เทศน์เช้า

ภิกษุผู้ขอและผู้ให้

๔ มี.ค. ๒๕๔๓

 

ภิกษุผู้ขอและผู้ให้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้เป็นวันพระของพระ ภิกษุเป็นผู้ขอ เวลาออกบิณฑบาต เห็นไหม ภิกษุเป็นผู้ขอ เวลาบวชเป็นพระมาแล้ว พระพุทธเจ้าให้ดำรงชีวิตด้วยภิกขาจารไง ด้วยปลีแข้งของตัวเอง เห็นไหม

ภิกษุเป็นผู้ขอ ขอในวัตถุ ขอในปัจจัย ๔ เห็นไหม ขอในปัจจัย ๔ ก็ขอโดยที่ว่ามันเป็นธรรมชาติ ขอโดยที่ว่ามันเป็นสิ่งที่ว่าอาศัยอยู่เฉยๆ ใช่ไหม? ไม่ใช่ว่าเจาะจงจำเป็นต้องขอ มันถึงว่าไม่เหมือนกับสิ่งที่โลกเขาทำกัน โลกเขาทำกันมันเป็นของประจำ ไอ้นี่เราเป็นไปแล้วแต่วาสนา แล้วแต่เวรแต่กรรม บิณฑบาตไปแล้วแต่เวรแล้วแต่กรรม

ภิกษุเป็นผู้ขอ ขอในภิกขาจาร ในอาหารมา แต่ในมุมกลับนะ เวลาทำไปแม้แต่พระพุทธเจ้าก็โดนติโดนเตียนเหมือนกัน พระพุทธเจ้าสมัยพุทธกาลมีในพระไตรปิฎก ทำไมภิกษุไม่ทำนาเอง? ทำไมภิกษุไม่ไถไม่หว่านแล้วหากินเอง? ทำไมต้องมาขอเขา?

นี่โลก ความหยาบของโลกมองกันแค่นั้นไง มองว่าเป็นผู้ที่ว่าเป็นผู้เอาเปรียบสังคม ว่าภิกษุนี่เป็นผู้เอาเปรียบสังคม เอาเปรียบเขา มีความสะดวกสบายกว่าเขา แต่ไม่ได้มองในมุมกลับไง ในมุมกลับ เห็นไหม ภิกษุเป็นผู้เบียดเบียนสังคมเหรอ? ถ้าภิกษุเบียดเบียนสังคม ทำไมเวลาขอเขามา ขอเป็นวัตถุมา มองเห็นๆ อยู่ แต่เวลาให้ให้เป็นบุญให้เป็นกุศล?

แม้แต่พระอินทร์นะ พระกัสสปะเข้าฌานสมาบัติอยู่ ออกจากสมาบัติ เห็นไหม แล้วนิสัยของพระกัสสปะจะโปรดแต่คนยากคนจน ก็ออกไปหาไง ออกไปช่างทอหูก พระอินทร์ปลอมเป็นคนยากคนจนมา แต่คนรวยขนาดไหนปลอมมา พระอินทร์ปลอมมา เวลาอาหารใส่บาตรมามันไม่ใช่คนจน ก็กำหนดจิตดูเลย นี่เป็นพระอินทร์

“มหาบพิตร! มหาบพิตรอย่าขี้โกงสิ มหาบพิตรอย่าขี้โกง เพราะว่าอันนี้เพื่อจะไปโปรดสัตว์ โปรดคนยากคนจน”

เพราะ! เพราะว่าธรรมดาทั่วไป คนยากคนจนโอกาสจะน้อย เห็นไหม โปรดคนยากคนจนก่อน คนทุกข์เข็ญใจ พวกนี้พวกทุกข์ข้างนอกทุกข์ข้างใน โปรดพวกนี้ไป แต่เขาไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย

พระอินทร์อยู่ถึงบนสวรรค์ เห็นไหม อุตส่าห์นะ ต้องการแสวงหาอันนี้ ลงมาใส่บาตรเพื่อจะเอาบุญกุศลนะ เวลาให้ เห็นไหม เวลาไปบิณฑบาตได้มา ผู้ขอได้ข้าวได้อาหารเครื่องดำรงชีวิต ดำรงชีวิตมา ชีวิตอันนี้ชีวิตแบบอย่าง เห็นไหม ที่ว่าอยู่แบบภิกขาจาร ชีวิตอยู่แบบธรรมชาติไง อยู่แบบไม่ต้อง...

