พุทธเถรวาท
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
มันคิดขึ้นมาไง มันคิดขึ้นมาแล้วมันเห็น พอมันเห็นขึ้นมามันก็เห็นทางออกใช่ไหม ถ้าคนเราไม่ได้คิด ไม่ได้อะไรเลยก็ว่าทำไมเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนั้น เราก็กังวลใจไป กังวลใจ เห็นไหม นิวรณธรรมเกิดตลอด นิวรณธรรมคือกังวล ความระแวง ความคิดมากทำให้เราเป็นทุกข์ตลอด ทำให้เป็นทุกข์ เห็นไหม แล้วใครเอามาให้ล่ะ? ใครเอามาให้? ระแวงมันเกิดมาจากไหน? ความคิดมันเกิดมาจากไหน? มันก็เกิดมาจากความคิดเรานั่นน่ะ
ใครเอามาให้? ก็เราเอามาเอง ถึงว่าความสุขจริงๆ นี่มีความสุขนะ เห็นไหม พ่อ แม่ ลูกมาด้วยกัน มีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส อันนี้ประเสริฐมากที่สุดนะ แล้วอย่างสิ่งอื่นนั่น ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย เครื่องอยู่อาศัยมันต้องมีให้อยู่อาศัยไป แต่เครื่องอยู่อาศัยมากขนาดไหน ถ้าหัวใจนั้นมันเป็นทุกข์ มันก็เป็นทุกข์อยู่
อาจารย์มหาบัวว่า ให้เงินกองเท่าภูเขาเลย คนมันเป็นทุกข์ มันก็ไปทุกข์อยู่บนกองเงิน กองทองนั้น ไปนั่งอยู่บนกองทองคำมันก็ไปทุกข์ร้อนอยู่นั่น เพราะอะไร? เพราะคิดถึงครอบครัวของตัวไง แต่ครอบครัวของตัวมีความสุข แล้วปากกัดตีนถีบมีความสุขกว่านะ ถ้ามองให้เห็นถึงตรงนี้ ปากกัดตีนถีบ แต่ในครอบครัวเรายิ้มแย้มแจ่มใส ทุกข์ ทุกข์ด้วยกัน สุข สุขด้วยกัน มันมีที่พึ่งไง มันวางใจได้ มันวางใจ มันนอนใจ มันสบายใจ มันสบายใจได้อย่างหนึ่ง แต่ถ้ามีมากมีน้อย นี่ถึงว่าความสุขจริงๆ อยู่ที่นี่ คนเรามันไม่เข้าใจความสุข มันมองข้ามกันหมดไง
อย่างหน้าที่การงาน เราทำไมอยากได้ตำแหน่งนั้น ตำแหน่ง... แต่มองการณ์ว่าเรามีเราถึงมาเป็นตำแหน่งนั้นไง นี่ความทุกข์ ความสุข ถ้าคนฉลาดแล้วมันก็พยายามจะทำได้ ฉลาด เห็นไหม เมื่อวานนี้ คิดถึงเขา เขาถามน่ะ อาจารย์ ทำบุญกับพระอรหันต์ กับทำบุญกับพระโพธิสัตว์ อันไหนได้บุญกว่ากัน?
