เทศน์เช้า

ทางสายกลาง

๑๒ ก.พ. ๒๕๔๓

 

ทางสายกลาง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องของศาสนาไง เรื่องของศาสนา แล้วเราก็อยากจะเข้ากัน เราอยากจะมีที่พึ่งของใจ อยากมีในศาสนา แล้วพอจะมีที่พึ่งขึ้นมา มันก็มีแนวทางต่างๆ ให้เราได้คิด เห็นไหม แนวทางต่างๆ แล้วอย่างถ้าแนวทางต่างๆ นี่เป็นปริยัติไง การศึกษามา แนวทางปริยัตินี่เป็นระบบ ทั้งที่ว่ามันเป็นระบบนะ ถูก...ถ้าพูดถึงถูกเป็นความถูกต้อง แต่ถูกต้องถูกในระบบที่ว่าวางไว้หลักนะ อย่างอภิธรรม การเรียนอภิธรรมมา ต้องเดินตามระบบอภิธรรมทั้งหมดนะ

นี่คือทฤษฎีไง แม้แต่ในนักรบ ในทหาร ในตำรวจจะออกภาคสนาม เห็นไหม ต้องมีทฤษฎีก่อน มีทฤษฎีแล้วก็ออกภาคสนาม ออกภาคสนามแล้วก็ยังไม่จริง มันไม่ใช่ออกทำงานประพฤติปฏิบัติจริง ออกภาคสนามนั้นก็เอาทฤษฎีนั้นมาวางไว้ภาคสนาม ถึงว่าคำว่า “ออกภาคสนาม” ออกภาคสนามแล้ว ฝึกสนามมาเหงื่อขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ยังไม่ได้ออกรบ ยังไม่ได้ออกทำงานนะ มันยังมีพลิกแพลงไปอีกมากมายมหาศาลเลย

ฉะนั้นว่าถ้าการเราจะเอาระบบมาจับกันเลยนะ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจริตนิสัยมันต่างกัน คนนะจริตนิสัยก็ต่างกัน อำนาจวาสนาก็ต่างกัน แม้แต่พระอรหันต์ในครั้งพุทธกาล เห็นไหม พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระสีวลี พระอะไรหลายองค์ที่คุยกันนะว่า “สิ่งใดดีที่สุด?”

อย่างพระสารีบุตรก็ว่า “ปัญญาดีที่สุด”

อย่างพระโมคคัลลานะว่า “ฤทธิ์ดีที่สุด”

แม้แต่ความเห็นของพระอรหันต์ ถึงสุดท้ายมันไม่ได้พูดถึงความที่เป็นความขัดกันหรอก มันเป็นความถนัดของบุคคล เห็นไหม ความเดินถนัดของบุคคลก็ยึดความถนัดของตัวนี่เป็นแนวทาง ทีนี้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก้นิสัย แก้สันดาน แก้ตัวเองได้หมด ก็เลยวางไว้เป็นระบบเป็นกลาง

นี้ว่าเป็นกลาง ถ้าจะบังคับให้เข้าระบบ ถ้าคนมีนิสัยนะ ถ้าไปทางซ้ายจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าไปทางซ้ายไม่ได้ ให้ไปทางตรงกลางหรือว่าไปทางขวา คนๆ นั้นจะเดินได้ ๑-๒ ก้าวแล้วก็จะหมดอำนาจวาสนาไปเลย

มีอยู่ในครั้งพุทธกาลนะ มี ๒ คนสามีภรรยาไง พระพุทธเจ้าเดินผ่านไปแล้วยิ้ม พระอานนท์เห็นพระพุทธเจ้ายิ้มต้องมีเหตุผล พอตกเย็นก็ถามว่า

“ที่ตอนเช้าพระพุทธเจ้าผ่านไป ยิ้มนั่นเพราะอะไร?”

