เทศน์เช้า

เหตุจริง-ผลจริง

๕ ก.ย. ๒๕๔๒

 

เหตุจริง-ผลจริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถ้าของไม่จริง ความไม่จริงอันนั้น เห็นไหม เพราะมันถึงมาเจอว่าสถานที่นี้ดีมาก แล้วการประพฤติปฏิบัติต้องยกข้อวัตรให้สูงขึ้นมา ให้เทียบกับบ้านตาด ให้เทียบกับบ้านตาดได้ ยกขึ้นมานะ ความเป็นอยู่ของเขา เขาว่าที่นั่นโยมเขารับไม่ได้ เพราะว่าบิณฑบาตตลอด เห็นไหม

พูดถึงความจริง เวลาพูดนี่พูดออกมาได้ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติหรือว่าทำไป กาลเวลา นี่พระไตรปิฎกบอกเลย “การประพฤติปฏิบัติที่ต่อเนื่อง” ไง ความสม่ำเสมอ การต่อเนื่องมันถึงจะเป็นผล นี่มันไม่ต่อเนื่อง ใหม่ๆ พอเริ่มความคิดดีก็อยากจะเข้มข้น เวลาปฏิบัตินะเข้มข้นเลย แต่ไปไม่ถึงที่สุด พอไม่ถึงที่สุดเราก็ปล่อยวาง มันไม่ปล่อยวาง มันเข้าใจว่ามันปล่อย มันไม่ไหว แต่พูดได้อยู่ก็ยังพูดต่อไป แต่ทำไม่ได้ พอทำไม่ถึงตรงนั้นมันก็เลยไม่ได้ นี่ไฟไหม้ฟางไง มันไม่ปฏิบัติต่อเนื่อง มันไม่ต่อเนื่อง แต่ตัวเองไม่เข้าใจตรงนั้น

นี่มันถึงบอกว่าต้องย้อนกลับมาดูที่ใจของคนเลย ว่าความต่อเนื่อง ระยะยืน ยืนระยะใครยืนได้นานกว่ากัน การยืนระยะไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ มันเข้าถึงธรรมจนได้ แต่ยืนระยะไม่ได้ไง ปฏิบัติอยู่ เข้มอยู่ อยากให้เข้มอยู่ เข้มได้ชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าชั่วครั้งชั่วคราว แล้วถ้าเรารู้ตัวนะเราพยายามยืนให้นานออกไป แต่นี่ไม่รู้ตัว พูดแบบไม่รู้ตัวนะ ต้องให้เข้มขึ้นมาๆ ถึงบอกใจสำคัญมากเลย นี่ความจริงเข้ากับความจริง

ในเมื่อมันจริงส่วนหนึ่ง แล้วพอมันไปย่อหย่อน เริ่มต้นดี เหมือนกับวัตถุเลย พอเราซื้ออะไรมาใหม่มันยังสมบูรณ์อยู่ แล้วมันต้องเสื่อมสภาพไป แต่หัวใจข้างในมันก็กัดกร่อนไป แต่กัดกร่อนไปทำไมมันไม่มีอะไรทำให้มันสมบูรณ์ขึ้น พอเริ่มต้นเป็นศรัทธาใช่ไหม? ศรัทธาที่เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราศรัทธา แต่เราทำไปแล้ว ศรัทธาตัวนี้เราต้องกลมกล่อมให้มันขึ้นมาไง ให้มันเต็ม

เต็มขึ้นมันไม่ใช่เต็มขึ้นธรรมดานะ มันยังเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะเราปฏิบัติเข้าไปแล้วเราเห็นตามความเป็นจริงเข้าไป มันจะเกิดความดูดดื่ม เห็นไหม จากเริ่มเตาะแตะๆ ขึ้นไป มันจะก้าวเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา นี่ความจริง ใจที่มันเจริญเติบโตขึ้น วุฒิภาวะของใจมันสูงขึ้นๆ แต่นี่ไม่อย่างนั้น เหมือนวัตถุ หมายถึงว่าเวลาเราซื้อของอะไรที่ใหม่ออกมา นี่สมบูรณ์แบบที่สุด แล้วจะเสื่อมสภาพไป