ทำบุญกับพระอรหันต์ได้บุญมากกว่าสิ
เขาบอกว่า อ้าว ทำบุญกับพระโพธิสัตว์ต้องได้บุญมากกว่าสิ ก็ในหนังสือเขียนว่าเณรกับพระไปด้วยกัน เวลาเณรเขาคิดเป็นพระโพธิสัตว์ อาจารย์เขาให้เดินหน้า พอเวลาเณรคิดว่าจะเป็นพระอรหันต์ เขาให้มาเดินหลังอีก
เราบอกว่า เห็นไหมนี่ อาจริยวาท ไอ้หนังสือเล่มนี้เอ็งอ่าน ข้าก็อ่านนะ แล้วไม่ใช่เอ็งอ่านคนเดียว ข้าก็อ่านเหมือนกัน เห็นไหม
ในเมื่อเขาเป็นมหายานเขาคิดของเขาอย่างนั้น เขาเชิดชูของเขา เขาบอกว่า สุขาวดีนี่สูงกว่านิพพานอีก... ยังมีอะไรสูงกว่านิพพานอีกในศาสนาเรา ในศาสนาพุทธด้วยกันต้องยอมรับว่านิพพานนี้สูงสุด สุขาวดีนี่ใหญ่กว่านิพพานอีกนะ เห็นไหม ในเมื่อความเชื่อของเขาเป็นอย่างไร เขาเขียนอย่างนั้น นี่ความเชื่อของฝ่ายมหายานเขาเขียนอย่างนั้นไง ว่าพระโพธิสัตว์จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ จะช่วยโลกมาก พระอรหันต์นี่เป็นคนที่เห็นแก่ตัว เอาตัวรอดไปได้ไง
เราบอกว่าอันนั้นเป็นอาจริยวาท ครูบาอาจารย์เขียน เราก็อ่าน เมื่อก่อนเราก็สงสัย แต่ในเมื่อสิ่งใดก็แล้วแต่มันจะขัดพระไตรปิฎกไม่ได้ พระไตรปิฎกนี่เป็นธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เห็นไหม ทำบุญได้บุญมากที่สุดคือทำบุญกับพระพุทธเจ้า รองลงมาคือพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวาก่อน แล้วพระอรหันต์ แล้วก็พระอนาคา พระสกิทาคา พระโสดาบัน จนลงไปจนถึงกับว่าถ้าไม่มีแล้วเราทำสังฆทานก็เหมือนทำบุญกับพระพุทธเจ้า แล้วตรงไหนมันมีล่ะที่ว่าทำบุญกับพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์นี้เป็นปุถุชน
เรายกเรื่องของหลวงปู่มั่นไง อาจารย์มหาบัวเล่าให้ฟัง หลวงปู่มั่นเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน ตั้งใจเป็นพุทธภูมิ ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็มาภาวนาของท่าน หลวงปู่มั่นเล่าให้อาจารย์มหาบัวฟัง อาจารย์มหาบัวมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังประจำ เวลาจะคิดย้อนกลับไปวิปัสสนา ทำความสงบได้ ความสงบนี่ใครก็ทำได้ ความสงบของใจพื้นฐานเดิมมีอยู่แล้ว พระโพธิสัตว์ก็ทำความสงบได้ อยู่ในฌานโลกีย์ แต่ไม่สามารถยกขึ้นวิปัสสนา นี่เป็นปุถุชน แล้วทำบุญกับปุถุชน กับทำบุญกับผู้ที่สิ้นกิเลส เนื้อนาบุญ คนๆ หนึ่งเราทำบุญกับดินที่ไม่สมบูรณ์กับดินที่สมบูรณ์ เราหว่านพืช อันไหนมันจะได้มากกว่ากัน
อันนี้พระพุทธเจ้าพูดนะ พระพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก แล้วหลวงปู่มั่นเล่าให้อาจารย์มหาบัวฟังว่า เวลาจะย้อนกลับนะ พอจิตมันสงบ คือจะย้อนวิปัสสนานี่มันเสียดาย มันอาลัยอาวรณ์กับสมบัติเดิมที่เราสะสมบารมีมา มันไม่ทำ พอจะย้อนกลับวิปัสสนา มันลังเล มันสงสัย มันเสียดาย มันอาลัยอาวรณ์ มันยอกใจๆ
