เทศน์เช้า

ความหนาบางของจิต

๑๕ ม.ค. ๒๕๔๓

 

ความหนาบางของจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยมพ่อท่านเสียไปแล้วน่ะ

เรื่องของศาสนา เห็นไหม การเข้าถึงศาสนานี้เข้าถึงได้ยากมาก เข้าถึงศาสนา เห็นไหม การเข้าเข้ายากมาก คนเราจริตนิสัยต่างๆ กัน หยาบละเอียดต่างกัน นี้หยาบละเอียดต่างกัน ความเห็นก็ต่างกัน ความเห็นต่างกันจะเข้าถึงศาสนาไง เข้าถึงตัวศาสนา

ศาสนาคือตัวความเป็นจริง ศาสนธรรมมันดัดแปลงจิตใจของคน

ผู้ใดเห็นธรรม สมควรแก่ธรรม มันจะสามารถทำให้เราเจริญขึ้นมา

ความคิด เห็นไหม คนหยาบคนละเอียดมันหยาบละเอียดที่หัวใจ มันไม่ได้หยาบละเอียดที่ร่างกายหรอก ร่างกายก็คล้ายๆ กันนั่นล่ะ เห็นไหม เลือดก็มีไม่กี่กรุ๊ปนั่นล่ะ ต่อไปๆ อยู่ในกรุ๊ปไหนๆ เลือดของคน มันจะต่างกันไปเรื่อยๆ ทางวิทยาศาสตร์มันเจริญขึ้นไป วิทยาศาสตร์เจริญขนาดไหนนะ มันก็แค่ทำให้เราเข้าใจเรื่องสัจจะขึ้นมานะ แต่เรื่องหัวใจ วิทยาศาสตร์ทางใจนี่

ถ้าศาสนธรรมนี่ทางใจ ถ้าคนเข้าถึงแล้ว ทำไมถึงต้องเข้าถึงศาสนา ทำไมต้องฟังเทศน์ฟังธรรมทุกวันเพราะอะไรล่ะ นี่การฟังธรรม ฟังสิ่งที่มันอยู่กับเรานี่แหละแต่เรามองไม่เห็นไง นี่หยาบละเอียดมันต่างกันตรงนี้ ถ้าละเอียดขึ้นมา คนเราละเอียดขึ้นมามันจะไตร่ตรองขึ้นมา เห็นความแปลกไป เห็นหัวใจนี้มันเอ๊ะ! ทำไมเราไม่เห็นสิ่งนี้ ทำไมเขามองเห็นสิ่งนี้ เห็นไหม นี่ความหยาบละเอียดมันต่างกันตรงนี้ไง มันต่างกันตรงที่หัวใจ

ความละเอียดความหยาบ ถ้าคนหยาบนะ ชี้เจาะจงไปขนาดไหน เราเคยปกครองคนมา ทุกคนต้องย่อมรู้ จ้ำจี้จ้ำไชขนาดไหนเขาก็ไม่รู้ เห็นไหม ความหยาบความละเอียดมันต่างกันตรงนั้น

ทีนี้ ศาสนธรรม คือความไตร่ตรอง ปัญญาเกิดขึ้น เห็นไหม มีความตั้งใจ ถ้ามีความตั้งใจหันกลับเข้ามาดูมันก็จะเห็น ถ้าไม่มีความตั้งใจ...มีความตั้งใจขึ้นมาตั้งใจมองในแบบโลกๆ เห็นไหม สุตมยปัญญา ตั้งใจในการไตร่ตรอง จินตมยปัญญา ตั้งใจจนมันขึ้นไปเป็นภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นเฉพาะในศาสนาพุทธเท่านั้น ในศาสนาอื่นอย่างมากก็จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญามันไม่เกิดกับศาสนาอื่นๆ เพราะว่า เขาไม่มีมรรคอริยสัจจัง ความไตร่ตรองเขาไม่มี แต่ตอนนี้อริยสัจ ๔ ทุกคนเข้ามาศึกษาได้ ถึงว่า เขามีปัญญาขึ้นมามาก เพราะเขาก็ต้องเข้ามาศึกษาในศาสนาของเราไง

ในอริยสัจ ในทุกข์ ในเหตุ ในเหตุทุกข์ ในสมุทัย สมุทัยคือความดัดแปลงได้ ในเหตุ เห็นไหม ถ้าเห็นเหตุก็คือยกขึ้นนั่นน่ะ เห็นเหตุก็คือเห็นเป้าหมาย ที่ว่า หยาบละเอียดมันต่างกันตรงนี้ไง

