ธรรมเป็นสาธารณะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ศักยภาพของศาสนานี่สูงมากนะ แต่อยู่ที่คนใช้ศาสนาจะใช้ศาสนาอย่างไร เราจะใช้ศาสนา เราเข้าไม่ถึงศาสนากันเอง ศาสนาสอนให้มีทาน ทานแล้วเราก็มาทานกัน นี่ศาสนาสอนนะ เปรียบเหมือนเลย เปรียบเหมือนคนชาวเขา เขาจะบ่นมากพวกชาวเขา ว่าเขาไม่มีบัตรประจำตัว เขาจะมีการศึกษาแล้วเขาทำงานไม่ได้ เพราะเขาไม่มีบัตรประจำตัวนะ ขอใบเขียวขึ้นมานี่ จะเดินทางก็ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ เพราะตำรวจจะไถเงินเขา เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นประชาชนชาวไทย เขาไม่ได้สัญชาติไง
เหมือนเรา เราไม่ได้สัญชาติชาวพุทธไง เราได้สัญชาติชาวพุทธไหม ถ้าเราเชื่อเราได้สัญชาติขึ้นมาเห็นไหม ได้สัญชาติของชาวพุทธขึ้นมา ใช้ศาสนาอะไร นี่ความเชื่อ ทานเห็นไหม แค่ความเชื่อนะ เรามีความเชื่อ เชื่อในนรก เชื่อในสวรรค์ เราได้ทำทาน
ถ้าได้สัญชาติมาแล้ว ถ้าสัญชาติ เรานี่ได้สัญชาติไทยกัน เรามีสัญชาติ เรามีสิทธิทำอะไรนี่ก็เหมือนเราเชื่อศาสนาเข้าไป ลึกเข้าไปเห็นไหม เริ่มปฏิบัติ พอปฏิบัติไป เริ่มทำสมาธิขึ้นมา แล้วทำสมาธิเพื่ออะไรอีกล่ะ? ทำสมาธิเพื่ออะไร? วิธีทำสมาธิทำอย่างไร? นี่มันก็ยังลังเลสงสัยอีกเห็นไหม ก็เหมือนกัน เราได้สัญชาติไทย เราทำงานอยู่ เรามีอาชีพ เรามีกฎหมายคุ้มครองอยู่ แต่เราก็ยังทุกข์อยู่ เอ้า ย้ายสัญชาติซะ เห็นไหม เปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกา เปลี่ยนสัญชาติเป็นสัญชาติอื่น
นี่ก็เหมือนกัน เราก็ว่าเราตายไป คนเราเกิดมาเป็นชาติไทยแล้วทำอย่างไรจะให้มันสิ้นสุด เวลาเป็นทุกข์ขึ้นมานี่ทุกข์มาก อยากจะพ้นจากความทุกข์ ฆ่าตัวตายซะ ฆ่าตัวตายย้ายสัญชาติเหรอ? ไอ้ย้ายสัญชาตินั่นมันย้ายสัญชาติ นี่มันย้ายสัญชาติใช่ไหม? นี่เหมือนกับในวัฏวน เห็นไหม เราตายแล้วเราว่าเราจะตายสูญไง มันเหมือนย้ายสัญชาติ มันไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่ ภพใหม่ ชาติใหม่ไปตลอดเวลา มันย้ายไม่ได้ ต้องทำอย่างไร ต้องมีใบมรณบัตรใช่ไหม ลบสัญชาติออกแล้วตายไป
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราภาวนาจนสิ้นสุดจากทุกข์ไง สิ้นสุดจากวัฏวนไง มันมีอยู่เห็นไหม เรามรณะไป ตายแล้วว่าตายสูญมันก็ไม่สูญ มันก็ยังมีอยู่ต่อไป นี่หลักของศาสนาไง เราจะใช้ศาสนาตรงไหน เรานับถือศาสนาพุทธแล้วเราเข้าถึงศาสนาพุทธแค่ไหนไง เพราะว่าตัวหลักศาสนา เห็นไหม สัจธรรม พระธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้านั้นคือสัจธรรม
