พิจารณากาย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ๑๖๙. ต้นตอของความคิด โยมภาวนาพุทโธ พร้อมกับดูลมหายใจเข้าออก ตามจังหวะการหายใจ และสักพัก ความคิดก็โผล่ขึ้นมา พอพุทโธไปอีกสักหน่อย ก็เกิดความคิดขึ้นมา เป็นอย่างนี้เรื่อยเลย โยมเลยพิจารณาในสมาธินั่นแหละ
หลวงพ่อ : เห็นไหม ฟังความเห็นของเขา โยมเลยพิจารณา ในสมาธินั่นแหละ คือจิตมันสงบนิดหน่อย มันไม่ใช่สมาธิหรอก แต่เขาบอกว่า โยมพิจารณาในสมาธินั่นแหละ
ไอ้เจ้าความคิดนี้ มันมาจากไหน จุดกำเนิดของมันอยู่ที่ไหน นี่คือปัญญาอบรมสมาธินะ ปัญญามันจะเกิดเรื่อยๆ
ถาม : โยมพยายามที่จะสาวไปหาต้นกำเนิดของมัน พยายามจับมันว่า แรกๆ ที่มันจะเกิดนั้น มันผุดมาจากตรงไหน จากที่ใด แต่ก็ไม่พบเจ้าค่ะ มันสงบเสียก่อน พอมันสงบ ความรู้สึกมันก็มาแนบอยู่กับลมหายใจเข้าออก ได้ยินลมหายใจเข้าออกอย่างชัดเจน ลมเข้ากับลมออก ไม่เหมือนกัน เสียงดังเสียงค่อยไม่เท่ากัน
ตรงกลางของเข้ากับออกเป็นความเงียบ เหมือนหยุดอยู่พักหนึ่ง ความรู้สึกรู้ตรงนี้ ไม่ไปไหน ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกที่หน้าผาก เหมือนว่ามีอะไรมาอยู่ตรงหน้าผาก มันรู้สึกอย่างนั้น และมีความรู้สึกที่ขา เหมือนมันชา แต่ไม่มาก จิตไม่ได้ไปสนใจในอาการที่เกิดตรงส่วนล่าง แต่จิตรู้อยู่ที่ลม กับความรู้สึกที่หน้าผากค่ะ
หลวงพ่อ : เห็นไหม เวลาเขาไล่ความคิดไป ปัญญาอบรมสมาธินี้ พอมันต้อนๆ เข้าไป มันจะเป็นประโยชน์กับจิตเอง เหมือนเราจะรู้ผิดรู้ถูก มันจะพัฒนาของมันขึ้นไป แต่นี่มันอยู่ที่คำถามไง คำถามทุกคำถามดีหมดเลย ดีตรงไหน ดีตรงที่มันมีเหตุมีผล อย่างพวกเราถามกัน ถามด้วยความสงสัย ถามกันด้วยการดูตำรามา แต่นี่เพราะว่าเขาปฏิบัตินะ เพราะเขาเป็นของเขา
ถาม : ขอโอกาสถามพระอาจารย์ดังนี้
๑. ที่โยมปฏิบัติภาวนา ตามที่เล่ามานี้ ถูกหรือเปล่าคะ
หลวงพ่อ : เวลาคนเริ่มต้นปฏิบัติเข้าไป เห็นไหม ถ้าเป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้ ถูกหรือไม่ถูก เราไม่เข้าใจเลย แต่ถ้ามันผิดนะ เราเข้าใจ ถ้ามันผิด หมายถึงว่า เรารู้ มันเด่นชัดเลยนั้น เราเข้าใจ แต่ถ้าพอเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำงานนั้น
เราสังเกตได้ไหมว่าถ้าเรานั่งดูคนอื่นทำงาน เราจะเห็นความบกพร่องของคนอื่นหมดเลย คนนู้นก็ผิด คนนี้ก็ผิด คนนั้นไม่ดีหมดเลย แต่เวลาเราทำอะไร เราไม่รู้ว่าเราถูกหรือผิดนะ
จิตก็เหมือนกัน จิต.. ถ้ามันกำหนดอยู่ข้างนอก เห็นไหม จิตที่มันคิดของมัน มันว่ามันถูกนะ มันว่า นี่โอ้โฮ.. ว่างหมดเลย อู้ฮู.. ดีไปหมดเลย นั่นแหละ มันเป็นการดูคนอื่นเขา แต่เวลามันเป็น เห็นไหม ที่โยมปฏิบัติภาวนา ตามที่เล่ามานี้ ถูกหรือเปล่าคะ
ถูกหรือเปล่าคะ เหมือนเราทำงานเลย พอเราเข้าไปทำงานแล้ว เราไม่แน่ใจว่า งานนั้นจะดีหรือชั่ว ผิดหรือถูก แต่ถ้าเราดูคนอื่นเขาทำงานนะ โอ้โฮ.. ชัด คนนู้นก็ผิด คนนี้ก็ผิด
ถ้าจิตเราไม่เข้าไปสู่ปัจจุบัน มันมี พลังงาน มีตัวจิต กับความคิด แล้วความคิดนี้มันก็พยายามจะจำลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้ามา มันถูกหมดแหละ ดีไปหมดทุกอย่างเลย แต่พอเราเข้าไปทำแล้ว เก้อๆ เขินๆ จะผิดหรือจะถูก
เราจะบอกว่าถูก ! แต่ถูกนี้ ถูกที่มันเป็นปัจจุบัน แต่เห็นไหม เวลาถูกแล้ว พอเราจะปฏิบัติไป แล้วเราจะเอาอารมณ์อย่างนั้นอีก นี่ผิด ! ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะอารมณ์มันผ่านไปแล้ว มันจะขึ้นกับปัจจุบันตลอดไง
มันถูกขณะที่จิตมันเป็น ในขณะปัจจุบันนั้น แต่พอมันเป็นอดีตเป็นอนาคตไปแล้ว เราจะเอาอารมณ์นั้นมา นี่ผิดแล้ว เพราะเราจะไปน้อมอดีตมา
ฉะนั้น เป็นอย่างนี้ ถูก !
ถาม : ๒. เมื่อจิตมันสงบอยู่ตรงที่ลมหายใจ เราควรจะทำอย่างไรต่อไปเจ้าคะ
หลวงพ่อ : ในเมื่อจิตมันสงบอยู่ที่ลมหายใจ เราก็ตั้งสติ รู้ลมหายใจต่อไป ! พอเวลาจิตมันมีความสงบอยู่กับลมหายใจนี้ พอเรามีลมหายใจ เราก็กังวล เราจะไปซ้ายหรือจะไปขวา จะไปหน้าหรือจะไปหลัง นี่เพราะด้วยความเคยชินของจิตมันส่งออก ส่งออกไปที่ความคิด ส่งออกไปที่ขันธ์ ๕
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความคิดเป็นพลังงาน จิตเรานี่มันคิดจนเคยตัว แล้วพอมันจะมานิ่งอยู่ มันนิ่งไม่เป็น
เมื่อจิตมาสงบอยู่ตรงที่ลมหายใจ ควรจะทำอย่างไรต่อไปคะ
เวลามันสงบขึ้นมานี้เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นตัวของมันเอง ดูสิ ที่หลวงปู่ฝั้นพูด อู้ฮู.. เวลาทำงานทำการ บ่นเหนื่อยยากนะ ทำนู้นก็ยาก ทำนี่ก็ยาก ให้นั่งเฉยๆ นี้ มันก็ทำไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันเฉยๆ จิตมันมีสติขึ้นมา แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไปเจ้าคะ
ก็อยู่กับลมหายใจนั่นแหละ ! อยู่ชัดๆ ชัดๆ อยู่กับลมหายใจชัดๆ อยู่กับพุทโธชัดๆ อยู่กับเราใช้ปัญญาชัดๆ พอมันชัดๆ มันก็ทำบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะละเอียดเข้ามา !
