แค่ไหนเรียกปริยัติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เป็นปัญหา เราก็ว่าเป็นปริยัติ เป็นปฏิบัติ ปริยัติกับปฏิบัตินี่วัดกันตรงไหน ตามธรรมดาแต่เดิมพระพุทธเจ้าไปศึกษามาน่ะปริยัติ ไปศึกษามาตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ๖ ปีนะ ๖ พรรษา เที่ยวศึกษากับลัทธิต่างๆ นั่นน่ะปริยัติ เที่ยวศึกษา ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนไง การศึกษากับศาสดาต่างๆ แล้วมันทำไม่ได้ พอมันทำไม่ได้ มันทำแล้วแผนที่มันผิด แผนที่มันผิด เป้าหมายมันผิด พอปฏิบัติไปมันก็เข้าถึงไม่ได้ แล้วตัวเองรู้อยู่ มันรู้อยู่ว่าตัวเองทำเข้าไปแล้วมันยังมีความทุกข์อยู่ มันแก้ความทุกข์ไม่ได้ มันสงบ มันเวิ้งว้างจริง เวลามันเวิ้งว้างมันสงบ นี่ว่างหมด แต่พอออกมาแล้วมันก็ทุกข์อันเก่า มันไม่สามารถชำระอะไรขาดออกไปได้ นี่น่ะปริยัติทีแรก
แล้วก็มาปฏิบัติของตัวเอง เพราะตัวเองสะสมมา ต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วตรัสรู้ด้วยตนเองด้วย เพราะว่ามันลึกล้ำมาก ลึกล้ำนี่ลึกแสนลึก กว้างแสนกว้างอยู่ที่กลางหัวใจนี่ มันคาดหมายไม่ออก คาดหมายไม่ได้เลย แล้วเพราะบารมีตัวเองพร้อมไง พอปฏิบัติแล้วถึงได้พ้นออกไป พอพ้นออกไปแล้วค่อยมาตั้งไง มาตั้งเป็นศาสนา แล้วก็จำต่อๆ กันมา เห็นไหม ให้บอก ให้จำ ให้ต่อๆ กันมา จำนี่ท่องจำกันมา เป็นมุขปาฐะเมื่อก่อน แล้วพอมีการพิมพ์เป็นหนังสือแล้วก็พิมพ์มา เรายังศึกษามาอันนี้ปริยัติ
ปริยัติมันมีอยู่แล้ว เห็นไหม ปริยัติแล้วก็ปฏิบัติ ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียน แต่เพราะว่ามันมีศาสนาอยู่แล้วถึงได้ต้องศึกษาเล่าเรียนในหลักของศาสนา แล้วจำมาไง แล้วปริยัติ ในปริยัติก็บอกเองว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องมีปริยัติก่อนใช่ไหม มีปฏิบัติ มีปฏิเวธ พีระมิด เห็นไหม จากฐานขึ้นมา จากกลางไต่ขึ้นไป เราไต่มาจากปริยัติก่อน มันต้องมีปริยัติ ไม่มีปริยัติเลยได้อย่างไร ไม่มีปริยัติเลยมันก็ไม่มีแผนที่ มันต้องมีแผนที่เดินก่อนใช่ไหม ถึงจะบอกว่าปริยัติก็ต้องยอมรับว่าเป็นปริยัติ ปริยัติแล้วต้องปริยัติให้ถูกต้องด้วย