“สองคนตายายนั้นถ้าแต่เดิมจิตใจเขายังมั่นคงอยู่ เขาได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาจะเป็นพระอนาคามีอย่างต่ำ”

แต่ปัจจุบันนี้พระพุทธเจ้าก็เดินผ่านไป แต่เป็นยาจกเข็ญใจ เพราะเคยเป็นผู้มี เป็นเศรษฐีแล้วเล่นการพนันจนหมดเนื้อหมดตัว หมดเลย พอหมดเลยก็ไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นยาจกขอทานอยู่ มาขอทานเขาอยู่ ก็พบพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เห็นไหม นี่มันไม่ถูกทาง แต่ถ้าเจอครั้งแรกเลยนะ หัวใจมันยังชื่นบานอยู่ คนมีอยู่มีกินมันจะทำไปได้

ทีนี้ถ้าเราปฏิบัติแล้วที่ว่าถามไป พอเราถามขึ้นไปว่า “ทางไหนก็ว่าทางนั้นผิดๆ”

ทางนั้นผิดไม่ผิดมันไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าได้คุยกันหรือยังว่าเขาลงไปในพื้นที่แล้ว เขามาถามปัญหา มันจริงตามข้อเท็จจริงไง ตามข้อเท็จจริงว่าเจออย่างนั้นๆ ความเจออย่างนั้นมันผิดหรือถูกก็ได้ทั้งหมด ความผิดหรือถูกหมายถึงว่าไปเห็นนิมิต เห็นไหม ความเห็นนั้นเห็นจริง แต่เห็นจริง เห็นไหม เพราะเห็นนิมิตจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง ความเห็นจริงเข้าไปประสบจริงไง นี่เวลาออกภาคสนามมันจะประสบจริง ความประสบจริงแล้วยังต้องที่ว่าประสบจริงแล้วข้อเท็จจริงมันจริงหรือเปล่า?

แต่นี่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ พอเราว่าเราปฏิบัติออกนอกแนวทาง ที่ว่าอันนั้นผิดๆ คือว่าต้องเรียนก่อนไง ต้องเรียนก่อน ต้องให้รู้อภิธรรมทั้งหมด ต้องรู้จิตกี่ดวง รู้จิตกี่ดวงทั้งหมด พอรู้แล้วมันเป็นระบบ พอเป็นระบบแล้วเราจะพยายามดัดแปลงตัวเราให้เข้าตรงนั้นไง ให้เข้าตรงนั้นให้ได้ ถ้าไม่เข้าตรงนั้นเราผิดๆ

ถ้าเราผิด การออกพื้นที่จริง ถ้าพื้นที่จริงนะ ไปถึงชนภูเขาทั้งลูกเลย แล้วภูเขาหน้าผาตัด มันไปไม่ได้ ก็ต้องไปทางนี้ นี้จะไปได้อย่างไร? ถ้ามันเบี่ยงซ้ายเบี่ยงขวาไป มันไปได้ เห็นไหม เบี่ยงซ้ายหรือเบี่ยงขวาไป มันไปได้เหมือนกัน แต่ถ้ามันบอกว่าถ้าไปได้ผิด พอผิดนั้นก็ไปไม่ได้เลย ก็จบกัน จบแค่นั้นเอง

แนวทางปฏิบัติ ถ้าเราศึกษามาเป็นสุตมยปัญญา มันเป็นถูกต้องอยู่ สุตมยปัญญาเราต้องศึกษามาให้มีแผนที่ดำเนิน แต่แผนที่มันไม่ละเอียดเท่ากับความจริงหรอก ความจริงละเอียดกว่าแผนที่นั้นอีก ลงไปในแผนที่จะเห็นความจริงว่ามันจะแยกแยะออกไปขนาดไหน แล้วเราจะก้าวเดินอย่างไรให้ถูกต้องไป?

มันถึงว่าตรงนี้ถ้าว่าเริ่มต้นคำว่า “ผิด” เราจะก้าวเดินกันไม่ได้ แล้วพอก้าวเดินไป ทางฝ่ายอภิธรรมจะบอกเลยว่าเราฝ่ายปฏิบัติ ฝ่ายปฏิบัติคือฝ่ายพุทโธ ฝ่ายนั่งกรรมฐานไปเลยเป็นผู้ปฏิบัติโง่ ไปไม่ได้

นี่มันก็สมให้เขาว่า ผู้ที่ปฏิบัติแล้วลงไปในพื้นที่แล้วเจอเห็นจริง แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงไง เห็นจริง เห็นไหม เห็นภูตผีปีศาจนะ เห็นฤๅษีเหาะเหินเดินฟ้า เห็นนรกสวรรค์นะ มันไม่ใช่ทางทั้งหมดเลย มันไม่ใช่

