กรอบของภพ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เขาเรียกว่าไปชาร์ตไฟ นี่ไปเติมไฟ ความไปเห็น ไปเติมไฟหมายถึงเราอยู่เองมันความคิดคนเดียว มันความคิดของคนๆ เดียวไง พอไปอยู่หมู่คณะ มันอยู่หมู่คณะเหมือนสมัยพุทธกาล เห็นไหม จำพระไตรปิฎกกันมาด้วยมุขปาฐะ เวลาสวดมนต์ เวลาสวด ลูกศิษย์ของพระอานนท์จำพระสูตรกันได้หมดเลย สายพระอานนท์นะ แล้วลูกศิษย์ของพระอุบาลีจะจำพระวินัยได้หมดเลย ๒๑,๐๐๐ ข้อ เหมือนกับท่องปาติโมกข์เลย แล้วเวลาสวด เวลาท่องพร้อมกัน ตอนเย็นจะสวดมนต์ แล้วมันจะผิดไม่ได้ไง นี่มันตรง
ถ้าเราไปสวดอยู่คนเดียว เราผิดเราถูกเราไม่รู้ พอเราเข้าไปสวดในพระทั้งหมด มันจะขัดไม่ได้ ถ้าขัดเราจะผิด นี่การท่องจำมาถึงชัดเจนกว่าด้วย ชัดเจนกว่ามาพิมพ์เป็นหนังสือ พิมพ์หนังสือนี่แบบว่าถ้าคนพิมพ์ผิด เรียงพิมพ์ผิดนะ ไปเลย เห็นไหม แต่เพราะเราเห็นว่ามันมีแล้วเราเลยวางใจว่าพระไตรปิฎกจารเอาไว้แล้ว คนท่องเลยนอนใจ ไม่ค่อยท่องนี่เวลาเข้าไปในหมู่เขาเรียกไปชาร์ตไฟ เข้าไปในหมู่ เราทำผิดจากข้อวัตรมันจะเห็นเลยว่าเรานี่แปลกหมู่ไปเลย ถึงว่าเข้าไปในหมู่นี่เข้าไปชาร์ตไฟ
แล้วพอทีนี้มาเหมือนกัน เขามาจากบ้านตาด แล้วเราก็อยู่บ้านตาดมาเหมือนกัน พอทำเราก็ทำเหมือนกัน เห็นด้วย แล้วเห็นด้วย เห็นในการปฏิบัติ เพราะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเวลาเราทุกข์กัน เวลาเราทุกข์กันเราไม่สู้ทุกข์ พวกเราเป็นชาวพุทธนะ เวลาเจอทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจใช่ไหม? แต่เวลาเจอทุกข์กัน ส่วนใหญ่เลยถ้าไม่มีหลักนะ อยากจะทำร้ายตัวเอง ใครจะทำร้ายตัวเองบอกขอเลย อย่า อย่าคิด ห้ามการคิดทำร้ายตัวเอง เพราะการคิดทำร้ายตัวเองมันยังไม่ทำหรอก แต่มันย้ำคิดย้ำทำไง เพราะ เพราะอยู่คนเดียว เพราะคิดคนเดียว เพราะย้ำคนเดียว ยิ่งคิดมันยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ พอมากขึ้นเรื่อยๆ มันหนักจนตัวเองไม่ไหว เพราะมันเหมือนกับอมหนองแล้วไม่ได้บ่งให้มันกระจายออกไป มันจะทุกข์มาก เพราะมันจะปวดระบมมาก เพราะอะไร? เพราะตัวเองย้ำคิดย้ำทำอยู่คนเดียว ถึงบอกว่านี่เจอทุกข์แล้วไม่ได้รู้จักทุกข์คืออะไรไง
พระพุทธเจ้าถึงว่า ทุกข์คืออริยสัจ ทุกข์ให้สู้ทุกข์ไง นี่ต้องเข้าหาทุกข์ เข้าหามันเลย เข้าหาทุกข์ แล้วเปลี่ยนแปลงทุกข์นั้น เปลี่ยนแปลงว่าทุกข์นี้ความจริงมันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป แต่มันเกิดจากตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาไง คือว่าอยากให้เป็นหรือไม่อยากให้เป็น อันนี้มันทำให้เป็นไปไม่ได้ แล้วคิดดูสิ ถ้าทุกข์ เราเจอนี่เราเข้าหาเลย เราเป็นชาวพุทธ แล้วเข้าไปแล้วเหมือนกับกลัวผี เข้าไปแล้วไม่เห็นมีอะไรเลย ตรงไหนมืด เข้าไป ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย
ทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นไง แต่จริงๆ ไม่มีอะไรหรอก วิตกกังวลไปก่อน เหมือนกลัวผี ที่ไหนก็กลัวผี เราเข้าไปตรงนั้นมันจะมีอะไรเหลือ? ไม่มีหรอก เราคิดเอง เราคิดเอง เห็นไหม แต่ความจริงมันก็เป็นความจริงอันหนึ่ง ทุกข์นี้เป็นอริยสัจใช่ไหม นี่ตัณหาความทะยานอยากคือความกลัว ความไม่อยากให้เป็นหรืออยากให้เป็น จินตนาการว่าตรงนั้นจะเป็นอย่างนี้ ตรงนี้จะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าทุกข์เรากำหนดเข้าไปเลย นี้ทุกข์แล้วไม่สู้ ทุกข์แล้วหนี
นี่หลบ หลบที่ว่าขนาดจะทำร้ายตัวเองนะ บอกอย่านะ อย่าทำร้าย อย่าคิดเลยล่ะ ต้องผลักไสออกไปเลย ความคิดนี้ต้องผลักไสออกจากใจไป อย่าให้มีอยู่ในหัวใจ เพราะ เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยากมากเลย ดูสัตว์สิ นี่เวลาสัตว์ เห็นไหม น่าคิดนะ เวลาสัตว์เกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นผี เกิดเป็นเปรต ถ้ามันตายไปนะ หนึ่งการทำร้ายตัวเองเพราะอะไร? เพราะว่าสมบัติที่มีค่าที่สุดคือหัวใจ อย่าว่าแต่ร่างกาย ร่างกายก็มีค่า แต่โลกเราว่าเรานี่ คือร่างกายนี้มีค่าที่สุด แต่สำหรับศาสนาว่า หัวใจมีค่าที่สุด เพราะอะไร? เพราะหัวใจเข้าไปสัมผัสธรรม
หัวใจน่ะ เรารักกัน เราชอบกัน ก็อยู่ที่หัวใจใช่ไหม? เราเกลียดกัน เราโกรธกัน ก็อยู่ที่หัวใจใช่ไหม? ร่างกายมันไม่โกรธไม่เกลียดกันหรอก มันไม่รู้เรื่อง แต่หัวใจมันโกรธ มันเกลียดกัน มันรัก มันชอบกัน แล้วมันเข้าไปสัมผัสธรรมได้ด้วย มันมีความสุขที่หัวใจ แต่ร่างกายนี้เป็นที่อยู่ของใจไง เป็นเรือนรังที่อยู่ของใจ เป็นโพรง เป็นที่อยู่ของใจ ใจอยู่ในร่างกายของเรา ฉะนั้น เราเกิดเป็นมนุษย์ เราได้สมบัติอันนี้มาไง ถึงว่าแล้วเรามาทำลายไอ้สมบัติที่ประเสริฐอันนี้ เราจะเป็นคนขนาดไหน?
ฟังนะ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เวลากรุงศรีอยุธยาแตก แตกเพราะอะไร? แตกเพราะไส้ศึกกลในใช่ไหม? ไส้ศึกกลในทำให้อยุธยานั้นแตกไป แล้วการคิดทำลายตัวเองมันก็เหมือนไส้ศึกกลในในกิเลสเราคิดทำร้ายตัวเองไง ทำร้าย ทำลายเมือง เมืองคือมนุษย์สมบัติ ทำลายเมืองมนุษย์สมบัติออกไป แล้วหัวใจนั้นไปอยู่ที่ไหน? นี่ไส้ศึกเกิดจากภายใน กรุงศรีอยุธยาแตกก็เกิดจากไส้ศึก เกิดจากเกลือเป็นหนอน
นี่ก็เหมือนกัน เกิดจากหัวใจเป็นหนอน หัวใจคิดทำร้ายตัวเอง หัวใจเราคิดทำร้ายตัวเอง เห็นไหม นี่เกลือเป็นหนอน ถึงบอกอย่าทำ อย่าทำ อย่าคิด อย่าทำ ถ้าคิดทำไปแล้ว ทำร้ายตัวเองแล้ว พอตายไป ตายไปไปเกิดเป็นอะไรล่ะ? เพราะคนทำสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่มีคุณค่าที่สุดที่จะมีสุขมีทุกข์อันนี้ไง แล้วมันจะพ้นทุกข์ไปได้อย่างไร? มันไม่ใช่เกิดบุญ เกิดมาเป็นมนุษย์นี้เป็นบุญ แล้วทำลายสมบัติของตนเองไง
