เทศน์เช้า

ความจริงไม่ใช่อัตตา

๕ ม.ค. ๒๕๔๓

 

ความจริงไม่ใช่อัตตา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นของมีจริง มีจริงอยู่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ถึงเป็นพระพุทธเจ้า ตรัสรู้ในพระธรรม แล้วในอริยสงฆ์นั้น พระอัญญาโกณฑัญญะองค์แรกเป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม ถึงเป็นความจริงไง

รัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นของจริง แต่จริงในสำหรับจริงมันก็มีขั้นตอนของความจริงไง ขั้นตอนของความจริงนะ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม พระอัสสชิมีดวงตาเห็นธรรม ปัญจวัคคีย์มีดวงตาเห็นธรรม แล้วถึงสอนอนัตตลักขณสูตร ถึงจะถึงธรรมจริงไง นั่นน่ะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม ในอริยสงฆ์นั้นมันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปถึงเป็นอริยสงฆ์ นี่ถึงเป็นขั้นเป็นตอน

นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานน่ะ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ความสุขนั้นมีจริง เห็นไหม ความมีจริงน่ะความสุขอย่างยิ่ง ความสุขอย่างนี้มันมีจริงอยู่ ความจริงอันนี้เป็นความจริง ในเนื้อหาความจริงนั้นเป็นความจริงของจริง ที่ว่าเป็นวิมุตติ นี่พูดกันไม่ได้ แต่นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ความสุขอย่างยิ่ง สุขนี้เป็นแค่เครื่องหมายบอกให้รู้ เป็นความบอก เป็นสมมุติ แต่เป็นสมมุติบอกว่าเป็นว่า นิพพานนั้นมีจริง ความจริงอันนี้ไง ถึงไม่ใช่อัตตา

ถ้านิพพานเป็นอัตตานะ ความที่เป็นอัตตานี้เป็นกิเลส อัตตานี้เข้ากับนิพพานไม่ได้ไง

นี่ความจริงอย่างยิ่ง เห็นไหม ความจริงอันนั้นมันเป็นความจริงที่ว่าจริงโดยบริสุทธิ์สุดส่วน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงเป็นแก้วสารพัดนึก เห็นไหม เป็นของที่มีจริงอยู่ พระธรรม เห็นไหม พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไม่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าในกัปเรานี้ ๔ องค์ พระสมณโคดมเป็นองค์ที่ ๔ นี่ตรัสรู้ในธรรมอันนั้นไง ธรรมอันของเดิมนั่นน่ะ ถึงว่าพระธรรมก็มีจริงอยู่ พระพุทธเจ้ามีสิ มีถึงมีจริงอยู่ มีจริงแล้วถึงว่า เกิดพระพุทธ พระธรรม ถึงได้มีศาสนาพุทธเรามา

แต่พระอริยสงฆ์นี้ก้าวเดินเข้าไปถึงธรรมจริง ถึงความจริงมันถึงเป็นขั้นเป็นตอน มันไม่จริงโดยความจริงเสมอกัน เห็นไหม แต่นิพพานอันนี้จริง จริงอันนั้นจริงสุดๆ เลย แต่อัตตาเป็นกิเลส กิเลสตรงไหนล่ะ? อัตตาเป็นกิเลส มันถึงเข้ากับนิพพานไม่ได้ นิพพานนี้เป็นนิพพาน อัตตาเป็นอัตตานะ อนัตตานี้ยังแค่แปรสภาพไป อัตตานี้เป็นกิเลส เป็นความจริงอันหนึ่ง ถ้าอัตตานี้เป็นความจริงเลย เป็นความจริง จริงในสมมุติไง สมมุติสัจจะ

มานะ ๙ มานะทิฏฐิ เห็นไหม เป็นมานะเป็นทิฏฐินี้เป็นอัตตา ความอัตตาของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน อัตตาบางคนแน่นหนามาก อัตตาบางคนก็ยังอ่อน อัตตาบางคนไม่ค่อยเข้มงวดไง แต่มีด้วยกันเหมือนกัน ขณะที่หยาบๆ นี่มันเป็นการยึดมั่นถือมั่นมาก แล้วปล่อยวางเข้าไปๆ แต่มีหมด เพราะมันนอนเนื่องในสันดาน นี่อนุสัยนอนเนื่องอยู่ในสันดานอยู่แล้ว ฉะนั้น ความยึดมั่นถือมั่นมันมีโดยธรรมชาติของมัน