ท่านแก้อยู่นาน หลวงปู่มั่นนี้ท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ามาก่อน ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ไง เป็นพุทธภูมิ ถึงอยู่ที่อุบลฯ อยู่บ้านนอกก็เป็นหัวหน้าของคน ในวัยรุ่นก็เป็นหัวหน้าของวัยรุ่น เป็นหัวหน้าคน ไปเที่ยวไหนก็เฮฮากันไป นี่พระโพธิสัตว์ แต่พอบวชเป็นพระแล้วหลวงปู่เสาร์ไปเอาออกมา มาบวชเป็นพระให้ได้ แล้วตัวเองจะแก้ไขตัวเอง พอจะยกขึ้นวิปัสสนา มันเสียว มันอาลัยอาวรณ์ไง อาลัยอาวรณ์ เห็นไหม ถึงบอกพระโพธิสัตว์นี้คือปุถุชน ปุถุชนคือคนที่มีกิเลสอยู่ เนื้อนานั้นยังไม่สมบูรณ์ ถึงว่าท่านจะเป็นโพธิสัตว์นะ ท่านปรารถนาจะช่วยโลกก็เป็นปุถุชน กับทำบุญกับพระอรหันต์ นี่ในพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนั้น
ฉะนั้น คำสอนในหนังสือของเขานั้นเป็นความเห็นของเขา เป็นความเห็นของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เขาเห็นอย่างนั้นไง ครูบาอาจารย์ของเขาคือฝ่ายมหายานเห็นอย่างนั้น ความเห็นของอาจริยวาท ไม่ใช่ว่าความเห็นของศาสดา แล้วอะไรจะมาขัดกับความเห็นของศาสดาได้ล่ะ เออ... พูดให้เขาฟังเมื่อวาน
เราก็อ่าน เมื่อก่อนเราก็สงสัยมาก่อน นี่เวลาท่านพูดถึงบอกว่าเวลาเราอ่านหนังสือไป อ่านตำราไป อ่านแผนที่ไปเราก็ลังเลสงสัยไป แล้วเจอแผนที่ปลอมอีกต่างหาก แผนที่เทียบเคียง แผนที่ไม่ใช่แผนที่จริง อ่านแล้วยังหลงทาง
บอก ไม่จริง ทำบุญกับพระพุทธเจ้า ทำบุญกับพระอรหันต์ได้บุญมากกว่า เขาลงใจ เอาเหตุผลมายกจนเขาลงใจ นี่เขาก็ศึกษามาขนาดนี้ อยู่กับครูบาอาจารย์มาอย่างนี้นะ แต่ในเมื่อหนังสือนี้เขียนมาในของฝ่ายมหายาน เขาเชื่อทันทีเลย เห็นไหม ว่าพระพูด แต่พระพูดมันก็ผิด พระพูดเพราะพระองค์นั้นยังไม่รู้แจ้ง ยังไม่รู้จบ มันก็ผิด เห็นไหม
ถึงว่าปัญญาของผู้ที่เห็น มีครูบาอาจารย์ชี้นำนี่ถูกต้องดีงามมาก ดูอย่างเช่นหลวงปู่มั่นนะท่านเป็นของท่านเองมาก่อน ในหัวใจทุกข์ยากอย่างไรมาก่อน นี่อาจารย์เล่าให้ฟัง เวลาหลวงปู่มั่นท่านไปเอาเจ้าคุณอุบาลีที่วัดเจดีย์หลวงก็อย่างนี้ เถียงกันอยู่อย่างนี้นะ ทุกข์นะ เกิดตายนี่ทุกข์มาก ทุกข์มาก เพราะเจ้าคุณอุบาลีนี้ก็เป็นพุทธภูมิ หลวงปู่เสาร์ก็พุทธภูมิ หลวงปู่มั่นไปแก้ได้หมด คนที่จะแก้ได้ต้องผ่านจากความเห็นผิดนั้นมาก่อน ผ่านอุปสรรคนั้นมาก่อน แล้วไปแก้ได้หมด จนเจ้าคุณอุบาลีกลับมาวิปัสสนา แล้วในประวัติหลวงปู่แหวน เจ้าคุณอุบาลีพูดเอง เจ้าคุณอุบาลีนี้เป็นผู้ที่ว่าเป็นนักปราชญ์ของเมืองไทย
พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ปรารถนาพุทธภูมิ ปัญญานี่กว้างขวางมาก เทศน์ทีหนึ่งในกรุงเทพฯ จะร่ำลือไป ๓ วัน ๗ วัน ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังนะ ถ้าท่านเทศน์ทีหนึ่ง พวกสามล้อถีบ สมัยนั้นมีสามล้อถีบ สามล้อถีบจะจำคำพูดท่านไปพูดเล่นกันอยู่เป็นอาทิตย์เลย ถ้าท่านเทศน์ทีหนึ่งนะ นี่ปัญญาขนาดนั้น หลวงปู่มั่นบอกว่า ทุกข์นะ เกิดตายนี่ทุกข์นะ ที่วัดเจดีย์หลวง เอาจนเจ้าคุณอุบาลีค่อยหันกลับมาวิปัสสนา ขนาดข้างนอกสอนเข้ามา ข้างในมันก็ต้องอาลัยอาวรณ์เหมือนกัน ข้างในตัวเองมีสมบัติอยู่ ตัวเองต้องอาลัยอาวรณ์สมบัตินั้น
แต่เวลามันวิปัสสนาพ้นไปแล้ว เจ้าคุณอุบาลีพูดไว้ในประวัติหลวงปู่แหวนไง ความรู้ของปริยัติเหมือนกับแผ่นดิน ความรู้ของวิปัสสนาเหมือนกับแผ่นฟ้า ความห่างไกลกัน การศึกษาสุตมยปัญญากับภาวนามยปัญญา ห่างกันราวฟ้ากับดิน ความเห็นไง ความเห็นของเจ้าคุณอุบาลีเมื่อก่อน คุณูปมาจารย์นี่มีชื่อเสียงมากนะ ไปอ่านในคำเทศน์ของท่านในใบลานสิ เวลาเทศน์นี่เรายังเคยเทศน์เลย เมื่อก่อนเทศน์นี่อ่านใบลานของท่าน จะเลือกใบลานที่ดีๆ ของท่าน เทศน์ที่วัด ของท่านจะเยี่ยมยอดมาก เวลาเทศน์ทีขนาดนั้น
แต่ท่านพูดเอง ท่านพูดเองอยู่ในประวัติหลวงปู่แหวน ไปเปิดดูสิ เราเจอ เจ้าคุณอุบาลีบอกว่า ความรู้ของปริยัติเหมือนกับแผ่นดิน ความห่างนะ แต่ความเห็นของวิปัสสนา การประพฤติปฏิบัติ ปฏิเวธ นี่ห่างกันราวฟ้ากับดิน แผ่นฟ้าไง ฟ้ากับดิน
นี่เจ้าคุณอุบาลีพ้นไป พ้นไปเพราะอะไรล่ะ? เพราะว่าท่านเกิดมาร่วมชาติกับหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นผ่านไปก่อน หลวงปู่มั่นต้องมีอาชาไนยกว่าถึงแก้ไขความเห็นตัวเอง ดัดนิสัยของตนเองได้ ดัดความเห็นภายในนี่ยากมาก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนดัดตนนี่แสนยาก เรามีลูกใช่ไหม เราพยายามบังคับมัน ลูกมันก็ยังเถียงอยู่ แต่นี่เราดัดตนเอง แล้วหลวงปู่มั่นดัดตนเองก่อน
ท่านเล่าให้ฟัง เราซึ้งมาก เพราะอาจารย์มหาบัวเล่าต่อ บอกว่า โอ้โฮ เวลาย้อนกลับไปนี่มันอาลัยอาวรณ์ อาลัยสมบัติเดิมของตัวเอง แต่ก็พยายามคิดพิจารณาดูแล้วมันทุกข์ไง พิจารณาจนพ้นไป พ้นไปได้ก่อน ถึงไปแก้คนอื่นได้ นี่เพราะปัญญาบารมีขนาดนั้นไง ขนาดที่ว่าตัวเองก็ต้องแก้ของตัวเองได้แล้ว ถึงแก้ของคนอื่นได้สบายๆ แล้วถ้าพูดถึงพระอย่างสาวกะ แล้ววิปัสสนาขึ้นมา จะรู้ตรงนี้ได้อย่างไร
เป็นสาวกะนะ เป็นสาวกนี่เฉพาะแก้กิเลสตัวก็ทุกข์แสนทุกข์อยู่แล้ว แล้วยังไปแก้กิเลสของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์มันก็ต้องกิเลสหนากว่า กิเลสหนากว่า ว่าอย่างนั้นเลยนะ กิเลสต้องมากกว่าปุถุชนธรรมดาเนาะ กับสาวกะวิสัยใช่ไหม สาวกะก็ทุกข์อยู่แล้ว พระโพธิสัตว์นี่ปรารถนาพุทธภูมิ บารมีใหญ่มาก แต่ก็ต้องทุกข์มาก เพราะความยึดมั่นมันมากกว่า เห็นไหม แต่ท่านบอกว่าทำบุญกับพระโพธิสัตว์จะมากกว่าทำบุญกับพระอรหันต์ เป็นไปไม่ได้! เถียงหัวชนฝาเลย เราเอาเหตุผลมาอ้างให้เขาจนเขายอมรับ
