เทศน์เช้า

รู้ก่อนหรือเห็นก่อน

๑ ต.ค. ๒๕๔๒

 

รู้ก่อนหรือเห็นก่อน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

การประพฤติปฏิบัติต้องรู้ก่อนค่อยปฏิบัติ รู้ก่อนหรือเห็นก่อน? การประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่ศึกษาก่อน ตามที่อภิธรรมว่า ต้องศึกษาก่อน ถ้าไม่ศึกษาก่อน การปฏิบัตินั้นไม่เป็นการปฏิบัติ การปฏิบัตินั้นสักแต่ว่า ถ้าอย่างของเราว่า การปฏิบัตินั้นเป็นโลกียะ แต่การปฏิบัตินั้นเป็นโลกุตตระนี่คนละเรื่อง

แต่ความรู้ก่อนกับความเห็นก่อน เห็นไหม ความรู้ก่อน ทำไมต้องรู้? รู้ก่อน ถ้ารู้โดยธรรมชาติ เราก็ศึกษากันแล้วว่ารู้ แต่ในความเห็นของเขา เขาต้องให้รู้จนจบสิ้นไง รู้จนไม่มีความอยาก รู้จนรู้สภาวธรรม พอรู้สภาวธรรมแล้วถึงเข้าใจสภาวะตามความเป็นจริง แล้วการปฏิบัติไปก็ต้องรอ รอความสะสมไป ไม่ใช่หวังผล

แต่หลวงปู่มั่นสอนพวกมูเซอ “พุทโธหายว่ะ พุทโธเราหาย ให้ช่วยหาพุทโธของเรา”

มูเซอ คนที่เป็นมูเซอเขามีความรู้อะไรมา คนที่เป็นมูเซออยู่ในป่าในเขา เขาศึกษาธรรมะอะไรมา เขาก็อยู่เป็นชาวเขาของเขา แต่หลวงปู่มั่นสอนว่า “พุทโธหาย ช่วยหาพุทโธให้หน่อย” เขาก็ไปหาพุทโธกัน กำหนดพุทโธๆๆ เข้าไป จนใจนี้สว่างหมดเลย หันกลับมาดูหลวงปู่มั่นเป็นดวงใสสะอาดมาก กลับมากราบหลวงปู่มั่น “ตุ๊โกหก พุทโธตุ๊ไม่เคยหาย พุทโธตุ๊สว่างไสว พุทโธตุ๊สว่างมาก พุทโธตุ๊ครอบ ๓ โลกธาตุ” นี่มันยืนยันที่ว่า รู้ก่อนหรือเห็นก่อน

ความเห็นของชาวเขาเขาเห็นการปฏิบัติจริง เขาไม่มีความรู้อะไรเลย แต่ทำไมเขาปฏิบัติเข้าไปแล้วเขาเห็นตามความเป็นจริง คือว่าจิตเขาสงบจนใจเขาสว่างไปหมดเลย จนมองออกมาเห็นดวงใจของหลวงปู่มั่นเป็นดวงใสสะอาด

“พุทโธของตุ๊ไม่ได้หาย แต่ตุ๊ฉลาดมาก ตุ๊สอนให้เขาหัดปฏิบัติ ตุ๊โกหก” แต่นี่เป็นอุบายให้เขาเข้ามาหาในการประพฤติปฏิบัติ พุทโธไม่ได้หาย แต่อุบายการสั่งสอนเขา ถึงการปฏิบัติ การเห็น ความเห็นมันต้องเห็นแปลกเข้าไป ให้ศึกษา รู้ขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่มาประพฤติปฏิบัติมันก็จะมีความเห็นต่างๆ กัน เพราะจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน มันสำคัญอยู่ที่ว่าผู้ชี้นำต่างหากล่ะ

“พุทโธตุ๊ไม่ได้หาย” แต่ตุ๊ใช้อุบายไง ใช้อุบายให้ชาวเขามาปฏิบัติเลย ให้เห็นขึ้นมาตามความเป็นจริง ให้เห็นก่อนแล้วรู้ตามทีหลัง เห็นแล้วถึงรู้ว่าพุทโธตุ๊ไม่ได้หาย พุทโธตุ๊สว่างไสว พุทโธตุ๊ครอบ ๓ โลกธาตุต่างหาก เห็นไหม ไม่ได้หาย แต่เป็นอุบาย เป็นผู้รู้ชี้นำเข้ามา นี่การประพฤติปฏิบัติ