ศีล คำว่าศีลคำเดียว เขาว่าศีลจะเหมือนกับศีล ไม่เหมือนนะ ศีลของเราศีล ๕ นี่เป็นศีล ๕ ศีล ๕ ของลัทธิต่างๆ ศีล ๕ ของเขาเป็นเขาควาย เป็นอะไรนี่ เป็นความแข็งแกร่งของเขา ศีล ๕ เหมือนกัน แต่ความหมายต่างกันหมดเลย คนละศาสนาไง แต่ศาสนาพุทธเราศีล ๕ นี่ไม่รังแกเขา ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดในกาม ไม่ดื่มสุรา ไม่โกหก นี่ศีล ๕ ของเรา แต่ศีล ๕ ของเขา เขาก็ศีล ๕ เหมือนกัน คำว่าศีล ๕ ไม่ใช่ถูกหมดนะ ศีล ๕ ของลัทธิของเขานี่ ศีล ๕ เราศึกษาแล้วไม่ใช่ เห็นไหม
นี่ปริยัติก็ต้องปริยัติที่ถูก แล้วปริยัติแล้วถึงจะปฏิบัติ พอปฏิบัติเข้าไปมันจะจับต้องได้ไหม นี่ปฏิบัติ สำคัญตรงนี้ไง ปริยัติแล้วไม่เป็นปฏิบัติ ปฏิบัติไปไม่สามารถจับต้องไม่ได้ มันก็เป็นปริยัติไปตลอด มันต้องเป็นปริยัติ ปฏิบัติ แล้วต้องปฏิเวธก่อน มันต้องก้าวเป็นพีระมิดขึ้นไป ไม่ใช่มุมกลับนี่ เดี๋ยวนี้มันเป็นมุมกลับนะ พีระมิดหงายไง หงายขึ้นมา ต้องไม่มีปริยัติก่อน เวลาปฏิบัติต้องไม่คิดถึงปริยัติเลย ว่างหมดเลย แล้วค่อยปฏิบัติไป แล้วไปปริยัติทีหลัง คือไปรู้ตามธรรมะทีหลังไง นี่มันเป็นพีระมิดหงายขึ้นมา
แล้วมันจะเป็นไปได้ไหม ก่อนจะปฏิบัติต้องไม่มี ต้องว่างหมด ต้องว่างหมด ก็เหมือนปฏิเวธก่อน ต้องปฏิเวธ คือว่าพ้นจากกิเลสก่อนแล้วค่อยมาปฏิบัติไง มันเป็นไปไม่ได้! มันถึงต้องเป็นฐานพีระมิดขึ้นไป ต้องมีปริยัติก่อน ถ้าเป็นปริยัติก็ต้องยอมรับว่าเป็นปริยัติก่อน พอมันปริยัติเข้าไปแล้วมันจับได้ นี่ขันธ์เป็นขันธ์ มันสื่อความหมาย ความสื่อความหมายอันนั้นน่ะ การสื่อความหมายออกไป มันต้องสื่อความหมายกัน แต่สื่อเป็นความหมาย ความจริงต่างกัน
คนที่ปฏิบัติจะรู้เลย เป็นสมาธินะ พูดไม่ถูก พูดไม่ถูก มันว่างนะแต่พูดไม่ถูก มันเวิ้งว้างไปหมด ไอ้คำพูดนั้นมันเป็นแค่เปลือกๆ เวลาเข้าไปแล้ว ถ้าปฏิบัติเข้าไป จับต้องได้จริง กับไอ้ปริยัตินี่ต่างกันมากเลย คำว่าปริยัตินี่มันเป็นแค่เครื่องหมายบอก แต่คนเข้าไปถึงความจริงมันจะซึ้งใจมากกว่ากัน จะโอ้โห โอ้โหนะ มันจะรำพึงรำพันเลย นั่นคือปฏิบัติ เห็นไหม ปริยัติถึงปฏิบัติ ต้องมีปริยัติมาก่อน แต่สื่อออกมาก็สื่อออกมาในเชิงปริยัตินั่นล่ะ ต้องมีปริยัติก่อน จะบอกว่า อันนั้นเป็นปริยัติ อันนั้นปริยัติ แค่ไหนเป็นปริยัติ แค่ไหนเป็นปฏิบัติ มันต้องเป็นปริยัติแน่นอน
