เทศน์เช้า

ประเพณีกับความจริง

๗ ส.ค. ๒๕๔๒

 

ประเพณีกับความจริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเจอกัน เราจะทักกัน เห็นไหม เวลาเจอกัน ทักกันว่าสบายดีไหม? ทุกคนจะถามว่าสบายดีไหม? นี่ประเพณีไง สบายดีไหม? เศรษฐกิจอย่างนี้มันไม่มีใครสบายหรอก แต่ก็ต้องทักกันว่า “สบายดีไหม?” จะทักเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย สบายดีไหมก็ต้องว่าสบายดี นี่มรรยาทสังคม มรรยาทสังคมมันพยายามจะทำให้เราอยู่ในประเพณีวัฒนธรรมไง ประเพณีวัฒนธรรมมีแต่เอาความดีเข้าหากัน แต่เอาความทุกข์ซ่อนไว้ในหัวใจไง เอาความดีเข้าทักทายกันนะ

“เป็นยังไร สบายดีไหม?”

“เฮ้อ สบายดี” เฮ้อ ต้องเฮ้อก่อนนะ สบายดี เห็นไหม

นี่ประเพณีวัฒนธรรม ถึงบอกประเพณีวัฒนธรรมดีเยี่ยมเลยสำหรับผู้ที่ว่าหยาบ ผู้ที่หยาบ จนประเพณีวัฒนธรรม ศีลธรรม จริยธรรม จนประเพณีวัฒนธรรมของเราขายได้นะ ยิ้มสยามนี้ขายได้เลย เขาบอกไม่เคยไปที่ไหนจะมียิ้มสยามหรอก มีความร่มเย็น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันเหมือนเมืองไทย นี่ประเพณีวัฒนธรรม มันดี ดีสำหรับคนที่หยาบๆ ดีสำหรับสังคม สังคมเขาอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เพราะประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม

แม้แต่ประเทศอังกฤษเขามีรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เขียนไง เพราะมันเป็นประเพณี ทำตามประเพณีวัฒนธรรมของเขา รัฐธรรมนูญนี้ไม่ต้องเขียนเป็นอักษร เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรม ถ้าสังคมเชื่อแล้วมันมีอำนาจเหนือกว่ากฎหมายอีก

กฎหมายยังต้องยอมรับกฎหมายใช่ไหม? แต่ประเพณี ถ้าทำผิดแล้วมันยอกใจตัวเอง คนจะไม่ทำผิดจากประเพณีวัฒนธรรม ยกเว้นแต่คนผ่าเหล่าผ่ากอก็ทำออกประเพณีไป แต่เรานี่เป็นผ่าเหล่าผ่ากอหรือ? ไม่ใช่ มันละเอียดลึกซึ้งลงไปกว่าประเพณีวัฒนธรรม พระพุทธเจ้า เวลาพระจำพรรษาแล้วออกไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะถามทุกทีเลยว่า

“เป็นอย่างไร? ทุกข์พอทนอยู่ได้หรือ?”

ท่านจะถามทุกทีนะ จะถามว่า “เป็นอย่างไร? ทุกข์ที่เกิดขึ้น เธอพอทนอยู่ได้หรือ?”

นี่คนรู้จริง เห็นไหม ไม่ใช่ถามว่า สบายดีหรือหรอก ถามว่าพอทนทุกข์อยู่ได้หรือ? ทุกข์ที่เป็นอยู่นี่พอทนอยู่ได้หรือ? พระที่ไหน หรือโยมไปไหน จะไปกราบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะถามอย่างนี้เลย

“ทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ? พอเจือจานไปได้หรือ?”

พระจะตอบเลยว่า “พอทนอยู่ได้พระเจ้าค่ะ ทุกข์นี้พอทนอยู่ได้”

นี่คนไม่ประมาทไง ประเพณีคือการให้เข้าหากันด้วยความสมาน ให้เข้าหากันด้วยความสนิทเป็นปึกแผ่น แต่ความจริงคือทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ? ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ มันก็ต้องจิ้มเข้าไปหาทุกข์ใช่ไหม? เราจะแก้ไขทุกข์ เราต้องเหวี่ยงเข้าไปหาทุกข์ เพื่อจะกำจัดทุกข์ให้ได้ ทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ? มันแค่มีอยู่จริงไง พอทนอยู่ได้หรือ? แล้วพระพุทธเจ้าถามทุกคนนะ เวลาปฏิสันถารเข้ามา

“ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ? ทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ?”

