เทศน์เช้า

ใจยิ่งล้างยิ่งมี

๑๖ ต.ค. ๒๕๔๒

 

ใจยิ่งล้างยิ่งมี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ต้องหาธรรมะในตัว ในตัวเราไง หาข้างนอกมันก็หาข้างนอก หาเครื่องอยู่อาศัยปัจจัย ๔ ทั้งนั้นแหละ พระพุทธเจ้ายังบอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนชี้ทางเท่านั้น ผู้ที่ปฏิบัติคือเราไง ผู้ที่จะเข้าถึงธรรมนั้นต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติขวนขวายเอง

ดูอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์นะ เครื่องคอมพิวเตอร์เวลามันมีข้อมูล คีย์มันก็ออกมาแล้วเวลาไวรัสเข้าไปทำลายข้อมูล ทำลายข้อมูลมันก็หมดไปเลยใช่ไหม นี่วัตถุเป็นอย่างนั้นน่ะ เราเห็นว่าการทำลายกิเลสแล้วมันจะไม่มีเลยไง มันเข้าไปทำลายหมด แต่ความจริงมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความจริง เห็นไหม มันเข้าไปทำลายแล้วมันยังมีเหลืออยู่ไง นี่มันถึงว่ามันสื่อกันยากตรงนี้

อย่างคอมพิวเตอร์มันมีโปรแกรมใช่ไหม พอเขาทำไวรัสกัน เขาไปทำลายโปรแกรมนั้น พอหมดแล้วก็หมดกันไปเลย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเข้าไปภายในแล้วมันจะหมดเลยหรอ มันหมดไปเลยแล้วอะไรเป็นผู้ที่รับรู้อยู่ล่ะ มันทำลายความเคยใจ ทำลายความขัดข้องหมองใจ แต่กิริยาความรับรู้ ขันธ์มีอยู่ครบเลย คือทำลายแล้วมีไง ไม่ได้ทำลายแล้วหมด

ถ้าเป็นทางวัตถุ เห็นไหม สิ่งใดทำลายแล้วสิ่งนั้นต้องว่างหมดๆ เราก็จินตนาการว่ามันจะหมดไปๆ แต่ถ้าทำลายกิเลส ขันธ์มันยังอยู่ มันถึงว่า สอุปาทิเสสนิพพานกับอนุปาทิเสสนิพพาน สอุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่ยังเหลือเศษส่วนอยู่ พระอรหันต์ที่ยังมีขันธ์อยู่ อนุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่ตายไปแล้วไง ขันธ์ดับไปเลย

พระพุทธเจ้าถึงได้บอกเป็น ๒ อย่าง เห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ คือเวลาจะนิพพาน “อานนท์ เธอจงบอกนายจุนทะช่างทองนั้น ว่าอย่าปริวิตกไป” เพราะคนจะหาว่าฉันอาหารของนายจุนทะแล้วพระพุทธเจ้ามีภัย เหมือนว่าเป็นโรคเป็นภัยไง ถึงต้องกับมาทุกข์ยาก ให้บอกสั่งพระอานนท์ไว้เลย “การถวายอาหารพระพุทธเจ้าที่มีคุณมากมีอยู่ ๒ กาล กาลหนึ่งนางสุชาดาถวายพระพุทธเจ้าถึงสิ้นกิเลสนิพพาน อีกกาลหนึ่งฉันอาหารของนายจุนทะ ช่างทอง แล้วพระพุทธเจ้าถึงสิ้นขันธนิพพาน” นี่อาหารที่ถวายพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๒ กาลที่มีบุญกุศลมาก

