ภูมิวิปัสสนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ๑๗๕. ปฏิบัติอย่างไรต่อไป
ลูกติดตามฟังธรรมะของหลวงพ่อ ทำให้มีความรู้สึกว่ารู้เรื่องธรรมมากขึ้น ในชีวิตประจำวันรู้สึกเห็นทางสำเร็จของจิตดวงนี้แล้วว่า ไม่อยากไปอบายภูมิ แต่ไม่รู้ว่าจะต่อยอดอย่างไร
จริงๆ แล้วลูกอธิษฐานจิต (นี่เขาว่าไปนะ) จึงขอเมตตาถามหลวงพ่อด้วย ลูกมีพื้นฐานการภาวนาดังนี้
ครั้งแรกของการนั่งสมาธิ ลูกปวดขามาก จึงเหยียดขาออกแล้วเห็นขาของตัวเองเป็นครั้งแรก เวลานั่งสมาธิลูกปวดมาก จึงเหยียดขาออกไป เห็นขาตัวเองเป็นขา ซึ่งมีลักษณะเหมือนโดนน้ำร้อนลวก มีหนังหุ้มอยู่ เห็นเหลืองๆ แดงๆ ทั่วทั้งขาที่เหยียดออกไป ในขณะนั้นลูกก็ดูอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรกับมัน
วันที่ ๒ นั่งอีก และก็เดินจงกรมด้วย ขณะที่ลุกขึ้น เห็นปรากฏการณ์ตัวเป็นโครงกระดูก เดินไปเดินมาก็มองดูกระดูก นั่งดูลมหายใจ และเป็นกลุ่มควันออกมา เหมือนตัวเองนั่งสมาธิ
หลวงพ่อ : อันนี้เราจะบอกว่าในการภาวนา ถ้าพูดถึงเวลาครูบาอาจารย์ท่านแบบว่า ธรรมสากัจฉา คือ เวลาคุยธรรมะกัน ถ้ามันมีตัวตนนี่มันพูดเปรียบเทียบได้ แต่ถ้าเป็นปัญหาในคำถามนี้ มันเป็นหนังสือตายตัวมา
ฉะนั้นที่บอกว่าการเห็นกาย เห็นน้ำร้อนลวก เห็นลักษณะของขาตัวเองเหมือนโดนน้ำร้อนลวก เห็นหนังหุ้มอยู่ แล้วพอหนังหลุดออกไป เห็นเป็นเนื้อแดงๆ
นี่ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ เวลาเราภาวนากันไป ถ้าเราเห็นกาย คือ จะเห็นอาการแบบนี้ แต่ถ้าเห็นตามความเป็นจริงนะ มันอยู่ไม่ได้นาน แต่นี่เขาบอกอยู่เป็นเดือนๆ คำว่าเขาอยู่ทีหนึ่งเป็นเดือน หลายๆ เดือน มันแปลกอยู่
คำว่าแปลกอยู่ คือ มันเห็นโดยสัญญาก็ได้
เราจะบอกว่า เวลาปฏิบัติไป คนที่ปฏิบัติดีมันจะมีความสุข มีความร่มเย็น มีสติ คนนั้นจะมีอาการเป็นปกติ แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติไป แล้วจิตเขาผิดปกติ จะบอกอย่างนี้เลย
จิตของคนนี่บางทีมันผิดปกติ พอจิตมันผิดปกติปั๊บ แล้วพอเรานั่งไป จินตนาการมันเห็นของมันอย่างนั้นได้ ถ้าเห็นอย่างนั้นได้ขึ้นมา มันยิ่งทำให้ผู้ที่เห็นนี้ไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะเราเห็นโดยที่เราไม่ตั้งใจใช่ไหม พอไปเห็นภาพอย่างนั้นปั๊บ มันจะทำให้เราหวั่นไหว แล้วที่หวั่นไหวนี่เพราะจิตมันไม่ปกติไง มันควบคุมตัวเองไม่ได้ไง
แต่ถ้าจิตเราเป็นปกติ เราพยายามทำความสงบของใจ พอใจมันสงบเข้ามาแล้ว มันก็เห็นอย่างนี้ได้ แต่การเห็นอย่างนี้ มันไม่ใช่เห็นคงที่ เพราะว่า การเห็นคงที่ คือ เห็นโดยสามัญสำนึก
อย่างเช่นเรายืนอยู่บนนี้ เรายืนในปัจจุบันนี้ เรามองสิ่งใดเราจะเห็นได้ชัดเจนมากเลย แต่ถ้าลองเรามีเรือแพออกไปกลางแม่น้ำนะ แล้วเกิดมีคลื่นมานี่ เราจะมองเห็นภาพใดไม่ชัดเจนหรอก
จิตของคนที่เป็นสามัญสำนึก เราบอกว่าถ้าอยู่บนดิน มันเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ มันเห็นด้วยตาเนื้อไง มันเห็นด้วยความปกติไง นี่เห็นด้วยตาเนื้อนะ เพราะอะไร เพราะเรายืนอยู่บนแผ่นดินใช่ไหม
ทีนี้เราพยายามทำความสงบของใจเราขึ้นมา มันร่มเย็นเป็นสุข จนเป็นเหมือนบนน้ำ เพราะบนน้ำ.. มันไม่คงที่ บนน้ำ..มันไม่เหมือนดิน แผ่นดินนี่มันมั่นคง แต่น้ำ..มันวูบไหวไป เพราะมันเป็นของเหลว
พอเราไปตั้งอยู่บนน้ำ มันทรงตัวของมันไม่ได้มั่นคง แต่ถ้าเวลาเราทำสมาธิได้แน่นอน เราทำพุทโธ พุทโธ พอจิตเป็นสมาธิ ก็เหมือนกับทะเลที่ไม่มีคลื่น คือทะเลนั้นมันจะราบเรียบ เรือมันจะวิ่งไปด้วยความนิ่งของมัน
จิตของเราถ้ามันดีขึ้นมา ถ้ามันมี สัมมาสมาธิ การเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนี้ มันเห็นของมัน แต่กระแสน้ำมันไม่คงที่ของมันอยู่แล้ว มันจะมีคลื่นของมัน มันไม่ตายตัว ถ้าสมาธิปกติ กรณีอย่างนี้มันจะเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นเวลาคุยธรรมะกัน เวลาแก้ปัญหากัน ถ้าเราแก้ปัญหาตามเอกสารไง อย่างนี้ใครเขียนอะไรมามันก็ถูกหมดแหละ นี่เห็นกายเป็นอย่างนั้น... สภาวะเป็นอย่างนั้น.. แล้วถ้าเห็นอย่างนั้น ทำไมมันไม่มีผลงานต่อไป
เราทำอะไรก็แล้วแต่ มันจะมีผลงานต่อเนื่องใช่ไหม จิตมันจะพัฒนาขึ้นไปใช่ไหม ถ้ามันมีผลงานต่อเนื่อง ทุกอย่างดีขึ้นไป มันจะเป็นประโยชน์กับมัน แต่ถ้าผลงานต่อเนื่องมันไม่มี มันต้องกลับมาพุทโธเลย
การที่มันเห็นหนังหุ้มอยู่แล้วจะ ปฏิบัติอย่างไรต่อไป
ถาม : ฉะนั้นขณะที่เดินจงกรม เห็นโครงกระดูกเดินไป ขณะที่ยืน ขณะจะเลี้ยวกลับ เห็นตัวเองไม่ใช่ตัวเองในปัจจุบันนี้เลย เห็นลางๆ ว่าสวมใส่เสื้อผ้าที่มีหลากหลายสีไปเรื่อยๆ ในขณะที่สวมชุดขาวอยู่ การมองดูตัวเองทีไร จะเห็นเหมือนว่าเขาอยู่ในโพรงหน้าอก มองขึ้นมองลงเป็นโพรงกลวงๆ นั้น
หลวงพ่อ : ถ้ามันเป็นการเห็นจริงๆ นะ การเห็นนี้มันจะรับรู้ของมัน
ปฏิบัติอย่างไรต่อไป
คือให้เรากลับมาพุทโธก่อน พุทโธให้ดี แล้วพอพิจารณาไป ถ้าเห็นสภาวะแบบนั้น อย่างเช่น ถ้าเราเห็นหนัง เห็นร่างกายของเรา แล้วมันเหมือนกับเวลาโดนน้ำร้อนลวก แล้วหนังนี้หลุดออกไป หรือถ้าหนังของเรามันลอกออกไปสดๆ มันจะมีเลือดเยิ้มของมัน อาการอย่างนั้น มันจะเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้น มันสะเทือนหัวใจไง
แต่นี่เพราะว่ามันปวดขา ความปวด คือ ความรู้สึกนี้ มันจะเข้าถึงตัวมันเองได้ แต่ถ้าความรู้สึกของเรามันไม่ดูดดื่ม ความรู้สึกมันไม่เข้าถึงหัวใจ อันนั้นมันจะเป็น สัญญา ไง มันจะเป็นรูปที่เราเห็นจากข้างนอก
ฉะนั้นวิธีแก้ การจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป
คือเราต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ พอมันเห็นของมัน มันสะเทือนใจของมัน แล้วพอสะเทือนใจพอจิตสงบ อุคคหนิมิต วิภาคะ คือ การขยายส่วน การแยกส่วนมันออก
ถ้ามันเป็นการต่อเนื่อง อุคคหนิมิต คือ การเห็นภาพนั้นก่อน พอเห็นภาพนั้นเสร็จแล้ว ถ้ากำลังมันพอ ให้เรานึกนำไง เขาเรียก รำพึง รำพึงให้มันแปรสภาพ
เพราะเราเห็นสิ่งใดก็แล้วแต่ พอเห็นเรื่องอุคคหนิมิต คือ เห็นกาย แล้ววิภาคะ คือ ขยายส่วนแยกส่วน นั่นคือ ไตรลักษณ์
การขยายส่วนแยกส่วนเป็นไตรลักษณ์ เป็นขบวนการต่อไป ถ้าขบวนการต่อไปเกิดขึ้น นั้นแสดงว่าทุกอย่างสมดุล แต่ถ้าขบวนการนั้นไม่เกิดขึ้น คือ มันแยกสิ่งนั้นไม่ได้ ถึงเราจะรำพึงไป มันก็แยกออกไปไม่ได้ เพราะกำลังมันไม่สมดุล ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องกลับมาพุทโธทันทีเลย กลับมาพุทโธ พุทโธ ทำต่อเนื่องต่อไป
ฉะนั้นการเห็นนี้เราจะบอกว่า การเห็นหรือการสัมผัสสิ่งใดก็แล้วแต่ มันเป็นอดีตไปแล้ว แต่นี่เขาบอกว่า ถ้ามันต่อเนื่อง มันเป็นไปนะ
ถาม : วันหนึ่ง ขณะเดินครบเวลาแล้วนั่งดูโครงกระดูกนั้นแหละ ซักพักหนึ่งมันก็ปวดขา ปวดอยู่คนละที่กับกระดูก คือ ความปวดอยู่คนละที่กับกาย กับกระดูกที่นั่งอยู่ มันไม่ปนเปกัน ตัวที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็อีกอันหนึ่ง แยกกับคนที่ในขณะที่ลูกรู้อยู่เพียงเท่านั้น ไม่ได้ทำอะไรต่อไป
หลวงพ่อ : ถ้ามันแยกได้ กระดูก... ความปวด กับเรานี้ ถ้ามันแยกออกจากกันได้ นี่คือกำลังมันดี แต่ถึงกำลังมันจะดีขนาดไหนนะ เดี๋ยวมันก็กลับมาเป็นอย่างเดิมอีก เพราะมัน แยกชั่วคราว
การแยกชั่วคราว เหมือนเราลองเอามือตัดน้ำสิ ถ้าเราเอามือตัดน้ำไป น้ำมันก็กลับมาเป็นเนื้อเดียวกันอีก
ความรู้สึกสามัญสำนึกของคน คือ ความคิดกับจิตนี้ มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา
ถ้าการเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้ พอเราใช้ปัญญาของเราเข้าไปแยกมันออก พอแยกออกแล้ว พอขบวนการนั้นจบสิ้น มันก็กลับมาเหมือนเดิมอีกแหละ
ทีนี้พอกลับมาเหมือนเดิม เราก็ต้องทำซ้ำอีก เราต้องตั้งสติของเราขึ้นมา มีสติของเราขึ้นมา แล้วทำซ้ำไปๆๆ นี่คือถ้ามันเป็นของมันไปตลอดนะ แต่ถ้าไม่เป็นของมันไป ให้กลับมาที่พุทโธ
การทำสมาธิ การภาวนาของเรา เริ่มต้นจากกำลังใจ พอกำลังใจของเราดี ความศรัทธาของเรามั่นคง เห็นไหม
คนที่มีศรัทธาเริ่มต้นมั่นคง จะทำอะไรด้วยความมั่นคง แต่พอทำไปแล้วนี้
๑. ด้วยความท้อ
๒. ด้วยความคุ้นชิน... ชินชาไง ชินชากับอารมณ์ความรู้สึกของตัว ชินชากับการกระทำของตัว ความชินชาอันนั้น เพราะมันไม่ก้าวหน้า พอมันไม่ก้าวหน้าเราก็เหนื่อย เราก็ท้อใจ แต่เราต้องให้กำลังใจตัวเอง คือเราต้อง พลิกแพลง
ดูอย่างเวลาพระเราสิ เห็นไหม ทำไมถึงต้องผ่อนอาหารบ้าง ออกธุดงค์บ้าง ย้ายที่บ้าง ทำต่างๆ ไป เพื่อไม่ให้คุ้นชินกับอารมณ์เดิม เพราะอารมณ์เดิมของเรา ที่เป็นความคุ้นชินอันนั้น มันจะทำให้เราคลาดเคลื่อน มันจะทำให้เราอ่อนแอ
ฉะนั้นถ้ามันทำต่อไปอย่างนี้ เวลามันแยกแล้ว พอมันปกติแล้ว เราต้องทำของเราต่อเนื่องไป.. ทำต่อเนื่องไป
ความต่อเนื่อง คือ ถ้าทำต่อเนื่องแล้วมีอาการอย่างนี้ หรือมีอาการที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งๆ ที่ปฏิบัติแล้วเขียนมา คือว่าเขียนมาหลายรอบ ถามมาหลายที พอเราตอบไปทีหนึ่ง ก็ขยับทีหนึ่ง.. ตอบไปทีหนึ่ง ก็ขยับทีหนึ่ง
ครั้งที่แล้วถามที่ว่ามันแยกกระดูกไง ที่ว่าเห็นแล้วไง เราบอกว่าเราจับอารมณ์ จับความรู้ที่เขาว่ารู้นั้น
คือถ้ารู้โดยโลก.. เขาก็ตอบไปอย่างหนึ่ง แต่ถ้ารู้โดยธรรม.. ความรับรู้มันจะลึกซึ้งกว่า
ทีนี้พอลึกซึ้งกว่า แค่สมาธินะ บอกให้ทำความสงบของใจ คนปฏิบัติเขาปฏิบัติเป็นเดือนเป็นปีนะ อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาที่เราตอบไปแล้วใช่ไหม พอเราทำแล้วให้ขยันหมั่นเพียร
คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร
ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ ทำความต่อเนื่องเข้าไป อาการมันจะพัฒนาขึ้นไป มันจะเจริญแล้วเสื่อม.. เสื่อมแล้วเจริญนี้มันจะผลัดกัน
เดี๋ยวเจริญเดี๋ยวเสื่อม เดี๋ยวเสื่อมเดี๋ยวเจริญ เพราะมันยังไม่คงที่ มันยังไม่มั่นคง แต่เพราะมันเสื่อม เพราะมันเจริญนี่แหละ ที่มันทำให้เราเห็นความผิดพลาด เพราะความเสื่อมความเจริญ มันทำให้เราหาทางออก หาทางแก้ไข หาอุบายเพื่อพัฒนา จนมีความชำนาญ
พอมันมีความชำนาญขึ้นมา คือ เราได้ฝึกหัดใช้ปัญญามากขึ้นบ่อยครั้งเข้าๆ นี่มีความชำนาญต่อเนื่องขึ้นไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เห็นไหม
ใครที่ไปถามหลวงตา คำตอบของหลวงตาที่ตอบทุกคนเลยบอก... ถูก ! แต่ให้ซ้ำนะ ถูก ! ... แต่ให้ซ้ำนะ
คำว่า ถูก ถูกทุกคน เห็นไหม เหมือนเด็กเลย เด็กต้องกินอาหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้เด็กมันโตขึ้นมา
นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ อาการมันเป็นอย่างไร เราจะรับรู้ของเราขึ้นมา ถึงที่สุดถ้ามันชำนาญแล้ว พอมันพิจารณาไปถึงที่สุดแล้วมันแยกบ่อยครั้งเข้า มันจะลึกซึ้ง ลึกซึ้งแต่อย่าชะล่าใจนะ
คนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติแล้วพลาด คือ พลาดเพราะความชะล่าใจของตัวเอง พอมันปล่อย ความปล่อยของคนนะ ดูสิ อาหารที่เราไปกินรสเลิศ เราจะโอ้โฮ.. ดีมากๆ เลย แล้วจะฝังใจมากเลย แต่เดี๋ยวก็ต้องกินอีก
อารมณ์ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณาไป พอมันปล่อยวางแล้ว อย่าชะล่าใจ ถึงมันปล่อยวางขนาดไหน พอมันมีความสุขแล้วต้องพิจารณาซ้ำอีก ทบทวนๆๆ ทบทวนบ่อยๆ ถึงที่สุดแล้วถ้าเป็นความจริงของมันนะ เราจะรู้เอง !
