ผู้ควบคุม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ๑๕๖. อยากให้คุณพ่อฟังเทศน์ฟังธรรมครับ เนื่องจากคุณพ่อประสบอุบัติเหตุ อยู่ที่โรงพยาบาล อยากให้คุณพ่อฟังธรรมจากพระอาจารย์ กระผมจึงซื้อเอ็มพี 3 เอาให้คุณพ่อฟังครั้งแรก เพื่อให้คุณพ่อเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา และอยากภาวนา คุณพ่ออายุ ๖๐ กว่า โดยปกติ คุณพ่อไม่ชอบเข้าวัด ไม่ทำบุญ จึงขอความกรุณาพระอาจารย์ด้วยครับ
หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้ เราทุกคนก็ปรารถนาดีเนาะ ถ้าคนที่มีความรัก คนที่มีความเป็นคนโดยสมบูรณ์ จะมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ให้ชีวิตเรามานะ มันเป็นกงกรรมกงเกวียน พ่อแม่ให้ชีวิตเรามา แล้วถ้าเรามีครอบครัว เราก็จะให้ชีวิตกับลูกหลานเราไปข้างหน้า เห็นไหม
กามคุณ ๕ กามเป็นคุณ กามเป็นคุณสำหรับว่า มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ไง ถ้ากามเป็นโทษ จะทำให้ชีวิตและสังคมของเรานี้มีปัญหามากเลย
คำว่า กามเป็นคุณ ถ้ากามไม่เป็นคุณ จิตมันไปเกิดที่ไหนล่ะ เวลาไปเกิดเป็นสัตว์ เกิดในนรกอเวจี เราก็ไม่อยากไปใช่ไหม อย่างไรก็แล้วแต่ เราขอให้เกิดเป็นมนุษย์
ถ้าเกิดเป็น มนุษย์สมบัติ ใช่ไหม เกิดเป็นมนุษย์นี้เป็น อริยทรัพย์ เพราะมนุษย์มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์
คำว่าเป็นมนุษย์นี้ กามคุณ คือเหมือนกับเราบังคับรถ ถ้าเราบังคับรถได้ มันจะไปบนถนนใช่ไหม แต่ถ้าเราบังคับไม่ได้ รถมันจะลงข้างทาง รถมันจะเกิดอุบัติเหตุ แล้วถ้ารถมันไปบนถนน ก็เหมือนกับชีวิตเราหมุนไปในวัฏฏะ
ถ้าเป็น กามคุณ หมายถึงว่าให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดเป็นอริยทรัพย์ เกิดมาในพุทธศาสนา ถ้าไม่เกิดมาเป็นมนุษย์ เห็นไหม จิตมันก็เกิด แต่เกิดในสถานะแบบ ตกถนนหนทางไง ตกบ่อตกเหว ตกอะไรต่างๆ ชีวิตมันจะทุกข์ระกำของมันไป ถ้ามันมีบาปอกุศล แต่ถ้ามันมีบุญกุศล มันก็เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เห็นไหม
นี่ กามคุณ เพราะอะไร เพราะว่าเราเกิดมาจากกาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดมาจากกาม
ทีนี้ กามคุณ ๕ ถ้าเรากามคุณ ๕ โดยสมบูรณ์ เราจะรู้สึกถึงบุญคุณไง บุญคุณของพ่อแม่ บุญคุณของปู่ย่าตายาย ฉะนั้นพ่อแม่ของเรา เราก็อยากให้เข้าวัดเข้าวา เพราะการที่เข้าวัดเข้าวานี้เป็น อภิชาตบุตร บุตรที่ทำให้พ่อแม่
ดูสิพอเวลาลูกบวช พ่อแม่มาเยี่ยมมาเยียน นี่เป็นการดึงพ่อแม่เข้าวัด เพื่อให้ท่านได้ไปเห็นคุณงามความดี แต่ถ้าเข้าไปวัด ไปเห็นแล้วมันต่อต้าน อันนั้นก็เป็น กรรมของสัตว์ ไง
กรรมของสัตว์นะ เราเข้าไปเจอ อย่างที่ว่าเข้าวัดนี้ แต่สังคมไม่อยากเข้าวัด เพราะอะไร เพราะสังคมมองด้วยวิทยาศาสตร์ เห็นไหม อย่างเช่น วัดต้องเป็นที่พึ่งอาศัย.. วัดเป็นตลาด.. ในกรุงเทพฯ วัดเป็นที่จอดรถ พระเก็บตังค์ อย่างนี้เป็นต้น เขาเลยเกิดการต่อต้านไง เพราะเขาเห็นว่า วัดไม่ให้ประโยชน์กับสังคม
ฉะนั้นเวลาเข้าวัด ถ้าเป็นวัตรปฏิบัติ เห็นไหม แล้วถ้ามาฟังเทศน์ฟังธรรม มันจะทำให้เราระลึกถึงตัวเอง ครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ เวลาประพฤติปฏิบัติ ให้เราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการตรงนี้มาก
คำว่า ปฏิบัติบูชา คือเราจะเข้าถึงธรรม คือจิตมันจะเป็นธรรมเอง ถ้าจิตเป็นธรรมเอง สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์
ฉะนั้นการที่เราเข้าวัดเข้าวา การฟังธรรมนี้ คือเราจะหาสมบัติ เห็นไหม เพราะเรามีลายแทง เราจะต้องเดินตามลายแทงนั้น ตามแผนที่นั้น ว่าเราจะเข้าไปหาสมบัตินั้น จะเจอสมบัตินั้นไหม
นี่ก็เหมือนกัน ฟังธรรมๆ คือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราให้พ่อแม่ ฟังธรรมๆ จริงๆ ก็ต่อต้านนะ
คำว่า ต่อต้าน หมายถึงว่า คนเราทุกคน ก็คิดว่าตัวเองมีความรู้ คิดว่าตัวเองมีความเข้าใจ ถ้าคิดว่าตัวเองมีความรู้ความเข้าใจ ไป ฟังธรรมๆ นั้น ยิ่งฟังยิ่งไม่รู้เรื่อง แล้วที่ทางโลกเขาว่ากัน เวลาอยู่วัดกับอยู่บ้าน เห็นไหม เวลาอยู่บ้าน เมียก็เทศน์ทุกวันเลย ไปวัด พระก็ด่าอีก เมียเทศน์ เห็นไหม เรามองกันอย่างนั้น มองว่า พระด่าๆ แต่ไม่ได้มองว่า พระกระตุก
หลวงตาท่านบอกว่า คนเรานี้มันเผลอสตินะ ถ้าเราพูดกันโดยปกติ เขาไม่สนใจหรอก กระตุกให้มันมีสติไง กระตุกให้มันรู้สึกตัว ทีนี้คำว่ากระตุกให้รู้สึกตัว เขาก็บอกว่า ด่าๆ