สัจธรรมคือตัวศาสนานะ ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ได้แค่ศาสนพิธีกัน ทำพิธีกัน เห็นไหม แล้วว่าพิธีกรรมอันนั้นจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง พิธีกรรมนั้น มีศาสนาแล้วพิธีกรรมถึงตามมาไง เราอย่าไปติดในพิธีกรรม เรายอมรับพิธีกรรมนะ ถ้าไม่มีพิธีกรรม ดอกไม้ถ้าไม่มีเชือกร้อยไป พวงมาลัยจะไม่สวยงาม
ธรรมวินัยนี่เป็นพิธีกรรม แต่ธรรมวินัยแล้วก็ยังว่าไปวัดต่างๆ กันแล้วทำไม่เหมือนกัน วัดนั้นก็ไปอย่างนึง วัดนั้นก็ไปอย่างนึง อยู่ที่ความเห็นสำคัญของหัวหน้าไง หัวหน้าว่าจุดนี้สำคัญ ก็จะเน้นจุดนั้น เน้นจุดนั้น เน้นจุดไหน ว่าสำนักไหนปฏิบัติทางไหนก็เน้นจุดนั้น ความเห็น ความเน้นจุดนั้น เราฟังไว้สิ แต่เราจะเชื่อ-ไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้องหนึ่ง เรื่องของอำนาจวาสนาของเราอีกหนึ่ง เราทำแล้วจะได้เหมือนกันไหมหนึ่ง ชอบในแนวทางเดียวกันแต่การเข้าถึงก็ไม่เหมือนกัน เห็นไหม
อย่างเช่น การอดนอน ผ่อนอาหาร อาจารย์มหาบัวท่านบอกว่า ท่านอดนอนไม่ได้เลย อดนอนแล้วสมองจะตื้อไปหมดเลย แต่ถ้าอดอาหารน่ะถูกจริต เราไปอดอาหารกัน บางคนก็เหมือนกันอดอาหาร อดอาหารขนาดไหนถึงจะได้ผล อดอาหารมาก-น้อยขนาดไหนจะได้ผล ในการอดอาหารนี้เป็นวิธีการดัดตนเฉยๆ นะ ไม่ใช่ตัวสัจจะนะ ตัวสัจจะคือตัวใจทั้งหมด ตัวศาสนธรรมคือคำสั่งสอนนั้น เยี่ยมที่สุด
แต่ไอ้การดัดตน การทรมานตน พระพุทธเจ้าเวลาถามพระที่ไปกราบพระพุทธเจ้าว่า อันนี้ใครทรมาน? ใครทรมานคนนั้น? เห็นไหม นี่เราต้องทรมานตัวเราเองไง เราเชื่อใจแล้วเราต้องทรมานตัวเราเองเข้าไป เราจะได้ศาสนาแค่ไหน ศาสนานี่มันละเอียดอ่อนมาก แล้วลึกซึ้งมาก แล้วมีมรรคผลมาก
อย่างครูบาอาจารย์ของเรานี่เกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะศาสนธรรม เห็นไหม ธรรมคำสั่งสอนอันนั้น แล้วคนทุกคนจะเข้าไปก็ต้องลังเลสงสัยก่อน ทุกคนจะลังเลสงสัย จะจับต้องด้วยความลูบๆ คลำๆ เห็นไหม สีลัพพตปรามาส นั่นน่ะเพราะว่าอย่างนี้มันถึงไม่ใช่อจลศรัทธาไง ศรัทธาเราลุ่มๆ ดอนๆ คลอนๆ แคลนๆ ไป เพราะเราจับศาสนาโดยไม่ได้เต็มมือ
