สงกรานต์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ใครเข้าถึงธรรมแล้วนะ ธรรมเป็นความบริสุทธิ์มาก ทำด้วยความเมตตา เพราะว่าอะไร? มันไม่เห็นมีคุณค่าอะไรเลยในโลกนี้ คุณค่าในโลกนี้มันไม่มี อาศัยชั่วคราว แต่พวกเรานี่ก็อาศัยชั่วคราว คนที่มีธรรมกับคนที่ไม่มีธรรมอยู่ด้วยกัน อาศัยโลกใบนี้อยู่ด้วยกัน แต่คนที่มีธรรมนะ เขาอยู่ด้วย เห็นไหม น้ำไม่ติดบนใบบัว เพื่ออยู่ด้วยกัน อาศัยกันไปชั่วคราวชั่วกาลหนึ่ง แต่พอพ้นจากนี้ไป มันจะไปรับส่วนบุญส่วนกุศลอีก
แต่เรามาอยู่ในโลกนี้กัน เราก็ยึดโลกนี้จะเป็นสมบัติของเราไง พยายามจะดึงให้เป็นสมบัติของเราแล้วมันเป็นไปไม่ได้ อย่างเช่นวันนี้วันสงกรานต์นะ วันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ ขึ้นปีใหม่มากี่หนแล้วนะ? ตั้งแต่คริสต์มาสขึ้นปีใหม่ แล้วก็ขึ้นปีใหม่สากล ตรุษจีนขึ้นปีใหม่ นี่ก็สงกรานต์ขึ้นปีใหม่ ปีหนึ่งขึ้นปีใหม่ถึง ๔-๕ ครั้ง
นี่ก็เหมือนกัน ว่าการขึ้นปีใหม่นี้เป็นนักขัตฤกษ์เพื่อจะทำคุณงามความดี เป็นประเพณีวัฒนธรรมให้เราได้ทำคุณงามความดีกัน แต่ทำคุณงามความดีเฉพาะเวลาขึ้นนักขัตฤกษ์ ปากกินข้าวทุกวัน กินวันละ ๓ มื้อ กินทุกวันนะ ปากต้องอาศัยอาหารกิน แต่ใจนี่อาหารอะไรไปกิน
จริงอยู่การมาทำบุญกุศลมันเป็นความที่ยากลำบาก เพราะมันเป็นเรื่องที่ว่าต้องลงทุนลงแรงหาเงินหาทรัพย์มาเพื่อจะซื้อของ หนึ่ง ซื้อแล้วต้องมีเจตนาจะกระทำ หนึ่ง ยังต้องมีเวลากระทำ หนึ่ง ทำไปแล้วยังมีการต่อต้านจากกิเลสอีก หนึ่ง เห็นไหม การทำบุญกุศลมันถึงทำได้ยาก
นี่อาหารของใจไม่เหมือนอาหารของปาก อาหารของปากนี่มีเงินไปซื้อที่ไหนก็ได้ อาหารของใจมันต้องใช้เจตนาออกไปทำ เจตนาออกไป เห็นไหม เจตนาจะมาทำบุญกุศล
อันนี้ประเพณีวัฒนธรรมมันเป็นสงกรานต์ขึ้นมาขึ้นปีใหม่คนก็ทำเป็นประเพณี นี่ประเพณีช่วยไง ช่วยให้กิเลสนี่มันเบาบางลง หมายถึงว่าความที่ว่าไม่มีเวลา ทุกอย่างที่มันจะขัดข้องใจ
แต่ประเพณีวัฒนธรรม วันนี้วันสงกรานต์ต้องไปทำบุญ ปีหนึ่งได้หนหนึ่ง หรือว่าปีใหม่ ๔-๕ ครั้งต่อปีก็ได้ทำ ๔-๕ ครั้ง ปีหนึ่งใจกินอาหาร ๔-๕ ครั้ง แต่ปากกินอยู่ทุกวันวันละ ๓ มื้อ กินเข้าไปแล้วมันก็อิ่ม พออิ่มมันก็มีความสุขได้ชั่วครั้งชั่วคราว พอมันหิวโหยขึ้นมามันก็ต้องหากินอีก แต่ใจ ถ้ามันกินบุญกุศลมันอิ่มใจไง ไปทำบุญกุศลมานะอิ่มใจ ใจที่อิ่มหนำสำราญขึ้นมา มันก็มีความสุขได้ชั่วคราว เสร็จแล้วมันก็หิวกระหายอีก มันธรรมดาของใจ
