เทศน์เช้า

ข้อวัตรปฏิบัติ

๖ ก.พ. ๒๕๔๓

 

ข้อวัตรปฏิบัติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เป็นชาวพุทธนะ เรามาทำบุญกุศลเพื่อจะหาความสุขใจไง เพื่อหาความสุขที่แท้จริง ศาสนามันละเอียดอ่อนมาก ความเข้าถึงมันเข้าถึงด้วยความลำบาก มันเข้าถึงด้วยการยากไง ฉะนั้น วัตรปฏิบัติสำคัญ เห็นอย่างนี้มันเหมือนกับว่าเป็นความยุ่งยาก ถ้าเราตีว่าเป็นความยุ่งยาก มันก็เลยเป็นแบบว่ากิเลสมันแบบมันจะเอาความมักง่าย แต่ถ้าเราจะรักษาไว้มันก็เป็นความลำบาก เห็นไหม มันเข้าได้ยาก

วัตรปฏิบัตินะ เครื่องดำเนินไง วัตรปฏิบัติจะเข้าให้ถึงเรื่องของใจได้ กิริยาเหมือนกัน เห็นไหม วัตรปฏิบัติของพระนี่มันเป็นเรื่องปกตินี่แหละ แต่ถ้าคนทำมันก็เหมือนกับความพอใจ หัวใจมันยอมรับ พอหัวใจมันยอมรับ มันทำได้ ถ้าหัวใจไม่ยอมรับ มันก็ดูเป็นของเล็กน้อย

ความเป็นของเล็กน้อย หลวงปู่ฝั้นบอกไว้ว่า “ผงฝุ่นมันเข้าตาแล้วมันเคืองตา ไม่มีท่อนซุงท่อนไหนไปเข้าตาคนหรอก” เราเห็นแต่ของเล็กน้อยๆ แล้วเรามองข้ามไปๆ นี่วัตรปฏิบัติ วัดไม่ร้างไง เห็นไหม ธุดงค์ ๑๓

ธุดงค์ ๑๓ จะถึง ๑๓ ข้อ วัตร ๑๔ อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร เห็นไหม วัตรของพระที่จะเครื่องอยู่อาศัย เขาถึงบอกว่า “ถ้าพระมีวัตรปฏิบัติ นี่วัดไม่ร้าง คนไม่ร้าง” คนมีกติกาไง ถ้าคนไม่มีกติกา คนเอาความสะดวกเอาความมักง่ายไป มันไปได้เรื่อย

ฉะนั้น ถ้าทำแล้วมันก็เป็นความยุ่งยากขึ้นมา ความยุ่งยากมันไม่พอใจ มันอยากมักง่ายไง ฉะนั้น ถึงว่ามันลำบากหน่อยต้องยอมรับ มันเป็นวัตรปฏิบัติ ข้อปฏิบัติแสดงออกถึงใจ ใจมันจะยอมรับไม่ยอมรับ นี่เครื่องดำเนินไง ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐาน

ปฏิปทาคือเครื่องดำเนินเข้าไป ปฏิปทาเครื่องเข้า ถ้าเราไปทำลายปฏิปทาซะหมดนะ ถนนหนทางมันจะเข้าไปไม่ได้ มานี่อาศัยหนทางเข้ามา ถ้าไม่มีหนทางเข้ามาเราจะเข้าไปถึงใจได้อย่างไร?

การจะเข้าไปถึงใจ การจะชำระกิเลส กิเลสมันอยู่ที่ใจ เห็นไหม ว่าศาสนานี่มันเข้าได้ด้วยเรื่องที่มันละเอียดอ่อนมาก ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้...เป็นไปไม่ได้เลย เป็นไปไม่ได้เลย แต่ในเมื่อเราไม่ถึงกับว่าขนาดนั้น เราหวังในมรรคผล หวังในเครื่องดำเนิน แนวทางของเรายังมีอยู่ เราก็ต้องปฏิบัติตามนั้น นี่วัตรปฏิบัติ