ความเสื่อมสภาพไปมันเป็นอนิจจังอยู่แล้ว มันเป็นอนิจจังเพราะมันต้องเสื่อมสภาพไป นี่วัตถุ แต่ถ้าการปฏิบัติธรรมมันมีแต่เจริญขึ้น ความเจริญขึ้นนะ จิตเป็นสมาธิ จิตยกขึ้นวิปัสสนา การใคร่ครวญต่างๆ เห็นตามเข้าไป นี่มันเจริญขึ้น ความเจริญขึ้น เห็นไหม มันงอกงามขึ้นมาอีกด้วย จริงแล้วไม่จริงธรรมดานะ จริงงอกงามเข้าไป จนถึงเข้าไปเป็นความจริงคู่กับความจริง คือว่ามรรค ผล การประพฤติปฏิบัติมันเป็นสิ่งที่ว่าแก่นเลยล่ะ แก่นของศาสนา แก่นของความจริง ต้องของจริงเข้าไปจับของจริงไง ภาชนะเข้าไปใส่มันต้องสมควรแก่กัน

อาจารย์บอกว่า “ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะสัมผัสธรรมได้นอกจากหัวใจ” หัวใจเท่านั้น เป็นภาชนะที่จะใส่ธรรมได้ไง ธรรมมันสะเทือนหัวใจ เห็นไหม เวลาเราคิดอะไร มันเศร้าหมอง มันสะเทือน มันหดหู่ นี่ถ้าเป็นเราเราเห็นแล้วก็เป็นความทุกข์ แต่ถ้าเป็นพระกัสสปะ ตอนพระพุทธเจ้าจะนิพพาน พระกัสสปะสลดสังเวชไง ปลงธรรมสังเวช หัวใจมันเป็นธรรมมันเต็มเปี่ยมไปด้วยอยู่แล้ว แต่มันก็มีความสังเวช แต่สังเวชในธรรมไง

สังเวชในธรรม มันเห็นแล้ว เหมือนกับผู้ใหญ่เห็นเด็กเล่นขายของกัน มันเล่นไปได้ มันเป็นไปได้ แล้วทะเลาะเบาะแว้งกันนะ เวลาเด็กเล่นกัน เห็นไหม เด็กเล่นขายของกัน แล้วยื้อแย่งของกัน แล้วมันก็ทะเลาะกัน มันตีกัน มันจะยึดเป็นของของมันไง แล้วผู้ใหญ่มองดู ทำไมมันทะเลาะกันในเรื่องเล่นๆ นี่ก็เหมือนกัน ปลงธรรมสังเวชไง ใจที่เป็นธรรมล้นเปี่ยมไปแล้ว รู้อยู่ว่าวัฏวนมันเกิดแล้วต้องตายทั้งหมด

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ? สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมา สิ่งนั้นต้องแปรสภาพทั้งหมด แม้แต่ร่างกายตถาคตก็ต้องแปรในคืนนี้ไง คืนนี้ตถาคตจะต้องตายไปแล้วในคืนนี้”

พระอานนท์เข้าไปพยายามอาราธนาอยู่ “แม้แต่ร่างของตถาคตก็จะต้องแปรสภาพไป เราสอนเธอแล้วไม่ใช่หรือ? โลกนี้ความเป็นไป สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วต้องดับไป”

ต้องดับไป นี่เห็นตามความเป็นจริงไง ขนาดตัวเองจะเดินไปนิพพานนะ จะเดินไปตายในคืนนี้ ยังไปสอนสุภัททะได้อีกองค์หนึ่ง คนเราจะตายอยู่แล้ว ไอ้พวกเราจนเราจะตายต้องทุกข์ขนาดไหน? นี่ธรรมเต็มหัวใจไง

พระกัสสปะก็เหมือนกัน พระกัสสปะเป็นผู้ที่ควบคุมการเผาศพของพระพุทธเจ้า นี่ปลงธรรมสังเวชนะ เพราะอะไร? เพราะมันเห็นไง เห็นผู้ที่เศร้าโศกก็มี เห็นเทวดามาโปรยดอกไม้ เห็นเทวดามา เห็นพวกที่ว่ากำลังดีอกดีใจว่าจะไม่มีใครควบคุมไง นี่มันเห็นหมด มันยืนดูอยู่ เห็นไหม ผู้ที่มีใจเต็มเปี่ยมปลงธรรมสังเวช ปลงธรรมสังเวช มันถึงว่าใจนั้นเป็นพระอรหันต์มันจะบกพร่องไปตรงไหน? แต่ในเมื่อปลงธรรมสังเวช มันเห็นมันต้องทำขึ้นมาอีก