นี่ไปติดตรงนี้ไง แล้วเขาบอกว่าพอนั่งไปนะ ขนพองสยองเกล้า เขามีไง ขนนี่พองหมดนะ เพราะขนพองนี่ เราไปถามเขาว่า “ขนพองนี่เป็นอย่างไร?” ถ้าไปถามเขา เขาบอกว่า “ให้กำหนดไปอารมณ์เดียว นามรูป ทุกอย่างมันจะดับหมด ขนพองดับหมด”

แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ขนพองสยองเกล้าหมายถึงว่าตัวเบาตัวพองนี่ มันลงไปเจอปีติ เห็นไหม ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันเป็นทางผ่าน มันไม่มีในแผนที่หรอก

อย่างมาวัดเราหรือไปที่ไหนก็แล้วแต่ เราไปเป้าหมาย แผนที่ยิงเข้าไปเป้าหมายเลย เห็นไหม ชี้ว่าไปกรุงเทพฯ ต้องไปทางนี้ แต่ผ่านกรุงเทพฯ ต้องผ่านอะไรล่ะ? ผ่านนครปฐม ผ่านพระประโทณ เห็นไหม มันเป็นสิ่งที่ให้เราดูว่านี่เป็นจิตรกรรม นี่เป็นของเก่าของโบราณ นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อนครปฐม เราอยู่ที่นี่ เราจะเข้ากรุงเทพฯ มันต้องผ่านนครปฐม เราก้าวเดินไปถึงนครปฐมจะเข้ากรุงเทพฯ เราก้าวเดินไปกี่กิโลเมตรแล้ว?

การปฏิบัติก็เหมือนกัน ขนพองสยองเกล้านะ จิตมันจะเริ่มเป็นปีติขึ้นมา ความที่จิตมันเข้าไป มันจะผิดตรงไหน? จริงอยู่มันไม่เข้ากรุงเทพฯ มันยังไม่ถึงกรุงเทพฯ มันเป็นนครปฐมไม่ใช่กรุงเทพฯ หรอก แต่การไปถึงนครปฐม ออกจากนี่ไป ๒๐-๓๐ กิโลเมตรแล้ว

พอเดินขึ้นไป จิตมันจะมีอาการขึ้นไป แต่มีอาการอย่างนี้ไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ผิด ถ้าเรื่องที่ผิดต้องกำหนดแล้วปล่อยให้หมดๆ

มันเป็นแค่ข้อเท็จจริงมันจะผิดไปไหน? มันผิดไปไม่ได้ มันเป็นข้อเท็จจริงว่าเราต้องผ่านนครปฐมจริงๆ ไม่ผ่านนครปฐมไปทางไหน? จะเข้ากรุงเทพฯ ไปทางไหนไม่ผ่านนครปฐม? มันต้องผ่านไง

นี่ถึงว่าถ้าลงไปในสนามหรือลงไปในสงครามออกไปข้อเท็จจริงแล้วถึงจะถูก อันนั้นเราถึงว่าเราอย่าพึ่งเชื่อ เห็นไหม กาลามสูตร แม้แต่ว่าเรียนมาอภิธรรมมาว่าถูกต้องๆ เป็นฝ่ายอภิธรรมบอกว่า “ทางฝ่ายเรานี่ปฏิบัติแล้วโง่เง่ามากเลย”

ถามส่วนใหญ่ คนที่จะไปถามเพราะอะไร? เพราะคนที่ไปถามก็คือคฤหัสถ์ นักปฏิบัติด้วยกันก็ไปถาม พอปฏิบัติเข้าไปมันจะเจอตรงนี้ก่อน เจอเรื่องขนพองก่อน ขนพองสยองเกล้าก่อน เจอน้ำตาไหล เจอปีติ สุข แล้วมันก็เห็นนิมิตก่อน

นี่มันเริ่มต้นก้าวเดิน จิตที่เริ่มต้นก้าวเดินไปมันก็ต้องแก้ไขว่าอันนี้ถูกหรืออันนี้ผิดก่อน แต่เห็นมันเห็นจริง แม้แต่หลวงปู่ดูลย์ก็บอกแล้ว “การเห็นนั้นเห็นจริง แต่การเห็นนั้นไม่จริง” มันยังไม่จริงเพราะไม่ใช่กรุงเทพฯ มันก็ผ่านเริ่มแนวทางไป แต่มันต้องแก้ไขไป