ของเราเป็นห่วงกันว่าชีวิตเรานี่เป็นทุกข์เป็นยาก ชีวิตเรานี่ต้องหาที่พึ่งให้ชีวิตนี้มั่นคงไง ยิ่งการหาความมั่นคง มันกลับไม่มีความมั่นคง เห็นไหม ชีวิตนี้อยู่แบบสวะลอยน้ำ แบบไม่มีจุดหมายปลายทาง แบบว่ามีก็เป็นไป ไม่มีก็แล้วแต่ไป

ภิกษุเป็นผู้ขอ ขอแต่ความเป็นไป เพราะส่วนเกินของสังคมมันมีมากอยู่แล้ว เพียงแต่เราใช้กันไม่เป็น พระพุทธเจ้าถึงวางหลักเกณฑ์ไว้ ให้ภิกษุบิณฑบาตตอนเช้าไง เป็นผู้ขอ ขอสิ่งนั้นออกมา

แต่มุมกลับกัน เราไปมองแต่สิ่งนั้น เราไม่มองถึงว่าสิ่งที่ทำใจผู้ขอแล้วสละออกจากใจ แม้แต่พระอินทร์เป็นคนฉลาด เห็นไหม เขาฉลาดมาก เขาลงมาเลย ลงมาจากสวรรค์ ลงมาใส่บาตรพระกัสสปะ เพื่อ! เพื่อเอาบุญกุศลอันนั้น

เพราะเอาบุญกุศลอันนั้น สละสิ่งนั้นไป ได้สิ่งตอบแทนมาคือบุญกุศลที่ว่าเป็นแสงสว่าง แสงสว่างที่ว่าจะเข้าไปแข่งกับโลกในสวรรค์อยู่ ในสวรรค์ก็ยังมีกิเลสอยู่ แข่งกับที่ว่าบริษัทบริวารที่เป็นเทวดาอยู่ด้วยกัน แต่แสงสว่างๆ กว่ามากเลย เพราะทรัพย์สมบัติบุญของเขามากกว่าพระอินทร์ แต่พระอินทร์ได้สะสมบุญมาเป็นพระอินทร์ก่อน ก็ได้ปกครองเขา แต่คนที่ปกครองศักดิ์น้อยกว่า เห็นไหม ศักดิ์น้อยกว่าก็มาเติมบุญกุศลอันนี้เพื่อจะให้มีศักดิ์มีศรีเพราะการทำบุญนั้นได้บุญมากกับเพื่อปฏิคาหกไง

“ปฏิคาหก” ผู้ที่ว่าไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เห็นไหม อยู่แบบชีวิตแบบที่ว่าไม่มั่นคงนั้นแหละ แต่มันกลับเป็นความมั่นคงเพราะ! เพราะไม่ยึดติดสิ่งใดเลย

เราต้องการความมั่นคงในชีวิตเราถึงแสวงหามา สะสมมา การสะสมมามันก็เป็นเรื่องความทุกข์ เป็นความพะรุงพะรังไปตลอด

บุญกุศลถึงว่าเราจะมีความมั่นคงไม่มีความมั่นคง ชีวิตของเราสืบไป เราแสวงหาไป มันมีการขึ้นมีการลงเป็นธรรมดาของชีวิต บุญกุศลสืบต่ออันนี้ไป แม้แต่สมบัติที่เราหามา เราหามาเพื่อความมั่นคงของชีวิต แต่เราลืมมองไปเลยว่าชีวิตการสืบต่อ

ชีวิตนี้คืออะไร?

