เทศน์เช้า

ปาปมุต

๑๗ ก.ย. ๒๕๔๒

 

ปาปมุต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันพระนะ เขาบอกว่าในเมื่อวันพระเขาปฏิบัติกันมา เมื่อปฏิบัติวันพระ มันก็ต้องเข้าถึงพระใช่ไหม? เข้าถึงพระ คนที่เข้าถึงจริง นี่คนที่เข้าถึงจริงถึงตำรา วิเคราะห์ตำรา มันต้องดูภูมิหลังของคนๆ นั้นไง

อย่างถ้าตำรานี่บอกว่าพระอรหันต์ เขาเข้าใจว่าพระอรหันต์ผิดไม่ได้เลย พระอรหันต์ผิดไม่ได้เลย เห็นไหม ปาปมุต ผู้ที่วิมุตติแล้ว ต้องไม่ทำความผิด ความผิดไม่ได้เลย ทุกคนเข้าใจอย่างนี้ นักปฏิบัติทุกคนนะ นักปฏิบัติทุกคนเข้าใจว่า ถ้าพยายามปฏิบัติไปถึงวิมุตติแล้วจะมีความสุขมาก ไม่ต้องทำอะไรเลย นี่มันเป็นความคิดของโลกนะ แต่ถ้าความคิดของธรรมผิดหมดเลย ผิดหมด เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาเทศน์ไปแล้วยังบอกเลยบอกว่า

“พระสารีบุตรให้เทศน์สอนหมู่ก่อน เราจะพักผ่อน”

นี่เข้าฌาน เข้าสมาบัติ พระพุทธเจ้าจะทำอย่างนี้ตลอดเวลา นี่ความเพียรของพระอริยเจ้า ความเพียรของพระอรหันต์ไง ความเพียรของพระอรหันต์กับความเพียรของผู้มีกิเลสมันต่างกันตรงนั้น เห็นไหม ถึงวิมุตติแล้วมันก็ยังต้องทำความเพียรอยู่เพื่อเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่ วิหารธรรม พระพุทธเจ้าปฏิบัติจนวันตายนะ แต่ทางโลกเข้าใจกันว่านี่อยากปฏิบัติ พอเป็นพระอรหันต์ปั๊บก็จะได้นอนเหมือนหมูตามสบาย จะนอนแบบหมูเลย นอนตามสบายไม่ต้องปฏิบัติเพราะมันขาดออกไปเลย

แต่ความจริงดูอาจารย์สิ มีเวลาว่างปั๊บจะรีบเข้าทางจงกรมเลย เพื่อจะแยกขันธ์ วิหารธรรมเพื่อให้ธาตุกับขันธ์แยกออกจากกันอยู่ด้วยความสบาย ถ้าเป็นวิมุตติแล้วมันก็เหมือนกับสิ่งที่ว่าเป็นพระพุทธรูป สำเร็จรูป ไม่ทำความผิดเลยหรือ?

พระจักขุบาล ก่อนปฏิบัติ เห็นไหม ปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์ แล้วพระจักขุบาลตาบอด นี่เดินจงกรมอยู่บนทางจงกรม ทำราวไว้ แล้วพระจักขุบาลเหยียบแมลงตาย เขาไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าพระจักขุบาลอวดเขา ปฏิบัติแล้วอวดชาวบ้านไง เดินจงกรมอยู่ ตาบอดแล้วอยากจะเดินจงกรมอยู่ เหยียบแมลงตาย

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธอไปว่าอย่างนั้นไม่ได้นะ พระจักขุบาลนี้เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์แล้วแต่ตาบอด เดินจงกรมอยู่นี่เหยียบสัตว์ตาย”

นี่ชัดๆ เลย พระจักขุบาลชัดมากเลย เพราะว่าเป็นพระอรหันต์ด้วย แล้วเดินจงกรมอยู่แต่ตาบอด เหยียบตัวแมลงตาย เห็นไหม นี่ไงพระอรหันต์ แล้วว่าเป็นอาบัติไม่ได้ ความว่าเป็นอาบัติไม่ได้นี่ตีความผิดไง ในปาติโมกข์นะ สมฺมุขาวินโย สติวินโย ความไม่เป็นอาบัติของพระอรหันต์ คือว่าจิตนี้พ้นจากวิมุตติแล้ว วินัย กฎหมายนี่เป็นสมมุติ สมมุติเข้าไม่ถึงวิมุตติ มันไม่เป็นอาบัติที่ใจนั้นเด็ดขาดไง