ต้องยอมรับว่ามีจริง ปริยัติมีจริง ไม่ปฏิเสธว่าอันนี้ไม่ใช่ปริยัตินะ หมายถึงว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า...ไม่ใช่ เพราะว่าในหลักของศาสนา ๕,๐๐๐ ปี ศาสนานี้สาวกนี่มันต้องศึกษาธรรมะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น เพื่อจะพ้นไป เพราะเป็นการสืบต่อกันมา จำๆ กันมา เป็นประเพณีวัฒนธรรมออกมาจากหลักของศาสนา เราเข้ามาเราต้องโดนตรงนี้แน่นอน ถึงว่าปฏิบัติขนาดไหนก็แล้วแต่ ครอบคลุมอยู่ในหลักของศาสนา ถึงว่าเป็นหลักของปริยัติ แล้วปฏิบัติขึ้นมา เข้าไปปฏิบัติ ปฏิบัตินี่มันต้องร้อง โอ้โห โอ้โห ไม่ใช่ปริยัตินะ เทียบเคียงไง ถ้าปริยัติ ปริยัติตลอด เป็นปริยัติตั้งแต่ทีแรก เป็นปริยัติในการปฏิบัติ แล้วก็เป็นปฏิเวธในเป็นปริยัติตลอด ปริยัติตลอดแต่ไม่รู้ มันยึดว่าเป็นปริยัติ
แล้วพอเทียบไปว่าเข้าใจ พอจิตมันสงบเข้าไป มันก็ว่าอันนี้เป็นเวิ้งว้าง มันเทียบเคียงได้ มันว่าอันนี้เป็นปฏิบัติแล้ว แต่ถ้าไม่อย่างนั้นเป็นปริยัติอยู่อย่างเก่า แล้วเป็นปฏิเวธมันก็ยังเป็นอันเก่า มันถึงไม่อาจหาญ ไม่อาจหาญเหมือนพระสารีบุตรไง พระสารีบุตรบอก ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเลย ทำไมถึงไม่เชื่อพระพุทธเจ้า? ไม่เชื่อเพราะว่ารู้เห็นเอง เห็นไหม นั่นน่ะปฏิเวธมันต้องเป็นแบบนั้น มันเด็ดขาดไง อาจารย์มหาบัวบอกเลยว่า
ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ต่อหน้าก็ไม่ทูลถาม เพราะมันรู้เหมือนกัน
ความรู้ของพระพุทธเจ้ากับความรู้ของพระอรหันต์เหมือนกัน! เหมือนกันหมดเลย
แต่ต่างกันด้วยบุญญาบารมีอันนั้นต่างหาก นี่เป็นปฏิเวธแท้ ไม่ใช่ว่าเทียบเคียงเข้าไปเป็นสุตมยปัญญา เป็นปริยัติๆ ไปตลอด อันนั้นก็เป็นปริยัติตลอด นี้เราจับต้องได้ ยกกลับมาที่เรา ถ้าเราจับต้อง เราพิจารณาเข้าไปแล้วนะ มันจะเป็นปริยัติหรือไม่เป็นปริยัติ ให้มันเป็นไปก่อน อย่าพึ่งไปลังเลสงสัยว่าอันนี้เป็นปริยัติหรือเป็นปฏิบัติ แล้วจับอันนั้นวิปัสสนาเข้าไป มันจะเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดแล้วนะ นี่เวลาเจอจริง มันจะเข้าไปเจอ
เจอคือว่า เจอจิตหรือเจอกาย มันจะเข้าไปแบบว่าไม่มีความรู้สึกเท่าไหร่ ขณะที่เห็นเหมือนนิมิต นิมิตเวลาเข้าไป ถ้าเป็นนิมิตแท้นะ เหมือนกับเรายืนดูอยู่ แต่ถ้าเป็นฝัน เป็นฝันเป็นอะไรเข้าไปนี่ เราจะเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วย พอเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เราจะมีอารมณ์ร่วมไปกับเขาเลย ถ้าเป็นฝัน เป็นฝันของพวกกิเลสนี่เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นนิมิตไม่ใช่ เป็นนิมิตเหมือนเรายืนอยู่ข้างนอก แล้วเราดูภาพนั้นอยู่ แล้วมันดูเฉยๆ ไง มันไม่ตื่นเต้นเหมือนกับเราไม่ได้เสียกับเขา พอออกมาแล้ว ยิ่งมาซึ้งใจตอนหลัง