ก็ต้องว่า “พอทนอยู่ได้พระเจ้าค่ะ”

เพราะ เพราะมีธรรมของพระพุทธเจ้านี้คอยควบคุมไว้ไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ว่าพยายามทำสมาธิให้เกิดขึ้น ทำใจให้สงบ พยายามเบี่ยงเบนหัวใจที่มันกินทุกข์อยู่ ให้เบี่ยงเบนมากินธรรมไง เบี่ยงเบนความคิดของเรา จากอาหารที่เป็นอารมณ์เป็นความทุกข์อยู่ มันเกาะเกี่ยวกับความทุกข์ที่มันบีบบี้สีไฟ ให้มากินธรรมคือพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือว่าการสละทานออกไป การจำกัดศีล นี่ธรรมทั้งนั้นนะ ธรรมอย่างหยาบๆ แล้วพยายามทำใจให้สงบ มันสงบจากชั่วคราว ถึงว่าทุกข์พอทนอยู่ได้ไง

อาจารย์มหาบัวบอกว่า “ถ้าจิตนี้เป็นสมาธิ พออยู่พอกิน”

จิตของใครทำความสงบได้นี่พออยู่พอกินเลย ทุกข์นี้มันสงบตัวลง ทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ? ทุกข์นี้สงบตัวลงชั่วคราวต่างหากล่ะ ทุกข์นี้สงบตัวลงชั่วคราว เราก็อิสระเป็นการชั่วคราว นี่มันชนะทุกข์ชั่วคราวด้วย ไม่ใช่ว่าทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ? นี่ถึงว่าประเพณีวัฒนธรรมเป็นอย่างนั้น ถ้าเรายึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรม เราจะเข้าไม่ถึงตรงนี้ไง ถึงเป็นจินตมยปัญญา

สุตมยปัญญานี่ศึกษาประเพณีกัน นี่โบราณเขาทำกันอย่างไร? ผู้แก่ ผู้เฒ่าทำอย่างไร ก็สืบทอดต่อมา ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีแห่พระ ประเพณีพระเวส นี่ประเพณี แล้วคนก็ทำตามกันมาว่าได้บุญกุศลมาก นี่ถ้าเป็นประเพณี เราศึกษาไว้เพื่อจะดำรงศีลธรรม จริยธรรม ดีมากเลย แต่ แต่กิเลสมันพาศึกษานะ มันจะศึกษาแบบเถรส่องบาตรไง เห็นพระยกบาตรขึ้นมองดู เพื่อจะเห็นว่าบาตรนี้มีรอยรั่วชำรุดอยู่ไหม? ทีนี้คนที่ส่องครั้ง ๒ ก็ไม่รู้ว่าเขาส่องเพื่ออะไร? ก็ยกขึ้นส่องบาตรเหมือนกัน ส่องไปอย่างนั้น ส่องยกขึ้นเฉยๆ แต่ไม่ได้สำรวจว่าบาตรนี้มีความชำรุดไหม? คือว่าเหมือนการยกบาตรส่องนี้เป็นกิริยาต้องทำ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าประเพณี เราศึกษาประเพณีเข้าไปโดยที่เราไม่รู้เหตุผลของประเพณีนั้น เราจะยึดแค่นั้น แล้วเราจะทะลุเข้าไปถึงความจริง คือทุกข์นี้ทนอยู่ได้ไหม? ประเพณีวัฒนธรรมถึงว่าทำแล้วได้บุญ นี้คือถือว่าเป็นการแก้ทุกข์อย่างหนึ่งไง วัฒนธรรมของชาวพุทธ คือการสละทานแล้วอันนี้จบ ถือว่าอันนี้ได้ทำบุญแล้ว ได้ทำบุญ พระพุทธเจ้าสอนให้ทานก็ทานแล้ว ฟังธรรมก็ฟังแล้ว แล้วก็ออกไปอยู่เป็นปกติอยู่ คือว่าจิตไม่ก้าวเดินให้ละเอียดเข้าไปไง

จิตนี้ควรก้าวเดินจากที่เราทำอยู่แล้วให้ละเอียดเข้าไป คือว่าประเพณีวัฒนธรรม เหตุผลของประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม เพื่อชักจูงญาติโยมให้เข้ามาถึงศาสนา ให้เข้ามาสัมผัสศาสนา ให้เข้ามาเอาทานนี้ในศาสนาก่อน ชักจูงเข้ามาถึงศาสนาแล้ว ให้ถึงศาสนาแล้ว ต้องได้ดื่มกินความสุขจากศาสนาไง ถึงต้องเข้าไปว่าทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ? ถ้าทุกข์นี้พอทนอยู่ได้ แล้วเราพยายามทำให้เรามีอิสระจากทุกข์ขึ้นมา มันก็จะเริ่มมีการกำหนดจิตใจ ทำจิตใจให้สงบ เริ่มการภาวนา