ในเมื่อจิตอยู่กับลมหายใจ แล้วลมหายใจเริ่มชัดเจนขึ้น ถ้ามันไม่สงบนะ มันจะเห็นลมหายใจนี้ใสเลย มันจะเห็นชัดเจนมาก แล้วถ้าละเอียดเข้าไปนะ ลมหายใจเริ่มจางลง คำว่า จางลง ไม่ใช่ทิ้งนะ มันจะเริ่มจางลงๆ จิตมันจะเด่นขึ้นๆ อยู่ชัดๆ !
เพราะถ้าเราอยู่ชัดๆ คือเราควบคุมอยู่ เราควบคุมลมอยู่ชัดๆ นี้ ลมมันละเอียดเข้าไป โดยธรรมชาติของมัน ความรู้สึกมันจะละเอียดตามไป ละเอียดตามไปจนคิดว่า ลมหายใจนี้ขาด ลมหายใจนี้ไม่มี พอคิดว่าไม่มีจะตกใจ จะตื่นเต้น
ไม่ต้องไปตื่นเต้น ! สิ่งที่จะเป็นอย่างนี้ได้ จะต้องอยู่กับลมหายใจชัดๆ ! กำหนดพุทโธชัดๆ ! จะกำหนดอะไรก็แล้วแต่ ให้ชัดๆ ชัดๆ อยู่อย่างนั้นแหละ !
ทีนี้พอว่าชัดๆ นี้มันหยาบไง ชัดๆ แสดงว่ามันเห็นเป็นรูปธรรมมากเกินไป มันจะไม่ละเอียด เราไปห่วงกันตรงนั้นไง ตรงที่จิตจะไม่ละเอียด ตรงที่จิตจะไม่ได้เข้าสมาธิ มันก็เลยไม่เข้า
แต่ถ้าอยู่ชัดๆ มันจะเข้า เข้าเพราะอะไร เข้าเพราะลมหายใจเข้าออก เพราะอานาปานสติ เข้าเพราะพุทโธ พุทธานุสติ เข้าเพราะมรณานุสติ เข้าเพราะกายานุสติ มันเข้าเพราะการพิจารณา เข้าเพราะจิตมันมีการกระทำ ในปัจจุบันนั้นไง
ฉะนั้น จิตที่มันสงบอยู่ตรงลมหายใจ ควรจะทำอย่างไรต่อไป
ควรอยู่กับลมหายใจชัดๆ ! มันจะเป็นขึ้นมา โดยสัจธรรม มันไม่ใช่เป็นขึ้นมาด้วยความคาดความหมาย ความต้องการ ความที่คนไปเหนี่ยวรั้งมาด้วยสัญญา
ไม่ใช่ ! ถ้าอย่างนั้นมันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นของมัน คนชำนาญนะ ให้กำหนดลมหายใจเลย
เราพูดแล้ว เคยโดนเขาย้อนกลับมาทีหนึ่ง เราไม่กล้าพูดอีกไง ว่า พอพุทโธ พุทโธแล้วถอยหลัง เขาเอาไปลงในเว็บไซต์เลยนะ ว่า นี่ไงๆ พระสงบเขาพูดไง ว่าอยู่หลังความรู้
พุทโธชัดๆ คือถ้าคนที่ชำนาญ เราจะบอกว่า คนที่ชำนาญ กับคนที่ไม่ชำนาญ คนที่ชำนาญ เพราะเขาใช้ข้อเท็จจริง ถ้าชำนาญแล้ว เขาจะแยกได้เลย ว่า อันนี้คือความคิด อันนี้คือจิต อันนี้คือสัญญา ในความคิดนะ อันนี้เป็นสัญญา ถ้าสัญญาขึ้นก่อน เขาก็แยกได้ว่า อันนี้เป็นสัญญา อันนี้เป็นสังขาร อันนี้เป็นเวทนา อันนี้เป็นวิญญาณ
วิญญาณรับรู้ (วิญญาณปฏิสนธินี้เป็นอีกอันหนึ่ง) ความรับรู้สึกเป็นวิญญาณอันหนึ่ง ถ้าคนที่ชำนาญจะรู้ขนาดที่ว่า จิตนี้มันอยู่ในขันธ์ไหนเลยล่ะ
ทีนี้พอชำนาญ มันก็อธิบายได้ พออธิบายไป คนที่ไม่ชำนาญ มันก็มั่ว แล้วก็เอาไปสวมรอย
ฉะนั้น เมื่อจิตมันมีความสงบอยู่ตรงที่ลมหายใจ เราควรจะทำอย่างไรต่อไป
กำหนดลมชัดๆ กำหนดลมไปเรื่อยๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา เพราะเรามีสติ มีปัญญามันใคร่ครวญเข้ามา เราก็ต้องทำอย่างนั้นต่อไป
ถาม : ๓. ความรู้สึกที่หน้าผาก คืออะไรคะ
หลวงพ่อ : ความรู้สึกที่หน้าผาก นั้น ความรู้สึกจริงๆ มันอยู่ที่ใจ พออยู่ที่ใจใช่ไหม แต่เวลาเรากำหนดลมหายใจ จิตเรานี้อยู่กับลมหายใจ พออยู่ที่ลมหายใจแล้ว เวลาจิตมันส่งออก มันก็อยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่วาสนา อยู่ที่กรรมของคน
ฉะนั้น พอไปอยู่ที่หน้าผาก คือมันออกรู้ใช่ไหม จิตนี้รู้เป็นหนึ่งเดียว ในเมื่อมันรู้ลมหายใจอยู่ แล้วทำไมมันไปรู้ที่หน้าผากล่ะ เรากำหนดลมหายใจนี่คืออานาปานสติ เพราะจิตมันได้ลมหายใจนี้ซักฟอก ถ้ากำหนดพุทโธ คือพุทโธซักฟอก กำหนดมรณานุสติ ก็คือมรณานุสติซักฟอก
ทีนี้กำหนดลมหายใจ คือ อานาปานสติ มันซักฟอกจิตอยู่ เวลากำหนดลมหายใจ จิตมันอยู่กับลมหายใจ อย่างนี้ อานาปานสติ มันจะซักฟอกจิต ให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้เป็น สัมมาสมาธิ
พอเป็น สัมมาสมาธิ พอจิตมันสะอาดขึ้นมา เราเปรียบบ่อย เหมือนน้ำที่สกปรก หรือน้ำเสีย ถ้าเรารีไซเคิลน้ำ คือเราทำให้น้ำมันสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา
จิตของคนก็เหมือนกับน้ำสกปรก เพราะมันมีอวิชชาครอบงำอยู่ มันมีอวิชชาเป็นอนุสัย มันครอบคลุมหัวใจเราอยู่ ครอบคลุมความคิด ความรู้สึกของเราอยู่ จริตนิสัยของคน โทสจริต โมหจริต มันจะครอบงำอยู่ แล้วเราไปศึกษา มันก็ศึกษาตามจริตนิสัยนี่แหละ
แล้วถ้าน้ำสกปรก พอมันได้รับการซักฟอก มันก็กลายเป็นน้ำสะอาด น้ำสะอาดมันก็ต้องดีขึ้น ทีนี้ น้ำสะอาดบ้างบางส่วน กับน้ำสกปรก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ น้ำสะอาดบางส่วน มันย่อมมีคุณภาพดีกว่า น้ำที่สกปรก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