ถึงบอกว่าให้ทำสังคายนา เพื่อจะไม่ให้พระที่พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ไม่มีใครคอยติคอยว่า ให้ธรรมและวินัยนี้ควบคุมให้รัดเข้ามาเพื่อจะจรรโลงศาสนาไว้ไง ทั้งๆ ที่ว่าพ่อนะ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไป มันก็ต้องเฉา ต้องเหงาเป็นธรรมดาแหละ อยู่มาด้วยกันแล้วต้องพลัดพรากจากกันไป เห็นไหม เหงาเป็นธรรมดา แต่มองเป็นธรรมสังเวชไง ทำความเป็นจริง แล้วปลงธรรมสังเวช ไม่ใช่ทุกข์ยากไง

นี่มันถึงว่าใจไง เอาใจของเรามาสัมผัสกับสิ่งนี้สิ สิ่งที่ว่าเวลามันพรากออกไป พลัดพรากออกไป มันเหงา มันหงอย อันนี้เป็นทุกข์ แต่ธรรมสังเวชมันไม่ใช่อย่างนี้ มันเป็นวิเวกไง วิเวกกับวังเวง เราวังเวง เราเหงา เราเศร้าใจ แต่วิเวกนี่ อื้อฮือ มันสงัดเนาะ มันมีความสุขมาก มันวิเวก ใจมันวิเวก มันอยู่ในความสงบ มันมีแต่ความสุข เห็นไหม ความวิเวกกับความวังเวงของผู้มีกิเลสไง นี่ธรรมะสูงส่งขนาดนั้น การจะเข้าไปถึงมันถึงต้องบริสุทธิ์ไง

ความจริงถึงเข้าไปกับความจริงนั้น ความจริงจะเข้าไปสัมผัสกับความจริงของนิพพานนั้นเลย ว่าอย่างนั้นเลย นิพพานที่ว่าเป็นธรรมสูงส่งของศาสนาเรา เป็นเป้าหมายของศาสนาเรา คนจะเข้าถึงมันถึงต้องจริงตลอดไปไง ถ้าจริงครึ่งๆ กลางๆ จริงไม่ถึงมันก็เข้าไม่ถึง พอเข้าไม่ถึงมันก็จินตนาการเอา จินตนาการเอา เห็นไหม ขนาดว่าจิตสงบ พิจารณากายจนว่าปล่อยวางแล้วนะ ทำไมสึกออกไป? ถ้ามันสึกออกไปแล้วกลับมาบวชใหม่ซ้ำ แสดงว่าอันนั้นไม่จริงแล้ว

แต่เวลาพูดอยู่ เขาบอกว่านี่สึกออกไปแล้ว กลับมานี้จะทำให้ถึงที่สุดไง จะทำให้ครบสมบูรณ์ให้ถึงที่สุด แต่ในการปฏิบัติก็มาสมบูรณ์ข้างนอกไง มาเล่นกับโยม มาอะไรกับโยมข้างนอก แต่ความสมบูรณ์ภายใน ถ้าข้างในสมบูรณ์แล้วนะ ข้างในสมบูรณ์ มันถึงว่าข้างในสมบูรณ์ ออกมานี่เป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย เพราะมันจะไม่มีเรื่องอะไรเข้ามาแอบแฝง แต่ถ้ายังไม่สมบูรณ์ อะไรออกมามันจะมีแอบมีแฝงออกมา