นี่การประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องมีก่อน เห็นไหม จากเด็กพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เริ่มต้นว่าผิดๆ แล้วก็ดัดตนให้เดินเข้าไปชนหน้าผาตัดไง ชนหน้าผาตัดแล้วก็ไปอย่างนั้น ไม่มีอะไรเลย ลูบไปหน้าผาตัด ไม่มีอะไรเลย ลูบไปหน้าผาตัด ไม่มีอะไรเลย ผลก็เลยไม่เกิดขึ้นมา เพราะเอาระบบมาจับตายไง เอาระบบมาจับตายว่าต้องเดินอย่างนี้ มัชฌิมาปฏิปทาของเขา แต่มัชฌิมาปฏิปทา การเริ่มปฏิบัติเข้าไปมันก็จะมีอยู่แล้ว เห็นไหม กิเลสตัวขัดขวาง ตัวทำให้ไม่เชื่อ ตัวลังเลสงสัย ตัวกิเลสของเรา

แล้วเข้าไปแล้วตัวนี่เริ่มต้นต่อต้านแล้วนะ แล้วพอทำเข้าไป ความเห็นนั้นกิเลสเข้าไปเห็นอีกแล้ว แต่เห็นเข้าไปเรื่อยๆ เห็นเข้าไปเรื่อยๆ กิเลสมันพาเห็นเข้าไป แต่ธรรมมันเริ่มมีกำลังขึ้นมา กิเลสมันต้องเบาบางลง ความเบาบางลงอันนั้น ถึงว่าจะปฏิบัติผิดได้อย่างไร? แต่มันต้องแก้ไขไปตามข้อเท็จจริงอันนั้น ถึงว่าต้องติดไง

เขาบอกว่า “ไม่ให้ติดครูบาอาจารย์ ให้ติดธรรม อย่าให้ติดตัวบุคคล”

แต่อาจารย์มหาบัวบอก “ต้องติดเลย” เพราะว่าติดธรรม เห็นไหม ศึกษาอาจารย์นะ ยกย่องครูบาอาจารย์ ไม่ได้มาพูดเป็นว่าเป็นลบหลู่ท่าน ท่านพูดจริงๆ ว่า “ท่านเป็นถึงมหา ธรรมที่เรียนเป็นมหา เป็นเปรียญ ๓ ประโยคนี่ต้องเรียนธรรมพระพุทธเจ้าเต็มหัวใจเหมือนกัน ต้องแปลได้ทุกอย่างพร้อม” เห็นไหม ถ้าติดในธรรมมันยังไปไม่ได้

หลวงปู่มั่นถึงบอกว่า “ธรรมอันนี้ประเสริฐมาก เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสื่อที่จะให้เราเกาะไป เราปฏิเสธนี้ไม่ได้เลย แต่ในเมื่อเรายังไม่ถึงตรงนี้ เราต้องวางตรงนั้นก่อนแล้วเราปฏิบัติไปตามข้อเท็จจริง ประสบสิ่งใดตามข้อเท็จจริง จิตมันไม่รวมๆ อย่างไร? รวมๆ อย่างไร? เห็นๆ อย่างไร? เห็นผิดหรือเห็นถูก? ความเห็นอันนั้นก็ดัดแปลงตนเข้าไปเรื่อยๆ”

แล้วถ้าไม่มีบุคคล หลวงปู่มั่นเป็นคนชี้นำ ถึงว่าต้องติดก่อน ติดผู้ที่รู้จริง แต่ถ้าไปเห็นของที่ไม่จริงนั้น พอไปเห็นไม่จริง เพราะเขาก็ไม่รู้ แผนที่ก็แผนที่กางกัน พอแผนที่ก็แผนที่กางกันก็ต้องเถียงกัน พิกัดนั้นก็คนเราเอาภูมิหลังของตัวและความเห็นของตัวต้องมาพิจารณา

อันนั้นก็เลยว่าพูดแต่สิ่งที่ไม่เคยเห็น วิจารณ์สิ่งที่ไม่เคยพบ ทำอะไรไม่เคยเห็นไม่เคยพบไม่เคยรู้เข้ามา ก็เอาแต่ทฤษฎีนี้มาเป็นข้อวิจารณ์กัน อันนั้นก็ต้องเถียงกันไป ผู้ที่ได้ประโยชน์มาก็ได้แค่แผ่นกระดาษนั้นมาไง ได้แค่แผ่นกระดาษนั้นมา เหมือนกับการศึกษาเลย ศึกษามาเพื่อเอากระดาษแผ่นเดียว แล้วศึกษามา เห็นไหม คนที่ศึกษาไปแล้วจบเหมือนกัน แต่ประสบความสำเร็จจะมีกี่คน?

