เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓๑ ก.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม(วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะพูดถึงการใช้กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายมันเสมอภาค ความเสมอภาคทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ตอนนี้มีปัญหาคือว่า ๒ มาตรฐาน ทุกคนว่ามี ๒ มาตรฐาน ถ้าบังคับใช้กฎหมายกับคนอื่นนะดี ถ้าบังคับใช้กฎหมายกับตนเองนะต่อต้าน

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ในกติกาของเรา วัดป่าโดยสามัญสำนึก โดยพื้นฐานกินข้าวมื้อเดียว ฉันมื้อเดียว ถือธุดงควัตร แล้วยังอดอาหาร ผ่อนอาหารได้อีก นี้คือกติกา นี้มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม เวลาที่เราประพฤติปฏิบัติกัน คนที่มาปฏิบัติ อย่างเช่น ภาชนะที่สะอาด ภาชนะที่ดี ใส่อาหารที่สะอาดแล้ว อาหารนั้นจะสะอาดบริสุทธิ์ ภาชนะที่สกปรก ภาชนะที่มีสารพิษ อาหารในภาชนะนั้นก็เปื้อนไปด้วยสารพิษด้วย

นี่เหมือนกัน ศีลธรรมมันเป็นพื้นฐานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ คนที่ประพฤติปฏิบัตินะหวังมรรคหวังผล เรามานี่เราหวังอะไรกัน เราหวังความสุขของใจ เราหวังความจริง ถ้าหวังความจริง ภาชนะถ้าเราจะเอาไปใส่อาหาร ดูสิ เราเป็นคนทำครัว เราจะรู้ว่าการเก็บล้างนี้มันเป็นภาระมาก การเก็บล้างมันไม่มีวันจบ เพราะคนต้องมีอาหารประจำวัน วันละหลายมื้อ การเก็บล้างภาชนะนั้นจะเป็นเรื่องไม่มีวันจบ จะทำจนกว่าเราตายไปแล้วก็มีคนทำต่อไป เพราะคนเราต้องมีอาหารตลอดไป

ศีล การรักษากฎกติกาเป็นของแสนยาก ความคุ้นเคย ความเคยชิน ความต่างๆ มันจะทำให้ตรงนี้แลบออก แล้วถ้าภาชนะมันไม่สะอาด แล้วเราหวังผลอะไรกัน เราหวังอาหารที่สะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม อาหารนี้สะอาดบริสุทธิ์ เพราะอะไร เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เสวยวิมุตติสุขนี่สะอาดบริสุทธิ์ อริยทรัพย์มันเป็นสัจธรรม มันเป็นสิ่งเหนือโลก มันมีคุณธรรมมาก

แต่ภาชนะของเราคือหัวใจพวกเราไง หัวใจของพวกเรามันสกปรก หัวใจพวกเรามันไม่สะอาดบริสุทธิ์พอ มันไปใส่ภาชนะนั้น อาหารนั้นมันก็เป็นมุมมองของเรา เป็นความเห็น เป็นมุมมองต่างๆ ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านลงทุนลงแรงมา ศีลต้องสะอาดบริสุทธิ์เห็นไหม

หลวงปู่มั่นพูดประจำ “ต้นตรง ปลายจะตรง ถ้าต้นมันคด ปลายมันจะคด” เริ่มต้นเราก็จะเอาความสะดวกสบาย เริ่มต้นเราก็ภาชนะเราไม่ยอมล้าง ภาชนะเราๆ ไม่ยอมดัดแปลง ชีวิตประจำวันเห็นไหม ชีวิตประจำวันเราอยู่กับโลก ชีวิตประจำวันอยู่กับเรา เราอยู่กับโลก ต้องมีคุณภาพชีวิต ต้องกินถึงเที่ยงคืน มีอาหารโต้รุ่ง กินกันทั้งวันทั้งคืน คุณภาพชีวิต มีความสุขมาก พอมาประพฤติปฏิบัติ ก็เอาคุณภาพชีวิตเข้ามาในวัด