แล้วเวลาเครื่องดำเนินไป วัตรปฏิบัติมันเป็นเรื่องวัตถุใช่ไหม? เพราะเอามาเทียบเคียงให้พวกเราคนปัญญาอ่อน เหมือนเด็กอ่อนจริงๆ นะ มนุษย์เราเป็นนักบวชใหม่ๆ เป็นพระบวชใหม่ๆ เหมือนกับเด็กเล็กๆ ไม่รู้ประสีประสาเลยล่ะ เอาวัตรเครื่องดำเนินนี้ให้พยายามเกาะเข้าไปๆๆ มันเปลี่ยนนิสัย

ขอนิสัยครูบาอาจารย์ เห็นไหม ขอนิสัยนี่ ขอนิสัย ๔ เห็นไหม ขอนิสัยว่าการประพฤติปฏิบัติต้องให้ได้ ๕ พรรษาขึ้นไปถึงจะพ้นนิสัยได้ ก็เหมือนกับเราไปฝึกหัด ลูกอยู่กับพ่อแม่มันก็ได้นิสัยมา พ่อแม่สอนให้เด็กควรทำความดี นี่มันเป็นเครื่องที่ว่าได้นิสัยมา มันนิสัยเครื่องดำเนินเข้าไปๆ นี่หลักศาสนา

พระพุทธเจ้าถึงวางตรงนี้ให้เราเข้าไป เหมือนเด็กอ่อน แล้วเหมือนเราเหมือนกัน เหมือนเราที่เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม? เราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติใช่ไหม? พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา” ศีล สมาธิ ปัญญาใช่ไหม?

ศีล สมาธิ เห็นไหม ศีลกับสมาธิเป็นเครื่องมือ เครื่องมือก็เหมือนเครื่องมือ เราไปซื้อเครื่องมือที่ตามตลาด เราไปชี้เอาได้เลย ค้อนก็ชี้ได้ อะไรก็ชี้ได้ แต่เครื่องมือในศาสนานี้ชี้เอาไม่ได้ อยากได้สมาธิก็ต้องฝึกเอา ในหลักของศาสนานี่ก็บอกให้พิมพ์เขียว เห็นไหม พิมพ์เขียวเราก็ไปหาเอาสิ เราไปตลาดเราซื้อได้ เครื่องมือเครื่องดำเนินเราซื้อได้

มรรคนี้ซื้อไม่ได้ มันไม่สามารถซื้อได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ชี้ทางให้เฉยๆ ชี้ทางให้ เห็นไหม แล้วเราต้องไปหาเอา เอาพิมพ์เขียวมาก็ไปหาเอานะ สมาธิเป็นอย่างนี้ ความดำริความคิดเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ได้พิมพ์เขียวมาแล้วเราจะหาซื้อเอาเครื่องมือนี้มาจากไหน? เราก็ต้องฝึกปฏิบัติขึ้นมา พอฝึกปฏิบัติขึ้นมา มันก็เป็นเครื่องมือของเรา เป็นเครื่องมือเพื่อจะชำระกิเลส

ไม่ได้ชำระกิเลสเลย...แค่หาเครื่องมือชำระกิเลสเราก็ยุ่งยากขนาดไหน นี่มันเข้าได้ยากขนาดนั้น มันถึงจะต้องพยายาม พอใจในสิ่งที่เป็นวัตรปฏิบัติ พอใจในสิ่งที่เป็นความลำบากความยากเข็ญ มันจะลำบากแค่ไหนก็เพื่อจะชำระกิเลสไง ดัดตนดัดความเห็นของตนให้เข้าทางเพื่อหาเครื่องมือเฉยๆ นะ เพื่อหาเครื่องมือมาชำระกิเลสเฉยๆ นะ