ศาสนานี้นะ ถ้าเรียนมาเพื่อชำระกิเลส เห็นไหม หญ้าคาจับให้มั่น จับให้มั่นแล้วจะได้ประโยชน์ ถ้าหญ้าคาจับไม่มั่นแล้วลูบไป เห็นไหม เรายิ่งศึกษามาก เรายิ่งสงสัยมาก เรายิ่งคิดมาก แล้วก็เอ๊ๆ นะ เอ๊อยู่นั่นน่ะ เอ๊แล้วเราจะเข้าถึง-ไม่เข้าถึง อันนี้ส่วนหนึ่งนะ
แต่ถ้าเป็นหลักของภิกษุ ภิกษุเข้าไปศึกษาศาสนา แล้วเอาศาสนานี้มาเป็นช่องทางกัน การหาเงินหาทองนั้นอีก เห็นไหม หญ้าคานะบาดมือ บาดให้ตัวเองมีกรรม มีผลของกรรม กรรมนั้นจะส่งผลออกไปเพราะเราทำกรรมเอาไว้แล้ว เห็นไหม กรรมนั่นน่ะหลักของศาสนา เราจะใช้ศาสนาตรงไหน เราใช้ศาสนาเพื่อประโยชน์ของเรา แล้วเราใช้ศาสนา เราเสพศาสนา เราเอาศาสนาเข้ามาในหัวใจของเรา นี่หลักศาสนาถึงสำคัญมาก ตัวศาสนานี้เยี่ยมมากเลย เราจะใช้ตรงไหน แล้วเราจะเข้าได้แค่ไหน ถ้าเราเข้าได้ เราก็เลื่อนสถานะ เห็นไหม บุคคล ๘ จำพวก
บุคคล ๘ จำพวก เห็นไหม โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล เห็นไหม บุคคลคนเดียว ก็เหมือนกับวัตถุชิ้นหนึ่ง แต่มันแปรสภาพสูงขึ้นไปเรื่อยๆ วัตถุชิ้นนั้นมันแปรสภาพสูงขึ้นไปๆ นี่เหมือนกัน เราเข้าถึงศาสนาตรงไหนเราก็ได้แค่นั้น
นี้เราเข้ามาแล้ว เราอย่าพึ่งเชื่อ เห็นไหม แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอน กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องให้ปฏิบัติเอง นั่นมันเปลี่ยนแปลงจากภายในไง ถ้าผู้ใดสัมผัสธรรมแล้ว สมาธิธรรม จิตมันเข้าไปสงบ อ้อ สงบอย่างนี้เอง สงบอย่างนี้เอง แล้วมันเข้าถูกด้วย แล้วยิ่งถ้าแปรสภาพ จิตนั้นแปรสภาพสูงขึ้นไปๆ ไม่ต้องเชื่อใครเลย ตัวเองเข้าไปสัมผัสเอง
ถึงว่าศาสนานี้ ธรรมะนี้เป็นของกลางไง แล้วแต่ใครจะน้อมนำ น้อมเข้ามาในใจของเรา วิธีดัดตน ดัดตนอย่างไร การดัดตนอย่างไร แต่ไอ้จริตนิสัยนั้นข้างนอกเป็นจริตนิสัยนั้นอย่างหนึ่ง แต่มันได้เสพแล้วได้เสพเหมือนกัน พอได้เสพเหมือนกัน จิตนั้นเป็นธรรมเหมือนกัน พอจิตนั้นเป็นธรรมแล้ว จิตนั้นมันจะยับยั้งของมันเองได้ตลอดเวลา มันยับยั้งของมันได้เห็นไหม
นี่ตัวนี้ตัวที่ว่าเราเข้าถึงแค่ไหน เราจะเข้าถึงตรงไหนของหลักของศาสนา นี่ถึงว่าศักยภาพของศาสนานี่มหาศาลนะ มหาศาลจริงๆ นี้เราเข้าไม่ถึงเอง เราเข้าไม่ถึง เราก็ได้ยี่ห้อไว้เฉยๆ ไง เราได้ยี่ห้อไว้ เราได้คุณธรรมอันนี้ไว้ว่าเราเป็นชาวพุทธ แต่ต้องพยายามขวนขวายเข้าไป มันนอนอยู่เฉยๆ เหมือนกับสวะที่ว่าอยู่บนน้ำ มันค้างอยู่บนน้ำ น้ำนั้นเป็นธรรม เห็นไหม แต่มันค้างอยู่ มันมีสิ่งอื่นมารองรับอีกที เราเข้าไม่ถึงไง เราไม่เข้าถึงสิ่งนั้น เราไม่เข้าถึงหลักของธรรมของศาสนา ไอ้ความประพฤติของเราถึงได้ลุ่มๆ ดอนๆ
