เทศน์บนศาลา

สูญเปล่า

๒๖ ก.ค. ๒๕๕๓

 

สูญเปล่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ตั้งแต่วันวิสาขบูชา เสวยวิมุตติสุขมาตลอด เห็นไหม ทบทวนๆ คำว่าทบทวนนี้ไม่ใช่เพื่อถูกเพื่อผิด แต่ทบทวนเสวยวิมุตติสุขมันมีความสุขในหัวใจนั้น จนเลือกแล้วว่าจะเทศนา โปรดสอนใครก่อน เห็นไหม

“โปรดปัญจวัคคีย์ เทศน์ธรรมจักร” เทศน์ธรรมจักรนี้เป็นการประกาศไง ประกาศสัจธรรม ประกาศสัจธรรมประสบความสำเร็จ ประกาศสัจธรรมจนวางรากฐานไว้ แล้วเราเป็นสาวก-สาวกะ เป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเราไง อย่าให้สูญเปล่านะ “ธรรมแบบสูญเปล่า ถ้าธรรมสูญเปล่ามันจะไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดๆ เลย”

เวลาแสดงธรรมขึ้นมา “ทเวเม ภิกขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ” อัตตกิลมถานุโยค และกามสุขัลลิกานุโยค ตรงนี้ที่เป็นปัญหา ว่าอะไรเป็นอัตตกิลมถานุโยค

อัตตกิลมถานุโยคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ไปเรียนกับเจ้าลัทธิต่างๆ ทรมานตนขนาดไหน ทรมานมากนะ พวกโยคีโยคะต่างๆ ที่เขาทำกัน โยคีสมัยพุทธกาล เขาทำทรมานตน เพราะคิดว่าการทรมานตนนั้น เป็นการทรมานกิเลสไง

ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติกัน เราจะทรมานกิเลส เขาก็ว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค

“อัตตกิลมถานุโยค” เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงสัจธรรมไว้ แสดงธรรมจักรไว้ ว่านี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค “ทางสองส่วนที่ภิกษุไม่ควรเสพ” ไม่ควรเสพ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบมา พอมาแสดงธรรมจักร เพราะท่านประสบความสำเร็จแล้ว ได้ทดสอบมาแล้ว

ทีนี้คำว่าทดสอบมาแล้ว ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบในอัตตกิลมถานุโยค ที่เจ้าลัทธิต่างๆ เขาสอนนั้น ไปทำกับเขา ทรมานตนเปล่าๆ แต่ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มานึกถึงที่โคนต้นหว้า แล้วมากำหนดอานาปานสตินั้น อย่างนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยคไหม ไม่ ! ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะวางใจเป็นกลาง เห็นไหม

คำว่าเป็นกลางนี้ คือไม่ลงไปส่วนข้างใดข้างหนึ่ง พอวางใจเป็นกลางขึ้นมา เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม มันจะย้อนกลับเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามาเลย เข้ามาดูใจของตัวเอง “สัจธรรมมันเกิดที่นี่ เกิดบนหัวใจของสัตว์โลก”

เวลาทุกข์เกิดบนหัวใจของสัตว์โลก แล้วสัตว์โลกนี้มันมาจากไหน สัตว์โลกเวลามันปฏิสนธิ เวลาเทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ เห็นไหมก็มีหัวใจเหมือนกัน ถึงได้มาฟังเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการทีหนึ่ง

ในพระไตรปิฎกว่า เทวดา อินทร์ พรหมสำเร็จเป็นแสนๆ สำเร็จมหาศาลเลย มหาศาลเพราะว่าเขามีบุญญาธิการต่อกัน สร้างบุญญาธิการต่อกัน แล้วเป็นเพราะอำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ผู้ที่มีอำนาจวาสนา ก็ได้สั่งสอนเทวดาเหมือนกัน เทวดาก็ต้องการ ถ้าพูดถึงผู้มีคุณธรรม เทวดาก็ภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็เป็นจิตวิญญาณดวงหนึ่ง สิ่งที่เป็นจิตวิญญาณดวงหนึ่ง เสวยภพชาติใด ก็ได้สถานะของภพชาตินั้น

แต่เรื่องอริยสัจ เห็นไหม เพราะอะไร เพราะเสวยภพชาติหนึ่ง เพราะจิตเวลาตรัสรู้ธรรมจากอะไร จากจิตดวงนั้นไง ถ้าจิตดวงนั้นเสวยภพชาติใด สถานะของภพชาตินั้น มันก็ครอบงำดวงวิญญาณจิตนั้น แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหมก็แล้วแต่ มันก็จะครอบงำ

อริยสัจเป็นส่วนของอริยสัจ อริยสัจต้องจิตของเทวดา ของอินทร์ ของพรหมนั้นรู้ธรรมขึ้นมา แล้วบรรลุธรรมนั้น จะบรรลุขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อเวลาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

สิ่งที่ว่า เวลาตรัสรู้บนหัวใจ “สัจธรรมเกิดบนไหน ก็เกิดบนหัวใจของสัตว์โลก” แล้วสัตว์โลกเวลาเกิดเป็นมนุษย์นี้ล่ะ เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้ว สัตว์โลกนี้ เพราะการเกิดบนหัวใจของเรา เห็นไหม

เราเป็นสาวก-สาวกะนะ ได้สร้างบุญสร้างกุศลมา ถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนา แล้ววันนี้วันสำคัญซะด้วย เป็นวันอาสาฬหบูชา เห็นไหม เราตั้งใจ เราจงใจของเรา เพื่อจะชำระล้าง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เสวยวิมุตติสุขนี้ สิ่งที่เป็นวิมุตติสุขมันอยู่ที่ไหน เรารู้ได้แต่ “สุขเวทนา” เรารู้ได้แต่สุขเวทนา เห็นไหม เวลาจิตมันเป็นสัญญาอารมณ์ มันก็เป็นสุขเวทนา เป็นความสุขของตัวที่เกิดขึ้นมา สิ่งนี้ถ้าเรายึดมั่นถือมั่น มันจะสูญเปล่านะ สูญเปล่าไป

เริ่มต้นจากการสูญเปล่า เวลาพระอธิษฐานเข้าพรรษา พระจักขุบาลนี้อธิษฐานพรรษา เห็นไหม ครูบาอาจารย์เราอธิษฐานพรรษา ถือธุดงควัตรต่างๆ คืออธิษฐานพรรษา

เริ่มต้นไม่ใช่จากการสูญเปล่า เริ่มต้นจากความจริงจัง มันต้องมีความจริงจัง จากหัวใจของเราก่อน ถ้าหัวใจของเราไม่มีศรัทธาความเชื่อ ดูสิ ดูอุดมคติ ดูความคิดของคน คน ๒ คนมีความคิดแตกต่างกัน ถ้ามีความคิดแตกต่างไปทางใดทางหนึ่ง เขาเชื่อความคิดของเขา ยึดมั่นในความคิดของเขา เขาจะดำรงชีวิตตามความคิดของเขา แต่คนที่มีความคิดแตกต่าง เขาก็จะคิดด้วยความคิดของเขา ด้วยประโยชน์ของเขา เขาดำรงชีวิตของเขา เพื่อประโยชน์ของเขา

ในเมื่อมีความคิดแตกต่าง เรื่องนี้เริ่มต้นก็เหมือนกัน ด้วยความจริงจังของเรา ถ้าเรามีความจริงจัง เราตั้งใจของเรา เริ่มต้นจากการมีสัจจะ มีความจริง “มันทำจริงขึ้นไป มันจะไม่สูญเปล่า” แต่ถ้าเริ่มต้นจากการสูญเปล่า เหมือนพลังงานที่สูญเปล่า

ดูสิ พลังงานที่เขาใช้ประโยชน์ได้ เขาจะนำขึ้นมาใช้ เพื่อผลประโยชน์ของเขา แต่พลังงานที่สูญเปล่าไป ปล่อยให้มันเสียหายโดยสูญเปล่าเลย แล้วมันเกิดมาจากไหนล่ะ พลังงานคือพลังงาน เพียงแต่ใช้ให้มันถูกต้อง ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา กับใช้ให้มันเสียหาย สูญเปล่าไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราตั้งใจจะภาวนา เห็นไหม จิตนี้เป็นนามธรรม แต่ถ้าสิ่งที่เป็นวัตถุธาตุ คือสิ่งที่เราจับต้องได้ เราสัมผัสได้ แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมนี้ เป็นความรู้สึก พอเป็นความรู้สึกขึ้นมา มันมีความทุกข์ความสุขไหม.. มี มันมีความทุกข์ ความสุข ของมันอยู่แล้วในหัวใจนี้ ทั้งๆ ที่เป็นนามธรรมนี่แหละ

ทีนี้เวลาถ้าจิตมันสงบเข้าไป ถ้าเราทำจิตสงบของเราเข้ามาได้ มันเป็นรูปธรรมนะ รูปธรรมเพราะจิตมันสัมผัสไง มันเป็นปัจจัตตัง “โอปนยิโก ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” แต่เวลาร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เราก็เปิดพระไตรปิฎกเลย เราก็เปิดตำรา นี่เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม

เพราะว่าจิตเราไม่มีหลักเกณฑ์ เพื่อจะยืนยันกับใครได้ แต่พอจิตมันสงบขึ้นมา จิตเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา “เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม มาดูความสงบของหัวใจนี้ไง” ถ้ามาดูความสงบของหัวใจ สิ่งที่มันสงบกับที่ไม่สงบ มันแตกต่างกันอย่างไร

สิ่งที่จิตไม่สงบ ก็นี่ไง สิ่งที่ว่าเป็นรูปธรรมๆ วัตถุธาตุนี้เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก มันก็เป็นรูปธรรม เป็นรูปธรรมเพราะอะไร เพราะพอเวลาจิตมันสงบเข้ามา มันปล่อยความคิด ปล่อยความฟุ้งซ่าน ปล่อยอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึก ก็เป็นรูปอันหนึ่ง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศนาหลานของพระสารีบุตร ที่เขาคิชฌกูฏ เห็นไหม “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอ ก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

เป็นวัตถุอันหนึ่ง ต่อเมื่อคนที่จิตปล่อยวางความสงบเข้ามา มันเห็นความคิด ความคิดนี้เป็นวัตถุอันหนึ่ง ดูสิธาตุรู้และสะสารเป็นวัตถุธาตุ ความคิด ความรู้สึกนี้ ก็เป็นธาตุอันหนึ่ง ธาตุรู้ แต่ไม่ใช่วัตถุธาตุที่เราจับต้องจากภายนอกได้ แต่ธาตุรู้นี้ เราเอาอะไรไปจับมันล่ะ

ดูสิ ความคิด ความรู้สึกของคน ที่เขาทายใจๆ กัน เวลาใครทายใจได้นี้ โอ้โฮ.. ตื่นเต้นมาก อู้ฮู.. เขาทายหัวใจกับความคิดเราได้ นั่นมันเป็นสถิติ ความชำนาญของคน ตามพรหมศาสตร์ วิชาการอย่างนั้นมันก็มี

ดูสิเห็นไหม พระวังคีสะเคาะหัว เคาะกะโหลก “คนนี้ไปเกิดที่ไหน คนนั้นไปเกิดที่ไหน” แล้วมีความยึดมั่นว่าตัวเองนี้ความรู้มาก จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือตั้งใจจะไปแข่งขันว่าใครจะมีความสามารถมากกว่ากัน ตั้งใจไปท้าทาย ไปแข่งขัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาเลยนะ เอากะโหลกมาให้เคาะ ๓ กะโหลก ป๊อก ป๊อก ป๊อก “ไปนรก !” ป๊อก ป๊อก ป๊อก “ไปสวรรค์ !” ป๊อก ป๊อก ป๊อก “หาย !” ป๊อก ป๊อก ป๊อก “หาย !”