อาหารของใจ ศีลธรรมไง ศีลธรรมจนเราเชื่อศีลเชื่อธรรม ทำใจขึ้นมาให้สงบขึ้นมา นี่อาหารของใจ อาหารของใจด้วยประเพณีวัฒนธรรมใช่ไหม? อาหารของใจเหมือนกับปาก เรากินอาหารเข้ามาวันละ ๓ มื้อ เวลาคนที่ถือศีลเหลือ ๒ มื้อ แล้วถือศีลเข้าไปเหลือมื้อเดียว ทำไมเขาอยู่ได้ล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน อาหารของใจก็เหมือนกัน ศีลธรรมนี่เข้าไปมันเป็นอาหารของใจ มันเป็นอาการของใจ มันไม่ใช่เนื้อของใจ เห็นไหม เวลาทำความสงบเข้ามาถึงใจ จิตนี้สงบ มันอิ่มในตัวมันเอง กินอาหารที่ตัวมันเองเกิดขึ้นมา นี่อาหารของใจ เป็นอาหารของใจจริงๆ
แต่นี่อาหารของบุญกุศลที่ขับเคลื่อนอยู่ บุญกุศลที่ขับเคลื่อนอยู่มันหมดไป เห็นไหม บุญกุศลนะ มันเป็นอามิสทาน อามิส สิ่งที่เกิดขึ้นอามิส ความสุขที่เกิดขึ้นจากอามิสต้องอาศัยอามิสเข้าไป ใจมันถึงอิ่มพอได้ นี่คือป้อนอาหารที่ใจ
พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ก็เหมือนกัน เป็นคำบริกรรมให้ใจกินพุทโธเข้าไป เห็นไหม เริ่มกินพุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไป หมายถึงกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้กินอาหารที่ละเอียดอ่อนเข้าไปอีก เป็นคำบริกรรมให้ใจนี้กินพุทโธ จนมันเกาะพุทโธ พอจิตนี้สงบพุทโธนี้จะไม่มีเลย ฟังสิ! จากที่เป็นอาหารที่ใส่ปากแล้วบดคำข้าวนี่นะ เราต้องเคี้ยวต้องกลืน เห็นไหม
พุทโธก็เหมือนกัน ต้องนึกขึ้นมาถึงจะเกิดขึ้น พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธมันหายไป มันละเอียดอ่อนเข้าไป เห็นไหม พุทโธไม่มี จิตนี้กับพุทโธเป็นเนื้อเดียวกัน สงบนิ่ง จะเอ่ยคำว่า พุทโธ จะนึกคำอะไรไม่ได้เลย เพราะนึกปั๊บจิตมันจะขยับออก
นี่จากคำข้าว เป็นอาหารเป็นคำข้าวขึ้นมา เห็นไหม เป็นประเพณีวัฒนธรรมเข้ามาให้ใจได้อาศัยนี้เป็นเครื่องดำเนิน แล้วก็กำหนดคำบริกรรมเข้าไป พุทโธ พุทโธเข้าไปจนจิตนั้นสงบเข้าไปเรื่อยๆ สงบเข้าไปเรื่อยๆ จะไม่มีคำว่านึกพุทโธได้
ถ้านึกพุทโธ พอคำนึกออกมาจิตมันจะไหวออกมา พอจิตมันจะไหวออกมา ความสงบมันจะออกแล้วไหม? เหมือนกับว่าอาหารที่หยาบมา มันมีแต่อาหารที่ละเอียดอยู่ในที่อันละเอียดแล้วไม่อยากออกมา นี่อาหารของใจ เห็นไหม
อยู่ในศาสนาพุทธเรา ถ้าคนนึกถึงศาสนาแล้วจะเข้าถึงความหยาบเข้าไปถึงความละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป แต่ถ้าเราไม่ได้คิดถึงเลย อย่างที่ว่าพอกิเลสในใจ อยู่กับโลก เรายึดมั่นถือมั่น มันยึดมั่นถือมั่นหมายถึงว่านี่ก็เป็นของเรา นี่ก็เป็นของเรา ความว่าเป็นของเราก่อน เรากว้านมานะ มันให้ความทุกข์นะ
ความทุกข์ การแสวงหานี่เป็นความทุกข์อันหนึ่ง ความทุกข์ในการเก็บรักษานี้เป็นความทุกข์อันหนึ่ง ความทุกข์นี้พลัดพรากจากไปยังเป็นความทุกข์อีกอันหนึ่ง เห็นไหม มันต้องพลัดพรากแน่นอน ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้ ความพลัดพรากของชีวิตนี้จะเป็นที่สุด ไม่มีทางชีวิตนี้จะอยู่ยืนยาวไปได้
ถ้าชีวิตนี้พลัดพรากนี่คือชีวิตนี้จากเขา เห็นไหม ไม่ใช่เขาจากเรา เราจากเขานะ เราจากสมบัติที่เราสะสมไว้ไป สมบัตินั้นมีอยู่แต่เราต้องจากสมบัตินั้นไป เห็นไหม ความทุกข์มีการพลัดพรากที่หลุดออกจากเราไป อันนี้มันเป็นความจริงอันหนึ่ง
แต่ความพลัดพรากที่โดนขโมย โดนโจรปล้น โดนหายไป ทำตกสูญหายไป มันเจ็บ ๒ ชั้นนะ ๒ ชั้นเพราะอะไร? เพราะมันพลัดพรากไปโดยธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วยังเสียอกเสียใจอีกอันหนึ่งซ้อนขึ้นมา เห็นไหม การยึดโลกมันเป็นความทุกข์อย่างนั้น
แต่การอยู่กับโลก อาศัยแล้วมันเป็นประโยชน์ สิ่งที่ยึดอยู่ให้โทษทั้งหมดเลย แต่ถ้าเรามีใจขึ้นมา ความสละออก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ไงว่า เหมือนกับเรือนที่ไหม้ไฟ ใครขนของออกจากเรือนนั้นได้มากเท่าไหร่ก็ได้ของนั้น
นี่อยู่กับเราก็เหมือนกับเรา ไฟมันเผาผลาญชีวิตไปวันหนึ่งๆ ต้องเผาผลาญชีวิตไปตลอด แล้วเราสละหลุดออกจากมือเราออกไป เหมือนกับเราขนออกไปๆ แต่เราขนออกไป ในทางโลก เห็นไหม ที่ว่าเวลาไฟไหม้ เราแบกออก แบกหามมาแล้วมากองไว้ แล้วก็มาเฝ้าต่อ นี่เปรียบเทียบเฉยๆ เป็นบุคลาธิษฐาน
แต่ถ้าสละออกไป เราสละออกไปจากใจ เนื้อนาบุญของโลก เราหว่านไปบนเนื้อนาบุญของโลก มันจะให้ผลต่อไปข้างหน้า อันนี้มันเข้ากับนรกสวรรค์ไง นรกสวรรค์มีจริงอยู่ สวรรค์หมายถึงว่าเราทำคุณงามความดี แล้วขณะจิตนี้ออกจากร่างกาย พุทโธ พุทโธนี่ไปดี
นี่ทำคุณงามความดีไว้มากก็จริงอยู่ แต่เวลาออกไปมันจะไปทุกข์ก่อนก็ได้ คือว่ามันจะไปต่ำก่อนก็ได้ เพราะใจมันคิดยึดมั่นถือมั่นของของเรา อย่างน้อยก็มาเกิดเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ นี่เกิดไม่เห็นตัวนะ เห็นตัวก็เกิดเป็นสัตว์เป็นอะไรมาเฝ้าอยู่นั่นเพราะอะไร?