ความรู้ความเห็น เห็นด้วยอัตตา เห็นด้วยสมมุติสัจจะ สัจจะ คำว่า “สัจจะ” สมมุติก็เป็นสัจจะ สมมุติมีจริง แต่มีจริงชั่วคราวไง มันถึงเกิดดับๆ อัตตานี้ถึงเกิดดับๆ อัตตานี้ถึงเข้ากับนิพพานไม่ได้

นิพพานไม่ใช่อัตตาและไม่ใช่อนัตตา

ถ้านิพพานยังเป็นอัตตาอยู่ ความเห็นของเขาว่านิพพานนั้นเป็นอัตตาอยู่ ถ้านิพพานนั้นเป็นอัตตา คือว่าเขาว่ามีจริงแล้วมีแต่อัตตา...มันคนละจริงกัน ความจริงไม่ใช่ความจริงอันนี้ ความจริงอันนั้นคือความจริงที่มันว่างเปล่า ความจริงที่ว่างเปล่าแต่มีอยู่ เพียงแต่สมมุติให้เห็นว่ามีอยู่เท่านั้นเอง แต่อัตตานี้ไม่ใช่มีอยู่ มันเป็นวัตถุก้อนหนึ่งเลยนะ เหมือนก้อนหิน เหมือนภูเขา เราชนเข้าไปนี่มันถึงว่าหัวร้างข้างแตกเลย เพราะเราเอาหัวชนภูเขาชนก้อนหิน

ความคิดในหัวใจ พอใจมันกระทบถึงความรู้สึกที่เรายึดมั่นถือมั่น เห็นไหม นั่นมันกระทบกัน มันก็มีความทุกข์ไหม นี่ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอัตตาความยึดมั่นถือมั่นของเรา ความยึดมั่นถือมั่นในหัวใจไง ความเห็นว่าผิดเห็นว่าถูก อันนั้นคืออัตตาของเรา ถ้าไม่มีอัตตา เห็นไหม ไม่มีสิ่งที่กระทบหมดเลย มันว่างไปหมด คือว่ามันทำลายอัตตานุทิฏฐิในหัวใจนั้นแล้ว นี่นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ...สุขํ ตรงที่ว่าไม่มีอะไรที่กระทบมันได้ มันเวิ้งว้างไปหมดใน ๓ โลกธาตุ ไม่มีเชื้อไม่มีไขที่พาให้ไปเกิดไง

อัตตาคือตัวจิต ตัวจิตปฏิสนธินั้นพาเกิดพาตาย เกิดในพรหมนะ ขันธ์เดียวนั้นก็ยังเป็นอัตตาของพรหมอันนั้น เป็นผู้ที่เป็นพรหมนั้นถึงมีอัตตาอันนั้น พออัตตาอันนั้นมันก็เกิดตรงนั้น เห็นไหม เป็นอัตตาในบุญกุศลเกิดในเทวดานั่นก็เป็นอัตตา

ทีนี้อัตตามันถึงไม่ใช่ เข้ากับนิพพานไม่ได้ นิพพานมันไม่มีอัตตา มันเวิ้งว้างจนที่ว่าไม่สามารถกระทบได้ หาไม่ได้ มารหาพระอรหันต์ไม่เจอไง เวลาพระอรหันต์นิพพานไป มารตามหาตัวนั้นไม่เจอ เห็นไหม มารตามหาหมด ค้นคว้าหา หาก็หาไม่เจอ เพราะอะไร เพราะมันไม่มี

ถึงเป็นความสุขอย่างยิ่ง ความสุขนี้เป็นสัจจะ เป็นความบอกไว้ว่านิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่งเฉยๆ มันคนละจริงกันไง ถ้าเห็นว่ามีจริงแล้วมันพยายามจะรวมกัน ประเด็นมันก้ำกึ่งกัน พยายามจะเคลม ถ้ามีจริงต้องมีแบบอัตตาสิ เพราะอัตตามีอยู่ เห็นไหม