จิต ถ้ามันได้รับการซักฟอกๆ การส่งออก หรือการรับรู้ของมันจะดีขึ้น พอดีขึ้นแล้ว มันจะไปรู้ตรงนี้ รู้ตรงหน้าผาก รู้ตรงตัวโยกตัวเอียง รู้จนตัวโคลง มันจะรู้ได้ เห็นไหม อาการรู้อย่างนี้ มันออกรับรู้ได้ พอรับรู้ได้ เราก็กำหนดลมชัดๆ อย่างเดียว ไม่ต้องไปรู้ที่หน้าผาก
อะไรที่มันเกิดมาให้เรารู้ อย่างเช่น พอจิตเราจะดีขึ้น กิเลสนี้ มันจะเสนอสิ่งใดมาให้เรางับเหยื่อ พอเราไปงับเหยื่อปั๊บ คือเราไปงับเหยื่อไว้ตรงหน้าผาก เท่านั้นแหละเป็นเรื่องแล้วนะ พอจิตมาถึงตรงนี้ปั๊บก็จะไปรับรู้ที่หน้าผากแล้ว มันจะเป็นเหมือนกับแผ่นเสียงตกร่อง มันจะเป็นการฝังใจ พอเป็นการฝังใจ เราก็กำหนดลมชัดๆ
สิ่งที่หน้าผากนั้น ไม่มีอะไร เพราะถึงเราไม่ภาวนา หน้าผากเรา ก็เป็นหน้าผากอยู่แล้ว เวลาภาวนาไป หน้าผากก็คือหน้าผาก หน้าผากก็คือกะโหลกศีรษะ แต่จิตนั้นมันไปรับรู้ไง จิตรับรู้นี้สำคัญนะ เพราะจิตรับรู้แล้วมันฝังใจ
ให้กลับมาที่ลมหายใจเฉยๆ
ทีนี้ ไอ้คำว่า รับรู้ที่หน้าผาก มันเหมือนหญ้าปากคอก เห็นไหม ดูวัวมันกินหญ้าสิ ที่ปากคอก หญ้ามันจะหล่นไปเต็มที่เลย แล้วก็มีหญ้าอยู่ในรางด้วย เราสนแต่หญ้าในรางนั้น วัวต้องกินหญ้าในราง มันจะได้อิ่มหนำ ไอ้หญ้าปากคอก หญ้าที่มันตกหล่นอยู่นั้น มันเป็นสิ่งที่ว่าเสียดายไง เศษหญ้ามันตกลง
ไอ้ความรับรู้ต่างๆ เวลาจิตที่มันจะสงบเข้ามา มันรู้นู้นรู้นี้ เราไม่ต้องไปสนใจ ให้เราสนใจแต่ อานาปานสติ ลมชัดๆ ! ลมชัดๆ !
ไอ้ลมชัดๆ พุทโธชัดๆ นี้ เราย้ำตลอด ถ้าคำว่า ชัดๆ คือทำ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราทำ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ทำ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แบบนี้มัน สักแต่ว่าทำ ทำซัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ก็คิดฟุ้งซ่านออกไป อีก ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ทางอื่น เราจะเสียพลังงานมากเลย
ชัดๆ ! ถ้าชัดๆ แล้ว มันจะเป็นขึ้นมา มันจะเป็นขึ้นมา เพราะว่า ชัดๆ นั่นแหละ มันจะเป็นขึ้นมาจาก อานาปานสติ พุทธนานุสติ มรณานุสติ มันจะเป็นขึ้นมาจากการกระทำ จากผลของกรรมฐาน ๔๐ ห้องอันนั้น
อันนี้สำคัญ เพราะมีอันนี้ ไอ้ที่หน้าผากนั้นถึงเกิดขึ้นมา ความรับรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากจิตมันพัฒนาทางนั้นนะ แล้วเวลามันเป็น คือมันเป็นอย่างนี้ มันรับรู้อย่างนี้
ถาม : ๔. ต้นกำเนิดของความคิด จากตรงไหนคะ มันผุดขึ้นมาได้อย่างไร
หลวงพ่อ : เวลาครูบาอาจารย์ ท่านไปกราบหลวงปู่มั่น เช่น หลวงปู่ขาวตอนที่ท่านไปกราบหลวงปู่มั่นนะ ท่านบอกว่า ดูซิว่าหลวงปู่มั่น ท่านจะรู้วาระจิตเราไหม อู้ฮู.. ใครจะรู้วาระจิตเราไหม ไปกราบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านใส่เอานะ จิตของตัวไม่ดู ไปคิดแต่ว่า คนอื่นจะรู้วาระจิตเราไหม
นี่ก็เหมือนกัน ต้นกำเนิดของความคิด มันเกิดจากตรงไหนคะ
ต้นกำเนิดของความคิด มันเกิดจากปฏิสนธิจิต มันเกิดจากภพ ทีนี้คำว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิจิต คือตัวจิตเดิมแท้นี่แหละ จิตใสๆ นี้ มันเป็นตัวอวิชชา
พอเป็นตัวอวิชชา โดยธรรมชาติของตัวอวิชชา พลังงานของจิตมันส่งออก คือพลังงานมันคลายตัวออก ทีนี้พอคลายตัวโดยที่ไม่มีความคิด เราลองอยู่เฉยๆ สิ อยู่เฉยๆ เราก็รับรู้อารมณ์ความรู้สึกได้ใช่ไหม ถ้าเราไม่คิด คือเรารู้สึกได้
นี่ไง มันคลายตัวออกมา แต่พอมันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ใช่ไหม พอมันคลายตัวออกมา พร้อมกับขันธ์ ๕ เมื่อนั้นความคิดเกิดแล้ว
นี่พูดโดยข้อเท็จจริงนะ แต่เราต้องหาของเราเอง แล้วที่เขาถามว่า ต้นกำเนิดของความคิด เกิดจากตรงไหนคะ มันผุดขึ้นมาได้อย่างไร
นี่เขาถึงบอกกันว่า ความคิดหยุดไม่ได้ ความคิดหยุดไม่ได้ ถ้าเราอยู่เฉยๆ เราไม่คิด ความคิดมันหยุดได้ เพราะ ความคิดคืออาการของจิต คือเงา ตัวจิตคือตัวร่างกาย แล้วความคิดคือเงา แล้วถ้าร่างกายจะมีรูปทรงอย่างไร เงาก็จะมีรูปทรงตามร่างกายนั้น
พอกิเลสอวิชชา คนหยาบ คนหนา มันเป็นพลังงาน แต่เวลาคิดออกไป มันเป็นเงา เป็นอาการของใจ แล้วเงานี้ มันขยายใหญ่โตได้ เราจะลบล้างมันก็ได้ ชั่วคราว ถ้ามันชั่วคราวไม่ได้ ก็เป็นสมาธิไม่ได้ !