คนอื่นมาทำร้ายเรา เรายังว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี คนนั้นไม่ดีเพราะเจตนาเขามากลั่นแกล้งเรา เขาทำร้ายเรา แต่เวลาใจคิดทำร้ายตัวเอง ทำไมมันไม่ว่าตัวเราไม่ดี นี่อันนี้ต้องคิดให้ดีเลยนะ เพราะตอนนี้มันมีความทุกข์กันมาก แล้วมันบีบคั้นเรามา ตรงนี้ต้องคิด สลัดออกไป นี่คือธรรม อันนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้มาแล้ว แล้ววางไว้ไง วางไว้ว่าการทำร้ายตัวเองเป็นบาปมหันต์ที่สุด เพราะว่าทำร้ายคนอื่นยังทำร้ายคนอื่น มันเป็นสมบัติที่ว่าเป็นรองจากเราไป แต่เป็นมนุษย์เหมือนกันก็เป็นบาปมาก เป็นบาปมากอยู่แล้ว เพียงแต่มันวัดค่าว่าอันไหนมีคุณ บาปมากกว่ากันไง ให้โทษมากกว่ากันไง
ถึงบอกว่าพอทำร้ายตัวเองตูมนี่ ดับจากขันธ์นี้ไปนะ เหมือนกับไปอยู่ในห้องมืด เหมือนอยู่ในห้องมืด เพราะดับปั๊บต้องไปเลย เพราะเราทำร้ายตัวเอง เหมือนอยู่ในห้องมืด คนเราอยู่ในที่สะอาด อยู่ในที่สว่าง อยู่ในที่มีการช่วยเหลือเจือจานกัน กับไปอยู่ในห้องมืด อยู่คนเดียวมันทุกข์ขนาดไหน? ฟังสิ ไปอยู่ในห้องมืดเพราะอะไร? เพราะมันดับปั๊บมันก็ต้องไปเป็นสัมภเวสีก่อน มันต้องไปรอเวลาของชีวิตที่เรายังไม่สิ้นสุด เราตายไปภพชาติมันยังไม่สิ้นสุดใช่ไหม? มันต้องไปรอเสวยภพอีก มันก็เสวยเลย เสวยเป็นสัมภเวสี แต่เสวยต่อไปไง
นี่อันนี้มันจะไปทุกข์อยู่นั่นน่ะ แล้วมันจะช่วยตัวเองไม่ได้ พอไปถึงตรงนั้นก็เหมือนเรานี่แหละ ปัจจุบันนี้เราว่าเราทุกข์ เราเป็นอย่างนี้เราทุกข์ แต่ทุกคนเลยจะมองว่าคนๆ นี้มีความสุข เขาจะมองว่าคนนี้มีความสุขนะ นี่มาวัดมีความสุขๆ แต่ก็จริงอยู่ เพราะคนฉลาดถึงได้มาวัด มาฟังธรรมไง มาสร้างบุญกุศล เพราะศีล ๕ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัติแล้วเรายังมาสร้างบุญกุศลให้เกิดดีไปอีกไง ดีพาเกิด เราจะเวียนว่ายตายเกิดในวัฏวนนี้ก็ให้ดีพาเกิดไง
เกิดเป็นสัตว์ ฟังนะ เกิดเป็นสัตว์ก็มีหัวใจเหมือนเรา มนุษย์ก็มีหัวใจเหมือนกัน แต่ภพของสัตว์ เห็นไหม ภพของสัตว์เดรัจฉานมันอยู่ด้วยสัญชาตญาณของมัน นี่คือกรงขังความคิด กรงขังใจไง กรงขังของใจ สัตว์นี่มันรู้เฉพาะของมัน มันสื่อกันด้วยสัญชาตญาณ มันจะดี จะเลว มันก็อยู่โดยสัญชาตญาณ มันไม่มีปัญญาไง แต่มนุษย์สมบัติ เราเกิดเป็นมนุษย์ ความคิดเรามีปัญญา ก็อยู่ในกรงขังของขันธ์ ๕ เห็นไหม
สัญญาคือการศึกษาเล่าเรียนมา สังขารคือจินตนาการที่เราปรุงแต่งขึ้นมา วิญญาณรับรู้ในใจ นี่มันก็เป็นกรงขังใจ ใจอยู่ในกรงขังความคิด อยู่ในกรงขังกรอบของภพชาติ ภพชาติของสัตว์ สัญชาตญาณของเขา เขาก็มีอยู่ของเขาขนาดนั้น มนุษย์สมบัติก็มีความคิดแบบมนุษย์ มีปัญญาที่แก้ไข มนุษย์นี่มีปัญญาจะทำให้พ้นทุกข์ได้ เกิดเป็นเทวดาก็อยู่ในทิพย์สมบัติของเขา อยู่ในภพของเขา เกิดเป็นพรหมก็อยู่ในนั้น ไอ้การเกิดการตายนี้เหมือนกับว่ามันเป็นวัฏฏะที่เป็นครอบไง เป็นเหมือนกับร่างกาย ใจกับกาย เห็นไหม เราแยกได้ว่าใจอย่างหนึ่ง กายอย่างหนึ่ง