แต่เรามาคิดมุมกลับตรงนี้ไง เห็นไหม ขนาดปัญญาขนาดนี้ เป็นผู้อุปัฏฐาก เขาเคยบอกว่าเขาอุปัฏฐากหลวงปู่ชอบ อุปัฏฐากครูบาอาจารย์มาทั้งนั้นนะ เคยเข็นรถให้หลวงปู่ชอบนั่ง อยู่ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์เรา แต่อ่านหนังสืออย่างนี้ทำไมเชื่อ เห็นไหม เชื่อเพราะอะไร? เชื่อเพราะความเห็นของตัว เห็นว่าหนังสือนี้เป็นตำรา เป็นสิ่งที่ว่าสังคมยอมรับ
บอก เราก็อ่านเจอนะหนังสือเล่มนี้ เป็นของมหายาน เราอ่านหมดล่ะ เราศึกษาหมด เมื่อก่อนชอบมาก ค้นคว้าทุกอย่าง ชอบ ชอบตรงนี้ ค้นคว้าว่าอันไหนมันจะเป็นทางลัด ถึงได้ซึ้งใจไง เวลาใครมาถาม อ้าว ไปไหนทางลัด ทางลัดไม่มี มีแต่ทางตรง นึกว่ามันจะลัด มันไม่ลัดหรอก มันกลับอ้อม ไอ้ว่าจะลัดนะ ลัดให้แคบๆ ให้ไปให้ถึงเลยนะ นี่มันซึ้งใจเจ้าของ ซึ้งใจตัวเอง จะหาทางลัดแล้วไม่เคยเจอ มีแต่อ้อมตกทะเลไปก่อนแล้วค่อยขึ้นมาตั้งต้นใหม่ อ๋อ นี่ทางลัดๆ
ถึงบอกว่า ใครบอกว่ารู้จักทางลัดไหม ถึงจะแก้เขาเลยนะ ทางลัดไม่มี พระพุทธเจ้าสอนทางตรงเปี๊ยะเลย เข้าหาอริยสัจ แต่เราคิดว่าผู้มีปัญญาจะหาทางลัดกัน ตกทะเลไปก่อน เปียกม่อลอกม่อแลกเลยแหละ แล้วค่อยมาตากเสื้อผ้ากว่ามันจะแห้ง แล้วค่อยมาหาทางตรง นี่ไงมีแต่ทางตรงเข้าหาอริยสัจ แต่ของเราไม่ได้เขียนอย่างนั้น แต่ตำราของฝ่ายมหายานเขาจะเขียนว่าอันนี้ทางลัด ไอ้พวกเรานี่เป็นพวกทางอ้อม จริงๆ แล้วมันไม่มีทางลัดหรอก ลัดขนาดไหนปฏิบัติเข้าไปสิ บารมีธรรมของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน
นั้นถึงบอกว่า ถ้าเอาขีดความจำกัด เอาตามวิทยาศาสตร์มาว่าเลยนะ มรรค ๘ เห็นไหม แค่ไหนของสมาธิถึงว่าควรจะเป็นพอดีของมัชฌิมา แค่ไหนของความเห็นใช่ไหม ทิฏฐิคือปัญญาความเห็นนี่แค่ไหน ความเพียรแค่ไหน ความเพียร ความวิริยอุตสาหะมีแค่ไหน แต่มันไม่ใช่ จริตนิสัยคนต่างกัน โมหจริต โทสจริต ราคจริต เห็นไหม จริตก็ต่างกัน ความเห็นก็ต่างกัน ความยึดมั่นก็ต่างกัน
อย่างที่ว่านี่ อย่างพระโพธิสัตว์ก็ต้องยึดมั่นมากกว่า สาวกะก็ยึดน้อยกว่า แล้วคนที่แบบว่าจริตนิสัยจาง ความยึดเหนี่ยวจาง จางไปมันก็ง่ายกว่า ไอ้คนที่โทสจริต มันก็ขี้โกรธมันก็ต้องมากกว่า แล้วมรรคตรงไหนพอดีล่ะ ถึงว่าเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา นี่ศาสนาพุทธเราสอนอย่างนั้นนะ