ถ้าเราเข้ามาในวัด เราจะทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรานะ สังคมเสื่อม เราต่อต้านมาตลอดว่าสังคมเสื่อม ถึงต้องเขียนป้ายบอก “ที่นี่ไม่ใช่ที่หมาเยี่ยว” เพื่อไม่ให้คนปัสสาวะไง ที่หมาเยี่ยว เราไม่ให้มีนะ ป้ายบอกอะไรเราไม่ให้มีหรอก แต่ต่อไปนี้ต้องมีแล้ว เพราะอะไร

เพราะตั้งแต่มา จะมีอันหนึ่งไว้ให้ที่สำนักงานเขียนขึ้นมาตามกฎกติกานี้ จะได้ไม่ต้องมีคนมาอ้างไง เมื่อตอน ๔-๕ วัน ตอนวันอาสาฬหบูชา มีโยมเขาพูด โยมที่จิตใจเขาเป็นธรรม เขาบอก “ที่นี่ไม่เหมือนวัดป่าเลย มันเหมือนวัดบ้าน กินกันทั้งวัน ถืออาหารกันไปทุกๆ คน ทำเหมือนวัดบ้าน”

เราก็สะเทือนใจนะ ว่าเราลงทุนลงแรงกันมา เราทำเพื่อประโยชน์ ภาชนะต้องทำให้มันสะอาดบริสุทธิ์ เพื่อจะหวังผลอันนั้น แล้วโยมที่เขาอยู่เขาบอกว่า ”อ้าว โยมก็บอกต่อๆ กันมาว่ากินได้ๆ คนนู้นก็ทำได้ คนนี้ก็ทำได้ คนทั่วไปก็ทำได้ ทุกคนทำได้หมด มันก็ต้องทำได้เหมือนกัน”

การบังคับใช้กฎหมาย ถ้าโยมทำได้นะ ต่อไปโยมมาภาวนา เราต้องมีกติกาอันหนึ่ง คือเครื่องตัดหญ้า ๑ ตัว ต่อ ๑ คน... เอ็งมาถึงเอ็งต้องตัดหญ้าให้กูด้วย... เอ็งต้องตัดหญ้า... เอ็งต้องมาใส่ปุ๋ย... เอ็งต้องมาผสมปุ๋ยที่นี่... เอ็งต้องพรวนดิน... เอ็งทำให้เหมือนเขาสิ.. เพราะเขากินได้ เพราะเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เขามาทำผลประโยชน์เพื่อวัด

แต่เรามาภาวนา เราต้องการมรรคต้องการผล.. เราไม่ต้องอาหารมื้อ ๒ มื้อหรอก เราไม่ต้องการสิ่งนั้น เราต้องการคุณธรรม.. เราต้องการความสงบของใจ

แต่คนที่เขากินได้ อย่างเช่น ในสำนักงานของเรา แม่ครัวเรา คนงานของเรา เราเก็บไว้ให้ด้วย เก็บไว้ให้ต่างหาก เพราะตัดหญ้าตั้งแต่ ๘ โมง จนถึง ๕ โมงเย็น แล้วอย่างคนที่ทำสำนักงาน เขาจะนั่งถอดเทปนี่นะ จนถึงตี ๓ ตี ๔ เขานั่งทั้งวันทั้งคืน เขาทำงานกันตลอดเวลา

แล้วมีคนโทรศัพท์เข้ามา ที่นี่มี ๒ มาตรฐาน ซีกหนึ่งปฏิบัติ ซึกหนึ่งวีไอพี มันวีไอพีเพราะเขาทำงาน เราไม่ใช้คำว่าวีไอพี เราใช้คำว่าบ้านพัก เพราะเราสร้างขึ้นมาก็เพื่อให้คนที่มาทำงานได้พักอาศัย คนที่ทำงานแรงงานสมอง ทำงานทางธุรการ วันทั้งวันจะเครียดไหม.. เราจะเหนื่อยล้าไหม.. แล้วเราต้องการพักผ่อนไหม.. ถ้าเราต้องการพักผ่อน เราถึงทำไว้ไง เพราะเราทำไว้ มองไปอนาคตเห็นไหม เรามีเว็บไซต์ ต่อไปมันจะมีอะไรไปเรื่อยๆ