เห็นทุกข์ก่อน แต่พวกเราไม่เห็นทุกข์ พวกเรานี่เดินตามทุกข์ต้อยๆ เดินตามความทุกข์ไปไง แต่เข้าใจว่าเห็นทุกข์ เห็นไหม นี่ความหยาบของเรา เข้าใจว่าการประกอบอาชีพ ความเศร้าโศกพิไรรำพันนี้เป็นความทุกข์แล้ว ความเศร้าโศกพิไรรำพันทุกข์อย่างที่เป็นทุกข์นี่มันทุกข์จรมา

ในอริยสัจ ในทุกข์ไง ชาติปิ ทุกฺขา ชาติการเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโศก ความเศร้า มันจรมาเพราะมันมีพื้นฐานตัวเหตุให้ทุกข์แล้ว นี่มันถึงเป็นสมุทัยไง เป็นสมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก คือความพลิกแพลงตรงนี้ ตรงที่จะให้เป็นอย่างที่เราปรารถนา เราสมหวัง มันไม่สมหวังนี่มันจรมา มันถึงแก้ไขตรงนี้ได้

แต่ตัวเหตุ ตัวทุกข์ เห็นไหม ตัวชาติปิ ทุกฺขา ตัวการเกิดและการตายนี่มันเป็นตัวอวิชชา ตัวอวิชชาคือว่ามันเป็นไปโดยสัจจะของมันอยู่แล้ว เราจะรู้ไม่รู้มันจะขับไสให้เราไปเป็นอย่างนี้ตลอดเวลา

แต่ถ้าเรามาแก้ไขตรงนี้ ตรงเห็นทุกข์คือตัวเห็นเหตุ เห็นเหตุ ยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาเดินขึ้นไปแล้ว วิปัสสนาเข้าไปจนถึงปัญญาอันแหลมคม ปัญญาที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์นี่มันมาชำระได้อย่างไร ในเมื่อจิตนี้มันเป็นอนุสัย จิตนี้ดองไปด้วยกิเลส หมองไปด้วยกิเลสทั้งหมด จิตนี้เป็นภวาสวะที่ครอบคลุมไปด้วยกิเลสทั้งหมด มันเป็นไปได้อย่างไร

ถึงว่า การเข้าถึงหลักของศาสนา การเข้าได้หรือเข้าไม่ได้ ความละเอียดความหยาบของคน เห็นไหม ความละเอียดความหยาบของเรานี่ ฟังธรรมบ่อยๆ ฟังธรรมคือความตั้งใจ ฟังธรรม ธรรมคือสิ่งที่ไม่เกิดที่เราเข้าใจ มันเป็นคำบอกเล่าไง ความบอกเล่ากันมาๆ แม้แต่อ่านในพระไตรปิฎกก็เป็นการบอกเล่าของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกไว้ เห็นไหม แต่ถ้าฟังธรรมต่อหน้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะชี้เข้าไปในปัจจุบันธรรม คือว่าเราลังเลสงสัยขนาดไหน

แต่นี่เราอ่านน่ะ ขณะเราอ่าน เห็นไหม สิ่งที่บอกเล่ามันเป็นสิ่งที่ตายตัว หนังสือเป็นสิ่งที่ตายตัว แต่เราอ่านบางที หัวใจเราละเอียดขึ้นไป อ่านเข้าไป ทำไมตัวนี้เรามองไม่เห็น ทำไมความเข้าใจเราเข้าใจเข้าไปเรื่อยๆ เห็นไหม นี่ความละเอียดของเราเกิดขึ้น ความหยาบความละเอียดของใจของเราเอง ไม่ใช่ความหยาบความละเอียดของธรรม ธรรมเป็นของคงที่ตายตัวอยู่อย่างนั้น แต่ความหยาบของเรา เรามองไม่เห็นตรงนี้

เราอ่านหนังสือไปครั้งก่อนผ่านไปทำไมเราไม่เห็น นี่มันหยาบ ใจยังหยาบอยู่ พอใจละเอียดขึ้นมา พออ่านหนังสือผ่านไปครั้งที่สอง ทำไมมันเห็นสิ่งนี้ตามมาๆ ทำไมเมื่อก่อนไม่เห็น...ความจริงมันไม่ใช่ ความจริงคือใจเราละเอียดขึ้นไป เรารอบคอบขึ้นไป เรารับรู้ขึ้นไป เห็นไหม เรารับรู้ธรรมละเอียดเข้าไปได้ มันสัมผัสเข้าไปเรื่อยๆ นี่ความอ่านของเรา พอใจเราแปลกประหลาด เรายังเอะใจ เห็นใจ