นี่ในมุตโตทัยถึงบอกไง ว่าทองคำในร้านกับทองคำในดิน ทองคำในร้าน ทองคำที่เก็บไว้ใส่กล่องแล้ว ทองคำจะบริสุทธิ์ นี่ว่าเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ผู้ประพฤติปฏิบัติก็จะจรรโลงธรรมของพระพุทธเจ้า จะเผยแผ่ธรรมของพระพุทธเจ้า เห็นไหม แต่เผยแผ่โดยว่า ถ้าเป็นทองคำบริสุทธิ์อยู่ในกล่อง ในกำมะหยี่ มันเป็นทองคำบริสุทธิ์ หยิบออกมากำมะหยี่มันไม่ติดกับทองคำมาหรอก แต่ถ้าทองคำอยู่ในดิน ดินคือความเห็นของเรา ดินคือความไม่สะอาดบริสุทธิ์ของเรา มันเจือกับทองคำไปเรื่อยๆ เจือกับทองคำไปเรื่อยๆ จนดินนั้นปิดทองคำทั้งหมดไง ทองคำนี้เป็นแร่ธาตุที่มีส่วนน้อยไง ดินมันมีส่วนมาก ดินกลบเกลื่อนไปหมดเลย

นี่เผยแผ่ศาสนาไง ที่ว่าเผยแผ่ศาสนา เผยแผ่จรรโลงธรรมพระพุทธเจ้า ทีแรกก็ว่าเป็นธรรมพระพุทธเจ้าไปก่อนไง นี่มุตโตทัยข้อแรกเลย หลวงปู่มั่นเตือนไว้เลยนะ “ต้องทำตัวเองให้ได้ก่อน ทำทองคำนี้ให้บริสุทธิ์ก่อน แล้วให้ทองคำนี้จะเป็นประโยชน์ได้ทั้งหมดเลย” ถ้าทองคำนี้อยู่ในดิน เห็นไหม ก็เราว่าเราจรรโลงศาสนา เราสอนธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นเลย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น แต่ดินคือความเห็นของเรา มันปกคลุมไปด้วยดินปิดทองคำทั้งหมดเลย แล้วมันจะเป็นอย่างไรไป?

นี่ที่ว่าทำให้ถึงที่สุด ว่าจะทำให้ถึงที่สุด แต่ยอมรับอยู่นี่ เพราะบอกว่าจะทำถึงที่สุด แสดงว่าตัวเองยังไม่ถึงที่สุด ตัวเองยังมีดินอยู่ ยังมีดินพอกทองคำของธรรมอันนี้อยู่ ก็ต้องถากถางดินอันนี้ออกไป ต้องถากถางดิน ใครจะถากถางมันต้องเอาจอบ เอาเสียมขุดถากถางดินออกไปสิ นี่ถากถางออกไป ว่าจะถากถางออกไป แต่ออกไปข้างนอกไปถากถางที่ไหนก็ไม่รู้ ไปถากถางคนอื่นไม่ถากถางของตัวไง ไปถากถางของคนอื่น มันเลยเป็นความไม่จริง

เขาพูดจริง พูดได้ ถึงบอก เออ ถ้ามันไม่จริงมันก็.. มันมองเห็นนะ หนึ่งเพราะว่าฟังข่าวมาก่อนด้วย แล้วมองเห็นมันก็น่าคิดอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ฟังข่าวมาก่อนมันสงสาร ถ้าเราพูดว่าอยากจะถึงที่สุด อยากจะทำให้ได้ไง อยากจะถึงที่สุด อยากจะทำให้ครบ แล้วอันเก่านั้นก็ว่าทำมาแล้ว ได้อยู่กับครูบาอาจารย์มา พูดถึงครูบาอาจารย์มา สะสมธรรมของครูบาอาจารย์มา จะให้ตามความเป็นจริง ธรรมตามความเป็นจริงมันของจริงอยู่ ถ้าจิตนี้สัมผัสแล้ว จิตนี้สัมผัส จิตนี้รู้ธรรมอันนั้น เห็นไหม มันแน่น มันอาจหาญ มันจริงจังอยู่ในใจนั้น พอใจนั้นมันเป็นความคิดออกมา มันจะไม่มีความผิดพลาดเลย

ความผิดพลาด เห็นไหม ถ้ามันมีการกระทำก็คืออุบายนะ อุบายวิธีการสั่งสอนจะชักนำเข้ามา มันมีอ่อน มีเข้ม มีการอ่อนคือว่าสอนผู้ที่เริ่มต้นใหม่ก็ต้องอ่อน อ่อนอย่างนั้น ผู้เข้มงวดก็ว่าทำไมอันนี้เสื่อมไป? ไม่ใช่ นี่ถ้าผู้มีธรรมมันสมควรจะใช้หลักการอันไหน ผู้ที่เป็นผู้ใหม่ก็ต้องให้อ่อนไว้ก่อน จะเข้มขึ้นมากับผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นมาๆ จะเข้มขึ้นไปเรื่อยๆ เข้มขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะความจริงมันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องเข้มขึ้นไปเรื่อยๆ

