เทศน์เช้า

ไหว้ตนเอง

๔ ก.พ. ๒๕๔๓

 

ไหว้ตนเอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาสอนให้ไหว้เจ้าใช่ไหม? ลัทธิศาสนาต่างๆ สอนให้คนเป็นคนดีหมด แต่มันดีได้มากได้น้อยไง การกตัญญูกตเวทีไง การไหว้เจ้าขอศีลขอพรวันปีใหม่นะดีมากเลย ไหว้เจ้า เห็นไหม เพราะว่าศาสดา หัวหน้าสอนให้ขนาดนั้น

แต่พระพุทธเจ้าสอนให้ไหว้ตนเองนะ ไม่ได้ไหว้คนอื่นหรอก ให้ไหว้เรานี่ไหว้ได้ไหม? ตัวเราเองนี่ยกมือไหว้ตัวเองได้ไหม? ยกมือไหว้ตัวเองสิ ตัวเองถ้ายกมือไหว้ตัวเองนะ ก็ตัวเองทำได้อย่างที่ตัวเองคิดหมดนะ เรายังมีศีล ๕ มีศีล ๘ มีศีล ๑๐ มีศีล ๒๒๗ นะ ถ้าเรามีศีลครบ มันก็น่าภูมิใจ พอมันน่าภูมิใจขึ้นมา มันก็อ้อ...นี่มันสมาธิ อ้อ...มีสมาธิ อ้าว...ตั้งมั่น แปลกประหลาดมาอย่างนั้นเชียวเหรอ? อ้าว...มีปัญญาหมุนเข้าไปอีก

พระพุทธเจ้าสอน “ให้ไหว้ตนเอง” ไหว้ตนเองแบบนี้ไง สอนให้ไหว้ตนเอง แต่ในเมื่อยังเข้าไม่ถึง แล้วว่าลัทธิศาสนาต่างๆ สอนให้คนเป็นคนดีหมด...

ถูกต้อง! สอนให้คนเป็นคนดีมีความกตัญญูกตเวที สอนให้เป็นคนดี นี่สอนให้เป็นคนดีไป แต่คนดี เห็นไหม ดีในอะไร?

คนดีทุกคนว่าตนเองดีหมดนะ ใครไม่ว่าตัวเองชั่วหรอก ต้องว่าตัวเองดี ยิ่งกิเลสมันยิ่งว่าตัวเองยิ่งดีใหญ่เลย ดีเยี่ยมเลยกิเลสนี่มันจะฝังตัวมันเองว่ามันเยี่ยมยอดเลย แล้วมันจะครอบงำเอาเราไว้เลย เห็นไหม เราถึงไหว้ตนเองไม่ได้เพราะอะไร?

เพราะมันไม่ให้ไหว้ มันรู้อยู่ภายใน แต่พระพุทธเจ้าสอนให้ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เห็นไหม ไม่ให้เชื่อทุกๆ อย่างเลย ไม่ให้เชื่อไง ให้เชื่อการประพฤติปฏิบัติของเรา ถึงว่าไหว้ตนเองนี่สำคัญกว่าไหว้ที่อื่นทั้งหมดเลย ไหว้ตนเองได้

นี่มันไหว้ไม่ลงเพราะว่าเรารู้อยู่ เห็นไหม อย่างที่อย่างข้างนอกเข้าไป เราไม่รู้นี่ เราไปข้างนอกเราไม่รู้ เราอาศัยที่พึ่งเขาๆ นี่ก็ว่านะ บุญกุศลทำไปไหว้ไปเพื่อประโยชน์

ประโยชน์มันได้...กตัญญูกตเวทีนี่ เคารพผู้ใหญ่นี่ก็ได้บุญอยู่แล้ว การยกมือไหว้มีคารวะ ๖ นี่ก็ได้บุญอยู่แล้ว เห็นไหม นี่ได้บุญ ถึงว่าการไหว้นี่ก็ไหว้เพื่อพึ่งข้างนอกไง ต่างคนต่างคิดจะพึ่งคนอื่น เห็นไหม ถึงไม่ได้ไหว้ตนเอง คิดพึ่งตนเอง พระพุทธเจ้าสอนให้พึ่งตนเอง