ความสงบของใจ สมาธิของใจ นี่ก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่งในมรรค ๘ เห็นไหม มัคคอริยสัจจัง มรรค ๘ ถ้าไม่มีเครื่องมืออันนี้ มันก็เหมือนกับได้มาแล้วเครื่องมือของเราเครื่องมือผิดไง มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสมาธิ ได้สมาธิมามันก็เป็นมิจฉา ได้สมาธิมาก็ส่งออก ได้สมาธิมาก็ทำให้ทำลายกัน เป็นมนต์ดำ เห็นไหม ได้สมาธิมา ดูหมอ ดูฤกษ์ ดูยาม นี่มันเป็นเครื่องดำเนินให้เนิ่นช้าทั้งหมดเลย

นี่ไง ไม่มีวัตรปฏิบัติ ไม่มีสมาธิไง ไม่มีศีลควบคุมไว้ก่อนไง ศีลควบคุมไว้ พอมันได้มามันก็เป็นสัมมา เป็นเครื่องมือที่ถูกต้อง เห็นไหม เครื่องมือเราดีเราก็สามารถเข้าไปขุดคุ้ย เข้าไปหาตัวว่าอันไหนเป็นกิเลส ความขัดเคืองใจนี่เป็นอารมณ์ชั่วคราว อารมณ์ชั่วคราวนี่มันเกิดมาจากอะไร? ความขัดเคืองใจ ความไม่พอใจของเรานี่มันเป็นเปลือกๆ มันต้องมีเหตุมาสิ มันมาจากไหน?

แขกจรมา โยมไม่มานี่วัดนี้เงียบเลย โยมมานี่นั่งเต็มไปหมดเลย โยมมาจากไหน? ก็โยมมาจากบ้านของโยม เห็นไหม ไอ้อารมณ์ที่มันเกิดมา มันเกิดมาจากไหน? มันจะเกิดมาลอยๆ ไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เหมือนกับแขกมาเยี่ยมเลย เวลาอารมณ์มันเกิดขึ้น” อารมณ์มันมาจากอวิชชาความไม่รู้ ไม่มีสติสัมปชัญญะยับยั้งไว้ เห็นไหม ยับยั้งไว้ๆ ยับยั้งไว้นี่ก็เป็นสมาธิขึ้นมา นี่เครื่องมือเข้าไป หาเครื่องมือ

หาเครื่องมือคือดัดความคิดอันนี้ก่อน เครื่องมือก็คือใจของเรานี่เป็นเครื่องมือ ใจแก้ใจ ใจแก้กิเลส กิเลสมันอยู่กับใจอยู่แล้ว มันต้องต้านทานความคิดของเรา ความอยากทำคุณงามความดีนะ มันต้านทานหมด

เห็นเป็นของเล็กน้อยไง พระอยากจะฉันในบาตรก็เป็นของเล็กน้อย มันก็ฉันเหมือนกัน ฉันสำรับมันฉันแล้วก็อิ่มท้องเหมือนกัน ฉันในบาตรก็อิ่มท้องเหมือนกัน แต่ฉันในบาตรนี่มันเป็นการดัดตน มันเป็นการเห็นธุดงควัตร เห็นไหม ศีลในศีล มันก็เหมือนกับเราไปดูใจ เห็นไหม ใจของเราเกิดขึ้น อารมณ์มันก็เป็นอารมณ์ธรรมดา ทำอย่างไรก็ได้ อารมณ์ก็คืออารมณ์ของเรา เราๆๆๆ เราพอใจทำ เราคือกิเลสไง เราพอใจทำไปตลอด เราพอใจทำ

ทีนี้พอเราเชื่อ เราเอาพิมพ์เขียวเข้ามาแนบเข้าไปที่ใจ นี่ดัดตน ดัดให้เป็นสมาธิขึ้นมา ดัดตนขึ้นมานะ สิ่งที่คิดนี้เป็นสิ่งที่ผิด เห็นไหม นี่เครื่องมือเกิดขึ้น แล้วเครื่องมือที่เกิดขึ้น ค้อนมันก็เป็นค้อนของเรานะ ค้อนของเราจะเล็กหรือใหญ่ สมาธิของเราจะแน่นหนาหรือไม่แน่นหนา มันก็อยู่ที่เรา เครื่องมือนี้ก็ไม่เท่ากัน อยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีของบุคคล

อำนาจวาสนาบารมีของบุคคลสร้างสมมาต่างกัน แล้วสร้างสมมาทั้งดีและชั่ว สร้างสมในทางดีมา มันก็ทำง่าย สร้างสมในทางความไม่ดีมา เวลาสมาธิเกิดขึ้นมา การต่อสู้กับความดัดตนนี่ดัดยาก

ลูกๆ ของเรา เราเห็น เห็นไหม บางคนนี่สอนง่าย บางคนพูดเท่าไหร่มันก็ไม่ฟัง นี่มันเพราะความสั่งสมของกิเลสมาของใจ มันสั่งสมมา มันสั่งสมมามากมันก็ดัดมันก็แก้ไขได้ยาก ถ้ามันสั่งสมมาแบบคุณงามความดีมา มันก็สื่อกันง่าย

นี่ไง ค้อนหรือสมาธิของเครื่องมือของเรามันถึงไม่เหมือนกัน ถึงว่าความไม่เหมือนกันถึงว่าเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน สมบัติของใครของคนนั้นไง กิเลสของใครก็เป็นของคนนั้น ของบุคคลคนนั้น กิเลสเป็นของเรา

ฉะนั้นว่ากิเลสของเรา การกระทำของเรา การฝืนตนของเรามันทุกข์ยาก มันอย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจนี่เราก็เหมือนกับดูถูกตัวเองไง เพราะสิ่งนี้เราเป็นคนสร้าง เวลาสร้างคุณงามความดี เราจะสร้างขึ้นมามันก็ขัดข้องหมองใจ จะทำความที่ว่าเป็นบาปอกุศลนี่มันทำได้เต็มที่เลย

พอเต็มที่เลย พอมันให้ผลมาอย่างนี้เราก็ต้องยอมรับสิ คือว่าจะลำบากหรือจะง่ายในใจของเรา เป็นเพราะการสั่งสมมาของใจเราทั้งหมด เห็นไหม เป็นเพราะการสั่งสมมา ใจนี่มันเกิดตายเกิดตายมาไม่ได้แค่ชาติเดียว มันเกิดตายมาทุกๆ ชาติ มันเกิดตายมาซับซ้อนมาหลายชาติ การสั่งสมของใจมามันถึงไม่เหมือนกัน ความดัดเข้าไปถึงไม่เหมือนกัน

นี่คือวัตรปฏิบัติไง เราจะเห็นๆ ว่าวัตรปฏิบัตินี่เป็นของที่ประเสริฐ ถ้าเราเห็นพระปฏิบัติ มันจะยุ่งยากหน่อย มันก็ยุ่งยากเพื่อจะดัดนิสัย แล้วเราเข้าไปสัมผัส เราก็ต้องดัดนิสัยเราเข้าไปด้วย ผู้อุปัฏฐากพระอุปัฏฐากสงฆ์ เห็นไหม แล้วมันก็จะเข้าถึงเนื้อของธรรม

ถ้าเราออกมา เห็นไหม ธรรมะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรมเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะให้เข้าถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วถึงเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชำระกิเลสได้หมด พระอริยสาวกต่างๆ ก็เข้าถึงธรรม รู้ธรรมตามความเป็นจริงถึงแก้ไขทุกข์ได้ เห็นไหม ธรรมนี้เป็นสมบัติของทุกๆ คน เราจะเข้าถึงธรรมอันนั้นได้มันก็ต้องมีเครื่องมือ เครื่องมือที่เราจะเข้าหาธรรม เราพยายามค้นคว้า เราพยายามค้นหากัน เราสร้างขึ้นมาจากหัวใจของเรา