นี่ก็เหมือนกัน เราถึงว่าเราประพฤติปฏิบัติ มันเป็นแนวทางที่บีบรัดเข้ามา พวกเราโอกาสมันจะน้อยไง เพราะผู้ที่ว่าเดินตามครูบาอาจารย์ มันจะเดินไปด้วยความก้าวขาไม่ออก

๑. ติดตัวบุคคล

๒. ไม่ศึกษาธรรมะให้แน่ชัดก่อน

แล้วจะเดินไปไม่หลงทางหรือ?

พอพิจารณาไป พอเจอเหตุการณ์ที่ว่าขนพองสยองเกล้า ตัวเบาตัวพองขึ้นมาก็ว่าอันนี้ผิดทางแล้ว ไม่ต้องถามๆ เลย ผิดอยู่แล้วๆ พอจะเริ่มก้าวเดินนครปฐมก็ดึงกลับมาก่อน มาตั้งต้นใหม่ จะเข้ากรุงเทพฯ นะ ดึงกลับมา อย่าไป ผิดๆ ต้องมาตั้งต้นใหม่ ก็ย่ำเท้าอยู่ตรงนี้ แล้วก็ไม่ได้อะไรเลย แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ว่าอันนี้เป็นผล เป็นผลที่ว่าเพราะรู้จริง แล้วเป็นผลเพราะอะไร?

เป็นผลเพราะมันไม่เกิดอะไรเลยไง ถูกต้อง...ถูกต้องเพราะว่ามันเป็นนามรูป มันต้องว่างหมดๆ ว่างหมดก็ไม่ต้องก้าวเดิน แล้วผลล่ะ? ผลปรารถนาได้อย่างไร? เพราะว่าอริยภูมิต้องสร้างสมบารมีมาแสนชาติ ต้องกี่กัปๆ เห็นไหม เราพึ่งเกิดมาชาตินี้ เราจะมีผลได้อย่างไร?

แค่นี้มันก็ทำให้เราไม่กล้าเอามือไปรับผลแล้ว เห็นไหม พวกเรา เราพึ่งเกิดมา เรามีวาสนาบารมีอย่างนั้นเหรอ? มันตัดทอนตนเองทั้งหมดไง ตัดทอนตัวเองจนเราก้าวเดินก็จะก้าวเดินไม่ได้ จะก้าวเดินก็มีกิเลสของเราเป็นตัวคัดตอนอยู่แล้ว แล้วพอจะก้าวเดินเข้าไปก็เราไม่มีวาสนาบารมี เราต้องสะสมแต่วาสนาบารมีไป คือภาวนาแบบอย่างนี้ไป ทั้งๆ ที่ว่าเบี่ยงซ้ายหรือเบี่ยงขวาหน่อยหนึ่ง มันจะได้ประโยชน์ขึ้นมามหาศาลเลย ไปไม่ได้...ต้องเดินตามระบบเดินตามกรอบไปเหมือนระบบราชการเลย บิดไม่ได้เลย ต้องไปตามนี้ตามตัวอักษรเลย

นั้นเป็นสุตมยปัญญา เราเป็นพวกที่ว่ามีครูมีอาจารย์ เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา แล้วจะเจริญภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นจากคนที่ว่ามัชฌิมาปฏิปทา หมายถึงเบี่ยงหลบออกไปตามข้อเท็จจริง ตามข้อเท็จจริงนั้นคือประสบการณ์ตรงของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นได้หลบได้เบี่ยงออกไป พอเบี่ยงออกไปเกิดความรู้เห็นต่างๆ ขึ้นมาที่แปลกประหลาดจากโลก แปลกประหลาดจากการเดินเอาหัวชนภูเขา เอาหัวชนภูเขามีแต่หน้าแตกแล้วก็เลือดออกเท่านั้น แต่เบี่ยงซ้ายเบี่ยงขวาไปเกิดประสบการณ์ใหม่ อ๊ะ...ภูเขานี้มันอยู่ตรงนี้ เราลัดเลาะไปได้ ความลัดเลาะไปได้นี่ความประสบการณ์ตรงเกิดขึ้น ความเกิดขึ้นเราได้ดื่มรสลิ้มรสของธรรมลึกเข้าไปๆ