สมาธิคือมันทะลุขันธ์ ๕ เข้าไป รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันทะลุเงาเข้าไป ไปถึงตัวของมันเอง พอถึงตัวของมันเอง นั่นแหละคือ ตัวสมาธิ แล้วพอเป็นตัวสมาธิ ต้นกำเนิดของความคิด พอเป็นสมาธิแล้ว สังเกตสิ สังเกตว่า ความคิดมันมาจากไหน พอจับได้นะ นั่นคือเราจับได้จากต้นทาง เห็นไหม พอต้นน้ำนี้เราจับได้ กลางน้ำ ปลายน้ำนี้ เราก็จะสามารถควบคุมได้หมดเลย
ถ้าเราจับความคิดตั้งแต่มันเกิดจากจิต พอจับได้ วิปัสสนาเกิดตรงนี้ไง ที่หลวงปู่ดูลย์สอนว่า จิต เห็นอาการของจิต คนที่เห็น มันจะเห็นที่เกิดไง เห็นที่มาของจิต มันก็เหมือนกับว่า เห็นเหตุเห็นผล เห็นที่มาที่ไป แล้วเราจับได้หมด แล้วเราควบคุมได้หมด เราไปแยกแยะได้หมด นั่นแหละ วิปัสสนาเกิดตรงนั้น !
แต่นี่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ อู้ฮู.. วิปัสสนานะ ก็ไปคิดใหญ่โตเลย ก็เหมือนเมื่อกี้นี้ที่บอกว่า เวลาดูคนอื่นคิด รู้ไปหมดแหละ ผิดไปหมดแหละ
นี่ก็เหมือนกัน ตัวเองยังไม่สงบ แล้วก็ไปดูความคิด มันก็เหมือนคนที่ดูคนอื่นเขาทำงาน คนนู้นก็ทำผิด คนนี้ก็ทำผิด สู้เราไม่ได้ เราทำได้ดีกว่านี้ พอลงไปทำเองนะ เละเลย ไม่ได้เรื่องเลย
แต่พอดูคนอื่นทำผิด เรารู้นะ รู้ว่าคนนู้นก็ผิด คนนี้ก็ผิด ลงไปทำเองนี่ไม่เหลือ ตัวเองก็ผิดด้วยไง
นั่นแหละ อย่างนี้ใช้พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนจิตสงบเข้ามา แล้วหมั่นสังเกต จิต เห็นอาการของจิต หลวงปู่ดูลย์เน้นย้ำตรงนี้มาก
ดูจิต จนจิตเห็นอาการของจิต
แล้วถ้าคนทำตรงนี้ไม่เป็นก็คือไม่เป็น ตรงนี้มันเป็นการแยกระหว่าง โลกียะกับโลกุตตร ถ้าปกติทำปัญญาอบรมสมาธิ นั่นเป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของการทำความสงบของจิต แต่ถ้า จิต เห็นอาการของจิต มันจะเข้า ภาวนามยปัญญา แล้ว มันจะเข้าไปสู่ โลกุตตรธรรม ฉะนั้น อันนั้นแหละ มันถึงจะรู้จริงไง
ต้นกำเนิดของความคิด คือเราเห็นของเราเอง แล้วเราจับของเราได้เอง พอจับต้นกำเนิดความคิดได้ เหมือนกับเราจับต้นน้ำได้ แล้วกลางน้ำ ปลายน้ำ เราจะควบคุมได้หมดเลย แต่เพราะมีเขื่อนคอยควบคุม ที่ทำให้สิ่งที่ควบคุมนั้น มันสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
ถ้ามีสติ มีสมาธิ ควบคุมได้ จับได้นั้น มันจะรู้หมดเลย แต่ถ้าสติสมาธิอ่อนนะ เราจะควบคุมไม่ได้ เห็นไหม ดูเขื่อนสิ เวลาน้ำหลาก น้ำมากเกินไป เขาต้องระเบิดเขื่อนทิ้งเลย เพราะเดี๋ยวมันจะทำให้เขื่อนแตก ระเบิดเขื่อน เพื่อระบายน้ำออก เพราะเดี๋ยวมันจะมีปัญหา
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามีสติมีสมาธิ จะเห็นต้นกำเนิดของความคิด เห็นความคิดมา แล้วจับความคิดพิจารณาได้ เพราะถ้าจับความคิดได้ มันเป็น สติปัฏฐาน ๔ คือกาย เวทนา จิต ธรรม เป็น ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เป็นธรรมะ
ถ้ามีสติมีปัญญา มันเป็น ธรรมารมณ์ เป็นสัจธรรม เป็นอารมณ์ความรู้สึกในขันธ์ ๕ แล้วจับมาขยายส่วน นั่นแหละเป็น สติปัฏฐาน ๔ นะ
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมานุ ธรรมา เห็นไหม ถ้าเห็นต้นกำเนิดอย่างนี้ก็สุดยอดน่ะสิ
จะต้องเห็นเอง ถามเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ไม่ถามถึงจะรู้ ถ้าไม่ถามด้วย แล้วเห็นด้วย จะรู้ได้ตามความเป็นจริงเลย
ฉะนั้น ปฏิบัติไป เพราะต้นกำเนิดของความคิด มันต้องมีที่มาที่ไป เพราะต้นกำเนิดของความคิด ตัวจิตคือตัวกิเลส เห็นต้นกำเนิดของมัน แล้วจับอาการที่มันแสดงออกมา เห็นไหม เหมือนเห็นเสือออกจากถ้ำ เราจะฆ่าเสือ เราต้องหารอยเสือ แล้วเข้าไปสู่ถ้ำเสือนั้น แล้วก็ไปจับเสือในถ้ำนั้น
กิเลสมันอยู่ในหัวใจ ในคูหาของจิต ความคิดมันออกจากคูหานั้น ฉะนั้นความคิดที่ออกมาแล้ว เราก็จับมาพิจารณา แล้วมันหดสั้นเข้าๆ พอพิจารณาไปมันจะรู้ทันเข้า รวดเร็วเข้า มันจะติดตามเข้าไปสู่ในคูหานั้น แล้วเราไประเบิดในคูหานั้น ทำลายคูหานั้น นั่นแหละ ฆ่ากิเลส ตรงนั้น
เห็นชัดเจนมาก ! แล้วพูดได้ สื่อความหมายได้
ถาม : ๕. ควรพิจารณาอะไรต่อ ในขณะที่มันสงบแล้วคะ แต่เท่าที่ผ่านมา เมื่อมันสงบ มันจะไม่ยอมคิดอะไรเลยค่ะ แล้วโยมจะคิดพิจารณาเมื่อไหร่คะ
หลวงพ่อ : ควรพิจารณาต่อ เมื่อไหร่คะ ถ้าจิตมันสงบนะ เราพยายามพิจารณาให้มันสงบมากขึ้น เพราะถ้ามันสงบมากขึ้น มันก็จับต้องอาการความรู้สึกต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ถ้าจับต้องได้แล้ว ก็เหมือนกับคนกินข้าว คนกินข้าวนี้จะกินเมื่อหิว เมื่ออิ่มเราก็พัก