ใจของพระอรหันต์ พระอรหันต์ที่เป็นพระอรหันต์ไปแล้วนะ จะไม่มีอาบัติเด็ดขาด เพราะใจนั้นไม่มีเจตนาไง มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนสัมผัสเสปิ นิพพินทะติ ไม่มีเจตนา ไม่มีสิ่งใดข้องแวะในใจนั้นเลย ใจนั้นวิมุตติแล้ว ใจนั้นถึงพ้นจากโทษทั้งหมดไง มันวิมุตติตรงนั้น ไม่เป็นโทษที่ใจของพระอรหันต์ มันไม่ใช่เป็นเพราะว่าร่างกายนี้ทำความผิดไง ร่างกายที่ทำความผิด มันไม่มีเจตนา แต่มันเป็นไป

อย่างที่อาจารย์ว่า เห็นไหม อย่างเช่นปุถุชนเจองู พอเห็นงู วิ่งหนีงูมาจะเลือดฉีดไปทั้งร่างเลย ร้อนไปหมดเลย แต่พระอรหันต์เห็นงูก็กระโดดหนีเหมือนกัน แต่จะไม่มีความสูบฉีดของเลือดเลย เพราะใจมันไม่ตกใจไง แต่สัญชาตญาณ สัญชาตญาณการหนีภัยมันจะกระโดดไปโดยอัตโนมัติไง นี่มันเหมือนกับร่างกาย สัญชาตญาณไง สัญชาตญาณยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ขันธ์ ๕ นี้ยังอยู่กับใจอยู่ ยังครองอยู่ ถึงเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน

สอุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ที่มีขันธ์อยู่ พระโมคคัลลานะก็เป็นพระอรหันต์ พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ ทำไมปล่อยให้โจรทุบร่างกายนี้แหลกหมดเลย ร่างกายนี้ทำไมโดนทุบล่ะ? เพราะเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เห็นไหม นี่เทียบให้เห็นชัดๆ เลย ว่าความเข้าใจว่าพระอรหันต์ทำความผิดไม่ได้เลย เขานึกว่าทำเรื่องของกายไง แต่พระอรหันต์จะไม่ทำความผิดแน่นอนเรื่องของใจ

พระพุทธเจ้าจะไปนิพพาน เห็นไหม บอกว่า “อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน” นี่เขาก็ว่า อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน ร่างกายมันกระหายน้ำ อาจารย์บอกว่ารถน้ำมันหมด ก็เติมน้ำมันให้ไปถึงที่เท่านั้นเอง รถน้ำมันหมด แต่คนขับรถ จิตดวงนั้นไม่ทุกข์ร้อน แต่รถน้ำมันหมดต้องเติมน้ำมันมันถึงจะไปต่อได้ ไปถึงที่สุดไง

นี่เขาเข้าใจว่าพอเป็นพระอรหันต์แล้วเหมือนพระพุทธรูป ไม่ทำความผิดแม้แต่นิดเดียว แต่ไม่ได้คิดว่ามันไม่ได้ทำความผิดด้วยนามธรรม มันไม่ได้ทำความผิดด้วยใจไง ใจนี่จะไม่มีความผิดแม้แต่นิดเดียวเลย แต่ไอ้เรื่องที่ว่าเป็นไป นี่ความเข้าใจตรงนั้น มันถึงบอกว่าถ้าเห็นอย่างนี้ว่าทำความผิดอยู่ เพราะว่าบอกกาลเวลา บอกอนุปสัมบัน เป็นความผิดปาจิตตีย์ ถ้าพูดถึงการบอกในอนุปสัมบันเป็นปาจิตตีย์ นี่ตรงนี้ปิดกั้นพระอรหันต์เลย เพราะว่าผิดวินัยแล้วเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เขาคิดอย่างนั้นว่าผิดวินัย แล้วพระจักขุบาลล่ะ เหยียบแมลงตายนี่ก็อาบัติเดียวกัน ปาจิตตีย์เหมือนกันทำสัตว์ตาย

เห็นไหม เหมือนกัน มีพระอรหันต์ในครั้งพุทธกาลทำความผิดมาก ขนาดพระอรหันต์นะ เป็นพระอรหันต์ เสร็จแล้ววิตกวิจารขึ้นมาว่าเรานี่เป็นพระอรหันต์แล้ว บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ต้องลงปาติโมกข์ได้ไหม? พระพุทธเจ้ามาต่อหน้าเลยนะ “ถ้าเธอคิดอย่างนั้น พระอรหันต์แล้วไม่ต้องลงอุโบสถ แล้วต่อไปหมู่สงฆ์จะอยู่กันอย่างไร?” จนต้องให้พระอรหันต์องค์นั้นมาลงอุโบสถ พระอรหันต์ก็ยังลงอุโบสถอยู่อย่างเก่า เพราะลงอุโบสถมันเป็นบอกความบริสุทธิ์ นี่พระอรหันต์