นี่ไง สิ่งนี้ทางพรหมศาสตร์เขามีของเขาอยู่แล้ว ทายใจๆ “ทายใจคนอื่นได้ แต่ทายตัวเองไม่ได้” ถ้าจะทายใจตัวเองได้ คือสิ่งที่เป็นความรู้สึก ความนึกคิด สิ่งนี้เป็นวัตถุธาตุ

“ถ้าเราเริ่มต้นถูก เราจะไม่สูญเปล่า แต่ถ้าเราเริ่มต้นไม่ถูก เห็นไหม เราสูญเปล่า”

พลังงานมันมีอยู่แล้วนะ พลังงานคือปฏิสนธิจิตไง “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” นี้เป็นคำพูดของใคร นี้เป็นคำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาทำความสงบของใจเข้ามา มันผ่องใสขนาดไหน มันรู้ของมัน มันผ่องใสมันรวมใหญ่ขนาดไหน มันมีปัจจัตตัง มีสันทิฏฐิโก ตัวจิตมันจะรับรู้ของมัน

ถ้าเราเริ่มต้นจากความจริง มันจะได้ความจริง มันจะมีความจริงต่อเนื่องกันไป แต่ถ้าเริ่มต้นจากความสูญเปล่า คือเริ่มต้นจาก “สิ่งนี้เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้” พอเวลาภาวนาไป สิ่งนี้มันเป็นความว่างๆ อย่างนี้มันเป็นผล “สูญเปล่าตั้งแต่ต้นเลย”

“สูญเปล่าเพราะอะไร สูญเปล่าเพราะว่าคาดหมาย”

ให้วางความรู้สึก วางความนึกคิดของตัวเองไว้เลย ที่ความรู้สึก ความนึกคิดของตัวเองเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะมันมีแบบอย่างไง มันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างใช่ไหม พอมีตัวอย่าง มันก็สร้างภาพให้หัวใจเป็นสภาวะแบบนั้น “สูญเปล่าเลย !”

สูญเปล่าเพราะอะไร เพราะเราเป็นชาวพุทธ พุทธศาสนา เห็นไหม ดูสิ สมมุติบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันมีอยู่แล้ว เรารู้สิ่งนี้มา แล้วเราประพฤติปฏิบัติโดยความเห็นของเรา โดยความเข้าใจของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

เริ่มต้นนี้ดูสิ ดูทางกฎหมายต่างๆ สิ่งกำเนิดของสินค้า ถิ่นกำเนิดของสิ่งของต่างๆ สิ่งกำเนิดของผู้คน มันมีถิ่นกำเนิด มีที่มาที่ไป

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ ในอดีตชาติตั้งแต่พระเวสสันดรไป มันมีมีที่จบ มันมีที่มานะ เพราะมันมีที่มาที่ไป มันถึงมีจริตนิสัยของคนแตกต่างกันอย่างไร โทสจริต โมหจริต มันแตกต่างกันอย่างไร จริตนิสัยนี้ เพราะมันเป็นพันธุกรรมทางจิต ที่มันตัดแต่งจิตของมันมา มันมีที่มาที่ไป พอมันมีที่มาที่ไป สิ่งที่ว่าในปัจจุบันนี้ล่ะ

ที่มาที่ไป เห็นไหม เป็นจริตเป็นนิสัย แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ท่านวางรากฐานไว้อย่างนี้ แล้วเราก็ศึกษา เราศึกษาโดยที่เราไม่รู้ที่มาที่ไป เพราะเราไม่รู้ที่มา เราถึงบอกว่ามันตั้งต้นไม่ได้ มันไม่มีอะไรให้ควรกระทำ ให้มันจริงจังขึ้นมา มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค

แต่กามสุขัลลิกานุโยค เวลามันเข้าไปว่างๆ ว่างๆ เพราะอะไร เพราะความเป็นไป มันจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ จิตมันก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว

คำว่าจิตเป็นอย่างนี้ เพราะในอารมณ์ความรู้สึกของเรา เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย มันเป็นของมัน ถ้ามันคิดดี โดยตอบสนองตัณหาความทะยานอยาก ตอบสนองความรู้สึกไง สิ่งนี้เป็นธรรม คือสิ่งนี้มันเข้ากับความคิดเราได้ คิดแล้วมันพอใจ มันปล่อยวาง แต่ถ้าสิ่งที่มันขัดใจเรา คือสิ่งที่มันเข้ากับเราไม่ได้ สิ่งนี้ไม่เป็นธรรม

นี่ไง ทั้งๆ ที่คือข้อเท็จจริง จิตมันเป็นอย่างนี้ มันมีดีมีชั่ว มีสุขมีทุกข์ มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ แล้วมันมีตัณหาความทะยานอยากเร่งเร้า ให้มีการกระทำต่อเนื่องของมันไป แต่ถ้าเราทำด้วยความเป็นจริง เห็นไหม เราต้องมีสติบังคับ พอมีสติบังคับ นี่อัตตกิลมถานุโยคขึ้นมาเชียวแหละ “มันจะเป็นการบังคับตนเอง มันจะทำให้ตัวเองลำบากเปล่า” แต่ถ้าปล่อยมันเร่ร่อนไป “สูญเปล่านะ”

“เริ่มต้นจากการสูญเปล่า ปลายทางจะไม่มีสิ่งใดประสบความสำเร็จเลย”

แต่ถ้าเริ่มต้นจากความจริงจัง เช่น พระจักขุบาล เห็นไหม อธิษฐานพรรษาเลย เราจะถือเนสัชชิก ไม่นอน ๓ เดือน เริ่มต้นจากความจริงจัง ไม่ใช่เริ่มต้นจากความสูญเปล่า ทั้งๆ ที่ของมีอยู่ มันน่าเสียดายที่ว่าเรามีหัวใจ เรามีความรู้สึก

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านปฏิบัติมา สร้างสมบุญญาธิการมา ตัดแต่งพันธุกรรมมา สร้างมาเต็มที่เลย สมบูรณ์เต็มที่เลย เพื่อที่จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาด้วยวิริยะอุตสาหะ ด้วยการรื้อค้น ลองผิดลองถูกมา ๖ ปี

ถึงที่สุดแล้ว ด้วยอำนาจวาสนา ต้องตรัสรู้เองโดยชอบ คือต้องย้อนกลับมาตรัสรู้ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ท่านได้วางธรรมและวินัยไว้ให้พวกเรา

แล้วเราเองก็มีหัวใจเหมือนกัน เราก็เกิดมาในพุทธศาสนาเหมือนกัน เกิดมาด้วยมีความเคารพบูชา ด้วยความศรัทธา “เราเกิดมาด้วยการอยากจะพ้นทุกข์ ! แล้วทำไมมาทำให้มันสูญเปล่าล่ะ” ทำไมทำให้ชีวิตนี้มันสูญเปล่า ไร้ค่าไปอย่างนี้ ปฏิบัติก็เหมือนกับหุ่นยนต์

เวลาปฏิบัติโดยที่ไม่มีข้อเท็จจริง ก็เหมือนกับหุ่นยนต์เลย เห็นหุ่นยนต์โรงงานไหม มันทำงานทั้งวันเลย แล้วทำงานดีกว่ามนุษย์ด้วย แล้วมันได้อะไร เพราะมันไม่มีจิตวิญญาณใช่ไหม เราเป็นคนที่มีจิตวิญญาณ จะทำตัวให้มันสูญเปล่า ให้เหมือนหุ่นยนต์นั้นไปได้อย่างไร !

ถ้าไม่ทำเหมือนหุ่นยนต์อย่างนั้น เราก็ตั้งสติของเราขึ้นมาสิ ตั้งสติขึ้นมา แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญดูว่า สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำนั้น มันถูกต้องไหม

“ถ้าเริ่มต้นจากการสูญเปล่า มันก็จะสูญเปล่าตลอดไป”

แต่ถ้าเริ่มต้นจากมีสติปัญญา จะต้องลงทุนลงแรง มรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ เลย ความเพียรชอบ ความวิริยะอุตสาหะ ความขยันหมั่นเพียร “คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร” ไม่มีล่วงพ้นทุกข์ไปด้วยความมักง่าย ด้วยความอ่อนแอ ด้วยความสุกเอาเผากิน ด้วยความไม่เอาไหน ไม่มี !

เพราะมันอยู่ในมรรค ความเพียรชอบนี้ ความวิริยะอุตสาหะนี้มันเป็นความเพียรชอบ ฉะนั้นเวลาปฏิบัติมันจะทุกข์ไหม.. ทุกข์ ! มันก็ต้องทุกข์ทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่ทุกข์ ดูสิ ถ้าความรู้สึกเรามันจำได้นะ เวลาเราคลอดออกมา เราผ่านช่องแคบมา มันทุกข์ขนาดไหน บีบคั้นออกมานะ เวลาเขาทรมานนักโทษ เห็นไหม เขาบีบเขาคั้น บีบคั้นเพราะอะไร เพราะเขาทำโทษคนที่ทำผิด เขาต้องรีดความลับออกมาจากนักโทษนั้น เขาจะต้องทรมาน แล้วเราเอง ก็ต้องรีดตัวเราเองออกมา อย่างนี้เป็นทุกข์ไหม

ทุกข์มันเกิดจากอะไรล่ะ ทุกข์มันจะเกิดซ้ำๆ ซากๆ ไม่ใช่เกิดมาชาตินี้ชาติเดียวหรอก เขาบอก “คนเราเกิดแล้วตายหนเดียว” ถ้าเกิดตายหนเดียว ประชากรบนโลกมีเท่าไหร่ มันก็ต้องมีเท่านั้น ประชากรโลกเดี๋ยวนี้ ขึ้นมากี่เท่าตัว แล้วมันมาจากไหน นี่เพราะมันเกิดตายเกิดตาย อยู่ซ้ำๆ ซากๆ อย่างนี้ แล้วมันก็ไม่เข็ดไม่หลาบ ไม่เข็ดไม่หลาบเพราะอะไร เพราะมันจนตรอกไง มันไปสูญเปล่าไง

ชีวิตนี้สูญเปล่า ทั้งๆ ที่ทำคุณงามความดีมา ถึงเกิดมาเป็นมนุษย์ แต่ให้มันสูญเปล่าไป สูญเปล่าไปเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปิดกั้นหัวใจ ปิดกั้นความรู้สึกความนึกคิดหมดเลย นี้ถ้าเราสลัดมันทิ้ง สลัดมันทิ้งด้วยสติปัญญา ด้วยอำนาจวาสนา

ดูสิเวลาคนไปนะ เข้าไปถึงนักปราชญ์ เข้าไปเดินจนชนกัน แต่เพราะเราไม่ได้ศึกษา เราไม่ได้สัมผัสท่าน ชนเสร็จแล้วเราก็จากไป เราไม่สนใจเลย แต่ถ้าเราสนใจขึ้นมา ดูสิ เวลาพระสารีบุตร เห็นไหม เจอพระอัสสชิ ทำไมเป็นได้ล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เรามีครูมีอาจารย์ ทำไมครูบาอาจารย์ของเรา ท่านทำตัวของท่านได้ล่ะ ทำไมท่านมีโอกาสของท่านล่ะ หลวงปู่มั่นนี้ท่านบุกเบิกมาขนาดไหน ท่านทุกข์ยากมาขนาดไหน คำว่า “ทุกข์ยาก.. ทุกข์ยากด้วยความเพียรนะ” ความเพียรมันทุกข์ยาก ทุกข์ยากเพราะมีการสั่งการสอน ทุกข์ยากแต่ตำรับตำรามีอยู่

เหมือนกับเราศึกษาด้วยตนเอง เราก็เปิดตำรับตำรา แล้วเราก็ศึกษาด้วยตนเอง กับศึกษาโดยที่มีครูบาอาจารย์คอยบอกเรา “อย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก” มันจะง่ายกว่าเราเปิดตำรา แล้วเราเทียบเคียงเอง