ชีวิตนี้คือไออุ่น คือพลังงานที่สืบต่อ ชีวิตไออุ่นนี้อยู่บนอายุไง อายุขัยเรายังมีอยู่ สมบัติที่เราหามามันก็อยู่กับเราได้ สมบัติหามาถึงว่าเป็นของเรา ชีวิตเราจะมั่นคงเพราะเอาสิ่งนั้นมาเป็นเครื่องอยู่อาศัย

แต่ชีวิตจะมั่นคงไม่มั่นคงอยู่ตรงนี้ต่างหากล่ะ อยู่ตรงชีวิตนี้สืบต่อบนไออุ่น สืบต่ออยู่บนบุญกุศลไง ถ้าสืบต่ออยู่บนบุญกุศล คนร้อยกว่าปีแล้วก็ยังแข็งแรงอยู่ ชีวิตเขายังมีคุณค่า เห็นไหม คนอายุ ๕๐-๖๐ ไม่แข็งแรงแล้ว เห็นไหม ไม่แข็งแรงนอนเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตไป ชีวิตอยู่ก็อยู่ไปเฉยๆ ชีวิตมั่นคงไหม? มันอยู่ที่ว่าหัวใจด้วย หัวใจมั่นคง หัวใจมีบุญกุศลสืบต่อไป ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยมันเป็นเครื่องหมุนเฉยๆ เครื่องอยู่อาศัย อันนั้นเครื่องอยู่อาศัยของกาย กายต้องอาศัยปัจจัย ๔ เป็นเครื่องอยู่อาศัย แต่หัวใจเอาอะไรเป็นเครื่องอยู่อาศัย?

ถ้าความมั่นคง ถ้าชีวิตนี้หัวใจมีเครื่องอยู่อาศัย ไอ้สิ่งที่อาศัยภายนอกมันก็สืบต่อไปๆ หัวใจนี้เป็นผู้ที่แสวงหามา จะคิดก่อน ความดำริก่อน ความคิดก่อน มันจะเบียดเบียนตนก่อน ถ้ามองความคิดเป็นบุญกุศล ความคิด เห็นไหม เป็นผู้ที่ฉลาดหาบุญหากุศลสืบต่อชีวิตของตัวเอง มันจะมองมาคิดความริเริ่มออกไป ความสละบุญกุศล ความสละทาน สละออกไปแบบพระอินทร์นะ มีความฉลาด ลงมาจากสวรรค์นะ เพื่อจะมาสืบต่อตรงนี้

มนุษย์นี้สำคัญมาก เพราะมนุษย์นี้มีหัวใจกับมีร่างกาย มนุษย์นี้มีสุขและมีทุกข์อยู่ในภพของมนุษย์ไง ศาสนานี้ถึงวางอยู่บนที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องมาตรัสรู้ มาบรรลุธรรมในภพของมนุษย์นี้ เพราะมนุษย์นี้เป็นภพกลาง ถ้าอยู่บนสวรรค์นั้นก็ไปเสวยบุญกุศลอยู่บนสวรรค์นั้น แต่เวลาหมดบุญกุศลไป มันก็ต้องไปตามบุญกุศลที่ขับเคลื่อนไป

แต่ขณะที่มีอยู่ ขณะที่ทำมามันเป็นผล เป็นผลที่ว่าอยู่เสวยผลไป ผลหมดก็ต้องไปเสวยกรรมเก่า กรรมที่ว่าสร้างสมมา กรรมอันไหนที่มันจะสืบต่อไปๆ ชีวิตนี้ก็ไม่แน่นอน แม้อยู่บนสวรรค์อยู่บนพรหมก็ไม่มีสิ่งใดที่เป็นความมั่นคง ความมั่นคงไม่มี