ความประพฤติของเราจะลุ่มๆ ดอนๆ เพราะว่าเราลังเลสงสัย สีลัพพตปรามาส คือความลูบคลำศีล ความลูบคลำทั้งหมด แต่ถ้าเราเชื่อมั่นนะ เชื่อมั่นแล้วสัจจะความจริงนะ อันนี้ความเพียรชอบไง มันต้องมีความเพียรชอบ ความเพียรที่พยายามรุกล้ำเข้าไป รุกล้ำ รุกล้ำตรงไหน เปิดสวะออกไง
ตัวศาสนาเป็นสิ่งที่คุณงามความดี เห็นไหม ดูอย่างอนุสัยสิ เครื่องดองกิเลส เห็นไหม แล้วก็สงสัยกันว่าถ้าหัวใจนี่กิเลสมันดองไปแล้ว อย่างพวกผักผลไม้เวลามันได้รับการดองไปแล้ว มันจะสะอาดได้อย่างไร?
อันนี้มันเทียบวัตถุ การเทียบวัตถุ ทุกอย่างเทียบวัตถุ ถึงพระไตรปิฎกนี่ก็เป็นกิริยาของธรรม ถ้าอ่านแล้วนะ เราเทียบเป็นวัตถุนะ เราเทียบวัตถุมันจะดีทีแรก ดีตรงไหน ดีที่เราเข้าใจไง จะสื่ออย่างไรเพื่อให้เราเข้าใจให้ได้ก่อน พอเราเข้าใจ เราก็เทียบเป็นวัตถุนิยม เราก็จะเปรียบให้เป็นวัตถุให้ได้หมดเลย ทุกอย่างต้องขีดเส้นเป็นระบบ พอเป็นระบบขึ้นมา ระบบนั้น เห็นไหม ดูสิ ก็ว่าเข้าถึงธรรม ชอบแนวทางเดียวกัน อย่างการปฏิบัติมันถึงยังต้องต่างกัน ความลึกละเอียดอ่อนต่างกัน ความเข้าถึงต่างกัน ความลงแรงเบาและหนักต่างกัน เพราะว่าวาสนาบารมีต่างกัน เห็นไหม
แม้แต่พุทธวิสัย ถ้ายังไม่ได้เข้าไปลึกเข้าไป บารมียังอ่อนอยู่ ก็ยังได้รับเล็กๆ น้อยๆ อยู่ ไอ้เรื่องผลตอบแทน แต่ถ้าลึกเข้าไป ยิ่งใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปเรื่อยนะ ใกล้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา บารมีจะใหญ่เข้าไปเรื่อยๆ ใหญ่เข้าไปเรื่อยๆ เห็นไหม การกระทำมันจะให้ผลมาก ตอบแทนมาก พลังงานจะให้ผลตอบแทนมาก
อันนี้ก็เหมือนกัน กรรมของใจดวงนั้นแม้แต่จริตนิสัยซับมาช่องทางเดียวกันเลยนะ แต่ผลออกมาต่างกันหมด จะต่างกันหมดเลย มันไม่มีระบบไหนเป็นระบบที่สูตรสำเร็จตายตัวไง
อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราอ่านแล้ว ความคิดของเราคิดถึงเรื่องโลกอยู่ พระไตรปิฎก เราก็ต้องคิดออกมาเป็นวัตถุ แล้วความคลาดเคลื่อนจะต่างไป แต่พอปฏิบัติเข้าไปแล้วมันจะร้องอ๋อไง เจ้าคุณอุบาลีบอกไว้นะ บอกไว้ในหนังสือว่า เจ้าคุณอุบาลีนี้เป็นพุทธภูมิ แล้วเก่งมากในเรื่องปริยัติ เป็นเจ้าคณะภาคด้วยนะ ภาคเหนือ แต่เวลาปฏิบัติเข้าไป บอกเลยว่า ความคิดที่คาดหมายไว้ มันต่างกับความจริงเหมือนฟ้ากับดินนะ ความห่างของมัน