ทาน ศีล ภาวนา ภาวนามันถึงลึกลงไปจากศีลธรรม ประเพณี ต้องลึกเข้าไปอีก เพราะประเพณีเป็นเครื่องกั้น มันเป็นอยู่ตรงกลาง ดูดดึงฝ่ายหยาบให้เข้ามาหาศาสนา แล้วมันก็อยู่ตรงนั้น เราต้องผ่านเข้าไปให้ถึงหลักความจริงของศาสนาไง สัจจะ อริยสัจจะอยู่ภายในหัวใจ กังวานอยู่ในใจของทุกๆ ดวงถ้าเข้าถึงนะ มันถึงว่าเป็นอกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา จะ ๒,๕๐๐ ปี จะ ๕,๐๐๐ ปีไปแล้ว พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ต่อไปก็กังวานอันนี้ไง มันถึงเป็นอกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ถึงว่าถ้าเราเข้าถึงแล้วกังวานอยู่ในหัวใจของผู้ที่ทุกข์ๆ อยู่นั่นแหละ ถึงว่าทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ?

ประเพณีวัฒนธรรมถึงเป็นส่วนหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นคุณงามความดีอย่างกลาง อย่างละเอียดคือการศึกษา ทำจิตให้สงบเข้าไปภายใน ถึงเวลาคุยกับคนอื่น ที่ว่าเขาหยาบอยู่ ก็ต้องยอมรับว่าอันนั้นถูก เห็นไหม อันนี้ถูกต้อง จากหยาบเข้ามาหาศาสนานี่ถูกต้อง แต่พอเข้าไปแล้วต้องปล่อยวาง มีมากเลยที่เขาศึกษาจากเรื่องวัตถุเข้ามาก่อน อย่างเช่นพระพุทธรูป เสร็จแล้วศึกษาว่ามารุ่นไหน? มาอย่างไร? จนเข้าถึงหลักธรรม ทิ้งหมดเลย สิ่งที่สะสมมา แสวงหาทั้งชีวิตเลย ยกให้คนอื่นไป แล้วตัวเองบอกว่าเดี๋ยวนี้มีพระอยู่ในหัวใจไง ถ้าหาพระอยู่ในหัวใจได้ สร้างพระในหัวใจได้ พระพุทธรูปข้างนอก จะว่าไม่มีความหมายก็มี มีเป็นสัญลักษณ์ไว้กราบไหว้ แต่พระในหัวใจ ใจเป็นพุทโธนี่ พ้นจากโรคภัย พ้นจากเวรกรรม พ้นทั้งหมดเลย แล้วมีพระจากในหัวใจ เห็นไหม

ถึงประเพณีวัฒนธรรมก็มีประโยชน์ แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่เข้าถึงให้เห็นความเป็นจริง เราต้องเข้าผ่านประเพณีวัฒนธรรมอันนี้เข้าไปอีกชั้นหนึ่งไง ถึงว่าประเพณีวัฒนธรรมวางไว้ เราเป็นคนที่ไม่ได้ทำแบบประเพณีวัฒนธรรมอันนั้น เราก็ไม่ใช่คนผิดไง ไม่ใช่ว่าไปทำบุญอย่างนั้นจะไม่ได้บุญนะ ถ้าทำบุญตามพิธีกรรม ต้องถวายสังฆทาน ต้องอะไรถึงจะได้บุญ นี่ประเพณีวัฒนธรรม

แล้วพอเราละเอียดเข้ามา เขาถึงบอกว่าทำบุญกับพระที่ไม่มีโบสถ์ไม่ได้บุญ เขาติดในประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม ถ้าวัดนั้นไม่มีโบสถ์ วัดนั้นไม่มีประเพณี วัดนั้นไม่ได้บุญ ทำไมมันจะไม่ได้ มันยิ่งกว่าได้อีก เพราะมันเข้าถึงสัจจะความจริงที่เขาเข้าไม่ถึงกันอันนี้ต่างหาก ลึกเข้าไป เห็นไหม ถ้าเราจับหลักอันนี้ไว้ได้ นี่มันถึงบอกว่าเราเข้าถึงสัจจะ เป็นแก่นของศาสนาไง เป็นแก่น เราเข้าถึงไม้แก่นในป่า ป่าทั้งป่าจะมีไม้แก่นกี่ต้น?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจเรามีหลัก แล้วเรายึดตรงนี้ได้ เราเป็นไม้แก่น เราก็ชุ่มชื่นใจของเราไง ใจไม่แห้งผากไปแบบคนอื่นเขา เขาทำบุญตามประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมพาไปทำ คือว่าต้องไปทำตามกระแส ตามที่เขาไปทำกัน ทำก็ทำอยู่ บุญก็ได้อยู่ แต่มันแห้งๆ เหมือนบุญพลาสติก เหมือนกดเอทีเอ็ม เดี๋ยวนี้ต้องไปกดเอาเอง แต่นี้เราไม่ใช่บุญพลาสติก มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นเนื้อหา ใจได้ดื่มกินรสของธรรม