ความมั่นคงไม่มีแต่เขาเสวยบุญอยู่ เขายังมีความฉลาดอยู่ ไอ้เรานี้อยู่ในปัจจุบันธรรมไง อยู่ในปัจจุบันที่เป็นมนุษย์ แต่ความเคลิบเคลิ้มความหลงใหลของเราไป ความเคลิบเคลิ้มความหลงใหลของใจ ใจมันถึงว่าชีวิตนี้ยังอีกยาวนานไง

ชีวิตยังอีกยาวนาน ชีวิตยังอีกเมื่อไหร่ก็ได้ ความที่ว่านอนใจอยู่อันนี้ ไอ้ชีวิตนี่มันจะสั้นเข้าๆ แต่ถ้าไม่นอนใจยิ่งขวนขวายเข้าไปเท่าไหร่นะ ยิ่งขวนขวายมันก็สืบต่ออันนี้ออกไป เห็นไหม สืบต่อออกไป

ชีวิตเราอยู่ในสิ่งที่ว่าพระอินทร์เขาลงมาแสวงหาในภพนี้ แต่เราอยู่ในภพนี้เพราะเรามีกายกับใจ เราไปห่วงกันเรื่องของกาย นี่ความมั่นคงของกายกับความมั่นคงของใจ เห็นไหม ความมั่นคงของกายคือว่ามีบริขาร ๘ เท่านั้น ไม่มีอะไรเลยที่เป็นสมบัติของตน

ภิกษุเป็นผู้ขอ แต่เช้าขึ้นมาก็สะพายบาตรออกไปเป็นภิกขาจาร เห็นไหม ชีวิตนี้มั่นคงไหม? ยิ่งธุดงค์เข้าไปในป่านะ วันนี้จะฉันอะไรยังไม่รู้เลย จะได้ฉันหรือไม่ได้ฉัน เพราะไปในป่า บ้านคนจะมีไม่มียังต้องแสวงหาไป ถ้าไปอย่างนั้น

เพราะว่าการอดหรือการอิ่มแต่ละวันๆ มันไม่สำคัญ เพราะว่าความทุกข์ของใจมันบีบคั้น มันมากกว่า เวลามันทุกข์ใจนะ เวลาทุกข์หัวใจ เรามีกับข้าวมีอาหารที่ไว้ตรงหน้า เราไม่อยากหยิบเข้าปากเลย เพราะใจมันตรอมตรม แต่ถ้าใจมันมีความสุขขึ้นมา อาหารมันก็ยิ่งบำรุงบำเรอร่างกายเข้าไปได้ แต่ถ้าวันไหนหัวใจมันบีบคั้นขึ้นมา อาหารเราก็ยังกินไม่ลงเลย ความกินไม่ลงอันนั้น ทุกข์ของใจมันบีบคั้น

ทีนี้ภิกษุเป็นผู้ขอ สิ่งที่จะขอมาจะมาดำรงชีวิตอันนั้นยังไม่มีเลย ยังไม่รู้ว่าจะเอาที่ไหน แต่ไปประสาที่ว่าภิกขาจารไป อาศัยว่าศาสนาไง ประเพณีวัฒนธรรมนี้วางไว้แล้วใช่ไหม? ชีวิตไม่มั่นคงกลับเป็นมั่นคงเพราะหัวใจ บุญกุศลที่มีอยู่ในใจนั้น เพราะการบวชเป็นพระเป็นสงฆ์นี้ การบวชมาเป็นนักบวชนี้เป็นผู้ที่จะออกสู้กับกิเลส

เราในศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าบอกว่า “ให้ถือรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง” พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม พระธรรม พระสงฆ์ พระสงฆ์รู้ธรรมนั้นก็ตรัสรู้ธรรมนั้น ก็เป็นพระอริยสงฆ์ขึ้นมา แต่ที่ยังไม่รู้อยู่ก็ยังสืบต่อ ยังต้องพยายามศึกษาเข้าไป ศึกษาเข้าไปเพื่อจะให้ใจนั้นมั่นคงขึ้นมาไง ใจนี้ไม่มั่นคง ใจนี้กลับกลอกได้นะ