อันนี้ก็เหมือนกัน เราอ่านหนังสือแล้วเราก็ซึ้งใจมาก นี่แบบเป็นประโยชน์ทีแรก ประโยชน์ทีแรกหมายถึงว่าเราจะเข้าใจ แล้วเราจะเข้าช่องทางได้ มันเป็นแนวทางแผนที่ไง แต่ถ้าเข้าไปสัมผัสเอง มันจะเป็นอีกอย่างนึง ความสุขก็สุขอย่างหนึ่ง ความสุขของโลกนี้สุขด้วยเวทนาไง ความสุข-ความทุกข์จากเวทนา คือจิตมันรับรู้แล้วมันให้ค่า
แต่ความสุขอันนั้นนะ ความสุขที่มันเวลาเข้าไปสุขอันจริงๆ นั่นน่ะ มันสุขด้วยไม่เจือด้วยอามิสไง มันไม่ต้องใช้สิ่งสนองตอบขึ้นมา ไม่ต้องใช้พลังงานที่ว่าตอบสนองแบบกระทบถึงจะรับรู้ขึ้นมา มันสุขในตัวมันเอง อันนั้นมันจะเสพอันนั้นอีกอันนึง ถึงบอกว่ามันต่างกัน แม้แต่คำว่าสุขๆ มันก็สุขต่างกัน มันสุขละเอียดอ่อนต่างกันมาก
แต่เวลาความทุกข์ เห็นไหม ถ้าความทุกข์ของเรา ทุกข์ในโลกนี้เราทุกข์มาก แล้วเราจะเดือดร้อนมาก แต่ความทุกข์ในความเพียร ความทุกข์ในปฏิบัตินะ มันมีความทุกข์นะ ทำไมพระโสณะเดินจนเท้านี่เลือดทั้งนั้นเลย เห็นไหม พระจักขุบาลตาจะบอดก็ยอมให้มันบอด นั่นนะทุกข์-ไม่ทุกข์ แต่ทุกข์ของความเพียร ความทุกข์เปลือกๆ ความทุกข์ของธาตุขันธ์
แต่ความทุกข์ของใจ ความเศร้าหมอง ความที่อะไร มันจะพ้นออกไปได้ มันยอมทิ้งได้ เห็นไหม แม้แต่ตาจะบอดก็ยอม เท้านี้จะแตกขนาดไหน เลือดจะไหลออกไป เดินไม่ได้ก็คลานไป นี่ความเพียรมันอุกฤษฏ์ไง แล้วมันถึงว่า อันนั้นพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ธรรมเหมือนพิณ ๓ สาย ให้ตรงกลางออกมา แต่ตรงกลางตรงไหนมัชฌิมานั้น มันมัชฌิมาในหัวใจ มันมัชฌิมาในเรื่องของกิเลสกับเรื่องของธรรม ไม่ใช่มัชฌิมาเรื่องของกาย
เรื่องของกายมันทุ่มเข้าไป ความเพียรต้องอุกฤษฏ์ เห็นไหม ธรรมะมันของประเสริฐมาก เราจะเข้าไปถึงหลักของตรงนั้นปั๊บ นี่เพราะใจมันเริ่มเกาะเกี่ยวธรรมเข้าไป มันถึงมีความมุมานะได้ขนาดนั้น มันเหมือนกับว่าเราเห็นรำไรๆ อยู่ว่าสิ่งนี้จะประสบความสำเร็จอยู่แล้ว มือเราเอื้อมเราจะหยิบอยู่ มันสามารถพยายามจะกระเสือกกระสนไปจนได้ นี่คืออจลศรัทธา
แต่ถ้าศรัทธาของเรานี่สีลัพพตปรามาสอยู่ เห็นไหม มันยังคลอนแคลนอยู่ มันยังเข้าไม่ถึง มันถึงว่าตอนนี้มันศรัทธาอยู่ มันก็เชื่อใจได้ นี่คือว่าเราจะเป็นลูกศิษย์ตถาคต เราเป็นบริษัท ๔ เราจะเริ่มบริษัท เราอยู่ตรงไหนไง บุคคล ๘ จำพวกไง ความเข้าไป เราใช้ศาสนาตรงไหน? เราจะใช้ศาสนาตรงไหน?