การเจอจิตหรือเจอกายก็เหมือนกัน ขณะที่เห็นมันเห็นเฉยๆ แต่มันเห็นเฉยๆ แล้วมันเห็นแบบพูดประสาเราว่าเห็นแบบทั้งตัว ทั้งเนื้อทั้งตัว พอออกมาแล้วนึกถึงภาพนั้นนะ มันจะสลด มันจะสังเวช มันจะน้ำตาไหล มีครูบาอาจารย์มากเลย ขณะที่กำหนดเข้าไปแล้วเจอกายหรือเจออดีตของตัวเอง ออกมานี่น้ำตาไหลพรากๆ น้ำตาไหลพรากเพราะมันเข้าไปเห็นด้วยความเป็นจริง เห็นไหม นั่นน่ะคือปฏิบัติ
ปฏิบัติมันต้องจับต้องได้ มีเหตุ มีผล มีการชำระ มีการจับต้อง มีการสะสาง การชำระกิเลสเห็นไหม การซักเสื้อผ้านี่เอาเสื้อผ้าไปแช่น้ำไว้ แล้วก็สะบัดๆ ขึ้นมาตาก แล้วมันจะสะอาดไปได้อย่างไร เสื้อผ้านี่มันก็ต้องขยำ อยู่ในน้ำผงซักฟอกนั้นเราต้องขยำ เราต้องซักฟอก ต้องชำระน้ำสะอาดอีกทีหนึ่งมันถึงจะสะอาด พอสะอาดขึ้นมาแล้วนี่ถึงสะอาด
จิตก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าปฏิบัติไปแล้วมันไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ว่าง โล่ง ปล่อยสบาย ว่างโล่ง พอบอกว่า ได้ไปถึงส่วนไหน
ถามไม่ได้ บอกไม่ได้
ไอ้นั่นมันเป็นปริยัติ นู่นก็พูดไม่ได้ นี่ก็พูดไม่ได้ พูดไม่ได้จนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ขณะที่ปฏิบัติก็ยังเรียกว่าปริยัติอยู่ แล้วไปเป็นปฏิเวธก็ปฏิเวธ ทำไมอาจารย์มหาบัวถามครูบาอาจารย์ ปฏิบัติมา ว่ามา องค์ไหนแล้วไปเจอ ธมฺมสากจฺฉา หลวงปู่มั่นน่ะออกจากป่ามา
เอ้า! ใครเจออะไร ว่ามา
อย่างนั้นครับๆ พิจารณากายครับ ปล่อยกาย วางกาย
ปล่อยอย่างไร ปล่อยขาดหรือไม่ขาด
ปล่อยส่วนปล่อยนะ ขาดส่วนขาด ขาดนี่มันสมุจเฉทปหาน จะรู้ว่าหลุดออกไปดั่งแขนขาด จริงไม่จริง ตรวจสอบกันขนาดนั้น นี่ปฏิเวธ ปฏิเวธมันต้องมีเหตุมีผล แล้วมีการหลุดออกไป มีการจับต้องได้ มีการหลุดออกไป อันนั้นเป็นปฏิเวธ
ถ้าเป็นปฏิเวธอันนี้มันถึงเป็นหลักของความจริงใช่ไหม พอจะทำอย่างนี้ขึ้นมาก็บอกว่า อันนี้เป็นปริยัติ แล้วปริยัติปฏิบัติแค่ไหนถึงเป็นปริยัติ แค่ไหนถึงเป็นปฏิบัติล่ะ แค่ไหน ..ก็แค่ที่ตัวเองรู้ปัจจัตตังนั่นไง แค่ที่ว่าเรากำหนดเข้าไปแล้วเราจับได้ เรารู้ เราสลด เราสังเวช เราสลดสังเวชก่อนแล้วเราเริ่มปล่อยวาง ปล่อยวางนะ พอสลดสังเวชมันจะปล่อยวางเอง ก่อนสลดสังเวชมันต้องเห็นตัวตน พิจารณาเข้าไปๆ ปฏิบัติเข้าไป ต่างคนต่างปฏิบัติ แต่ทำไมมันไม่ได้มรรคไม่ได้ผล เพราะอะไร? เพราะเราไปแหยงไง เราไม่กล้าทุ่มไปทั้งตัว เรากลัวผิด กลัวเป็นปริยัติ กลัวจับต้องแล้วมันจะทำให้เราหลงใหล เราจะทำไม่ได้