ไอ้บ้านพักนี่ เอาไว้ให้คนทำงานเขาได้พักได้ผ่อน ไอ้ที่เรามาภาวนานี่เราต้องการวิเวก ธุดงควัตรอยู่ในเรือนว่าง อยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง อยู่ในที่สบาย เราก็ทำไว้ให้ซีกหนึ่ง คือซีกที่ประพฤติปฏิบัติ แต่ซีกที่บ้านพักเขาก็เป็นบ้านพัก ด้วยภาชนะที่มันสกปรก มันก็บอกว่า โอ๊ย วีไอพี โอ๊ย ๒ มาตรฐาน

นี่มันเป็นความคิดนะ แต่เวลาเราต้องการ เราต้องการอะไร ถ้าจะเอามาตรฐานเดียว เดี๋ยวจะสั่งเครื่องตัดหญ้า ๑๐๐ ตัว ใครมาก็คนละตัว ที่ไหนก็มีคนละตัว แล้วมาห้อยกัน แล้วก็ต้องตัดหญ้าด้วยกัน เอามาตรฐานเดียวไง เอามาตรฐานเดียวเราก็ต้องให้เหมือนกันสิ

เวลาเรามองนี่นะ เขาอุตส่าห์ทำความสะอาดไว้ให้เรา เขาทำทุกอย่างไว้ให้เรามาประพฤติปฏิบัติ เราต้องเห็นคุณของเขา ไม่ใช่ว่าเขาทำได้ เขากินกลางวันกันได้ เราจะเอาตามเขา แต่เวลาเขาทำงานไม่ได้มองเขา เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติ เขาทำความสะดวกให้เรานะ เขาทำทุกอย่างไว้ให้เราเลย ให้เรามาประพฤติปฏิบัติ

จริงๆ นะ เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ครูบาอาจารย์บอกว่าเป็นธรรม เป็นธรรมหมายถึงว่าเขามาก็สิทธิของเขา เขามาเพื่อภาวนา เขามาเพื่อความสงบสงัดของเขา เราจะไม่กวนเขาเลย เราเปิดกว้างนะ เราไม่เคยกวนใครเลย แต่คนที่ทำงานของเรานะ เราก็ให้ทำงานหัวปักหัวปำเลย หน้าที่ไง หน้าที่คนทำงานก็ทำหัวปักหัวปำ เพราะมันเป็นงานของเรา มันเป็นหน้าที่ของเรา ถ้าเราอยากภาวนากลางคืน เราอยากภาวนาบ้าง เราก็หาทางออกของเรา

แต่คนที่มาภาวนานี่เราเห็นใจเขา เขามีความเคร่งเครียด เขามีความบีบคั้นมาจากสังคม เขามีความทุกข์ความยากของเขามา เราก็เปิดโอกาสให้เต็มที่เลย เขาจะภาวนาได้ ๒๔ ชั่วโมงเลย โดยที่เขาไม่ต้องมายุ่งกับเราเลย เว้นไว้แต่เขามีน้ำใจ เขามาช่วยรดน้ำต้นไม้ มาถึงตอนเย็นช่วยทำข้อวัตร เขามาช่วยทำความสะอาดบ้าง อันนั้นเป็นน้ำใจของเขา นั่นมันก็เป็นข้อวัตรปฏิบัติของเขาด้วย

ฉะนั้นมันไม่ใช่ ๒ มาตรฐานหรอก ไม่ใช่เราทำแบบว่า คนนั้นมาต้องพักทางนี้ คนนี้ต้องพักทางนั้น มันไม่ใช่ เพราะเป้าหมายของเราคือศีลธรรม คือธรรมในหัวใจ แต่คนที่เขามาทำงานนะ บอกคนนี้มีสิทธิพิเศษ สิทธิพิเศษมันทุกข์ ๒ ชั้น เรามีภูเขาลูกเดียว สิทธิพิเศษ คนนู้นก็สิทธิพิเศษ คนนี้ก็สิทธิพิเศษ ไอ้สิทธิพิเศษมันสิทธิพิเศษอะไร ถ้าเขาภาวนาได้มันก็เรื่องของเขานะ คนเรากินอิ่มนอนอุ่นภาวนาได้ก็มี ขิปปาภิญญา ผู้ปฏิบัติง่าย รู้ง่ายก็มี เราก็ไม่เถียงหรอก

แต่โดยข้อเท็จจริง เด็กของเราจะดีขึ้นมาได้ ด้วยความฝึกหัดนั้น เด็กของเราจะดีได้ด้วยพ่อแม่สั่งสอนทั้งนั้น สังคมจะดีได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติทั้งนั้น ฉะนั้นเวลาโดยส่วนใหญ่ เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติของเรา เรามานี่ เรามาเพื่ออะไร เรามาเพื่อหัวใจใช่ไหม ฉะนั้นที่เราไม่ยอมเขียน ที่เราไม่ยอมบอก...