แต่ก่อนจะพึ่งตนเองได้ มันก็ต้องมี ไม่มีอะไรจะพึ่งตนเองได้อย่างไร? ถ้าไม่มีกิเลสมันก็ไม่มีธรรม เห็นไหม แล้วจะรู้ว่าตรงไหนเป็นกิเลส? ต้องเห็นคุณเห็นโทษมันถึงจะพึ่งตนเองได้ว่าตรงนี้เป็นโทษ ถ้าตรงนี้เป็นโทษ มันก็จะปล่อยเรื่องที่เป็นโทษไป อย่างความคิด เห็นไหม ความคิดเป็นคุณเป็นโทษ? ความคิดมันเป็นอย่างไร? เห็นอย่างนั้น

ถ้าพูดถึงเรื่องพระ พระก็มี พระมีมากเลยพระดีพระไม่ดีมีปนกัน ถึงต้องเลือกไง ต้องเลือก แล้วการจะถวายทาน เห็นไหม ให้ไม่ลง ไหว้ไม่ลง ทำไม่ได้ เพราะว่าเราถือว่าเราดีกว่าเขา เราดีกว่าเขา...

เราดีกว่าเขาถึงอ่อนน้อม ถึงคารวะไม่ได้ การจะมีคารวะขึ้นมา มันก็ต้องว่าต้องเหนือเรา เห็นไหม การเหนือเรา อาจารย์ถึงบอกว่า “กลืนไม่ลงคอ” ไง ถ้ากลืนไม่ลงคอ เขาก็ไม่ยอมกลืน ถ้ามันลื่น มันไว้ใจได้ มันอุ่นใจไว้ใจได้ มันก็ไว้ได้หมด

มันอุ่นใจมันไว้ใจไม่ได้...การไว้ใจไม่ได้ก็ดัดตน เห็นไหม ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าพระครูบาอาจารย์ปฏิบัติเห็นธรรมก่อน เห็นโทษของมันแล้วผ่านจากโทษของมันเข้าไป ผ่านจากโทษของมัน

ถ้าไม่ผ่านจากโทษของมัน ผ่านจากโทษคือว่าเห็นแล้วชำระได้ สละได้ ตัดขาดออกไปได้ พอมันตัดขาดออกไปจากใจ มันจะย้อนกลับมาที่เรานี่แหละ พระทำอย่างนั้น...พระทำอย่างนั้น... พระทำอย่างนั้นเพราะอะไร?

เพราะอันนี้มันยังไม่ตัดขาดกับเรา พระทำอย่างนั้น พระเป็นคนเป็น พระทำอย่างนั้น พระเป็นคนผิด พระทำอย่างนั้น เห็นไหม เหมือนตำรวจทำความผิด ถ้าตำรวจทำความผิด ทางโลกนะ จับได้-ไม่ได้ เห็นไหม จับได้-ไม่ได้ ถ้าตำรวจนั้นก็ยังพ้นภัยไปเพราะยังจับไม่ได้

แต่กรรมมันไม่ให้หรอก ใครทำชั่วต้องได้ชั่ว ทำดีต้องได้ดีแน่นอน ถ้าคนนั้นเขาเองต่างหากเป็นคนโง่ เป็นคนโง่เพราะอะไร? เพราะเขาสะสมอกุศล เขาสะสมบาปอกุศลของเขาเอาไว้ สะสมบาปกรรมของเขาไว้ เขาเข้ามาเจอของดีแล้ว เห็นไหม เข้ามาเจอของดีคือเข้ามาเจอหลักของศาสนาแล้ว ถ้ามันเข้าไปถึงเข้าไปเรื่อยๆ มันก็ถึงหลักของธรรม

แต่นี้เข้าไปในหลักของศาสนาแล้ว แต่เอาหลักศาสนานี้มาบังไว้เฉยๆ แต่กิเลสไปพอกพูนอยู่ภายในนั้นนะ น่าสงสารอีกต่างหากเพราะอะไร?

เพราะว่ากรรมต้องให้ผลของกรรมแน่นอน ทำความชั่วของเขา เขาทำความผิดพลาดทำความชั่วไป เขาต้องไปรับของเขาทั้งหมดเลย

ในหลักของศาสนาสอนว่า “พระเราถ้าทุจริตของเขากินเหมือนเอาคำข้าวเข้าปาก เหมือนกับกินถ่านเพลิงแดงๆ ตลอดทุกคำกลืนเข้าไป” คำข้าวนี่เหมือนกับถ่านเพลิงกลืนเข้าไปๆ เหมือนนะ แต่ขณะที่ทำนี้มันกลับดีใจกลับภูมิใจว่าเราทำได้ไง เห็นไหม นี่อกุศล นี่คือโทษของมัน แต่คนมองไม่เห็น คนเลยไปกอด