จิตถ้ามันหิวโหย มันทำงานไม่ได้ เราก็ต้องทำความสงบของใจ แล้วถ้าใจมันสงบ มันมีความอิ่มหนำสำราญเข้ามาแล้ว ให้ออกใช้ปัญญาค้นคว้าตลอด พอค้นลึกๆ เข้าไป มันจะกลับไปสู่ เห็นความต้นกำเนิดของมัน ถ้ายังไม่เห็นต้นกำเนิด คือยังไม่เห็นอาการของจิต คือจิตยังจับอาการของจิตไม่ได้
อย่างที่เมื่อวานเราพูดถึงเรื่อง โทสะเห็นโทสะ ใช่ไหม ดูโทสะ จนรู้ทันโทสะ แบบนั้นมันดูคนอื่นเขาทำงาน
เพราะมันดูโทสะ โทสะ คืออาการของจิต ตัวจิตมันจับไม่ได้ มันไม่เห็นต้นกำเนิดของความคิดหรอก แต่ถ้ามันเห็นโทสะ แล้วโทสะดับไป มันจะคิดได้ว่า โทสะเกิดจากอะไร.. โทสะตั้งอยู่บนอะไร มันถึงเกิด.. แล้วมันเกิดมานั้น มันให้ผลกับใคร
ถ้ามันจับอย่างนั้นได้ มันวิปัสสนาเข้าไปได้ มันจะเป็นประโยชน์ไง ดูโทสะ จนโทสะดับไป มันก็เหมือนกับขอนไม้ไง ขอนไม้มีประโยชน์อะไร
นี่ก็เหมือนกัน ควรจะพิจารณาต่อไป ขณะที่มันสงบแล้ว สงบแล้ว ก็อยู่ในสงบนั้น เวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธ จนจิตสงบ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนมันสงบ คือเราอยู่กับมัน พอเวลามันสงบ เราก็พยายามจะดึงออกมา พอเวลามันไม่สงบ เราก็อยากจะให้มันสงบ พอมันสงบแล้ว เราก็อยากจะดึงออกมาให้มันทำงาน มันต้องเป็นไป เห็นไหม
เวลาเราหุงข้าว ข้าวยังไม่ทันสุก แล้วเราอยากให้มันสุก เราก็ไปปิดไฟก่อน อย่างนั้นข้าวมันจะสุกก็ไม่สุก มันจะดิบก็ไม่ดิบ แล้วเวลามันไม่ได้ติดไฟ เราก็อยากให้มันสุก
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันไม่สงบ เราก็อยากให้มันสงบ พอมันสงบแล้ว เราก็จะให้มันออกไง
เวลาจิตสงบแล้ว ให้อยู่กับสงบนั้น ตั้งสติอยู่อย่างนั้น มันคลายตัวมันออกมา มันสมควรแก่งาน แต่ถ้ามีความชำนาญนะ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เวลาที่ว่า ขึ้นไปแล้วมันติดสมาธิใช่ไหม หลวงปู่มั่นให้ออกพิจารณา พอพิจารณาแล้ว มันใช้ปัญญา มันอยากได้งาน มันก็เพลินในงาน จนไปหาท่าน ท่านบอกว่า บ้าสังขาร บ้าสังขาร.. ต้องทำความสงบ
ทำความสงบ คือต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม เพราะถ้ามันบ้างาน คือคนมันทำงาน วิปัสสนาเป็นแล้ว มันจะเอางานตลอดเวลา ถ้าเอางานตลอดเวลานี้ พอมันจิตสงบแล้ว มันพุ่งออกเลย
ฉะนั้น มันพุ่งออกไปแล้ว เราต้องใช้พุทโธ พุทโธ พุทโธ ท่านบอกว่า พุทโธนี้รัวเลย จนเหมือนคนฝึกหัดใหม่เลย จนจิตมันสงบนะ ปล่อยไม่ได้ เพราะปล่อยแล้วมันจะพุ่งเข้าหางาน ปล่อยแล้ว.. มันจะพุ่งเข้าหางาน
นี่ถ้าคนทำเป็นแล้ว มันจะเป็นแบบอย่างไง มันจะพุ่งเข้าหางานเลย มันจะพุ่งเข้าไปสู่อะไรเลย แต่นี่มันเริ่มต้นไม่ถูก เห็นไหม ในเมื่อพิจารณาจนมันสงบแล้ว จะทำอย่างไรต่อไปเจ้าคะ
สงบก็อยู่กับสงบก่อน เพราะมันยังทำงานไม่เป็น คนทำงานเป็น เขาเรียกคนภาวนาเป็น คนภาวนาเป็น กับคนภาวนาไม่เป็น ในวงกรรมฐานเขาพูดกันอย่างนี้ ถ้าคนภาวนาเป็น หมายถึงว่า ทำความสงบก็ได้ แล้วปล่อยให้ออกใช้ปัญญาก็ได้ อย่างนี้คือมันทำงานเป็น พอทำงานเป็นแล้วนะ ก็ให้รอผลความสำเร็จ
ถ้าทำงานเป็นนะ รอผลความสำเร็จจากการทำงานนั้น แต่ถ้าเราทำงานเป็นแล้ว ยังทำงานไปไม่ได้ หรือทำงานไปแล้ว ด้วยความประมาทพลาดพลั้ง ด้วยความไม่มุมานะ ทำงานไปแล้วเลิกทำงานก็จบ
แต่ถ้าพอทำงานเป็น เขาเรียก ภาวนาเป็น หรือภาวนาไม่เป็น คำนี้ มันเป็นคำพูดของ กรรมฐาน ถ้าคำว่า ภาวนาเป็น นะ แสดงว่าเขาเริ่มก้าวเดินแล้ว เขาเริ่มจิตสงบแล้ว พอจิตสงบแล้ว เขาออกใช้ปัญญาเป็น คือเขาเห็นต้นกำเนิดของความคิดได้
นี่ ทำสมถะ คือทำความสงบของใจ พอจิตมันเริ่มสงบ แล้วออกทำงานแล้ว นี่มันออกวิปัสสนาแล้ว ระหว่างสมถะกับวิปัสสนา มันจะก้าวเดินไปพร้อมกันแล้ว ถ้าไปพร้อมกัน อย่างนี้คือภาวนาเป็นแล้ว
อย่างที่เราฝึกๆ กันอยู่นี้ เข็นกันอยู่ทุกวันนี้ เข็นเพื่อให้ภาวนาเป็นนี่ไง เข็นให้ขึ้นมาภาวนาได้ แล้วมันจะก้าวเดินของมันไปไง เหมือนกับทางโลก เห็นไหม เราพยายามจะตั้งร้านค้า ทำธุรกิจต่างๆ พอเราตั้งร้านได้แล้วนะ เอ้อ.. มึงดูแลไป มึงดูแลไป ให้มันประสบความสำเร็จขึ้นมา แต่ถ้ายังไม่ตั้งร้านนะ ไปดูทำเลก่อน ดูทำเลเสร็จแล้วมีเงินไหม มีทุนหรือเปล่า มีคนหรือเปล่า
นี่ก็เหมือนกัน เราทำความสงบของใจก่อน ถ้าใจมันสงบแล้ว คนเราพร้อมแล้ว ทุกอย่างเราพร้อมแล้ว ถ้าเราพร้อมแล้ว นี่คือพอจิตสงบแล้วให้อยู่กับความสงบ พอมันคลายตัวออก ตรงนี้สำคัญ มันคลายตัวออกไปสู่อะไร มันคลายตัวออกไปสู่ความคิดไง
นี่ที่เขาว่า ความคิดมันเกิดที่ไหนคะ ตรงนั้นแหละ ! มันเกิดดับเกิดดับอยู่ที่ใจนั้นแหละ ! แต่เพราะจิตเราละเอียดไม่พอ !