หลวงปู่มั่นท่านต้องทำอย่างนั้นนะ ถึงจะมีคนแนะนำถึงจะมีท่านเจ้าคุณอุบาลีแนะนำขนาดไหน มันก็แนะนำแบบคนไม่รู้กับคนไม่รู้นั่นแหละ เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วกลับมาเอาพวกนี้เอง กลับมาเอาหลวงปู่เสาร์ กลับมาเอาเจ้าคุณอุบาลี กลับมาเอาทั้งหมดเลย

กลับมาเอาเพราะอะไร เพราะความคุ้นเคยที่ไว้วางใจกัน และประพฤติปฏิบัติมาด้วยกัน เวลามันมีอะไรเป็นอุปสรรค ก็มาปรึกษาหารือกัน แล้วพอปฏิบัติเข้าไป ของใครจะเข้าได้ลึกกว่า ของใครเข้าไปในความเป็นจริงกว่า มันตรวจสอบกันตั้งแต่เริ่มต้น

นี่ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านรื้อค้นมา แล้วเราเป็นมนุษย์อยู่ในพุทธศาสนา แล้วอยู่ในช่วงร่วมยุคร่วมสมัย ที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติ นี่ไงมันมีคุณค่านะ ถ้าคิดอย่างนี้ เราจะเห็นคุณค่าขึ้นมา เป็นจังหวะและโอกาสของคน

เวลาครูบาอาจารย์ท่านล่วงไปแล้ว ท่านก็เทศนาว่าการไว้ ท่านก็แนะนำไว้ เห็นไหม ดูในมุตโตทัยสิ “ธรรมะสถิตอยู่ในหัวใจของใคร” ถ้าสถิตในหัวใจของปุถุชน มันจะสกปรกไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้าทองคำมันอยู่ในเหมืองแร่ มันยังอยู่ในดิน มันต้องมีดินกลบเกลื่อนมัน

“ธรรมสถิตอยู่ในหัวใจของใคร !” ถ้าธรรมสถิตอยู่ในหัวใจของผู้ที่มีคุณธรรมขึ้นมา ธรรมนั้นมันจะสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา

คำสอนของใคร ! คำสอนที่ออกมาจากในหัวใจของใคร ! แล้วเราจะเชื่อใจใคร !ถ้าโอกาสอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นแบบอย่าง เราก็ต้องมีความจริงจังขึ้นมา พอเริ่มต้นจากความไม่สูญเปล่า เห็นไหม เก็บหอมรอมริบ

หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์นะ ครูบาอาจารย์ที่อยู่ในสมัยหลวงปู่มั่นจะบอกเลยว่า ท่านเก็บหอมรอบริบ ขนาดท่านเป็นขนาดนั้น ท่านยังเก็บหอมรอบริบ เป็นคติ เป็นตัวอย่างกับเรา เราทำไมมักง่าย ทำไมจะเอาแต่ความสะดวกสบายของเรา ยอกๆ แยกๆ ทำไม่จริงไม่จัง กิเลสมันมีอำนาจเหนือกว่าทุกทีเลย จะทำอะไรก็ “เอาแค่นี้ก่อน เอาแค่นั้นก่อน ทำอย่างนี้จะลำบากเกินไป เดี๋ยวจะอัตตกิลมถานุโยคอีกแล้ว”

อัตตกิลมถานุโยค แต่เขาทำกันจริงจัง ดูอย่างพวกโยคีเขาทำอย่างนั้น เพราะเป็นความเชื่อของเขา ว่าทรมานตนคือทรมานกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เคยมีความเชื่ออย่างนั้น

แต่นี่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา เราไม่ได้ทรมานร่างกาย เหนื่อยยากมาก แต่เราทรมานไอ้ตัวด้านๆ ในหัวใจเรา ไอ้ตัวด้านๆ นี่ “ยิ่งรู้มากยิ่งด้านมาก” รู้ธรรมะไปหมดเลย สภาวะอย่างนี้เป็นธรรม สภาวะอย่างนี้เป็นธรรม มันด้าน แต่มันไม่มีประสบการณ์ ด้านๆ แต่มันไม่มีการพิสูจน์ มันไม่มีข้อเท็จจริงเปรียบเทียบกับมัน

เวลาเข้าทางจงกรม เราเดินไปด้วยเท้าเรา เรานั่งสมาธิด้วยก้นของเรา ก้นแตกเลย เรานั่งกับมัน เพื่อที่จะพิสูจน์ไอ้หัวใจด้านๆ นั่นแหละ “ถ้ามันเป็นจริง ทำไมธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ทำไมหัวใจเราเป็นอย่างนี้ไม่ได้”

ทำจนแทบเป็นแทบตาย ทำไมมันมั่นคงไม่ได้ ถ้ามันมั่นคงไม่ได้ แล้วความจริงมันไม่เกิดขึ้นมา แล้วเราจะเอาอะไรเป็นความจริงขึ้นมา เราจะปล่อยให้มันสูญเปล่าไปใช่ไหม แม้แต่การเริ่มต้นมันก็สูญเปล่า แล้วเวลาปฏิบัติไป มันเป็นไปโดยสามัญสำนึกของหัวใจ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา นี้เป็นผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม”

แต่ในดวงใจมันเป็นอย่างนั้น มันแปรปรวนเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่ว แล้วเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ว่างเดี๋ยวก็ไม่ว่าง แล้วพอมันว่างขึ้นมาก็ว่า “สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม” ไอ้นี่มันมาจากไหนล่ะ มันมีเหตุมีผลอะไรเป็นเครื่องยืนยันล่ะ มันไม่มีเหตุมีผลอะไรยืนยันกับมันเลย !

นี่ไง เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา เพื่อทดสอบกับหัวใจนี้แหละ ว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ มีศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้ามีสติมีคำบริกรรม จิตมันลงอย่างไร ถ้าจิตมันลงไป จากที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวว่างเดี๋ยวไม่ว่าง แต่ถ้ามันมีคำบริกรรมไป ถ้ามันว่าง มันว่างอย่างไร มันมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นผล แล้วไอ้ผู้รู้ ผู้เป็นไป มันเป็นอย่างไร

พอมันเป็นขึ้นมา เห็นไหม นี่ไงมันมีข้อเท็จจริง ที่ว่าเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา นี่คือความเพียร ที่เราวิริยะอุตสาหะของเราลงไป แต่เราใส่ความวิริยะอุตสาหะของเราลงไป เรามีการกระทำใช่ไหม ดูสิเวลาเราคิด “ยกมือขึ้น” มือมันก็ยกขึ้น เพราะประสาทมันสั่ง แล้วความจริงที่เรายกมือขึ้น ใครเป็นคนสั่ง ใจมันเป็นคนสั่ง สั่งให้ร่างกายนี้เคลื่อนไหวไปตามที่มันต้องการ เหมือนมันเป็นสัญชาตญาณใช่ไหม ดูสิ สัญชาตญาณของการระวังภัย มีอะไรเข้ามาหน้าเรา เราจะยกมือปิดกั้นทันทีเลย

แต่เวลาจิตมันพุทโธ พุทโธ เวลาความคิดที่มันเกิดขึ้นมากับจิต ความคิดที่มันเป็นโทษขึ้นมา พอคิดขึ้นมานะมันไปแล้ว แล้วเราพุทโธ พุทโธนี่ เราโต้แย้งกลับมา เปลี่ยนความคิดที่มันเป็นสัญชาตญาณเข้ามา พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วมันสงบระงับเข้ามาอย่างไร

เราใช้ปัญญาอบรมสมาธินี้ ใช้ปัญญาไล่ความคิดเราไป มันจะไปด้วยกันเป็นปัจจุบันไง คำว่าปัจจุบัน “พุทโธ พุทโธจากใจ” ใจมันอยู่กับพุทโธ เวลาเราพุทโธใหม่ๆ ขึ้นมานี้ มันไม่ใช่พุทโธจากใจนะ มันพุทโธจากสัญญา อ้าว.. เวลาภาวนาพุทโธใช่ไหม เราก็พุทโธ พุทโธ พุทโธ

นี่พุทโธ กับดูสิเรายกแขนขึ้น ความจริงแขนมันยกขึ้นมาได้เพราะอะไร เพราะคำสั่งจากความคิดเราใช่ไหม คำสั่งจากจิตใช่ไหม แขนยกขึ้น แต่เพราะความเร็วของมัน เราถึงไม่ทันมัน

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธเหมือนกับเรายกแขนขึ้น แขนกับเรามันคนละอันกัน คำว่านึกพุทโธ เพราะคำสั่ง ความคิดมันมาจากจิต พอความคิดเราพุทโธ พุทโธ ด้วยสัญญาอารมณ์ ด้วยสัญญาอารมณ์ !

เพราะสามัญสำนึกนี่มันเป็นสัญญาอารมณ์ ความคิดเรานี่เป็นสัญญาอารมณ์อยู่แล้ว เราคิดพุทโธมันก็เป็นสัญญาอารมณ์ พอเป็นสัญญาอารมณ์ เห็นไหม สัญญาอารมณ์เป็นพุทโธใช่ไหม แต่พลังงานของเราล่ะ ตัวจิตเราล่ะ มันอยู่ห่างกันแค่ไหน พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนมันเข้ามาใกล้เคียงกัน พอใกล้เคียงกัน แล้วมันจะละเอียดขึ้นไป จนเราจะนึกพุทโธไม่ได้เลย “นึกพุทโธไม่ได้เลย เพราะจิตหนึ่ง !”

“จิตหนึ่งคือสัมมาสมาธิ เป็นปัจจุบัน” เห็นไหม แต่ถ้าเราว่างๆ ว่างๆ สัญญาอารมณ์นี้ มันว่างที่ไหนล่ะ มันว่างบนอวกาศ แต่ตัวจิตอยู่ไหนไม่รู้ “สูญเปล่า ! พลังงานสูญเปล่า”

เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์เจริญนะ จักรวาลนี่คำนวณได้หมดเลย ดูสิกี่ปีแสง ระหว่างดาวเคราะห์แต่ละดวง เราไปได้ขนาดนั้นเลย มีวิชาการที่ไหน พอเรามีการศึกษาแล้ว จิตมันคิดได้หมด ดูสิ พรหมที่เขาวาดภาพตามวัดตามวา ดูบนพรหมสิ ดูเทวดาเขาอยู่กันสิ นี่วาดได้หมดเลย จินตนาการได้หมด เพราะจิตมันเคยผ่านมาในวัฏฏะ เห็นไหม “แต่สัจธรรมไม่เคยสัมผัส สัจธรรมไม่เคยสัมผัส !”

นี่ไง มันทำให้ตัวเองเสียโอกาส เราเกิดมา เราจะมีโอกาสขึ้นมา เราตั้งใจของเราขึ้นมา ลงทุนลงแรงนะ การทำบุญกุศล ทาน ศีล ภาวนา

ทาน คือการเสียสละขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจนี้ มันมีโอกาสของมัน “มีโอกาสเพราะมีการเสียสละ” เหมือนกับมันมีสติมีปัญญาขึ้นมา มันพัฒนาของมัน

“ทาน ศีล ภาวนา” เรามาภาวนากันอยู่นี่ เวลาภาวนา “เอ้า.. หลวงพ่อก็ภาวนา พวกหนูก็ภาวนา พระเณรก็ภาวนา แล้วจะมาว่าอะไรกันอีกล่ะ ทำไมจะลงปฏักอยู่เรื่อยเลย”

ภาวนา เวลาจิตไอ้หน้าด้าน ไอ้จิตมันด้านนี้ มัน “สักแต่ว่าทำ” สติมันไม่มีขึ้นมา มันไม่เป็นปัจจุบัน มันเป็นอดีตอนาคต เห็นไหม “สักแต่ว่าก้าวเดิน สักแต่ว่าการกระทำ” ครูบาอาจารย์จะคอยเคาะตลอด เหมือนเราบอก “ยกมือขึ้น” ด้วยคำสั่งของจิต จิตมันยกมือขึ้น ด้วยคำสั่งของการบริกรรมพุทโธ ด้วยคำสั่งของปัญญา มันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งหมด !

