เทศน์เช้า

ความอบอุ่น

๒๖ ส.ค. ๒๕๔๒

 

ความอบอุ่น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันพระเป็นวันนัดกันทำบุญไง วันนี้เป็นวันพระ เราอยากมีความอบอุ่น เราอยากมีความสุข มีความอบอุ่น ถึงได้แสวงหาความสุขกันไง ทุกคนกลัวความว้าเหว่นะ กลัวความว้าเหว่ กลัวความทุกข์ อยากหาความอบอุ่น ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะ ออกประพฤติปฏิบัติ นั่นน่ะออกมาคนเดียวด้วยความเด็ดเดี่ยว แต่ก็มีปัญจวัคคีย์ตามมาอุปัฏฐาก การอุปัฏฐากอยู่ มีผู้ที่อุปัฏฐากอยู่ เพราะมีผู้ที่ว่ารับใช้ มีผู้ที่อุปัฏฐาก ตัวเองก็ประพฤติปฏิบัติไป อย่างไรมันก็เป็นความกังวล

นี่พูดถึงว่ามีเพื่อน มีผู้ช่วยเหลือ มีผู้เกื้อกูลกัน แล้วมันน่าจะอุ่นใจ มันอุ่นใจไม่ได้หรอก เห็นไหม ความอบอุ่นภายนอก ปัญจวัคคีย์เป็นผู้ที่คอยอุปัฏฐากเลย ขาดเหลืออะไรนี่คอยดูแลทุกอย่าง มีแต่หน้าที่ปฏิบัติไป เพราะอัญญาโกณฑัญญะต้องการให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แล้วอยากจะได้ธรรมอันนั้นบ้างไง เพราะทายไว้ตั้งแต่ตอนเป็นพราหมณ์หนุ่มแล้วว่าต้องเป็นพระพุทธเจ้าสถานเดียว ถึงเวลาออกปฏิบัตินี่ออกมาส่งเสริมเต็มที่เลย เพื่อเราจะได้ลิ้มรสของธรรมอันนั้นบ้างไง เพื่อความอบอุ่นภายใน แต่ทำแล้วก็ไม่ได้

จนสุดท้ายแล้ว สุดท้ายนะมันกังวล กิเลสมันมีอยู่แล้วใช่ไหม? การหวังพึ่งข้างนอกมันหวังพึ่งไม่ได้ อบอุ่นขนาดไหนมันก็ว้าเหว่อยู่ภายใน ขนาดนั่งกอดกันเลยนะ ระหว่างสามี ภรรยา ลูกกับพ่อแม่ อาลัยอาวรณ์ก่อนจะพลัดพรากจากกัน เห็นไหม แล้วมันอบอุ่นจริงไหม? มันยิ่งเพิ่มการอาลัยอาวรณ์ เพิ่มเป็นความผูกพันอีก จนออกประพฤติปฏิบัติ จนเห็นว่าทางนี้ไม่ใช่ทาง กลับมาฉันอาหารใหม่ไง ปัญจวัคคีย์ทิ้งไปเลย

พอการทิ้งไป ผู้ที่เป็นกังวลหลุดออกไป ๕ คน เวลาปฏิบัติไปก็ต้องคิดถึงเขาเหมือนกัน ความคิดของใจ คนมีกิเลสอยู่มันตัดไม่ได้หรอก ความกังวลภายในไง เห็นไหม ว่าการจะช่วยเหลือกัน แล้วมันช่วยเหลือได้ไหมล่ะ? มันช่วยเหลือกันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นความอบอุ่นภายใน อบอุ่นภายในแล้วมันถึงจะตามความเป็นจริง จนกลับมาฉันอาหารใหม่ แล้วก็นางสุชาดาจะทำบุญอยู่พอดี แล้วก็ว่ามีเทวดามาอยู่ที่โคนต้นไม้ ไปทำบุญด้วยความเคารพนะ เพราะคิดว่าเป็นเทวดาไง เห็นว่า โอ้ อาการ ๓๒ ของพระพุทธเจ้า พุทธลักษณะเยี่ยมมาก ประเสริฐมาก คิดว่าเป็นเทวดาเลย เขาก็ไม่รู้ว่าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่คิดว่าเป็นเทวดามาอยู่นั่น ทำบุญอย่างสุดๆ เลย เพราะบุญของเขา เขาสร้างของเขามา

