห็นไหม

แต่ถ้ามันสิ้นกิเลส มันเป็นอะไร มันปล่อยวางอย่างไร มันเข้าใจหมดเห็นไหม นี่อยู่ที่เรา ถ้าเราเลิกทาสได้ เราหาทาสก็ไม่เจอ หานายทาสก็ไม่เจอ แต่ชีวิตเราก็เป็นชีวิตอย่างนี้ ถูลู่ถูกังไป แต่ถ้าตั้งสติแล้วค้นหาใจของเรา แล้วพยายามทำความสงบของใจ ถ้าแค่ใจสงบก็เห็นคุณค่าแล้วนะ

เหมือนกับเรามีเงินในกระเป๋านี่ บางคนเห็นไหม.. คนเผอเรอนี่ มันหยิบเงินไว้แล้วมันก็ปาทิ้ง เพราะมันไม่รู้ว่าเงิน เพราะมันเผลอ แต่คนถ้ารู้ว่าเงินจะปาทิ้งไหม

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบขึ้นมานี่ มันรู้ว่าจิตที่สงบอันนี้เป็นอย่างไร แต่ถ้าจิตมันไม่สงบขึ้นมานี่ เหมือนกำเงินไว้แล้วปาเงินทิ้ง ปาอะไรทิ้งไป ปาวันเวลาให้มันสูญเปล่าไปไง ปาชีวิตนี้ทั้งชีวิตนะ ปาทิ้งไปหมดเลย เกิดมาแล้วก็ตายไป เกิดมาก็ได้อายุขัย ๑๐ ปี ๒๐ ปี ได้แต่ตัวเลขมา แล้วก็ทิ้งไป.. ทิ้งโอกาสของชีวิตนี้ ไปเกิดเอาภพชาติใหม่ แล้วมันจะมีสติปัญญาไหม มันจะมีความระลึกรู้ที่มันจะสร้างตัวมันไหม..

นี่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา มันจะเห็นคุณค่า ชีวิตของเรามีคุณค่า แล้วมันจะแสวงหา มันจะแก้ไขของมัน

เงิน! เงิน ! ถ้าคนที่มีสติปัญญาเขาใช้เงินเพื่อประโยชน์ เพื่อทำธุรกิจ ใช้เพื่อดำรงชีวิต แต่คนที่ไม่เข้าใจโยนทิ้ง ๆๆ เพราะคิดว่าเงินมันเป็นกระดาษไม่มีคุณค่า เพราะอะไร เพราะไม่มีสติปัญญา

เห็นไหม ฟังธรรม ! ฟังธรรม ! นี่มันจะเตือนตัวเรา ชีวิตเรามีคุณค่าที่สุด ความรู้สึกอ่ะ ชีวิตคือความรู้สึก ไอ้สุข ไอ้ทุกข์ ไอ้ความรู้สึกของเรานี่ มีค่าที่สุดกว่าทุกๆ อย่างเลย แล้วไอ้ความรู้สึกนี้มันโดนครอบงำไว้ด้วยตัณหาความทะยานอยาก เรากำลังจะแสวงหาตรงนี้ แก้ไขตรงนี้ แล้วความรู้สึกมันก็ยังอยู่นั่นนะ แล้วแต่ความรู้สึกที่ไม่มีใคร ไม่มีตัณหาความทะยานอยาก ไม่มีนายทาสคุมมันน่ะ.. ไม่มีนายทาสคุมมัน.. ไม่ต้องให้เป็นทาสของใครอีกเลย

นี่คือชีวิตของเรา คือสัจธรรมในพุทธศาสนา พุทธศาสนา.. พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หัวใจของเรานี่ ผู้รู้ไหม เรารู้ๆ จำแต่ทฤษฎี รู้จำจากปริยัติ ถ้าเรารู้ในภาคปฏิบัติ มันเลาะ มันถอด มันถอน รู้จริงขึ้นมาเห็นไหม นี่วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ มันจะเข้าใจของมัน

ยะถาภูตัง ญาณะทัสสนัง แม้แต่กิเลสขาด ยังรู้ว่าขาด กิเลสมันขาดไปแล้วนะ นี่เห็นไหม เลิกจากทาสแล้วนะ เราเป็นอิสรภาพ เรารู้หมดเลย เราเข้าใจหมดเลย เกิดญาณทัสสนะ เกิดความรู้ ด้วยความสุขความพอใจ จากไอ้ทาสรู้นี่แหละ ไอ้ความรู้สึกเป็นทาสนี่แหละเห็นไหม

นี่เราจะเลิกทาสตัวเราเอง ใครจะติฉินนินทา ใครจะนิยมยกย่องส่งเสริมขนาดไหน มันเป็นข่าวลือมันเป็นความคิดจากข้างนอก แต่ความรู้สึกสุขทุกข์ ความจริงของเรานี่ ของเราแท้ ๆ เราจะแก้ไขกันที่นี่เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง