มรรคญาณ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เริ่มต้นนะพระพุทธเจ้าปฏิบัติธรรม ออกไปหา ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ทำความสงบจนได้สมาบัติ ได้สมาบัติ เห็นไหม จนอาฬารดาบสบอกว่าให้อยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกันเพื่อจะสอนประพฤติปฏิบัติ พอได้สมาบัติ พอจิตมันสงบมันว่างหมด มันว่างหมด แต่พระพุทธเจ้าใคร่ครวญดูแล้วว่าจิตใจของตัวเองมันยังไม่ได้กำจัดกิเลส ก็ยังไม่เชื่อไง ก็ยังออกมาแสวงหาอีก ๖ ปีนะ พยายามต่อสู้ของตัวเอง เพราะว่าไปหาอาฬารดาบสมาแล้วไม่ได้
จนคืนสุดท้ายไง คืนสุดท้ายนึกถึงตอนที่ว่าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะตอนเป็นเด็ก ตอนที่พ่อเอาไปแรกนาขวัญ ไปนั่งอยู่โคนต้นหว้า แล้วตอนนั้นกำหนดลมหายใจเฉยๆ ไง อ๋อ กำหนดลมหายใจเฉยๆ เป็นอานาปานสติ คิดถึงตอนเด็ก เพราะว่ากำหนดอานาปานสติจิตมันสงบ พอจิตมันสงบ เงาของต้นหว้าไม่เคลื่อนไป เงาของต้นหว้าอยู่เฉยๆ เลย นั่นน่ะใครเห็นก็ว่าสิ่งมหัศจรรย์
ฉะนั้น พอประพฤติปฏิบัติ ศึกษาไปกับเจ้าลัทธิต่างๆ แล้วมันก็ทำความสงบอยู่ ได้ความว่าง ได้อะไร แต่มันไม่ได้ชำระกิเลส ก็เลยมาคิดถึงอานาปานสติของตัว แล้วคืนนั้นถึงได้กำหนด นั่งอธิษฐานจิตเลยว่าถ้าคืนนี้ไม่สำเร็จ ไม่ได้ชำระกิเลส จะตายก็ให้ตายไปเลยไม่ยอมลุก นั่งตั้งแต่หัวค่ำ ปฐมยามได้บุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณที่กำหนดไปในอดีตได้ทั้งหมดเลย สาวไปเท่าไหร่ สาวไปเท่าไหร่ มันเร็วมาก เพราะจิตมันไวมากเวลานิมิตมันเกิด นิมิตมันเกิดมันเห็นปั๊บๆ ปั๊บๆ เลยนะ แต่นี้มันเป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณระลึกอดีตชาติ มันถึงว่าสาวไม่จบ มันเร็วไง ชาตินี้ๆๆ ไปไม่มีวันที่สิ้นสุด เอ้ ไม่ใช่หรอก ถ้าไปยังไปได้อีก ไม่ใช่ คือว่าไปแล้วมันยังมีอารมณ์ความรู้สึก เห็นว่าชาติไหนดี ชาติไหนเกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นจักรพรรดิก็มีความภูมิใจ ชาติไหนเกิดเป็นกวางทอง เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่ดีใจ มันมีความเศร้าหมอง ไปแล้วมันก็มีอารมณ์ความรู้สึกไปด้วย
ก็ไปนะ ดูไปๆ ไม่ใช่อีกย้อนกลับมา เห็นไหม มัชฌิมยาม ได้แล้ว ได้จุตูปปาตญาณ เห็นสัตว์ตายแล้วเกิดไง ตายแล้วเกิด คนตายแล้วเกิดหมด นี่วิชชาที่ ๒ ก็ไม่ใช่ ทุกดวงใจตายแล้วเกิดหมด ตายแล้วเกิดหมด เกิดแล้วก็ตายอีก เห็นการตายแล้วไปเกิด นี่เห็นอดีตชาติ เห็นสัตว์ต้องเดินไปข้างหน้า เป็นอดีต อนาคต