พระอรหันต์มันเป็นที่ใจ แต่เปลือกนอกแล้วก็ยังต้องมาลงอุโบสถ ยังทำเหมือนกับปุถุชน คือเป็นพระธรรมดานั่นแหละ แต่ความคิดของโลก ความคิดของโลกก็เหมือนกับที่ว่าความเพียรของพระอรหันต์นี่ไง เป็นพระอรหันต์แล้วทำไมต้องทำความเพียร ต้องเดินจงกรมอีก ต้องมาภาวนาอยู่ พระพุทธเจ้าก็ทำ นี่มันถึงมีในความเพียร ว่าความเพียรของพระอรหันต์กับความเพียรของปุถุชน ความเพียรของปุถุชนคือความเพียรการชำระกิเลส กิเลสมันจะต่อต้าน ลำบากมาก แต่ความเพียรของพระอรหันต์นะ มันเป็นกิริยาที่หมุนไป เหมือนกับอุ่นเครื่องยนต์รถตอนเช้า นี่เครื่องยนต์รถตอนเช้าอุ่นทุกวันๆ เครื่องยนต์มันจะแข็งแรง แล้วมันจะใช้งานได้ดี ถ้าเครื่องยนต์นี้ไม่เคยอุ่นเลย นี่เก็บไว้

ธาตุกับขันธ์ เห็นไหม หัวใจ ขันธ์ ๕ กับจิตมันคนละอัน ไม่ใช่อันเดียวกัน มันอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่มันจะเกาะเป็นเนื้อเดียวกัน นี่มันทำให้เบื่อหน่าย ทำให้เบื่อหน่าย ทีนี้พอภาวนาเข้าไปจิตมันจะแยกออก นี่วิหารธรรมอยู่ตรงนี้ไง ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต แยกออกจากกัน ว่าง สบายอยู่นั่นน่ะ นี่ความเพียรของพระอรหันต์อยู่ตรงนี้ ตรงที่แยกอารมณ์กับแยกจิตออกจากกัน สบายๆ อยู่ตลอด มันว่างอยู่ นี่วิหารธรรม ถ้ามันไม่เข้าใจตั้งแต่ตรงนั้น ก็ไม่เข้าใจเรื่องตรงนี้ไง

เรื่องว่าถ้ามีความผิดอยู่เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ มีความผิดอยู่ คือเป็นอาบัติปาจิตตีย์ บอกกล่าวกับอนุปสัมบัน แต่การบอกกล่าวเป็นการเทศน์ เป็นการเทศนาว่าการ ถ้าไม่อย่างนั้นจะบอกว่า จากใจดวงหนึ่งให้ใจดวงหนึ่งได้อย่างไร? ก็จากความรู้สึกจากใจของผู้ปฏิบัติบอกเป็นวิธีการ มันบอกออกมา ชี้ทางไง บอกไปในการชี้ดำเนินทาง ชี้ช่องทางให้ไป ไม่ได้บอกเพื่อให้เขาศรัทธาให้เขาอะไร เพราะมันไม่มีเรื่องนั้นอยู่แล้ว บอกให้เขาศรัทธา บอกให้เขาหลงใหล ไม่มี แต่ในการบอกกล่าวในการดำเนิน ถ้าไม่อย่างนั้นจะไปหาครูหาอาจารย์ทำไม?

นี่พระกรรมฐานที่ติดครูติดอาจารย์ติดตรงนี้ไง ติดที่ความอ่านเข้าไป เห็นไหม แผนที่เหมือนกัน อ่านเข้าไป แต่พิกัดอ่านต่างกันหมดเลย พิกัดจะอ่านต่างกันหมด แล้วความเห็นจะต่างกัน ฉะนั้น ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎก อ่านธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่เราเอากิเลสเราอ่านด้วย หลวงปู่มั่นบอกไว้ในมุตโตทัยข้อที่หนึ่งเลยนะ ทองคำไง ทองคำที่บริสุทธิ์ ต้องปฏิบัติเหมือนทองคำที่บริสุทธิ์