ถ้าเราใช้ศาสนา จิตมันสัมผัสไปเรื่อย มันยกขึ้นมาเรื่อย มันยกตัวเองขึ้นไปเรื่อย ยกขึ้นสูงขึ้นไปเรื่อย แล้วความเชื่อมั่น เห็นไหม ความเชื่อมั่นเกิดขึ้น แผนที่ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องอีกต่างหาก มันก็เข้าไปเรื่อยๆ ใจนี้จะเปลี่ยนไป สูงขึ้นไปๆๆ มันพัฒนาใจมันขึ้นไปเรื่อยๆ จนหลุดพ้นไปได้
นี่เห็นไหม ถึงว่าไม่ต้องมีใบมรณบัตร ใบมรณบัตรทิ้งไว้เห็นไหม จากไม่มีบัตรประจำตัว ไม่มีสัญชาติ ขอสัญชาติ นี่ก็เหมือนกัน เรายังไม่มีสัญชาติชาวพุทธไง เราก็ว่าเราเป็นชาวพุทธ เห็นไหม นี่ศรัทธา แล้วปฏิบัติเข้าไป พอได้สัญชาติแล้วนี่เป็นชาวพุทธ เราว่าเราเป็นชาวพุทธ เพราะเราเปล่งบารมี เราถึงพระรัตนตรัยตลอดเวลา นี่ได้สัญชาติชาวพุทธแล้ว พอมันทุกข์ขึ้นมาก็อยากจะ...
การชำระชาตินี่ไม่ใช่การย้ายสัญชาติ การย้ายสัญชาติคือการเกิดและการตาย การเกิดและการตายมันจะมีจิตดวงเราที่อยู่ใต้สำนึกเรานี่ ปัจจุบันนี้เราเป็นชื่ออะไรก็แล้วแต่ มันหุ้มห่อเราอยู่ มันสัญชาติของมนุษย์ เห็นไหม มันคุ้มเราอยู่ แต่จิตดวงนั้นเวลามันตายจากมนุษย์ไปเกิดเป็นอะไรแล้วแต่ มันก็ไปเกิดอีกๆ มันแค่ย้ายแต่เปลือก แต่ตัวจริงมันมีอยู่ตลอดเวลา ตัวจริงตัวนี้มันมีอยู่ มันถึงว่าผลของธรรมก็มีอยู่ เห็นไหม มันถึงเหนือธรรมชาติไง เหนือสสาร เหนือความจริง เหนือทั้งหมดเลย ธรรมเหนือโลกไง
ศาสนาเรานี่อุกฤษฏ์ ถึงว่าสิ้นสุดแล้วที่เขาต้องมีใบมรณบัตรกันเพื่อตาย แต่นี่ไม่ใช่ มันขาดออกไป การเกิดและการตายเป็นของโกหก เป็นการเปลี่ยนย้ายสัญชาติเฉยๆ การย้ายสัญชาติย้ายไปย้ายมามันก็ยังมีอยู่ สิ่งนั้นมีอยู่เห็นไหม
ใจเหมือนกัน การเกิด-การตายมันก็มีใจนั้นอยู่ ใจนั้นมันถึงเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ อาสเวหิ อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ จิตนี้เป็นผู้เสวยวิมุตติอยู่ มันถึงมีอยู่ แต่มีอยู่แบบวิมุตติ มีอยู่แบบอ้าปากไม่ได้ มีอยู่แบบพูดไม่ได้ มีอยู่แบบความมีอยู่อันนั้น แต่มีอยู่นั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราอ่านธรรมะกันแล้วเราเทียบเป็นวัตถุขึ้นมา มันก็ต้องมีอยู่แบบที่จับต้องได้สิ