ถึงบอกน่าสงสารมาก กลับเป็นสิ่งที่น่าสงสาร ไม่ใช่สิ่งที่ว่าเราเห็นแล้วเราจะคิดว่าเรื่องของเขา เขาทำแล้วเขาต้องได้ ใครทำต้องได้ ถ้าเราไปเห็นอย่างนั้นปั๊บ เราว่าเราก็ไม่อยากทำอีกต่อไป เราก็ต้องเลือกหาสิ่งที่ดี

ทีนี้มันไม่คิดอย่างนั้น คิดแต่ว่าเขาอย่างนั้นปั๊บ มันไม่ทำอย่างนั้น มันไม่แสวงหาสิ่งที่ถูกที่ต้องได้ ไม่แสวงหาสิ่งที่ถูกที่ต้อง เห็นไหม อันนี้มันก็ปิดบัง เขาก็มืด เรายิ่งมืดเข้าไปใหญ่เลยเพราะเราปิดบังตัวเราเอง เราไม่เห็นสิ่งที่ว่าเราจะหาสิ่งที่ไปทางอื่นได้ นี่มันตัดโอกาสของเราไง เห็นเขามีมากก็ของคนอื่นทั้งหมด เห็นเขามีความสุข อยากมีความสุข เวลาทำบุญกุศล เห็นไหม อยากได้มรรคผลนิพพานทุกคน เป้าหมายของทุกคนต้องถึงที่มรรคผลนิพพาน

“มรรคผลนิพพาน” มรรคคือเครื่องดำเนินให้ถึงผล ผลคือนิพพานอันนั้น ถ้านิพพานนั้นเราไม่ถึงนะ สมบัติใดๆ ในโลกนี้มันให้คุณและให้โทษอยู่ตลอดเวลานะ แต่มันจะให้โทษเป็นส่วนใหญ่ถ้าเราไม่มีปัญญาของมัน ให้โทษก็หมายถึงว่าเราจะไปติดกับมันไง เราจะไปติด เราจะไปแสวงหาสิ่งนั้นมาแล้วก็มาเกาะเป็นทุกข์เป็นร้อน เป็นภาระเก็บรักษา

แต่บุญกุศลนี่มันเป็นความรับรู้ของภายในใจ ใจมันรับรู้ขึ้นมา เห็นไหม ใจรับรู้ ใจสะสม แล้วมันฝังใจ มันมีมากขนาดไหน จะมีล้นสามโลกธาตุล้นฟ้า มันก็มีที่เก็บที่สะสมได้ เห็นไหม มันสะสมเข้าไปแล้วมันลึกซึ้ง มันเก็บไว้ในนั้นๆ มันเป็นนามธรรม

แต่ความคิดที่มันเป็นให้เราออกมา ความคิดที่เราออกมาทำลายคนอื่นนั้นเป็นความคิดที่ว่าทำลายคนอื่น เห็นไหม ผลอย่างหนึ่ง ทำลายตัวเองผลอย่างหนึ่ง เป็นความคิดที่ทำลายตัวเอง ไม่ได้ทำลายคนอื่น ทำลายตัวเองก่อน เห็นไหม นี่ถึงว่าเบียดเบียนตนแล้วถึงเบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนตนขึ้นมาเกิดขึ้นมา เบียดเบียนตนก่อนเลย แล้วก็เบียดเบียนผู้อื่นต่อไปๆ

ย้อนกลับมา...ทำลายคนอื่น เห็นไหม อย่างการทำร้ายคนอื่นนะ โทษอีกอย่างหนึ่ง ทางโลกเขาว่าจะให้ผลมาก ถ้าของตัวเองผิดพลาดไปให้ผลน้อย ถ้าของคนอื่นต้องมีโทษอาญา ต้องมีโทษมาก

แต่ในหลักของศาสนาไม่อย่างนั้นเลยนะ ทำลายคนอื่น เห็นไหม กรรมอกุศลเกิดขึ้นไง ทำลายตัวเองสิ ทำลายตัวเอง ทำลายโอกาสของตัวเอง ทำลายโอกาสของตัวเองตัวเองจะได้ไปดี ทำลายโอกาสของตัวเอง ถึงกับทำร้ายตัวเองยิ่งโทษหนักเข้าไปใหญ่เลย ทำร้ายตัวเอง เห็นไหม ก็ขนาดของที่ควรจะสงวนรักษายังทำได้