พระอรหันต์เท่านั้นนี่ธรรมแท้ๆ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ทองคำนี้เปื้อนดิน เปื้อนดินคือกิเลสของเราไง แล้วเรากิเลสล้วนๆ ไปอ่านพระไตรปิฎกมันไม่ใช่ทองคำเปื้อนดินนะ มันดินปิดทองคำต่างหาก เอาความเห็นเข้าไปปิดทองคำนั้นทั้งหมดเลย ไม่เห็นทองคำนั้นเลยต่างหากล่ะ นี่มุตโตทัยข้อแรกเลย ฉะนั้น พอความเข้าใจตรงนี้เป็นดินอยู่แล้วก็เลยปิดตรงนี้ แล้วยึดมั่นไง ยึดมั่นว่าพระไตรปิฎกว่าอย่างนั้น ก็พูดแง่เดียว ไม่รอบคอบไง ไม่รอบคอบ ดูอย่างมรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มรรคหยาบๆ เห็นไหม ถ้าไม่มีมรรคหยาบก็ไม่มีมรรคละเอียด

อย่างเช่น สมาธิ สมาธินี่ทุกคนว่าสมาธิสำคัญมากเลย แต่ทางอภิธรรมเขาว่านะ บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ กับสมาธิไม่มี เขาว่าไม่มีสมาธิ สมาธิไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มันมีเป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่สมาธินี่ไม่เกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้าไม่มีสมาธิมาแยกออก ความเห็นสติปัฏฐาน ๔ มันเห็นเป็นโลกียะไง ความเห็นเป็นโลกียะหมด มันต้องอาศัยสมาธิ แต่ว่าสมาธินี้มันไม่ใช่ทาง มันไม่เป็นวิปัสสนา มันไม่ใช่รู้ธรรม ถ้ารู้ธรรมนี่มันต้องรู้เห็นตามความเป็นจริง แต่รู้เห็นตามความเป็นจริงของคนที่มีกิเลส กับรู้เห็นตามความเป็นจริงของมรรคที่มันเดิน มรรคนี้มันถึงมี ถึงว่ามรรค ๔ ผล ๔

มรรคของโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค เห็นไหม มรรคยังไม่เหมือนกันเลย ความเห็นไม่เหมือนกัน ความเห็นในกายไม่เหมือนกัน ความเห็นของโสดาบันอย่างหนึ่ง ความเห็นของสกิทาอย่างหนึ่ง ความเห็นของพระอนาคาอย่างหนึ่ง ความเห็นของพระอรหันต์อีกอย่างหนึ่งเลย นี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด ถ้าเอาความเห็นของพระโสดาบันอย่างเดียวมันจะก้าวเดินไปไม่ได้ไง มันจะขึ้นไปไม่ได้ นี่มรรคหยาบ แต่ถ้าไม่มีตรงนี้มันก็ไปไม่ได้ มันจะขึ้นไปข้างบนไม่ได้

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ความเห็นของปุถุชน ความเห็นว่าผิดไม่ได้ ผิดคือผิดไง ผิดไม่ได้ๆ แต่เจตนา ถ้าไม่มีเจตนามันไม่เป็นความผิด ฉะนั้น มันก็เลยยกมาพระโมคคัลลานะนี่แหละ ทำไมพระโมคคัลลานะเหาะหนีขึ้นไปยังได้เลย ทำไมปล่อยให้ทุบจนแหลก แล้วมหัศจรรย์ที่ว่าทุบจนแหลกแล้ว พอโจรไปแล้วยังสมานร่างกายนั้นกลับมา เห็นไหม ไปลาพระพุทธเจ้าก่อน ลาพระพุทธเจ้าเสร็จแล้วกลับมาที่เก่าแล้วคลายออก พอคลายออกร่างกายเละอย่างเก่า แหลกหมดเลย

นี่ฤทธิ์มีขนาดนั้น เหาะหนีได้ อะไรได้หมด พระอรหันต์ทำได้หมด แต่ต้องปล่อยไปตามความเป็นจริงไง เชื่อเรื่องของกรรม สอุปาทิเสสนิพพาน ในเมื่อร่างกายยังมีอยู่ กระทบอยู่ สังเกตได้ ครูบาอาจารย์เวลาหมดไปแล้วจะมีเรื่องอย่างนี้มาก เพราะมันชาติสุดท้าย พอชาติสุดท้ายมันจะตามมาเล่นกัน ตามมาทวงไง ตามมาทวง ตามมาแบบว่าหมดนี้ไปก็หมดแล้ว หมดเป้าไง เหมือนจอภาพกับคลื่นที่ส่งมา ยังมีจอภาพอยู่มันจับต้องได้ ทำลายจอภาพนั้นมีแต่คลื่นแล้ว มันเป็นนามธรรมหมดแล้ว ไม่มีแล้ว ความไม่มีอันนั้น จิตอันนั้นมันไม่มี

ความเห็นของเขา ในเมื่อความเห็นของเขาเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น เห็นว่าผิดไง ผิดเป็นอาบัติแล้วเป็นพระอรหันต์ไม่ได้