แล้วให้มีความขยันหมั่นเพียร อย่าให้มันมีช่องว่าง ถ้ามีช่องว่าง พุทโธอยู่ข้างนอกอีกไปหลายร้อยกิโล ไอ้ตัวเองอยู่นี่ไง อยู่อย่างนั้นแหละ พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไป ชัดๆ เข้าไว้ “คำว่าชัดๆ ระยะห่างมันจะเข้ามาเอง”

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าพุทโธนี่มันระยะร่นเข้ามา จาก ๑๐๐ กิโลเมตร มันจะหดสั้นเข้ามาเรื่อย จนมันเป็นอันเดียวกันเลย ถ้าเป็นอันเดียวกัน “นี่ ! เริ่มต้นจากตรงนี้ มันจะไม่สูญเปล่า” ไม่สูญเปล่าเพราะปฏิสนธิจิต

“ปฏิสนธิจิต” เห็นไหม เกิดเพราะเรา เพราะปฏิสนธิวิญญาณ เกิดจากพ่อจากแม่นะ สายบุญสายกรรม เวรกรรมนะ จิตเกิดจากตัวมันเอง เพราะตัวมันมีกรรม มันถึงจุติลงสู่ครรภ์ สู่ไข่ สู่น้ำคร่ำ สู่โอปปาติกะ พอพุทโธ พุทโธมาถึงมัน พุทโธ พุทโธจนเป็นตัวมัน พุทโธ พุทโธ เห็นไหม เป็นตัวมัน เป็นตัวฐีติจิต เป็นตัวเริ่มต้น “นี่ไง เริ่มต้นจากความเป็นจริง”

ถ้าเริ่มต้นจากสมาธิ นี่คือกรรมฐาน เขาว่า “กรรมฐานไม่จำเป็น ทุกอย่างไม่จำเป็น” ถ้าไม่เริ่มต้นจากกรรมฐาน ไม่เริ่มจากจิตที่มันสงบเข้ามา แล้วจิตมันออกทำงานของมัน จะไปเริ่มต้นกันที่ไหน !

พลังงาน ถ้าไม่เริ่มต้นจากถิ่นกำเนิด ไม่เริ่มต้นจากจุดเริ่มต้นของมัน แล้วจะไปทำอะไรกัน สิ่งที่ทำกันไปนี้ ทำงานสูญเปล่าไง พลังงานมันอยู่ที่นี่ ตัวจิตปฏิสนธิจิตที่นี่ แต่ไปคิด ไปตรึกในธรรมะของพระพุทธเจ้า อยู่ที่หลาย ๑๐๐ โยชน์ แล้วก็ว่า “นั่นเป็นธรรม นั่นเป็นธรรม.. ธรรมสูญเปล่า”

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาปริยัติมาเพื่อปฏิบัติ ไม่ใช่ศึกษามาเพื่อเป็นธรรม “สัญญาจำเป็นธรรมเดี๋ยวก็ลืม” พระไตรปิฎก อ่านแล้วเดี๋ยวก็ลืม ทบทวนแล้วทบทวนเล่า ใครปฏิบัติอย่างไร ต้องทบทวนตลอดไป แต่ถ้าเป็นสัจธรรม ไม่มีทาง ! มันเป็นความจริงอยู่กับใจนั้น ไปทบทวนอะไรมัน ไปอ่านอยู่ข้างนอก

ดูสิ เราเก็บของไว้ในบ้านเราเอง ทุกอย่างสมบูรณ์หมดเลย แต่วิ่งไปหาของนอกบ้าน แล้วมันจะเจอไหม บอกว่าของอยู่ที่ธนาคาร หรืออยู่ที่ตู้นิรภัย แล้วจะไปหามัน ทั้งๆ ที่เราเก็บอยู่ในบ้านนั่นล่ะ แล้วอย่างนี้จะหาเจอไหม

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมะสาธารณะ ธรรมะของเราเป็นธรรมะในหัวใจ เป็น “ธรรมะส่วนบุคคล” สมาธิเป็นสมาธิของเรา ปัญญาเป็นปัญญาของเรา

สาธุ.. เวลาเราศึกษาธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นปริยัติ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสมมุติบัญญัติ ที่เราเกิดมาเจอไง เห็นไหม เราเกิดมาเจอ หลวงปู่มั่นท่านก็เกิดมาเจอ ครูบาอาจารย์เราท่านก็เกิดมาเจอ แล้วท่านต้องมารื้อค้นของท่าน เพราะไม่มีครูบาอาจารย์

แต่ตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมาถึงเรานี้ เรามีครูมีอาจารย์นะ ผิดถูก เราสนทนาธรรมกัน “ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง ผู้สนทนาธรรม นี่ธรรมะมีอันเดียว ! สัจธรรมมีอันเดียว !”

พระศรีอริยเมตไตรย ก็จะมาตรัสรู้อย่างนี้ อนาคตวงศ์ก็ต้องมาตรัสรู้อย่างนี้ ธรรมะจะเป็นอย่างนี้ เพราะมันเป็นความจริงเหมือนกัน มันเกิดจากฐีติจิต เกิดจากปฏิสนธิจิต เกิดจากต้นกำเนิด “ไม่ใช่เกิดจากการสูญเปล่า”

การศึกษาธรรมะมา มันไกลจากตัวไง ทิ้งบ้านของตัว แล้วก็ไปแสวงหาทรัพย์สมบัติจากข้างนอก แล้วจิตมันยังเกิดอยู่ ไฟไหม้บ้านอยู่ บ้านโดนเผาผลาญอยู่ ไปหาทรัพย์สมบัติข้างนอก แล้วทรัพย์สมบัติจะเอาไปไว้ที่ไหน ก็เอาไปไว้ที่สาธารณะอยู่ข้างนอกนั่น โจรมาก็ปล้นชิงไปอยู่วันยังค่ำ

นี่ไงสมบัติ เห็นไหม ดูสิบุญโดยกุศลอามิส สิ่งต่างๆ เป็นทิพย์ๆ เข้ามาสู่ใจ เป็นทิพย์มันก็เวียนตายเวียนเกิดนะ มันเป็น “ผลของวัฏฏะ” แต่ถ้ามันเป็นอริยสัจ มันจะเข้าสู่ใจเลย เข้าสู่ตัวเราเลย เข้าสู่ฐีติจิตเลย เข้าสู่ความเป็นจริงอันนี้ แล้วความจริงอันนี้ มันติดข้องอยู่นี่ แล้วเราจะรื้อค้นมันอย่างไร

นี่ไง เริ่มต้นจากตรงนี้ แล้วมันจะไม่สูญเปล่านะ ไม่สูญเปล่าเพราะเราเริ่มต้นจากถูกต้อง พอถูกต้องแล้ว จิตมันสงบแล้ว เราออกวิปัสสนา คือบ้านเราสกปรก เราจะรื้อทำความสะอาดในบ้านเรา บ้านคนอื่นสกปรก มันเรื่องของเขา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ มันก็เหมือนกับเครื่องทำความสะอาด แล้วมันอยู่นอกบ้าน มันจะทำความสะอาดสังคม นั่นก็เป็นประโยชน์กับสังคม แต่ความสกปรกในบ้านเรา ใครทำให้เราไม่ได้หรอก เราจะต้องทำของเราเอง ถ้าทำของเราเอง มันจะย้อนกลับ นี่ “ทวนกระแส”

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทวนกระแสเข้าไปสู่ฐีติจิต ไม่ใช่ทวนกระแสเข้าไปสู่ต้นน้ำ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำนั้น มันเป็นบุคลาธิษฐาน ให้เห็นว่า ปัญญาระดับต้นน้ำ ระดับกลางน้ำ ระดับปลายน้ำ

ต้นน้ำมันก็คือฐีติจิต คือตัวเริ่มต้น นี่ไงทวนกระแสเข้าสู่ใจ ต้นน้ำ ปลายน้ำมันก็คือแม่น้ำ มันไม่ใช่ความรู้สึกเรา

กระแสของความคิด เวลามันไหลพรั่งพรูออกไป มันเกิดจากอะไร ความคิดมันเกิดจากอะไร ถ้าเราควบคุมต้นน้ำได้ เราควบคุมใจเราได้ ความคิดมันมาจากไหน มันจะไม่สูญเปล่านะ

พลังงานของใจมีคุณค่ามาก แล้วเราปล่อยให้มันสูญเปล่า คำว่าสูญเปล่า มันก็เหมือนการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นของผู้ที่ปฏิบัติใหม่ มันล้มลุกคลุกคลานนะ เหมือนกับนักกีฬาเลย ในเมื่อเขาจะมีความชำนาญ หรือว่าเขาเล่นกีฬาอย่างนั้นไม่ได้ ลงไปมันเก้อๆ เขินๆ สู้อะไรเขาไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราฝึกไปบ่อยครั้งๆ เข้า นักกีฬาชนิดนั้นเขาเล่นจนชำนาญใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นมันก็จับผิดจับถูก มันจะว่าใครไม่ได้นะ ไอ้การว่าใครว่าผิดถูกมาจากเริ่มต้นนี้ ไม่ใช่ว่าใคร แต่ว่าปฏิบัติไปแล้วสิ เวลาปฏิบัติไป เราจะเข้าสู่กระแส เข้าสู่ความจริงอย่างไร

ถ้าเข้าสู่ความจริง การปฏิบัติจะให้มันถูกไปเลย มันไม่มีหรอก คนทำงาน มันผิดมาทั้งนั้นแหละ การปฏิบัติมันก็มีผิดมีพลาดบ้าง แต่ความผิดพลาดบ้างนี้ อย่าให้กิเลสมันยึด อย่าให้กิเลสมันมั่นใจสิ ว่าสิ่งนั้นเป็นคุณธรรม นี่ไงมันสูญเปล่าตรงนี้ สูญเปล่าโดยที่กิเลสมันเข้ามามีส่วนด้วย แล้วกิเลสมันมาบัญชาการหมดเลย แต่เวลาเราปฏิบัติ เราต้องฝืนมัน “ฝืนความคิดคือฝืนกิเลส”

เพราะกิเลสมันเป็นอนุสัย กิเลสมันอยู่ที่ฐีติจิต กิเลสมันอยู่ที่ภพ ความคิดทุกอย่าง กิเลสมีส่วนหมด “ความคิดของมนุษย์ทั้งหมด ! เจือไปด้วยกิเลส” แต่พอเราทำความสงบ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นั่นแหละกิเลสสงบตัวลง เพราะถ้ากิเลสมีตัวตนอยู่ มันสงบไม่ได้

ถ้ามันสงบได้ ดูสิเวลาเราอัปปนาสมาธิ สงบจนคิดไม่ได้เลย สงบจนใช้ประโยชน์ไม่ได้ สงบจนไม่มีสิ่งใดจะเคลื่อนไหวเลย แต่พอเวลามันคลายตัวออกมา เป็นอุปจารสมาธิ แล้วเราน้อมไปพิจารณาของเรา นี่มันจะเป็นผลประโยชน์ขึ้นมา เป็นผลประโยชน์เพราะมันไปรู้ไปเห็น

สมบัติจากข้างนอก สมบัติทางวิชาการที่เราเข้าใจต่างๆ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สมบัติในบ้านเรา เราพิจารณาของเรา กระแสมันถึงกัน เวลาถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันพิจารณากาย มันเห็นกาย มันสะเทือนเลื่อนลั่นนะ