เครื่องมือทางโลกก็ใช้ทางโลก วิชาชีพก็เป็นวิชาชีพ วิชาแก้กิเลสไม่ใช่วิชาชีพ วิชาแก้กิเลสมันเป็นวิชาดัดตน มันเป็นมัคคอริยสัจจัง ธรรมจักร ภาวนามยปัญญา วิชาชีพนี้มันเป็นวิชาชีพที่ว่าสร้างสมมา มันความรู้อันหนึ่ง

แต่วิชชา เห็นไหม อวิชชาคือความไม่รู้ วิชชาคือความรู้เท่าตน ความรู้เท่าตน วิชาชีพนี่มันใช้ความคิดนี้ออกไปสัมผัสกับสิ่งข้างนอก เห็นไหม แก้ไขดัดแปลงให้สิ่งนั้นเข้าให้เป็นสมกับการประกอบวิชาชีพของตัว แต่วิชชาดัดตน เห็นไหม วิชชาทำความโง่ของตัว ความมืดบอด ความไม่เข้าใจ

ถึงว่าขนาดเครื่องมือนี้เขาจะปฏิเสธเครื่องมือก่อน ถ้าปฏิเสธวัตรปฏิบัติ ปฏิเสธเรื่องนี้แล้วมันจะเข้าถึงธรรมได้อย่างไรในเมื่อเราไม่มีเครื่องมือเข้าถึงธรรม?

ฉะนั้นถึงว่าถ้าจะเข้าถึงธรรมต้องพอใจในวัตรปฏิบัตินี้ ถ้าเราพอใจขึ้นมา มันก็เห็นสิ่งนี้เป็นของง่ายๆ วัตรปฏิบัตินี่เป็นวัตถุที่จับต้องได้ ตัวหนังสือที่ท่องจำได้ เห็นไหม เรายังท่องจำไม่ได้เลย แล้วเข้าไปในความว่างความในอารมณ์ของตัวที่ไม่มีสิ่งใดจับต้องได้เลย แล้วมันจะยากขนาดไหนถ้าไม่มีเครื่องมือเข้าไปจับ?

มรรคนี้ถึงได้ประเสริฐ สติสัมปชัญญะ เห็นไหม ความดำริชอบ ความเห็นชอบ การงานดัดแปลงหัวใจชอบ ความเพียรที่เพียรดัดตนชอบ ความตั้งสมาธิชอบ สติสัมปชัญญะชอบ เห็นไหม สมาธิ นี่มรรค ๘ มรรคนี้เป็นการดัดแปลงตน ดัดแปลงใจ ดัดแปลงกิเลส สัมมาอาชีวะเลี้ยงปากเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพในความถูกต้องไม่ผิดกฎหมาย สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติดัดตนเองชอบ เห็นไหม เลี้ยงหัวใจชอบ อารมณ์ที่ความคิดจริงของใจชอบ

ถ้ามรรคนี้เข้าไป หัวใจมันพอใจ กิเลสไม่ต้านทาน เพราะเรามีเครื่องมือไปดัดมัน กิเลสไม่ต้านทานมันก็ดัดแปลงใจเข้าไป อาหารของใจคืออารมณ์ อารมณ์ที่เป็นความเร่าร้อน อันนั้นคือพิษคือยาพิษ ทำให้หัวใจเราทุกข์ร้อน อารมณ์สร้างสมคุณงามความดีเข้าไปเป็นอารมณ์เป็นอาหารที่ดี แต่กิเลสมันปฏิเสธเพราะมันจืด มันไม่มีรสชาติเหมือนกับความที่ว่าอารมณ์ของโลกเขา มันจะปฏิเสธ ใหม่ๆ ปฏิเสธ นี่กิเลสมันปฏิเสธทั้งๆ ที่เป็นอาหารที่ดีนะ

แต่พอความที่ว่าเราให้เข้าไป พอมันได้ดื่มกิน หลอกให้มันกินหรือว่าพุทโธ พุทโธ หลอกให้มันได้ความสงบขึ้นมา มันได้สัมผัส เอ่อ...ทำไมมันสงบล่ะ? ทำไมมันอุ่นใจ? มันเหมือนกับเรามีที่พึ่ง ทำไมเราไม่ว้าเหว่ล่ะ?