เห็นไหม ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงของจิตแต่ละดวงที่ภาวนาเข้าไป จิตแต่ละดวงที่ภาวนาเข้าไปเกิดภาวนามยปัญญาอันนี้แก้ความลังเลสงสัยของตน ความลังเลสงสัยของตนก็เป็นสังโยชน์ตัวหนึ่ง เห็นไหม วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เห็นไหม ความไม่ลูบคลำศีล แล้วความที่มันยึดมั่นถือมั่นอยู่ไหนมันก็จะแยกเข้าไป

นี่ภาวนามยปัญญาเกิดเฉพาะจิตดวงนั้นไง ภาวนามยปัญญาถึงไม่ใช่สมบัติกลาง สุตมยปัญญา จินตมยปัญญานี้เป็นสมบัติกลางเพราะจดจำหรือศึกษาออกมาจากตำรับตำรา จากกระดาษแผนที่นั้นแล้วจำมา เป็นความจำทั้งหมด ถึงเป็นสุตมยปัญญา คือศึกษาออกมาจากพระไตรปิฎก ศึกษาออกมาจากครูบาอาจารย์เทศน์ให้ฟังแล้วจำไว้นั้นคือสุตมยปัญญาทั้งหมด ใคร่ครวญขึ้นมาเรื่อยๆ ใคร่ครวญจนมีความกล้า ใคร่ครวญเรื่อยๆ ใคร่ครวญนั้นจินตมยปัญญา สุตมยปัญญาแล้วเกิดจินตมยปัญญา สมาธิเกิดขึ้น ความลงใจเกิดขึ้น สติตั้งมั่นขึ้น มรรคมันก็เกิด

มรรคมันจะเกิดต่อเมื่อจิตดวงนั้นมันตั้งมั่น เห็นไหม แล้วมันศึกษา มันมั่นใจของมัน มันเห็นจริงไง จินตมยปัญญาเกิดขึ้นมาก็ลึกเข้าไปๆๆ ก็เป็นภาวนามยปัญญา รู้จักหลบหลีกประสบการณ์ตรงนะ

ภาวนามยปัญญาถึงเป็นสมบัติส่วนตนไง เป็นสมบัติเฉพาะจิตดวงนั้น จิตดวงไหนภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นจากดวงนี้ สมุจเฉทปหานชำระกิเลสจากใจดวงนั้น ดวงที่ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นนั้น ภาวนามยปัญญาถึงว่าเป็นของจิตดวงนั้น เป็นของของบุคคลไง นิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นนิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่วาสนาตั้งตนเป็นผู้สั่งสอน ถึงวางศาสนาไว้แล้วเป็นผู้ชี้นำ รู้แจ้งโลกนอกโลกใน นิพพานของพระสารีบุตรก็เป็นนิพพานของพระสารีบุตร เห็นไหม สื่อได้ สื่อบอกกันได้

แต่ภาวนามยปัญญาอันจริงอันนั้นอันชำระกิเลสถึงเป็นของบุคคลนั้น บุคคลนั้นเข้าถึงธรรมจริง ถึงว่าเหมือนกัน เหมือนกันด้วยสัจจะความจริง แต่เคารพครูบาอาจารย์ด้วยสุดหัวใจเพราะว่าเป็นผู้ชี้นำ แล้วมันจะแปลกประหลาดมหัศจรรย์ลึกลับว่ามันเป็นไปได้อย่างไรที่คนจะรู้ได้อย่างนี้ พระไตรปิฎกนี่เป็นตู้ๆ นะ สมัยพุทธกาลท่องจำกันมา มันมหัศจรรย์ขนาดไหน?