พระพุทธเจ้าบอกเลย อาหารที่ว่าถวายพระพุทธเจ้านะมีบุญมากอยู่ ๒ กาล ตอนท่านตรัสรู้ไปแล้วนะ ตอนที่นายจุนทะช่างทองถวายสูกรมัททวะนั่นน่ะ แล้วไปฉันแล้วมันตกเลือด แล้วมันจะไปนิพพาน “ถ้าต่อไปนายช่องทองนี้จะมีคนเขาติฉินนินทา เพราะว่าฉันอาหารของนายจุนทะนี้แล้วพระพุทธเจ้าจะนิพพาน จะเพ่งโทษจุนทะ อานนท์ เธอจงบอกเขา คอยแก้ข่าว” เห็นไหม

พระพุทธเจ้าจะนิพพานยังห่วงข้างหลังนะ “ถ้าเรานิพพานไปแล้วเขาจะเพ่งโทษจุนทะ ให้บอกเลยว่าอาหารบิณฑบาตที่ถวายพระพุทธเจ้ามีบุญอยู่ ๒ กาล กาลหนึ่งนางสุชาดาถวายพระพุทธเจ้าสิ้นซึ่งกิเลสนิพพาน” สิ้นกิเลสนะ เพราะฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วคืนนั้นตรัสรู้ไง

“กับอีกกาลหนึ่ง นี่อาหารมื้อสุดท้ายของเรา นายจุนทะเป็นคนถวาย นี่เราฉันอาหารของนายจุนทะแล้วเราจะสิ้นถึงซึ่งขันธนิพพาน” ดับขันธ์ได้หมดไง แต่วันที่ฉันของนางสุชาดานี้สิ้นกิเลสนะ สิ้นกิเลสนิพพาน สิ้นกิเลสไปแต่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ฉันของนายจุนทะแล้วถึงซึ่งขันธนิพพาน ขันธ์มันเป็นสักแต่ว่าขันธ์ แต่มันเป็นภาระอยู่ สิ้นกิเลส ดับขันธ์ไปหมดเลย “จงบอกเขาว่ามีบุญอยู่ ๒ กาล ในกาลที่ทำบุญกับพระพุทธเจ้า ในเรื่องอาหารบิณฑบาตมีอยู่ ๒ กาลนั้นที่ได้บุญมากที่สุด”

ที่ว่ากระทำกัน กษัตริย์ทำ ๗ วัน ๘ วัน ๑๐๐ วันนั่นน่ะ สู้ ๒ อันนี้ไม่ได้ เพราะ ๒ อันนี้เป็นประโยชน์ไง เพราะฉันอาหารของสุชาดาแล้วสิ้นกิเลสนิพพาน ของนายจุนทะแล้วถึงซึ่งขันธนิพพาน ดับขันธ์ไปเลย

ฉะนั้น นางสุชาดานี่เขาได้สร้างบุญกุศลเอาไว้แล้ว เขาถึงได้มาถวายข้าว เขาไม่รู้ เขาเข้าใจว่าเป็นเทวดา ก็ถวายอาหารมื้อสุดท้ายอย่างสุดๆ เลย คือว่าถวายเทวดาก็ต้องอาหารเลิศประเสริฐที่สุด ก็ไปถวาย ฉันข้าวนั้นเสร็จ ลอย เห็นไหม ลอยถาดทองคำไป ถวายหมดเลย ถวายทั้งถาด ทั้งอะไร ลอยถาดทองคำไป เสี่ยงบารมีว่า “ถ้าเราจะตรัสรู้นี้ขอให้ถาดนี้ลอยทวนน้ำ”