จิตละเอียดไม่พอ ความสงบของเราไม่พอ ความอุตสาหะ ความพยายาม ความวิริยะของเรานี้ มันไม่พอ ถ้าพอ.. มันจะเห็น !
ของมันอยู่กับเรา ดูสิ ร่างกายกับใจ อยู่กับเรา แต่เราไม่รู้ว่ามันอยู่ไหน ของอยู่กับเรา แต่เราไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันรู้มันเห็น นั่นแหละ วิปัสสนาเกิดตรงนั้น อย่างนี้คือ ภาวนาเป็น
ภาวนาเป็น มันเป็นศัพท์ของกรรมฐาน ถ้าภาวนาเป็น เวลาครูบาอาจารย์ กับครูบาอาจารย์คุยกันนะ พระองค์นั้น ภาวนาเป็นหรือยัง พระองค์นี้อยู่ตรงไหนๆ พอพูดแค่นี้จะรู้เลยว่า พระองค์นี้อยู่ระดับนี้
เหมือนกับคนไข้เลย เหมือนหมอส่งคนไข้ให้กัน คนไข้คนนี้มาแค่นี้ เวลาหมอส่งคนไข้มาให้หมอที่อื่น เขาจะรักษาต่อไปได้เลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าครูบาอาจารย์บอก นี่ภาวนาเป็นแล้ว ภาวนาเป็นหมายถึงว่า เดินได้แล้ว ไปได้แล้ว แต่ถ้ามันที่สุดนะ มันได้ขั้นได้ตอนนะ อันนี้เป็นอันหนึ่ง
ถาม : ๑๗๐. กายว่างค่ะ หนูฝึกปฏิบัติมา ๘ ปี จนกายว่าง รู้ตรงร่างกายส่วนไหนว่าง หนูเริ่มพุทโธ พอสงบแล้ว รู้สึกว่ากายชัดเจนค่ะ
หลวงพ่อ : มันมีประเด็น คำถามดีมาก ๒ อันนี้คำถามดีมาก
ถาม : หนูปฏิบัติสมาธิประมาณ ๑ ชั่วโมงเจ้าค่ะ นั่งไปสักพัก จะรู้สึกปวดเท้า แล้วหนูฟังจากที่หลวงพ่อเทศน์ว่า เราไม่จำเป็นต้องรอให้จิตถึงฐาน ก็สามารถออกพิจารณาได้ เจ้าค่ะ ขณะที่รู้สึกปวดเท้านั้น หนูก็บริกรรมพุทโธ แล้วหนูก็เอาใจไปดูบริเวณที่ปวด พอดูไปมันก็หาย แล้วมันก็ปวดใหม่ หนูก็สงสัยว่า ทำไมมันปวด หนูจึงเอาจิตไปจับขา เมื่อขาเป็นขา เข่าเป็นเข่า มันไม่ปวดส่วนนั้นเจ้าค่ะ แต่พอขาไม่เป็นขา เข่าไม่เป็นเข่า คือกายหายไป จะปวดเท้ามากเจ้าค่ะ จิตไปยึดเกาะ กับอาการที่อยู่ในความว่างๆ ตรงตำแหน่งเท้าเจ้าค่ะ หนูอยากกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า
๑. หนูจะทำกายให้ชัดเจน เป็นปกติได้อย่างไรเจ้าคะ
๒. หนูจะพิจารณา อาการปวดเท้า โดยที่เห็นว่า เท้าก็คือเท้า คือจับที่กาย ได้หรือไม่เจ้าคะ
เราจะบอกว่า สิ่งที่ทำมานั่น มันเป็นอดีตแล้ว เป็นอดีตที่มันทำแล้วได้ประโยชน์ คือว่าอุบายขณะนั้น ขณะที่นั่งไป ๑ ชั่วโมง แล้วรู้สึกปวด เวลาพุทโธไปดูบริเวณที่ปวด แล้วเท้ามันหายไป เวลาปวดไปที่ขา ก็จับขา
ฉะนั้นเขาจะบอกว่า เวลาพุทโธไป พอสมาธิมีกำลัง แล้วมันเห็นชัดเจน ขาก็เป็นขา เข่าก็เป็นเข่า มันสักแต่ว่า แล้วมันปล่อยกัน นี่จิตมันก็ไม่ปวด แต่ถ้าสมาธิเราไม่ดี พอไปจับนะ เข่าก็ไม่เป็นเข่าแล้ว.. ขาก็ไม่เป็นขาแล้ว แล้วปวดมากๆ ปวดมากเพราะอะไร เพราะสมาธิไม่พอ ถ้าสมาธิไม่พอ เราต้องกลับมาที่พุทโธ พุทโธ เพื่อสร้างกำลังขึ้นมา
กำลังของเรานี้ก็เหมือนกับเงิน ถ้าเราใช้เงินทุกวัน เงินจะร่อยหรอไป สมาธิทุกขั้นตอน ทุกเวลา เวลามันดีขึ้นมา เวลาเราออกใช้ปัญญา หรือออกใคร่ครวญ มันจะเหมือนกับทอนกำลังของสมาธิไป พอทอนกำลังของสมาธิไป กำลังมันไม่พอแล้ว พอกำลังไม่พอ อาการปวดจะเกิดขึ้น
เวลาต่อสู้กับเวทนา เห็นไหม วิธีการของมัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ คือนักหลบ หลบเข้ามาก่อน ถ้ากำลังเราไม่พอ ของนี้เราสู้มันไม่ได้ ให้เราหลบเข้ามาที่พุทโธ พุทโธ พุทโธ ปล่อยมันให้ได้ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ
ถ้าพุทโธชัดๆ มันก็จะไปดึงพลังงาน ดึงความรู้สึกของจิตทั้งหมด มาอยู่ที่พุทโธ นี่มันไม่ออกไปรับรู้ปวด ปวดก็คือสักแต่ว่าปวด แต่จิตมันก็คือจิต
อย่างนี้คือวิธีหลบ เห็นไหม ให้หลบมาก่อน แต่ถ้ามีกำลังขึ้นไป พอพิจารณาเข่าเป็นเข่า คำว่า เข่าเป็นเข่า คือมันสรุปไง
ธาตุก็คือธาตุ เวทนาก็คือเวทนา จิตก็คือจิต สัญญาก็คือสัญญา มันสรุปเป็นกองๆ มันไม่ต่อเนื่องกัน เห็นไหม
แต่ถ้ากำลังไม่พอนะ นี่มันสัมพันธ์กัน เวทนาแล้ว วิญญาณรับรู้เวทนา มันก็เกิดอาการปวดขึ้นมา