ถ้ามันไม่รู้สึกตัว เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า จิตใจของคนนี้ เหมือนต้นไม้ ต้นไม้มันคดมันงอ ต้นไม้มันตรง ต้นไม้ที่มันแปรรูปมาแล้ว ที่เขาจะเอาไปใช้ประโยชน์ เขาใช้กบใช้ไส แต่ถ้ามันคดมันงอ เห็นไหม เขาต้องลงต้องถากด้วยขวาน ให้มันตรง พอตรงแล้วค่อยแปรรูปมัน เพื่อประโยชน์ใช่ไหม
จิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลาย ถ้าจิตใจของคนที่มีวุฒิภาวะ มันมีบุญกุศลของมัน โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ ถ้าเรากระตุกนะ ให้เขาเข้าใจได้ พอเขาเข้าใจได้ เขาจะรู้ของเขา
ฉะนั้น เอาพ่อแม่มาฟังธรรม ก็เพราะเหตุนี้ไง ถ้าเขาฟังธรรมแล้ว มันไปสะเทือนใจขึ้นมา เขาจะเปลี่ยนนะ
มันมีอยู่คนหนึ่ง อันนี้เราฟังแล้วมันสะเทือนใจ หลวงตาพูดบ่อย เป็นลูกศิษย์ท่านอยู่ที่เมืองจันท์ เขาเป็นคนเมืองจันท์ บ้านเขาอยู่ห่างๆ กันใช่ไหม แล้วมีคนมาชวนไปวัด คิดจะฆ่าเขาเลยนะ คิดในใจว่า เหมือนเขามาดูถูกเราไง เห็นว่าเป็นคนอย่างไรถึงชวนไปวัด
ที่เขาพูดออกมา เพราะพอหลวงตาไปสร้างวัดที่น้ำตกพลิ้ว แล้วเขามาหาหลวงตาบ่อยๆ พอมาบ่อยๆ แล้วเขาภาวนาเป็น พอภาวนาไป จิตมันสว่างหมด มันว่างหมด ทีนี้มันสำนึกผิด แล้วเวลาไปปรึกษาหลวงตานะ บอกว่า เมื่อก่อนที่ยังไม่เข้าวัด มีคนเคยมาชวนไปวัด
ลูกศิษย์มาสารภาพกับอาจารย์ไง พูดเองเลยนะ คิดจะฆ่าเขาเลย แล้วพอตัวเองเข้าวัดเอง แล้วพอมาปฏิบัติเอง พอจิตมันดีขึ้นมา เขาพูดกับหลวงตานะ ก็เขาชวนไปวัด ! ก็เขาชวนไปวัด มันพูดด้วยความสังเวชไง ก็แค่เขาชวนไปวัด เขาชวนไปทำความดี แต่กิเลสมันไม่ยอม ตัวเองมันไม่ยอม มันเห็นว่าเสียศักดิ์ศรี คิดจะฆ่าเขาทิ้งเลยล่ะ
ฉะนั้นย้อนกลับมาในใจเรา ถ้าใจเราอยากให้พ่อแม่ฟังธรรม ถ้าเขาฟังธรรมแล้วเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเขาไม่ฟัง เห็นไหม ก็เขาชวนไปวัด ! เพราะมันสำนึกแล้ว เพราะเขาเห็นว่าไปวัดนั้นมันไม่เป็นโทษ มันเป็นความดี และมันเป็นสิ่งที่ดีเลย แต่ตอนนั้น คิดว่าจะทำร้ายเขา พอมันพลิกใจกลับมา เห็นไหม ก็เขาชวนไปวัด ! เขาชวนไปทำความดี เขาชวนไปเพื่อประโยชน์กับเรา เขาทำเพื่อเราทั้งนั้นเลย แต่ทำไมคิดจะทำร้ายเขาล่ะ
อันนี้การคิดจะทำร้ายเขา มันคิดขึ้นมา แต่ไม่ได้ทำ แต่พอคิดขึ้นอย่างนี้แล้ว มันทำให้เห็นว่า กิเลสมันเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นถ้าพ่อแม่เราไม่เคยเข้าวัด พอเราเสนอไปอย่างนี้ เราเปิดเทปให้ฟัง ถ้าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เขาอาจจะฟังได้ แต่ถ้าเขาไม่เจ็บไข้ได้ป่วยนะ เราจะบอกว่า อุบายไง อุบายเราเปิดของเรา แต่เปิดของเรา ถ้าเขาไม่ฟังก็คือไม่ฟังนะ
เรานี่โดนมาเอง เรานี่แหละเปิดเองในบ้าน ตอนจะบวชใหม่ๆ ไม่มีใครฟังกับเราซักคนหนึ่ง ไม่ฟังแล้วยังต่อต้านด้วยนะ คือเขาไม่ต้องการให้เราออกไง ไม่ฟังด้วย ต่อต้านด้วย แล้วต่อต้านน่าดูเลย
การต่อต้านของเขา อุบายของเขา คือจะให้เราเลิกฟังไง ถ้าเราเลิกฟังใช่ไหม เราก็เลิกคิดหมกมุ่นกับการจะประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะได้มีชีวิตอยู่ในโลก เขาก็พยายามจะคิดเอาประโยชน์เขาให้ได้ คือพยายามจะไม่ให้เราฟังเทศน์ ไม่ให้เราสนใจเรื่องนี้ คือให้เราสนใจเรื่องงาน ไอ้เราก็เปิดเทปให้เขาฟัง เพื่อที่จะดึงเขามา เขาก็จะดึงเราไป เราก็จะดึงเขามา มันก็เลยมีปัญหากัน อันนี้เป็นอุบายไง เราเปิดของเราทิ้งไว้
นี่เพียงแต่ว่า ถ้าเขาฟัง แล้วถ้ามันได้นะ
ถาม : ขอความกรุณาอาจารย์ด้วยครับ
หลวงพ่อ : ขอความกรุณา ก็เห็นด้วย เห็นว่าทำคุณงามความดีไง
ถาม : อยากให้คุณพ่อฟังธรรม แล้วขอให้อาจารย์ช่วยด้วย
หลวงพ่อ : ทีนี้อยากให้คุณพ่อฟังธรรม มันเป็นประโยชน์มาก เนาะ อันนี้ฟังธรรม เพื่อประโยชน์กับเรานะ พอประโยชน์ปั๊บ เราแสวงหาเอง เพราะมันเป็นศรัทธา มันเป็นการชักนำเรา แล้วมันเป็นเป้าหมาย เห็นไหม อธิษฐานบารมี
อธิษฐานบารมีสำคัญตรงนี้ สำคัญตรง คนที่ยังโลเล คนที่ยังไม่มีจุดยืนเลย มันมีการตั้งเป้าไว้ แต่เวลาปฏิบัติแล้ว ตั้งเป้ากับการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติแล้วเป็นปัจจุบัน เห็นไหม บอกว่า การอธิษฐานนี้.. ไม่ต้องอธิษฐาน
ไม่ต้องอธิษฐาน ต่อเมื่อคนนั้นพึ่งตัวเองได้ อาศัยตัวเองได้ อันนั้นไปถึงที่สุดได้ แต่คนที่ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ คำว่า อธิษฐาน นี้ มันช่วยให้เรามีเป้าหมาย ช่วยให้เรามีความมั่นคง