เพราะจิตมันไม่ยอมไปไหน มันอยู่ตรงนั้น พออยู่ตรงนั้นสิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ตรงนั้นได้ มันจะอยู่ตรงนั้น นี่โทษของสมบัติที่ยึดไว้ การสละออกไปเป็นบุญกุศล หนึ่ง ได้สละออกไป มันเข้ามาอยู่ที่ใจ สิ่งที่อยู่ที่ใจ มันลึกลับตรงนี้ไง ที่คนมองไม่เห็นไม่เห็นตรงนั้น คือว่าสละออกไปจะเป็นของเราได้อย่างไร
สละออกไปนี่เป็นของเรา เพราะใจมันรับรู้ไง เหมือนกับเราฝากเงินธนาคารนะ ถ้าเราฝากเงินธนาคารที่บัญชีไม่ขึ้นมา เราก็ไม่ได้ใช่ไหม? ถ้าบัญชีตัวเลขขึ้นมา เราก็ได้เงินนั้นของเรา ในธนาคารนั้นเป็นของเรา
นี่ก็เหมือนกัน บัญชีตัวเลขในบุญกุศลของใจที่มันรับรู้ เราสละออกไป ใจต้องรับรู้สิ เพราะเราหามาด้วยความเหนื่อยยาก เราอยู่ที่มือเรา เจตนาคิดอยู่ สละออกไป ตัวเลขมันขึ้นๆ แต่ตัวเลขนี้มันขึ้นแล้วมันจะให้ผลเมื่อไหร่ เราไปเบิกแบบธนาคารไม่ได้ แต่มันจะเป็นบุญกุศลที่ขับเคลื่อนไปจะให้ผลชาติใดชาติหนึ่งแน่นอน ในชาติปัจจุบันก็ให้ความสุขไปก่อนแล้ว
จิตนี้กินอาหารเข้ามาเป็นความสุขเข้ามา เห็นไหม มีอาหารเป็นเครื่องอยู่อาศัย มีอาหารนะ มีอาหารแล้วยังตั้งหลักตั้งมั่นได้ ใจตั้งมั่นได้ไง นี่หลักของศาสนาสอนขนาดนั้นนะ
เราอยู่นะ อยู่ต่างประเทศกัน เวลาฟุ้งซ่านขึ้นมา เดี๋ยวนี้ต้องไปหาพวกที่เขาสอนเรื่องสมาธิ ต้องไปเสียเงินเสียทองเพื่อจะเรียนให้เขาสอนทำความสงบนะ แล้วว่าอันนั้น แหม มีความสุขมาก มีความสุขมาก
แต่พระในศาสนาพุทธนี้สอนทุกวัน ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ศีลแล้วก็สมาธิ ทำใจให้สงบขึ้นมาเป็นความสุขอย่างยิ่ง แต่มันจะทำใจให้สงบไม่ได้ เพราะใจมันเป็นธรรมชาติที่มันเหมือนช้างสารที่ตกมัน เหมือนลิงที่มันอยู่ในความสงบของมันไม่ได้ ถึงต้องได้เอาศรัทธากดไว้
ศรัทธาคือความชี้ว่าสิ่งที่เป็นไปได้กดไว้ ศรัทธาคือความเชื่อความมุ่งมั่น ถ้ามีศรัทธา เห็นไหม อธิษฐานบารมีคือความตั้งมั่นของใจจะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางได้ อธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิก็ตั้งความหวังไว้ ตั้งเจตนาไว้ ตั้งเป้าหมายไว้ แล้วก็ไปให้ถึง นี่ก็เหมือนกัน ศรัทธานี่ก็คือความจงใจความตั้งมั่น ศรัทธาไง แล้วก็ตั้งเป้าหมายขึ้นมา นี่กดไว้ๆ กดไอ้สิ่งที่ว่ามันฟุ้งซ่านไว้ในใจ อันนี้คือการต่อสู้เฉพาะหน้า
การไหว้วาน การฝากของถึงกัน คำพูดมันฝากไม่ได้หมด เห็นไหม เขาฝากของมาให้เรา เราได้แค่รับไว้ๆ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำบุญกุศล เหมือนของฝากกัน ฝากมารับไว้ๆ ใจมันรับไว้เฉยๆ เพราะมันสละออกไป นี่บุญกุศลของใจ แต่คำพูดกันต่อกันเฉพาะหน้าเราพูดกันไม่ออก เห็นไหม อย่างสามีภรรยาจะคุยกันต่อหน้านี่ อายนะ เขิน จะฝากคนโน้นไปฝากคนนี้มา ไม่กล้าพูดต่อหน้ากัน