การฟังก็เหมือนกัน การฟังธรรม การฟังธรรมบ่อยๆ การตอกย้ำบ่อยๆ สุดท้ายคือความรู้แจ้งไง อานิสงส์ของการฟังธรรมขั้นสุดท้าย พระพุทธเจ้าเทศน์อยู่ เห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหม แม้แต่คฤหัสถ์ที่ฟังอยู่ตรัสรู้คือรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามากมายเลย นี่การฟังธรรม

เพราะมันไม่มีใครบอก มันคิดด้วยวงล้อมของเราเอง ความคิดของเรายังหมุนอยู่ในความคิดเดิมของเรา คือความเห็นความจำของเราทั้งหมด คือในขันธ์ทั้งหมด

นี่อาจารย์บอกว่า “ความคิดในกรงขัง”

จริงๆ ความคิดในกรงขัง กรงขังคือความรู้เดิมของเรามันครอบคลุมความคิดใหม่จะเกิดขึ้นมา ก็ความคิดจากกรงขังคือการปลุกขึ้นมา เห็นไหม ความคิดในกรงขังมันเป็นความคิดในขันธ์ ๕ นี่คิดอย่างไรมันก็คิดเป็นโลกียะ เป็นโลกทั้งหมดเลย นี่ต้องทำความสงบเข้าไปๆ ให้กรงขังมันคลายตัวออก กรงขังไง ความคิดเดิมคลายตัวออกๆ แล้วความคิดใหม่เกิดขึ้น เห็นไหม เกิดจากสมาธิ มีสมาธิขึ้นมาเป็นปัญญา

ถ้าสมาธิไม่เกิดขึ้น นี่เป็นสัญญาทั้งหมดเลย ความคิดที่เป็นปัญญานี่ สมาธิเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันเกิดขึ้นเจริญขึ้นแล้วเสื่อมลงๆ ความคิดทำไมมันคิดอยู่ใหม่ๆ ตอนสมาธิดีๆ คิดนี่แตกฉานนะ มันจะแยกแยะออกไปได้หมดเลย ความคิดที่ผูกมัดติดข้องใจอยู่นี่มันจะปล่อยเป็นชั้นๆ เข้าไป นี่มันคิดได้หมดเลยเพราะมีสมาธิ มันความคิดนี้เป็นปัญญาหมุนเข้าไป มันจะปล่อยวางได้นะ

แต่พอคิดไปๆ มันฟั่นเฝือ คิดไปๆ ทำไมเอ๊ะ! คิดแล้วไม่ออก คิดไม่ออกคือว่าความคิดมันคิดไม่ไป มันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้เพราะสมาธิมันเสื่อมลง นี่เราไม่รู้ตัวไง สมาธิคือความให้กรงขังความคิดเดิมให้มันยุบยอบตัวลง พอมันอ่อนลง พลังงานนี้อ่อนลง ความคิดของกรงขังก็เกิดขึ้นมา พอเกิดขึ้นมาก็เป็นสัญญาล้วนๆ พอเป็นสัญญาขึ้นไปแล้วคิดไม่ออก

ถ้าคิดแบบว่ามันจะเอาผลงานเก่า เราเคยใช้ปัญญาขึ้นมานี่มันจะแยกแยะออกไปเป็นชั้นๆ เข้าไป มันฝังใจ มันดีใจ นี่ภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นเรื่อยๆ มันออกไป แต่มันยังไม่สมุจเฉทปหาน มันหมุนไปเรื่อยๆ แต่พอมันคิดไปๆ สมาธิมันอ่อนตัวลง ความคิดมันเป็นความคิดในกรงขัง มันไปไม่ได้

แต่เพราะคนเรามันเคยทุกข์มาก่อน พอมันมีทางออกมันจะกระโจนออกไปเลย มันไม่ย้อนกลับมาดูว่ามันเกิดจากพื้นฐานของสมาธิ มันเกิดจากพลังงานอันนี้ไง เราไม่ยอมกลับมาทำความสงบ มันกลัวจะเสียประโยชน์ มันจะเอาแต่ผลงานของมันขึ้นไป เห็นไหม นี่ภวาสวะมันกลบอยู่ในอวิชชา นี่กิเลสกับจิต กับกิเลสในกรงขังคือความคิด เห็นไหม กิเลสในขันธ์กับกิเลสในจิตเลยน่ะ มันโง่เง่าเต่าตุ่นในตัวเราเอง มันอยากได้โดยที่ว่ามันอยากได้ คิดว่ามันจะได้อย่างที่มันอยาก แต่มันอยากไม่ได้ ถ้าไม่เดินธรรมสมควรแก่ธรรม

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมันถึงได้หลักตามความจริงอันนี้ขึ้นมาไง