เรารู้เองเวลามันขาดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ คือมันแยกออกของมันเอง มันแยกออกมานี่ เวลามันขาดนะ ดั่งแขนขาดจริงๆ แต่เวลามันปล่อยนี่มันไม่ขาด
เวลาปล่อยไม่ขาด มันเป็นดาบสองคม
คมหนึ่ง.. เวลามันปล่อยแล้วมีประโยชน์กับเรามาก อีกคมหนึ่ง.. พอเวลามันปล่อยแล้ว กิเลสมันรู้แล้วนะ เพราะมีการกระทำอย่างนี้ มันถึงได้ปล่อยมาอย่างนี้ คราวหน้านะ ความพลิกแพลง ความหลอกลวงของมัน จะลึกซึ้งกว่านี้ไง
เพราะกิเลสมันคือเรา เราเคยทำสิ่งใดประสบความสำเร็จแล้ว พอครั้งต่อไปมันจะหาช่องทางที่จะเอาชนะเรา มันจะพลิกแพลงให้เราเสียท่ามันมากกว่านั้น
นี่มันเป็น ดาบสองคม แต่ก็ต้องใช้ไปอย่างนี้ เวลาถ้ามันปล่อยมันวางนี่ ดีมากๆ เลย แต่ดีมากๆ นั้นเพราะมันปล่อย เห็นไหม
เหมือนขยะที่อยู่ในแหล่งน้ำ ถ้าน้ำมันน้อย ขยะมันก็อยู่ตามแหล่งน้ำ เพราะน้ำมันลดลง แต่ถ้าปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้น มันต้องดันขยะนั้นสูงขึ้นๆๆ ตลอดไป เพราะขยะนั้นมันอยู่บนน้ำ
กิเลสของเราในการปฏิบัติก็เหมือนกัน ดาบคมหนึ่ง.. คือ เวลาพิจารณาแล้วมันปล่อยวางได้ แต่ดาบอีกคมหนึ่งมันคอยจะเชือดเรานะ อีกคมหนึ่งมันต้องพิจารณาลึกซึ้งกว่านั้น ลึกซึ้งกว่านั้น
ฉะนั้นคำว่า ซ้ำ คือทำต่อไปๆ
เอ๊ะ.. ทำไมครั้งที่แล้วมันสะดวก ทำไมครั้งนี้ทำได้ยากขึ้น ลำบากขึ้น
มันเป็นธรรมดา ! เป็นธรรมดา ! เหมือนขยะที่มันสูงขึ้น ยิ่งถ้ามรรคละเอียดเข้าไปกว่านี้ มันจะละเอียดเข้าไปกว่านี้
ฉะนั้นสิ่งที่ทำแล้ว ปฏิบัติอย่างไรต่อไป
นี่ให้ทำอย่างนี้ ! กลับมาที่พุทโธ สิ่งที่เห็นใช่ไหม ถ้าเห็นแล้วมันเป็นความจริงนะ เห็นแล้วเรามีกำลัง ให้เราเข้าไปพิจารณามัน แยกแยะมัน ถ้าแยกแยะไม่ได้ ให้ทิ้งเลย ! ทิ้งที่เห็นนั้นแล้วกลับมาที่พุทโธเฉยๆ ไม่ใช่เห็นแล้วก็จะเห็นต่อไป
คนเรานะจะถ่างตาไว้ไม่หลับไม่นอนเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก คนเราตอนกลางวันก็ทำงาน ตอนกลางคืนก็ต้องนอนพัก
นี่ก็เหมือนกัน พอไปเห็นกาย เห็นสิ่งที่เห็นนี้ ถ้าเห็นปั๊บก็ทำงานไง คนทำงานถ้ามีเนื้องาน ก็คือเขาทำงานใช่ไหม พอเขาปล่อยงานเขาก็พักผ่อนใช่ไหม
จิตถ้ามันเห็นกาย ให้พิจารณามันเลย แต่ถ้ามันพิจารณาไม่ได้ นี่ฟังสิ.. พิจารณาไม่ได้นะ บางทีคนเห็นแล้วพิจารณาไม่ได้หรอก ถ้าพิจารณาไม่ได้แล้วให้ปล่อยวาง
ปล่อยวาง คือ พยายามบังคับ บังคับให้จิตนี้นึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้มันปล่อยวาง พอมันปล่อยวางแล้ว มันมีกำลังมากขึ้น เดี๋ยวมันกลับไปเห็นแล้ว
คำว่า เห็นแล้วมีกำลัง เราจะแยกได้ ถ้าแยกไม่ได้ นั่นคือมันเห็นเฉยๆ
เห็นเฉยๆ จะดึงให้เสื่อมไป
เหมือนกับที่เมื่อวานนี้ว่า นิ่งๆ นิ่งๆ ถ้าไม่มีพุทโธนะ นิ่งๆ อย่างนั้นคือมันจะลงภวังค์
ถ้าจิตมันเป็น อุเบกขา มันจะลงไปทั้งดีและชั่ว แต่อุเบกขามันตั้งอยู่ใช่ไหม ซ้ายก็ชั่ว ขวาก็ดี
นี่ก็เหมือนกัน นิ่งๆ อยู่นี้คือมันจะลงวูบหายไปไง อันนี้ก็เหมือนกันถ้าเห็นกาย เห็นแล้วมองว่าเห็น เห็นแล้วอยากว่าเห็น... อย่างนี้ผิด !