ความมหัศจรรย์ของที่ว่าจำพระไตรปิฎกมา สวดมา จำมาตลอด จำมาได้ตลอด แต่เวลาผู้ที่จำได้ เก่งมาก ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม “คัมภีร์เปล่า! คัมภีร์เปล่า! ใบลานเปล่า!” ความมหัศจรรย์อันนั้นมันยังเป็นของเปล่าๆ

แล้วความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นจากหัวใจ มันชำระกิเลสเป็นของบุคคลนั้น มันมหัศจรรย์กว่านั้นหลายเท่านัก มันถึงไม่ใช่ของเปล่าๆ มันถึงเสมอกันไง ความสะอาดบริสุทธิ์เสมอกัน มันถึงไม่ใช่คัมภีร์เปล่า ไม่ใช่การจำเปล่าๆ

มันถึงว่าเริ่มต้นตรงที่ว่าเราจะเชื่อเรา แล้วเราเชื่อครูบาอาจารย์ของเรา เขาจะคิด เขาจะว่าอย่างไร เขาจะบอกว่าผิดหรือไม่ผิดนั่นเรื่องของเขา แต่เรื่องของเรา เราต้องยึดของเรา เขาว่าไม่ยึดครูบาอาจารย์ก็เรื่องเขาว่าไป แต่เราจะยึด...ทำไม?

เราจะยึดครูบาอาจารย์ของเรา เพราะครูบาอาจารย์ของเรา เรามั่นใจครูบาอาจารย์ของเรา แล้วครูบาอาจารย์พูดสิ่งที่ว่าเราไม่รู้ พูดสิ่งที่ว่าแม้แต่ในตำราก็ไม่มี ในตำราไม่มี ฟังสิ! ขนาดว่าจำมาทั้งหมดยังเป็นของเปล่าๆ คัมภีร์เปล่าๆ แต่เวลาเข้าไปประสบมันไม่เจอ

แต่อันนี้ท่านพูดออกมา ท่านศึกษาออกมา แล้วท่านชี้นำออกมา มันสิ่งที่ว่าท่านรู้จริงเห็นจริง แล้วยังกล้ายืนยันด้วยว่าธรรมะในความเป็นจริงเป็นธรรมะในทะเลหลวง เห็นไหม ถ้าเป็นป่าก็เหมือนเป็นป่าทั้งป่า ไม่ใช่ธรรมะที่ว่าเป็นไม้เป็นกำๆ มา น้ำในตุ่มในไหเป็นจำกัดแค่นั้น แล้วต้องพูดแค่นั้นนะ พ้นจากนั้นไปไม่ได้ แล้วเราก็เดินตามระบบอันนั้น แล้วเราไปเชื่อเขาได้อย่างไร?

แต่ครูบาอาจารย์ของเราชี้หมดเลย หมดตรงไหน? หมดที่ว่าแม้แต่หมดหัวใจได้ หมดความสกปรกของใจได้ ถ้าหมดความสกปรกของใจแล้ว มันหมดไปแล้ว เพราะว่าเราไม่เคยทำ เราก็ต้องลังเลสงสัย ความลังเลสงสัย พึ่งทำๆ ก็เชื่อ เชื่อทุกคนนะ ผู้ปฏิบัติ...เชื่อ

แต่ความเชื่ออันไหนมันก็ต้องมีความลังเลสงสัย จะพ้นความลังเลสงสัยต่อเมื่อถึงธรรมอันนั้น ภาวนามยปัญญาเกิดแล้วสมุจเฉทปหานอวิชชาออกจากใจดวงนั้น อวิชชาคือความไม่รู้ไง ถ้าความไม่รู้ มันไม่รู้ถึงแก่นมันต้องสงสัย

ฟังสิ! เราไม่รู้เรื่องกาย พอพิจารณากายขาดมันก็ขาดออกไป พอขาดออกไป เอ้ย...มันขาดได้ตามความเป็นจริง หลุดออกไปเลยนะ หลุดออกไปเห็นชัดๆ นะว่ากายอยู่นั่น จิตอยู่นั่น ทุกข์อยู่นั่น แยกออกโดยธรรมชาติของมันเลย เห็นไหม มันไม่ใช่หัวชนภูเขาหรอก มันไปได้ มันผ่านไปได้ เข้าไปนี่มันแยกออกๆ กายกับจิตแยกออกจากกัน ขาดออกจากกันนะ จิตเป็นจิต กายเป็นกายแยกออกจากกัน