เพศ...แล้วแต่เพศ แล้วแต่จะหาเอา เราเข้าไปเมื่อไหร่ก็ได้ การบวชเข้าไป แต่บวชเข้าไปแล้วคิดว่ามันเป็นความลำบาก เป็นการดัดตนไง เป็นการดัดตน เห็นไหม เป็นการดัดกิเลส แต่ต้องอาศัยเพศนี่บังคับ แล้วธรรมวินัยบังคับเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

แต่เราไม่ใช่ เราเป็นคฤหัสถ์ เราเป็นฝ่ายพลาธิการ เราอาศัยบุญอันนี้ บุญกุศลจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม เป็นรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง แต่เป็นที่พึ่งนั้นก็ต้องแสวงหา ต้องเป็นปัจจัย ๔ เหมือนกัน

นี้พระพุทธเจ้าวางศาสนาไว้อย่างนี้ไง วางศาสนาไว้เป็นประเพณีของพระอริยเจ้า ประเพณีการออกบิณฑบาต เห็นไหม พุทธกิจ ๕ พระพุทธเจ้าบิณฑบาตจนวันตาย นี่เป็นผู้ขอ จนวันตายเพราะว่าได้สืบต่อ เป็นผู้ที่โปรดสัตว์

จากเดิมเป็นผู้ขอ แต่ออกไปแล้วเป็นผู้ให้ ผู้ให้บุญกุศลไง ยิ่งสละออกเท่าไหร่...ปฏิคาหก ถ้าเราไม่มีสิ่งตอบรับ เราจะไปทำบุญที่ไหน? สิ่งตอบรับคือภิกษุ ภิกษุ เห็นไหม ยิ่งถ้ามีทรัพย์สมบัติ หัวใจที่เป็นธรรมมากเท่าไหร่ เราสละออกไปเท่าไหร่ สิ่งที่ตอบสนองขึ้นมา สิ่งตอบสนองนั้นเป็นปฏิคาหก

เรามีอยู่ ๓ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งของเรา ข้างละ ๓ ไง คฤหัสถ์มีอยู่ ๓ ให้ให้ด้วยความตั้งใจให้ ขณะให้ ให้แล้ว ผู้รับ เห็นไหม รับด้วยความบริสุทธิ์ เริ่มต้นแล้วรับด้วยความบริสุทธิ์ รับมาแล้วอย่างด้วยความบริสุทธิ์ตั้งแต่ส่วนเริ่มแรก ส่วนกลางและส่วนปลาย ๓ ส่วน ความบริสุทธิ์ต่อความบริสุทธิ์ตอบสนองกัน บุญกุศลนี้เกิดขึ้นมามาก บุญกุศลนี้จะให้ผลมากเลย ความให้ผลปฏิคาหกนี้ระหว่างผู้รับและผู้ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องจะให้ผลมาก เห็นไหม นี่ถึงว่าเป็นการโปรดสัตว์ไง

ถ้าเราเจอภิกษุสงฆ์อย่างนั้น เห็นไหม การเห็นสมณะ เห็นผู้ที่สงบอยู่เป็นบุญกุศลอย่างมาก เป็นขณะเห็นเท่านั้นเอง เราเห็นครูบาอาจารย์ที่ว่าเราเชื่อมั่นอยู่ เราเห็นครูบาอาจารย์ที่สงบเสงี่ยมจากหัวใจภายในนะ ภายนอกกิริยาเหมือนกัน

แต่ความเชื่อมั่นของเรา ความเชื่อของเราคืออริยทรัพย์ ศรัทธา หัวรถจักรมันลากไป ลากความเชื่อนี้ออกไป ความเชื่อนี้เข้าไปสัมผัสด้วย ความเชื่อนี้เหมือนเจตนา เหมือนเปิดประตูของเรากว้างเท่าไหร่ ประตูหัวใจเปิดมากเท่าไหร่ ความเข้ามาจากนามธรรมอันนั้นจะได้มากๆ

ความเชื่อเป็นศรัทธา ศรัทธาเปิดเข้าไป เปิดออกๆ เปิดให้เข้ามา เปิดบุญกุศลนั้นเข้ามา นี่ได้เห็นสมณะ เห็นสมณะแล้วยังได้ทำบุญกุศลอีก ยังได้ใส่บาตรอีก เห็นไหม ใส่บาตรเพื่อดำรงชีวิต การใส่บาตรตกบาตรนั้นเป็นบุญกุศลแล้ว เป็นบุญกุศลเพราะรับแล้ว การกระทำเกิดขึ้น กิริยาเกิดขึ้น กิริยาของธรรมเกิดขึ้น ความอันนั้นรับออกไป

แต่ส่วนที่ออกไปแล้วนั่น เราให้แล้วไม่คิด ถ้าให้แล้วยังคิดต่อไปนั่นมันไม่บริสุทธิ์ เราก็คิดของเราตามประสากิเลสจะคิด ถ้าให้แล้วมันเป็นการหมุนเวียนออกไป เป็นการหมุนเวียนออกไปเป็นบุญกุศลอันมากเกิดขึ้นมา นั่นครูบาอาจารย์ได้ผล

เราไปเห็นอย่างนั้น เห็นสมณะด้วย ได้ใส่บาตรด้วย แล้วยังได้ฟังธรรมด้วย เป็นมงคลใน ๓๘ ประการ ในมงคล ๓๘ นะ มีอยู่ตั้งกี่ข้อ เห็นสมณะนี่ก็เป็นข้อหนึ่ง ได้ฟังธรรมก็ข้อหนึ่ง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เห็นไหม ได้กี่ข้อ?

การดำรงชีวิตตรงนี้ออกไปมันจะเป็นสาระขึ้นมากับแก่นสารของชีวิต ถ้าชีวิตนี้ไม่ดำรงแก่นสารอันนี้เข้ามาเติมชีวิตนะ ชีวิตแล้วก็เกิดมาใช้บุญกุศลให้มันหมดไปนะ เกิดเป็นมนุษย์นี้เหมือนกับเกิดเป็นเทวดานะ เกิดเป็นเทวดานั่นก็ใช้บุญกุศลชาติหนึ่งหมดไปก็ต้องมาเกิดใหม่ เกิดเป็นมนุษย์ก็ชาติหนึ่งเหมือนกัน แต่เกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นชาติที่ว่าได้พบพุทธศาสนา มีกายกับใจ มีสุขกับทุกข์ เห็นไหม ให้แบ่งแยกกัน ให้เป็นอิสรเสรีภาพที่ว่าจะเลือกสิ่งใดก็ได้

นี้ถ้าใจนี้เป็นบุญกุศลมันก็จะเลือกฝ่ายเหตุ ธรรมฝ่ายเหตุ ธรรมฝ่ายเหตุหมายถึงว่ามัคค-อริยสัจจัง เห็นไหม อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรค ๘ มันอยู่ในอริยสัจนั้น นี่หัวใจของศาสนาอยู่ที่ตรงนี้ไง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันพร้อมอยู่เป็นอริยสัจ กลั่นออกมาจากอริยสัจ หัวใจนั้นก็มั่นคงขึ้นมา มั่นคงขึ้นมาเพราะหัวใจนั้นเป็นพระอริยเจ้าไง

พระอริยเจ้าจะออกมาจากอริยสัจ กลั่นออกมาจากอริยสัจนั้น คือว่าหมุนเวียนเข้าไปศึกษาอริยสัจนั้น เป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา แล้วเป็นภาวนามยปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง ไม่ใช่ความศรัทธา ความศรัทธาทีแรกเปิดอาศัยก่อน เห็นไหม เปิดหัวใจเพื่อจะให้เคารพครูบาอาจารย์ ให้ความเชื่อนั้นมันเปิดเข้ามา พอเต็มหัวใจแล้ว หัวใจมันก็ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นตัวเองที่จะสร้างสมยืนตัวเองได้