จับเลย! ผิดเป็นครู ต้องจับแล้ววิปัสสนา จับเข้าไปแล้วมันจะปล่อย พอถึงแล้วมันจะปล่อย มันจะจางไปเรื่อยๆ พอจางไปเรื่อย ความจับเข้าไปนี่มันจับละเอียดเข้าไป จนถึงจับตัวตนของตนได้ มันยิ่งสลด มันยิ่งสังเวชนะ แล้วคราวนี้ถึงตัวตนแล้ว ถึงจุดของมันแล้ว วิปัสสนาออกมาทีไร การคิดออกมามันคิดจากตรงนั้น มันจะสลดสังเวช แล้วมันจะปล่อยตรงนั้นได้ ตรงที่ว่าฐานของใจ
ความคิดริเริ่ม ความดำริดำริที่ใจ ความติดติดที่ใจ แล้วเราชำระเข้าไป คือว่าพิจารณาเข้าไปๆ จะเป็นปริยัติ จะเป็นอะไร ช่างหัวมัน! ขอให้เราจับต้องของเราได้ วิปัสสนาเข้าไปๆ จนถึงตัวตน พอถึงตัวตนแล้ววิปัสสนาต่อไป ตอนนี้มันจะวางแล้ว เพราะอะไร? เพราะมันรู้เท่าแล้ว มันเกิดมาจากฐานที่เดียวกัน แบบแบงก์นี่เราเบิกออกมาจากธนาคารใช่ไหม เราตามมันเข้าไปถึงธนาคาร ตามเข้าไปถึงโรงพิมพ์พิมพ์แบงก์เลย แล้วทีนี้ พิมพ์แบงก์นี่เราจะแก้ไข แบงก์นี่เราจะเปลี่ยนวิธีพิมพ์ ให้มันพิมพ์เป็นเลขใหม่ หรือพิมพ์ด้วยลายใหม่ ทำได้แล้ว เพราะอะไร? เพราะเราตามเข้าไปถึงโรงพิมพ์ เราสามารถแกะบล็อกได้ แกะแม่พิมพ์ได้
วิปัสสนาก็เหมือนกัน ย้อนกลับเข้าไปที่จิตจะเข้าไปถึงตัวตน นี่เข้าถึงโรงพิมพ์ไง โรงพิมพ์มันพิมพ์ออกมาเป็นแบงก์ แบงก์ก็ออกมาใช้เดี๋ยวมันก็เปื่อย เดี๋ยวมันก็เน่า ความคิดก็เหมือนกัน ออกมาจากใจ ใจคิดออกไปเท่าไหร่ เดี๋ยวมันก็ต้องมีอารมณ์เข้ามา ให้อารมณ์กับตัวเอง เดือดร้อนตัวเอง แล้ววิปัสสนาเข้าไปถึงตรงต้นขั้วของมัน ทำไมมันจะแก้ไขไม่ได้ พอมันแก้ไขได้ มันก็ต้องปล่อย เห็นไหม
จากแบงก์ เราสามารถควบคุมได้ จะทำวิธีการไหนก็ได้ นี่ควบคุมได้ จนถึงว่าทำลายโรงพิมพ์นั้นทิ้งเลย นี่ปฏิเวธ ปฏิเวธต้องทำลายโรงพิมพ์นั้นทิ้ง ไม่ให้มันคิดขึ้นมาอีก คิดขึ้นมาก็ต้องคิดขึ้นมา ถ้าจิตกระเพื่อมออกมา กระเพื่อมออกมาด้วยความคิดของตัวเอง กระเพื่อมออกมาด้วยปัญญา ปัญญาคือจิตรับรู้ จิตเป็นอัตโนมัติ จะเป็นทุกขั้นตอน อัตโนมัติตั้งแต่ขั้นแรกเพราะมันรู้เท่า มันเป็นอจลศรัทธาอยู่แล้ว อจลศรัทธากับศรัทธา ศรัทธาที่มันคลอนแคลน เอ๊...จริงหรือเปล่า เอ๊...เป็นอย่างนั้น เอ๊...เป็นอย่างนี้ เห็นไหม นั่นล่ะปริยัติล้วนๆ ถึงว่ามันเป็นพีระมิดหงายไง เวลาว่าจะปฏิบัติก็ต้องให้ว่างก่อน อย่าไปอยากนะ อย่าไปคิดหมายนะ มันจะเป็นกิเลส