ฉะนั้น คำที่เขาว่า หนูจะทำกายให้ชัดเจน เป็นปกติ นี้คือติดใจไง พอเข่าเป็นเข่า ขาเป็นขาแล้ว มันชัดเจน ชัดเจนเพราะอะไร ชัดเจนเพราะมันมีสมาธิไง พอมีสมาธิแล้ว มันก็ชัดเจนหมด มันก็เป็นกองต่างหาก
เวทนา.. ก็กองของเวทนา สัญญา..ก็กองของสัญญา สังขาร..ก็กองของสังขาร ต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างกองอยู่ เห็นไหม จิตก็เป็นจิต มันไม่คละเคล้ากัน พอมันไม่คละเคล้ากัน มันก็หายปวด แล้วมันก็ชัดเจน
แล้วหนูอยากให้มันชัดเจนอย่างนี้อีก ทำอย่างไรคะ
ชัดเจนอย่างนี้ ก็ต้องกลับมาพุทโธสิ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธแล้วก็กลับไปดูใหม่ แล้วอันนี้มันเป็นอุบายนะ
อุบายอะไรก็แล้วแต่ ที่มันให้ประโยชน์กับเราแล้ว เราจะฝังใจ อยากได้อุบายนั้น เป็นสัญญา แล้วที่สมบุกสมบั่นไปทุกข์ๆ ยากๆ ไปนั้น ไม่ได้กินหรอก แต่ถ้ามันทำไปจนสุดกำลังนะ เอ้อ.. ปล่อยแล้ว ทำตามธรรมชาติ มาอีกแล้ว !
นี่ กิเลสมันเป็นอย่างนี้ พอเวลาอะไรที่เคยได้แล้ว มันติดใจ ติดใจก็เป็นสัญญา
สัญญาคือว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า แล้วเราไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามา ก็จำลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้ามา เราเลยทำอะไรไม่เป็น
เวลาเราพิจารณากาย เห็นไหม เราพิจารณาขาเป็นขา มันเป็นลิขสิทธิ์ของปัจจุบันนั้น แล้วถ้ามันผ่านไปแล้ว มันก็เป็นอดีตอนาคต ลิขสิทธิ์คือว่า เป็นความรู้เรานี่แหละ เป็นความเห็นของเรานี่แหละ เป็นของๆ เรานี่แหละ แต่มันเป็นของที่ผ่านมาแล้ว เห็นไหม
แต่ในปัจจุบันนี้ เราไม่มีกำลังขนาดนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าเรากลับมาพุทโธ เรากลับมามีสติปัญญาตลอดไป ของๆ เรานี่แหละ ที่เราทำอยู่ตลอดเวลานี่แหละ มันจะคงที่ มันจะมั่นคง เห็นไหม
ฉะนั้น มันต้องกลับมาที่พุทโธ อาการที่ผ่านไปแล้ว มันเป็นอาหารให้ชิมไง อาหารตัวอย่าง เขาเอาอาหารตัวอย่างมาให้ชิม พอชิมแล้วติดใจ อยากจะกินอาหารจานเต็มๆ นั้น เราต้องพุทโธชัดๆ
ถาม : ๑. หนูจะทำกายให้ชัดเจน เป็นปกติได้อย่างไรเจ้าคะ
หลวงพ่อ : จะทำกายให้ชัดเจนได้ ต่อเมื่อจิตเราสงบนะ พอจิตสงบแล้ว เราพิจารณาของเราไปเรื่อยๆ มันอยู่ที่กำลัง ถ้ากำลังดี จะชัดเจน
เราพูดบ่อย เรื่องสายตา ถ้าสายตาปกติ จะเห็นภาพชัดเจน แต่ถ้าสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ต้องให้หมอแก้ไขให้ชัดเจน
นี่ก็เหมือนกัน สมาธิ ถ้ามันเห็นได้ เพราะจิตมันเป็นสมาธิ จิตมันมีฐานของมัน
ฉะนั้นถ้าจะให้เห็นกายชัดเจน ก็กลับมาที่ความสงบ ไม่ใช่กลับไปที่กาย กายนั้น เพราะจิตเห็น กายนั้น เพราะจิตเป็นสมาธิ แล้วจิตไปเห็นกายนั้น มันถึงพิจารณาของมัน ได้ประโยชน์ของมันขึ้นมา
ฉะนั้น จิตสำคัญที่สุด.. จิตเห็นกาย จิตเห็นจิต จิตเห็นเวทนา จิตเห็นธรรม เห็นไหม จิตเห็นทั้งนั้นนะ ถ้าไม่ใช่จิตเห็น
คูหาของใจ ถ้าคูหานี้ ถ้าจิตมันไม่เห็น จิตมันไม่รับรู้ คือมันไม่เข้าสะเทือนถึงฐีติจิต มันไม่สะเทือนถึงใจดำ มันไม่เข้าสะเทือนถึงจิตใต้สำนึก มันไม่สะเทือนถึงกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ในหัวใจของสัตว์โลก
ที่เขาทำๆ กันอยู่นั้น มันลูบๆ คลำๆ อยู่ข้างนอก ผิวๆ เผินๆ มันไม่สะเทือนถึงใจดำ ไม่สะเทือนถึงฐีติจิต ไม่สะเทือนถึงหัวใจ
ฉะนั้น พอทำความสงบเข้าไปถึงหัวใจ นั่นแหละคือตัวมัน เราเอาใจดำ เอาฐีติจิต เอาคูหาของจิต เอาจิตก้นบึ้งนี้ออกมาใคร่ครวญ พอออกใคร่ครวญแล้ว มันกระทบกระเทือนเข้ามา เห็นไหม เวทนา สักแต่ว่าเวทนา.. ขาเป็นขา เข่าเป็นเข่า.. จิตเป็นจิต เห็นไหม มันแยกออกเลย มันแยกออกโดยธรรมชาติ โดยสัจจะข้อเท็จจริง ที่ทำได้ตามความเป็นจริงนั้น
แค่อ่านนี่ เราก็สาธุนะ เพราะคนทำอย่างนี้ได้น้อยมาก.. ทำได้ขนาดนี้ ถือว่าเก่งแล้ว แต่ ! แต่อย่าชะล่าใจนะ ต้องขยันหมั่นเพียรไป เพราะเราทำของเราได้