อัตตาเป็นกิเลส นิพพานเป็นวิมุตติ เป็นธรรม ธรรมกับกิเลสเข้ากันไม่ได้

พอเข้ากันไม่ได้มันถึงว่าเป็นอันเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้น ถ้ามีอยู่ นี่มันเป็นความว่างเฉยๆ เป็นความว่าง เป็นในสมาธิเฉยๆ ปล่อยวางเข้าไปๆ แต่ปล่อยวางเข้าไปมันก็มีของมันไปเรื่อย นี่มันก็ว่ามันมีอยู่ ความรู้สึกอันนั้นมีอยู่ นี่ถ้าพูดอย่างนี้ ถ้าคนว่านิพพานยังมีอยู่ ความเวิ้งว้างยังมีอยู่นั้น ไม่ได้ชำระกิเลสแม้แต่นิดหน่อยเลย ไม่ได้ชำระกิเลสออกไปแม้แต่น้อย เพียงแต่ว่าเป็นหินทับหญ้าไว้ ทำเอาความสงบเวิ้งว้างไว้ๆๆ เพราะมันมีอยู่ เรารู้สึกอยู่ เหมือนกับว่าวมีเชือกสายป่าน ว่าวอยู่บนอากาศ แต่สายป่านดึงบังคับได้ ว่าวนั้นบังคับด้วยสายป่านของว่าวนั้น ว่าวถึงไม่เชือกขาด ถึงบังคับไปได้ นี่ไงมันเป็นอัตตา

ความรู้สึกอันนี้มันมีอยู่ มันถึงว่าเป็นความเป็นไปอยู่ แต่ถ้ามันเป็นความจริงของมันแล้ว ความรู้สึกอันนี้มันจะหายไป ความรู้สึกอันนี้หายไปตรงไหน มันไม่หายไปลอยลมหรอก มันหายไปด้วยวิปัสสนาญาณไง มันหายเข้าไปด้วยปัญญาขุดคุ้ยหาเข้าไป เพราะมันเป็นนามธรรม แต่มันเกิดดับๆ เพราะทำลายอัตตาอันนั้นล่ะ มันถึงจะชำระจางไปๆ ต้องทำลายอัตตาความยึดในใจอันนั้นนะ

ทีนี้ทำลายอัตตา อัตตานี้มันเป็นเหมือนภูเขา มันทำลายไม่ได้ มันถึงทำลายด้วยแยกออกเป็นขันธ์ ๕ หรือเป็นกาย ล่อออกมาไง เป็นกาย กายนี้มันแปรสภาพโดยธรรมชาติของมัน

แล้วความเห็นของธรรม กิริยาของธรรม เห็นไหม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมที่เริ่มแปรปรวนออกไป แต่เราสร้างสมขึ้นมา นี่แปรปรวนหมายถึงว่ามันเป็นอนัตตา แปรปรวนมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันเกิดขึ้นแสนยากที่จะเกิดขึ้นในใจของเรา เห็นไหม ทำฐานขึ้นมาให้ได้ก่อน เป็นสัมมาสมาธิให้ได้ก่อน แล้วยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในกายในจิตนั้น ในสติปัฏฐาน ๔ นั้น นั่น! ถึงตรงนั้นมันถึงไปทำลายกันได้จริง

ทำลายมันต้องทำลายกันจริงๆ มันเป็นการเป็นงาน เป็นงานที่ว่า งานนี้เห็นยิ่งกว่างานทางโลกนะ งานทางโลกเราทำขึ้นมานี่เป็นวัตถุ เราจับต้อง มันมีการสิ้นสุดของงานนั้น เห็นว่าความสำเร็จเป็นผลงาน เห็นเป็นผลงานไปสำเร็จไปเป็นชิ้นเป็นอันไป แต่การวิปัสสนามันปล่อยวางไป มันปล่อยวางไปแล้วมันเป็นชิ้นเป็นอันไหม? มันยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะว่ามันปล่อยไปเรื่อยๆ

มันปล่อยคือว่า ปัญญามันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความเป็นอนัตตา อนัตตามันแปรสภาพในตัวมันเอง ถ้าเราไปรู้ทันเข้ามันก็ปล่อย นั้นเราไปรู้ทันอนัตตานี่ แต่เราต้องสร้างขึ้นมาด้วยความเท่าทัน เห็นความแปรสภาพไป

เราอยู่ในงานนั้น เห็นงานนั้น นั่นน่ะมันปล่อยวางๆ การปล่อยวางนี้ปล่อยวางชั่วคราว ปล่อยวางไปเรื่อยๆ การปล่อยวางไปเรื่อยๆ นี่มันเริ่มอ่อนตัวลง การอ่อนตัวลงด้วยมานะทิฏฐิ นี่อัตตาอันนั้นน่ะ อัตตานั้นเริ่มคลอนแคลนไง