กุศลหนึ่งเพราะฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วถึงซึ่งกิเลสนิพพาน หมดสิ้นกิเลสแต่ขันธ์ยังมีอยู่ ความจำได้ จำพระเจ้าสุทโธทนะได้ จำพระเจ้าพิมพิสารได้ เพราะพระเจ้าพิมพิสารบอกว่า “ถ้าได้ธรรมแล้วขอให้กลับมาสอนด้วย” นี่กลับไปบอกหมด เพราะนี่เป็นข้อมูลเดิมที่ว่าได้สัญญากันไว้ตั้งแต่ตอนที่พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะออกปฏิบัติอยู่ สัญญากันไว้พระพุทธเจ้าก็ไปปฏิบัติ ไปค้นคว้าอยู่ ๖ ปี แล้วย้อนกลับมาสอนพระเจ้าพิมพิสารจนเป็นพระโสดาบัน แล้วต้องกลับไปโปรดพ่อ เห็นไหม การจำเรื่องพ่อ เรื่องภรรยา เรื่องบุตร เห็นไหม ราหุล นั่นนะสัญญาทั้งหมดเลย นี่ขันธ์ ๕ ถึงบอกว่าทำลายแล้วยิ่งสะอาดยิ่งดี ยิ่งจำได้ยิ่งเมตตา เมตตาค้ำจุนโลก

ถึงบอกมันถึงต่างกันที่ว่าเราคาดหมายไง ว่าสิ่งใดก็แล้วแต่โดนทำลายไปแล้วจะหมดไปๆ มันหมดไปนั่นเป็นวัตถุ แต่ถ้าเป็นนามธรรมมันสะอาดขึ้นมาเฉยๆ แต่ความที่เป็นความจำ มันรับรู้เพราะมันเป็นขันธ์ ถึงว่าจิตนี้เสวยอารมณ์เป็นอาหาร จิตนี้เสวยความคิด นี่จิตเสวยไง จิตขึ้นมารับอารมณ์นี่เสวยอารมณ์ เสวยอารมณ์ก็ออกมาเป็นทุกข์ถ้าเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่

แต่นี่เสวยอารมณ์ อาจารย์ใช้คำว่า “จิตมันกระเพื่อมออกมารับรู้” จิตกระเพื่อมออกมารับรู้ มันออกมารับรู้ขันธ์ รับรู้เฉยๆ นี่เขาเรียกจิตกระเพื่อม มันไม่เสวย มันเป็นธรรมชาติของมันที่เป็นกระแสที่มันกระเพื่อมออกไป เห็นไหม เป็นกระแสที่กระเพื่อมออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วพอรับรู้แล้วก็ไม่มีความขัดเคืองใจไง แต่มีการวินิจฉัยว่าถูกผิดไง ถ้าถูกผิด เห็นไหม ตรงนี้คนมองไม่เห็นว่าทำไมครูบาอาจารย์บางองค์ถึงว่าโกรธมาก รุนแรงมาก เห็นไหม มันยิ่งเห็น

อย่างเช่น หมอ สังเกตได้ว่าหมอนี่จะเห็นเลยว่า ถ้าคนไข้คนนี้เป็นไข้แล้วไปกินของแสลงนี่ หมอจะขัดใจมากเลย หมอที่ว่าอันนี้เป็นไข้แล้วพยายามต้องให้กินของที่ว่ามันเป็นคุณประโยชน์ ถ้าผิดแล้วหมอจะโกรธมากเลย เพราะเขารู้

นี่เหมือนกัน ถ้ารู้จริงนะรู้แล้วนิ่ง รู้จริงจนเต็มความรู้นั่นน่ะ รู้แล้วไม่หวั่นไหวนั่นไง นี่นิ่ง แต่รับรู้หมดเลย กับที่ว่าไม่รู้อะไรเลย พอมาประสบแล้วไม่รับรู้อะไรเลย ว่างแบบไม่รู้อะไรเลยอย่างหนึ่ง ไม่รับรู้กับผู้ที่มีปัญญาใคร่ครวญจนเข้าใจทั้งหมดแล้วรู้ รับรู้ แล้ววางไว้ตามความเป็นจริงไม่ตื่นเต้นกับสิ่งนั้นไง เพราะอะไร เพราะไม่มีกิเลสให้ตื่นเต้น แต่จะออกมาชี้ถูกชี้ผิดเวลาสอนลูกศิษย์ลูกหา แล้วเวลาชี้ถูกชี้ผิดเหมือนกับกรรมการไง กรรมการเวลาแข่งกัน กรรมการไม่มีผลได้ผลเสียกับในเกมนั้น เกมนั้นคือกิเลสกับธรรมเท่านั้นที่จะต่อสู้กัน ลูกศิษย์ลูกหาทำผิดทำถูกกันโดยที่ไม่เข้าใจ แต่กรรมการมันชี้บอก