ชุดหนึ่งเขามาพูดให้ฟัง ตอน ๔ วันนั้น เขาบอก “ โอ้โฮ! ที่นี่เหมือนวัดบ้านเลย” โอ.. สะเทือนใจนะ เราบอก เอ่อ เดี๋ยวเราจะจัดการ แล้วเมื่อ ๑-๒ วันนี่เขาจะกลับไป เขาบอกว่า “อ้าว คนเก่าๆ เขาก็บอกว่าทำได้ทุกคน ทำได้ทุกคน”

คำว่าทำได้ โยมต้องฟังทางนี้นะ ที่ทำได้นี่ เขามาขอเราเป็นส่วนบุคคล มีคนเจ็บคนป่วยมา แล้วไม่มีทางออก มาพักอาศัยกับเรานี่หลายคน แล้วเขามาขอเราว่า “เขาเจ็บไข้ได้ป่วย เขาขอกินประทังชีวิตเพื่อจะกินยาได้ไหม” เราอนุญาตเป็นบางคนนะ บางคนที่เขาเจ็บเขาป่วย ไม่อยากจะบอกว่ามะเร็งขั้นสุดท้าย ไทรอยด์เป็นพิษ มี! ที่เขามาปฏิบัติกับเราอยู่ในนี้ แล้วเขามาพูดกับเราว่า ร่างกายมันอ่อนแอ “ขอ” เราอนุญาตเฉพาะคนนะ เฉพาะคนที่เจ็บป่วย เฉพาะคนที่เขาต้องดำรงชีวิตของเขา อันนี้เราอนุญาตนะ “เราอนุญาตเป็นบางคน” แต่ไม่ใช่ว่าหลวงพ่ออนุญาตให้หมดทุกคน

นี่พอเวลาเห็นคนเขาทำได้เพราะ...

๑. คนเจ็บไข้ได้ป่วย

๒. คนที่ทำหน้าที่การงานหนึ่ง

คนที่ทำหน้าที่การงานเหนื่อยทั้งวันนะ เขามีน้ำใจกับเรา เขามาทำกับเรา เหมือนว่าเขาบริการเราว่าอย่างนั้นเถอะ เขาบริการเราแล้วเราต้องเห็นน้ำใจเขา ไม่ใช่เขาบริการเราแล้ว เราจะลดตัวลงไปเป็นคนบริการด้วย ถ้าบริการด้วยเดี๋ยวเราจะสั่งเครื่องตัดหญ้าเข้ามา เราจะใส่ปุ๋ยด้วยกัน

แล้วต่อไปนี้จะให้เขียนกติกาเนาะ ให้เขียนกติกาไว้ที่สำนักงาน อะไรบ้าง อะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นมันอ้าง ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกหลวงพ่อให้ทำ อีกฝ่ายบอกหลวงพ่อไม่ให้ทำ อ้างหลวงพ่อทั้งหมดเลยนะ แล้วหลวงพ่อก็งงนี่! หลวงพ่อก็งงเหมือนกัน! ทีนี้ว่าอนุญาตบ้างไหม ก็อนุญาตอยู่เป็นบางคน บางคนที่อนุญาตจริงๆ เพราะเขามาพูดเป็นส่วนตัว ทีนี้ก็เกียรติของคนเนาะ เกียรติของเขาเราก็ไม่เอามาพูดบอกว่าใครบ้าง ด้วยเกียรติของเขา แต่เขาก็มาขอเรา อย่างนั้นเราก็อนุญาต