อัตตานี้มันยึดมั่นถือมั่นนะ พอเริ่มคลอนแคลนขึ้นมา วิปัสสนาเข้าไปๆ เป็นชิ้นเป็นอันต่อเมื่อมันสมุจเฉทปหานไง มันขาด ขาดออกไปนี่งานจบสิ้นเป็นการเป็นงาน งานชิ้นส่วนหนึ่ง งานอันหนึ่งเสร็จสิ้นไป ความเสร็จสิ้นไปมันเห็นเสร็จสิ้นไปเพราะว่ามันแยกออกจากกันแล้ว สิ่งที่ว่ามันเจือกันอยู่นั่นมันหลุดออกไปหมด นั่นคือการสิ้นสุดของงานนั้น นั่นน่ะ อัตตาหลุดออกไป

ในสักกายทิฏฐิไง อัตตาในสักกายทิฏฐิ อัตตาในกายนี้กับจิตนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมันแยกออกไป นี้คือเป็นผลงานที่สิ้นสุดโครงการหนึ่ง คือเห็นเป็นโครงการหนึ่งเหมือนงานของโลก แต่งานของโลกมันทำกัน มันไหว้วานคนอื่นทำได้ใช่ไหม เราเป็นเจ้านาย เราเป็นเจ้าของงาน เราวานให้คนอื่นทำให้ เราจ้างคนอื่นทำได้ คือว่างานของโลกทำแทนกันได้ งานของโลกไม่มีที่สิ้นสุด มันทำแทนกันได้

แต่งานของใจไม่มีใครทำแทนกันได้เลย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ใจดวงนั้นเป็นที่เข้าไปสัมผัส แล้วสัมผัสจะรู้เป็นปัจจัตตัง ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน เห็นตามความเป็นจริงว่ามันหลุดออกไปจริงๆ ใจดวงนั้นถึงชำระใจดวงนั้นได้ แล้วก็เถิบขึ้นไปสูงขึ้นไปๆ จนถึงพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม นี่เห็นธรรมตรงนี้ไง เห็นธรรมจึงเข้าถึงธรรม

พอจับธรรมนั้นได้ นี่เป็นขั้นเป็นตอน ความจริงอันนี้เป็นความจริงส่วนหนึ่ง ความจริงที่ว่าไม่แปรปรวนส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นความจริงทั้งหมด ถ้าเป็นความจริงทั้งหมดน่ะขยับขึ้นไปๆ วิปัสสนาขึ้นไปเรื่อยๆ นี่ความจริงมันจะประจักษ์กับใจไปเรื่อยๆ ความจริงจะประจักษ์ขึ้นมา

ทีนี้ ความจริงอันนี้เป็นความจริงแท้ ความจริงแท้มันก็เป็นเพียงแต่ว่า ผู้ที่รู้จริงถึงสื่อออกมา พอสื่อออกมา ความสื่ออันนั้นไง มันเป็นอริยสัจ เห็นไหม อยู่ในอริยสัจ กลั่นมาจากอริยสัจ ในสมมุติสัจจะก่อน ในการลูบคลำขึ้นไป แล้วเป็นอริยสัจ ความจริงอันนั้นถึงเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงอันนั้นมันสื่อออกมาเพื่อให้เข้าใจ ไม่ใช่ความจริงอันนั้นมาเป็นอันเดียวกับอัตตา

อัตตานี้เป็นความจริงแท้ๆ เลย ความจริงในสมมุติเลย มันคนละอันกันกับนิพฺพานํ ปรมํ สุขํ...นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ความสุขอันนั้น เห็นไหม เอาอันนั้นมาเป็นความสุข คนถ้าไม่รอบคอบนะ ความสุขอันนั้นมันก็เป็นเวทนาขันธ์ เห็นไหม สุขเวทนา ทุกขเวทนา นี่มันก็เป็นอันหนึ่ง แต่ในเมื่อคำพูดนั้นเป็นคำพูดเพื่อยืนยันความมีอยู่เฉยๆ ความจริงที่มีอยู่ แต่ไม่ใช่ยืนยันความจริงในเนื้อหาสาระ เนื้อหาสาระเป็นเนื้อหาสาระ แต่ความจริงที่ยืนยันมานี้เพื่อให้เรามั่นใจไง ให้ชาวพุทธมั่นใจในธรรม ให้ชาวพุทธตั้งใจ ตั้งใจ