เปรียบเทียบเหมือนเรานี้ไม่เคยมีเงินเลย แล้วเราไปเจอกองเงินนั้น หนึ่งล้านบาท ห้าล้านบาท อย่างนี้เราจะตื่นเต้นไหม ตื่นเต้นแน่นอน ! เราได้ยินกันมา “เงิน เงิน เงิน” แต่เราก็ไม่รู้จักว่าเงิน แต่พอไปเจอเข้า อู้ฮู.. เงินมันขนาดนี้ จิตถ้ามันสงบแล้ว เวลาเราเห็นกาย มันสะเทือนอย่างนั้นเลย

เงินของจริงใช่ไหม เงินหนึ่งล้าน เงินห้าล้านนี้ เอามาใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย จิตพอมันไปเห็นกายเข้า มันถูกต้องตามข้อเท็จจริง มันถูกต้องตามสัจธรรม มันถูกต้องเพราะจิตมันเห็นของมันจริง มันสะเทือนเลื่อนลั่น ใหม่ๆ มันเป็นอย่างนั้น

แต่พอเรามีเงินหนึ่งล้าน มีเงินห้าล้าน แล้วเราใช้ประโยชน์ของเราบ่อยครั้งเข้าๆ ความรู้สึกมันจืดลงไหม ความรู้สึกความนึกคิดที่ว่า เราบริหารเงิน มันไม่ตื่นเต้นเหมือนเราได้เงินครั้งแรกใช่ไหม

นี่พอมันเห็นกาย มันพิจารณากายบ่อยครั้งเข้า ครั้งแรกมันจะขนพองสยองเกล้า ผู้ที่ไม่เคยเห็น พอไปเห็นใหม่ๆ มันเป็นอย่างนั้นหมด แต่พอมันเห็นบ่อยครั้งเข้า มันมีความชำนาญมากขึ้น ความตื่นเต้นอย่างนั้น มันก็เริ่มเบาลง เหมือนเวลาปฏิบัติ เวลาจิตเป็นสมาธิ เวลามันเป็นปีติ โอ้โฮ.. มีความสุขมาก มีความสุขมาก เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมันมีปีติเลย .. มี ! แต่เพราะมันคุ้นชิน

มันมีของมัน เพราะถ้าเรามีเหตุมีผล เราสร้างเหตุผล เราจะรักษาใจของเราได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุมีผล เราไม่รักษาใจของเรา เห็นไหม มันสูญเปล่า..

“สูญเปล่าเพราะตั้งแต่เราไม่รักษา” ไม่รักษากิเลสมันก็ครอบงำไง ถ้ารักษา กิเลสเข้ามาไม่ได้ สติยันมันไว้ “กิเลสไม่ให้เข้ามา ! กิเลสไม่ให้เข้ามา !” รักษาใจเราไว้

นี่เริ่มต้นจากความจริง แล้วมันลำบากไหม.. ลำบากสิ ! “ทวนกระแส” ปลาเป็น ไม่ใช่ปลาตาย ปลาตายไม่ต้องทำอะไรเลย น้ำพัดมันไป แต่เราคือปลาเป็น ดูสิ เวลาปลามันจะวางไข่ มันต้องขึ้นไปต้นน้ำ มันจะไปวางไข่ของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เราจะเอาชนะตัวเราเอง เราจะเอาชนะกิเลสของเรา แล้วทำไมเราไม่มีสติล่ะ เราต้องมีสติของเรา เราต้องคุมของเรา เห็นไหม ถ้าเรามีสติ เราคุมอย่างนี้ มันถึงเป็นธรรมไง ถ้าไม่อย่างนั้นเป็นโลกหมด เป็นโลกคือโลกียะ คือสัญชาตญาณ เป็นโลกแล้วได้อะไรขึ้นมา โลกมันก็ได้ผลตอบสนองเป็นโลกใช่ไหม

“โลกคืออะไร โลกคือวัฏฏะ ผลตอบสนองคือสูญเปล่า” แล้วจะเวียนตายเวียนเกิดไป ปากจะบ่นพร่ำเพ้อนิพพานขนาดไหน มันก็หมุนไป มันไม่มีทางเข้ามาเป็นความจริงได้ ! แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา “โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” ใครจะเชื่อไม่เชื่อ มันเรื่องของเขา เพราะหัวใจดวงนี้มันรู้เอง

เราโกหกคนอื่นได้หมดนะ แต่เราโกหกตัวเองไม่ได้หรอก ถ้ามันสงสัย “เอ๊ะ.. ทำไมมันเป็นอย่างนี้ล่ะ ทำไมมันเป็นอย่างนี้” ถ้ามันสงสัยอยู่นะ มันจะเป็นจริงไปไม่ได้หรอก ถ้าไม่สงสัย ไม่สงสัยเพราะเหตุใด

เวลากิเลสมันขึ้น เวลาเราพิจารณาไป เราปฏิบัติไป มันจะมีข้อต่อรองอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ ถ้าข้อต่อรองเกิดขึ้น เราจะต้องมีสติปัญญา ข้อต่อรองนี้สำคัญมาก ข้อต่อร้องนี่ดี ดีที่ไหน ดีเพราะมันเป็นเหตุเป็นผลที่เราต้องดูแลไง

เวลาปฏิบัติไป ทุกคนจะบอกว่า “ว่างหมดเลย หากิเลสไม่เจอ อะไรก็ทำไม่ได้” นี่คือข้อต่อรอง ข้อทดสอบ แต่ถ้ามันไม่มี “นี่คืออะไร ไหนว่าไม่มี ถ้าไม่มีแล้วนี่คืออะไร ทำไมมันโผล่ขึ้นมา” พอมันโผล่ขึ้นมา แล้ ถ้ามันไม่ใช่ มันสงสัย “นี่อะไร”

ถ้าปฏิบัติไปโดยสติ มหาสตินะ มันชัดเจนอย่างนี้เลย มันชัดเจนแม้แต่ความคิด แม้แต่สิ่งใดที่สะดุดใจเรา มันจับได้หมด แต่ถ้าจิตใจเราไม่พัฒนาขึ้น ดูสิ ในมุตโตทัย “ธรรมสถิตอยู่ในหัวใจของใคร” ถ้าสถิตในหัวใจของปุถุชน มันเซ่อๆ ซ่าๆ พอบอกนิพพานๆ มันก็เชื่อ “สูญเปล่า” บอกนิพพานแล้วมันเชื่อ มันก็นอนจมอยู่กับนิพพานอยู่นั่นไง มันไม่ได้อะไรเลย

แต่ถ้าธรรมสถิตในหัวใจของคนที่มีคุณธรรมขึ้นมา พอบอกนิพพาน มันถามว่า “นิพพานจริงเหรอ ถ้านิพพาน ทำไมมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ นิพพาน ทำไมมันมีอาการวูบวาบสั่นไหวขนาดนี้ ถ้าขนาดนี้ มันต้องไม่ใช่ !” นี่ไง ข้อทดสอบต่อรองนี้ มันทำให้เราตรวจสอบ ถ้ามีการตรวจสอบ มีการพิจารณาขึ้นมา คือมีงานไง

ในการปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติไม่ได้ หรือทำจิตสงบไม่ได้ หรือเราออกวิปัสสนาไม่ได้ คือมันไม่มีงานทำ ถ้าไม่มีงานทำ ดูสิ เราไปตากแดดตากฝน เดินไปเดินมา มันเป็นทุกข์นะ แต่ถ้าใจมันมีธรรม ใจมันมีงาน จะตากแดดตากฝน ไม่เกี่ยว เพราะความรับรู้จากภายนอกกับความรับรู้จากภายใน

ถ้าความรับรู้จากภายใน พอจิตมันหมุน ปัญญามันเกิดขึ้นมา แล้วปัญญาเห็นไหม ดูสิระหว่างความคิดกับจิต จิตเป็นพลังงานความคิด เห็นไหม มันกระทบกันอยู่ข้างในแล้ว สิ่งที่ว่า “วัตถุธาตุ วัตถุธาตุ” มันจากข้างนอก

แต่นี่อารมณ์ความรู้สึก มันเป็นวัตถุอันหนึ่ง จิตมันจับต้องได้ แล้วมันใคร่ครวญ มันแยกแยะของมัน เห็นไหม ฝนตกแดดออก เดินจงกรมกลางแดดเปรี้ยงๆ มันไม่ออกมารับรู้หรอก มันหมุนของมัน มันจะฆ่ากิเลสของมัน มันเป็นพลังงานของมัน เป็นการกระทำของมัน มันสูญเปล่าตรงไหน ทั้งที่ตากแดดเปรี้ยงๆ นะ เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน มันทำได้ทั้งนั้นแหละ

แต่ถ้าไม่มีงานทำ มันอ่อนแอ มันไม่สู้ มันไม่มีการกระทำ แต่ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา มันทำของมันขึ้นมา แล้วมันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมา

ในการกระทำนั้น มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันรู้เองโดยชอบ มันจะรู้จากภายใน ถ้ามันไหว้วานกันได้ ถ้ามันซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ เศรษฐี มหาเศรษฐี ก็เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว เขาจะซื้อหมดเลย

แต่นี่ในเมื่อเงินมันซื้อไม่ได้ สิ่งต่างๆ มันแสวงหาจากที่อื่นไม่ได้ มันจะแสวงหาได้ทางเดียว คือในทางจงกรม ในการนั่งสมาธิ ภาวนานี้เท่านั้น ! เพราะ “จิตแก้จิต” มันต้องเอาจิตนั่นแหละเข้าไปแก้มัน

สิ่งที่ว่า “ทำไมมึงมาเกิด ทำไมมึงหลงมา ทำไมมึงมาทุกข์ยากอยู่นี้” แล้วเวลาจะเข้าไปชำระล้าง จะเข้าไปต่อสู้นี้ “ทำไมอ่อนแอ ทำไมไม่สู้” แล้วเวลามาเกิด เวลาล้มลุกคลุกคลานมา เวลาทุกข์ยากขึ้นมานี่คอตก ให้กิเลสมันกระทืบเอา กระทืบเอา เวลาจะต่อสู้กับมัน ทำไมไม่มีกำลัง เห็นไหม ถ้ามันปุบปับใจขึ้นมา มันมีกำลังขึ้นมา มันก็จะย้อนกลับมา

ความสุขความทุกข์ในการเกิดนะ ทุกคนเกิดมาจากพ่อจากแม่ จะบวชเป็นพระ พระก็มีพ่อแม่ มีชาติตระกูลทั้งนั้น การห่วงชาติตระกูล ทุกคนก็ห่วง ใครบ้างมันจะไม่ห่วง แต่ห่วงชาติตระกูล กับจะเอาตัวเองให้รอด เพื่อที่ชาติตระกูลได้บุญกุศล นี่ไง มันคิดได้ทั้งนั้นแหละ

ถ้าหัวใจเป็นธรรมนะ มันจะคิดมาเป็นธรรม ถ้าหัวใจมันเป็นกิเลส มันห่วงไปหมด ห่วงหน้าพะวงหลัง แล้วก็สูญเปล่าไปทั้งหมด สูญเปล่าจากข้างนอก สูญเปล่าจากข้างใน สูญเปล่าแล้วไม่มีอะไรติดไม้ติดมือมาเลย เกิดตายอีกชาติหนึ่ง

เราเกิดมาแล้ว สิ่งต่างๆ ควรกระทำ เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เห็นไหม มันเป็นไปของมัน มันเป็นไป ไม่ใช่ลอยมาจากฟ้านะ “พุทธศาสนา ไม่มีอะไรเป็นของฟรี” เวรกรรมมีหมด “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ทำดีทำชั่วจากภายนอก ทำดีทำชั่วจากภายใน

ดูสิความคิดนี้ เห็นไหม นึกบ่อยๆ คิดบ่อยๆ ย้ำคิดย้ำทำบ่อยๆ จนเคยชิน นี่ไงพันธุกรรมของจิตมันได้สะสมแล้ว มันได้กระทำแล้ว แล้วถ้าเราคิดแต่เรื่องดีๆ พอคิดเรื่องดีๆ แล้วมีสติปัญญา มันเชิดชูของมัน เชิดชูสิ เพราะคิดแต่เรื่องดีๆ มันจะมีความรื่นเริง มีความอาจหาญ มันไม่เฉา ไม่เหงาไม่หงอย เห็นไหม แล้วเรามีสติปัญญา ใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า