นี่มันเป็น มรรคหยาบ มรรคละเอียด ถ้าไม่มีมรรคหยาบเลย เราจะขึ้นไปละเอียดไม่ได้ ถ้าไม่มีการเริ่มต้นเลย เราจะไปละเอียดไม่ได้ คนเราจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือจะเป็นใครก็แล้วแต่ เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่แล้ว เป็นเด็กทารกมาก่อนทั้งนั้นแหละ ตอนเป็นทารก ก็เป็นอย่างหนึ่ง ตอนโตขึ้นมา ก็เป็นอย่างหนึ่ง แล้วเรามีปัญญาของเราขึ้นมา เราฝึกฝนตัวเราเองขึ้นมา จนเราเป็นประโยชน์ มันก็เป็นอย่างหนึ่ง
นี่ก็เหมือนกัน อธิษฐานบารมี นี่เขาจะให้ช่วยเหลือไง ถ้าเราปฏิบัติได้ มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา
นี่พูดถึงการอยากให้คุณพ่อฟังธรรมเนาะ
หลวงพ่อ : อันนี้ ๑๕๗. นะ มันเป็นเลขจริงๆ ไม่ใช่กฎหมาย
ถาม : ๑๕๗. หัวใจเหมือนจะระเบิด ผมภาวนาพุทโธอยู่ตลอดเวลา เท่าที่นึกได้ครับ แต่เมื่อเวลาก่อนนอน ก็กำหนดพุทโธในใจตลอด จนกระทั่งหลับไปไม่รู้สึกตัว แต่มีอยู่คืนหนึ่ง สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก มีความรู้สึก แต่ยังไม่ได้ลืมตานะครับ รู้สึกว่า คำภาวนาพุทโธชัดในหัวใจ แล้วก็เร็วขึ้นเรื่อยๆ จนเร็วมาก แต่ชัดเจนมาก ชัดเจนมากๆ ก็มีความรู้สึกว่า หัวใจมันจะดันทะลุหน้าอกออกมา เป็นความรู้สึกที่รุนแรงมาก
กราบเรียนหลวงพ่อว่า นี้ใช่อาการที่จิตกับคำภาวนาพุทโธเป็นเนื้อเดียวกันใช่ไหมครับ
หลวงพ่อ : นี่เป็นความเข้าใจของเขา เพราะเขาฟังเทศน์บ่อย แล้วเขาเข้าใจว่า พุทโธกับใจเป็นเนื้อเดียวกันไง พุทโธกับใจเป็นหนึ่งไง มันภาวนาจากใจเลย
อันนี้มันก็ใช่ ! ใช่เห็นไหม เราจะบอกว่า หยาบไปหาละเอียด.. ใช่ ! ใช่อย่างนี้ พอมันเข้ามาใกล้ชิดกัน โดยที่เราไม่ได้ทำ เพราะเรานอนไง
พุทโธ พุทโธ พุทโธจนหลับไป แล้วสะดุ้งตื่นกลางดึก เห็นไหม เราบอกว่าเวลาฝัน เวลาหลับนี้ เราแก้ไขสิ่งใดไม่ได้ เวลาลงสมาธิไม่ใช่หลับ เวลาลงสมาธิ เราจะมีสติพร้อมเลย ถ้าเกิดนิมิตแล้วสติพร้อมนะ เราจะไม่เห็นนิมิตก็ได้ เรากลับมาที่พุทโธ จิตมันจะปล่อยสิ่งที่รู้ กลับมาเป็นตัวของมันเองก็ได้
ถ้าจิตที่มันเห็นนิมิตนะ พอคำว่า นิมิต อะไรถ้าเราสงสัย เราถามก็ได้ ถามนิมิตว่า นี่คืออะไร ถ้าจิตมันมีกำลัง มันจะตอบมา ถ้าจิตไม่มีกำลัง จะตอบไม่ได้ คือมันไม่รู้ พอไม่รู้แล้ว มันจะกลับมา แต่ถ้าไม่มีสตินะ พอเห็นอะไรแล้ว มันเบลอ ไม่ใช่เบลอแบบเห็นนะ แต่เป็นเบลอความรู้สึกที่มันทำอะไรไม่ถูก มันเบลอ เพราะมันเป็นจิตกับความรู้นี้มันไอ้นั่นล่ะ
แต่ถ้าเป็นความคิด ดูสามัญสำนึกของเราคิดสิ เราคิดเห็นไหม ความคิดนี้มันเหมือนกับว่าว ว่าวมันจะอยู่บนท้องฟ้าใช่ไหม เราจะถือกลุ่มด้ายไว้ จิตของเราคือกลุ่มด้ายนั้น ว่าวคือความคิด มันลอยอยู่บนท้องฟ้า เห็นไหม ทีนี้พอความคิดอะไร มันมีพลังงานอยู่ นี่มันห่างกันอย่างนี้ไง
เวลาพุทโธ พุทโธ มันพุทโธอยู่ที่ตัวว่าวนั้น แต่จิตของเราคือกลุ่มด้าย ที่เราบังคับว่าวนั้น
ฉะนั้นพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันเห็น มันเป็นสมาธิ บางทีมันเบลอ เบลอเพราะว่ามันควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราเล่นว่าว ว่าวอยู่บนท้องฟ้าใช่ไหม เราควบคุมว่าวได้ เหมือนเราควบคุมความคิด
ความคิดที่เกิดจากจิต ถ้าเรามีสติ เราจะควบคุมความคิดได้ พอเราควบคุมความคิดได้จนเห็นโทษของความคิด ความคิดจะหายไป ว่าวนั้นมันจะเลือนหายไป ว่าวนั้นกับจิต แล้วมันก็ร่นเข้ามาจนเป็นกลุ่มด้าย กลุ่มด้ายคือตัวพลังงาน นี่คือสมาธิใช่ไหม
ทีนี้ถ้าพูดถึง นอนอยู่แล้วสะดุ้งตื่นแล้วจิตมันพุทโธ พุทโธ
อันนี้ที่เราบอกว่าใช่ ! ใช่เพราะว่าเราฝึก ดูอย่างเวลานักกีฬามันฝึกของมัน ออกกำลังกายตลอดเลย ทำไมร่างกายมันแข็งแรงล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันยังไม่เป็นสิ่งที่เรารู้เราเห็นได้ แต่เวลาหลับไปนี้ เพราะอะไร เพราะจิตมันได้ฝึกมา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอเวลาเราตื่นขึ้นมา เห็นไหม มันพุทโธเองที่ใจเลย มันเป็นความรู้สึกว่าพุทโธ พอลืมตาขึ้นมา ความรู้สึกจากขณะหลับ แล้วพอเราลืมตาขึ้นมา ความรู้สึกพุทโธมันชัดเจนที่ใจ นี่เพราะมันฝึกมา
จิตมันก็เหมือนกับร่างกาย เราออกกำลังกายทุกวัน ร่างกายจะแข็งแรง แล้วถ้าจิตมันพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนเป็นความเคยชินของมันใช่ไหม พอมันนอนอยู่ พุทโธ พุทโธในใจเลย เห็นไหม แล้วเร็วมาก ชัดเจนมาก จนมันใหญ่มาก มีกำลังมาก จนมันจะทะลุหน้าอกเลย
คำว่า ทะลุหน้าอก นี้ มันรับรู้ของมัน เหมือนปีติเรา เห็นไหม แต่นี่มันเป็นตอนหลับอยู่ แต่เขาถามว่า นี้ใช่ที่จิต ใช่คำว่าพุทโธใช่ไหม เราจะบอกว่า ใช่ ! ใช่ส่วนหนึ่ง คำว่าใช่ส่วนหนึ่ง มันเป็นความใช่ ทีนี้มันต้องมีสติของมัน แล้วถ้าสติมันเป็นสมาธิ มันจะดีกว่านี้ จะบอกว่าไม่ใช่เลย ก็ไม่ใช่ !