ไม่ใช่อีก กำหนดเข้ามาอีก กำหนดเข้ามาถึงในอวิชชาเลย เข้ามาถึงตัวของตัวเองไง ดูจิตของตัวเอง ว่าความว่างๆ นี่ความว่างเป็นพื้นฐานให้ไปเห็น ให้ไปรู้เท่า เพราะมันเป็นพื้นฐาน ให้ไปรู้บุพเพนิวาสานุสติญาณ ให้ความว่างนี่เป็นพื้นฐาน ถึงไปดูจุตูปปาตญาณได้ เห็นไหม ถ้าไม่มีความว่าง ทำสติไม่ได้มันก็ไปไม่ได้ แต่พื้นฐานของความว่างมีอยู่แล้ว พื้นฐานของสมาธิมันมีอยู่แล้ว แล้วก็เลยยกขึ้นอาสวักขยญาณไง
ความว่างนั้นน่ะมันมีอวิชชาอยู่ในความว่างนั้น อวิชชาปัจจยา สังขารา เห็นไหม อาสวักขยญาณ เอาความว่างนั้นเป็นพื้นฐาน ถ้าความว่างนั้นยังเข้าไม่ถึง เริ่มต้นมันก็จะไปบุพเพนิวาสานุสติญาณก่อน มันไปในอดีต แล้วชักกลับมามันก็ไปในอนาคต มันจะไปดูสัตว์เกิดแล้วไปไหน จุตูปปาตญาณ มันก็เลยกลับ อดีตก็ไม่ไป อนาคตก็ไม่ไป ค้นลงไปที่ตัวเองไง ค้นลงไปที่ว่าอวิชชาอยู่ใต้ความว่างนั้น อวิชชาปัจจยา สังขารานั่นน่ะ ถึงตรงนั้นถึงสำเร็จไง
ยามสว่างอรุณขึ้น พระพุทธเจ้าสำเร็จพร้อมกับความตรัสรู้ธรรมเลย ธรรมตามความเป็นจริง คือว่าจิตมีพื้นฐานแล้ว พอพื้นฐานเป็นสมาธิมันจะเห็นความเป็นไปของจิตก่อน ความเป็นไปของจิตมันจะพุ่งไปในอดีตก็ได้ ไปในอนาคตก็ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมันที่มันมีพลังงานของมันเอง มันจะไปของมันเรื่อยนะ นี่การประพฤติปฏิบัติธรรม
พระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติ ไปศึกษาเล่าเรียนกับอาฬารดาบสมาก่อน ความว่างนี้มีมาก่อนแล้ว ไปศึกษามาแล้วก็ยังไม่ได้ ยังไม่เข้าใจ เห็นไหม ขนาดว่าอาฬารดาบสประกันนะว่าเจ้าชายสิทธัตถะนี้มีความรู้เสมอเรา อยู่กับเราเถิดจะได้สอนลูกศิษย์ลูกหา เจ้าชายสิทธัตถะยังมีความเศร้าหมองในใจ มันยังแก้ออกไม่ได้ไง เวลามันทำจิตสงบอยู่มันก็มีความสุข พอมันคลายออกมาแล้วมันก็มีความเศร้าหมอง มันมีความกระทบอย่างเก่า เหมือนเก่า เพราะมันไม่ได้ขาดสิ้นไป มันขาดด้วยอำนาจการกดไว้ของความว่างของสมาธินั้น
นี่ถึงได้มาแสวงหาด้วยตนเอง ถึงนึกไปถึงโคนต้นหว้า ทุกข์ไปก่อนนะ ทุกข์ไป โอ้โฮ ทุกรกิริยานะ ทนสู้อดอาหาร อดอะไรทุกอย่าง ทำที่ว่าสมัยพุทธกาลเขามีทำกันอยู่ ทำหมดเลย มันก็ยังไม่ใช่ จนย้อนกลับมามัชฌิมาปฏิปทา ความเป็นกลาง กลางที่ว่ากิเลสมันอยู่ที่ใจ กิเลสมันไม่ได้อยู่ที่กาย การทรมานคือทรมานกาย แต่เอาใจต้องเข้มแข็งด้วยถึงมาทรมานกายได้ ถ้าใจอ่อนแอมันก็ไม่อยากทรมาน ใจมันเข้มแข็ง พอเข้มแข็งก็ทรมานกาย ในการโยคีโยคะที่เขาทำกันขนาดไหน ทำหมดเลย
ทรมานกายแล้ว อดอาหารก็ทรมานกาย ทรมานกายจนกายนี่ซูบซีดไปหมดเลย อดอาหาร ไม่กินอะไรเลยนี่ทรมานกาย เห็นไหม สุดท้ายกลับมาว่ากิเลสมันอยู่ท่ามกลางมัชฌิมา อยู่ท่ามกลางหัวใจ อาศัยกายด้วย แต่จริงๆ อยู่ที่หัวใจมากกว่า แต่อาศัยกาย กายทรมานก็ต้องไปกระทบถึงใจ แต่การกระทบมันเป็นการตบะ มันเป็นการเผาเฉยๆ ไม่ใช่เป็นการขุดคุ้ย ไม่ใช่เป็นการแยกแยะ วิเคราะห์วิจัยไง