ถ้าเราเห็นกายก็เหมือนกับเราทำงาน เพราะเวลาทำงาน เราก็ต้องทำงานให้เต็มที่ ตามหน้าที่การงาน เวลาเราพักผ่อนคือเห็นแล้วมันไม่เป็นประโยชน์ เรามองไว้เฉยๆ เห็นแล้วมันไม่เป็นประโยชน์
มันก็เหมือนกับรถที่ติดเครื่องแล้วไม่ใส่เกียร์ มันก็เผาผลาญน้ำมันไปเรื่อยๆ จนกว่าน้ำมันจะหมดถังนะ
เห็น.. แล้วก็มองไว้เฉยๆ อย่างนี้มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก !
ถ้าเห็นแล้วมันพิจารณาไม่ได้ ให้วางไว้เลย วางแล้วกลับมาพุทโธ คือ เหมือนรถที่ดับเครื่อง ถ้าดับเครื่อง น้ำมันมันก็อยู่คงที่ แต่ถ้าเราติดเครื่อง ไม่ดับเครื่อง น้ำมันมันจะโดนดูดไปใช้ตลอด จนกว่าน้ำมันจะหมดถัง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่เต็มที่ให้กลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธนี้เพื่อเติมน้ำมันดีกว่า ถ้าเรามีน้ำมันมากนะ น้ำมันเราเต็มถังเราจะไปได้ไกลนะ แต่ถ้าน้ำมันหมดถังนะ พอหมดถังเครื่องดับ แล้วทีนี้ถ้าเป็นดีเซลต่างๆ ด้วย โอ้โฮ.. ต้องไล่อากาศกันตายเลย
นี่ก็เหมือนกัน พอมันเสื่อมไง มันเสื่อมคือมันไม่มีกำลังไง
เวลาปฏิบัติดี แล้วไปเห็นกายเห็นกระดูก ก็ว่าจะไปนิพพาน จะไปโสดาบันเลยแหละ แต่พอเวลามันเสื่อมนะ... เลิกเถอะ กลับไปอยู่ปกตินี่
ฉะนั้นไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นไปได้
ฉะนั้น การปฏิบัติอย่างไรต่อไป คือ ให้ปฏิบัติอย่างนั้น
ถาม : ขณะขยับตัวรู้กระดูกทั้งหมด ขณะเคลิ้มไปจิตจะหลับ แล้วรู้สึกว่าตื่นขึ้นมา การเคลื่อนไหวของตัว จิตจะวูบ ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง แล้วตื่นรู้ เห็นกายหลับ เห็นว่าตัวเองนอนอ้าปาก รู้กายขณะหลับ เป็นบ่อยๆ
รู้ว่าตัวรู้ มันรู้อยู่อย่างเดียว ไม่มีความคิด ไม่มีความจำ ไม่มีความรู้สึก ไม่มีอะไรเลย มีแต่เพียงรู้สภาวะ
หลวงพ่อ : เพราะวันนั้น อันนี้ที่ตอบไป ที่ว่ามันรู้โดยที่ว่าไม่เป็นสัญญา รู้ที่ไม่เป็นโลก เห็นไหม อันนี้มัน รู้โดยสมาธิไง รู้โดยสมาธินะ ขณะหลับอ้าปากอยู่
มันมีพระมาถามหลายองค์นะ ตอนนี้มีคนเป็นหลายคน ที่เวลานอนหลับแล้ววิญญาณออกจากร่าง แล้วเห็นตัวเองกลับมานี่ มาถามปัญหานี้หลายคน เราตอบปัญหาไว้แต่ไม่เอามาออก เพราะถ้าเอาออกไปเดี๋ยวมันไม่ดี
มันมีพระมาถาม พระเขาบอกว่าเวลาเขานอนอยู่ วิญญาณเขาหลุดออกไปเลย แล้ววิญญาณนี่ไปเที่ยวไกลมาก เขากลัวว่าตัวเองจะตาย กลัวตัวเองจะเข้าร่างไม่ได้ พยายามจะเข้าร่างให้ได้ แล้วเป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ
มันเป็นมาพร้อมกัน ๒ องค์ แล้วเราบอกว่า เวลาหลับแล้วออกนี่มันแก้ไขสิ่งใดไม่ได้
ฉะนั้นเวลาที่หลับแล้วออกนี้ ก่อนนอนต้องพุทโธชัดๆ ให้มีสติพร้อมกับหลับไป แล้วมันจะออกอีก แต่การออกนั้นมันก็จะสั้นเข้า และมีสติระลึกรู้อยู่
ฉะนั้นเวลาเรานั่งสมาธิ ถ้าจิตมันออก หรือว่าจิตส่งออก หรือจิตเห็นจิต จิตต่างๆ นี้ มันเป็นเพราะเรามีสติสัมปชัญญะ เราควบคุมจิตเราอยู่ แต่ขณะที่เราหลับมันไปอีกมิติหนึ่ง เวลาเราหลับ สติมันไม่พร้อมที่จะควบคุมตัวเองได้
ฉะนั้นเราถึงบอกว่า ให้ตั้งสติ ! ก่อนนอนให้พุทโธ พุทโธ พุทโธให้หลับไป
จนบางทีเวลาเขาหลับแล้วนะเขาจะออก แล้วออกนานด้วย ออกปั๊บมันจะไปต่างที่เลย ไปแบบเหมือนเราออกจากบ้าน ไปแบบชีวิตประจำวันนี้เลย แต่ออกไปด้วยวิญญาณนะ พอเขาออกไปนี่ เขาเห็นเขานอนอยู่ เห็นพระด้วยกันนอนอยู่ แล้วจิตของเขาออกไป แล้วก็ไปเห็นสภาวะแบบนั้น
นี่เราเอาตรงนี้ขึ้นมาอ้าง เพราะเขาบอกว่า คือเห็นการวูบลงของจิต ๓ หน ๔ หน เห็นกายหลับ วูบลงๆ เห็นไหม
แต่การวูบลงอย่างนี้ คือ มันลงสู่ภวังค์ แล้วมันไปเห็นสิ่งต่างๆ มันถึงบอกว่า ไม่มีความคิด ไม่มีความจำ ไม่มีความรู้
จิตมันละเอียดกว่านี้นะ ไม่มีความคิด ไม่มีความจำ ไม่มีความรู้นี้ วันนั้นเราพูดถึงผลที่มันตอบสนอง
ผลของมัน เวลาเราใช้ปัญญา ถ้าเป็นสัญญาเราจะจำด้วยสมอง เหมือนเราทำงานโดยโลก เราจำสิ่งใดมา สิ่งที่เป็นความจำนี่มันเป็นเรื่องโลกๆ
แต่ถ้าเป็นเรื่องจิต จิตที่มันทำงานของมัน เวลามันปล่อยวางของมัน มันเป็นอารมณ์รับรู้อีกอารมณ์หนึ่ง มันเป็นความรู้สึกที่ลึกกว่า ที่มันเข้าไปถึงฐีติจิต มันเข้าไปอย่างนั้น มันไม่เป็นสัญญา
ฉะนั้นถ้าจะสื่อ มันเป็นคนละเรื่อง แต่ถ้ามันเป็นขณะที่เราวูบไปอย่างนี้ เราจะบอกว่า ในขั้นของสมาธิ ขั้นของสมถะ เวลามันเห็นนิมิต มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาเห็นนิมิตแล้ว เอานิมิตนี้ เช่น ถ้าเห็นกายพิจารณากาย เวลาปล่อยวางแล้ว มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งคือว่า ผลตอบสนองที่จิตมันตอบสนองขึ้นมา อันนั้นแหละมันละเอียดไง มันไม่ใช่ไปเก็บข้อมูลความจำ แบบที่เราต้องจำให้ได้อย่างนี้ไง ถ้าเก็บข้อมูลความจำได้อย่างนี้ มันเป็น สัญญา
ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ เหมือนกับว่าเมื่อก่อนนี้เราเป็นเด็ก เราเคยใส่เสื้อผ้าชุดเด็กๆ แล้วเดี๋ยวนี้โตขึ้นมานะ ก็จะไปใส่เสื้อผ้าชุดเด็กๆ นั้น มันจะไปใส่ได้อย่างไรล่ะ เดี๋ยวนี้โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นแล้ว เสื้อผ้ามันคนละขนาด โตจนป่านนี้แล้วนะ ก็จะเอาเสื้อผ้าเด็กๆ มาใส่ แล้วบอกว่าชุดนี้เคยใส่แล้วสวย จะใส่ชุดนี้.. จะใส่ชุดนี้
จิตก็เหมือนกัน สิ่งที่ผ่านมาแล้วนั้นเหมือนเสื้อผ้าเด็กๆ ไอ้ที่ผ่านมาแล้ว ไม่ต้องไปกังวลกับมัน ปัจจุบันนี้ จิตเราโตขึ้นมาแล้ว เราต้องพัฒนาขึ้นไป
เราจะบอกว่า ไม่ให้ติดอารมณ์อดีตไง ! สิ่งที่ผ่านมาแล้ว ไม่ต้องไปยึดมัน ไม่ต้องไปติดมัน มันผ่านมาแล้วทั้งนั้นแหละ
คนทุกคน.. ต้องเคยเป็นเด็กมาก่อน แล้วถึงจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่กันอยู่นี่ คนทุกคน.. เคยใส่เสื้อผ้าชุดเล็กๆ มา แล้วเดี๋ยวนี้ใส่ไม่ได้อีกแล้ว เสื้อผ้าเล็กๆ เขาเอาไว้ให้เด็กๆ มันใส่ แล้วพอเวลาโตขึ้นมา มันก็ต้องใส่เสื้อผ้าที่มันสมส่วนของมัน
จิตมันต้องพัฒนาไป อย่าไปกังวลกับไอ้วูบๆ วาบๆ นี้ แล้วที่ออกไปรู้นี่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันเป็นอาการไง
ดูสิ เด็กบางคนเขาเติบโตแถวริมน้ำ พ่อแม่เขาให้ฝึกว่ายน้ำ เพื่อกันเวลาตกน้ำ มันจะได้ชำนาญในทางน้ำมาก เด็กบางคนนะเกิดมามันไม่เคยเห็นน้ำเลย มันอยู่บนภูเขา มันอยู่ในที่ดอน ชีวิตของเขาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
จิตของคน.. เวลาที่ปฏิบัติไปแล้วมันพัฒนาขึ้น มันเป็นคนละเรื่อง ไม่ต้องยึดติด !
โถ่.. เวลาภาวนาไปนะ ปัญหาอย่างนี้จะเกิดอีกเยอะมาก ประสาเราเลยนะ คนๆ หนึ่ง ตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ เรากินอาหาร หรือไปเที่ยวไปสัมผัสที่ต่างๆ ที่มันฝังใจเรานี่เยอะแยะไปหมดเลย มันก็ผ่านๆๆ มาแล้วทั้งนั้น
ฉะนั้นเวลาภาวนาไป มันยังจะต้องผ่านอีกเยอะนะ เราจะบอกว่า สิ่งที่ผ่านมาแล้ว สิ่งที่พิจารณาเห็นโครงกระดูก เห็นต่างๆ นี้ อันนี้คือจิตเราได้ผ่านมา เหมือนกับเด็กมันได้โตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา
จิต.. ในการปฏิบัติมันต้องทำความสงบของใจขึ้นมา แล้วหัดฝึกใช้ปัญญาจนมันพัฒนาของมัน มันเติบโตของมันขึ้นไป เราจะเติบโตไปข้างหน้า
ฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ให้เราปล่อยมันไป มันเป็นประสบการณ์ของจิต มันเป็นประโยชน์ที่ว่า จิตนี้มันได้พัฒนามา มันเป็นสิ่งที่รู้มา แต่ไม่ต้องไปยึดติดมัน เพราะถ้าเรายึดติดมัน อย่างนี้เขาเรียกว่า.. ติด !
ติด หมายความว่า เวลาภาวนาแล้ว มันก็จะเอาข้อมูลอดีตนี้มาเปรียบเทียบ ! มันเสียเวลา !
นี่เวลาภาวนาไปเจอนะ ก็จะไปเอาที่เห็นหนังลอกนั่นแหละ เอามาเป็นตัวตั้ง ไอ้ที่เห็นหนังมันลอกออกจนเห็นเนื้อแดง หรืออะไรต่างๆ นี้ มันเป็นอดีตมาแล้ว ในปัจจุบันมันเห็นโครงกระดูกก็ได้ เห็นเป็นผิวหนังก็ได้ เห็นเป็นเส้นขนก็ได้
ความเห็นโดยปกตินี้มันเป็นประโยชน์
เหมือนกับอาหารที่ใส่จานมากินในปัจจุบันนี้ เป็นประโยชน์ที่สุด แต่ถ้าอาหารที่กินมาแล้ว หรืออาหารที่อยู่ในคลังที่ยังไม่ได้กิน ซึ่งในอนาคตจะได้หรือไม่ได้กินก็ยังไม่รู้เลย
การภาวนาของเราก็เหมือนกัน ไม่ต้องห่วงอดีต อนาคต เอาแค่ปัจจุบันอย่างเดียว ! ผ่านมาแล้วให้มันผ่านไปเลย คนจะผ่านมากผ่านน้อยเท่านั้นละ แล้วมันก็ต้องผ่านไปเรื่อยๆ มันต้องฝึกอีกเยอะ
ถาม : หลังจากเจอสภาวะนั้นแล้ว ลูกไม่คิดเกี่ยวกับตัวเอง รู้หลายอย่างภายในตัวของตัวเอง
หลวงพ่อ : อันนี้อีกเรื่องหนึ่งนะ
ถาม : แต่ลูกยังติดอยู่ที่รายละเอียดของการปฏิบัติว่า การที่ลูกจะไปต่อในเส้นทางธรรมนี้ ควรจะภาวนาในรายละเอียดอย่างไร
หลวงพ่อ : ควรจะภาวนาในรายละเอียดอย่างไรเนาะ รายละเอียดนี้ มันเป็นจริตนิสัย
เจโตวิมุตติ พุทโธ พุทโธให้จิตสงบ แล้วถ้าพิจารณาเห็นเป็นผิวหนัง นี่คือมันจับได้แล้ว พอจิตสงบปั๊บนะ ถ้าปล่อยจิตนี่จิตวิ่งเข้าหาเลย
เหมือนกับเราต่อไฟไว้ ถ้าเราต่อไฟไว้ที่สวิตซ์ดวงนี้กับไฟดวงนี้ พอเปิดสวิตซ์ตัวนี้ ไฟดวงนั้นก็จะติดทันที กดสวิตซ์นี้ปั๊บ ไฟดวงนั้นก็จะติด แต่ถ้าเราไม่ได้ต่อไว้นะ กดสวิตซ์แล้วมันไม่ต่อไฟ ไฟดวงนั้นมันไม่ติดหรอก
จิตของคนที่ไม่เคยเห็นกาย ไม่เคยสิ่งใดๆ เลยนะ มันมีไฟอยู่ แต่มันไม่เห็นกาย ทำอย่างไรก็ไม่เห็น แต่ถ้าสวิตซ์นี้เราได้ต่อไว้แล้วนะ กดผลัวะ..ไฟนั้นก็ติด กดผลัวะ.. ไฟนั้นก็ติด
จิต.. ถ้ามันพิจารณาจนมันเห็นกาย พอจิตมันสงบ แล้วมันเห็นกายของมันนะ พอปล่อยปั๊บมันจะวิ่งเข้าสู่กายนั้นเลย เพราะมันทำของมันได้ แต่ถ้ามันทำไม่ได้ การทำไม่ได้ คือ สวิตซ์นี้เราต่อไว้แล้ว สายไฟมันคงที่ เว้นไว้แต่มันเสื่อมสภาพ หรือมันชำรุด อย่างนี้มันก็จะไม่สะดวก
จิตของคน.. ถ้าเวลาจิตมันสงบแล้วมันไม่เห็นกาย พอมันไม่เห็นกาย หรือเห็นต่างๆ นี้ มันเป็นเพราะ
๑. สมาธิไม่มั่นคง คือ ไฟนั้นมันอ่อน ไฟนั้นมันไม่มี
๒. สิ่งต่างๆ ที่มันทำนั้น จริตนิสัยมันเบื่อของมัน เห็นไหม แต่ถ้าเรานั่งพิจารณาไป มันจะเกิดเวทนาหรือเกิดอะไรนี่ มันพิจารณาเป็นปัจจุบัน
ฉะนั้นในรายละเอียดเราจะบอกว่า นี่เป็นเจโตวิมุตตินะ