พระพุทธเจ้าถึงว่า “นาคิตะ ภิกษุพวกนั้นมาทำอะไรกัน ราวกับชาวประมงเขาหาปลากัน” ตอนนั้นพระนาคิตะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรจะมากราบพระพุทธเจ้า มาถึงกลางคืนกำลังเก็บที่นอน จัดที่นอนกันอยู่

“นาคิตะ ไปบอกเขาให้ไปให้หมดนะ ทำอย่างกับชาวประมงเขาหาปลากัน” มันหนวกหูไง กลางคืนพระพุทธเจ้ายังเอ็ดขนาดนั้นเวลาเอ็ด ทีนี้เวลาออกมาเป็นตำรา มันเป็นแง่บวกหมด นี่ไล่ไปจนพรหมมาดลใจนะ มาดลใจพระพุทธเจ้า เข้ามากราบพระพุทธเจ้าว่าภิกษุบวชใหม่ก็มีในหมู่นั้นน่ะ พระพุทธเจ้าไล่ไปทั้งหมดมันเสียหาย พระพุทธเจ้าให้ไปเรียกกลับมาใหม่ กลับมาเทศน์ อย่างนี้ก็มี

เวลาชี้ถูกชี้ผิด ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าไล่พระออกไปตั้งหลายที พระเข้ามามีปัญหาพระพุทธเจ้าไล่ออกไปๆ ทำโทษไง เพราะสิ่งนั้นยังไม่รู้อยู่แล้วค่อยแก้ไขทีหลังๆ ถ้าไม่มีการทำโทษเลย ครูไม่ชี้แนะไม่บอกกล่าวเลย ผู้ที่ปฏิบัติตามมันเป็นไปได้ยาก ที่ว่าทางที่จะเข้าไปนี่มันเป็นสิ่งที่ว่าเราจับต้องไม่ได้เลย นี่นามธรรมมันสำคัญขนาดนั้นนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้ว เราเป็นคนชี้บอกทาง แล้วคนจะก้าวไปถึงทางนั้นได้หรือไม่ได้ ชี้บอก คนที่บอกชี้อยู่ แต่คนก้าวเดินก้าวไปไม่ถึง คนก้าวเดินไม่สามารถก้าวเดินไปถึงก็ได้ คนบางคนก็ก้าวเดินไปถึงทางนั้นได้ บางคนชี้บอกแล้วไม่เดินเลยก็ไม่ถึงนิพพาน เห็นไหม ชี้บอกแล้วมีพระพุทธเจ้าอยู่ ไม่ใช่ชี้บอกแล้วเราจะก้าวถึงนั้นแล้วเราจะสัมผัสกับสิ่งนั้นจริง เราก็ต้องคาดหมายไป ชี้บอกแล้วต้องก้าวเดินตามความเป็นจริงจนถึงจุดนั้น พระสารีบุตรถึงบอกไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าบอกจริงอยู่ต้องไม่เชื่อเลย ถ้าถึงจุดนั้นแล้วมันเห็นเหมือนกัน ความจริงกับความเชื่อต่างกัน ต้องตีความตรงนี้ก่อนนะ