ใจก็เหมือนกัน เวลาเราพุทโธเข้าไป พุทโธกับใจ กิเลสมันซึ่งๆ หน้าไง พอมันซึ่งๆ หน้า มันจะบิดเบือน มันจะฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านนั่นโดนแบบไฟนี่ มันโดนน้ำสาดเข้าไป มันจะฟู่ฟ่าขึ้นมานะ แต่น้ำนั้นดับได้ แต่มันจะเกิดแรงปะทะไอ้สะเก็ดปะทุออกมา
จิตนี้เหมือนกัน มันฟุ้งซ่านมาก กำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไป มันจะดิ้นรน ความดิ้นรนอันนี้ถึงว่าเป็นของยากไง เป็นการทำได้ยาก จิตจะให้พุทโธ พุทโธนี่เป็นการเฉพาะหน้า เป็นการต่อสู้เฉพาะหน้า ไม่เหมือนกับการทำบุญ ทำบุญนี่เหมือนกับฝากกันไปฝากกันมา การฝากไป การสละออกไป ขนาดทำได้ง่ายๆ เราบางคนยังทำได้ยากเลย แล้วทำจิตให้สงบมันยิ่งยากขึ้นไป
นี่พระสอนตลอด ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มีอยู่ในตัวของเรา เกิดขึ้น เรานึกก็เกิดขึ้นทันที นึกพุทโธ พุทโธ จะเกิดขึ้นทันที นึกถึงศีล สมาธิ ปัญญา วิรัติขึ้นมาได้ทันที ศีลเกิดขึ้นทันที นี่สมาธิจะเกิดขึ้น ปัญญา ความเห็นคุณของมันจะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ
เกิดขึ้นมาจากขุมทรัพย์ในหัวใจไง ขุมทรัพย์อยู่ที่กลางหัวอกนี่ไง ขุมทรัพย์อยู่ในตัวเราเองไง ไม่ใช่ขุมทรัพย์อยู่ข้างนอก เห็นไหม การพิจารณาตรงนี้มันถึงเห็น ใจนี่มันยึดกายเราก่อน คนไม่เห็นนะ ไอ้ไม่เห็นกายกับใจที่มันยึดกันก่อนชั้นหนึ่งนี่ไม่มีใครเห็น เห็นแต่ข้างนอก กายนอก กระทบข้างนอกทันทีเลย เพราะมันยึดกายไว้ก่อน
จิตนี้เป็นภพของใจ เห็นไหม กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ ภพของใจมีอยู่ มันเคลื่อนออกมาจากภพของใจแล้วมันก็มายึดกาย อาศัยกายนี้เป็นฐานที่ตั้งออกไปกว้านข้างนอกทั้งหมดเลย
นี่มันถึงต้องกลับมาพิจารณากายเราให้เห็นก่อนไง พิจารณากายตัวนอกสลดสังเวช มันสลดสังเวช เห็นคนนั้นตกทุกข์ได้ยากก็น่าสงสารๆ แต่ลืมสงสารตัวเอง เข้ามามองที่ใจ ให้ใจมันเห็น ใจมันสงบขึ้นมา ให้เห็นที่มันยึดกายก่อน ยึดฐานที่ตั้งนี้ออกไปกว้านข้างนอกเข้ามาให้ตัวเองมีความทุกข์ นั่นนะอันนี้สำคัญ ใจนี้เป็นฐานข้างนอก นี่เรื่องหยาบๆ แต่จริงๆ แล้วจิตต่างหากมันเป็นภวาสวะ ตัวจิตนี่มันออกมา
นั่นล่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในหลักของศาสนาของเรา มัคคอริยสัจจัง มัคคะ มรรคทางอันเอก ทางให้พ้นจากกิเลสได้ นรกสวรรค์ลัทธิศาสนาไหนก็สอนได้ บอกได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติที่ว่าเขามีคนสอนหรือไม่มีคนสอนนะ จิตนี้เวลาตายไปมันต้องเป็นไปตามสภาวะของมัน จิตนี้ตายไปมันต้องเป็นสภาวะ จะเกิดต่ำ เกิดดี เกิดชั่ว จิตนี้มันต้องเป็นไปโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว
นี้ถ้าคนมาสอนก็สอนไปอย่างนั้นใช่ไหม? แต่ไม่มีใครเคยเห็นทางเอก ทางอันออกไง จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้ว ตรัสรู้เอาอะไรมาตรัสรู้ล่ะ ก็เครื่องนี้เป็นตรัสรู้ มัคคอริยสัจจังนี่ตรัสรู้ ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นไหม มัคคะในอริยสัจอันนี้ นี่จับอันนั้นได้ อันนี้ถึงมาเป็นชี้ทางออก
ในศาสนาเรา ศีล สมาธิ ปัญญา มันถึงเป็นมรรคหยาบๆ ขึ้นมาก่อน จนเกิดขึ้นเป็นภาวนามยปัญญา มรรคอย่างละเอียดขึ้นมาเกิดขึ้นภายในใจ อันนั้นจะชำระไอ้ที่ว่าจิตที่เป็นภวาสวะ จิตนี้เป็นฐานออกมาจับยึดกายเรา นี่มันทำลายกันด้วยภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากภายในที่คนมองข้ามหมดไง ว่าถ้าสิ่งนี้เป็นเรา ยึดโลก ยึดเรา ยึดหัวใจ ใจยึดร่างกายนี้ก็ยึดโลกยึดหมด ยึดแล้วว่าคนยึดคือคนมีมาก คนยึดได้ฐานะที่ตั้งมาก แต่ความจริงยึดนี้ยึดแล้วมันเป็นการไม่ได้ประโยชน์ เพราะอะไร? เพราะสัจจะความจริงมันต้องพลัดพรากทั้งหมด แล้วไปขวางความจริงไว้ มันถึงเป็นความจริงไม่ได้
แต่น้ำบนใบบัว เห็นไหม มันเป็นสัจจะความจริงที่มันกลิ้งกันไปกลิ้งกันมา แล้วมันต้องหลุดออกไปจากใบบัวนั้น ไม่ก็ต้องระเหยแห้งไปหมดโดยธรรมชาติของมัน นี่มันไม่ติดตั้งแต่ตัวมันเองอยู่แล้ว แล้วมันก็เป็นไปตามหลักความจริงที่เขารู้ทัน แต่ที่เรายึดกันอยู่นี้เราไม่รู้ทัน พอเราไม่รู้ทัน เราก็ยึดเข้าไปยึดว่าจะได้ ได้ก็กลับไม่ได้ สิ่งที่ไม่ได้กลับได้ เพราะมันเป็นนามธรรม
เรื่องของศาสนา ธรรมกับโลกถึงคนละเรื่องกัน เรื่องของโลกคือว่าเรื่องการแสวงหามาเพื่อจะเป็นของเรา เรื่องของธรรมคือเรื่องการสละออก สละออกแล้วกลับได้ๆ ผู้ที่ปฏิบัติจริง เห็นจริง รู้จริงเข้าไป แล้วความสุขจะเกิดขึ้นจากตรงนั้นไง
นี่ไงจากประเพณีวัฒนธรรมเข้ามานะ เราฟังธรรมขึ้นมาแล้วเราพยายามย้อนเข้ามาที่ใจ แล้วตั้งใจเราให้เข้าถึงหลักให้ได้ พยายามทำใจให้มีหลัก ใจเรามีหลัก ในครอบครัวคนหนึ่งมีหลักนะ เป็นหลักในครอบครัวคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งอาศัยได้หมดเลย ในเราก็ไม่เป็นหลัก เขาก็ไม่เป็นหลักนะ ต่างคนปรึกษากันก็วนกันอยู่ในโลกนั้นนะ
ฉะนั้น ถ้าใครจะเป็นอย่างไรให้เขาเป็นไป อำนาจวาสนาบารมีของคนไม่เหมือนกัน ถ้าใจตั้งมั่นขึ้นมาได้ ใจมีที่พึ่ง ใจมีหลักเกณฑ์แล้วมันเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับคนรอบข้างทั้งหมด เอวัง