มันใช่อยู่ แต่ใช่เพราะอะไรล่ะ มันใช่เพราะมันยังไม่เป็นปัจจุบันใช่ไหม เพราะเราหลับ มันก็เป็นอดีตอนาคตอยู่ จะบอกว่าดีขึ้น แล้วมันพัฒนาขึ้น มันพัฒนาดีขึ้น จนเรามีความเข้าใจได้
ถ้าหัวใจเหมือนจะระเบิดนะ ก็ให้ตั้งสติไว้ แล้วมันจะดีขึ้นมาเรื่อยๆ มันจะดีขึ้นมาเอง ดีขึ้นมาด้วยการตั้งสติ ดีขึ้นมาด้วยการกระทำของเรา ถ้าคนปฏิบัติ มันจะเห็นเลยนะ
เวลาเราตอบปัญหา ถ้ามีเรื่องกรณีอย่างนี้ มันเหมือนกับเราฝึกงาน แล้วพอเราได้งาน เรามีความดีขึ้นในหัวใจของเรา มันมีประสบการณ์อย่างนี้
นี่การปฏิบัติต้องเป็นอย่างนี้ ปริยัติคือการศึกษา เป็นทฤษฏี แต่การปฏิบัติขึ้นมา มันจะล้มลุกคลุกคลาน แล้วมันจะตั้งขึ้นมา
แล้วพอภาวนาไป มันเหมือนทรัพย์ของเรา เราต้องดูแลเอง เราต้องรักษาเอง แล้วถ้าจิตมันจะดีขึ้นมานั้น มันจะดีขึ้นมาเอง แต่ถ้ามันมีอุปสรรค หรือมันล้มเหลวอย่างไร ให้เราเริ่มต้นใหม่ๆๆ เพราะ ! เพราะจิตมันอยู่กับเรา มันไม่ไปไหนหรอก แต่เวลาเราทำดีทำชั่ว ความชั่วนั้นมันก็สะสมลงที่ใจของเรา ความดีก็สะสมลงที่ใจของเรา พอสะสม พันธุกรรมมันก็ตัดแต่งของมันไปใช่ไหม
แต่ในปัจจุบันนี้ เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะทำคุณงามความดีของเรา มันเป็นในปัจจุบันไง ดูสิเวลาเราทำบุญกุศล แล้วผลบุญตอบสนอง เอ้อ.. เราได้บุญอย่างนั้น ได้บุญอย่างนั้น มันจะเป็นผลบุญตอบสนอง
แต่ในการปฏิบัติ มันเกิดกับเราเดี๋ยวนี้เลย มันเกิดจากการกระทำ เกิดจากการเป็นความจริงเดี๋ยวนั้น
ฉะนั้นถึงบอกว่า พอพุทโธแล้วมันเป็นอย่างนี้ ใช่ ! ใช่หมายถึงว่า มันมาถูกทาง มันเป็นไป แต่มันเป็นแบบส้มหล่น เป็นแบบที่เราไม่ได้ควบคุม ไม่ได้ตั้งสติ ถ้าเป็นโดยความจริง แต่ความจริงนั้นมันคุมยาก
เวลาจิตมันเริ่มสงบ เวลามันเริ่มปล่อยเข้ามา เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลง เราจะตกใจ เอ๊ะ.. ทำไมเราแตกต่างกับเมื่อกี้นี้ล่ะ.. เป็นอย่างนี้แล้ว มันจะไม่มีความเสียหายเหรอ ส่วนใหญ่คนจะคิดอย่างนี้ไง พอมีความแตกต่าง มันก็ทำให้หัวใจนี้คลายออกมา แต่ถ้าเราควบคุมตรงนี้ได้นะ ตั้งสติดีๆ อะไรจะเกิดขึ้น ให้เรามีสติอยู่พร้อม
เหมือนกับเราไปเห็นผีเห็นสาง กลัวผีๆ ไปกลัวมันทำไม ถ้าเป็นผี ผีก็มาขอส่วนบุญจากเรา ถ้าเป็นผี เราจะควบคุมได้หมด เพราะ พุทธศาสนา ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเกิดอะไรขึ้น หรือมันเห็นการเปลี่ยนแปลง จากพื้นฐานที่เราทำมา
ฉะนั้นก็กำหนดพุทโธต่อไป แล้วพอจิตมันสงบบ้าง มันมีสิ่งใดบ้าง เราใช้ปัญญาได้ ใช้ปัญญาเทียบเคียงในอริยสัจ เทียบเคียงในความสุขความทุกข์เรานี่แหละ เทียบเคียงในชีวิตเรา คิดเรื่องชีวิตเรานี่แหละ พอคิดเรื่องชีวิตเราแล้ว มันจะสลดสังเวช
แล้วไม่ต้องห่วง ถ้ามันสลดสังเวชขึ้นมาแล้ว หน้าที่การงาน มันก็เป็นหน้าที่การงาน เราจะทำดีขึ้น แต่ ! แต่มันเห็นคุณค่านะ แต่เดิมนี้เหมือนพ่อแม่เลย พ่อแม่ทุกคน อยากให้ลูกเป็นคนดี ถ้าจิตมันควบคุมตัวมันได้ จิตมันจะดีมาก มันจะเห็นประโยชน์ทางโลก เห็นประโยชน์ทางธรรม เห็นประโยชน์ว่า เราทำอย่างนี้ แล้วจะได้ประโยชน์อย่างนั้น มันจะตั้งใจได้
แต่ถ้ามันดีขึ้น มันจะมีสติปัญญา แล้วมันจะบริหารได้ มันจะควบคุมของมันได้ ให้พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ ถูกต้อง !