คำว่า “ปัจจุบันของสมาธิ” คำบริกรรมกับจิต มันจะเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเราปล่อยให้มันดื้อด้านของมันไป แล้วเราก็ว่าเราบริกรรมอยู่ นี่ไง มันเข้ามาเสียบช่องว่าง ระหว่างความคิดกับจิต แล้วเวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ในเมื่อความคิด มันคิดสิ่งต่างๆ มีแต่ความทุกข์ใช่ไหม เราใช้สติปัญญาไล่ตามมันไป ไล่ตามความคิดไป

ไล่ตามความคิดนะ ถ้าดูเฉยๆ เหมือนเรานั่งเพ่งเปลือกส้ม เอาส้มมาวางไว้ แล้วกูจะดูให้เปลือกส้มมันหลุดออกไปจากส้ม กูจะกินส้ม อีกชาติหนึ่งก็ไม่ได้กิน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ไม่มีการปอกส้ม ไม่มีการแยกแยะ ไม่มีการใช้ปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาไล่ความคิดไป “ความคิดมันคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเปลือก” เห็นไหม

ความคิดกับจิต ความคิดมันเป็นเปลือก เราปอกมันด้วยสติปัญญา เราปอกมัน “คิดเรื่องอะไร คิดเรื่องนี้มีเหตุมีผลอะไร” บางทีความคิดขึ้นมา มันเจ็บแสบปวดร้อน มันขมไง เปลือกส้มมันขมนะ ลองเอาเปลือกส้มมาเคี้ยวสิ ขมน่าดูเลย

ถ้ามันคิดเรื่องไม่ดี เรื่องความเจ็บช้ำน้ำใจ อู้ฮู.. ขมน่าดูเลย แต่ถ้ากินน้ำตาลมันหวานนะ ถ้ามันคิดเรื่องดี โอ้โฮ.. จะเป็นพระอรหันต์แล้ว ภาวนาเก่งมาก ภาวนาเป็นคนดี สังคมเขายกย่อง ศรัทธา อู้ฮู.. เขาชื่นชม ถ้าคิดเรื่องหวานๆ นะ โอ้โฮ.. อร่อย “นี่มันเป็นเปลือกส้มไง !”

มีสติปัญญา นี้คือปัญญาอบรมสมาธิ เขาชมเพราะ เขาชมผิดตัว เขาชมคนผิด เขาชมพระพุทธเจ้า เขาไม่ได้ชมมึงหรอก มึงหลงตัวเองไง ! ถ้าสติปัญญามันตามไป เห็นไหม มันจะปอกเปลือก ถ้าปอกเปลือกคือปอกความคิด ถ้าปอกความคิดมันจะเข้าสู่จิต นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ พอมันเป็นสมาธิขึ้นมา คืออะไร คือปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นอดีตอนาคต ผลั้วะ.. ความคิดเกิดแล้ว ความคิดเกิดเพราะอะไร ความคิดมันเกิดจากจิต จิตเป็นปัจจุบันใช่ไหม จิตคือพลังงาน แต่ความคิดที่มันคิดออกไปนะ เป็นอดีตอนาคต ถ้าอดีตอนาคตมันเกิดขึ้น มันก็เป็นสามัญสำนึกเรานี่ไง

นี่ไง “สูญเปล่า” ไปอีกแล้ว แต่ถ้ามีสติปัญญาไล่เข้ามา เห็นไหม มันไล่เข้ามา ไล่เข้ามา ปอกความคิด ปอกเปลือกมัน นี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าไม่ได้ปอกมัน ก็พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธก็เป็นการปอกอย่างหนึ่ง ปอกโดยการบริกรรม

เวลาเราจะปอกเปลือก เห็นไหม เราปอกเลย เพราะว่าปอกเป็น เราไม่ต้องใช้ความคิด เราปอกเอง นี่เราพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันปอกด้วยคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนมันเป็นหนึ่ง นั่นมันก็ปอกความคิด เพราะถ้าจิตมันสงบเป็นอย่างนี้ ปัจจุบัน !

ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เป็นปัจจุบัน แล้วปัจจุบันนี้ น้อมออกไปวิปัสสนา ถ้ามันคิดไม่ได้ มันวิปัสสนาไม่ได้ เราต้องรำพึงขึ้นมา นึกขึ้นมา

“ก็ไหนบอกว่ามันเป็นสัญญา แล้วนึกขึ้นมาได้อย่างไร”

ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากด้วยความสูญเปล่า พอมันนึกถึงสัญญา มันว่ามันเป็นมรรคเป็นผล แล้วมันไหลไปตามสัญญา แต่พอจิตมันสงบ เราปอกเปลือกส้มแล้ว เรารู้ว่าเปลือกส้มมันขม แล้วถ้าเปลือกส้มนี้ เขาเอาไปตากแห้ง เขาเอาไปดองเค็ม เปลือกมันจะหวาน หวานเพราะเขาได้กระทำมา เรารู้ แต่ทีนี้พอเรารู้ขึ้นมา จิตมันสงบแล้ว แล้วเราจะดำเนินการต่อไป มันเกี่ยวเนื่องอะไร

นี่มันระหว่างความคิดกับจิต มันมาเกี่ยวเนื่องส้มกับเปลือกส้ม ถ้าส้มกับเปลือกส้มนะ มันก็เอาสิ่งนั้นมาใคร่ครวญ เพราะอะไร เพราะมันจะย่อยสลายทั้งส้ม และเปลือกส้มนั้น

ส้มคือสัญญาอารมณ์ คือขันธ์ ๕ ความคิด พลังงานคือตัวจิต ถ้าเวลามันพิจารณาไปแล้ว พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยปัญญาแยกแยะ พอแยกแยะขึ้นมา พอมันปล่อยหนหนึ่ง ตทังคปหาน มันปล่อยอะไร มันปล่อยด้วยสติปัญญา นี่ไง พอมันขึ้นมา จิตมันก็ว่างไปด้วย นี่ไงมันจะปล่อยหมด

แล้วถ้ามันไม่มีการก้าวเดิน ไม่มีการกระทำ นี่ไง นี่เริ่มต้นจากที่ว่า “สัญญาเป็นโทษ สัญญาเป็นโทษ” สัญญาเป็นโทษจริงๆ นะ คนปฏิบัติไปนี่ สัญญาเป็นโทษมาก เพราะเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ หลวงตาท่านพูดบ่อย หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยเฉลยผลการปฏิบัติเลย ท่านพูดแต่เหตุตลอด สมัยหลวงปู่มั่นท่านไม่เฉลยเลย เพราะถ้าเฉลยขึ้นมาแล้ว คนมันจะจำสัญญานั้น แล้วไปสร้างภาพ

นี่คือว่ามันเป็นโทษ เป็นโทษเพราะอะไร เพราะนิพพานนี่ไง เดี๋ยวนี้นิพพานมันรู้ไปหมดเลย อู้ฮู.. ว่าง อู้ฮู.. นิพพาน “พูดแต่ปาก”

คนปฏิบัติจริงรู้หมด ถ้ามันเป็นความจริงแล้วเขาสบตา มองตานี่ “เป็นจริงหรือเปล่า” ถ้าเป็นจริงขึ้นมา มันมีเหตุผลตรงนี้ นี่ไง ถ้ามันเป็นโทษ คือเป็นโทษตรงนี้ ตรงสัญญาที่เป็นความจำ พอจำเข้ามาแล้ว เราหลงในสัญญาของเรา ย้ำคิดย้ำทำ จนคิดว่ามันเป็นความจริง

นี่ไง อู้ฮู.. เราสิ้นกิเลส อู้ฮู.. คนยกย่องสรรเสริญ มันคิดว่ามันดี จนมันหลงตัวมันเองไง ทั้งๆ ที่เขาชมคนผิดนะมึง มึงบ้าแล้ว ถ้าย้ำคิดย้ำทำ เห็นไหม สัญญานี่ แม้แต่หยาบๆมันยังเป็นอย่างนั้นเลย แต่ถ้าเรามีสติปัญญา คือของมันมีอยู่แล้ว

ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าไม่มีสัญญา เรานี่เป็นคนบ้า ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เรารู้ผิดชอบชั่วดี เพราะสัญญาที่เขาสั่งสอนกันมานี้ เราจำมา สัญญามันจำมา สังขารมันปรุงมันแต่งใช่ไหม “สัญญานี่แหละละเอียดนัก” สัญญานี่มันอยู่กับจิต แม้แต่ตัวมันเอง มันยังจำตัวมันเองเลย แล้วเวลามันจำสิ่งต่างๆ ที่เราคุยกัน ภาษาต่างๆ นี้ เราจำมาทั้งนั้น ฝึกจนคล่อง “ยกมือ” เห็นไหม จิตสั่ง ยกมือเลย

นี่ก็เหมือนกัน มันฝึกจนมันคล่อง โดยสัญชาตญาณไปเลย แล้วเวลามันสร้างภาพขึ้นมา มันสร้างมาละเอียดยิ่งกว่านั้นอีก ทีนี้เวลาจิตมันสงบเข้าไป หรือเวลาครูบาอาจารย์เทศนาว่าการขึ้นมา ถ้ามันจำได้ มันไปสร้างภาพ ละเอียดกว่านี้อีก สร้างภาพมาจนเชื่อ เราก็เชื่อนะ “เอ้อ.. มันเป็นแล้วมันว่างเนาะ มันนิพพานจริงๆ แหละ” แต่ไม่รู้นิพพานอะไร เพราะไม่มีเหตุมีผล

นี้เพียงแต่ว่า ถ้าจิตมันสงบ แล้วมันวินิจฉัยไม่ได้ หรือมันไม่มีงานทำ ถึงรำพึง ก็ต้องรำพึงขึ้นมา รำพึงก็คือคิดนี่แหละ เวลาคิด เราคิดด้วยสมอง เราคิดด้วยโลกียปัญญา ไม่มีอะไร เราก็คิดขึ้นมา บริหารสมอง เดี๋ยวสมองมันจะฝ่อ คิดไว้ ต้องใช้บริหารสมอง

นี่พูดถึงทางโลกนะ แต่เวลาทางจิตล่ะ รำพึงจากสมาธิ สมาธิมันคิดได้อ่อนๆ คิดได้ด้วยการรำพึง รำพึงถึงกาย เวทนา จิต ธรรม มันเห็น แต่เวทนาไม่ต้องรำพึงเลย มันเกิดตลอดเวลา พอรำพึงขึ้นมา เห็นไหม มันก็คือสัญญานี่แหละ แต่นี่สัญญาแบบคนใช้เป็น แต่ถ้าสัญญาของคนใช้ไม่เป็น สัญญามันจูงจมูกไง มันให้ค่ามาเลย “ดีชั่ว นี่คือสัญญา” มันสร้างภาพมาอย่างนั้น

แต่ถ้ามันเป็นการรำพึงขึ้นมา มันดึงมา ดึงขันธ์ ๕ ขึ้นมา เพื่อแยกแยะ ดึงความคิดมาเพื่อจะวินิจฉัย รำพึงขึ้นมา พอพิจารณาไปแล้วมันปล่อย ปล่อยเพราะมันใช้ปัญญา มันจะรวมลงสู่ใจ ถ้าลงสู่ใจนะ พิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆๆ เป็นสมาธิ มันก็รวมลงสู่ใจ โดยขั้นของสมาธิ คือสมถะ คือสิ่งที่จุดเริ่มต้น สิ่งที่เป็นการกระทำที่จะไม่สูญเปล่า