แต่ส่วนใหญ่ที่ประพฤติปฏิบัติกันมันไม่ใช่ประพฤติปฏิบัติตามผู้รู้จริงนี่นา ตามผู้รู้จริงตามผู้สอนจริง มันประพฤติปฏิบัติตามไสยศาสตร์ การเพ่งกสิณ เขาว่าเพ่งกสิณ เพ่งเทียน เพ่งอะไร จนใจนั้นตกหายไป แล้วใจนั้นเป็นวิปลาสไป อันนั้นเริ่มต้นก็ผิด เริ่มต้นเป็นการเพ่งกสิณ การทำฌานสมาบัติ มันทำให้ใจนี้มีพลังงาน จิตนี้มีพลังงาน จิตนี้รู้วาระจิต เป็นอภิญญา ๖ กาฬเทวิล ขนาดว่าปฏิบัติจนรู้วาระจิตนะ การเกิดและการตายของมนุษย์ได้อย่างละ ๔๐ ชาติ แต่ไม่เจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่บนพรหม ฟังสิ เขาอยู่บนพรหมนะ พระพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ จนพวกเทวดาเขาร่ำลือกัน อยู่บนพรหมต้องลงมาดู ลงมาเลยนะ เป็นเพื่อนกับพระเจ้าสุทโธทนะ พ่อของพระพุทธเจ้า เป็นพ่อของเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วเขาเป็นเพื่อนกัน

เขาเป็นอะไร? เขาก็ต้องเป็นมนุษย์ใช่ไหม เป็นมนุษย์ในสมัยนั้นน่ะ แต่เขาประพฤติปฏิบัติจนเขาออกไปอยู่บนพรหมได้ นั่นน่ะ ฌานสมาบัติมันทำให้ส่งออกไปในการเคลื่อนไหว ในอภิญญา ๖ อภิญญา ๖ นั้นมันไม่ได้ชำระกิเลส การที่ไม่ได้ชำระกิเลสมันก็ไม่ใช่มรรค

ถ้าผู้รู้จริงเขาจะไม่สอนอย่างนั้น การเพ่งกสิณ การเพ่งสี การเพ่งอะไรกัน เพ่งให้จิตสงบ มันเป็นคนที่ว่าผู้ที่มีฤทธิ์มีเดช คือว่าพวกทหาร พวกที่สะสมมา พวกนักรบในโบราณกาลสะสมบารมีมา เขาชอบเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช แต่ต้องให้เข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ สัมมา ฌานก็เป็นสัมมา เพราะจิตมันสงบแล้วให้ย้อนกลับเข้ามา ต้องครูบาอาจารย์ที่คุมได้ไง ผู้รู้จริงสอน เห็นไหม ผู้รู้จริงสอน สอนเพื่อการชำระกิเลส ไม่ใช่สอนให้เป็นผู้วิเศษ ผู้วิเศษคือการรู้

ทีนี้ คนที่ผู้วิเศษตั้งตัวเป็นอาจารย์ เป็นผู้วิเศษ เป็นการรู้อดีตอนาคต แต่การรู้อดีตอนาคตมันไม่ได้ชำระกิเลส ก็เลยสอนกันอย่างนั้น สอนว่าการเพ่ง การรู้ อยากรู้ก่อน เห็นไหม รู้ก่อนหรือเห็นก่อน ความรู้ การศึกษานั้นมันผิด การศึกษาในการวิธีประพฤติปฏิบัติ การเพ่งกสิณนั้น การเพ่งกสิณน่ะถูก แต่เวลาเพ่งกสิณออกไปแล้ว จิตมันเกิดขึ้น ไม่มีคนชี้นำ นี่จิตที่คึก จิตที่คะนอง จิตที่มีฤทธิ์มีเดชในหัวใจนั้นมันต้องอาศัยครูที่ถึงกันไง ควาญช้างกับช้างมันจะไปด้วยกัน

ถึงว่าเป็นอำนาจวาสนาของผู้ที่เกิดมาในยุคของหลวงปู่มั่น แล้ววางลูกศิษย์ไว้เป็นเสต็ปมา ลูกศิษย์เป็นแต่ละองค์ๆ มา มีความรู้ความเท่าทันกิเลส ความบิดเบือนว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ ผู้วิเศษ ความรู้ต่าง ความรู้เห็นไปในโลก ความรู้เห็นไปในนรกสวรรค์ อันนั้นมันเป็นการเพิ่มกิเลส เป็นผู้วิเศษว่าตัวเองรู้เหนือมนุษย์ไง