กิเลสมันมีอยู่พื้นฐาน แล้วกิเลสฝ่ายมรรคมันไม่มีหรือ ความคิดที่เป็นมรรค เป็นมรรคเป็นความอยากทำ ความอยากที่ทำ ปฏิบัติขึ้นมานี่ มันถึงว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ไก่กับไข่ ปริยัติหรือปฏิบัติ อันไหนเกิดก่อนกัน เอาไก่ก่อนหรือเอาไข่ก่อน มันก็ต้องไข่กับไก่ แล้วแต่ว่าคนจะเอาอันไหนก่อนใช่ไหม ไก่กับไข่
ปริยัติกับปฏิบัตินี่อันไหนก่อน มันต้องมีปริยัติก่อน ตามหลักต้องมีปริยัติก่อน แต่ปริยัติแล้วขึ้นมานี่ ตอนขึ้นมาเราไม่ได้ปฏิเสธปริยัติ ทุกคนจะปฏิเสธว่าเวลาปฏิบัติจะปฏิเสธปริยัติเลย ไม่ใช่ปฏิเสธ แต่เวลาทำขึ้นมาแล้วให้มันเป็นปัจจัตตัง ตอนเป็นปัจจัตตังนี่มันไม่ใช่ปริยัติ ตอนเป็นปัจจัตตังนี่เป็นความรู้ของตนเอง ความรู้ที่เราเข้าไปจับต้อง เรารู้ของเราเอง อันนี้ถึงไม่ใช่ปริยัติไง
สมบัติส่วนตน เห็นไหม ปริยัตินั้นสมบัติยืมมาจากพระพุทธเจ้า สมบัติยืมมา ยืมจากพระพุทธเจ้ามาๆ การศึกษามา การจำมา มันต้องมีสิ ถ้าไม่มีตรงนี้แผนที่อยู่ที่ตรงไหน ก้าวเดินๆ อย่างไร ถ้าไม่มีแผนที่เดิน แผนที่มันยังผิดอยู่ ขอให้แผนที่ตรงเถอะ ปัจจัตตัง คำว่าปัจจัตตังของตนเอง แล้วปัจจัตตังมันรู้สึก ปัจจัตตังผิดก็ผิด ปัจจัตตังถูกก็ถูก ผิดก็ให้มันผิดไปก่อน ต้องผิดไปก่อน ไม่มีใครถูกมาก่อน
แล้วพอมันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปต่างๆ กัน ละเอียดเข้าไปน่ะต่างนะ จับได้ เข้าไปต่างกันไป จับได้เปลือกก่อนก็ขนลุกขนพองแล้วล่ะ จับได้เปลือก แต่ถ้าจับได้ถึงตัวตนของตนเองนะ มันจะสลดสังเวชมาก พอสลดสังเวชมาก อันนี้เข้าหลักธรรมเลย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนจะแก้ไขตน มันจะติตนได้ ไม่อย่างนั้นเราติเราไม่ได้ ใครจะว่านะ ครูบาอาจารย์จะว่า หรือใครจะสอนน่ะ ไม่จริงน่า ไม่น่าจะใช่อย่างนั้นหรอก เรานี่แสนดีแสนประเสริฐ เราคิดของเรา เรา... เรา... เรา... เราคำเดียวนะ เราทั้งนั้นเลยนะ แต่พอจับตรงนี้ได้ มันน้ำตาไหลเอง โอ้...เมื่อก่อนมีแต่ครูบาอาจารย์สอนนะ เราไม่เชื่อๆ เราไปติ มันติได้ นี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ มันจะเกิดทันทีเลย คือว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนแก้ไขตน เพราะโรงพิมพ์นั้นเราจับต้องได้ เราจะระเบิดโรงพิมพ์นั้นทิ้ง