นี่พูดถึงเวลาพุทโธกับจิต อันนี้เป็นผลงาน อันนี้เป็นสิ่งที่รู้ขึ้นมา จากผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ
ถาม : อันนี้สิ ๑๕๘. เนาะ ดูจิต ก็คือการดูจิต ดวงที่มันเพ่งจ้องกสิณอยู่ใช่ไหมครับ
หลวงพ่อ : อันนี้เขาถามโดยที่ว่า เขากระทำจริงๆ นะ เขาไม่ได้ถามอย่างนั้น เขาถามว่า
ถาม : ผมจ้องดูอยู่ อยากรู้ว่าเราควบคุมดวงจิตได้หรือยัง ก็ขยายให้ใหญ่ขึ้น เปลี่ยนทิศทาง ตามใจเราบังคับ (นี่เขาเพ่งกสิณ) คือเหมือนว่า มันจะมีจิตดวงหนึ่ง จ้องดวงกสิณนั้นอยู่
หลวงพ่อ : อันนี้เวลาเพ่งกสิณ เหมือนมีสติจ้องอยู่ เห็นมีจิตดวงหนึ่งจ้องอยู่ มันจะเกี่ยวเนื่องกับเมื่อกี้นี้ เมื่อกี้พุทโธ พุทโธ จนจิตมันมีอาการ เห็นไหม อันนี้มันจ้องของมันอยู่ ทีนี้เขาว่า
ถาม : เหมือนมันมีจิตดวงหนึ่ง เพ่งจ้องดวงกสิณ คือดวงกสิณ ที่เราสร้างภาพเป็นดวงกสิณนั้นอยู่ พอออกมากระทบสัมผัส เช่น ความคิดเรื่องเพศ ดวงกสิณก็หายไป มีอารมณ์กำหนัดขึ้นมาแทน จิตตัวที่เพ่งจ้องดวงกสิณตัวนี้ ก็เพ่งจ้องอารมณ์กำหนัดนั้นต่อไป แต่รู้สึกเข้ามาถึงตัวจิตซึ่งกำลังเพ่งจ้องอารมณ์กำหนัดนั้นได้ว่า มีความอึดอัดในจิต แบบนี้เรียกว่า ดูจิต แบบจิตมีโทสะ ก็รู้ว่ามีโทสะหรือเปล่าครับ
หลวงพ่อ : ไอ้คำว่า แบบนี้เรียกว่า ดูจิตที่มีโทสะ เพราะการดูจิตเขาสอนอย่างนี้ สอนว่า ดูจิตๆ เพ่งแบบมีโทสะ ก็รู้ว่ามีโทสะ มีโมหะ ก็รู้ว่ามีโมหะ แล้วพอเวลาจิตมันไม่มีโทสะ โมหะ จิตมันก็เป็นเอกเทศ นี่คือเวลาเขาสอนนะ คำสอนของเขา มันเป็นลักษณะนี้
แต่ทีนี้เราจะอธิบาย คำสอนของเขามันมีลักษณะนี้ว่า การดูจิตไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ ผิดก็รู้ว่าผิด ถูกก็รู้ว่าถูก มีกิเลสก็รู้ว่ามีกิเลส ไม่มีกิเลสก็รู้ว่าไม่มี มีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ ไม่มีโทสะ ก็รู้ว่าไม่มีโทสะ นี้คือคำสอนของเขา แต่เวลาเป็นขึ้นมา มันไม่เป็นอย่างนั้น
ถาม : ถ้าแก้ไข ผมก็จะยกปฏิภาคนิมิต เป็นดวงกสิณสีมาเพ่งอีก สักพัก อารมณ์กำหนัดนั้นก็หายไป แล้วก็ยกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาพิจารณากำหนัดนั้นไป ฉะนั้นอารมณ์นั้น ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นกิเลสมันปรุงแต่งขึ้นมา
หลวงพ่อ : เราจะบอกว่า อันนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ไง คือมันเป็นทฤษฏี ฉะนั้นเราเข้าใจของเราแล้วใช่ไหม ฉะนั้นที่ว่า สิ่งที่เพ่งอยู่ จิตดวงหนึ่ง เพ่งดวงหนึ่ง
ไอ้ดวงกสิณ กสิณ หมายถึงว่า มันไม่มีชีวิต มันไม่ใช่จิต อย่างเช่นกสิณไฟ เวลาเพ่งกองไฟ เห็นไหม กสิณเราเห็นเป็น กสิณขาว กสิณเขียว กสิณแดง กสิณสีต่างๆ กสิณลม ถ้าเพ่งไฟก็เป็นไฟ แล้วถ้าเขาขีดวงไว้อย่างนี้ พอมันเห็นปั๊บ มันขยายส่วน การขยายส่วนนั้น คือว่าจิตมันควบคุมได้
ทีนี้เขาบอกเป็น ปฏิภาค เวลาแยกส่วนขยายส่วน มันไม่เป็นอย่างนี้ เพราะเพ่งกสิณมันเป็นฌาน เพ่งกสิณนี้เพื่อให้จิตมีกำลัง แต่ถ้าพูดถึงขยายส่วนอย่างนี้ ก็เพื่อให้มันมีกำลัง
นี่เพราะมันไปคิดว่าเป็นกสิณ คิดว่าเป็นฌาน แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ท่านให้กำหนดสัมมาสมาธิ กำหนดพุทโธ พุทโธ เพื่อให้มันว่างเข้ามา
ฉะนั้นพอเพ่งกสิณเข้าไป มันส่งออก พอเพ่งไปแล้ว มันออกไปกระทบเรื่องเพศปั๊บ มันมีอารมณ์ขึ้นมาทันที เพราะอะไร เพราะมันส่งออกอยู่แล้วไง
พอมันส่งออกอยู่แล้ว เรายกตัวอย่างเรื่องว่าวกับผู้เล่นว่าว ว่าวหมายถึงว่า มันอยู่ข้างนอกใช่ไหม เราเพ่งกสิณ ก็เหมือนตัวผู้เล่นดูว่าวของเรา ถ้าดูว่าวของเรา คือว่าเราดูใช่ไหม คำว่าเราดู คือเรามีโอกาส พอไปกระทบเรื่องเพศ พอไปดูว่าว คือมันไปดูภาพอื่น มันก็เกิดอารมณ์ตามภาพอื่นนั้น เพราะมันดูภาพไหน มันก็เป็นภาพนั้นอยู่แล้ว
ทีนี้ถ้าเพ่งกสิณ จนกสิณมันขยายเป็นนิมิต เป็นขยายส่วน เป็นขยาย เห็นไหมเขาบอกว่า ถ้าจะแก้ไข คือว่าใช้เพ่งกสิณ ให้วิภาคะ คือให้แยกส่วนขยายส่วน ถ้าจิตมันดี มันแยกส่วนขยายส่วนได้
ฉะนั้น ถ้าจิตแยกส่วนขยายส่วนได้ แบบที่เรียกว่า ดูจิตแบบมีโทสะ รู้โทสะหรือเปล่า
คำว่า มีโทสะ รู้โทสะ คือว่า เห็นมีความกำหนัดใช่ไหม แล้วพอเพ่งเป็นวิภาคะ กำหนัดนั้นหายไป ถ้ากำหนัดนั้นเพ่งอยู่ เพ่งโทสะ เพ่งโมหะนี้ มันก็เหมือนกับเพ่งกสิณ ถ้าเพ่งกสิณ เราถึงบอกว่า เรื่องมันอยู่ข้างนอกไง อย่างเช่น เราจะทำความสะอาดตัวเรา เราต้องอาบน้ำตัวเราใช่ไหม ไม่ใช่ว่า เราจะทำความสะอาดตัวเรา แต่เราไปทำความสะอาดที่อื่น มันก็ไม่ใช่ตัวเรา
