ใจสิหลง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราฟังเทป เทปเขาบอกว่า เขาเทศน์นะ กายก็หลง วาจาก็หลง กายหลงหลงได้อย่างไร? กายจะหลงมันหลงเพราะว่ามีหัวใจ ใจต่างหากหลง ใจอยู่ในกายนี่มันหลงตัวมันเองก่อน มันถึงยึดว่ากายนี่เป็นของมัน ถ้ากายหลง กายมองกายตรงข้าม เห็นไหม ทำไมมันติดกันล่ะ? มองตรงข้ามนะ
ตัวเองหลงตัวเองไม่พอนะ ยังหลงกายของตัวเอง แล้วหลงกายของตัวเอง กายนี้เป็นที่แสดงออกมนุษย์ด้วย มนุษย์ สัตว์เดรัจฉานนี่มีร่างกาย เปรต อสุรกาย มันเป็นนามธรรมไป เปรต อย่างเทวดานี่มันไม่มีกาย แต่เป็นกายทิพย์ของเขา แต่มนุษย์ สัตว์เดรัจฉานนี่มีกาย เขาว่าหลงกาย เพราะหลงกาย กายนี่มันหลงเข้าฝ่ายตรงข้ามต่างหาก
ความจริงคือจิตมันหลง จิตนี่หลงมากเลย หลงจนไม่รู้ว่าตัวเองหลง แล้วตัวเองก็หลงมาติดกาย มันถึงเกิดสักกายทิฏฐิไง สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิว่ากายนี้เป็นของเรา ถ้าลองไม่มีกายนี้ เหมือนกับคนเจ็บไข้ได้ป่วย คนถึงที่สุดแล้วจะไม่มีอารมณ์ถึงฝ่ายตรงข้ามเพราะอะไร? เพราะตัวเองก็ทนทุกข์ทรมานในตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าลองมีความสุขอยู่ มีความแบบว่าพอสมควรหรือว่ามีความ... มันจะหลงฝ่ายตรงข้าม เห็นไหม กายถึงว่าหลง
กายมันเองมันไม่หลงหรอก กายนี่ไม่รู้เรื่อง แต่เพราะมันอาศัยรูปกายนั้นเป็นให้ตากระทบ มันถึงหลงรูปกายคนอื่น ฉะนั้น การหลงนั้นถึงจิตหลง ไม่ใช่กายหลง วาจาก็เหมือนกัน วาจาหรือกายนี่มันต้องมีจิตต่างหาก จิตนี่มันต้องมีความรู้สึก เห็นไหม จิตนี้มหัศจรรย์มาก จิตนี้พาเกิด จิตนี้มันถึงว่าเวียนว่ายตายเกิดแล้วไปเกิดในภพชาติตรงไหน
ถึงว่าถ้าหลงเฉพาะกายนี้ กายนี้หลงได้ กายนี้หลงได้กายนี้ก็มีชีวิตสิ กายมีชีวิต กายนี่จะเวียนว่ายตายเกิดด้วยสิ
กายไม่เวียนว่ายตายเกิด กายนี้เป็นที่เสวยภพของจิต จิตนี้เสวยภพเป็นกายแล้วถึงจะได้ออกมาเป็นกาย เห็นไหม กายหลง แล้วพอหลงแล้วยังไม่รู้จักว่าหลงนะ เวลาพิจารณาไป เพราะจิตมันหลง มันไม่เข้าใจ มันถึงว่าพิจารณานามรูปไง พิจารณาสรรพสิ่ง ทุกอย่างไม่ใช่กิเลส ทุกอย่างเป็นธรรมชาติของมัน แล้วเฝ้ามองเฉยๆ แล้วจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นกิเลส เพราะว่าเฝ้ามองอยู่