ถ้าเป็น ปัญญาวิมุตติ มันพิจารณากายเหมือนกัน อย่างเช่นบ้านเรือนนี่เขาต้องใช้ไฟ แต่ของเราไม่ใช่ เพราะอะไร เพราะเราปล่อยบ้านเราโล่ง เห็นไหม แสงมันจะผ่านเข้ามา เราจะเห็นแสงสว่าง เราจะรู้ของเราหมด
ถ้าปัญญามันใช้ของมันไปนะ มันแตกต่างกันไง
เราจะบอกว่า กายละเอียดนี้มันอยู่ที่จริตนิสัย แม้แต่กรรมฐานยังมี ๔๐ ห้อง แล้วถ้าเป็นขั้นของปัญญานี้ ไม่มีขอบเขตเลย แล้วแต่ว่าใครจะใช้ปัญญากว้างขวางออกไป
ทีนี้รายละเอียดมันอยู่ที่ข้อมูลของจิตเราไง ถ้าเราพิจารณาแล้ว มันกลับมาชำระล้าง หรือกลับมาเพื่อประโยชน์กับจิตดวงนั้นได้ ถ้ามันทำจิตดวงนั้นให้มั่นคงขึ้นมา อันนั้นเป็นประโยชน์หมด
นี้คือรายละเอียดเนาะ
ถาม : ๑๗๖. ลักษณะภูมิจิตขั้นวิปัสสนา กระผมขอกราบเรียนถาม พิจารณาอสุภะ สติปัฏฐาน ๔ หรือไตรลักษณ์ แล้วมีอาการขนลุกขนพอง และจิตหดตัวเข้ามา
๑.อาการที่เกิดขึ้นนี้ ภูมิจิตถึงขั้นวิปัสสนาหรือยัง หรือยังอยู่ในขั้นของสมถะอยู่ครับ
หลวงพ่อ : พิจารณาสติปัฏฐาน ๔
คำว่า วิปัสสนา นี่ เราบอกให้จิตมันสงบใช่ไหม แล้วพิจารณาอสุภะ ถ้าวิปัสสนาเราจะรู้ได้ เราจะรู้ได้ด้วยการใช้ปัญญา
เพราะประสาเราว่า ความรู้สึกหรือความเห็นของเรานี้ เราจะไปคุยกับใครในโลกนี้ไม่ได้เลย เพราะที่เขาคุยกันในโลกนี้ เขาเป็นทฤษฏี เป็นตำรา
พอเป็นตำราขึ้นมา ถ้าคนที่ภาวนาไปแล้วเป็นความจริงนะ ไปคุยกับพวกทฤษฏีนี่ ไอ้พวกที่ภาวนานั้นผิดหมดเลย เพราะมันไม่มีในตำรา ในตำรามันไม่ได้เขียนไว้ไง
อย่างเช่น รสชาติของอาหาร ในตำราจะเขียนไว้ขนาดนี้ แต่เราไปลิ้มรสอาหารที่มันแปลกกว่านั้น มีความดูดดื่มกว่านั้น แล้วพอเราอธิบายนี่มันนอกตำรา พอนอกตำรานี่มันจะไม่เหมือนในตำรา
ฉะนั้นเราบอกว่า คำว่า สติปัฏฐาน ๔ หรือไตรลักษณ์ เห็นไหม สิ่งที่ว่า เป็นวิปัสสนาหรือยัง
ถ้าคำว่า วิปัสสนา..นี่คือมันรู้ดีกว่าเขา รู้ดีกว่าเขาไม่ใช่รู้ดีแบบคนบ้านะ ถ้าเราพิจารณาไม่เป็น สติเราไม่ดี เราพิจารณานี่เรารู้ดีกว่าเขา แต่รู้ดีในลักษณะของคนบ้า !
แต่ถ้าเรารู้ดีกว่าเขาโดยที่ว่าไม่ใช่เป็นบ้า เพราะ ! เพราะพูดถึงถ้าเรามีครูบาอาจารย์ เรามีหมู่คณะ เรามีพรรคพวก
คนที่ภาวนาได้ มันจะเหมือนกัน คือ มันพูดกันได้ไง !
เหมือนคนที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จะไปทางใดก็แล้วแต่ เขาจะเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ เหมือนกัน
จิต..เวลาวิปัสสนาไปแล้วมันจะเป็นอย่างไร ถ้าไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะรู้ได้ทันทีเลย แต่ถ้าชักเข้าไปในตำรานะ ก็จะเป็นอย่างที่ว่านี่ กระผมพิจารณาอสุภะ สติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม
อสุภะหรือสติปัฏฐาน ๔ นี้มันเป็นชื่อ
ทีนี้พอเราบอกว่ามันเป็นชื่อปั๊บ แต่ความจริงของเรา ถ้าเป็นวิปัสสนาหรือไม่เป็นวิปัสสนานี่ มันเกิดขึ้นจากความเป็นจริง ถ้าเกิดขึ้นจากความเป็นจริง อสุภะก็คือชื่อของมัน
แล้วถ้าเราพิจารณาอสุภะหรือพิจารณากาย แล้วถ้าเราบอกว่า พิจารณากายๆ แล้วคนอื่นเขาบอก พิจารณาอสุภะล่ะ
เพราะ อสุภะ นี้เป็นชื่อเรียก เพื่อให้มันครอบคลุมในการปฏิบัติของเรา ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันแยกแยะ มันปล่อยวางได้ มันซาบซึ้ง มันดูดดื่มได้
แต่เดิมที่เราพิจารณา ลองนึกภาพกายขึ้นมาสิ นึกภาพกายก็เป็นภาพกายเฉยๆ เห็นไหม แต่ถ้าจิตมันสงบนะ พอเห็นกายนี่มันสะเทือนหัวใจ มันแตกต่างกันเลย มันเห็นความแตกต่างอยู่แล้ว พอเห็นความแตกต่างขึ้นมา แล้วมันสะเทือนขั้วหัวใจ อย่างนั้นแหละ วิปัสสนา
ฉะนั้นที่เขาบอกว่ามันขนลุกขนพอง ขนลุกขนพองนี้มันเป็นไปได้ทุกขั้นตอน ถ้าขนลุกขนพองนะ เราลองเอาตุ๊กตามาตั้งไว้สิ พอลมมันพัดมันก็ขนลุกเหมือนกัน
ทีนี้ไอ้ขนลุกขนพองมันเป็นอาการๆ หนึ่ง มันเกิดได้ตลอดเวลา เพราะปีตินี้มันเกิดได้ คำว่าเกิดได้ อันนั้นเรื่องหนึ่งนะ
เวลาพูดอย่างนี้ คือ แบบว่าจะพูดให้เราวาง ปฏิบัติสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ววาง อย่าไปกอด
นี่พอเราปฏิบัติไปแล้ว พอถึงขั้นใดเราก็จะบอกว่าเป็นวิปัสสนา หรือเป็นอะไร จะเป็นวิปัสสนาหรือไม่เป็นนี้ ไม่มีใครให้ค่าเราหรอก
ขณะเหตุและผลที่เราปฏิบัตินั้น มันให้ค่าสมบูรณ์แล้ว
ฉะนั้นพอมันให้ค่าสมบูรณ์แล้ว มันไม่จำเป็นว่าใครจะต้องมาให้คะแนน หรือตัดคะแนนในการปฏิบัติของเรา เราปฏิบัติของเราไป มันก็เต็มวุฒิภาวะ เต็มกำลังของเราอยู่แล้ว แล้วเราเดินหน้าของเราต่อไป ถ้าเราเดินหน้าของเราต่อไป สิ่งที่เป็นประโยชน์ตามข้อเท็จจริงนั้น มันก็จะให้รากฐาน ให้ความมั่นคงกับจิตเราให้พัฒนาของเราขึ้นไป
ใครจะให้คะแนนหรือไม่ให้คะแนนไม่สำคัญ สำคัญว่าเวลาปฏิบัติไป ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้วเรารู้ และให้ปฏิบัติซ้ำไป ขออย่างเดียวให้ขยันหมั่นเพียร แล้วทำต่อเนื่องต่อไป
ถ้ามันเป็นวิปัสสนา มันจะเป็นของมันเอง
เหมือนเราตักน้ำใส่ตุ่ม ถ้ามันจะเต็มตุ่ม มันก็เต็มของมันเอง
ถาม : อาการที่เกิดขึ้นนี้ ภูมิจิตถึงขั้นวิปัสสนาหรือยัง หรือยังอยู่ในขั้นของสมถะ