มันมีที่ไหนว่าถาดจะลอยทวนน้ำไป ถาดทองนี้ลอยทวนน้ำขึ้นไป เห็นไหม นี่เสี่ยงบารมีว่า “ถ้าคืนนี้ หรือว่ามื้อนี้มื้อสุดท้ายแล้ว ถ้าฉันข้าวมื้อนี้แล้ว ถ้าจะได้ตรัสรู้ขอให้ถาดนี้ลอยทวนน้ำขึ้นไป” ก็ลอยทวนน้ำขึ้นไป แล้วจมลงไปนะ จนพญานาค โอ้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อีกแล้วเนาะ เห็นไหม ลอยทวนน้ำขึ้นไป เสี่ยงทายกันไง แล้วคืนนั้นพอดีได้หญ้าคาด้วย ได้หญ้าคามาก็ปูนั่ง “ถ้าคืนนี้นั่งแล้วถ้าไม่ได้ตรัสรู้จะให้มันตายไปเลย ถึงกระดูกจะแตกเป็นดินเป็นผง ก็ยอม”

นั่นน่ะ เพราะชำระไอ้นิวรณ์ ไอ้ความลำบาก ไอ้ความที่ว่าหวังพึ่งกันจนหมดออกไปจากใจไง ชำระใจนี้บริสุทธิ์ผุดผ่องเลยนะ ความอบอุ่นเกิดขึ้นจากภายใน ฟังสิ เห็นไหม เราอาศัยความอบอุ่นขึ้นจากภายนอก เราอาศัยความอบอุ่น เราอาศัยความเกื้อกูลกัน เราพึ่งพาอาศัยกัน มันพึ่งพาอาศัยกันได้แน่นอน ถ้าจิตใจเรายังพึ่งพาอาศัยกันอยู่ แต่พึ่งพาอาศัยแล้ว นี่เราพึ่งพาอาศัยกันได้ ทุกคนยอมแบกรับภาระหมู่คณะ ยอมรับภาระทั้งหมด แต่มันพึ่งพาอาศัยกันด้วยร่างกายไง แต่กิเลสในหัวใจมันยอมพึ่งพาอาศัยด้วยไหม? กิเลสในหัวใจมันว้าเหว่

ไอ้ที่พูดนี้ไม่ใช่พูดให้ใครปฏิเสธเรื่องความรับผิดชอบ ไม่ใช่ แต่ชี้หลักความเป็นจริงไง การพึ่งพาอาศัยกันด้วยร่างกาย การพึ่งพาอาศัยกันด้วยความเป็นอยู่ กับกิเลสในหัวใจมันไม่มีใครจะพึ่งพาอาศัย หรือว่าไม่มีใครจำกัดได้ เว้นแต่เราคนเดียว ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเท่านั้นจะทำให้หัวใจอบอุ่นได้ตามความเป็นจริงไง

ถ้าหัวใจนี้อบอุ่นตามความเป็นจริง มันอยู่ของมันได้แล้ว ข้างนอกก็เป็นส่วนประกอบ แต่ถ้าข้างในเราไม่มีหลัก ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว เราอาศัยพึ่งข้างนอก พึ่งแต่ข้างนอกก็พึ่งพาอาศัยกัน รัฐสวัสดิการเขาดีกว่านี้อีก เดี๋ยวนี้รัฐสวัสดิการดีๆ นะ เขามีคนตกงาน ทุกอย่างเขาดูแลหมดเลย แต่เวลาความทุกข์ในใจเขาก็ช่วยกันไม่ได้ ถึงรัฐสวัสดิการดีขนาดไหนก็มีคนทำร้ายตัวเอง คนฆ่าตัวตาย คนทำอัตวินิบาตกรรมเยอะแยะไปหมดเลย