คำว่า “ไม่เชื่อ” หมายถึงว่า ความเชื่อนี้เราไม่เห็น เราศรัทธาเชื่อ เชื่อข่าว แต่เขาเป็นต้นเหตุของเรื่องเอง เป็นตัวต้นของข่าว ต่างกันไหม เราเป็นเหตุอันนั้นเองกับเราไปฟังเรื่องของคนอื่นมันต่างกัน ไม่เชื่อเพราะว่าความเชื่อกับความจริงมันคนละอย่างกัน ตีความตรงนี้ ไม่ใช่ไปตีความว่าเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ตีความว่าความเชื่อกับความจริงไม่เหมือนกัน ถึงบอกถ้าไม่เชื่อนี่ถูก เพราะเห็นจริง ไม่ใช่เชื่อเป็นความจริง ฉะนั้นเมื่อเข้าถึงจุดแล้วธรรมเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นว่ายิ่งชำระยิ่งมี ยิ่งชำระยิ่งมี มันมีตรงไหน มีตรงที่ว่าความคิดเป็นความคิดเดิม แต่ความคิดนี้เดิมโดนครอบไปด้วยกิเลส โดนครอบไปด้วยความเห็นแก่ตัว ความที่ว่าควรเป็นอย่างนั้น ควรเป็นอย่างนี้ นี่ตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาถึงมี ๓ ไง สิ่งที่มีอยู่ปฏิเสธ สิ่งที่ไม่มี อยากให้มี เห็นไหม ผิดหมดเลย แล้วก็ตัณหาเฉยๆ นี่ตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาคุมอยู่เฉยๆ นั้นน่ะ ก็ตัณหาอยู่ ไอ้ตรงนี้มันครอบความคิดที่ว่าไม่ให้ไปคิดได้อิสรเสรีของมัน มันถึงว่ายิ่งชำระ ยิ่งสะอาด ยิ่งกว้างขวาง ยิ่งรู้มากเข้าไปอีก

แม้แต่ไตรภพ สามโลกธาตุนี่ไม่สามารถปิดบังใจที่บริสุทธิ์นั้นได้เลย ใจที่บริสุทธิ์ไปได้หมด นี่ถึงว่าความคิดในกรงขังคือความคิดในขันธ์ ๕ เห็นไหม ในขันธ์ ๕ คือสังขาร ขันธ์ ๕ มันเป็นความคิดที่เราเล่าเรียนมา ความศึกษาเล่าเรียนมามันเป็นเท่านี้เอง

แต่ถ้าความคิดด้วยญาณ มันไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันไปด้วยความรู้สึกภาษาใจ มันไปได้สามโลกธาตุเลย มันไปได้หมดแล้วสื่อได้หมดเลย นี่ยิ่งชำระมันยิ่งสะอาดมากแล้วมีมาก รู้มาก รู้แล้วไม่หวั่นไหว บอกว่าผู้รู้ รู้จริงแล้วนิ่งอยู่

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า” พระอริยเจ้ารู้แล้วไม่พูดเพราะมันพูดไม่ได้ คอมพิวเตอร์ไหนโดนไวรัสเข้าไปทำลายหมดแล้ว ข้อมูลมันยังสะอาดหมด นี่มันต่างกันไง มันมีอยู่อย่างนั้น ความนิ่งอยู่อันนั้นอย่างหนึ่ง กับความนิ่งอยู่ของความไม่รู้เลย นิ่งอยู่เฉยๆ ว่างอยู่เฉยๆ ไง แต่ไม่รู้อะไรเลย แต่เป็นความว่าง รู้ในความว่างนั้น แต่ไม่รู้ความเป็นจริงที่ว่าการก้าวเดินไปของมัคคะ การที่จิตมันวิปัสสนาแล้วมันยกขึ้นถึง จะไม่พูดถึงความเป็นสมุจเฉทปหาน มันต้องยกขึ้นเป็นตทังคปหานไปๆ จนเป็นสมุจเฉทปหาน