ความรู้เหนือมนุษย์เกิดจากอะไร? เกิดจากกสิณ เกิดจากใจที่จิตสงบออกไป จิตสงบออกไปแล้วมันพุ่งออก เห็นไหม นี่เขาโทษว่าตรงนี้เป็นการปฏิบัติผิดไง แต่มันเป็นการปฏิบัติที่เข้าไปเห็นจริงตามความเป็นจริง แต่ไม่มีผู้รู้ควบคุม คืออาจารย์สอนไม่ถูก แต่ไม่ใช่เป้าหมายของหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นสอนให้กำหนดพุทโธๆ แม้แต่ชาวเขาไม่มีความรู้อะไรเลย ทำไมจิตของเขาสงบได้ ชาวเขาเป็นมูเซออยู่ในป่า ประกอบอาชีพด้วยธรรมชาติอยู่ในเขาของเขา แล้วเป็นผู้เฒ่าด้วย ทำไมเขาเห็นได้ เห็นไหม เพราะว่าครูอาจารย์สอนจริง ครูอาจารย์เขารู้จริง แล้วเขาวางไว้ครอบคลุมได้จริง การศึกษาและปฏิบัติจริงมันก็เห็นจริง

แต่การศึกษาไม่จริง การศึกษาแบบผู้วิเศษ แล้วจะให้มันรู้จริงแบบอย่างนั้นได้อย่างไร การศึกษามันไม่จริง การศึกษานี่รู้แบบผู้วิเศษ ไม่ใช่รู้แบบมัคคะอริยสัจจัง นี่ว่ารู้ก่อนหรือเห็นก่อน ความเห็นแบบชาวเขาเขาเห็น เขาเห็นแล้วเขาก็ซึ้งใจ ขนาดเขาซึ้งใจที่ว่ารู้จริงแล้วขนาดว่าอาจารย์ก็ยังปิดเขาไม่ได้ เห็นไหม “ตุ๊โกหก พุทโธตุ๊ไม่ได้หาย พุทโธตุ๊สว่างไสว พุทโธตุ๊ครอบ ๓ โลกธาตุ” เห็นแล้วรู้ รู้แล้วยืนยันกับผู้ที่สอน ผู้ที่สอนก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริง

เห็นแล้วรู้ตาม กับ รู้ก่อน คือว่าต้องศึกษาก่อน ต้องให้รู้เรื่องสภาวธรรมทั้งหมด แล้วมาปฏิบัติ มันก็จะเป็นอย่างนี้อีกเหมือนกัน พอเริ่มเข้าปฏิบัติคือเริ่มเข้าไปในพื้นที่ไง การรู้มันรู้ในแผนที่ แต่การเข้าไปในพื้นที่ พอการเข้าไปในพื้นที่ ในพื้นที่ทุกที่มันต้องต่างจากแผนที่ทั้งหมด ความละเอียดในพื้นที่นั้น สิ่งที่ว่าพื้นที่นั้นเขียนไว้ละเอียดเท่ากับความเป็นจริง แน่นอน

ฉะนั้น พอปฏิบัติเข้าไปแล้วมันก็จะต้องไปประสบสภาวะอย่างนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าตัวเองมันไม่เข้า เรียบเรียงแผนที่แล้วเอาแผนที่มาเถียงกันไง เอาแผนที่มากางแล้วก็เถียงกันเรื่องของแผนที่ คือว่าสภาวธรม สภาวะตามความเป็นจริง แล้วตามสภาวธรรมความเป็นจริง ต้องรู้ธรรมจริง รู้ในปัจจุบันธรรม แล้วสะสมไปนะ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วจะรู้จริงนะ ต้องสะสมไป รู้ไป ค่อยๆ รู้ไป สะสมไปชาติหน้า ไปอีก ๕๐๐ ชาติ