ต้องแยกแยะ วิเคราะห์วิจัย การค้นคว้านี่วิเคราะห์วิจัยในฐานของจิตนั้น นั่นน่ะถึงออกมา ออกมานึกถึงว่าทำมาหมดแล้ว แล้วมันยังมีความไม่ได้ชำระกิเลส ถึงมาทำของตัวเองขึ้นมา ถึงว่าเป็นสยมภูรู้ด้วยตนเอง ธรรมะนี้ถึงลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งจนคนเราเข้าไม่ถึง แล้วเราจะเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติเราก็เอาความคิดของเราเข้าไปก่อน มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์นะเวลาจิตมันปล่อย มหัศจรรย์มากเลย ความว่างนี่เวิ้งว้างไปหมดเลย มันจะเป็นอย่างไรรู้ไปหมด เพราะมันว่างขนาดภูเขาเลากานี้ทะลุไปหมด กำแพงนี่ปิดไม่ได้นะ ปิดไม่ได้หรอก ขนาดดำดิน เหาะเหินเดินฟ้าได้แล้วกันล่ะทำสมาธินี่ แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ได้ชำระมาที่ใจไง
มันเหมือนกับเรื่องของกาย เรื่องของความว่าง เรื่องของอารมณ์มันเป็นเปลือก เหมือนส้มกับเปลือกส้ม เปลือกส้มนี่ ความจริงเราคิด ไอ้ตัวส้มมันเป็นฐีติจิต คือจิตอวิชชาอยู่ข้างในตัวส้ม ไอ้เปลือกส้มมันต้องหุ้มส้มไว้ ทีนี้พวกเราอยู่กันด้วยเปลือกส้ม เพราะเปลือกส้มมันหุ้มเนื้อส้มไว้ พอเปลือกมันจะกระทบกับอะไร มันแบบว่ามีเปลือกคอยป้องกันไว้ใช่ไหม? เปลือกนี่คืออาการของใจไง เวลาอารมณ์เราเกิดขึ้น นี่อาการของใจทั้งหมด อารมณ์ความคิด ความคิดนี่เป็นเปลือกส้มหมดเลย แต่ความคิดนี่ถ้าไม่มีพลังงานมันคิดไม่ได้
พลังงานตัวความคิดนี่ตัวส้ม คือตัวจิตไง จิตนี้เป็นตัวจิต อาการขันธ์ ๕ นี่เป็นเปลือกส้ม ทีนี้พอเปลือกส้มมันคลุมส้มอยู่ มันก็ออกอาการขมๆ ฝาดๆ ขมๆ เวลามันกระทบโดนลิ้น เราไปกิน เราไม่เข้าใจเราก็ไปกินเปลือกส้มก่อน เรานึกว่าเป็นส้ม เราเคี้ยวไปทั้งเปลือกเลยมันก็ขม นี่อารมณ์โลก อารมณ์ทุกข์ยากเราก็เหมือนกัน อารมณ์ทุกข์ยากของเราอยู่ที่ขันธ์ ๕ อยู่ที่ความคิด ไอ้ตัวนี้เป็นความทุกข์อยู่ ทีนี้เราพยายามทำความสงบเข้าไป ไอ้ตัวที่ว่าเรารู้ว่าเปลือกส้ม เราเคยลิ้มรสมันด้วยความขม มันก็จะปล่อยใช่ไหม? พอปล่อยอาการ เราไม่กิน เรารู้ว่าเปลือกส้มมันขม มันก็ปล่อย มันก็อยู่เฉยๆ
นี่เปลือกส้ม อาการของใจไง อาการของใจมันปล่อยวางลง เวลาเปลือกส้มกับลิ้นเรามันกระทบกัน นี่คืออาการทั้งหมดไง พออาการทั้งหมดมันสงบตัวลง แค่เปลือกส้มสงบตัวลง มันต้องปอกเปลือกส้มออก ปอกเปลือกส้มออกกับส้มแยกออกจากกัน ส้มกับเปลือกส้มแยกออกจากกัน เหมือนกับเราภาวนาอยู่แล้วจิตมันสงบไง จิตมันสงบอยู่ นี่เปลือกส้มเราปอกได้ เราปอกเปลือกส้มออกมา อาการของใจ เพราะมันไม่ใช่ใจ