พอสมุจเฉทปหานไปเห็นสิ่งที่ขาดออกไปๆ ความสกปรกของใจขาดออกไปคือกิเลส แต่สิ่งที่ซักอยู่ ของสกปรกติดที่เสื้อผ้า ซักออกไปแล้วสิ่งสกปรกหลุดออกไป แต่เหลือเสื้อผ้าอยู่คงที่ แล้วสะอาดขึ้นๆ กลิ่นหอมขึ้นๆ ใจก็เป็นแบบนั้น แล้วถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ ไม่มีธรรมของพระพุทธเจ้าชี้นำแล้วมันจะไปไหนล่ะ นี่ความเข้าใจของโลกไง ถึงว่าโลกกับธรรมถึงไม่เหมือนกัน ความเห็นของโลกก็ไม่เหมือนกับความเห็นของธรรม

ความเห็นของโลกก็อยู่แต่ในโลกนี่ เพราะโลกมันมีความเห็นเฉพาะปัจจุบันนี้ไง พยายามพัฒนาขึ้นไป ส่งขึ้นไป แต่ก็เป็นความแปรสภาพไปของสิ่งที่ว่าสิ่งหนึ่งหายไป ไปเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา พัฒนาเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา แต่ของกรรมล่ะ เรื่องของกรรม “ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว” กรรมมันไม่ใช่ว่ามีเฉพาะกรรมตรงนี้ไง สูตรสำเร็จมันถึงไม่มี เห็นไหม กรรมนี้ถึงเป็นอจินไตย อจินไตย ๔ กรรมนี้เป็นอจินไตย มันซับมาของเก่าก็มี ของเก่ามา นี่มันมาไม่ได้

จูฬปันถกอยู่กับพี่ชาย พี่ชายไม่สามารถรู้กรรมของจูฬปันถกได้ ไล่ให้ไปสึกเลย พระพุทธเจ้าบอกว่า

“จูฬปันถก มานี่ๆ เธอบวชเพื่อใคร”

“บวชเพื่อพระพุทธเจ้า”

ให้ลูบผ้าขาว “ผ้านี่ขาวหนอๆ” เห็นไหม พอพูดขาวหนอๆ มือลูบไปๆ ผ้านั้นขาวอยู่มีเหงื่อไคลมันต้องดำไป พอดำไปนี่เห็นผ้าขาวนั้นมันสกปรก ความสลดว่าผ้าขาวนั้นสกปรกเพราะใคร เพราะมือของเรา เพราะตัวเรา ตัวเรานี้มันสกปรกขนาดนี้หรือ สิ่งที่ว่ายึดมั่นถือมั่นว่ามันสะอาด เป็นเรา ของที่เป็นเราต้องประเสริฐที่สุด ทำไมมันสกปรกขนาดนี้ ทิ้งผลัวะเลย

ตรงนี้มันยกเข้าไปที่กรรมเก่าไง เขาไปถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมมันตรงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอก เพราะในอดีตชาติ ชาติหนึ่งเคยเป็นกษัตริย์ตรวจพลสวนสนาม เป็นกษัตริย์อยู่ ตรวจพล รถม้ามันวิ่งไปฝุ่นมันกระจายไป มันเลอะหน้า เอาผ้าขาวนี้เช็ดหน้า ความที่ว่าเป็นกษัตริย์เป็นผู้ที่สะอาดมาก เป็นคนที่ชาตินี้สมบูรณ์มาก พอเห็นผ้าขาวนี้ ผ้าเช็ดหน้านี้มันสกปรกด้วยเหงื่อไคล มันสลดสังเวชไง แต่สลดสังเวชตอนนั้นมันก็เป็นบุญกุศล แค่เห็นความสลดสังเวช เห็นกายภายนอก เห็นกายนี่มันซับลงที่ใจ ความฝังใจอันนั้นอยู่ชาติหนึ่ง นี่บารมีมันเกิดขึ้นตรงนั้น แล้วพระพุทธเจ้าย้อนกลับไป นี่กรรมมันตรงกันไง