เราเกิดมานี่ กายนี้ถึงว่า เพราะเราเกิดมาภพนี้ เราถึงได้กายนี้ ถ้าเราตายจากอันนี้ไป กายนี้ไปเผาที่เชิงตะกอน กายนี้ไปอยู่ที่ป่าช้า แต่หัวใจยังเวียนในวัฏฏะต่อไปเรื่อยๆ คือว่าใจนี้เป็นนักท่องเที่ยวไง นี่เรามาสร้างบุญกุศลไป ถึงเราจะเกิดจะตาย มันก็พาเกิดตายอันนี้ไป ให้เราเกิดดีขึ้น อย่างน้อยก็ให้เกิดเป็นมนุษย์อย่างเดิม สร้างสมบารมีต่อไป ศึกษาให้ ทำใจให้พ้นจากกรงขังคือขันธ์ ๕ ไง
เราไม่เคยเห็นขันธ์ ๕ เห็นไหม เราเห็นแต่ความคิดเราออกไป เราคิดออกไป แต่ทุกคนคิดออก แล้วทุกคนไม่รู้จักตัวเองเลย ทุกคนรู้แต่เรื่องสรรพสิ่งทั้งหลาย แต่ทุกคนไม่รู้จักตัวเอง ถึงแก้ทุกข์ไม่ได้ไง ถึงแก้ทุกข์ไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะมันไม่ย้อนกลับ กระแสนี้ส่งออกหมด พอกระแสส่งออกไปมันก็เป็นกรงขังความคิด คิดขนาดไหนก็คิดได้แค่การศึกษาเล่าเรียนมา กับการเห็น การจินตนาการได้เท่านั้นไง แต่ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะย้อนกลับมาคิดเห็นการเกิด การดับ เห็นเหตุ เห็นปัจจัยไง
ในสมัยพุทธกาล เห็นไหม เหตุปัจจะโย เหตุ เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนเย ธมฺมา พระสารีบุตรฟังแค่นั้นเป็นพระโสดาบันขึ้นมาได้อย่างไร? เพราะอะไร? เพราะใจมันพร้อมอยู่ ใจพร้อมอยู่ ขนาดแสวงหา ต้องการนะ บอกกับพระโมคคัลลานะไว้ว่านี่มาอยู่กับสัญชัย สอนแล้วก็สอนแค่ความสงบ สอนการปล่อยว่าง เพราะสัญชัยสอนว่า สรรพสิ่งไม่ใช่ทุกอย่าง นี้ก็ไม่ใช่ นั้นก็ไม่ใช่ อันนั้นก็ไม่ใช่ คือปฏิเสธทุกอย่างทั้งหมดเลย ให้ว่างไง ปฏิเสธว่าเราก็ไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่ แต่มันไม่ใช่ด้วยไม่มีเหตุผลรองรับ คนที่ปฏิเสธไม่ใช่เฉยๆ มันก็ลังเลสงสัยใช่ไหม? ก็เลยคิดว่าสัญชัยสอนนี่สอนไม่ถึงที่สุด ก็เลยสัญญากันไว้ว่า เรานี่เป็นเพื่อนกัน ถ้าเจอคนที่สอนถูกนะ แล้วเข้าใจ ให้บอกกัน
พระสารีบุตรไปเจอพระอัสสชิบิณฑบาตอยู่ เห็นไหม เห็นกิริยาเคลื่อนไหวนิ่มนวลมากเลย กิริยาเคลื่อนไหวสำรวมมาก นี่คนที่จะมีกิริยาเคลื่อนไหวอย่างนี้ได้.. พระสารีบุตรเป็นคนมีปัญญาไง คนจะมีกิริยาเคลื่อนไหวอย่างนี้ได้ หัวใจนั้นต้องสงบจริง มันไม่ใช่กิริยาที่เสแสร้ง มันเป็นการแสดงออกมาจากความบริสุทธิ์ใจของใจดวงนั้นไง ถึงว่าพระองค์นี้ต้องมีดีไง ถึงเข้าไปถามว่า ใครเป็นศาสดาของพระอัสสชิ?
พระอัสสชิบอกว่า อย่าเพิ่งพูดเลย นี่เวลาบิณฑบาตมีน้อย
คนเราชีวิตนี้มันประมาทไม่ได้ ไม่รู้ว่าเวลาจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ให้บอกเถิด
พระอัสสชิบอกว่า เราเป็นลูกศิษย์ของสมณโคม เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน?
บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่คนละเมือง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร?
เราเป็นคนบวชน้อย ถึงตอบเย ธมฺมาไง พระพุทธเจ้าสอนว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น เนื่องมาจากเหตุทั้งหมด มันเป็นผล
พระพุทธเจ้าสอนนะ ผลที่เกิดขึ้นมานี่ เกิดมาจากเหตุทั้งหมดเลย พระพุทธเจ้าสอนให้ย้อนกลับไปที่เหตุนั้น ดับที่เหตุนั้นไง ดับที่เหตุนั้น เพราะจิตนี่มันส่งออกอยู่ พระสารีบุตรนี่จิตส่งออกอยู่ จิตมันสว่างอยู่แล้ว จิตมันมีพลังงานอยู่แล้ว ดับที่เหตุก็เหตุที่ส่งออกไง เหตุที่ออกไปนั่นไง นี่เป็นพระโสดาบันขึ้นมาทันทีเลย นั่นน่ะมีมาก เพราะอันนี้ที่ว่าเหตุให้เข้ามากำจัดทุกข์ได้ มันต้องมีเหตุมีผลไง มันต้องมีเหตุมีผลถึงจะกำจัดได้จริงไง
เราศึกษาเล่าเรียนมาก็เหมือนกัน เห็นไหม กรงขังของความคิดไง กรงขังของความคิดคือจำได้ไง เราจำได้หมดเลยพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างนั้นนะ อ่านหมด พระไตรปิฎกทั้งตู้เลย เพราะนั่นคือตัวยาที่สอนมา พระสารีบุตรก็เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว พระอุบาลีเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว สอนพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก กำหนดจิตลงเลย แล้วพอจิตเข้าไปตรงนี้ ง่วงตรงนี้ กำหนดจิตแล้วสัปหงกอยู่ พระโมคคัลลานะ เพราะว่ายังง่วงเหงาหาวนอนอยู่ พระพุทธเจ้าไปสอนเลย ให้ตรึกให้มากๆ ให้คิดก่อน ให้คิดขึ้นมา ให้จิตมันโพลงขึ้นมา อย่าให้มันง่วงเหงาหาวนอน
ไม่ได้ ไม่ได้
ให้เอาน้ำลูบหน้า ให้แหงนดูดาว ให้จิตมันอย่าหลับไป สุดท้ายถ้าแก้ไม่ได้ให้นอนซะ ให้นอนก่อน นอนแล้วตื่นขึ้นมาค่อยมาปฏิบัติใหม่
นี่สอนพระโมคคัลลานะ เห็นไหม เราอ่านหมดเลย แล้วเราเอามาใช้ เราก็แบบว่า พวกเรานี่เป็นพวกที่ใจไม่เข้มแข็ง พอทำอะไรไปก็จะบอกว่าเพราะตำราสอนไว้หมด แล้วจะหยิบแต่ตรงตำราที่บอกว่า อันนี้เป็นพระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ เอามาอ้าง แต่ที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ให้เต็มที่นี่ไม่ได้ทำ ไม่ได้ทำไง พอไม่ได้ทำ เพราะทำไป เพราะกิเลสของเรา ความเห็นว่าการกระทำไปนี่มันรุนแรง แล้วเราไม่เคยทำหนึ่ง
เช่นอย่างที่ว่าบวช เห็นไหม พอบวชขึ้นมา ตกเย็นเราว่าเราจะทนได้ไหม? เราจะทนได้ไหม? ทุกคนคิดอย่างนี้หมดนะ เราเองก็เป็น ตอนบวชใหม่ๆ จะไปบวชทางอีสาน ไม่ไหว บิณฑบาต ๗-๘ กิโล คงจะไม่ไหวหรอก แล้วฉันมื้อเดียวด้วย จาก ๓ มื้อ ๔ มื้อ ลดเหลือมื้อเดียวไม่ไหว เลยกลับมา แต่พอบวชนานไปๆ อาหารมื้อเดียวนี้มากเกินไป อาหารมื้อเดียวนี่ เพราะฉันแล้ว ขนาดฉันมื้อเดียวมันก็ยังง่วงอยู่ ยังง่วงอยู่นะ ยังนั่งหลับอยู่ ถ้ายังนั่งหลับอยู่ นั่นคือว่าธาตุมันมีกำลังเหนือกว่าขันธ์ เหนือกว่าความคิด