พอตั้งใจนี่ ถึงว่าไม่ใช่เวทนา สุขเวทนา ถ้าเอาสุขเวทนาไปจับกับ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ สุขอันเดียวกันนี่ มันทำให้ว่าจับต้องได้ไง...สุขโดยที่ว่าจับต้องไม่ได้ เพราะสุขอันนั้นเป็นสุขของจิต ไม่ใช่สุขของขันธ์ ขันธ์มันขาดออกไปหมดแล้ว จิตมันยิ่งเป็นอัตตาลึกเข้าไปเรื่อยๆ เห็นไหม อัตตาลึกเข้าไปเรื่อยๆ จนทำลายอัตตาตัวนั้นออกไป ทำลายอัตตาตัวนั้นออกไปจนอัตตาตัวนั้นมันไม่มีเลย นี่โลกนี้ว่างอยู่ แต่ผู้ที่เห็นโลกนี้ว่างอยู่ เห็นไหม ทำไมอัตตานุทิฏฐิอันสุดท้ายนู่นน่ะ มันถึงหลุดออกไป พ้นออกไปจากเป็นอัตตา ในความเป็นอนัตตา ถึงมีอยู่ มันมีจริง แต่ไม่มีอยู่แบบอัตตา นี่ธรรมมันเป็นอย่างนั้น

นี่ฟังธรรมไง ถ้าฟังธรรม เราพื้นฐานของธรรม ฟังธรรมนี่สุดท้าย บุญกุศลของการฟังอันสุดท้ายคือจิตนี้ผ่องใส จิตนี้ผ่องใสคือความเข้าใจทะลุปรุโปร่ง แต่เริ่มต้นมันก็มีความลังเลขึ้นไปก่อน แล้วเราเอาความรู้ของเราเข้าไปจับเข้าไปต้อง มันยิ่งงงยิ่งลังเลเข้าไป เห็นไหม แต่ถ้าปฏิบัติมันจะเห็นเข้าไปเรื่อยๆ เห็นเข้าไปเรื่อยๆ จนกว่าเข้าใจ

นี่ความเข้าใจ ว่าความเข้าใจ...ความเห็นจริงต่างหาก ความรู้แจ้งต่างหาก ไม่ใช่ความเข้าใจ

ความเข้าใจคือความรู้อันหนึ่ง แต่ความรู้แจ้งจนเห็นชัด เห็นชัดจนไม่มีอะไรจะหลอกได้ มันถึงอ๋อขึ้นมาไง อ๋อขึ้นมาก็ปล่อยผลัวะออกไป นี่การฟังธรรม ปล่อยผลัวะออกไป พอปล่อยออกไป สิ่งที่ขาดออกไปพร้อมกับการปล่อยอันนั้นมันจะรู้เท่าทันทีเลย นี่ปัจจัตตัง ความรู้จำเพาะตน นี่เกิดจากภาคปฏิบัติทั้งนั้นนะ

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมันจะรู้ขึ้นมาที่กลางหัวใจนั้นเลย แล้วไม่ต้องถามใคร ไม่ถามใครด้วย แต่สื่อออกมาเพื่อจะรู้กันในหมู่คณะนี่ได้อยู่ แต่การถามนั่นมันก็เป็นความลังเลอันหนึ่ง เห็นไหม เพราะว่ายังถามเขาอยู่ ถามเขาว่าจริงหรือไม่จริง แต่ถามในกิริยาเข้ามาได้นะ ถามในเหตุไง เหตุอย่างนี้ๆ ทำเหมือนกันไหม ครูบาอาจารย์องค์นั้น พระสารีบุตรที่เขาคิชฌกูฏ นั่นน่ะสำเร็จที่นั่น แล้วมาถามกันไง เงื้อมผาไหน ความเห็นเป็นอย่างไร นั่นน่ะถามกันถามกันที่เหตุ ชักเข้าไปที่เหตุไง เอาเหตุมาถามกัน แล้วผลมันก็เหมือนกัน

นั่นล่ะฟังธรรม ฟังธรรมต้องฟังธรรมอย่างนั้น ฟังธรรมแล้วต้องปฏิบัติธรรมจนรู้ธรรมตามความเป็นจริง ถึงว่า อันที่เขาพูดออกมานั้นเป็นสุตมยปัญญา เป็นปริยัติไปแล้วพยายามจะให้เหมือนกัน มันเหมือนกันไปไม่ได้