ส้มกับเปลือกส้มมันคนละอันอยู่แล้ว พอปอกออกมันก็แยกออกไป พอแยกออกไปมันก็ว่าง ว่างหมด ไอ้ส้มกับเปลือกส้มนี่เป็นวัตถุที่เราเห็นว่ามันไม่ว่างหรอก มันเป็นส้มจะว่างได้อย่างไร? แต่ใจเป็นอย่างนั้น อาการของใจก็เป็นความว่าง ตัวใจมันก็เป็นความว่าง เป็นความว่างมันเป็นว่างตลอดเวลา แต่ว่างแบบมีไง มีเพราะอะไร? มีเพราะมันมีสสาร มันมีธาตุรู้ไง ธาตุนี่มันเป็นธาตุอยู่ เป็นธาตุเลย เป็นสสารเลย แต่ต้องใช้สมาธิความว่างนั้นเข้าไปจับ มันถึงมหัศจรรย์ไง
นี่เราประพฤติปฏิบัติธรรมกัน เราพยายามนะ พยายาม เห็นไหม เวลาที่เราพิจารณาไปนามรูป พิจารณาความเห็นข้างนอกแล้วให้มันปล่อยวาง นี่อาการของเปลือกส้มทั้งหมดเลย เปลือกส้ม เพราะว่าเมื่อก่อนเราไม่เห็นตามมัน เราก็จะทุกข์ไปกับมัน เราจะเครียด เราจะตั้งไม่ได้ แต่พอเราสติพร้อมขึ้นมา นี่เปลือกส้มเราสามารถชำระเปลือกส้มได้ มันว่างหมดเลย มันว่าง แต่ตัวส้ม ตัวเนื้อของส้มยังอยู่ ต้องย้อนกลับมา
มันถึงว่ามหัศจรรย์ ยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปอีกในการที่ว่าสามารถเอาความว่างนี่เข้าไปจับตัวความว่างนั้นได้ เอาความว่าง เห็นไหม เพราะเปลือกส้มไม่มีแล้ว รสขมต้องไม่มี พอรสขมไม่มี อาการมันก็ปล่อย ฉะนั้น พอมันปล่อยคือเราปอกเปลือกส้มออกไป ถ้าเราฉลาดนะเราหันกลับมาดูตัวส้มอีกทีหนึ่ง นี่เปลือกส้มมันขม เนื้อส้มมันหวานต่างหากล่ะ นี่วิปัสสนาเข้าไป มันจะลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งไง จากเปลือกส้มอาการขมๆ ขื่นๆ เราสามารถปอกเปลือกได้เลย มันเป็นอาการของใจ ถ้าปอกแล้วมันก็ว่าง ว่างหมดเลย พอว่างขึ้นมา เอาอาการความว่างหันกลับมา พยายามดูไง ดูเข้าไปที่ใจ ดูอาการของมัน อาการที่เศร้าหมอง ดูอาการที่กระทบ
นี่ตัวนี้จะเป็นตัวเหตุ นี่เป็นปัญญาของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้ารู้ตรงนี้ต่างหาก เพราะอาการความว่างมันมีว่างอยู่แล้วตอนที่ไปเรียนกับอาฬารดาบสมันก็ว่างอยู่แล้ว แต่ว่างอยู่แล้ว เวลาออกจากสมาธิมากระทบ เห็นไหม ออกไปกระทบมันก็มีความรู้สึกเกิดขึ้น ถ้าความรู้สึกยังไม่เกิดขึ้นเรากดไว้ อันนั้นมันแรงกว่า สมาธิเรายังดีอยู่ สักวันหนึ่งมันต้องแปรสภาพ มันต้องแปรสภาพเพราะอะไร? เพราะเรายังไม่ได้ชำระสะสางไอ้ตัวเนื้อส้มนั้น
เปลือกส้มจะมีเพราะมีส้มขึ้นมาก่อน ส้มนี่มันเป็นผลผลิตจากต้นของมันใช่ไหม? มันเป็นลูกเล็กแล้วมันโตขึ้นมาๆ ปกคลุมอยู่ตัวมันเอง เห็นไหม นี่เปลือกส้มมันอยู่ได้เพราะมีเนื้ออยู่ข้างใน พอเปลือกส้มหลุดออกไป เราจะเข้าไปพิจารณาเนื้อส้ม พิจารณาเนื้อส้มมันมีรสหวานด้วย แล้วมันมีเม็ดส้มด้วย มันมีทุกอย่าง เม็ดส้มนั้นอยู่ในเนื้อในของเนื้ออีก นั่นคือฐานความคิดเดิมเราเคยเกิดเคยตาย อวิชชาปัจจยา สังขารามันอยู่ตรงนั้นไง