ขันธ์ตัวนี้เป็นความคิดอยู่ ถ้าจิตมันสงบตัวไปนะ ธาตุขันธ์ เห็นไหม ขันธ์นี้เป็นความคิด ขันธ์ ๕ สัญญา สังขาร วิญญาณมันหมุนไป แต่พอจิตจะเข้าไปเริ่มทำความสงบ ขันธ์นี้สงบตัวลง กรงขังความคิดมันเปิดให้ความคิดเป็นอิสระ ถ้ากรงขังความคิดนี้ยังมีอยู่นะ ความคิดอยู่ในกรงขัง กรงขังนั้นคิดแบบโลกียะ แต่ทำความสงบเข้าไป เปิดแหวกออก แหวกให้ความคิดคือสสาร คือธาตุรู้ให้เป็นอิสระ กรงขังความคิดนี้จะเปิดออก กรงนี้อ้าออก อ้าออกให้ความคิดได้ส่งออกชั่วคราวไง
นี่ไงวิปัสสนาจะเกิดตรงนี้ไง ตรงที่จิตสงบก่อน เห็นไหม ถึงบอกเวลาทำความสงบขึ้นมา อาหารมื้อเดียว มันเป็นโทษขนาดที่ว่าเห็นว่าเวลากินข้าวเข้าไป แล้วมันภาวนาไป มันจะนั่งหลับ ผ่อนๆๆ เรื่องอาหารซะ แล้วให้ร่างกายมันแบบว่าให้มันอ่อนลง ให้กรงขังความคิดมันเป็นอิสระขึ้นมา ธาตุมันมากเกินไป เรากินอาหารกัน ๓ มื้อ กินอาหาร ๓ มื้อ
พระพุทธเจ้าบอกว่า คฤหัสถ์ เวลากินอาหารกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ กินเพื่อเกียรติ กินเพื่อกาม เพราะเราอยู่ในกาม แต่ผู้ที่ปฏิบัติถือพรหมจรรย์ แต่ความเคยชินของการเป็นอยู่ของชีวิตมันยังใช้ชีวิตนั้นอยู่ ถึงเอาตรงนี้มากดลงไง มากดลงเพราะว่าอยู่เพื่อพรหมจรรย์แล้ว เกียรติก็ไม่มี กามก็ไม่ต้องการ แค่สืบต่อชีวิตไม่ให้ดับ ทีนี้การสืบต่อชีวิตไม่ให้ดับก็แค่มื้อเดียวนี่แหละ เหลือ เหลือเลย พอเหลือก็ต้องผ่อนลงอีก ถ้าคนที่กินอาหารละเอียดขึ้นไป เขาจะกินเฉพาะข้าวไง กินเฉพาะข้าว กินเฉพาะผัก เห็นไหม นั่นอาหารละเอียด อาหารอย่างกลาง พวกคลุกเคล้ากัน พวกผัดผักต่างๆ อาหารอย่างหยาบก็พวกเนื้อสัตว์
นี่อยู่ในพระไตรปิฎกทั้งหมดเลย เราคิดกันขึ้นมาทั้งหมดในโลกนี้ ไม่มีอันใดที่จะพ้นจากความคิดพระพุทธเจ้าที่ครอบไว้หมดเลย เพียงแต่พวกเราไม่รอบคอบพอ ไม่ได้ไปเปิดไง ไม่ได้เปิดในพระไตรปิฎกว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้ไง เราจับแต่ประเด็น อริยสัจๆ แล้วก็ใช้ความคิดเข้าไปตรึก แล้วทำกันขึ้นไปไง พอทำกันขึ้นไปเราถึงทำกันเอง แต่ทำกันเองดีอย่างหนึ่ง เพราะทำกันเองมันต้องมีการผิดการถูกขึ้นไป มันถึงจะเข้าถึงตรงนั้นได้ไง เข้าถึง
พอเข้าถึงว่าเราไปสัมผัสสมาธิธรรม สัมผัสอะไรก็แล้วแต่ เราจะย้อนกลับเข้าไปในพระไตรปิฎก เพราะพระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว มันจะซึ้งใจมากเลยว่าเราเดินมาถูกทางไง แต่ถ้าเราไปอ่านตำราไว้ก่อน แล้วเราก็มาวิเคราะห์ตำราก่อน แล้วเราก็จะมาทำ เอ๊ะ อันนู้นผิด หรืออันนี้ถูก มันมีผลต่างกัน ต่างกัน ถ้าหลับตาแล้วเดินเข้าไปเลย เห็นไหม แค่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อันนี้คือเป้าหมาย แล้วทำเข้าไปเลย