แล้วย้อนกลับมาอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ระแวงสงสัย ความคิดวิตกกังวลนี่ ใครหามา ความทุกข์จริงๆ คือชาติปิ ทุกขา ชาติความเกิดเกิดขึ้น พอชาติความเกิดเกิดขึ้น ภวาสวะมี ใจเกิดขึ้นเป็นภพขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน รับรู้สิ่งต่างๆ สะสมลงที่ใจทั้งหมด เห็นไหม ชาติคือความเกิดของเรานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการรับ ภาวะต่างๆ เกิดขึ้นเพราะมีชาติ ไอ้วิตกกังวล ระแวง ไอ้ความนั่น... จรมาทั้งนั้น จรมาทั้งนั้น ทุกข์เด็กๆ ทุกข์แค่อาศัยมา ทุกข์เพราะเราไปยึด ทุกข์เพราะเราไปจับต้อง ถ้าไม่จับต้องมันก็หลุดออกไป
ถ้าทำลายชาติ ทำลายภพ ทำลายชาติ ทำลายสิ่งที่มันจะไปวางอยู่ สิ่งที่รองรับอยู่ ภาชนะที่รองรับความทุกข์ทั้งหมดมันไม่มี แล้วไอ้อย่างนี้มันจะไปวางไว้ที่ไหน เห็นไหม ทำลายอวิชชา ภวาสวะ ภพของใจหลุดออกจากใจไปทั้งหมด มันไม่มีอะไรที่จะวางไว้ได้ มันว่างหมด แล้วมันทุกข์มาจากไหน? ทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่การเกิดและการตาย การได้ภาวะของมนุษย์มาไง การได้ภาวะของเทวดามา เทวดายังรบกัน เทวดายังแย่งนางอัปสรกัน เทวดายังแย่งนางฟ้ากัน เทวดาก็ยังแย่งกัน พรหมก็เหมือนกันยังไปสุขไปทุกข์อยู่ ไปผัสสะอ่อน ผัสสะแข็งอยู่อย่างนั้นอยู่ข้างบน
นี่เพราะมีภาวะการเกิด ชาติปิ ทุกขานี้ ทุกข์อริยสัจอันแรกเลย แล้วอันอื่นจรมาทั้งหมดเลย แต่เวลาอันนู้นทุกข์ อันนี้ทุกข์ แต่ลืมไปเลยว่าทุกข์นี้มันวางอยู่บนอะไร ทำลายสิ่งนั้นปั๊บ ไอ้สิ่งที่ว่าทุกข์ๆ นี้ไม่มี ว่างหมด หลุดหมด เพราะมันวางไว้ไม่ได้ บ้าเรอะ ภาชนะที่จะใส่ยังทำลายไปแล้ว แล้วไอ้สิ่งนี้จะไปวางไว้ที่ไหน? ก็ถือไว้ที่มือสิ ถือไว้ที่ใจก็ไม่ได้นะ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นอนิจจัง มันต้องปล่อยไปธรรมชาติของมัน แล้วไม่มีที่วางอีกต่างหาก ไม่มีที่วาง ไม่มีที่ไว้อยู่แล้ว นี่มันหลุดออกไป
ชาติปิ ทุกขา อริยสัจไง ข้อแรกเลย ทุกข์ ทุกข์คืออะไร ชาติปิ ทุกขา มรณัมปิ ทุกขัง เห็นไหม ไปเรื่อย เกิด แก่ เจ็บ ตาย อารมณ์ที่เกิดขึ้น ความแปรปรวน ทุกอย่างที่ไม่สมใจ นี่ไปเรื่อยละ หยาบไปเรื่อยๆ แต่เราไปคิดอันนั้นเป็นเรื่องใหญ่ พอคิดเป็นเรื่องใหญ่มันก็ไปไม่รอดน่ะสิ
นี่ศาสนาสอนอย่างนั้น มีปัญญา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น นี่ทาน ศีล ภาวนา เราให้มีทานก่อน ทานก็ทานที่ใจนั่นน่ะ ภวาสวะ เห็นไหม ภาชนะที่ใจเกิดขึ้น ดำริเกิดขึ้น นี่มันละเอียดตรงนั้น แต่มันละเอียดอ่อนจนเรามองไม่เห็นไง ถึงไม่มีใครรู้จักตนเลย รู้จักแต่คนอื่น มองเห็นแต่ข้างนอก ดวงตาทุกดวงตาส่งออก ดวงตาทุกดวงตาไม่เห็นดวงตาของตัวเอง ต้องหากระจกมาส่องเข้าไปจนเห็นหน้าของตัวเอง ดวงตานี้ไม่เคยเห็นหน้าของตัวเองเลย เห็นแต่เรื่องของคนอื่น กระจกเท่านั้น