การพึ่งพาอาศัยข้างนอก เรามองกันว่าการพึ่งพาอาศัย เราเห็นด้วย การพึ่งพาอาศัยมันเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อคนจนทุกข์จนมุมได้การพึ่งพาอาศัยนี้แล้ว มันก็จะแบบว่าสะดวกสบายขึ้นมาชั่วคราว มันก็ระลึกถึงคุณ ระลึกถึงบุญคุณ นี่ถึงว่าการให้ทาน แต่ในเมื่อเราเป็นชาวพุทธ เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อเราจะมีความอบอุ่นจากภายใน เราต้องอาศัยพึ่งเรา แต่พึ่งเราก็ต้องมีแผนที่ดำเนิน เพราะเราเป็นสาวกะ เป็นผู้ฟัง ก็ฟังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงได้มาทำบุญทำทานกัน

นี่วันนี้วันพระ เราก็หวังพึ่งพาอาศัยกัน แต่พึ่งพาอาศัยแล้วต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ต้องรู้จักตนไง พึ่งพาอาศัยจากข้างนอกแล้ว ต้องตั้งหลักของเราให้เป็นผู้ที่พึ่งพาอาศัยได้ เพราะการพึ่งพาอาศัยภายนอกมันพึ่งพาอาศัยไปเรื่อยๆ วัฏวน เห็นไหม การเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ การเปลี่ยนฉากเปลี่ยนเครื่องดำเนิน มันก็ต้องเปลี่ยนให้ดีขึ้น อันนี้เห็นด้วย แต่อันนี้เห็นด้วยมันก็เป็นการพึ่งพาอาศัย เพราะว่าเรามีสติสัมปชัญญะ เรายังใฝ่ธรรมอยู่ ยังใฝ่ดีอยู่ มันก็พึ่งพาอาศัยในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าวันไหนกิเลสมันฟูขึ้นมาล่ะ? มันพึ่งพาอาศัย เห็นไหม

กุศลทำให้เกิดอกุศล คิดว่าทำกุศลอยู่ แต่ไปแล้วอย่างที่อาจารย์ว่า ไปแล้วก็พระเอ็ด พระว่า พระติ พระเตียน นี่ใจเป็นกุศลอยู่ แต่ทำให้เกิดอกุศลขึ้นมา นี่กิเลสมันอยู่ในหัวใจเป็นอย่างนั้น คือว่าการพึ่งพาอาศัยกันอยู่นี่ ในเมื่อใจเป็นธรรมอยู่มันก็พึ่งพาอาศัยได้ มันไว้ใจได้ แต่ในเมื่อถ้ากิเลสมันฟูขึ้นมา คิดว่าการนี้เป็นที่พึ่ง ที่พา ที่อาศัยนี้มันเป็นว่าการสูญเปล่า สวรรค์ไม่มี นรกไม่มี ทำบุญไม่ได้บุญ ทำไปแล้วสูญเปล่า

นี่ถ้าลองกิเลสมันฟูขึ้นมา มันว่าการทำนี่ทำสูญเปล่า การทำให้เป็นวัตถุมันสูญเปล่าได้อย่างไร? สสารในโลกนี้ไม่มีการสูญเปล่า มันต้องเวียนว่ายไปตลอด เห็นไหม แล้วคุณงามความดีสูญเปล่าได้อย่างไร? แต่ในเมื่อเป็นกิเลสขึ้นมา ถึงว่าแม้แต่การพึ่งพาอาศัยนี่พึ่งพาอาศัยได้ ถ้าใจเป็นธรรม ถ้าใจไม่เป็นธรรมก็ไม่เป็นใฝ่ดี มันว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ว่าสูญเปล่า แล้วจะทำสิ่งที่เป็นผลตอบแทน ผลตอบแทนมันก็เป็นธุรกิจ มันเป็นทางโลกไป ผลตอบแทนมา