หลวงพ่อ : ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ เพราะในวิปัสสนา ถ้าไม่มีสมาธิจะเป็นวิปัสสนาไม่ได้ ในสมถะถ้าไม่ใช้ปัญญา มันจะเป็น มิจฉา
ความสงบที่เป็นหัวตอ ความสงบที่เป็นตกภวังค์ อันนั้นก็เป็นสมาธิเป็นสมถะ แต่เป็นมิจฉา เป็นความผิด
แต่ถ้าเป็นความถูก เห็นไหม สัมมาสมาธิ สัมมาคือความถูกต้องนี้ มันมีปัญญาแยกแยะความถูกและผิด
ฉะนั้นโดยข้อเท็จจริง ถ้าเราทำสมถะ มันก็มีวิปัสสนาอยู่ในตัวมันนั่นแหละ มันมีการใช้ปัญญาในสมถะนั่นแหละ แต่พอไปแบ่งแยกไง
คำว่า ความแบ่งแยกของกรรมฐาน ความแบ่งแยกในความมุ่งหมายของเรา เรามุ่งหมายให้แยกแยะเพราะการศึกษา
ประชาชน และผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันมีจำนวนมาก พอมีจำนวนมากก็ต่างคนต่างให้คะแนนตัวเอง ให้คะแนนความเห็นของตัวเองว่าถูกต้อง
ฉะนั้นการให้คะแนนความเห็นของตัวเองว่าถูกต้อง มันถึงมีการจัดหมวดหมู่ เห็นไหม อย่างเช่น โรคภัยไข้เจ็บนี้มีการแยกให้เป็นเฉพาะโรคไม่ได้ แต่ให้เป็นขบวนการกลุ่มโรค กลุ่มโรคชนิดนี้อยู่ในกลุ่มโรคชนิดนี้
ในขบวนการของการใช้ปัญญา ในขบวนการของสมถะ อย่างเช่น ที่มันเป็นสมถะหรือที่มันเป็นโลก เป็นโลกเพราะอะไร เพราะว่า ขบวนการของมันสิ้นสุดลงที่ความสงบของใจ
แต่ถ้าเป็น วิปัสสนา นี้ คือมันเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่มันจะถอดถอน มันจะแยกแยะ มันเป็น โลกุตตรปัญญา
ฉะนั้นสิ่งที่เราจัดเป็นกลุ่ม กลุ่มว่าเป็นโลกุตตรปัญญา.. หรือเป็นสมถะ.. หรือเป็นวิปัสสนา เราจัดเป็นกลุ่มอย่างนี้เพราะความเห็นของโลก เพราะจำนวนของผู้ที่ปฏิบัติมันมีมาก พอมีมาก แล้วทุกคนจะให้คะแนนกับตัวเองว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าปฏิบัติเพื่อตัวเองมันก็จบ
แต่นี่มันไม่ใช่อย่างนั้น มันปฏิบัติแล้วนี่มันเอาไปโฆษณากัน โฆษณาว่าอย่างนั้นถูก อย่างนั้นผิด มันไปโฆษณากันแล้วทำให้คนปฏิบัติต่อไปนั้นเข้าใจผิดพลาดไง ว่าอะไรแค่ไหน อะไรจะถึงตรงไหนไง
เราถึงบอกว่า อันนี้เป็นโลกียปัญญา อันนี้เป็นโลกุตตรปัญญา อันนี้เป็นโลก อันนี้เป็นธรรม
ทีนี้พอเราบอกอย่างนั้น ทุกคนก็เลยติดเลยว่า อะไรเป็นโลก อะไรเป็นธรรม
อะไรเป็นโลก อะไรเป็นธรรม นี้ มันก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ต้นไม้ปลูกขึ้นมาจากต้นกล้า พอเวลาโตขึ้นมานี่ ๕ คนโอบ ๑๐ คนโอบ เห็นไหม การพัฒนาของมัน มันจะเติบโตขึ้นมาของมัน
เราจะบอกว่า เราจะให้คะแนนใครไม่ได้หรอก เพียงแต่ที่พูดนี้เพราะคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติไง
ที่เราพูดนี้ เราคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติ เวลาปฏิบัติมาแล้ว เรามีที่ปรึกษาใช่ไหม เรามีคนที่ชี้นำ เราคอยพูดเพียงเท่านั้นแหละ
ฉะนั้นจะให้เราไปตัดสินว่าอันนี้เป็นสมถะ อันนี้เป็นวิปัสสนา... ให้ตัดสินอย่างนั้นไม่ได้ ตัดสินได้ต่อเมื่อเจ้าตัว ต่อเมื่ออารมณ์เฉพาะ
ถ้าบอกว่าเราทำอยู่อย่างนี้ แล้วนี่มันเข้าใจผิด คือ ตัดสินอารมณ์เฉพาะนี้ว่าเป็นวิปัสสนาหรือเป็นสมถะ
แต่จะบอกว่าอารมณ์ทั้งหมด กลุ่มทั้งหมด อะไรเป็นวิปัสสนาหรืออะไรเป็นสมถะ
อันนั้นมันเป็นขบวนการ เป็นกลุ่มของสมถะ กลุ่มของวิปัสสนา
ถาม : ๒. ขอความกระจ่าง ภูมิจิตขั้นวิปัสสนาครับ
หลวงพ่อ : จะดูไอ้คนเขียนนี่ พูดจริงๆ ก็เห็นใจนะ เห็นใจแบบว่าเวลาภาวนาแล้ว ทุกคนก็อยากได้มรรคได้ผล ทุกคนก็อยากจะไปให้ถูกทาง แต่การถูกทางโดยที่ว่าเราวิตกกังวล บางทีมันก็ทำให้เราเนิ่นช้าได้
ฉะนั้นขอความกระจ่าง ภูมิขั้นวิปัสสนา
ภูมิขั้นวิปัสสนา นี้เวลาตอบปัญหามาตั้งแต่ข้างหน้า บอกว่าเวลาความรู้นี่ไม่ใช่รัก ไม่ใช่ชัง ความรู้นี้มันลึกซึ้ง ความรู้นี้มันไม่เหมือนทางโลก อันนี้เราบอกว่า มันเป็นอารมณ์ของฝ่ายปฏิบัติแล้ว อารมณ์ของจิตที่มันละเอียดแล้ว
ฉะนั้นที่ว่าภูมิของวิปัสสนา
วิปัสสนานี้จะขีดเส้นก็ได้ แต่ ! แต่อย่างที่ว่านี่ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติล่ะ
ถ้าเราขีดเส้นว่า จิตต้องลงไปจนจิตสงบแล้วเห็นกาย อันนี้เป็นเจโตวิมุตติ มัน เป็นสมาธิอบรมปัญญา
แต่ถ้าเป็น ปัญญาวิมุตติ คือมันใช้ปัญญานำ แต่ต้องมีสมาธินะ
ถ้าไม่มีสมาธิ มันเป็นโลกหมด
เป็นโลกหมายถึงว่า เราคิดของเราเอง เราให้คะแนนของเราเอง เราสร้างภาพของเราเอง แต่ถ้ามันมีสมาธิขึ้นมา คนปฏิบัตินั่นแหละจะรู้เอง คนปฏิบัตินั้นจะรู้หมด
แต่ถ้ารู้อย่างนั้นขึ้นมาแล้ว ภูมิของวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาเข้ามาแล้ว นี่หลวงตาท่านบอกเลยนะ คว้าแล้วตก คว้าแล้วตก อยู่อย่างนั้นแหละ
เวลาปัญญาที่มันเกิดนะ มันใช้ปัญญาไป พอมันปล่อยนะมันคว้าไม่ได้ พอมันตกขึ้นมา คือว่ามันก็ตกมาสู่ปุถุชนนี่แหละ มันไม่เข้าสู่อริยภูมิ แต่พอมันชำนาญบ่อยครั้งเข้า ชำนาญหมายถึงว่า คว้าแล้วปล่อย คว้าแล้วหลุด คว้าแล้วหลุด แต่พอถึงที่สุด พอคว้าปั๊บนะแล้วมันคว้าติด คว้าติดนั่นคือมันขาดไง
พอมันขาดนั่นแหละ คือ อกุปปธรรม !