ทีนี้พอจิตล้วนๆ เข้าไปพิจารณา เห็นไหม เป็นกามราคะทั้งหมดเลย พิจารณากามราคะจนกว่ากามราคะนี่มันหลอกใจ อ๋อ...มันหลอกอย่างนี้ มันซึมออกมาจากใจแล้วมันหลอกใจเอง เพราะกามมันเสพที่ใจ ใจมันคิดใจมันเสพเอง มันถึงออกมายุ่งกับเรื่องข้างนอก มันชำระกามนั้นออกไป แล้วพอกามขาดออกไปจากใจ เห็นไหม แล้วนี่คือตัวอวิชชา

นี่ไง ตัวที่ว่าสงสัยไปทุกๆ เรื่องไง ตัวอวิชชานี่มันพ้นเข้าไปอีก เข้าไปชำระไอ้ตัวที่ว่าซึมออกมาจากใจมาเป็นกามราคะ ขาดออกตรงนั้น ความลังเลสงสัยถึงไม่มีไง ในพระไตรปิฎก เห็นไหม ผู้ที่ว่าไม่สงสัยในธรรมในวินัยนั้นคือผู้ที่ว่าหมดจากอวิชชา ผู้ที่ไม่สงสัย มีพระหลายองค์เลยพูดว่า “เราไม่สงสัย” พอพระได้ยินก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าถามปั๊บ “จริงไม่จริง?” ถ้าจริงก็ยกว่าอันนี้จริง ถ้าไม่จริง...ต้องจับสึกทันที เพราะถือว่าเป็นการอวดตน ถ้าไม่ลังเลสงสัยนี้ถือว่าถ้าผิด ถ้าไม่จริงนี่อวดอุตตริ เพราะตัวเองไม่มี เพราะสมัยก่อนนะละเอียดอ่อนมาก คำพูดนี่จะพูดที่ว่านิ่มนวลมาก คำพูดที่แปลงออกไปที่เจตนาให้เขารู้ว่าตัวเองจะสิ้น นี่พูดออกไป แล้วไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพูดแค่นั้นละอายใจ สึกๆๆ จับสึกหมดนะ

ผู้ที่ไม่สงสัยในธรรมวินัยนั้นคือที่ว่าผู้พ้นจากกิเลสทั้งหมด แล้วครูบาอาจารย์ชี้พ้น ชี้ถึงเดี๋ยวนี้ ชี้ถึงหลุดพ้นๆ ชี้หลุดพ้นนะ แล้วท่านก็มรณภาพไปแล้ว เผาแล้วเป็นพระธาตุทั้งหมด

ถึงว่าถ้าบอกว่า “ไม่ติดในครูบาอาจารย์นั้น” เขาพูดไป แต่ถ้าเราติดเราได้ประโยชน์มาก เราได้ประโยชน์ตรงไหน? มีสิ่งใดข้องใจมา ท่านฟันโชะ! ขาด ท่านฟันโชะ! ขาด เห็นไหม ท่านปลดเปลื้องให้ได้หมด กับถ้าเราใช้ความคิด ๕ ปีความลังเลสงสัยอันนี้ปลดออกจากใจไม่ได้ อุ่นๆๆ คิดอยู่อย่างนั้น เมื่อไหร่มันจะหลุดสักที เมื่อไหร่จะเข้าใจสักที อุ่นคิดอยู่ ๕ ปี ๑๐ ปีจริงๆ

นี่ไง ความต่างของใจที่ว่าไม่เท่ากัน วุฒิภาวะของใจต่ำสูงต่างกันอย่างนี้ไง อีกคนหนึ่งเข้าใจแล้ว อีกคนหนึ่งใช้ความคิด ๔ ปี ๕ ปีถึงจะเข้าไปถึงอันนั้น นั่นถึงว่าถึงครูบาอาจารย์ชี้มันจะย่นเวลาเข้ามา เราไม่ต้องเสียเวลา การที่ว่าติดครูติดอาจารย์นั่นเขาจะว่าอย่างไรให้เขาว่า เราควรติดนะ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราที่เรามั่นใจ

แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ว่าดูใกล้ๆ ศีลจะรู้ได้ด้วยการอยู่ใกล้เคียงกัน... (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)