แต่ถ้าไม่รวมลงสู่ใจ เวลาปฏิบัติแล้ว เวลาพิจารณาโดยสูญเปล่า โอ้โฮ.. คนที่พิจารณานะ เวลาพูดถึงธรรมะนี้ พูดด้วยจินตนาการได้จนทุกคนเขาเชื่อเลย อู้ฮู.. มันละเอียดลึกซึ้ง แต่ไม่มีฐาน ไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีสิ่งใดพูดให้มั่นใจได้เลย เพราะเขาเอง เขาก็พูดจากจินตนาการของเขา ว่าเพลิดแพร้วไปหมดเลย ไอ้คนฟังก็ทึ่งมากเลย แต่พอให้พูดรอบสอง “เอ๊ะ.. ไม่เหมือนกันแล้ว” ให้พูดรอบสาม ไม่เหมือนกันแล้ว เพราะไม่มีหลัก ไม่มีความจริงของใจ

แต่ถ้ามีความจริงของใจ ให้พูดแสนรอบ ! ล้านรอบ ! ก็อันเดียว เพราะมันมาจากความจริง แต่ถ้ามันไม่มีความจริง มันมาจากไหน เห็นไหม ความสูญเปล่าของโลก ยิ่งสูญเปล่าขนาดไหน เรายิ่งเห็นว่ามันมีคุณค่า แต่ถ้ามีการกระทำของเรา เห็นไหม เรากระทำตามความเป็นจริง

นี่พวกนั้นเขาบอกว่า “โอ๋ย.. นั่งสมาธิ เดินจงกรม โอ๋ย.. โง่มาก ไม่ได้ใช้ปัญญาเลย โอ้โฮ.. เดี๋ยวนี้เขาเลิกทำกันแล้ว เขาใช้ปัญญาหมดแล้ว” ปัญญาของอะไร ปัญญาอย่างนั้น เป็นปัญญาสูญเปล่า จำไว้ ! “ปัญญาสูญเปล่า”

ปัญญาสูญเปล่านี้ ทุกคนคิดได้นะ ทุกคนทำได้ เดี๋ยวนี้ทางวิชาการออกมามากเลย ในคอมพิวเตอร์มีมหาศาลเลย จนไม่รู้ว่าเราจะฟังว่าใครผิดใครถูก แต่ถ้าเรามีจริตนิสัย เรามีอำนาจวาสนา มันมีเหตุมีผล เราใคร่ครวญสิ “มันจริงหรือ”

“กาลามสูตร” ไม่ให้เชื่ออะไรเลย ไม่ให้เชื่อทั้งสิ้น เชื่อในการกระทำ แล้วเราทำได้จริงหรือเปล่า ถ้ามันทำได้จริงขึ้นมา เห็นไหม เริ่มต้นจากความจริง ถ้าเริ่มต้นจากความจริง มีความขยัน มีความหมั่นเพียร ความเพียรชอบไง เราทำด้วยความชอบธรรม มันจะผิดก็ผิด ผิดแน่นอน จริงๆ

เราจะบอกเลย คนปฏิบัตินี้ผิดหมด ! เริ่มต้นปฏิบัติ จะไม่มีถูกหรอก ผิดหมดแหละ ! ผิดก็ผิดสิ คนไม่ผิด แล้วมันจะถูกได้อย่างไร แต่ถ้ามันปฏิบัติไปแล้ว เพราะมันผิดใช่ไหม เหมือนคนไม่เคยทำงาน แล้วพอไปทำงาน มันจะทำได้ถูกไปเลย มันไปเอาที่ไหนมาถูก

จิตของเรา เราจะฆ่ากิเลส แล้วกิเลสกับเรามันเกิดมาด้วยกัน มันเป็นเพื่อนซี้กันมากับใจเรานี้ เกิดมาด้วยกัน เป็นบัดดี้กัน แล้วถึงเวลาจะผลักเขาออกไปเลย มันจะเป็นไปได้อย่างไรล่ะ

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอด ! สุดยอดโดยใช้ประสบการณ์ ใช้การกระทำ เกิดมาด้วยกัน กิเลสกับจิตมาด้วยกัน แล้วฆ่ามัน ! ฆ่ามัน ! ฆ่ามันด้วยการปฏิบัติ เห็นไหม ฆ่ามันด้วยความจริง

แต่นี่เกิดมาด้วยกันแล้วเราจะตายไปด้วยกัน เพราะเราไม่มีความจริงของเราขึ้นมา แล้วจะเอาแต่สุกเอาเผากิน ไม่มีความจริงจังกับเราเลย จริงจังของคนอื่น มันเรื่องของเขานะ คนไหนจริงจัง ทำงานด้วยสติปัญญาของเขา เขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต “ใครทำคนนั้นได้”

แล้วเวลาเขาปฏิบัติขึ้นมา ใครปฏิบัติแนวทางไหน ถ้าเขาทำของเขาได้ สาธุ.. สาธุ.. แต่ของเรา มันต้องเอาของเรา ทุกข์เราก็ทุกข์ เจ็บช้ำน้ำใจเราก็เจ็บ แล้วเราจะรื้อถอนมัน แล้วอุบายอะไร ที่มันจะทำได้

เหมือนเรากระหายมาเหลือเกิน อะไรที่กินแล้วดำรงชีวิตได้ ขอกินแล้ว เพราะต้องดำรงชีวิตอยู่ ถ้าไม่กิน ขาดใจตายนะ มันหิวโหยจนขนาดนั้นเลย แต่นี่หิวโหยมาขนาดไหน เราก็ให้มันกินไม่ได้

คนเราเกิดมาต้องมีอาหาร แต่หัวใจ มันหิวขนาดไหนนะ ดูสิ เวลาจิตมันไปเกิดในนรกอเวจี เวลาโดนไฟบรรลัยกัลป์มันเผาจนแหลก เผาจนมอดไหม้นะ แล้วมันก็เกิดขึ้นมาอีก เพราะมันยังไม่หมดกรรม จิตมันเป็นอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาต้องการอาหาร ถ้าไม่กินอาหารจนขาดใจตาย เพราะมันมีร่างกาย แต่ถ้าหัวใจล่ะ นี่ไงมันถึงได้ทุกข์ซ้ำๆ ซากๆ ไง ทุกข์ขนาดไหนก็ไม่เป็นไร เวลาร่างกายเรามีบาดแผล เราต้องเย็บต้องรักษา แต่เวลาเป็นแผลใจเต็มไปหมด แล้วเราจะไปเย็บมันที่ไหน มันเจ็บช้ำน้ำใจอยู่อย่างนั้นแหละ เลือดซ่กอยู่ข้างใน ไม่รู้ไม่เห็น จะทำมันอย่างไร

นี้ถ้าเรามีจริงจังขึ้นมา เราเห็นผลของมัน เราเห็นโทษของมัน แล้วเราทำจริงขึ้นมา เวลาจิตสงบแล้ว ถ้ามันไม่มีงาน เราก็ออกรำพึง ให้มันได้งานขึ้นมา ถ้ามันยังไม่สงบใช่ไหม แล้วเราใช้ปัญญาขึ้นมานี้ มันก็เพื่อความสงบนี่แหละ

สิ่งที่เขาบอกว่า “กรรมฐานไม่ต้องทำ สมาธิไม่ต้องทำ” สิ่งที่เขาทำๆ กัน ผลของมันก็คือสมาธิทั้งนั้นแหละ แล้วเป็นมิจฉาด้วย คือ “มิจฉาสมาธิ” ไง คือไม่รู้จักสมาธิ แล้วเข้าใจว่า การใช้ปัญญานั้น มันจะไปถึงนิพพาน มันจะเอานิพพานมาจากไหน “มันสูญเปล่า ! มันสูญเปล่ามาจากหัวใจที่หลอกลวง ! มันสูญเปล่าขึ้นมาจากหัวใจที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากนั้น !” แล้วตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้า

แต่ถ้ามีสติปัญญา มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือกรรมฐาน คือสมาธิ ! ใครทำอย่างไร เขาพูดของเขาไป แต่ผลลัพธ์มันเป็นอย่างนั้น ! ผลลัพธ์มันเป็นความจริง เพียงแต่มันเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร เพราะตัวเองไม่มีสติปัญญา ที่สามารถจะกลั่นกรองสิ่งที่ถูกที่ผิดได้ เพราะตัวเองไม่มีสติปัญญาพอ แต่ถ้าคนมีสติปัญญาพอ เห็นไหม มันกลั่นกรองของมัน มันจะรู้เลยว่า “มิจฉาไม่ใช่สัมมา” แล้วถ้ามันเป็นสัมมา สัมมาอะไร

นี่เวลามันสงบขนาดไหน ก็เป็นสมาธิ มันสงบ มันมีความสุขขนาดไหน มันก็เป็นสมาธิ เพราะอะไร เพราะมันยังไม่มีการกระทำ มรรคมันไม่ครบองค์ของมัน ถ้ามรรคครบองค์นะ “งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ” แล้วงานชอบ งานอะไรชอบ “งานของสมถกรรมฐาน” งานของการรื้อภพรื้อชาติ งานของสำนึกของมนุษย์

ถิ่นกำเนิดของคน สัญชาติอะไร ใครเป็นคนรับรอง จะถือกี่สัญชาติ จะถือว่ามึงเป็นใคร จิตเป็นใคร จิตนี้เป็นใคร “นี่สูญเปล่าหมด” สูญเปล่าเพราะไม่รู้จักตัวเอง สูญเปล่าเพราะทำตัวเองไม่เป็น แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม เราจะไม่สูญเปล่านะ แล้วตั้งใจ

พรุ่งนี้วันเข้าพรรษา ตั้งสัจจะ แล้วพิสูจน์กัน ใครดีใครชั่ว ใครสุขใครทุกข์ สาธุ.. เรื่องของเขา แต่เรื่องของเรา เราต้องเอาให้ได้ ต้องตั้งสัจจะ แล้วเอาของเราให้ได้ เราลงทุนลงแรงขนาดนี้

นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติ มันเป็นเรื่องปัจจัตตัง มันเป็นเรื่องหัวใจจากภายใน แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ในเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เห็นไหม เราอยู่กับสังคม สังคมเขาทำสิ่งใด “ใจเขา ใจเรา” ในเมื่อสิ่งใดๆ ที่เราไม่ชอบ เราไม่พอใจ เขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน

ฉะนั้น มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ก็เหมือน “ลิ้นกับฟัน” อยู่ด้วยกัน ต้องให้อภัยกัน อยู่ด้วยกัน ต้องเจือจานกัน ด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย ด้วยน้ำใจ ด้วยการให้โอกาสกัน ไม่ใช่ว่า “เรื่องของเขา เรื่องของเรา” แล้วจะตัดขาดเลยนะ ไม่ยุ่งกับใครเลย ถ้าไม่ยุ่งกับใครมันก็ต้องไปอยู่ในป่า อยู่องค์เดียว อยู่คนเดียว ถึงทำอย่างนั้นได้

แล้วถ้าถึงเวลาต้องทำอย่างนั้นนะ พวกเราจะปลีกวิเวก ถึงที่สุดแล้ว เราจะออกไปเพื่อจะทำจริงทำจังของเราขึ้นมา แต่ในขณะที่เราอยู่ด้วยกัน ใช่.. มันจะแบ่งปันของเราไป เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม “สังฆะ” คือสงฆ์ เห็นไหม ๔ องค์ ๕ องค์รวมกันขึ้นมาเป็นสงฆ์ ไม่เป็นสงฆ์ เป็นสังฆะ