ถาม : ๒. หนูพิจารณาอาการปวดเท้า โดยเห็นว่า เท้าก็คือเท้า คือจับที่กายได้หรือไม่เจ้าคะ
หลวงพ่อ : อุบายวิธีการนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จ อะไรที่มันจับแล้ว มันเป็นประโยชน์นะ หลวงตาท่านพูดบอกนะ บอกว่า เวลาพิจารณาแบบสมถะนี้ มันมีขอบเขตของมัน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
ขณิกสมาธิ คือสงบชั่วคราว สงบเล็กน้อย ไม่ใช่สงบแบบปกติในชีวิต สงบแบบสามัญสำนึกหรอก สงบแบบนั้น คือสมาธิของปุถุชน ขณิกสมาธิคือลึกซึ้งกว่านั้น
อุปจารสมาธิ คือมันเข้าไปแล้ว มันออกรับรู้ รับรู้ที่ว่า กายเป็นกาย เข่าเป็นเข่า อย่างนี้คืออุปจาร มันสามารถแยกได้ ถ้า อัปปนาสมาธิ คือมันละเอียดกว่านั้น
นี่คือขั้นของสมาธิไง ขั้นของสมาธิมันมีขอบเขต ที่วัดผลได้ แต่ ! แต่ถ้าขั้นของปัญญา มันไม่มีขอบเขตนะ คำว่า ไม่มีขอบเขต คือว่า ปัญญา มันจะพิจารณาไปรอบตัว ไปทั่วทุกอณู
เราจะบอกว่า เหลือบ หรือที่ลับของใจ กิเลสมันจะหลบซ่อนตรงนั้น ทีนี้ถ้าเป็นปัญญา มันจะรื้อหมดไง
ฉะนั้นที่เขาบอกว่า หนูพิจารณากาย โดยเท้า โดยอะไรต่างๆ อันนี้เป็นอุบายไง เป็นอุบายของคน เป็นวิธีการของขณะนั้น แล้วถ้ามาใช้ซ้ำ มันจะกลายเป็น สัญญา แล้ว
ฉะนั้น อุบายนี้ เราจะใช้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขั้นของปัญญา เราจะบอกว่า ไม่มีขอบเขต เราจะต้องใช้ปัญญาของเราไปจนสุดความสามารถ กว้างขวางขนาดไหน ไล่เข้าไปเลย ไม่มีขอบเขต ทำให้เต็มที่ไง
แต่สิ่งนี้ที่ว่า เวลามันปวดเท้า แล้วเท้ามันหาย อะไรต่างๆ นี้ มันฟ้องนะ มันบอกถึงการกระทำ มันบอกถึงความดีไง มันบอกถึงผลที่ได้รับแล้ว สิ่งนี้มันบอกไว้แล้ว
ฉะนั้น สิ่งที่ทำนี่ ถูก ! แต่มันผ่านมาแล้ว ในปัจจุบันนี้ เราก็ต้องทำของปัจจุบัน ของที่ทำมาแล้ว จะเอามาใช้อีกไม่ได้ เช่นอาหารที่เราเก็บไว้ ถ้ามันบูด มันเน่าเสียไปแล้ว จะเอามากินอีกไม่ได้
แต่ในการปฏิบัติ มันไม่เน่าเสีย ความฝังใจของคน มันไม่เน่าเสีย แต่อันนี้ มันเป็นเครื่องยืนยันไง ยืนยันว่า เราเคยทำได้.. มันจะเป็นประโยชน์กับเราได้ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเราแล้ว
คำว่า อุบาย อย่างเช่นถ้าเราปฏิบัติโดยเถรตรง คือเคยทำอย่างนี้ ก็ทำอย่างนี้ๆ ตลอดไป กิเลสมันหัวเราะเยาะนะ บางทีกิเลสมันจะบอกเลยว่า เห้ย.. ทำไมมึงโง่ขนาดนี้วะ ทำไมมึงมาเข้าก๊อ ตลอดทุกวันๆ มึงทำไมไม่คิดเปลี่ยนแปลงบ้างวะ กิเลสมันอยากจะบอกมึงด้วยว่า เห้ย.. มึงทำเถรตรงอยู่อย่างนี้ มึงไม่ได้กินหรอก
นี่มันถึงต้องใช้อุบายไง ทีนี้พอคำว่า อุบาย อุบาย มันต้องเป็นปัจจุบันด้วย พอปัจจุบัน มันจะเกิดการกระทำขึ้นมา
ฉะนั้นถูกต้องแล้วนะ หนูจะพิจารณาอาการปวดเท้า โดยเห็นว่า เท้าก็คือเท้า คือจับที่กายได้หรือไม่เจ้าคะ
ได้ ! จับที่กาย เพราะบางที มันจะไปเห็นเป็นผิวหนัง เป็นไขเป็นกระดูก เป็นอะไรต่างๆ มันเป็นปัจจุบัน คือมันจะเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น
เหมือนอาหาร อะไรที่เขาเอามาเสิร์ฟไว้บนโต๊ะ เราก็กินอันนั้นแหละ อาหารบนโต๊ะนะ เขาเสิร์ฟอะไรมา ก็กินทุกอย่าง
พอจิตมันสงบปั๊บ ถ้ามีวาสนา มันจะเห็นภาพ ถ้ามันเห็นภาพ จิตมันจะรู้จากตรงนั้นไง เช่น ส่งจิตไปที่เข่า เห็นไหม ส่งจิตไปที่เท้า
สิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งนี้ปัจจุบัน ! แล้วคาดหมายไม่ได้ เราไปร้านอาหารหนึ่ง แล้วสั่งมาอีกอาหารหนึ่ง เราเข้าร้านอาหารผิด แล้วจะสั่งอาหารที่เราชอบใจ ไม่มีหรอก !
นี่ก็เหมือนกัน แล้วถ้าอาหารที่มันมา มันเป็นอำนาจวาสนา จิตใต้สำนึกมา เราจะไม่มีโอกาสเลือก ถ้ามีโอกาสเลือก มันเหมือนกับเรารู้ก่อนไง แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันจะรู้ของมันเอง ตามความเป็นจริงของมันเอง การปฏิบัติอย่างนั้นจะถูกต้อง !
นี้คือการปฏิบัติโดยธรรม แล้วมันจะได้ผลโดยธรรมนะ เนาะ เอวัง