ถ้าจับต้องได้มันก็เป็นสมมุติ มันเป็นบัญญัติ แต่เป็นวิมุตติแล้วมันเป็นโลกพ้นออกไปจากสมมุติ การสื่อธรรมะมันถึงยากตรงนี้ไง ยากตรงที่ว่าสื่อออกมาให้เข้าใจได้อย่างไร แต่พระพุทธเจ้าพยายามสื่อออกมา เห็นไหม
เหมือนเต่า เต่าเวลาปฏิบัติ เห็นไหม ให้หดหัวออกมา หดตีนเข้ามาหมด ให้ศีลปกครองเราไว้ไง ให้ศีลปกครองเราไว้ให้อยู่ในศีลในทานอย่างนี้ แล้วเรามีความชุ่มช่ำใจของเรา เห็นไหม แต่ถ้ายื่นออกไป ยื่นออกไปมันก็ยื่นออกไปกระทบกับสิ่งภายนอก นี่ให้หลบเข้ามา เราก็เข้าใจ เปรียบเหมือนจอมปลวก เห็นไหม ใจนี่ออกทวารทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ปิดทั้งหมดเลย ให้เหลือไว้แต่เฉพาะใจอย่างเดียว แล้วให้คอยจับสัตว์ที่อยู่ในจอมปลวกนั้น นั่นคือจับใจของเรา นี่พยายามเปรียบมาให้เหมือน
แต่เราทำขึ้นมาเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ นี่เปรียบให้เข้าใจ มันเป็นวัตถุ นี้เราอ่านวัตถุแล้วถึงบอกว่า เราจะอยู่ตรงไหนของศาสนา ถ้าเราเข้าใจนะ แล้วเราพยายามยกตัวของเรา อย่าไปเทียบใคร เราเทียบเขาไม่ได้นะ บารมีคนไม่เหมือนกันหนึ่ง ความเชื่อมั่นไม่เหมือนกันหนึ่ง เราต้องเทียบใจเราเอง ว่ามันขึ้นหรือมันลง อยู่ที่ใจเราเท่านั้นเอง
ถ้าใจเราขึ้น เราก็ได้ประโยชน์ของเราเอง ถ้าใจเราลง เราก็ทุกข์ของเราเอง เห็นไหม ใจเราลงไง พอใจเราลงไปมันห่างออกไปเรื่อย ห่างออกไปเรื่อย ห่างอะไร ห่างจากความสุขจริงที่จะเกิดขึ้นไง ห่างจากความสุขจริงนะ แต่ถ้ามันใกล้เข้าไปๆๆๆ ใกล้เข้าไปจนทันกัน เห็นไหม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ไม่เห็นใครหรอก เห็นตถาคต เห็นความจริงในใจนั้น มันจะเข้ากับใจดวงนั้นเลย
นี่มันถึงว่าใจของเรา เราชาวพุทธ เราจะใช้ศาสนาอย่างไร แล้วเทียบออกมาทางโลก เห็นไหม เดือดร้อนมากนะ คนที่ไม่มีหลักยึดน่ะ ชาวเขานี้จะเดือดร้อนมากเลย จะไปไหนก็ไม่ได้ ศึกษามาแล้วก็ทำอาชีพไม่ได้ เพราะว่าไม่มีสัญชาติ