ความเป็นอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ เม็ดของส้ม เห็นไหม เวลามันหลุดออก เราแกะออกมา เม็ดส้มตกไปดินก็เกิดอีก เม็ดส้มทำให้เกิดอีก มันเป็นสิ่งมีชีวิต ตัวเม็ดส้มตัวชีวิตใหม่ ตัวชีวิตใหม่ กับตัวอวิชชาในหัวใจก็เหมือนกัน ตัวอวิชชาตัวที่มันจะเริ่มงอกขึ้นมาใหม่ มันมีความคิดขึ้นมาใหม่ มันมีความคิดขึ้นมาใหม่ เห็นไหม ถึงรู้ รู้คือมันมีชีวิตไง มันมีชีวิต อวิชชาถึงรู้ไม่จริงไง รู้แต่ทำลายชีวิตตัวเองไม่ได้ รู้ รอเวลาจะตกไปที่พื้นดินแล้วงอกขึ้นมาใหม่ แต่ใช้ปัญญาหมุนเข้าไป หมุนเข้าไปจากเนื้อส้ม
นี่วิปัสสนามีรสหวาน มีความสุขมาก มันปล่อยวางไปเรื่อยๆ สู้เข้าไปเรื่อยๆ สู้เข้าไปเรื่อยๆ จนไปถึงเม็ดส้มนะ แล้วทำลายเม็ดส้มขึ้นมา จากมันรู้คือวิชชา คือว่าอวิชชามันรู้ตัวมันเอง แล้วมันจะเกิด รอแต่เวลาเกิด รอแต่ความคิดที่มันเกิดขึ้นมาให้มันมีความทุกข์ กับวิชชาไง วิชชาทำลายตัวเองไง พอทำลายตัวเองขึ้นมามันไม่หวังเกิดใช่ไหม? มันไม่หวังไปเกิดอีก เพราะมันทำลายชีวิตมันแล้ว มันเป็นวิชชาความรู้จริงไง อ๋อ เพราะมันตกลงดินถึงได้เกิดอีก ถ้าเราไม่ทำตกลงดินมันก็ไม่เกิดอีก เม็ดส้มนี่เป็นวัตถุ แต่จิตตัวธาตุรู้ไม่เป็นอย่างนั้น ทำลายแล้วยิ่งสะอาด ยิ่งสว่าง ยิ่งสงบ ยิ่งเยี่ยม ต้องทำลายตรงนี้ไง
การทำลายคือว่ามัคคะอริยสัจจัง ภาวนามยปัญญา คำว่าทำลายๆ มันก็เหมือนสิ่งที่ว่ามันไม่ควรทำลาย เพราะเราจะจรรโลงความดีงามจะทำลายทำไม? เราต้องส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองถึงถูกต้อง แต่เพราะเราไปส่งเสริม ถ้าเป็นวัตถุเราส่งเสริมมัน ยิ่งก่อสร้างบ้านเรือน ยิ่งมากชั้นยิ่งสูงขึ้น มันก็เป็นวัตถุให้เราเป็นผลงาน แต่วิปัสสนาญาณมันต้องทำลาย ยิ่งทำลายยิ่งสะอาด พอยิ่งสะอาดมันยิ่งประเสริฐ ยิ่งประเสริฐมันยิ่งหลุดพ้นไง นี่ถึงคล้ายว่าทำลาย แล้วไม่ใช่ทำลายแบบเราเอามือหรือเอาเครื่องมือไปทำลาย มันจะทำลายด้วยวิปัสสนาญาณเท่านั้นเลย
อาสวักขยญาณ เห็นไหม ญาณคือความหยั่งรู้ แต่ญาณตัวนี้จะเกิดขึ้นได้จากปัญญาไง นี่แล้วญาณหยั่งรู้ในอะไร? เรารู้ในวิชาการวิชาชีพนี่ก็ญาณหยั่งรู้ ญาณหยาบๆ รู้จากความว่าง ทำไมถึงเกิดความว่าง เห็นความกระทบระหว่างใจกับอายตนะกระทบรูปภายนอก นี่ตัวเปลือกส้ม เราเห็นเท่า เรารู้เท่ามันก็ปล่อย มันก็วาง นี่ก็เกิดญาณขึ้นมา ญาณอีกชั้นหนึ่ง ญาณรู้ว่าจิตนี้กระทบอะไร กับญาณรู้วิชาชีพอย่างหนึ่ง ญาณรู้กระทบ ญาณรู้ตัวเอง รู้ตัวเอง รู้ถึงเปลือกส้ม แกะเปลือกส้มได้ ว่างหมดเลย