ทีนี้มันไม่รู้ ความไม่รู้ของใจมันพลิกกลับไปว่าเราฉลาด เรารู้เท่าทันคน เราไม่เป็นเหยื่อของโลกเขา

ไอ้เหยื่อไม่เหยื่อนี่มันอยู่ที่ถึงเวลา ถ้าถึงเวลาของคนๆ นั้นแล้วนะเป็นไปหมด มันเห็นดีเห็นงามไปเอง ความเห็นดีเห็นงามอันนั้น นั่นล่ะกรรมบังตา ผิดขนาดไหนก็เห็นดีเห็นงาม แต่ถ้าตามันเปิดสว่างขึ้นมาแล้ว มันไม่เห็นไปอย่างนั้นหรอก ความเห็นอย่างนั้นมันต้องพลิกไปได้

นี่ถึงว่าภาวนามยปัญญาถึงสำคัญที่สุดไง สุตมยปัญญา-การฟัง การศึกษาเล่าเรียนไป การจำมา ครูบาอาจารย์สอนมา มันจะจำได้ขนาดไหนก็แล้วแต่ มันได้ชั่วคราว แล้วเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า มันไม่ทันกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า มันไม่เป็นปัจจุบันธรรม ความคิดไม่เกิดขึ้นมาจากความคิดของเรา มันเป็นการสุตมยปัญญาคือจำมา ยืมมา

ของยืมมา พอไปเจอเขาเขาทวงคืนนะ เซ่อไปเลยนะ นึกอะไรไม่ออก เห็นไหม สุตมยปัญญาคือการศึกษามา การจำมา จินตมยปัญญานี่เราใคร่ครวญ เราได้พอสมควร เรายังนึกได้บ้าง นึกขึ้นมายังนึกได้บ้าง แต่ถ้ามีเหตุการณ์รุนแรงหรือความโมโหโทโสขึ้นมา เหตุการณ์นั้นมันจะทำให้ความคิดนี่หายหมดเลย

ภาวนามยปัญญาเป็นไปไม่ได้ที่มันจะหายไป เพราะมันเป็นอริยสัจ ความเป็นอริยสัจมันเคลื่อนไหวออกมาพร้อมกับใจ พร้อมกับความคิดที่มันเริ่มเคลื่อนไหวออกมา มันมีความคิดนั้นออกมา มันยับยั้งชั่งใจได้ทุกๆ อย่างตลอดไป มันทันกิเลสไง มันทันความคิดของตัวเอง

ความริเริ่ม เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าเย้ยมาร “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” ความดำริ ความเริ่มคิดออกมานั่นน่ะ สติอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติตามออกมาพร้อมกัน นี่คือภาวนามยปัญญา

นี่ตรงนี้ถึงว่ากราบไหว้ตนเองได้ตรงนี้ไง มันเห็นแล้วมันจะซึ้งใจมาก มันเห็นมันรู้เท่า มันจะเห็นว่าเรานี้ประเสริฐขนาดไหน

เราจะประเสริฐได้ขึ้นมา เราต้องเชื่อธรรมของพระพุทธเจ้าขึ้นมาก่อน แล้วเราต้องประพฤติปฏิบัติไง พยายามฝืนไอ้ความคิดที่ว่าคิดอย่างนั้นเข้ามาก่อน เห็นไหม ถ้าคนที่ไม่เคยฝืน คนที่ไม่คิด เขาคิดขึ้นมา มันเป็นมโนกรรม แล้วพูดออกมา ไอ้คนฟังฟังแล้วมันน่าสลดสังเวช มันน่าเศร้าใจไง คนถ้ามีภูมิวุฒิภาวะสูงขึ้นมา มันจะสลดสังเวชเขา

นี่ไงคือผลที่ว่าฐานของใจ ใจมีฐานแล้วมันจะเห็นผิดเห็นถูก ถ้าเมื่อก่อนเราไม่มีฐานของใจ เขาคิดอย่างนั้น เขาเสนอมา มันจะเห็นดีด้วยเลย ถูกต้อง! เราต้องคิดอย่างนั้นต้องทำอย่างนั้นเหมือนเขา แต่พอมีฐานของใจ มันสลดสังเวชขึ้นมาไง ทำไมเขามีความคิดอย่างนั้น?

ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดทำลายตนเองไง ความผิดความถูกของพระองค์นั้น ความผิดความถูกของครูบาอาจารย์หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นผลของท่าน แต่ความถูกของครูบาอาจารย์นี่ยังสอนเราได้ แต่ความผิดของนั้นน่ะ ทำไมมันสะเทือนใจเราขนาดนี้?

ถ้ามีฐานของใจ นี่มีฐานของใจ พอมีฐานของใจมันก็เห็นคุณเห็นโทษ เห็นคุณเห็นโทษมันก็ศีลบริสุทธิ์ขึ้นมาเรื่อยๆ เห็นคุณเห็นโทษจิตมันก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นสมาธิขึ้นมาแล้วภาวนามยปัญญามันถึงจะเกิดตรงนั้น เกิดตรงที่ฐานของใจ ใจคนที่มีสมาธิธรรม ถ้าฐานยังไม่มีเลย การฟังธรรมมันก็แยกไม่ออกว่าผิดหรือถูก? ฟังแล้วก็ฟังไม่ออกไง

ฟังธรรมในหนังสือหรือว่าในเทศน์มันจะฟังเข้าใจหมด เพราะมันเป็นสัญญาด้วยกัน มันเป็นการว่าแต่งขึ้นมาเป็นสมมุติกับสมมุติฟังรื่นไปเลยนะ แต่ธรรมภาคปฏิบัติมันเป็นความตรงๆ มันตรงกับกิเลส ตรงกับความคิด ทำลายความคิดตัวเองได้อย่างนั้น แต่ความคิดของเรามันเป็นอาการขึ้นมา มันจะไม่รู้ พอไม่รู้เพราะอะไร?

เพราะไม่มีฐานตัวนี้ไง ฐานของใจไม่มี พอธรรมมามันก็รับธรรมอันนั้นไม่ได้ ความรับธรรมอันนั้นไม่ได้ เขาถึงว่าเขารับไม่ได้ เขาก็เลยความคิดออกไปของเขา มันต่อต้านความรับอันนั้นแล้วมันก็คิดของมันออกไป คิดออกไปมันก็ว่าเป็นสิ่งที่ถูก เป็นสิ่งที่พอใจของเขา

มันถึงว่าเรามีฐานแล้ว เราเห็นปั๊บเราก็จึงว่าวุฒิภาวะเราเจริญขึ้นมา แล้วเราก็ต้องพยายามทำขึ้นมาของเรา เวลาทำบุญกุศลหวังมรรคหวังผลหวังนิพพานกัน นี่ภาวนามยปัญญาตัวนี้ ตัวที่มันมีอยู่เฉพาะในหลักของศาสนาเรานี้

ถึงบอกว่าไม่มีหรอกที่เป็นไปไม่ได้ที่ว่าให้กราบไหว้ตนเอง ศาสนาไหนก็ต้องว่าให้เป็นพิธีกรรมออกไป เห็นไหม เป็นพิธีกรรมออกไปข้างนอก เป็นพิธีกรรมเข้าไป แต่ในหลักของศาสนาพุทธเป็นพิธีกรรมเหมือนกัน แต่เป็นพิธีกรรมเพื่อขัดเกลา เพื่อดัดตนไง ดัดตน ขัดเกลาตน ขัดเกลาให้เป็นถึงว่าความบริสุทธิ์ขึ้นมา

ถึงว่ามรรคผลนิพพานมีจริงไง กาลเวลาเป็นกาลเวลาเท่านั้น กาลเวลาเป็นเครื่องนับว่า ๒,๕๐๐ ปี ศาสนานี้ ๕,๐๐๐ ปี เราพึ่งเกิดมา ๑๐๐ ปี เราจะตายในศาสนานี้กี่รอบ? นี่ตายเกิดตายเกิด เราตายในศาสนากี่รอบ? แล้วใจเราจะประเสริฐขึ้นขนาดไหน?

นี่มันถึงว่าเราถึงต้องตั้งใจไง ความตั้งใจของเรา แล้วเราจะสลดสังเวชกับสิ่งที่เป็นไป แล้วเราสลดสังเวชอันนั้น เห็นไหม เราถึงว่าเราได้ผลแล้วไง พอได้ผลแล้วเราก็พิจารณาเข้าไป ถึงว่านี่กราบไหว้ตนเองได้ ศาสนาพุทธศาสนาสอน “ให้กราบไหว้ตนเอง” ตนกราบไหว้ตนอันนั้นประเสริฐที่สุด เอวัง