แต่ถ้าโดยทั่วไป ถ้าเขาบอกว่าวัดนี้เหมือนวัดบ้าน มันเสียใจนะ มันเสียใจที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านใช้ชีวิตของท่านทั้งชีวิต ครูบาอาจารย์ท่านใช้ชีวิตทั้งชีวิต ท่านบุกป่าผ่าดงมา ท่านทำของท่านมา เหมือนพ่อแม่เลย พ่อแม่ทำอะไรประสบความสำเร็จ ก็อยากให้ลูกหลาน อยากให้อนุชนรุ่นหลังได้ประสบความสำเร็จตามนั้น นี่การประสบความสำเร็จนั้นนะ มันแลกมาด้วยอะไร

พระกัสสปะเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระกัสสปะ “กัสสปะเอย เธอก็อายุปานเรา เธอก็เป็นพระอรหันต์แล้ว ทำไมต้องถือธุดงควัตรด้วยล่ะ” เพราะพระกัสสปะกับพระพุทธเจ้าอายุเท่ากัน อายุ ๘๐ ปีเหมือนกัน

“ข้าพเจ้าจะถือธุดงควัตรนี้ไว้เป็นสติ ไว้เป็นแบบอย่าง ไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง จะได้มีคติ มีแบบอย่าง” เวลาครูบาอาจารย์ให้เป็นคติ ให้เป็นแบบอย่าง ครูบาอาจารย์ทำ

เราอยู่กับหลวงตา ท่านจะพูดบ่อย เพราะหลวงตาอยู่ในวัด มันก็มีความรู้สึก ความนึกคิดต่างๆ กัน หลวงตาบอกว่า “หมู่คณะ อย่ามองกันนะ เพราะหมู่คณะคือพระด้วยกัน มีกิเลสทุกๆ องค์” ไอ้นี่มองกันก็มองด้วยมุมมอง มุมมองของคนมันก็แตกต่างหลากหลายใช่ไหม มุมมอง ความเห็นต่างๆ มันก็ขัดแย้งกัน ท่านพูดประจำนะ ตอนอยู่กับท่านใหม่ๆ “ให้มองเรา ให้มองเรา” คือให้มองตัวท่าน ให้เอาท่านเป็นแบบอย่าง ให้มองที่ท่าน ให้มองที่หลวงตา หลวงตาเป็นหัวหน้าของเรา เป็นผู้นำของเรา ให้มองท่าน พระกับพระอย่ามองกัน พระกับพระอย่าจับผิดกัน เวลาท่านเทศน์กับพระนะ ถ้ามองท่าน ท่านเป็นแบบอย่าง เอาท่านเป็นตัวอย่างไง

นี่ก็เหมือนกัน เราเอาครูบาอาจารย์ที่ทำเป็นแบบอย่างไว้ ฉะนั้นพอพูดอย่างนี้ บอกว่าเราอนุญาต เพราะเขาบอกว่าหลวงพ่ออนุญาต จะบอกว่า “จริง อนุญาตจริงๆ แต่อนุญาตเฉพาะบุคคล” แล้วเวลาอนุญาต อนุญาตเฉพาะตัวต่อตัว เราก็ไม่เอามาพูดข้างนอก เราอนุญาตจริงไหม ก็จริง แต่เฉพาะบุคคล เฉพาะผู้ที่เขาอยู่อย่างนั้น ผู้ที่เขาทุกข์เขายาก

แต่โดยทั่วไป เราหวัง บอกตรงๆ เลย เราหวังว่าให้คนที่มาปฏิบัติได้ความสงบ ได้สมาธิ ได้ต่างๆ ฉะนั้น สิ่งที่แลกมา ธาตุขันธ์ทับจิต กินดีอยู่ดี เวลาร่างกายแข็งแรง ภาวนาสัปหงกโงกง่วง เวลาคิดมากๆ ฟุ้งซ่านมากๆ ขันธ์ ๕ มันก็ทับจิต ถ้าเราได้อดนอน แล้วได้ผ่อนอาหาร เราอดนอนนะ มันหิวจัดๆ นี่นะ มันคิดไม่ได้หรอก

อ้างบ่อย หลวงปู่ฝั้น ท่านมาที่วัดบวรนิเวศ ฯ ท่านอุปัฏฐากบาตร ๓ ใบ ของหลวงปู่สิงห์ กับพระมหาปิ่น แล้วของท่านด้วย ๓ ใบ มาฉลองกรุง ปี ๒๔๗๕ มาฉลองกรุงที่วัดบวรฯ แล้วพอไปเจอสีกาเข้า มันไปถูกใจ พอถูกใจนี่ไปปรึกษาหลวงปู่สิงห์ หลวงปู่สิงห์ท่านบอกให้เข้าโบสถ์วัดบวรฯ เลย ปิดลั่นประตูหมด