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วตรงนี้มันไม่มี มันปัดป้อง กิเลสมันผิด มันปัดป้องๆๆ นี่ไงปัดป้องว่าเป็นปริยัติ ถ้าคำว่าปริยัติทั้งหมด เขาปัดป้องว่าเราปฏิบัติแล้วมันเป็นปริยัติ มันจะทำให้เราเลิก เราล้ม ถึงบอกว่าอันไหนแค่ไหนมันเป็นปฏิบัติ แค่ไหนมันเป็นปริยัติ แต่ถ้าว่าบอกว่าปริยัติไม่มีเลย ไม่ได้! ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องยอมรับปริยัติมีอยู่ แล้วเราจับปริยัติเข้ามาก่อน แล้วเราก้าวเดินขึ้นไปจนเป็นสมบัติส่วนตน ไก่กับไข่ ไก่...มีไก่แล้วเดี๋ยวมันออกไข่ ถ้าไม่มีไข่เลย มันก็ไม่มีไก่ ปริยัติ ปฏิบัติ ถึงว่าไก่กับไข่ เราไม่ได้ปฏิเสธปริยัติ ต้องยึดไว้
แต่จะบอกว่าปฏิบัติแล้ว อย่างนี้เป็นปริยัติ ให้มันรู้จำเพาะตนๆ เรารู้ของเรา เราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ทำไมพระสารีบุตรไม่เชื่อ อาจารย์ยังบอกเลย แม้ต่อหน้าก็ไม่ถาม แต่เวลาสื่อกัน สื่อได้ สื่ออย่างที่ว่านี่ ออกจากป่ามาสื่อกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นั่นหลักของศาสนามันอยู่ตรงนั้น มันต้องยอมรับหลักความจริงสิ ไม่ได้ปฏิเสธหลักไปว่า ทุกอย่างนี้ภาวนาเป็นขันธ์ ๕ พิจารณาจิตนี้เป็นปริยัติ พิจารณาจิต ต่อไปนี้เป็นพิจารณาจิต เพราะพิจารณากายแบบว่ามันฝืน พิจารณากายมันเข้าไม่ได้ พอพิจารณาจิตก็ต้องแยกเป็นขันธ์ แยกเป็นขันธ์ ถ้าไม่แยกเป็นขันธ์ จิต...จิตนี้เหมือนกับท่อนซุง ท่อนซุงเหมือนกับเกลียวเชือก ๕ เกลียวฟั่นเข้าไป ท่อนซุงทั้งท่อน ใครจะแบกไหว เห็นไหม
ถ้าท่อนซุงซอยออกมาเป็นไม้แผ่น ไม้ปลีก ไม้ปลีกแต่ละชิ้นแต่ละอัน เราสามารถแบกของเราไปได้ เรางัดเราเอาไปได้ ความคิดก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นจิตทั้งดวง มันเหนือเรา มันมีอำนาจเหนือทุกอย่าง ถ้าเราแยกเป็นขันธ์ ๕ อันไหนเป็นรูปร่างของจิตนี่สำคัญมากเลย ที่จับตัวมันได้ นี่คือรูปของจิต อันไหนเป็นสัญญา สัญญาคือความพอใจหรือไม่พอใจ อันไหนเป็นสังขาร อันไหนเป็นสัญญา อันไหนเป็นสังขาร อันไหนเป็นวิญญาณ พอแยกออกมันก็เหมือนเราซอยออกเป็นชิ้นๆๆ ออกไป เราก็สามารถที่จะดีดไป ยกไป เบี่ยงไป ให้ท่อนซุงนี้เอาไปทั้งหมดได้ทั้งท่อนได้