ชฎิล ๓ พี่น้อง เห็นไหม บูชาไฟอยู่ตลอดเวลา ก็เฝ้ามองไฟอยู่ บูชาอยู่ด้วย เฝ้ามองทั้งบูชาด้วยนะ นี่ชฎิล ๓ พี่น้อง แล้วพระพุทธเจ้าไปทรมาน เห็นไหม ไปทรมานนะ จับพญานาคได้ หรือทำอิทธิฤทธิ์แสดงว่าเหนือกว่า เขาบูชาไฟอยู่ เขาเฝ้าจิตของเขาอยู่ เห็นไหม จิตหลงอยู่ในชั้นหนึ่ง
แต่เพราะว่าไม่มีทางเดิน ไม่มีมัคคอริยสัจจังไง มัคโคทางอันเอกออก เห็นไหม เขาก็ยังหลงไปในการเฝ้ามองไฟไง เพ่งกระแสไฟ เพ่งเป็นกสิณจนมีฤทธิ์มีเดช เห็นไหม เลี้ยงพญานาคเอาไว้ในโรงบูชาไฟ เอาพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่นั่น
พระพุทธเจ้าอยู่ที่นั่น พระพุทธเจ้าทรมานพญานาคได้ จับพญานาคไว้ในบาตร
สมณะองค์นี้เก่งแต่สมณะนี้ยังไม่สิ้นกิเลส เราต่างหากสิ้นกิเลส พระพุทธเจ้าแสดงตัว สมณะองค์นี้เก่ง ยอมรับฤทธิ์ของเขา เพราะเขาก็ทำได้เหมือนเรา แต่ของเรามีฤทธิ์ด้วยแถมยังมีกิเลสอยู่ แต่ไอ้กิเลสตัวยึดมั่นนี่มันหลง เห็นไหม จิตมันหลง พอหลงตัวเองไง หลงว่าตัวเองนี้เก่ง เห็นคนอื่นทำได้ก็แล้วแต่ แต่คนนั้นทำได้แต่ยังมีกิเลสอยู่ ไม่ใช่สมณะ
จนพระพุทธเจ้าบอกว่า ไอ้ที่ยึดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่นนะ นั่นคือตัวกิเลส พอเราหักเข้าไปตรงจิตมันหลงไง กายไม่หลงหรอก กายนี่ กายเป็นกายสักแต่ว่ากาย แต่สำคัญจริงๆ คือจิตมันหลง ยัดเข้าไปตรงนั้นเลย ตรงที่แบบว่าสิ่งที่ว่าตัวเองเก่ง ตัวเองเก่งอยู่ นี่กิเลส ทำไมไม่มองหาดูตัวเอง ไม่ยัดเข้าไปที่ตัวเองว่าตัวเองนี่มีกิเลสอยู่
จนชฎิลยอมฟัง เห็นไหม ก้มหัวลงฟังพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงเทศน์อาทิตตปริยายสูตร อาทิตตฯ เห็นไหม บูชาไฟ ไฟเป็นของร้อน นี่เทียบข้างนอก เฝ้ามองอยู่แต่ข้างนอก บูชาเป็นของร้อน ใจเฝ้ามองอยู่ ใจดูอยู่ข้างนอกอยู่ แล้วโทสัคคินา โมหัคคินา เห็นไหม ไฟเป็นโทสะ ไฟเป็นโลภะ ไฟเผาอยู่ในหัวใจ
นี่ไงจิตต่างหากเป็นผู้หลง จิตหลงตัวเองแล้ว พอความหลงอันนี้มันทำให้หลง หลงคือความมองเป็นอดีตอนาคตในตัวมันเอง มันหลง มันเคลื่อนที่ตลอดเวลา มันขับไสออกไป หมายถึงว่าพลังงานมันส่งออก พลังงานนี้หลุดออกไป มันจับต้องอะไร เฝ้ามองขนาดไหนมันก็ไม่เป็นปัจจุบันธรรม