การเพ่งกสิณมันเพ่งออกไป มันเพ่งข้างนอก แต่ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิ เวลาน้อมไปพิจารณากาย ทำไมมันกระเทือนหัวใจล่ะ สังเกตได้ไหม เวลาเราทำความสงบ เราพุทโธ พุทโธไปนั้น ทำไมมันขนพองสยองเกล้าล่ะ ทำไมมันเกิดปีติล่ะ ทำไมมันเกิดความสุขล่ะ
ความสุขมันเกิดจากใครล่ะ มันเกิดจากจิตใช่ไหม แต่ถ้าเราเพ่งกสิณไป แล้วเราไปเห็นความกำหนัด กำหนัดมันเกิดจากอะไร กำหนัดมันเกิดจากข้างนอก เป็นผลกระทบเข้ามาใช่ไหม
แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา แล้วมันมาเห็นกาย เห็นอสุภะล่ะ มันแตกต่างกันไง แตกต่างที่ว่า ดูจิต จนจิตมีโทสะ คือรู้ว่ามีโทสะไง เพราะเราไปสร้างภาพไว้ข้างนอก
ดูสิเหมือนกับที่ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์เพราะอะไร เพราะท่านพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เดี๋ยวนี้เขาว่า พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ หมดเลย แล้วก็ว่า ปล่อยวางหมดเลย แล้วก็ว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์
นี่มันก็เหมือนสินค้าเลียนแบบ ลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้าใช่ไหม แล้วเราก็เลียนแบบมา เลียนแบบคือมันไม่เป็นความจริง
แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเลียนแบบหรือเปล่า เราไม่ได้เลียนแบบ เราปฏิบัติเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นการกระทำของเรา แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาเหมือนกัน เหมือนก็คือเหมือน เพราะถึงที่สุดแล้ว มันเป็นสินค้าอย่างนั้น แต่ต้องทำให้เป็นไง
ถ้าทำเป็นทำได้ ไอ้ที่ว่า ดูจิต ดูจิต มันแตกต่างกันตรงนี้ ตรงที่ว่าเป็นลิขสิทธิ์ หรือทำเลียนแบบ เพื่อจะให้เป็นแบบนั้น
การเลียนแบบ เพื่อจะให้เป็นแบบนั้น คือการสุกเอาเผากิน
แต่ถ้าในการปฏิบัติของครูบาอาจารย์เรา พอจิตมันสงบเข้ามา ก่อนที่จิตสงบ เห็นไหม เป็นความสุขของขั้นสมถะ เหมือนกับเรามีเงินมีทอง ก็เป็นความเห็นอันหนึ่ง ถ้าเรามีเงินอยู่ ๕ บาท แล้วพอเราไปทำธุรกิจ เราไปทำการค้าหรือทำงาน เงินมันเพิ่มมาเป็น ๑๐ บาท เห็นไหม ๕ บาทก็คือ ๕ บาทอันเก่า.. ๑๐ บาทก็คือ ๑๐
นี่ก็เหมือนกัน เวลาถ้าจิตสงบเข้ามา เปรียบเหมือน ๕ บาท คือว่าเป็นความสุขของขั้นสมถะ แต่ถ้าใช้วิปัสสนาไป มันเกิดอีก ๕ บาท มันก็เป็น ๑๐ บาท นี่ไง ถ้าเรามี ๕ บาท แล้วไปดู ๕ บาท ก็เท่ากับ ๕ บาท เหมือนกับที่ว่า ก็นิพพานมีอยู่แล้วไง แต่มันไม่เป็นตามนั้น
นี่พูดถึงว่า ถ้านิพพานมันมีอยู่แล้ว ดูจิตแบบมีโทสะ ก็รู้ว่าโทสะ ไอ้นี่มันเป็นสูตรสำเร็จ มีโทสะ ก็รู้ว่ามีโทสะ ถ้ารู้จริงก็สาธุ.. ถ้ารู้ได้ แต่มันรู้ไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไร เพราะมันไปสร้างไว้ข้างนอก
โทสะ โมหะ มันเกิดบนอะไร มันเกิดบนจิต ขอนไม้หรือสิ่งที่เป็นวัตถุ มันไม่มีโทสะ มันมีโทสะแต่พวกสัตว์ พวกสิ่งที่มีชีวิต ดูสัตว์ป่าสิ เวลาที่มันเจ็บ มันยิ่งเป็นภัยใหญ่ เพราะโทสะ โมหะมันเกิดจากจิต
ฉะนั้น ถ้าจิตมันเพ่งกสิณ แล้วมันออกไปตามกสิณนั้น เราจะบอกว่า อย่างนี้ เพราะสมาธิมันยังไม่พอไง ดูจิต พอมีโทสะ ก็รู้ว่าโทสะ ถ้ามีโทสะแล้วเรารู้ มันก็ปล่อยโทสะ พอปล่อยโทสะแล้ว จิตมันก็ต้องกลับมาเป็นตัวของมันเอง
ถ้ามีโทสะ ก็รู้ว่ามีโทสะ แล้วมันปล่อยมาเป็นตัวของมันเอง นี่ดูรู้นะ แต่ถ้าวิปัสสนาไม่เป็นอย่างนั้น
มีโทสะ โมหะ ปฏิฆะ กามราคะ มันเกิดจากอะไร แล้วปฏิฆะกามราคะ เหตุให้เกิดโทสะ เหตุให้เกิดโมหะ เหตุนั้นมาจากไหน ถ้าวิปัสสนาแล้วมันจะมาที่นี่ มันจะสาวไปหาเหตุ ไม่ใช่ มีโทสะ ก็รู้ว่าโทสะ.. มีแบงก์แล้ว ก็ฉีกแบงก์ทิ้ง
อ้าว.. ได้เงินมาก็ฉีกเงินทิ้ง มันจะมีประโยชน์อะไร เงินนั้นได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงใช่ไหม เงินก็คือกระดาษใบหนึ่ง มีค่าเท่ากับจำนวนของมัน แล้วจะเอาจำนวนนี้ ไปแลกเปลี่ยนสิ่งใดมา มันก็จะได้ผลประโยชน์ตอบมา
นี่ก็เหมือนกัน สัมมาสมาธิ คือดูความสงบของใจ มันก็เป็นสมาธิ มันก็มีค่าเท่านี้ ถ้าเราเอาไปใช้ประโยชน์ขึ้นมา มันก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา แต่นี่คือว่า มีโทสะ ก็รู้ว่าโทสะ คือเหมือนมีแบงก์ มันก็มีสมาธิขึ้นมา แล้วก็ทิ้งสมาธิไปไง มีสมาธิขึ้นมาแล้วก็ทิ้ง มันจะได้ประโยชน์อะไร
ถาม : มีโทสะ ก็รู้ว่ามีโทสะ หรือเปล่าครับ
หลวงพ่อ : เราถึงบอกว่า สิ่งนี้ไม่เห็นด้วย !