มันถึงจำเป็นต้องใช้คำว่าขันธ์ ๕ เข้าไปแยกไอ้อารมณ์ของเรา อารมณ์ของเรานี่ อารมณ์ทั้งอารมณ์นี้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร นี่สัญญามันเกิดขึ้นมาอย่างไร มันดับไปอย่างไร แล้วอะไรไปทำให้มันขับเคลื่อนอารมณ์นี่ แล้วความรู้สึก จิตที่ให้อารมณ์หมุนไปมันเป็นอย่างไร แล้วมันครบองค์ของอารมณ์นี่มันเป็นอย่างไร นี่พิจารณาจิต ถึงการจับได้แล้วมันจะเป็นปริยัติหรือไม่เป็นปริยัติ มันสำคัญที่จับได้จับไม่ได้ ถ้าจับไม่ได้นะ พิจารณาอย่างไรมันก็พิจารณาไม่ได้ มันก้าวเดินไปไม่ได้ มันไม่มีเหตุไม่มีผล รถไม่มีน้ำมันให้ติดเครื่อง ติดจนตายมันก็ไม่ติด ถ้ารถเติมน้ำมันเต็ม มันสามารถติดเครื่องได้
จิตเหมือนกัน ถ้าสามารถจับอาการภาวนา วิปัสสนานี่ จิตจับจิตได้มันเหมือนน้ำมันเต็มคันรถ มันจะเคลื่อนหมุนไปทันทีเลย ที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ มันจะพร้อมไปตลอด แล้วมันจะเคลื่อนไป ความเคลื่อนไปนั้นเป็นภาคปฏิบัติล้วนๆ มันจะเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมาไง จากสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา จินตนาการ เห็นไหม ปริยัติทั้งนั้น แต่ภาวนามยปัญญานี้ไม่ใช่ปริยัติ มันเกิดขึ้นจากจิต มันเป็นมัคคะอริยสัจจัง เกิดขึ้นจากจิตชำระจิตได้ ถ้าไม่มีตัวนี้เกิดขึ้นมา ไม่สามารถชำระได้ อันนั้นถือว่าเป็นปริยัติล้วนๆ ถึงว่าเป็นพีระมิดหงายไง หงายขึ้นมาเลย ส่วนยอดนิดเดียว ว่าจะทำให้ได้ แล้วก็คลอนแคลนๆๆ ไป แล้วว่าง... ว่าง... ว่างพูดไม่ได้ เป็นผล ผลที่พูดไม่ได้ ห้ามพูดนะ มันสูงส่ง มันสูงมาก เอามาสื่อกันไม่ได้ มรรคผลนิพพานนี่พูดไม่ได้
พูดไม่ได้ทำไมครูบาอาจารย์... เห็นไหม ในหยดน้ำบนใบบัว อาจารย์มหาบัวไปกราบหลวงปู่แหวน จับไว้บนหัวเลย ทำไมสื่อกันไม่ได้ มันซึ้งขนาดนั้น อาจารย์จวนไปถามหลวงปู่ขาว พอพูดเสร็จจับขาหลวงปู่ขาวลูบหัวนะ ลูบหัวแล้วลูบหัวอีก ทั้งๆ ที่ธรรมะเสมอกัน แต่ความเคารพมันสื่อออกมาด้วยธรรม อันนั้นมันซึ้งใจ จับเท้านี่ลูบหัวๆ เลย ทำไมจะสื่อไม่ได้ นั่นน่ะสื่อกัน นั่นน่ะธรรมะสื่อกัน ธรรมะสื่อกันถึงเป็นธรรมไง เราถึงว่าเราต้องเชื่อธรรม เชื่อครูบาอาจารย์ สิ่งที่เขาจะติว่าปริยัติเขาไม่เชื่อนั้นเรื่องของเขา ปล่อยเขาไปๆ ในเมื่อมันเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนั้น