มันจะเป็นปัจจุบันธรรมมันต้องพักจิตนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวก่อน เป็นเอกัคคตารมณ์ เห็นไหม ถึงว่าเป็นมัคคะทางอันเอก ทางอันเอกหมายถึงสัมมาสมาธิ เห็นไหม ความดำริชอบ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบก่อน แล้วเห็นชอบ เห็นไหม ชอบเฝ้ามองด้วยความเห็นชอบแต่ไม่มีสัมมาสมาธิอยู่ การเห็น การเฝ้ามองอยู่
สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เห็นไหม ไม่ใช่กิเลส ตาก็ไม่ใช่กิเลส ตาก็เป็นสักแต่ว่าตา หูก็สักแต่ว่าหู กายก็สักแต่ว่ากาย ทุกอย่างเป็นสภาวะความเป็นจริงหมด เฝ้ามองความเป็นจริงแล้วเห็นความเป็นจริง จะเป็นรู้จริง
เฝ้ามองความเป็นจริงอยู่ จะรู้จริงตรงไหน? มันไม่ได้ใช้ปัญญาเฝ้ามอง คำว่า เฝ้ามอง เห็นไหม การว่าเฝ้ามอง ห้ามคิดด้วยนะ ห้ามคิด ห้ามวิเคราะห์วิจัย เห็นไหม การวิเคราะห์วิจัย การเฝ้ามองอยู่มันยังดีอยู่ ดีที่ว่าพอเห็นการแปรสภาพไป มันมีเปรียบเทียบ อันนี้ก็เป็นอดีตอนาคต อันนี้ก็แปรสภาพ
การวิเคราะห์วิจัยต่างหากเป็นปัญญา การเฝ้ามองอยู่เฉยๆ มันเป็นปัญญาไหม?
การเฝ้ามองการแปรสภาพสภาวะความเป็นไป เพราะใจมันหลง พอใจมันหลง มันเห็นอาการ ดูอย่างเช่นชฎิล เห็นไหม มีฤทธิ์ขนาดเลี้ยงพญานาคได้ เอาพญานาคไว้ในโรงไฟได้ บังคับได้ เหาะเหินเดินฟ้าได้ ทำอะไรได้เหมือน พระพุทธเจ้าทำได้ เห็นไหม ฤทธิ์มันมีอยู่ การเฝ้ามองมันจะเกิดตรงนี้ เกิดตรงนี้เพราะอะไร เพราะใจนี่มหัศจรรย์ ใจนี่พอมันเวิ้งว้าง เห็นไหม ใจตัวมันเองมันหลงตัวมันเอง แต่มันปล่อยให้ตัวมันเองว่างได้ไง ความว่างของใจ
แต่กิเลสนี่มันน้ำใสเห็นตัวปลา กิเลสมันอยู่ในใจนั้น ความว่างขนาดไหนกิเลสมันก็ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป การเฝ้ามองอยู่มันก็มหัศจรรย์ ความมหัศจรรย์นั้นมันไม่ได้ชำระกิเลสไง มันเป็นจินตมยปัญญาไง มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา คนที่เห็นภาวนามยปัญญา ว่าการเฝ้ามองอันนี้มันถึงว่าไม่ใช่
การเฝ้ามองนี้เป็นบาทฐานการก้าวเดินขึ้นมา ให้จิตหยุดนิ่งให้ได้ การเฝ้ามองนี่มันเฝ้ามองแล้วมันสลดสังเวช จิตมันละคลายออกมา มันหยุดละคลายที่ว่ามันไม่ตามเขาเฉยๆ พอไม่ตามเขาเฉยๆ มันหยุดนิ่ง พอมันหยุดนิ่งมันก็มีอาการเวิ้งว้าง มีสิ่งมหัศจรรย์นี้เกิดขึ้น มีความว่างเกิดขึ้นภายในใจนั้น