“รักไหม”

“รัก” ไม่กินข้าว

๑ ๒ ๓ ๔ “รักไหม”

“รัก” ไม่กินข้าว

๗ ๘ ๙ “รักไหม”

“ไม่รักว่ะ รักไม่ไหว”

นี่ไง เห็นผลชัดๆ อดอาหารเลย มึงรักให้รักไป กูอดข้าว อดไป เป็นผลงานของหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นท่านทำของท่านมา นี่ประวัติหลวงปู่ฝั้น

ฉะนั้นเวลามันคิดมาก มันฟุ้งซ่านมาก มันต่างๆ อดนอนผ่อนอาหาร มันเป็นตัวช่วยได้เยอะเลย ถ้าเราเห็นผลอันนั้น เราจะเอาอันนี้เป็นคุณประโยชน์ไง แต่ถ้าเราไม่เห็นผล เราไม่มีเป้าหมายอันนั้น มันก็เป็นอย่างนี้ แล้วมุมมองนะ ทุกคนก็หวังอยากจะประพฤติปฏิบัติ หวังทำคุณงามความดี แต่เราอ่อนด้อยใช่ไหม เราก็ทำไม่ไหว

ไหวหรือไม่ไหว มันต้องฝึกต้องหัด ถ้าการฝึกการหัด เราต้องอดทน เราต้องต่อสู้ ฉะนั้นจะบอกว่า มันจะลำบากนิดหน่อย การที่ลำบากก็เพื่อจะล้างภาชนะของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเรานะ

ฉะนั้น เราจะยอมให้สังคมเสื่อมก็ได้ ต้องเขียนป้าย แต่ก่อนเราไปที่ไหน เราเห็นเขียนป้าย เขาบอกว่าสังคมเสื่อม เขาถึงต้องเขียนป้ายบอก ถ้าสังคมที่เขาไม่เสื่อมนะ ทุกคนมีจิตใจที่ดีงาม เขาจะช่วยกันรักษา ไม่ต้องเขียนป้าย

เราต่อต้านการเขียนป้ายนะ การเขียนป้าย เขียนอะไรบอก เราจะไม่ให้มีเลย มันบอกถึงความเสื่อมของวัดของเราว่าอย่างนั้นเลย แต่วันนี้ขอเสื่อม ยอมเสื่อม ให้เขียนอันหนึ่งไม่อย่างนั้น อันหนึ่งก็อ้างว่าหลวงพ่อสั่งว่าไม่ได้ อีกอันหนึ่งอ้างว่าหลวงพ่อสั่งได้ แล้วไม่มีที่ยุติ

ฉะนั้น ขอมีป้ายอันหนึ่ง เขียนกติกาไว้ที่สำนักงาน ว่าทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง แล้วคนที่ได้รับยกเว้น หมายถึงว่า เขาได้รับการยกเว้นเพราะสุขภาพของเขา เพราะความประพฤติของเขา เพราะในตัวของเขา แต่ถ้าคนทั่วไป ถ้าจะได้รับการยกเว้นต้องมาพูดกันก่อน ทุกอย่างเป็นกติกาเห็นไหม

ศีล คือสิ่งที่เป็นกฎหมายโดยสากล ข้อวัตรปฏิบัติในวัดนั้น ในสถานที่นั้น อย่างเช่น วัดที่อยู่ริมคลองต่างๆ การคมนาคมเขาต้องพายเรือ พระต้องพายเรือบิณฑบาต พระที่อยู่ในป่าในเขา กติกานี่มันอยู่ที่ภูมิประเทศ อยู่ที่สังคม อยู่ที่เป้าหมายของผู้นำ ผู้นำต้องการให้หมู่คณะไปทางใด จะตั้งกติกาเพื่อเป้าหมายนั้น ฉะนั้นเป้าหมายในวัดหนึ่ง กติกาอันหนึ่ง ต้องเป็นตามเป้าหมายนั้น เพื่อผลประโยชน์นั้น เพื่อคุณธรรม เพื่อหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เอวัง