เทศน์เช้า

แยกปัญญาโลก ปัญญาธรรม

๓๑ ก.ค. ๒๕๔๒

 

แยกปัญญาโลก ปัญญาธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ศาสนาไง เรื่องศาสนา เรื่องการประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติ ศาสนามันเหนือโลกนะ โลกกับธรรมมันคนละอัน แต่ตอนนี้โลกกับธรรมจะเป็นอันเดียวกัน เวลาปฏิบัติก็ปฏิบัติเป็นโลกนั่นแหละ แล้วว่าเป็นธรรม ไปทางนู้นมา เขาว่าเวลาปฏิบัตินะ เขาบอกว่าพิจารณากายจนหลุดออกไป แล้วเราก็บอกว่าหลุดออกไป พิจารณากายนอก พอบอกให้พิจารณากายใหม่ทำไม่ได้ ทุกอย่างทำไม่ได้เพราะว่ามันเป็นโลกไง

เป็นโลกหมายถึงว่าความคิดทางโลก ถ้าเป็นวิชาการ เราอ่าน หรือเราทำความเข้าใจแล้วเราจะเข้าใจ แต่ถ้ามันเป็นธรรม มันเป็นธรรมมันต้องปฏิบัติเข้าไป ปฏิบัติเข้าไปอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้พอว่าความคิดเป็นโลกไง พอเห็นว่าตัวเองหลุดออกไปก็เข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรม มันเป็นความมหัศจรรย์ ยอมรับว่ามันเป็นความมหัศจรรย์ คนไม่เคยเห็นมันจะมหัศจรรย์มาก พอมหัศจรรย์มันก็ตีค่าอันนี้เป็นผลไง

พออันนี้เป็นผล เห็นไหม ก็อย่างการประพฤติปฏิบัติที่ว่าตามรู้ตามเห็นไป อันนั้นมันก็เป็นโลก แต่เข้าใจว่าเป็นธรรมไง พอเข้าใจว่าเป็นธรรม ตามรู้ตามเห็นแล้วจิตมันจะสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามานะ แล้วก็ถึงขั้นเห็นจะเห็นนรก เห็นสวรรค์เลย มันยิ่งแปลกประหลาด ยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่เลย แต่ความมหัศจรรย์อันนั้น มันก็เป็นความมหัศจรรย์เพราะจิตมันเป็นสมาธิไง

มันยังเป็นโลกอยู่ มันเป็นวงของสมาบัติอยู่นะ เป็นโลกิยฌานอยู่ มันก็เป็นไป นี่พอไปเรื่อยๆ จนจิตสงบ จิตจะว่าง จิตจะวางขนาดไหนมันก็ยังเป็นโลกอยู่ มันเป็นโลกทั้งหมดเลย แต่ความเป็นโลก เขาเห็นว่าอันนั้น ดูไปนี่ว่าเป็นโลกนะ แต่เขาว่าเป็นธรรม แต่พอการประพฤติปฏิบัติที่ตามความเป็นจริง พอจะปฏิบัติให้มันเป็นสมาธิก่อน ทำสมาธิก่อนเขาว่าอันนี้เป็นโลก ไม่ใช่วิปัสสนา ทำความสงบนะ ทำความสงบเสร็จแล้ว เสร็จแล้วนะทำความสงบก่อน แยกระหว่างโลกกับธรรม

โลกกับธรรม โลกอันหนึ่ง ธรรมอันหนึ่ง พอยกขึ้นทำ ยกขึ้นวิปัสสนา เขาบอกไม่ได้ อันนี้เป็นการสร้างภาพ เป็นการสร้างภาพไง เป็นการมโนนึกขึ้นมาอีก เพราะความคิดโลกมันแบ่งไม่เป็นไง มันความคิดแพร่งเดียว ความคิดของเรา ความคิดอันเดียวไปตลอดเลย ความคิดอันเดียวไปตลอด ว่าความคิดคือความคิดไง แต่ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าบอกว่า “โลกกับธรรมแยกออกจากกัน”

ความคิดโลกเป็นความคิดโลก ปัญญาธรรมเป็นปัญญาธรรม ปัญญาธรรม เห็นไหม นึกภาพขึ้นมาก่อน จริงอยู่ต้องนึกภาพขึ้นมาก่อน แต่นึกภาพขึ้นมาเกิดจากสมาธิ เขาค้านไง เขาค้านว่าเห็นพระเทศน์อยู่ประจำ พระเทศน์กันอยู่ประจำว่า จุลปันถก เห็นไหม จุลปันถกที่ว่าลูบผ้าขาว ลูบผ้าขาวๆ เป็นการน้อมนึกภาพ เป็นการสร้างภาพ เป็นการสร้างภาพขึ้นมาไง การลูบผ้าขาว จุลปันถกอยู่กับมหาปันถก มหาปันถกสั่งให้ทำสมาธิอยู่ตลอดเวลา บอกเลยให้กำหนดท่องคำหนึ่งๆ แต่ท่องไม่ได้เพราะไม่มีปัญญาไง ถึงกับให้ไปสึกเลย ไล่ออกให้ไปสึก เพราะพี่เป็นพระอรหันต์ แล้วน้องชายภาวนาไม่เป็น สอนอย่างไรก็ไม่เป็น

ฟังสิ ถ้าสอนอย่างไรก็ไม่เป็น นี่มันสอนมานาน เห็นไหม สอนมานานจนจิตนี้มันมีเป็นหลักแล้ว แต่ทำอย่างไรก็ให้เป็นปัญญาไม่ได้ ไม่มีปัญญา สร้างปัญญาไม่ได้เพราะมีกรรมอยู่ ก็ให้ไปสึก พระพุทธเจ้าไปรออยู่ ไปดักรออยู่ที่ปากประตู

“จุลปันถก เธอจะไปไหน?”