อันนั้นว่าเป็นผล มันไม่ใช่ผล เพราะอะไร? เพราะมันเป็นตทังคฯ มันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเฝ้ามองอยู่แล้วใจมันเห็นสิ่งนั้น แล้วมันสลดสังเวช แต่มันเนื้อของใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจ เห็นไหม กิเลสพาเกิด ใจมันหลง มันหลงตัวมันเอง หนึ่ง แล้วมันหลงอาการที่เห็น หนึ่ง
แต่ในเมื่อเราตามรู้อาการที่เห็น มันก็ไปหลงตัวมันเอง เห็นไหม มันกลับเข้ามาหลงในตัวมันเอง จากที่มันหลงอาการที่สภาวะแปรไป หลงในตา ในหู ในจมูก ในลิ้น ในกาย ในใจที่มันสภาพออกไป อาจารย์มหาบัวถึงบอกว่า เวลาวิปัสสนาเข้ามา มันจะตัดย่นระยะทางเข้ามา จากจิตที่มันกระแสออกไป มันจะย่นเข้ามาๆ
นี่ตัดจากกายนอกเข้าไป เห็นไหม สักกายทิฏฐิคือเห็นผิดที่ในกาย แต่เพราะมันหลงอยู่ มันมองขนาดไหนมันก็ยังแก้ไม่ได้ ต้องให้มันสงบขึ้นมาก่อน คือให้มันเปิดขึ้นมาให้ถึงเนื้อของใจไง พอถึงเนื้อของใจแล้วถึงกลับมาวิปัสสนากายนั้น ถึงจะเห็นว่าสภาวะกายนี้มันหมุนไปตามความเป็นจริงของมัน คือมันต้องแปรสภาพของมัน
แต่เพราะเราไปยึด เห็นไหม ยึดว่าไม่อยากให้เป็นไป ยึดกายเห็นว่ากายนี้เป็นเรา เราเป็นกาย ไม่อยากให้มันแปรสภาพไป ให้อยู่กับเรานานๆ นี่สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิเกิดจากเรากับกาย พิจารณากายอย่างนี้มันถึงจะปล่อยกายเข้ามา แต่ต้องพิจารณากายเรา แต่ถ้ากายมันหลง มันหลงกายนอก เพราะมันเห็นกายนอกแล้วมันถึงเกิดอารมณ์กันขึ้นมา กามราคะเกิดขึ้นมาจากฝ่ายตรงข้าม ไม่เกิดจากฝ่ายตัวเอง
แต่จริงๆ แล้วเกิดจากตัวเอง เพราะจิตมันเป็นก่อน เห็นไหม มันหลง ๒ ชั้นไง จิตหลงชั้นหนึ่ง แล้วพอหลงออกมาแล้วยึดกายของเรา แล้วเอากายของเราเป็นฐานออกไปกระทบกับสิ่งกายนอก
นี่ไง มันว่ามันหลงตัวมันเองแล้วหลงกายของตัวเอง แต่ตัวนี้มองไม่เห็น ข้ามขั้นตอนเข้าไป แต่เวลาว่ากายมันหลงๆ จับแต่ตัวว่ากายหลง กายที่มันหลงถ้ามันไม่มีจิต มันจะเอาอะไรไปหลง? คนตายเวลาเอาไปเผาไฟ มันร้องเรียนไหมว่ามันไม่ยอมให้เผามัน? มันเป็นไปไม่ได้เพราะมันตายไปแล้ว เพราะไม่มีจิตตัวนั้น
ฉะนั้นกายถึงจริงๆ แล้วกายไม่ใช่หลง เพียงแต่เรามาเสวยภพมนุษย์ เรามีกายเท่านั้นเอง เราเสวยไปภพมนุษย์ เรามีกายเราขึ้นมา นี้เราพอมีกายขึ้นมา เราเฝ้ามองกาย เราเห็นเฉพาะกาย มันเป็นจินตมยปัญญา การเฝ้ามองกายเข้ามาเฉยๆ