แม้แต่อุทธัจจกุกกุจจะในนิวรณธรรม ๕ กับอุทธัจจะในสังโยชน์เบื้องบน นี่ขึ้นไปข้างบนแล้วยังอุทธัจจะ คือความเพลินในงาน ความอยากได้ ความจะให้งานนั้นเป็นของเราโดยเฉพาะ พยายามขวนขวายไป จะเป็นอุทธัจจะ ความเพลินในงาน เห็นไหม ต้องกลับมาพักความคิด กลับมาพักเพื่อความสงบของเรา นี่สมาธิธรรม

สมาธิธรรม ถึงว่า เกิดจากสมาธิมีพื้นฐานอยู่ ศาสนาพุทธจะเกิดไม่เกิด อันนี้มีอยู่โดยพื้นเพดั้งเดิม ฤๅษีชีไพรในครั้งก่อนพุทธกาลก็ทำความสงบ เวลาเหาะเหินเดินฟ้าได้ก็จากสมาธิอันนี้ แต่ภาวนามยปัญญาไม่มีในศาสนาอื่น เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรม ไม่มีใครรู้ตรงนี้ ฤๅษีชีไพรจะเหาะเหินเดินฟ้าขนาดไหนก็ไม่สามารถแก้กิเลสได้ กาฬเทวิลไปนอนอยู่บนพรหม ยังเสียดายโอกาสไม่มี เห็นไหม

แต่เรานี่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ฟังธรรมนี่มันละเอียดลึกซึ้ง

ว่าเราเห็นการเหาะเหินเดินฟ้านี้เป็นของแปลกประหลาดมหัศจรรย์ การรู้ทายวาระจิตนี้มหัศจรรย์มาก แต่เป็นอภิญญาไม่สามารถชำระกิเลสได้เลย อาสวักขยญาณต่างหากชำระกิเลสของเราได้ อันนี้ต่างหากถึงจะเข้ามาชำระกิเลสของเรา กิเลสนี้มันมีในศาสนา ถึงว่า ภาวนามยปัญญามีเฉพาะในศาสนาพุทธเราเท่านั้น

ผู้ที่มารู้ทีหลังนี้ก็ศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าประกาศธรรมแล้วนี่ ประกาศธรรมมาสองพันกว่าปี ผู้จะมารู้ตามนั้นก็เป็นพุทธ จะเป็นลูกศิษย์โดยตรงคือว่าเป็นชาวพุทธโดยตรง หรือจะเป็นลูกศิษย์โดยที่ว่านับถือเป็นครูพักลักจำนั้น ไม่ใช่พุทธแต่ลักจำ ก็ต้องเป็นพุทธ

ถึงว่า ภาวนามยปัญญาจะเกิดเฉพาะในศาสนาพุทธเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่รู้เองเห็นเอง พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประกาศธรรมไว้ตามความเป็นจริง เราถึงว่ามีศาสดาอันเอกไง เราถึงว่า เรามีครูอาจารย์ที่เป็นตัวอย่าง เราต้องก้าวเดินตามนั้น พอเราเดินตามนั้นนะ เราจะเข้าถึงธรรม

ทำไมถึงว่าเวลามันทุกข์ มันทุกข์นัก เวลาแก้ไขทุกข์มันจะแก้อย่างไร อันนี้แก้ที่ใจ ไอ้ที่แก้ที่กายก็ต้องว่ากันไป พระพุทธเจ้ายังไปหาหมอ เห็นไหม หมอชีวกโกมารภัจจ์นี่เป็นหมอประจำองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม พระพุทธเจ้าก็เจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังแก้ไขขึ้นไป เพราะว่าอันนี้มันเป็นพาหนะที่นำไปไง

เรือ รถ คนละลำ เราจะเข้าถึงฝั่งไม่เข้าถึงฝั่ง อันนั้นเราก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าแก้ใจได้นะ ทุกข์มันมี ๒ อย่าง ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ถ้าทำหัวใจได้เบิกบาน ทุกข์กายมันก็จะหายได้รวดเร็ว มันไม่ทำให้โหมขึ้นไป เห็นไหม ความเครียดก็ไม่เกิดขึ้น เห็นไหม ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เราต้องดูแล

ทุกข์กาย ทุกข์ด้วยกันเป็นพื้นฐาน พระพุทธเจ้าปรินิพพานก็ต้องนิพพานทิ้งร่างกายนี้ออกไป เข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพาน คือจิตนี้เป็นธรรมเฉยๆ แต่แล้วก่อนหน้านั้นก็ต้องแบกรับภาระมา เห็นไหม ถึงว่า ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เราต้องแบ่งให้ถูก แล้ววางใจให้ถูกแล้วเราจะปกครอง คือว่าเราจะดำเนินชีวิตได้ด้วยความราบรื่นนะ เอวัง