ถึงว่า ถ้าเราเกิดเจอพระพุทธเจ้า เราจะมีโอกาสตรงนี้มาก ตรงที่พระพุทธเจ้าจะรู้ถึงว่าเราสมควรจะประพฤติปฏิบัติแบบใด แต่ขณะปัจจุบันนี้เราเกิดพบพระพุทธเจ้าด้วยนามธรรมไง ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา ธรรมและวินัยนี้เป็นเครื่องชี้ทางให้เราเข้าไปได้อยู่ นี่เวไนยสัตว์ เวไนยสัตว์คือสัตว์ที่ควรจะบำรุง ควรจะขวนขวายขึ้นไป เราทำได้ อันนี้ทำได้วิชาการยังมีอยู่

เราเกิดมามีวาสนามาก ที่ว่าไม่ให้เชื่อเรื่องทางโลกไง ทางโลกสิ่งที่เป็นวัตถุนี่เขาต้องอธิบายเป็นวัตถุไปตลอด นี้ถ้าเป็นนามธรรมนี่มัน...อธิบายวัตถุเป็นบุคคลาธิษฐานให้เห็นภาพชัดไง ความที่ว่าเราต้องยกขึ้นมาเป็นวัตถุเพื่อจะสื่อกับพวกเรานี่ เราต้องยอมรับว่าพวกเราเรื่องนามธรรมเราไม่รู้ พอเราไม่รู้เราจะจินตนาการอย่างไร?

จินตนาการเหมือนสอนเด็ก พระพุทธเจ้าสอนเด็กๆ เลย สอนพวกเรานี่เป็นเด็กๆ สอนให้เห็นเป็นภาพเป็นวัตถุขึ้นมา แต่ภาพนั้นพอเข้าไปแล้ว อ๋อ! มันไม่ใช่ อ๋อ! เป็นความจริงไปอีกอย่างหนึ่ง อ๋อ! เป็นความจริง ถึงบางอ้อไปตลอด แล้วจะปล่อยไปตลอด ปล่อยไปได้ตลอด แล้วผู้นั้นถึงจะเป็นครูเป็นอาจารย์ของเราต่อไป ของพวกเรานะ เป็นผู้ชี้นำต่อไป

โลกกับธรรม ความเห็นของโลกเป็นอย่างหนึ่ง ความเห็นของธรรมเป็นอย่างหนึ่ง แต่อยู่ด้วยกัน ฉะนั้นความเห็นเวลาเรานักปฏิบัติคุยกันถึงว่าภูมิจิตภูมิธรรม คนเรามีความสูงความต่ำนี่ จะเถียงกันตรงนี้ไง พูดเป็นสมมุติ พูดเป็นบัญญัติ หรือพูดเป็นวิมุตติ พูดขั้นตอนไหนมันแปรสภาพได้หมดไง มันไม่เหมือนกันหรอก สิ่งเดียวจะพูดในฐานะอะไร

ถ้าเป็นวัตถุ รถนี่เป็นรถ สมมุติถ้าพูดบัญญัตินี่ธาตุ ๔ ดินทั้งหมดเลย สิ่งนี้ที่ต้องแปรสภาพไปหมด น้ำ พวกน้ำ ธาตุ ๔ แล้วถ้าเป็นวิมุตติล่ะ วิมุตตินี่ ของมันอยู่ในโลกนี้นะมันพ้นออกไป สิ่งนี้สมมุติบัญญัติแล้วพ้นออกไป พอพ้นออกไปโลกนี้มันไม่เกาะเกี่ยวไง แต่มันพ้นว่าสิ่งนี้เครื่องอาศัยในปัจจัย ๔ อาศัยไง เครื่องอาศัยของสิ่งที่อยู่ในภพของมนุษย์นี้ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)