การเฝ้ามองกายแล้วมันยังเฝ้ามองไม่ได้ เพราะว่าเฝ้ามองแล้วมันไม่เป็นผล มันเป็นตทังคปหาน มันถอยเข้ามาๆ เพราะจิตมันหลงโดยธรรมชาติของมัน มันหลงมันแล้ว พอเฝ้ามองก็หลง มันก็ปล่อยเข้ามา พอปล่อยเข้ามามันก็มาหลงตัวมันเองอีก
นี่ถึงว่าจิตมันหลง แก้ต้องแก้ที่จิต จิตนี้ออกมาวิปัสสนากาย จิตนี้วิปัสสนาจิต จิตนี้เข้าใจตัวมันเอง พอเข้าใจตัวมันเองก็สงบตัวลง ถึงว่าต้องให้จิตสงบก่อน ถึงจะเป็นมัคคอริยสัจจัง เป็นทางอันเอก เป็นมัคโค
ถ้าจิตนี้มันไม่สงบตัว คือมันสัมมาสมาธิไม่มีในมรรค ๘ มัคโคอันนี้ เห็นไหม ทางอันนี้ไม่มัชฌิมาปฏิปทา ทางอันนี้เป็นเราคิด พอเป็นเราคิด วิปัสสนาเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา... นี่เราคิดทั้งหมดเลย
มันหลุดได้ หลุดได้ด้วยการตทังคปหาน มันปล่อยชั่วคราว พอปล่อยแล้วมันมหัศจรรย์ที่ว่ามันยังเวิ้งว้างขึ้นไปอีก ไอ้นี่ก็เป็นผลไง มันนึกว่าเป็นผล คำว่า ปล่อยวาง ถึงพูดได้คำว่า ปล่อยวางเฉยๆ แต่! แต่ไม่สำรอกคายกิเลสคือสังโยชน์ตัวไหนออกไปเลย ไม่ได้พูดถึงสังโยชน์หรือพูดถึงสิ่งที่ชำระหนี้ออกไป
สิ่งที่ชำระหนี้ออกไป เห็นไหม สิ่งที่ชำระออกไปมันหายไปเลยไง หนี้นี้ขาดออกไป ใจนี้เวิ้งว้างขึ้นไป ใจนี้ขาดออกไป สักกายทิฏฐิ สังโยชน์ ๓ ตัวขาดออกไป ใจมันรู้เอง มันรู้เท่าด้วยแล้วมันสำรอกคายออกด้วย แล้วมันเป็นความว่างของมัน เป็นอกุปปธรรมอยู่ในใจด้วย ใจถึงไม่หลงส่วนหนึ่งไง
ใจไม่หลงส่วนนั้นถึงรู้เท่าขึ้นมา ต้องแก้ที่ใจไม่หลงก่อน พอใจเข้าใจ ใจไม่หลง มันก็เข้าใจตามความเป็นจริง ใจนี้ถึงเป็นผู้หลง กายนี้ว่ากายนี้หลง วาจานั้นหลง เพราะอาศัยบวกที่ใจ แต่ถ้ากายนั้น วาจานั้นไม่มีใจเข้าไปผูก มันไปเลย มันเป็นประสามัน คือว่าสักแต่ว่า แต่ถ้ามีใจเข้าไปผูก คือใจเข้าไปยึดมั่นถือมั่นไง มันซึมสภาวะเข้าไป มันจะแปรสภาพเป็นอย่างนั้นออกไปๆ มันก็หลงไปตามนั้น
ทีนี้มันแก้มันต้องแก้กลับมาที่ตรงหัวใจนี้ ถ้าพูดตามสัจจะคือใจมันหลง ใจมันหลงต่างหาก ร่างกายไม่ได้หลง ร่างกายเป็นร่างกาย หัวใจอาศัยในร่างกายนั้น การเฝ้ามองก็เหมือนกัน การเฝ้ามองก็อาศัยใจนี้ไปเฝ้ามอง แต่เฝ้ามองแล้ว พอเฝ้ามองเข้าไป การเฝ้ามองอยู่ก็เข้าใจว่าอันนี้เป็นผล
อันนี้เป็นแค่หาเครื่องมือต่างหาก หามัคคอริยสัจจังต่างหาก หาให้ใจนี้สงบเข้ามาต่างหาก พอใจสงบเข้ามาแล้วต้องยกขึ้นวิปัสสนาอีก ทำไมถึงว่าไม่ให้คิด?