พอยืนตัวเองได้ ต้องทำงานขึ้นมา เข้าไปรู้อริยสัจ รู้จักทุกข์ เห็นทุกข์ รู้ว่าทุกข์นี้เกิดจากสมุทัยคือความยึดมั่นถือมั่น ความขัดข้องหมองใจของเรา นั้นเป็นสมุทัยทั้งหมด ดับด้วยมรรค เห็นไหม นิโรธเกิดขึ้นในอริยสัจนั้น แล้วผลที่เกิดขึ้นมาออกจากอริยสัจนั้นไป คือความรู้ความเห็นที่จับต้องที่ขับเคลื่อนไปจากการกระทำของใจ ไม่ใช่การกระทำของกายนะ การกระทำของใจ งานของใจไง

นี่ใจมั่นคงมั่นคงตรงนั้น ชีวิตก็จะมั่นคงขึ้นมา พอใจมั่นคงขึ้นมาไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลังเลสงสัย รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริง นี่มันรู้จริงเห็นจริงตามความเป็นเราเชื่อไง ศรัทธาคือความเชื่อ รู้ตามไม่ใช่รู้จริง เห็นไหม รู้ตามกับรู้แจ้ง รู้แจ้งคือเราเข้าไปค้นคว้าหาเอง

เกิดขึ้นมาจากนี่แหละ เราเกิดมาเราเห็นพระไง ภิกษุเป็นผู้ขอ แล้วก็ภิกษุเป็นผู้ให้ ให้ทุกๆ อย่างแก่หัวใจของเรานะ ถ้าไม่มีคนชี้นำมา เราก็ต้องตาบอดคลำไป ว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดี เข้าใจว่าสิ่งนั้นดี แน่ใจว่าสิ่งนี้ดี เราเชื่อมั่นว่าเราดี เพราะเราเป็นคนฉลาดไง ว่าเราเป็นคนมีปัญญานะ

ปัญญากิเลสพาใช้! ไม่ใช้ปัญญาธรรมพาใช้ไง ธรรมจะพาใช้ไม่ได้เลยเพราะธรรมไม่มีในหัวใจ เราเชื่อมั่น เห็นไหม ขณะฟังเทศน์นี่ซึ้งใจมาก ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์จะเคลิ้มตามธรรมนั้นไปเลย พอคล้อยหลังไปความคิดมันต่อต้านขึ้นมา ความคิดมันจะไปแยกแยะธรรมออกมาเป็นอย่างไรๆ แล้วมันจะคิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริงไปได้หรือ? เป็นจริงได้หรือ?

ความเห็นของเราไง คนเหมือนคน กิริยาข้างนอก พระก็มาจากคน นี้กิริยาของพระก็เหมือนกิริยาของเรา พอกิริยาของเรา มันจะเป็นไปได้อย่างไร?

มันจะเป็นไปได้หรือไม่ได้มันอยู่ที่ความเชื่อของใจดวงนั้น ใจนี่มีความเชื่อขนาดไหน นี่ศรัทธาความเชื่อก่อน พอเชื่อแล้วมุ่งมั่นทำ พอทำมันจะเอ๊ะ...ไปเรื่อยนะ มันจะสัมผัสไปเรื่อย ความสัมผัสเข้าไปเรื่อย สัมผัสก็เป็นความจริงไง จากความเชื่อก็เป็นความจริง พอสัมผัสไปๆ สัมผัสจนต้อนทุกข์เข้าไปจนมุม อ๋อ...นี่หรือทุกข์? จับทุกข์ได้ ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อไหร่มันจะสาวหาเหตุ สาวหาเหตุนี่ก็สมุทัย นี่ดับ ดับด้วยมัคคอริยสัจจัง

จากว่าเป็นผู้ขอๆ คำว่า “เป็นผู้ให้กับเป็นผู้ขอ” เกิดในพร้อมในขณะเดียวกัน แต่เราจะแยกออกไม่ออกเท่านั้นเอง เอวัง