แต่บุญกุศลมันสละออกไป แล้วมันเป็นการพึ่งพาอาศัย เพราะมันเป็นยานพาหนะขับเคลื่อนให้ใจนี้เกิดดีๆ ไป แต่เกิดดีไปต้องมีธรรม มีธรรมก็ตรงนี้ไง ตรงการฟังธรรม วันนี้วันพระ วันพระเป็นวันธรรมสวนะ เป็นวันฟังธรรมไง ๖ วันนี่ให้อยู่กับทางโลกเขา วันที่ ๗ นี้ หรือวันที่ ๘ ค่ำ ๗ ค่ำ วันพระให้มาฟังธรรม ฟังธรรม เห็นไหม ฟังธรรมเพื่อย้ำตะปูให้ใจนี้เป็นธรรม ใจนี้เชื่อ เชื่อธรรมะของพระพุทธเจ้า ปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ให้เราเดิน

ให้เราเดินนะ ไม่ใช่ให้กิเลสเดิน กิเลสมันจะขวางไว้หมดเลย แต่ให้เราเดิน ให้หัวใจที่เป็นธรรมเดิน เดินเข้าไป เดินเข้าไปจนพึ่งตัวเองได้ไง เดินจากทาน ศีล ภาวนา ถึงว่าถ้าความอบอุ่น ชี้ให้เห็นความอบอุ่นภายในไง ความอบอุ่นของชาวพุทธที่จะเกิดขึ้นจากภายใน มันอบอุ่นจริงๆ นะ มันตั้งหลักได้ ธรรมที่เต็มเสมออิ่มพอแล้ว ไม่ต้องการพึ่งใดๆ ทั้งสิ้นเลย ไม่ต้องอาศัยเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดๆ ทั้งสามโลกธาตุ

ไม่ใช่จะว่าโลกนี้โลกเดียวที่เป็นมนุษย์นะ ตายไป เวียนว่ายตายเกิดที่บุญพาไปๆ นี่แหละ ขนาดว่าอบอุ่นจนที่ว่าไม่ต้องการอาศัยสิ่งที่ความเป็นอยู่ในวัฏวนนี้วนไปเลยนะ มันอิ่มพอจนเป็นวิวัฏฏะ มันคลายออกไง วิวัฏฏะ ไม่หมุนไป แล้วอิ่มพออยู่ เห็นไหม อบอุ่นภายใน นี่ความอบอุ่นที่พึ่งตนเองได้ แต่ก็อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้า อาศัยครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ นี่ไงคบบัณฑิต พระพุทธเจ้าบอกว่า “การคบเพื่อนที่ดีที่สุดไม่ดีเท่ากับคบพระพุทธเจ้า”

เราเกิดไม่ทันนี่ ถ้าเราเกิดทันพระพุทธเจ้านะ คบพระพุทธเจ้านี่ยอดของคนไง ยอดของบัณฑิต ในหมู่ของหมู่คณะ ไม่มีใครดีเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เพื่อนแท้ เพื่อนตาย เพราะเพื่อนแท้เพื่อนตายเป็นครูเป็นอาจารย์ที่ชี้ทางพ้นทุกข์ไง ที่เตือนเราคนที่หลงผิดให้กลับมาถูกทางไง ให้คนที่ปฏิบัติผิดให้กลับมาถูกทาง ให้มิจฉาทิฏฐิกลายเป็นสัมมาทิฏฐิ คบใครไม่เท่ากับคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในเมื่อเราเกิดไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้แล้ว “อานนท์ ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของสัตว์โลกทั้งหลาย”