ถาม : แล้วต้องแก้ไขอารมณ์กำหนัดให้หมดไปหรือไม่ ด้วยวิธีไหน
หลวงพ่อ : นี่กลับมาที่ความสงบนะ กำหนัดก็ส่วนกำหนัด ความกำหนัด ยินดีต่างๆ ความกระสัน
พระนี่นะ คือว่ามีความกระสันอยากจะสึก ความกระสันอยากจะทำนู้นทำนี่ ความกระสันกับความกำหนัด มันเกิดจากอะไรล่ะ เกิดจากข้อมูล เกิดจากความอยาก เกิดจากอะไรต่างๆ ถ้าเราจะจัดการ คือเราต้องเห็นโทษของมัน ว่ามันก็เป็นแค่ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร
ความกำหนัด กระสันต่างๆ นี้ มันเป็นเรื่องพวงดอกไม้ เรื่องความหลอกลวง เรื่องความเห็นผิดของจิต จิตมันไปตามสถานะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญา แล้วใช้ปัญญาเข้ามา มันจะเข้ามาเป็นตัวของมัน พอเข้ามาเป็นตัวของมัน ก็เหมือนกับเงิน ๕ บาท ๑๐ บาทนั่นแหละ
พอเข้ามาเป็นตัวของมัน มันมีขั้นของสมถะ มีขั้นของวิปัสสนา แล้วถ้าขั้นของสมถะมันไม่มี หรือว่าตัวตนของมันไม่มี ต่อให้มันวิปัสสนาคิดไปขนาดไหน มันก็คิดแบบ ลอกเลียนสิทธิ ลอกเลียน ! ลอกเลียนตลอด เห็นไหม แต่ถ้าเป็นความจริง ไม่ใช่ลอกเลียน !
ถ้าเป็นความจริงนะ สงบ ก็รู้ว่าสงบ.. สมถะ ก็รู้ว่าสมถะ พอวิปัสสนาไปนะ มันแตกต่าง พอวิปัสสนาไป มันจะมีปัญญา มันจะแยกแยะของมัน ปัญญาแยกแยะเข้าไปแล้ว มันจะเห็นโทษของมัน แล้วพอเวลามันปล่อย ขณะปล่อยนะ ไม่ใช่ขาด ขณะปล่อยมันจะรู้เลยว่า อู้ฮู.. มันแตกต่าง
เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เข้ามาสงบเฉยๆ หรือใช้พุทโธ พุทโธ สงบเฉยๆ ก็ยังมีความสุขขนาดนั้น มันแปลกประหลาด มหัศจรรย์ จนติดว่าเป็นนิพพานได้ก็แล้วกัน แต่พอเวลามันชำระล้างแล้ว มันสงบด้วย มันสะอาดด้วย มันเบาตัวด้วย มันเห็นโทษด้วย พอเห็นโทษแล้ว มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันขาด มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อันนี้เราจะบอกว่า เวลาปฏิบัติ พอเราจะดูไปแล้ว มันมีโทสะ เรารู้ว่ามีโทสะ ไอ้สิ่งที่ว่าเกิดขึ้นนี้ ที่ว่าเวลาเพ่งกสิณไป พอกสิณมันขยายส่วนแยกส่วน จิตใจมันก็มีการพัฒนาอยู่เหมือนกัน ทีนี้พอไปกระทบอย่างนั้นปั๊บ มันก็เกิดความรู้สึก
ทีนี้ย้อนกลับมา เพราะเราคิดว่า มันเป็นทฤษฏีนี้ ดูจิตแบบจิตมีโทสะ ก็รู้ว่ามีโทสะ เรามีทฤษฏีนี้อยู่ เห็นไหม นี่คือลิขสิทธิ์ ไปลอกเลียนลิขสิทธิ์เขามา แล้วเราก็เอาความรู้สึกที่ว่า เราดูกสิณนี้ แล้วเราเพ่งกสิณมา พอจิตมันมีกำลังของมันใช่ไหม พอมันออกกระทบสัมผัส สัมผัสเรื่องเพศ ดวงกสิณหายไป เห็นไหม
เราดูกสิณนี้เหมือนกับดูว่าว พอไปคิดเรื่องเพศ ว่าวก็หายไป ไปมีอารมณ์กำหนัดแทน ตัวจิตที่เพ่งจ้องกสิณอยู่ จ้องอารมณ์กำหนัดนั้นต่อไป ไม่ต้องจ้องอารมณ์กำหนัด ไอ้นี่มันเป็นการจ้องไง ถ้าเรากลับมา
นี่อารมณ์ เห็นไหม หลวงตาสอนว่า อย่าเสียดายอารมณ์ความรู้สึก พอมันมีอารมณ์ความกำหนัดต่างๆ เราก็ตามมันไป แต่ถ้าเราทิ้งล่ะ ไม่เสียดายอารมณ์ความกำหนัดนั้น เราสร้างอารมณ์ใหม่ อารมณ์ใหม่คือพุทโธ พุทโธ พุทโธ
พุทโธเป็นพุทธานุสติ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ หรือมรณานุสติก็ได้ ถ้ารังเกียจพุทโธไง ถ้าพุทโธไม่ได้ ก็คิดถึงความตาย ถ้าจิตมันมีความกำหนัด เห็นไหม มันไปคิดเรื่องเพศ ให้เราคิดถึงความตาย เอาตายเข้าแลกเลย
อ้าว.. หญิงก็ตาย ชายก็ตาย ตายแล้วก็เป็นอสุภะ ให้เปลี่ยนอารมณ์ไปเลย ความกำหนัดมันก็ต้องไม่มี พอเราพิจารณาความตายแล้ว จิตมันก็ไปเกาะที่นั่น เห็นไหม ก็เหมือนกับผู้ที่ควบคุมว่าว แล้วสามารถควบคุมว่าวได้ ก็บังคับว่าวได้
ผู้ที่ควบคุมคือจิต แล้วสิ่งที่กระทบเรื่องเพศ เรื่องยินดีนั้น มันเป็นอาการของจิต มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก
อารมณ์เกิดจากจิต ถ้าเราไม่รู้จักจิตของเรา แล้วเราไปอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกของเราก็เหมือนเราอยู่ที่ว่าวของเรา เราควบคุมว่าวของเรา แล้วเราเอาว่าวขึ้นบนอากาศ แล้วไปควบคุมว่าวอยู่ แล้วก็ว่าเราเป็นว่าว เราจะล่องลอยไปกับว่าว
ไม่ใช่ ! เราควบคุมอยู่ อารมณ์ สัญญา ความรู้สึก ก็คือเกิดจากจิต แล้วพอจิตมันไปสัมผัสเรื่องเพศ มันเป็นสัญญาอารมณ์ แล้วเราก็เปลี่ยน เราจ้องมากสิณแทน เราสัมผัส คิดอารมณ์เรื่องเพศแทนกสิณไป มันก็เปลี่ยนสัญญาอารมณ์อยู่ข้างนอก ถ้าสัญญาอารมณ์อยู่ข้างนอก พอมันสัมผัสมา ก็คิดว่ามันเกิดดับเกิดดับ ก็ว่า โทสะ ก็รู้ว่าโทสะ
เฮ้อ.. เราจะบอกว่า วางให้หมดนะ แล้วเริ่มต้นใหม่ซะ