การคิดการวิเคราะห์วิจัยนี้เป็นการด้นเดา เห็นไหม ผู้ใดปฏิบัติธรรมด้นเดาธรรมจะ ได้ธรรมะด้นเดา คือเขาว่าอันนั้นไม่ใช่มรรค ทั้งๆ ที่จะเดินเข้าไปหามรรคกลับว่าไม่ใช่มรรค สิ่งที่เฝ้ามองอยู่นี้กลายเป็นว่ากิเลสมันหลอกใช้อยู่ ใจมันหลงตัวมันเองแล้วมันหลอกใช้กิริยาในการกระทำไง
นี่กิเลสในภาคปฏิบัติ เข้าใจตัวเองว่าตัวเองประพฤติปฏิบัติอยู่ เห็นไหม ทางนี้เป็นทางประพฤติปฏิบัติ ทางนี้เป็นทางที่ว่าเราจะแก้กิเลส แต่กิเลสมันอยู่หลังปฏิบัตินั้น เพราะมันหลงตัวมันเองอยู่แล้ว มันถึงใช้การที่ว่าเราประพฤติปฏิบัตินี้เป็นช่องทางที่มันจะอาศัยนอนกินไปตลอด แล้วพอจบชีวิตๆ จบอายุขัยๆ หนึ่ง ประพฤติปฏิบัติไปไม่ถึงที่สิ้นสุด มันก็ประพฤติปฏิบัติไป
ถ้าอยู่ในร่องในรอย เป็นพระที่ดีอยู่ แล้วกำหนดจิตอยู่นี้ เกิดๆ เป็นพรหมจริงๆ ไปเกิดเป็นพรหมเพราะอะไร? เพราะจิตนี้มันหลงตัวมันเอง แต่มันปล่อยอารมณ์ข้างนอกเข้ามา มันหลงในตัวมันเองคือว่าจิตนี้ต้องเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นหนึ่งเดียวไง เป็นเอตทัคคะ เป็นพรหมได้
แต่พรหมนี้ไม่ใช่พรหมสุทธาวาส พรหมในสุทธาวาส ๕ ชั้นคือชำระกิเลสเข้าไป มันเป็นพรหมด้วย แล้วจิตสะอาดเบากว่าพรหมธรรมดา พรหมธรรมดาเป็นพรหมเพราะจิตนี้เป็นเอตทัคคะ แต่สังโยชน์ไม่ได้หลุดไปแม้แต่ตัวเดียว สังโยชน์ในหัวใจมันยังมีอยู่ มันหนักกว่ากัน น้ำหนักของจิตต่างกัน น้ำหนักของจิตที่ว่าเป็นอกุปปธรรมกับกุปปธรรมไง จิตที่แปรสภาพอยู่ยังหมุนเวียนอยู่ มันเป็นนามธรรม มันเบา เบาเพราะจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ มันหมุนไป
แต่มันหนักตรงสังโยชน์นี่ไง หนักตรงที่สิ่งที่ผูกมัดอยู่ในหัวใจนั่นไง แต่ถ้าเป็นสุทธาวาสนั้น สังโยชน์นี่หลุดออกไปๆ การหลุดออกไปจะไม่ใช่ว่าการเฝ้ามอง หลุดออกไปด้วยวิปัสสนาญาณ ถึงว่าต้องวิปัสสนาแก้ไขเข้ามา วิปัสสนาแก้ไขเข้ามา อันนั้นถึงเป็นมัคคอริยสัจจัง
ถ้าเป็นอันนั้นถึงจะเป็นพรหมในสุทธาวาส ๕ ชั้นนั้นสุกไปข้างหน้า สุกไปข้างหน้าถึงว่าต้องใช้วิปัสสนา ไม่ใช่ว่าการเฝ้ามองอยู่ การเฝ้ามองอยู่นั้นเป็นพรหมเหมือนกันแต่คนละพรหม นี่จิตหลงเป็นอย่างนั้น