ความเข้มอันนั้น ถ้าเราเอาความเข้มมาเทียบกับอันอ่อน เขาถึงบอกว่าอันนี้มันแปรปรวน ไม่ใช่แปรปรวน อันนี้ต่างหากเป็นหมอ เป็นยาไง ยาสมควรรักษาโรคชนิดไหน ใช้ยาอย่างนั้น รักษาโรคนั้นไง โรคบางอย่างจำเป็นหนักต้องหนัก จำเป็นเบาต้องเบา อันนี้ถึงว่ามันไม่ใช่การแปรปรวน อันนี้เป็นอุบายการสั่งสอน อุบายวิธีการของผู้มีธรรมจะสั่งสอน จะชักนำผู้ที่เข้ามาหาหลักธรรมอันนั้น มันต้องเริ่มต้นก้าวเดินจากนับหนึ่งขึ้นมาเรื่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ

นี่ภูมิจิตภูมิธรรมของใจถึงไม่เหมือนกันไง วุฒิภาวะของใจสูงต่ำต่างกัน มรรคหยาบ มรรคละเอียดมันต่างกัน ถึงว่าจำเป็นแค่ไหนสำหรับคนๆ นี้ไง คนๆ นี้อย่างนี้แล้วจะได้ประโยชน์ ถ้าเอาเข้มไว้ก่อนมันก็จะไม่ได้ประโยชน์ ถ้าเอาอ่อนเกินไปสำหรับคนเข้ม คนเข้มก็ไม่ได้ประโยชน์ คนเข้มก็เบื่อหน่าย คนที่เข้มแข็งขึ้นมาแล้ว คนที่มีหลักอยู่ในใจ เจอสิ่งที่ว่ามันเป็นสิ่งอ่อนแอขึ้นไปนี่ เห็นแล้วมันรับไม่ได้เหมือนกัน เขาต้องหลบไปเลย

อาจารย์มหาบัวบอก ตอนที่ปฏิบัติเข้มข้น อยู่กับใครไม่ได้เลย ต้องอยู่คนเดียว เพราะอยู่คนเดียวสมกับความเข้มข้นของตัวไง คนเดียวกับคนเดียว มันจริงกับจริง มันถึงจริงเข้าไปถึงหลักธรรมได้ไง พออยู่คนเดียวแล้วไม่มีใครเข้ามาเกาะเกี่ยวในอารมณ์ของตัว แล้วทุ่มเข้าไปเลย อดอาหาร เร่งความเพียรทั้งวันทั้งคืน อยู่อย่างนั้นคนเดียว ถ้าคนอื่นว่า โอ๋ย อันนั้นเข้มเกินไป แต่มันจะเข้ม ถ้ามันจะถึงจุดที่เข้มมันต้องเข้ม เข้มแล้วมันถึงเข้าถึง

พอมันจริง ของอันนี้จริง มันก็เข้าถึงสมบัติความจริงได้ คนจะถึงสมบัติความจริงได้มันต้องจริงจากข้างนอกเข้ามาก่อน จริงจากผู้ที่ว่าจริงเข้าไป แล้วจะรับความจริงอันนั้นได้ ถ้าอันนี้ว่าจริง เห็นไหม จริงแต่เปลือก แต่ข้างในไม่จริง มันก็เหมือนอย่างนั้นน่ะ เหมือนทองคำปกด้วยดินนั่นแหละ จริงแต่เปลือกแต่ข้างในไม่จริง ก็ดินมันจะเข้ากับทองคำได้อย่างไร? มันแฝงทองคำอยู่มันก็ไม่ใช่ทองคำ

ธรรมะพระพุทธเจ้า ใครๆ ก็ว่าพูดนิพพานทั้งหมดแหละ นิพพานของใครๆ แต่นิพพานมันจริงหรือไม่จริง? ก็เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามา เป็นดินทั้งนั้นปกนิพพานไว้ ทั้งๆ ที่พูดคำว่านิพพานนะ