กำหนดอะไรก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง เอาความตายก็ได้ เอาสิ่งใดก็ได้ แล้ว โทสะ ก็รู้ว่าโทสะ มันจะปล่อยมันเข้ามา แล้วเวลาแก้ไข
ถาม : ถ้ากระผมแก้ไขด้วยการยกปฏิภาคนิมิต การเพ่ง สักพักอารมณ์กำหนัดนั้นก็หายไป จึงยกเอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาเป็นพิจารณาซ้ำอันนั้นไปเลย ก็ดูได้ว่า อารมณ์นั้นมันไม่ใช่ตัวตน กิเลสมันปรุงแต่งแทรกขึ้นมาเอง ใช้วิธีไหนดีครับ
หลวงพ่อ : มรณานุสติก็ได้ พุทธานุสติก็ได้ พัฒนาไปเรื่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ
ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ตรงที่เป็นสันทิฏฐิโก ไม่มีใครหลอกใครนะ ถ้าเราภาวนาไป เราจะรู้ของเราขึ้นมาเลย ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ว่า ยกเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.. ถ้าจิตมันมีกำลัง มาพิจารณาอารมณ์กำหนัดนั้นไปเลย
ถ้ามันมีกำลัง มันปล่อย คือว่ามันเปลี่ยนสัญญาอารมณ์อย่างหนึ่ง ไปอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา หรือที่เขาพิจารณาขึ้นไป มันเป็นสัญญาอารมณ์อย่างหนึ่งๆ สัญญาอารมณ์ว่าว่าง สัญญาอารมณ์ว่านิพพาน มันเป็นการสร้างทั้งนั้นเลย แต่ตัวมันไม่ได้เป็น
แต่ถ้าเราพิจารณา เราใช้สัมมาสมาธิ เราเข้ามาที่จิตสงบนะ มันเป็นหรือไม่เป็น แต่ตัวจิตมันเป็นนะ ตัวจิตมันเศร้าหมอง มันก็เศร้าหมอง ผ่องใส มันก็ผ่องใส แล้วตัวจิตมันรู้มันเห็นอะไร มันจะพัฒนาของมันขึ้นมา นั่นจะเป็นวิปัสสนา
เราถึงบอกว่า สติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันยังไม่มีสัมมาสมาธิ อย่างนั้นมันปลอมหมด ! ปลอมหมดเพราะมันเป็นการสร้างภาพสัญญาอารมณ์ แล้วเขาก็บอกว่า พระพุทธเจ้าสอน สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔
มันไม่ใช่ เพราะมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยสามัญสำนึก สติปัฏฐาน ๔ โดยลิขสิทธิ์ สติปัฏฐาน ๔ โดยอาศัยลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า
แต่ถ้ามันมีสัมมาสมาธิขึ้นมา มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยของเรา มันเป็นเอง มันเกิดขึ้นมาจากจิต จิตมันรู้เอง ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ! แต่เป็นของผู้ที่กระทำ ถ้าใครมีจิตสงบเข้ามา คือเราเป็นผู้รู้ผู้เห็น มันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ของใจดวงนั้น แล้วถ้าใจดวงนั้นได้ซักฟอกเอง ใจดวงนั้นจะพ้นจากกิเลส เป็นชั้นๆ ชั้นๆ ขึ้นไป
มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ของใจดวงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เคารพบูชาใดๆ ทั้งสิ้น ให้เคารพบูชาสัจธรรมนี้ไง นี่ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อสัจจะความจริง ที่เกิดขึ้นมาจากใจ
ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติขึ้นมา ถ้าย้อนกลับมา เห็นไหม ถ้าเราเปลี่ยนอารมณ์มาเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ ถ้าพิจารณาอารมณ์อย่างนี้ พิจารณาเข้าไปเป็นความจริง มันจะทิ้งทุกอย่าง เข้ามาเป็นตัวมัน
ตัวว่าวอยู่ข้างนอก ผู้ควบคุมว่าว มันต้องมาที่ศูนย์ควบคุม มันต้องเข้ามาสู่ตัวจิต แล้วถ้าเข้าสู่ตัวจิต ตัวจิตตัวนั้น มันจะพัฒนาของมัน แล้วถ้าพัฒนาของมัน มันจะรู้ มันเป็นปัจจัตตัง มันจะทิ้งเข้ามาเรื่อยๆ ทิ้งเข้ามาเรื่อยๆ
เหมือนเด็กเลย เด็กมันจะปฏิเสธการเติบโตไม่ได้ เด็กมันจะต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันจะต้องแก่เฒ่าชราภาพขึ้นมา มันจะเป็นของมันขึ้นมา จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันทำถูกต้องขึ้นมา มันจะพัฒนาของมันขึ้นมา
ความจริงเป็นความจริง มันเป็นความจริงในตัวของมันเอง ต้องกระทำอย่างนั้น แล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมานะ เป็นความจริง เป็นประโยชน์กับเราในการปฏิบัติ ไม่ใช่การ ดูโทสะก็รู้ว่าโทสะ.. ดูโมหะ ก็รู้ว่าโมหะ
มันก็เหมือนกับการไปดูสมบัติของคนอื่น เรารู้ว่าประเทศไทยมีเงินคงคลังอยู่ ๓ หมื่นกว่าล้านเหรียญ อเมริกามีอยู่กี่แสนล้านเหรียญ ยิ่งเมืองจีน ยิ่งมีเงินสะสมมากที่สุด เป็นสิบร้อยล้านเหรียญ นั่นมันไปดูเงินคนอื่นนะ
นี่มันเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ถ้าเป็นเงินคงคลังของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา
เป็นประโยชน์กับเรา เป็นเงินของเรานะ เป็นธรรมะของเรา ของผู้ที่ปฏิบัติของเราเนาะ เอวัง