มันต้องแกะเปลือกส้มก่อน มันถึงจะเข้าถึงเนื้อส้มได้ พอเข้าถึงตัวเนื้อส้ม พอมันว่างแล้วหันเข้ามาอีก มันยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่ พอมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่ เข้าไปอีกนะ เข้าไปถึงเนื้อส้ม ทะลุเนื้อส้มเข้าไป วิปัสสนากัน การวิปัสสนาคือเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นจากตาใน เวลาเราเห็นรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก จากนามรูปที่ออกมา เปลือกส้มกระทบ เห็นมาจากอายตนะกระทบไง แต่ถ้าเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมจากวิปัสสนาญาณมันจะเห็นอยู่ในเนื้อส้ม คือตาธรรมเห็น
ตาธรรมหมายถึงความว่างนั้นน่ะ มันว่างนั้นมันมหัศจรรย์อยู่แล้ว ความว่างนั้นไปเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในความว่างอีก ยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่ พอมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่ พอเห็นแล้วก็จับต้องให้ได้ คว้าให้ได้ แล้วก็เหมือนกับกระทบข้างนอก ข้างนอกนี่กระทบอยู่เหมือนกัน กระทบแล้วเรารู้ทันนี่สติปัญญา กับมหาสติ มหาปัญญา เพราะมันเป็นความไวของจิตมาก มหาสติ มหาปัญญาพิจารณาเข้าไปข้างในไง เห็นความกระทบภายใน เพราะจับต้องได้ถึงมีกระทบ ถ้าจับไม่ได้มันกระทบไม่ได้ คือว่ายกขึ้นวิปัสสนา ถ้าไม่จับต้องได้คือไม่สามารถยกขึ้นวิปัสสนาได้ การจะยกขึ้นวิปัสสนามันต้องจับต้องได้ก่อน ถึงการขุดคุ้ยอยู่ที่ตรงนี้ไง
การขุดคุ้ยเข้าไปเพื่อจะจับต้องกาย เวทนา จิต ธรรมด้วยตาธรรมไม่ใช่ตาเนื้อ ไม่ใช่ตาความรู้สึกกระทบ มันจะจับต้องแล้วมันจะขนพองสยองเกล้า เพราะว่ามันเป็นอวิชชาที่นอนอยู่ในหัวใจ นอนอยู่ในก้นบึ้งของใจตลอดไม่มีใครเคยเห็นเลย เหมือนกับเครื่องยนต์มันอยู่ในก้นแท้งค์ของอ่างไง อยู่ข้างล่างที่สุดมองไม่เห็นเลย น้ำมันเครื่องที่อยู่ในก้นแท้งค์นั้นดำมาก ดำมากเพราะมันใช้มาก มันดำมันสกปรกมาก แต่ไม่เคยเห็นเพราะมันอยู่ข้างล่าง มันมองไม่เห็น
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจับต้องเข้าไปได้มันจะตื่นเต้นมาก อวิชชาปัจจยา สังขารา อวิชชาความนอนเนื่องอยู่ในใจ ภวาสวะ กิเลสสวะ อาสวะ ภวาสวะ อนุสัยนอนอยู่ในก้นบึ้งของใจ แล้วพอตาธรรมมันเข้าไปจับได้ จับอนุสัยของเราไง อย่างที่ว่าอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนล้วงข้อมูลของตนได้ ล้วงข้อมูลภายในของตนออกมา แล้วออกมาแผ่ดูว่าข้อมูลนี้มันเคยเกิดเคยตายแบบที่ว่าพระพุทธเจ้าเห็นทีแรกไง บุพเพนิวาสานุสติญาณมันก็เกิดตายอยู่แล้ว มันซับข้อมูลนี้อยู่ในก้นบึ้งของใจ
มันเกิดตายนี่มันสลดสังเวชไหมว่าเราเกิดเราตายมาขนาดไหน? แล้วเอาก้นบึ้งตัวนี้มาแฉออกมา มาเปิดให้เราดูเอง เรานี่ต้องดึงข้อมูลเราออกมาแล้วเปิดดู พอเปิดดูก็วิเคราะห์ นี่ถ้าคนมีวาสนาจะเห็นอดีตชาติ อันนั้นมันเป็นอดีตชาติ เป็นอดีต ปัจจุบัน แก้กิเลสไม่ได้อีกแหละ กิเลสมันต้องว่า ไอ้ที่ว่าล้วงข้อมูลมาแล้ว ไอ้ตัวที่ไปเกิดไปตายมันเป็นข้อมูลใช่ไหม? แต่ฐานของข้อมูลล่ะ? ฐานที่ให้เกิดความคิด นี่ทำลายตรงนี้อีกไง การทำลายด้วยปัญญา อะไรทำลายไม่ได้เพราะมันเป็นนามธรรม