แต่ตอนทำจิตสงบเข้าไป ทำจิตสงบเข้าไป จิตนี้สงบเข้าไปก่อน สงบเข้าไป ทีนี้ความเห็นของเรา ที่ว่าจิตนี้สงบแล้วมันจะใสๆ ทีนี้คำว่าใสคือความว่าสะอาด นี้มันเป็นความคิดของโลก แต่ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น จิตใส จิตผ่องใส มันสกปรกในตัวมันเอง มันผ่องใส ผ่องใสเพราะพลังงานของจิต จิตนี้เป็นพลังงานอันหนึ่ง มันผ่องใส แต่มันมีความสกปรก คือตัวความคิดอันสกปรกอยู่ในหัวใจนั้นน่ะ ถึงต้องหันกลับมาไง
จิตผ่องใสแล้วต้องหาสิ่งที่มันอยู่ในความผ่องใสนั้น เพราะความผ่องใสนี้เป็นพลังงาน พลังงานนี้เป็นพลังงานที่มีกิเลสขับเคลื่อน ถึงผ่องใสขนาดไหนมันมีพลังงานขับเคลื่อนอันนั้น ต้องทำลายพลังงานขับเคลื่อนอันนั้น มันก็เป็นความผ่องใสอีกแหละ แต่เป็นความผ่องใสของแสงจันทร์ไง เป็นความผ่องใสที่ว่าไม่ได้เหมือนความผ่องใสแบบแสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์มันจะให้พลังงานความร้อนด้วย มันจะให้เกิดเป็นมะเร็งก็ได้ แต่แสงจันทร์นี้ไม่ให้ไง แสงจันทร์นี้ร่มเย็น เห็นไหม ผ่องใสโดยไม่มีแรงขับเคลื่อนไง ไม่มีแรงของกิเลสไง ถึงว่าผ่องใสแล้วยังต้องกลับมาขุดคุ้ยหากิเลสก่อนไง
นี่พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นไง ไม่ใช่สอนแบบว่านั่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ให้ปล่อยวางเฉยๆ ปล่อยวางโดยไม่มีอะไรหลุดออกไปมันจะปล่อยวางได้อย่างไร? คนเป็นหนี้ แล้วไม่ได้ใช้หนี้มันจะพ้นจากหนี้ได้อย่างไร? คนเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ การเกิดนี้กิเลสพาเกิด เห็นไหม การขับเคลื่อนอยู่ พลังงานที่ขับเคลื่อนอยู่นั้นคือพลังงานการเกิด บุญกุศลถึงทำให้เราไปเกิดในภพชาติต่างๆ ไง จิตดวงนี้ถึงวนไปๆ อยู่ในภพของอะไร? ถึงบอกว่าอย่าคิดทำร้ายตัวเอง ทำร้ายไม่ได้ เพราะทำร้ายนี่ไปตัดรอนบุญกุศลการเกิดเป็นมนุษย์
การเกิดเป็นมนุษย์นี้มีบุญกุศลมาก มีบุญกุศลจริงๆ เพราะหัวใจมันอยู่ในกรอบความคิดที่มันเปิดกว้างกว่ากรอบความคิดของสัตว์ เห็นไหม นี่ภพของสัตว์ต้องตายไป จะสอนอย่างไรให้ภาวนาก็ไม่ได้ จะสอนให้ทำคุณงามความดีก็ได้แค่ว่าทำดีทำชั่วของเขา เขาได้บุญกุศลตรงนั้น ถ้าเขามาเกี่ยวพันโดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าเขาทำดีหรือไม่ทำดีนะ ทำดีก็ทำดีโดยสัญชาตญาณ ทำชั่วก็ทำชั่วโดยสัญชาตญาณ แต่ถ้าทำดีโดยสัญชาตญาณเขาไปดี
เพราะ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ยังเกิดเป็นกวาง เกิดเป็นนกแขกเต้า ยังเกิดเป็นสัตว์อยู่เหมือนกัน แต่สัตว์มันมีสัตว์ดีกับสัตว์ไม่ดี จิตที่ไม่ดีไปเกิดเป็นสัตว์มันยิ่งเลวเข้าไปใหญ่ แต่หัวใจที่ประเสริฐไปเกิดเป็นสัตว์ ก็เป็นสัตว์ประเสริฐ เห็นไหม ทำดีโดยสัญชาตญาณ เขาก็ไปเกิดเป็นเทวดาได้เหมือนกัน เขาทำได้แค่นั้น เขาทำด้วยสัญชาตญาณ แต่สัญชาตญาณกับปัญญาที่แก้ไขกิเลส