เป็นสังฆะนี้ มันมีข้อวัตรปฏิบัติ มันมีความอยู่ร่วมกัน มันมีการกระทำต่อกัน ในเมื่ออยู่ด้วยกัน น้ำใสใจจริง เรามีน้ำใจต่อกัน แล้วเกื้อกูลต่อกัน เห็นไหม การปฏิบัติจะดีขึ้นนะ เพราะมันไม่มีการกระทบ แต่ถ้าการปฏิบัติมีการกระทบ เพราะในความรู้สึก มันก็กระทบอยู่แล้ว หัวใจเรามันกระทบอยู่แล้ว กระทบกับกิเลสของเรานี่แหละ ไม่ถูกใจซักอย่าง ไม่มีอะไรถูกใจเลย ถ้าไม่มีอะไรถูกใจเลย เราก็ต้องตั้งสติสู้กับมัน สู้กับความรู้สึกของเรานี่แหละ

สู้กับความรู้สึกของเรา เห็นไหม สู้กับความจริง ฝืนมัน เพื่อประโยชน์กับเรา พอฝืนมันแล้ว มันได้เหตุได้ผลขึ้นมา “ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง” เราคุยกัน เราปรึกษากัน คุยกันเป็นคติ ว่าคนนี้ทำอย่างนี้ แล้วจะได้อย่างนั้น

แต่มันเป็นเรื่องของเขานะ ถ้าของเรา เราทำอย่างไร เราพยายามเอาใจของเรา แล้วทำของเราให้ได้ ถ้าทำของเราได้ มันเป็นผลของเรา เดี๋ยวเราจะปรึกษา “ธรรมสากัจฉา” เราจะพูดให้ฟังบ้าง ถ้าพูดให้ฟัง “เป็นอย่างนี้ถูกต้องไหม” แก้ไขของเราขึ้นไป เห็นไหม นี่คือหมู่คณะที่ดี

เราบวชมา เราว่าเราก็มีบุญอยู่ เราเจอหมู่คณะที่ดีๆ เยอะ หมู่คณะที่ดีๆ ชวนกันภาวนา ออกป่าออกเขา ชวนกันไม่นอน วันพระวันเจ้านี่ไม่นอน เรื่องเนสัชชิก เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกินข้าวเลย กินข้าวต้องกินทุกวัน เรานี่อดนอนเป็นเรื่องธรรมดา การภาวนา หมู่คณะชวนกันทำอย่างนั้น มี.. ถ้าหมู่คณะชวนกันไปนอกลู่นอกทาง เราจะเสียหายได้

ฉะนั้น เพื่อนนี้หายาก ยิ่งในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม อย่างเช่นพระธุดงค์มาด้วยกัน ถ้าธุดงค์มาด้วยกัน เดินทางเหมือนกัน คนหนึ่งมันเหนื่อยล้าแล้ว ขอพัก อีกคนหนึ่งยังไปได้อีก ก็อยากไปก่อนเพื่อน นี่ไง หาที่ความสมดุลกันนี้ยาก

หัวใจเรา ขณะที่จะให้คิดเหมือนกัน มันก็ยาก ฉะนั้นหมู่คณะต้องเห็นใจกัน เราเกิดมาในสังคม เราเห็นใจกัน “เห็นใจกัน มันเป็นเรื่องมารยาทสังคม แต่ปฏิบัติ มันเป็นเรื่องส่วนตัว มันเป็นเรื่องของเรา !”

ฟังธรรมต้องฟังให้เป็น ถ้าฟังธรรมไม่เป็น มันก็บอกว่า “เรื่องของเราคนเดียวนะ” ถ้าเรื่องของเราคนเดียว เขาเรียกว่า “คนเห็นแก่ตัว” แต่ถ้าเรื่องของสังคม มันเป็นเรื่องมารยาทในสังคม แต่เรื่องการปฏิบัติ ต้องเราคนเดียว !

ฟังธรรม ถ้าเป็นธรรม ที่ว่า “ธรรมเหนือโลก เหนือโลก” มันต้องเป็นเรื่องเอกเทศ เรื่องของเรา แต่ขณะที่เราอยู่ในโลก อยู่ในสังคม เห็นไหม มันถึงมีธรรมวินัย เพื่อความสมานฉันท์ เพื่อความเป็นไปของสังคม

นี่ถ้าฟังธรรมเป็น มันจะเข้าใจ ถ้าฟังธรรมไม่เป็น เห็นไหม “โลกกับธรรม.. อะไรเป็นโลก อะไรเป็นธรรม” เป็นโลกคือเห็นแก่ตัว โลกมันแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ถ้าเป็นธรรม มันเสียสละ เกื้อกูลต่อกัน โลกกับธรรมนี้มันอยู่ด้วยกัน เหมือนเหรียญสองด้าน

“ทุกอย่างมีดีและชั่ว” แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ พูดแล้วมันสะเทือน สะเทือนจริงๆ “มรรคหยาบ มรรคละเอียด”นี้ เวลาปัญญามันขึ้นแต่ละชั้น ปัญญาขั้นนี้นะ โอ้โฮ.. มันสุดยอดมากเลย พอมันพาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ไอ้ที่ว่าสุดยอดนะ “มรรคหยาบ ฆ่ามรรคละเอียดไง” ถ้าเราว่าสุดยอดแล้วเรายึดกับสุดยอดนี้ เราเจริญไม่ได้ เพราะเรายึดกับปัญญาที่เราว่าดี เราจะพัฒนาขึ้นไปไม่ได้เลย

“มรรคหยาบ ฆ่ามรรคละเอียด” เพราะว่าเรายึดนะ มรรคละเอียดจะไม่เกิดกับเราเลย แต่พอมันเป็นมรรคละเอียดขึ้นไป เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่ไง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มรรคหยาบมรรคละเอียด กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด ละเอียดสุด กิเลสนี้มันลึกลับซับซ้อน มันยังจะปลิ้นปล้อนกับเราอีกเยอะมาก

คนที่ประพฤติปฏิบัติ พิจารณากาย กายนอก กายใน กายในกาย แต่ละชั้นนี้ มันปลิ้นปล้อน หลอกหลอนอีกเยอะนัก แต่ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ การชำระกิเลสเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องสู้มัน !

ทีนี้การสู้มัน เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมา ท่านสมบุกสมบั่นมา เห็นใจมากนะ หลวงปู่มั่นนี้บอกว่า “หมู่คณะปฏิบัติมา การแก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” คือท่านอยากจะแก้ แล้วคนจะแก้อย่างท่าน คนที่มีความรู้ครอบคลุมขนาดท่าน มันหาได้ยากเพราะอะไร

อย่างพวกเราเป็นลูกศิษย์ลูกหา เราก็ชุบมือเปิบ ฟังจากท่าน เอาประสบการณ์จากท่าน เราพยายามเทียบเคียงจากท่าน เรายังไม่สู้กัน แล้วท่านไม่มีใครจะเทียบเคียงเลย ท่านต้องรื้อค้นเอง ท่านต้องปฏิบัติของท่านเอง นี่การครอบคลุมของการที่กิเลส มันจะทิ่ม มันจะไช มันจะหาทางออก มันจะตะแบง มันจะทำให้ล้มคว่ำล้มหงาย

ท่านต้องสู้มาด้วยตัวของท่านเอง ท่านถึงมีประสบการณ์เยอะไง การแก้จิต ถ้าคนไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนั้น ไม่เคยมีจิตที่โดนกิเลสมันกลั่นแกล้งอย่างนั้น ไม่มีกิเลสมันครอบหัว กระทำอย่างนั้น เราจะไม่รู้เลยว่า “กิเลสมันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ”

ขนาดมันอยู่ในหัวใจเรา นี่ก็ทุกข์เต็มทีแล้วนะ อู้ฮู.. ขนาดนี้ อู้ฮู.. กิเลสเต็มที่ เรายังไม่เคยเห็นกิเลสที่มันทำลายเราขนาดนั้นหรอก เพราะเรามีครูบาอาจารย์คอยบอก คอยชี้ คอยแนะ เห็นไหม “อันนั้นไม่ได้นะ อันนี้ไม่ดีนะ”

หลวงตาท่านบอกว่า “ตบมือไว้ตลอด” ตบมือคือความคิดมันจะเกิดไง เวลาความคิดจะเกิด “ตบมือไว้ ตบจิตไว้” ตบไม่ให้มันคิด ตบไม่ให้มันกระทำ ตบไว้

นี่ครูบาอาจารย์ ท่านทำกับเราขนาดนี้เลย แต่เราไม่รู้ว่าครูบาอาจารย์ท่านเมตตาเรานะ เราไม่รู้ก็ว่า “ดุชิบหาย” เอ้า.. ว่าไปนั่นเลย “อู้ฮู.. อะไรก็ไม่ได้” ไม่ได้เพราะมันจะเป็นโทษไง การย้ำคิดย้ำทำ มันก็เป็นนิสัยไม่ดี แล้วเราก็อยากจะชนะกิเลสกัน เราก็อยากจะมีคุณธรรมในหัวใจกัน

สิ่งใดที่มันเป็นประโยชน์กับเรา “คติธรรม” นะ ถึงบอกว่า ให้มั่นคง ให้จริงจัง ให้ทำความจริงขึ้นมา เราจะรู้จริงเห็นจริงขึ้นมา จะไม่สูญเปล่าทั้งชีวิตนี้ จะไม่สูญเปล่าทั้งการประพฤติปฏิบัติ จะไม่สูญเปล่าจากหัวใจของเรานะ

เราเป็นคนๆ หนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว วางธรรมและวินัยไว้ เพื่อให้เรายังมีร่องมีรอยในการปฏิบัติ ไม่มีคนสอน แต่มีครูบาอาจารย์เรา ที่ท่านรื้อค้นขึ้นมา แล้วคอยบอกคอยสอน

คอยบอกคอยสอนนี้สำคัญ แม้แต่ความคิดเห็นผิดเรานิดหน่อย เราใช้เวลาเป็นวันๆ เดือนๆ บางคนยังคิดไม่ได้นะ คิดไม่ได้หรอก

ดูสิ อย่างประเทศข้างเคียงเรา การพัฒนาที่แตกต่างกัน จิตใจ วุฒิภาวะที่แตกต่างกัน ความคิดก็แตกต่างกัน แล้วกว่าจะคิดได้นะ เราเสียเวลามากเลย เดี๋ยวนี้ประเทศข้างเคียงเรา เห็นไหม เขาต้องมีการช่วยเหลือเจือจานกัน เราพัฒนา เพราะเราเกื้อหนุนเขาตลอด

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ ท่านเกื้อหนุนเจือจานกัน มันทำให้เราง่ายไง นี่พอติดปั๊บ มาถึงพูดปั๊บ.. จบเลย ดูสิ เราจะสร้างสะพาน ยกเงินให้เขาเลย ทำให้เขาเลย แต่ถ้าให้เขาหาเงินเอง ให้เขาทำเองนะ อีก ๑๐ ชาติเขาก็ทำไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านช่วยเหลือเจือจานเรา มีคุณขนาดนั้นนะ แต่เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจนี้ มันก็เป็นที่วุฒิภาวะ ถึงคราวถึงการนั้น เราจะรู้ได้ เราจะรู้ได้นะ

หลวงตาท่านพูดไว้เป็นคติประจำ ตอนท่านเทศน์นะ ว่า “หมู่คณะจำคำพูดของผมไว้นะ ถ้าใครปฏิบัติมาถึงตรงนี้ จะมากราบศพ” เพราะมันซึ้งใจ ถ้าเราเข้าไปถึงจุดนั้น เราจะสะเทือนใจมาก แต่ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงจุดนั้น เราไม่รู้ พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง พูดอะไร เพ้อเจ้อ แต่พอเวลาเราเข้าไปจุดนั้นแล้ว มันจะคลานไปกราบศพ มันจะซึ้งใจมาก

หลวงตาท่านท้ากับพระประจำ เวลาท่านเทศน์จบ เราอยู่กับท่าน ท่านจะพูดอย่างนี้ เพื่อให้เราพิสูจน์ไง ให้เรามั่นคง ให้เราจริงจัง เพื่อเราจะได้รู้ขึ้นมา เพื่อจะเป็นประโยชน์กับเรา เพื่อจะเป็นคุณธรรมในหัวใจของเรา เอวัง