ในเมื่อเราเกิดไม่ทัน แต่เรายังเกิดทันตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือธรรมวินัย คือพระไตรปิฎกไง ธรรมและวินัยที่เป็นตำรับตำรานี้ เราก็คบนี่ไง เราศึกษาอันนี้แล้วเราเดินตาม เห็นไหม นี่ในเมื่อเราเกิดไม่ทัน แต่เรายังเกิดตัวแทน เราเกิดทันตัวแทนคือธรรมและวินัยนี้ เราก็ต้องเกาะธรรมและวินัยนี้เป็นที่พึ่งที่อาศัย

นี่มันถึงตอกย้ำวันธรรมสวนะ กับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เกาะอันนี้ไว้ พึ่งใจไง นึกพุทโธขึ้นมาเป็นเพื่อนสอง อยู่เฉยๆ นี่ใจมันเป็นหนึ่ง นึกพุทโธขึ้นมาเป็นเพื่อนสอง แล้วนึกถึงธรรมวินัย นึกถึงพระพุทธเจ้า เห็นไหม ตอกย้ำการฟังธรรม ตอกย้ำที่พึ่งที่อาศัยให้มั่นคงไง นี่ไปทำบุญทำกุศล ให้ทานแล้วยังได้ฟังธรรมเป็นสอง บุญสองเท่า ฟังธรรมแล้วย้อน พยายามตอกย้ำความคิดให้อยู่ใกล้กับความเป็นจริงอันนี้ไง พอตอกย้ำตรงนี้มันก็มีกระจิตกระใจที่จะสร้างความอบอุ่นภายในไง สร้างความอบอุ่นให้ตั้งหลักขึ้นมาได้ ถ้าตั้งหลักขึ้นมาได้ จากสมาธิธรรม

สมาธิธรรม ฟังสิ สมาธิธรรมอาจารย์บอกว่า “พออยู่ พอกิน” ใจนี้ตั้งมั่น นี่หลักความอบอุ่นจากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ชำระกิเลสแม้แต่นิดเดียวเลย นี่ความอบอุ่นภายในเกิดขึ้นจากเรา เกิดขึ้นจากเราขวนขวายออกไป ถ้าเราอยู่เฉยๆ นะ ชาวพุทธ โอ๋ย พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง ปล่อยว่างๆ จนนอน จนอยู่ที่บ้าน สบายนะ ว่าง ฉันว่างอยู่แล้ว... หลอกตัวเอง หลอกตัวเอง ว่างที่ไหน? ถ้าว่างนี่ความอบอุ่นต้องมีสิ อย่ามาพูดว่ามันมีความอบอุ่นภายใน พึ่งตัวเองได้ ว้าเหว่ มันยอกใจ มันไม่ได้ถอนศรออกจากใจแม้แต่นิดเดียว มันจะเอาความอบอุ่นมาจากไหน?

เหมือนกับเราหนามทิ่ม เห็นไหม หนามทิ่มเดินไปที่ไหนยังเจ็บแปล็บๆ อยู่ที่ฝ่าเท้า อันนี้มันอยู่เต็มหัวใจทุกคน อวิชชาปัจจยา สังขารา อวิชชาพาหัวใจนี้เกิดมา แล้วไม่ได้ปลดเปลื้องแม้แต่นิดเดียว มาคุยว่าอบอุ่น นั่นน่ะอวิชชามันหลอก นี่เห็นไหม อกุศลมันหลอกในหัวใจ อบอุ่น ว่าง สบาย มันยังว่างอยู่เพราะอะไร? เพราะมันมีที่พึ่งอาศัยภายนอก มันเกาะเกี่ยวไง โอ๋ย มีญาติ มีพี่น้อง มีเงิน มีทอง มีที่อาศัย