การเกิดการตายก็หลง การเกิดการตาย เห็นไหม เกิดมาก็หลง แล้วมาเฝ้าอยู่ใช้อายุขัยหนึ่ง ว่าประพฤติปฏิบัติอยู่ก็ให้กิเลสมันหลอกไปอีก แล้วพอทำถึงที่สุดแล้วก็ต้องไปเกิดในสภาวะนั่น ก็ยังหลงในตัวมันเอง เห็นไหม มันไม่ได้ฉลาดขึ้นมาเลย
ถึงว่าจิตนี้ต่างหากเป็นผู้หลง จิตนี้ต่างหากเป็นที่ว่าน่ากลัวมาก ฉะนั้นว่าจิตนี้ต่างหากเป็นผู้แก้ไขจิต เห็นไหม ถ้าน่ากลัวมาก จิตนี้มาจากไหน?
จิตนี้คือเรา เพียงแต่เราพบพระพุทธศาสนา แล้วพระพุทธศาสนาสอนไว้ มัคคอริยสัจจัง เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาขั้นไหน? ถ้าปัญญาขั้นปัญญาอบรมสมาธิ เราเข้าใจว่าเป็นปัญญาของการภาวนามยปัญญา มันก็จมอยู่นั่น เราไม่ก้าวเดินต่อไป ถ้าว่าปัญญาเป็นขั้นของปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม แล้วก็ปัญญาที่มีสมาธิ ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ปัญญาที่เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ชำระกิเลส นี่วางไว้ ๒,๕๔๓ ปี พระพุทธเจ้าวางไว้ วางไว้เป็นศาสดาของเรา
แต่เราเข้าไม่ถึงศาสดาของเรากันเอง เราเห็นอยู่ในหลักของศาสนา เกิดในพระพุทธศาสนา ได้บวชเป็นพระนะ ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศาสนาแต่ก็ยังใช้ให้กิเลสมันบังคับขับไสไปในวิปัสสนา ไปในขณะที่ประพฤติปฏิบัติอยู่
มันถึงว่าชีวิตส่วนหนึ่งก็ต้องเป็นชีวิตส่วนหนึ่งไป ได้เป็นพรหมเหมือนกัน แต่พอเราไปเกิดแล้วถึงรู้ อ๋อ... อันนี้ไม่ใช่เพราะเราอยู่ในพรหมนี้ มันยังมีพรหมอีกข้างหน้า ตายถึงว่านี่ตายหลงไง เกิดก็เกิดหลง ตายก็ยังตายหลงไป หลงไปตลอด
แต่ถ้าเกิดมามืดมาแล้วสว่างไป เกิดมาหลงแต่ประพฤติปฏิบัติแล้วเข้าใจตามหลักความเป็นจริงจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง จะพูดตามมัคคอริยสัจจัง พูดตามหลัก คือจิตมันหลง แต่หลงตัวเองแล้วยังมาหลงกายหลงทุกๆ อย่าง แล้วชำระเข้ามาเป็นชั้นๆๆ เข้ามา ถึงต้องบอกว่าการวิเคราะห์วิจัยหรือการใช้ปัญญาถึงถูกต้อง ไม่ใช่เฝ้ามองเฉยๆ เอวัง