ฟังสิ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ ปัญญาในการแก้ไข ปัญญาในการขุดคุ้ย พลังงานนี้มันไป สมาธินี้ไปเหมือนกับกสิณที่เพ่งไป พลังงานนี้มันเพ่งไปเฉยๆ แต่ถ้ามีปัญญา ปัญญานี้ควบคุมพลังงานไง เอาพลังงานนี้มาขุดคุ้ยไง เอาพลังงานนี้มาค้นคว้าในหัวใจไง นี่คือปัญญาไง ปัญญาเท่านั้นให้ชำระกิเลสได้ ปัญญาเท่านั้นเลย แต่ต้องอาศัยพลังงานที่ว่า พลังงานที่เข้ามาจนกว่าจิตนี้เป็นอิสระไง
นี่ถึงว่าปัญญาการคิดใคร่ครวญเข้ามา นี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาว่างอันแรกนี้ถึงว่าเป็นความว่างเพื่อเติมพลังงานเท่านั้น พลังงานนี้เกิดขึ้นถึงใช้ปัญญาที่ ๒ ปัญญาที่ ๒ คือวิปัสสนาปัญญา วิปัสสนาปัญญานี้ต้องหาจำเลยเข้ามาขึ้นศาล อยู่ในคอกของศาล ปัญญาคิดก็เหมือนกับปัญญาโลกนี่แหละ แต่ปัญญาอยู่ในคอกของศาลนะ อยู่ในคอกของศาล เห็นไหม พูดนอกศาล เหมือนกับเราจับจำเลยไม่ได้ จับจำเลยไม่ได้มันเป็นความว่างเพ่งออกไป
เราคิดว่าใช่ แต่ในเมื่อยังจับจำเลยไม่ได้อยู่ จับจำเลยไม่ได้อยู่ ยังไม่มีการนัดขึ้นศาล ไม่มีการนัดขึ้นศาล พูดเท่าไหร่ก็ไม่มีความหมาย พูดเท่าไหร่ก็ไม่มีความหมาย เพราะพูดนอกเขต นอกคอกของพยาน แต่ถ้าจับจำเลยได้ กาย เวทนา จิต ธรรม ขุดคุ้ยเจอกิเลสไง ขุดคุ้ย เห็นไหม ปัญญาใช้พลังงานนั้นเข้าไปขุดคุ้ยจนเจอกิเลส จับกิเลสขึ้นในคอกไง จับกิเลสขึ้นคอก จะพิจารณาอย่างไรมันก็ใช้ปัญญาเหมือนอย่างเรานี่แหละ ปัญญาปกตินี่แหละ แต่ในเมื่อปัญญานี้จับพยานขึ้นคอกแล้ว คิดอะไรก็แล้วแต่มันสะเทือนใจ ใจนี่นะมันจับกาย เวทนา จิต ธรรมได้ เวลาคิดพิจารณาอยู่มันสะเทือนหัวใจหมด
นี่แหละ อันนี้ที่ว่ามันจดไง จดเป็นข้อความ จดเป็นพยานหลักฐานเข้าไปกระเทือนถึงใจ แล้วใจมันจะหลุดจากพลังงานที่ว่าผลิตได้ไง พลังงานที่ผลิตคือพลังงานขับเคลื่อน พลังงานความร้อนอันนั้นคือกิเลส แล้วเวลาพิจารณาเข้าไปมันกระเทือนถึงกัน แต่ถ้าไม่ได้ขึ้นศาลนะ เราคิดไปเถิด ความคิดเหมือนกัน แต่มันต่างกันตรงที่จับกิเลสได้ กับจับกิเลสไม่ได้ จับกาย เวทนา จิต ธรรมได้หรือไม่ได้ตรงนั้น เห็นไหม สมาธิมันถึงต่างกันตรงนั้น ความว่างต่างกันตรงนี้ ความว่างที่ว่างเฉยๆ ว่างนอกศาล ว่างนอกคอกพยาน กับความว่างในคอกของพยาน ความว่างเป็นสติปัญญาอันนั้น วิปัสสนาอันนั้น อันนั้นต่างหากชำระกิเลสได้
นี่ไงมันถึงว่าเป็นความว่างที่ ๒ ไม่ใช่ความว่างจากข้างนอก ข้างนอกก็ว่างอิสรเสรี ใครจะไปทำร้ายใครได้ อยู่นอกศาลไม่มีความผิด ก็ว่าง.. ว่าง..ว่างสิ ว่างนอกอริยสัจ ว่างในอริยสัจมันว่างอยู่ ว่างแบบมีปัญญา ว่างแบบการรู้ ออกมาจากอริยสัจ เข้าไปไต่สวนในอริยสัจ พ้นออกจากอริยสัจมา พ้นออกจากอริยสัจมา จิตนี้เข้าไปใช้พลังงานในอริยสัจ มัคคะอริยสัจจังทำลายแล้ว ออกมาจากอริยสัจนั้น อันนั้นถึงเป็นความว่างถูกต้อง ความว่างที่ไม่แปรสภาพไง