ชาวพุทธถ้าไม่มีหลักของใจเหมือนกับคนไม่มีศาสนา คนที่ไม่มีศาสนา คนที่ว้าเหว่ ทุกข์ขึ้นมาไม่มีที่เกาะเกี่ยว คนที่มีศาสนาคือมีสัญชาติ อย่างไรกฎหมายคุ้มครองอยู่ เห็นไหม แล้วก็เลื่อนไปๆ นี่เทียบออกไปสิ เทียบหลักศาสนา เทียบถึงความคิดของเรา เทียบถึงทุกข์-สุขในใจของตัวนั้น ทุกข์-สุขของใจตัวนั้นเอาเทียบออกไปหลักของศาสนา เทียบไปเลยเทียบไป
แล้วมันจะย้อนกลับมา เห็นไหม เทียบเคียงมาแล้วจะเห็นว่า เอ้อ เราดีกว่าเขา เรายังมีที่พึ่ง เรามีดีกว่าเขา เห็นไหม เหมือนกับเรามีที่พึ่ง เราก็อุ่นใจ แต่ถ้าไม่คิดอย่างนั้นนะ เราเท่านั้นทุกข์คนเดียว เราเท่านั้นเป็นคนที่ไม่มีวาสนา เราเท่านั้นเป็นคนที่ว่าอาภัพ
แต่ถ้าเรามีตรงนี้ขึ้นมา เราดีกว่าเขาแล้ว เรามีที่เกาะเกี่ยว เพียงแต่ว่าความเพียรของเราไม่พอ เราไม่มีความเพียรพอ ตบะธรรมของเราไม่สามารถแผดเผาไอ้ความสงสัยของเราได้ ตบะธรรมอันนี้มันก็อ่อนไปๆ แล้วไอ้ความคิดของกิเลสมันก็จะมากขึ้นๆ เห็นไหม ความคิดเหมือนกัน คิดอย่างหนึ่งเป็นกิเลส กิเลสคือความคิดที่ว่าคิดไปประสาของมัน
ถ้ามีสมาธิเข้าไปยับยั้งขึ้นมา สังขารตัวนี้กลายเป็นปัญญาขึ้นมา เพราะ! เพราะว่าไม่ใช่ความคิดของเรา มันความคิดเป็นกลางไง มัชฌิมาปฏิปทา ความคิดที่เกิดขึ้นที่เป็นกลางที่สมาธิมาแยกออกไป ความคิดอันนี้เป็นความคิดของฝ่ายธรรม ความคิดธรรมกับความคิดกิเลส กิเลสมันเกิดโดยธรรมชาติของมัน ความคิดนี้มีตลอดเวลาพร้อมกับความคิดเรา
แต่ถ้าเราสร้างสมาธิขึ้นมา ยับยั้งใจไม่ให้คิดออกนอกลู่นอกทาง แล้วความคิดอันนี้จะเกิดขึ้นมาอีกทีนึง อันนั้นเป็นความคิดฝ่ายธรรม ปีชาติหนึ่งเกิดกี่หน ในความคิดเรา กับความคิดฝ่ายกิเลสมันเกิดอยู่ทุกวินาที เห็นไหม เทียบเข้ามาสิ นี่พัฒนาตน พัฒนาขึ้นไป
เราเป็นชาวพุทธอยู่ตรงไหน เราจะเสพศาสนาตรงไหน เราก็เป็นชาวพุทธ ถ้าเป็นชาวพุทธจริง ชาวพุทธแท้ เราก็มีความสุขของเรา เราเท่านั้นนะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ครูบาอาจารย์จะนิพพานต่อไปข้างหน้า แล้วเราจะพึ่งใคร? ถามเราเองแล้วมันก็จบ เอวัง