นี่คือเลี้ยงหัวใจชอบ เลี้ยงหัวใจชอบด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราสัมผัสเข้าไปมันทำอย่างนี้ ใจเราสัมผัสๆ นี่ไงบุญแท้ๆ ไง บุญคือความสุขใจ เราทำบุญมา นี่ทาน ผลของทาน เห็นไหม เราก็ได้บุญกุศลที่ว่ามันจะได้ดังว่าเราเจตนาเราตั้งใจขนาดไหน บุญเกิดแน่นอน จะเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

เพราะว่าการให้มันก็สำเร็จลงที่ใจ ใจเปิดมา อารมณ์ของใจเปิดขึ้นๆ การเปิดของใจ เห็นไหม ความกว้างขวางของใจกับที่ว่ามันพยายามบีบคั้นใจไว้ ใจโดนบีบคั้นด้วยความตระหนี่คือกิเลสกับความกว้างออก นี่ทาน ทานคือว่าให้ผลเป็นบุญกุศล บุญนี้ขับเคลื่อนได้ บุญนี้ทำให้เกิดเป็นเทวดา บุญนี้ทำให้เกิดเป็นอริยทรัพย์ขึ้นมา

แต่สมาธิธรรม เห็นไหม บุญที่เกิดขึ้นทำความสุขใจ บุญละเอียดเข้าไปๆ บุญกุศลที่ทำให้ใจนี่มีความผาสุกของใจ ใจมีที่พึ่งของใจของตัวเอง ไม่ต้องฟัง แม้แต่พระสารีบุตรเวลาถึงที่สุดแล้ว ไม่เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ไง

เขาบอก “พระสารีบุตรนี่ไม่เชื่อ” จนพระเขาติเตียนว่า “พระสารีบุตรนี่ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ก็พาไปหาพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าถามว่า “พระสารีบุตรทำไมไม่เชื่อ?”

“เมื่อก่อนเชื่อ เชื่ออย่างพวกเรานี่เชื่อ อาศัยเป็นวัตรปฏิบัติ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้ชี้นำ เชื่อ...”

ความเชื่อไม่ใช่ความจริง ความเชื่อมันเป็นการเดินตาม พอเข้าไปถึงหลักความจริง ความจริงเป็นของเรา เราสัมผัสเอง ทำไมต้องไปเชื่อใคร? เราเห็น เราจับต้อง เรารู้เอง จะไปเชื่อใคร? นี่คือปัจจัตตัง

ศาสนาพุทธนี่เอกขนาดนี้ เอกคือความยอดเยี่ยม คือว่าถ้าผู้ใดถึงธรรม ผู้นั้นรู้แจ้งหมด แล้วไม่ต้องให้ใครบอก ใครบอกไม่ได้ บอกนั้นก็เป็นการเล่าลือ บอกนั่นเป็นการบอกกล่าว เห็นไหม ความเชื่อก็เป็นความเชื่อ เป็นการเดินตาม รู้จริง ปัจจัตตัง รู้จริง รู้จำเพาะตน รู้สมุจเฉทปหานขาดออกไปจากใจ อันนั้นคือธรรม สุขแท้ๆ เกิดจากตรงนี้ เราหวังสุขตรงนี้ เราต้องขวนขวาย เราต้องตั้งใจ อะไรมันจะทุกข์ยากจะลำบากหน่อยก็ต้องเดินตามข้อวัตรปฏิบัตินั้น

ถึงว่าเราเป็นลูกศิษย์ตถาคต มีครูบาอาจารย์ที่ว่าเป็นที่พึ่งของเราได้จริง ครูบาอาจารย์ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของพวกเราทั้งหมด ข้อวัตรปฏิบัตินี่พระพุทธเจ้าวางไว้ทั้งหมด เชื่อข้อวัตรปฏิบัติก็เชื่อครูบาอาจารย์ เคารพครูบาอาจารย์ เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไป เอวัง