มันลำบากเพราะสิ่งนี้มันเป็นนามธรรมอยู่ในหัวใจ ต้องใช้นามธรรม คือภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นจากใจ เอาใจแก้ใจไง ต้องหมุนเข้าไป ถ้าทำตรงนี้ได้นะมันถึงว่าเป็นที่พึ่งของตนเองได้ไง ตนเองถึงมั่นใจตนเอง แล้วพึ่งตนเองได้ พอพึ่งตนเองได้ เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนชนะตน ตนเอาใจพ้นออกจากกิเลสได้ อันนี้ถึงเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพุทธะไง เป็นพระพุทธเจ้า แสวงหามา สยมภูรู้ขึ้นมาจากภายใน แล้วชำระขึ้นมา แล้วเอามาสอนพวกเรา ถ้าเราเดินตามอันนี้ก็จะเป็นอันนี้
ทีนี้เราตามไป เห็นไหม พระพุทธเจ้าบอก สุภัททะ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ศาสนาไหนไม่มีมรรคนะ สุภัททะอย่าถามให้ช้าไปเลย
สุภัททะไปถามพระพุทธเจ้า ตอนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ว่า ศาสนาไหนก็ปฏิบัติว่ามีมรรคมีผลเหมือนกัน
อันนี้ก็เหมือนกัน เราเข้าใจว่าเราปฏิบัติ เราว่านี่เป็นมรรค แต่มันเป็นมรรค มรรคแค่เปลือกไง มรรคหยาบๆ ไง มรรคที่ว่ามรรคความคิดความเห็นไง แต่มันไม่ใช่มรรคญาณ มรรคญาณเกิดขึ้นจากภายใน มรรคจริง มรรคจากอริยสัจ ความเป็นอริยสัจจะเกิดขึ้นจากภายใน เกิดจากภายใน เราส่งเสริมขึ้นมา ถึงต้องย้อนกลับเข้าไป อย่าส่งออก พยายามย้อนกลับเข้า ย้อนกลับเข้า เข้าไปชำระถึงก้นบึ้งของใจ ตัวภวาสวะตัวนั้น ตัวนั้นแหละมันจะปอกเปลือกออกมาเป็นชั้นๆๆ ไง โสดาบันสังโยชน์ออกไป ๓ ตัว สกิทาคามีนี่สังโยชน์ ๔-๕ เบาบางลง อนาคามีสังโยชน์ ๕ ตัว
สังโยชน์เบื้องบนของอรหัตตผล เห็นไหม รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ฌานสมาบัติ รูปราคะ รูป อรูปเป็นราคะทั้งหมดเลย มันติดในตัวมันเอง มันเป็นความว่าง ว่างมากนะ รูปราคะ อรูปราคะ รูปฌาน อรูปฌาน นี่รูปราคะ อรูปราคะ ทำไมมันเป็นราคะล่ะ? รูปฌาน อรูปฌาน ความว่างที่เราว่าเป็นความว่างๆ รูปราคะ อรูปราคะ เพราะจิตมันว่างหมด ว่างมันก็หลงตัวมันเอง มันถึงเป็นราคะ เป็นทำให้จิตนี้เกาะเกี่ยวอยู่กับความว่างนั้น ถึงต้องเอาความว่างนั้นมาเป็นฐาน มาเป็นพลังงาน
รูปราคะ อรูปราคะ นี่มันต้องหมุนตรงนี้ขึ้นมาเพราะมันมีอยู่แล้ว ถึงว่ามานะ อุทธัจจะ อวิชชา เพราะมันติดในความว่างตัวมันเองไง ความว่างเป็นพลังงานใช่ไหม? มันต้องว่าความว่างนี้เป็นผลไง เห็นไหม มันเลยติดไง มันเป็นอุทธัจจะ คือหมุนอยู่ในความว่างอันนั้นน่ะ อวิชชา มานะ อวิชชาคือความไม่รู้ มานะมันเกิดขึ้น มันก็ยึดมั่น ยึดในความว่างนั้น มันถึงเป็นราคะๆ ราคะมันอยู่ในนั้น