ธรรมะก็เหมือนกัน ธรรมะเหมือนกระจกย้อนกลับมา เหมือนกระจกเพราะมันเป็นสิ่งกระทบเข้ามา แต่ถ้าเราทำขึ้นมาแล้ว ดวงตานั้นดวงตาเห็นธรรม ดวงตาย้อนกลับภายใน ดวงตาเห็นกิเลสทั้งหมด ไม่ใช่กระจก กระจกนี้มันธรรมของพระพุทธเจ้าไง กู้ยืมมา ธรรมพระพุทธเจ้าคือศึกษาเล่าเรียนมา เห็นไหม ถึงบอกปริยัตินี้เหมือนกับแผ่นดิน แต่พอปฏิบัติแล้วเหมือนแผ่นฟ้า แผ่นฟ้าเพราะอะไร? มันเวิ้งว้างไปหมด มันรู้ไปหมด
นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะมันเกิดขึ้นแล้ว ดวงตาสว่าง ดวงตาเห็น ดวงตาย้อนกลับ ดวงตาเห็นทั้งหมดเลย ถึงว่ามันถึงแก้ทุกข์ได้จริงไง ถึงว่าศาสนาพุทธเรานี้ประเสริฐมาก เยี่ยม เยี่ยมจริงๆ เลย ถึงบอกว่ามีวาสนา ทุกคนมีวาสนานะ เกิดมาพบพุทธศาสนา ทำบุญกุศล ให้ทานนี่อย่าไปมองข้ามว่าเราให้ไปแล้วพระจะสะดวกสบาย พระนี่เอาเปรียบสังคม พระนี้ไม่ทำงาน เอาแต่อาศัยของเรามีความสุข
พระ นี่พระ เห็นไหม เนื้อนาบุญของโลก จะเป็นเนื้อนาบุญของโลก พระก็ทุกข์มาก่อน ไอ้กิเลสตรงนั้นเรารักษาให้ดี แล้วเราจะพยายามทำของเรา สะสมเข้าไป บุญกุศลมันย้อนกลับนะ ย้อนกลับมา นี่ที่สละออกมาของโยมทั้งนั้นเลย อาจารย์มหาบัวบอก พระเปรียบเหมือนกับนา โยมเปรียบเหมือนกับเจ้าของนา หว่านลงไปในนา ข้าวเกิดขึ้นมา เจ้าของนาเก็บข้าวไปหมดเลย เก็บแต่ข้าวไป บุญกุศลเก็บไป
นานั้นได้แต่ฟางข้าวไง ฟางข้าวที่ตกอยู่ที่นานั้น พระเหมือนนาได้แต่ฟางข้าว เห็นไหม คนที่ทำบุญได้บุญไป แล้วพระได้แต่ฟางข้าว ฟางข้าวเฉยๆ มันไม่ได้บุญกุศลเกิดจากพระฉัน หรือพระใช้ของอยู่แล้วไปประพฤติปฏิบัติ นี่อริยสัจเกิดขึ้นจากภายใน อันนั้นบุญกุศล เห็นไหม ผู้ที่มีธรรมแล้วจะมาสอน ทำไมพระเจ้าพิมพิสารบอกพระเจ้าชายสิทธัตถะ ถ้าปฏิบัติธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้วขอให้มาสอนด้วย
เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงย้อนกลับไปสอนพระเจ้าพิมพิสาร เพราะมีข้อสัญญากันไว้ก่อนที่จะออกแสวงหาโมกขธรรม เห็นไหม พระเจ้าพิมพิสารไม่รู้ธรรม จนพระพุทธเจ้าไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จนพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบันขึ้นมา นี่ธรรมอันนี้ประเสริฐ สิ่งที่ประเสริฐ มันเป็นสิ่งนามธรรมที่เรามองไม่เห็นในศาสนาเรา ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด
เราถึงว่าเราทำนี้ถึงเป็นประโยชน์ของเรา ศาสนานี้ประเสริฐมาก ทำแต่ทานเข้าไปก็ทาน ศีล ภาวนา เราต้องได้ถึง เราต้องเข้าใจสัจจะ สัจจะเข้าใจ ใจมันประสบ ประสบธรรมเอง แล้วเราจะประสบความสุขจริงในชีวิตของเรา เอวัง