ถึงว่า ปฏิบัติไม่หวังผลไง หวังผลไม่ได้ หวังผลนั้นเป็นกิเลส การหวังผลอันนั้นเป็นตัณหา เป็นความทะยานอยาก เห็นไหม เขาว่าอย่างนั้นนะ นี่รู้ในอะไร รู้ในการไม่รู้ รู้ในการปฏิเสธผลนั้นว่าให้สะสมไป มันถึงว่าไม่ได้เข้าไปประสบ พอไม่เข้าไปประสบ มันก็เลยไม่มีใครไปเห็นของจริง ไม่มีใครเคยเข้าไปสภาวะการตกใจ การว่าวิปลาสไป แต่การปฏิบัติแล้วว่าวิปลาส วิปลาสต้องย้อนกลับมาดูว่าใครเป็นคนสอน อาจารย์สอนเข้าไปทำความสงบหรือสอนเข้าไปในนรกสวรรค์ ถ้าอาจารย์ที่ผิดนั้นก็ไม่ใช่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าแล้ว

ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า มัคคะอริยสัจจัง ทำความสงบมาให้เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิแล้วยกขึ้นเป็นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนา ถึงว่าเป็นวิปัสสนาญาณออกไป ทำสมถกรรมฐานก่อนเพื่อให้จิตสงบ “พุทโธผ่องใส พุทโธสว่างไสว” นั่นน่ะ ความสงบเกิดขึ้น แล้วย้อนกลับมาดูกาย เวทนา จิต ธรรม อันนี้ต่างหากถึงเป็นการปฏิบัติตรงในการกำหนดสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน

ไม่ใช่ว่าไปรู้ไปดู เพ่งเทียนแล้วตกใจแล้วจะมาโทษว่าอันนี้เป็นการครูบาอาจารย์สอนผิดวิปลาสไป ความวิปลาสนั้นเพราะว่าเจอคนสอน อาจารย์สอนนั้นควบคุมไม่ถูกต้อง อาจารย์ไม่รู้จริง อาจารย์ก็ไม่เคยเข้าใจว่าอะไรแก้กิเลส อะไรเพิ่มกิเลส การปฏิบัติเพื่อเพิ่มกิเลส อยากเห็นนรก อยากเห็นสวรรค์ เห็นไหม ปฏิบัติเพื่อเอากิเลสมาใส่ตัวเอง

ถึงบอกว่า รู้ในสิ่งที่ผิด ถึงบอก ถ้าไม่รู้อะไรเลย รู้พุทโธๆๆ กำหนดพุทโธเข้าไปเลยยังดีกว่า เห็นก่อนแล้วรู้ตามไง เห็นแล้วก็รู้ไปด้วย อย่างชาวเขาเขาเห็นหมด เขารู้หมด ขนาดต่อว่าได้เลยว่า “ของตุ๊ไม่ได้หาย ตุ๊โกหกนี่ ตุ๊โกหก” แต่นี่เขาพูดตามซื่อ ตามความจริงของเขา

แล้วผู้สอนนี่มีอะไรไปยันเขา? ก็ต้องหัวเราะ หัวเราะเพราะอะไร เพราะอันนี้คือผลงานความที่เขาเห็นจริง คือเป้าหมายอยากให้เขาเห็นจริง แล้วเขาก็เห็นจริงแล้ว เห็นจริงแล้วเขาก็มายืนยันได้ตามความเป็นจริงว่าของตุ๊ไม่ได้หาย เห็นไหม เห็นแล้วรู้ตาม เป็นความจริงมากกว่า เป็นการปฏิบัติที่สมควร

ถึงว่า ต้องอาศัยความเพียร ความพยายามตั้งใจ ความเพียร ความพยายามของตัวเข้าไป ความมุมานะ อันนี้สำคัญมากนะ เหตุให้พอเถิด อย่าไปลังเลสงสัย อย่าไปเชื่อ อย่าไปฟังว่าเราไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เราจะปฏิบัติไม่ได้ เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ก่อน อันนั้นวางไว้ เรามีความมุมานะ ความเพียรให้พอ เร่งเข้าไปๆ แล้วมันจะเห็นไปตามความเป็นจริงเลย เห็นไปตามความเป็นจริงว่าตัวเองเข้าไปประสบ มีเหตุการณ์อะไรขัดข้องแล้วค่อยแก้กันไปเป็นเปาะๆ นี่เข้าประสบสงครามต่อหน้า แล้วมันจะเข้าไปเห็นว่า “พุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใส” เห็นในใจของตัวเอง อันนั้นถึงจะเป็นความจริงไง ถึงว่าจิตเห็นเลย ไม่ต้องลังเลสงสัย

ตั้งใจ ตั้งใจทำให้ได้ ตั้งใจแล้วมันจะเป็นสมบัติส่วนตนไง