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” ไม่ใช่พลาสติก พลาสติกเก็บไว้ได้นาน ไม่เสีย ไม่บูด แต่มันก็กินไม่ได้ เก็บไว้เชยชมเฉยๆ แต่ของที่เป็นธรรมชาติ อย่างเช่นอาหารนี้ อย่างของที่ต้องใช้ต้องสอย มันมีเวลาของมัน อย่างเช่นอาหารมีเวลากี่วัน มันจะบูด มันจะเสียไป แต่มันลิ้มรสนั้นได้ ลิ้มรสความอร่อย ความเป็นคุณค่าทางร่างกายได้ เห็นไหม มันถึงว่าถ้าเราเข้าถึงที่ว่าจากเป็นหัวใจ จากเจตนาตามความเป็นจริงอันนั้นมันเข้าถึงใจจริงๆ ไง เข้าถึงใจถึงว่าทุกข์นี้พอทนอยู่ได้หรือ? เราก็พอทนทุกข์อยู่ แล้วให้มันสงบตัวลง แล้วเราพยายามสร้างคุณงามความดีขึ้นมา อันนี้ถึงจะเป็นประโยชน์ของเราไง ให้เราทำเกิน ทำลึกกว่าประเพณีวัฒนธรรม เกินคือเจตนาตั้งใจจริง ของๆ เราแล้วเราจะพ้นไปไง

เราเป็นคนฉลาด ถึงจะมีแรงเสียดสี การเสียดสีคือการเบียดบี้กัน การพูดถากถางกันว่าต้องทำอย่างนั้นถึงจะได้บุญ นั่นเรื่องของเขา เพราะเขาเข้าไม่ถึงต่างหาก แต่คนที่เข้าถึง ศาสนาพุทธเรา แม้แต่สัญชัย ว่าคนฉลาดมากหรือคนโง่มาก? ถ้าคนโง่มาก ทำอย่างนั้น เห็นทำตามๆ กันไป ถ้าคนฉลาดน้อยกว่า ถึงว่าพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะจะมาอยู่กับพระพุทธเจ้า ศาสนานี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก เราอยากอยู่กับคนโง่ไง พระสารีบุตรบอกว่าคนฉลาดน้อยกว่าคนโง่ ถ้าไปอยู่กับศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุผล ทีนี้คนฉลาดเท่านั้นถึงจะเข้าถึง คนจะเข้าถึงศาสนาพุทธได้น้อย เขาถึงอยากอยู่กับคนโง่ๆ ไง ที่ว่ามันจะหลอกลวงได้ไง

ทีนี้ชักเข้ามาในศาสนาอีก ที่เป็นชาวพุทธ ที่ว่าฉลาดๆ แล้ว ฉลาดในประเพณีวัฒนธรรม ฉลาดในสัจจะ ฉลาดในการเข้าถึง การชำระกิเลส เห็นไหม ความฉลาดก็ยังมีสูงขึ้นไปอีก แล้วเราคนประเภทไหน? ถ้าเราจับตรงนี้ได้แล้ว เรายืนอยู่ ไม้สูงมันแทงขึ้นไปบนยอดมันมีน้อย ต้นหญ้านี่เต็มไปหมดเลย ต้นหญ้านี่ขึ้นแน่นเอียดเลย แต่ไม้ที่แทงยอดขึ้นไปสูงมีน้อย เราถ้าจะเป็นหลักชัยของหัวใจเรา ให้เรามีที่มั่น เรามีที่ยึดเหนี่ยว เราก็ต้องเข้าใจตรงนี้ไง

๑. เราเข้าใจ

๒. เราได้ดื่มกินตามธรรมชาติ ตามความเป็นจริง

ธรรม รสของธรรม ไม่ใช่ธรรมพลาสติกอย่างนั้น ก็เป็นธรรมอยู่ มันสะสมได้ไง ความสะสมนั้นสะสมไว้เชยชม แต่เราดื่มกิน รสของธรรมที่เราสัมผัส อันนั้นถึงเป็นหลักของเรา นี่ถึงว่าประเพณีวัฒนธรรมเป็นอย่างหนึ่ง สัจจะความเป็นจริงเป็นอย่างหนึ่ง ทุกข์การเข้าถึงนั้นเป็นอย่างหนึ่ง เราถึงพยายามหาหลักของเราให้ได้