แล้วบอกว่า ภูมิขั้นวิปัสสนามันอยู่ตรงไหน
มันอยู่ตรงนั้นแหละ ตรงที่จบขบวนการของมัน !
แต่ทีนี้ถ้าว่าตรงนั้นเป็นที่จบขบวนการของมัน คือ พอคว้าแล้วติดเลย มันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว มันเป็น อกุปปธรรมแล้ว อย่างนั้นเป็น โสดาบัน
พอเป็นโสดาบันแล้ว นั่นแหละ เต็มภูมิ แต่ถ้ามันยังไม่เต็มภูมิ เห็นไหม เหมือนเราเป็นนักเรียนแล้วเราส่งข้อสอบ พอส่งข้อสอบแล้วเราได้ ๑๐ คะแนน ๒๐ คะแนน คือมันสอบไม่ผ่านไง มันก็ส่งอยู่.. ส่งอยู่ตลอด อย่างนี้เป็นวิปัสสนาไหม .... เป็น ! แต่ผลที่ตอบรับมันได้ผลไหม
ฉะนั้น ภูมิของวิปัสสนา ก็คือใช้ปัญญาใคร่ครวญ ถ้ามีสมาธิรองรับแล้วมันวางได้อย่างไร มันปล่อยวางได้แค่ไหน
อันนี้พอมันปล่อยวางแล้วมันเทียบกับหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นเวลาท่านพิจารณากายไป ออกมาแล้วปกติ ตอนที่ท่านยังไม่ลาพุทธภูมิ พิจารณากายขนาดไหนก็ออกมาแล้วปกติ
เอ๊ะ.. มันไม่มีอะไรเลย มันไม่มีอะไรเลย เห็นไหม นี่มันวัดได้ไง พอพิจารณากายออกมาแล้ว มันก็ไม่เห็นมีอะไรขึ้นมาเลย คือไปถึงทางตัน ไปถึงหน้าผาตัด เพราะมันพิจารณาไปแล้วมันจบ มันต่อไปไม่ได้ เอ๊ะ... เป็นเพราะเหตุใด
สุดท้ายแล้ว อ๋อ.. มาพิจารณาจิตของตัวเอง เพราะหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าท่านปรารถนาพุทธภูมิ พวกพุทธภูมินี้ส่วนมากจะได้ฌานโลกีย์ คือได้สมาธิเท่านั้น
มันวิปัสสนาไป พอสมาธิเป็นโสดาบันมันก็ขาดจากพุทธภูมิแล้ว เพราะอะไร เพราะมันอีก ๗ ชาติ เพราะพุทธภูมินี้ มันไปไม่มีที่สิ้นสุดจนกว่าบารมีจะเต็ม ถึงจะไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า มันจะเข้าสู่อริยสัจไม่ได้
ฉะนั้นพอพิจารณาไปแล้วมันก็ปกติไง สุดท้ายแล้ว เอ๊ะ.. เป็นเพราะเหตุใด อ๋อ..เป็นเพราะปรารถนาพุทธภูมิ ก็ลาพุทธภูมิ
พอลาพุทธภูมิ แล้วทำความสงบของใจ พอใจสงบแล้วพิจารณากาย พอพิจารณากายไปมันปล่อย พอปล่อยแล้วมันออกมา เอ้อ... อันนี้ใช่ !
อันนี้ใช่เพราะอะไร เพราะมันปล่อยแล้วมันออกมาพอ ออกมาแล้วมันวัดได้ไง
สมมุติว่าเราปล่อยใช่ไหม เราปฏิบัติแล้วเราปล่อย ปล่อยแล้วออกมานี่อารมณ์เราก็เหมือนเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด อันนี้ไม่ใช่ !
แต่เวลาวิปัสสนา พอหลังจากที่หลวงปู่มั่นท่านลาพุทธภูมิ แล้วท่านวิปัสสนาของท่านไป ก็พิจารณากายนี่แหละ
วิปัสสนา คือ การพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม จิตมันพิจารณาแล้วมันแยกแยะ แล้วมันปล่อย พอมันปล่อยมา โอ้โฮ.. มันปล่อยแล้ว มันโล่งมันโถงไง
พอมันปล่อยเสร็จแล้วมันก็มีความสุข พอจิตมันคลายออกมา มันแตกต่างแล้ว มันแตกต่างเพราะมันปล่อยวาง มันรู้เลยว่าอันนี้เป็นโทษ พอออกมาแล้วสติมันสมบูรณ์
นี่หลวงปู่มั่นท่านพูดเองว่า อันนี้ใช่ ! แต่ก่อนหน้านั้นไม่ใช่ !
นี่พูดถึงอันที่ใช่นะ แต่ท่านยังต้องก้าวเดินต่อไป จนเป็นพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคา ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นโสดาบันนะ แต่เป็นวิปัสสนาหรือยัง.. เป็น !
เป็นเพราะว่ามันรู้ในขั้นของวิปัสสนา แต่ยังคว้าหลุด.. คว้าหลุดนะ เพราะถึงคว้าได้ถึงสมบูรณ์ของมัน อันนั้นถึงจะเป็นไง ถึงจะเป็นเต็มขั้นของมัน
ลักษณะภูมิจิตขั้นวิปัสสนา
โอ้โฮ.. มันเป็นความวิตกกังวล แล้วถามไปเรื่อย เราก็อธิบายเรื่อยเลยนะ อธิบายเรื่อยนี่มันเป็น หญ้าปากคอก หมดนะ
อธิบายเรื่องการตั้งใจทำ การดูกาย การพิจารณากายเนาะ อันนี้ไว้ก่อนแล้ว เอาแค่นี้แหละเนาะ เอวัง