รูปราคะ อรูปราคะ นี่มันเป็นราคะ รูปฌาน อรูปฌานเป็นราคะทั้งหมดเลย เพราะมันไม่รู้ตัวมันเอง เห็นไหม นี่ความว่างเบื้องบนมันก็ยังหลง ต้องพยายามหมุนเข้ามาๆๆ จนตัดออกหมด สังโยชน์ขาดออกไป ๑๐ ตัว พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย นี่พระโสดาบันขาดไป ๓ พระสกิทาคามีอ่อนไป ๒ ขาด ๓ อยู่แล้ว พระอนาคามีขาดไป ๕ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ตัว สังโยชน์เบื้องสูงอีก ๕ ตัว ขาดหมด ออกจากใจหมด ล้างใจนี้สะอาดทั้งหมด เครื่องนี้เป็นเครื่องเรืองแสง หมุนในตัวมันเองตลอดเวลาโดยที่ไม่มีทุกข์ใดๆ อยู่ในใจเลย
นี่แหละถึงว่าการขุดคุ้ย ขุดลงไปที่ในหัวใจไง ระหว่างกายกับใจนี่ขุดลงไป แล้วจะเป็นปัญญาขึ้นมา ถ้าไม่ได้ทำตรงนี้ก่อนมันเป็นความว่างเฉยๆ พระพุทธเจ้าเรียนมาจากอาฬารดาบสอยู่แล้ว ก่อนที่จะมีศาสนาเรา มันมีอยู่ก่อน ความว่างมีอยู่ก่อน แต่ความว่างมันเป็นความว่าง ความว่างต้องมีปัญญา ปัญญาด้วย เห็นไหม ปัญญาที่ชำระกิเลส อาจารย์มหาบัวบอกเลย ว่าสมาธินี่น้ำล้นแก้ว ทำได้แค่ความว่างเท่านั้นแหละ มันล้นอยู่นั่นน่ะ มันเป็นปัญญาไปไม่ได้ถ้าไม่ขุดคุ้ยไง มันจะเป็นปัญญาไปโดยอัตโนมัติไม่ได้ถ้าเราไม่ได้ฝึกฝน
นี่ฝึกฝน ขุดคุ้ย แล้วมันจะเป็นปัญญาขึ้นมา ปัญญาอันนี้พร้อมกับสมาธิที่ว่าล้นแก้วนั่นน่ะประเสริฐมาก มันจะหนุนปัญญาขึ้นมาให้เป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าไม่มีสมาธินี้มันก็เป็นปัญญาวิชาชีพ วิชาชีพมันก็ผูกมัดอยู่อีกแหละ ต้องสมาธิอันนั้นสำคัญมาก แต่สมาธินี่เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา สมาธิไม่ใช่เป็นผลของตัวมันเอง ต้องยกขึ้นวิปัสสนา แล้วมันจะขาดไป นี้คือเป็นมัคคะอริยสัจจัง มรรค ๘ ถึงจะมีครบองค์ ๘ ของมรรคที่พระพุทธเจ้าวางไว้ไง เราเป็นชาวพุทธ เราจะปฏิบัติเราต้องเดินให้ครบไง เดินให้เต็ม มัคคาอันนี้จะทำให้เราหลุดพ้นออกไป ให้มีความสุขจริงขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติจริงของเราไง
เราอุตส่าห์ประพฤติปฏิบัติ เราอุตส่าห์ตั้งใจจริง แล้วถ้าทำอย่างนั้นแล้วมันคาอยู่ครึ่งเดียว มันอยู่ครึ่งหนึ่ง เห็นไหม สมาธิเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา ความว่างนั้นเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา ปัญญาในการใคร่ครวญเข้าไป แต่มันเป็นความมหัศจรรย์ ความลึกลับ มันเป็นการสุดวิสัยของคนเหมือนกันนะ แต่เราเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาพบพุทธศาสนา อันนี้มันถึงมีแผนที่ให้เราเดินไง เราถึงจะไปได้ไม่หลงทางหรอก