อาศัยไม่ได้ ถ้าอาศัยได้ เจ็บไข้ได้ป่วยมันต้องรักษาเราเงินทองนี่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เงินทองเป็นแค่เครื่องจ้างหมอมารักษาต่างหาก เงินมันรักษาเราไม่ได้หรอก บุญกุศลต่างหากรักษาเราได้ บุญกุศลต่างหากทำให้มั่นใจ มีศีลมีธรรมเข้าสมาคมไหนนะก็อาจหาญไง เราไม่มีบาดแผลเลย มือนี้ไม่มีแผล มือเราไม่มีแผล มีน้ำเป็นยาพิษที่ไหน มือนี้ก็สามารถคนเข้าไปได้ มือมีแผลมันกลัวยาพิษ พอยาพิษโดนเข้าไปนี่มันแสบ

หัวใจที่มันอบอุ่น หัวใจที่ตั้งหลักได้ มันองอาจกล้าหาญ เห็นไหม มันกล้าเข้าสมาคมทุกสมาคม มันทำได้ทุกสมาคม เพียงแต่ผู้ที่มีปัญญาเขาไม่เอาพิมเสนไปแลกเกลือไง สมาคมนั้นไม่สมควรที่เราจะเปิดเผย เราไม่ควรจะเปิด เราจะไปแลกเขาได้อย่างไร? ฟ้ากับดินมันต่างกัน ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ แล้วถ้าเกิดว่าฟ้ามันแสดงตัวเป็นดินตลอดเวลา เป็นไปได้อย่างไร? ฟ้ามันเป็นอากาศธาตุ เป็นฟ้า มองขึ้นไปนี่เป็นฟ้า แต่เป็นอะไร เป็นอวกาศ ดินนี่เป็นวัตถุที่จับต้องได้ นี่ความละเอียดอ่อนของธรรมมันละเอียดอ่อนขนาดนั้น มันจะเอาไปแลกกับดินได้อย่างไร? มันจะให้บอกว่าจับต้องได้แบบดิน

ฉะนั้น ฟ้าสูงถึงว่าสูงแล้วยังเป็นประโยชน์กับเรา ให้เราได้หายใจ ให้เราได้มีความโล่ง ความโปร่ง ความสบาย นี่ฟ้าเปิด เปิดเพื่ออะไร? เปิดให้เกิดปัญญา เปิดให้เราค้นคว้าในหัวใจของเราไง ให้สร้างความอบอุ่นขึ้นมา มันว่างไปเหมือนฟ้านั่น ว่างออกมาจากความจริง ถอนกิเลสออกจากใจบ้าง มันถึงจะเป็นว่า เออ นั่นชาวพุทธ

ชาวพุทธไม่ใช่บอกว่า เอ่อ ตามแต่ความพอใจว่างนะ มันว่างด้วยกิเลสหลอกไง ว่างว่าไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้นไง ว่างนอนจมไง เหมือนหมูนอนจมอยู่ในมูตรคูถแล้วหาว่าตัวเองสะอาดไง แต่ทำความสะอาดแล้วนะ คิดดูสิทำความสะอาดจนอัตตาไม่มี ตัวตนไม่มี เป็นหมูเหมือนกัน แต่หมูไม่มีตัวตน เป็นหมูเรืองแสงอีก เห็นไหม เป็นหมูที่ว่าเป็นหมู ยกว่าหมูก็ต้องหมูเหมือนกัน เพราะใจนี้ใจอันเดียวกัน ใจที่เป็นกิเลสที่อวิชชาพาเกิด ใจที่มีความทุกข์กับใจที่มันพ้นไป มันก็เป็นใจอันเดียวกัน แต่ใจที่มันพ้นแล้วถึงว่าเป็นหมูที่เรืองแสงไง นั่นน่ะถึงว่าเป็นความอบอุ่นจริง อบอุ่นอันนี้เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติไง

เริ่มต้นจากทานก่อน จากทาน จากศีล จากภาวนา จากการฟังธรรม เน้นย้ำ ตอกย้ำใจให้มั่นคง ให้มั่นใจในธรรมของเรา ธรรมของเรา กับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นธรรมวินัย นั้นเป็นเพื่อนคู่ไง คบพระพุทธเจ้ายอดที่สุด