“จะไปสึก”

“ทำไม? ใครให้สึก?”

“พี่ชายให้สึก”

“ให้สึกเพราะอะไร?”

“เพราะว่าภาวนาไม่เป็น”

“เอานี่ๆ เอาผ้าขาวไปลูบ”

นี่คนไม่เคยภาวนา พอไม่เคยภาวนา เห็นว่าอันนี้เป็นการสร้างภาพ แต่ไม่มองภาวะจิต จิตของจุลปันถกที่ภาวนามาเป็นความสงบแล้ว แล้วเราไปเอาผ้าขาวมาลูบก็ไม่ได้หรอก เพราะความคิดโลกไง ถ้าเอาผ้าขาวมาลูบ ไอ้พวกคนอยู่โรงพยาบาลทำผ้าก๊อซ คลำผ้าขาวอยู่ทั้งปีทั้งชาติ เขาได้อะไรขึ้นมา? เพราะความคิดเขาเป็นโลก ความคิดเป็นโลก ก็เห็นว่าเป็นโลก เป็นงาน เป็นธุรกิจ แต่ความคิดเป็นธรรม เห็นไหม ความคิดเป็นธรรม จิตมันปล่อยว่างทั้งหมด มันไม่มีเรา

ผ้านี้ขาว ผ้านี้ขาว ลูบไปลูบมาทำไมมันดำล่ะ? มันดำเพราะเหตุใด? มันดำเพราะเหงื่อไคลจากมือเราไปลูบที่ผ้า ฉะนั้น เหงื่อไคลนั้นต้องสกปรกสิ ร่างกายนี้มันสกปรก ร่างกายนี้เป็นสิ่งโสโครก ร่างกายนี่มันย้อนกลับมา พอจิตมันย้อนกลับมามันก็ปล่อยได้ แต่ว่าอันนี้เป็นการสร้างภาพนะ แต่ไม่ได้คิดว่ามันเป็นธรรมไง เป็นธรรมเฉพาะบุคคล ถึงบอกว่าไม่มีสูตรสำเร็จไง จะเป็นสูตรสำเร็จนะ กำหนดไปแล้วกระทบว่างหมด ว่างหมดนะ ตามรู้ ตามเห็น มันเป็นความคิดโลกๆ แล้วเป็นสูตรสำเร็จ ทุกคนต้องทำอย่างนี้หมด ว่างหมด ปล่อยหมด

ว่าง ปล่อยจริงๆ แต่ปล่อยออกมาเป็นปัญญาอบรมสมาธิไง ปล่อยมาตรงที่เขาดูถูกว่าอันนี้ สมถะเราเป็นสิ่งที่ว่าเป็นคนโง่ สมถะทำแล้วไม่มีปัญญา แต่เขาทำขนาดไหนมันก็มาตกลงที่สมถะนั่นล่ะ มันตกแค่ความสงบ มันไม่ได้ชำระจิตเพราะอะไร เห็นไหม ไม่ได้ชำระจิตเพราะว่ามันไม่เป็นธรรมไง ปัญญานี้มันเป็นจินตมยปัญญา ไม่เป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญา

นางวิสาขา เขาตินะ นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันทำไมมีลูก ๒๐ คน นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันแล้ว พระโสดาบันมันต้องเห็นโลก เข้าใจโลก วางโลกไว้สิ พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิ ละสักกายทิฏฐินะ ทิฏฐิว่ากายนี้เป็นเรา กายนี้ไม่ใช่จิต กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์ เขาว่า นี่ตำราเขาว่า เขาว่าละตัวตนได้แล้วไง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา สักแต่ว่า ไม่มีเราในเขา ไม่มีเราในจิต จิตนี้ไม่มีเรา ไม่มีเราในกาย กายไม่มีเราในสักกายทิฏฐิ แต่จิตนั้นเราล้วนๆ เลย

เราทำไมจะไม่มี จิตมันยังมีอยู่ เรานี่ไอ้ตัวตนน่ะ มานะ ตัวตนมันยังมีอยู่เต็มที่ เขาบอกพระโสดาบันละตัวตนได้ทั้งหมด... ละไม่ได้ ละได้แต่ความเห็นผิด สักกายทิฏฐิคือความเห็นผิด เห็นว่ากายกับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน ความเห็นผิดกับตัวเรามันคนละอัน ความเห็นผิดระหว่างกายกับจิตนี้มันแยกออกจากกันได้ แต่ไอ้ตัวตนของเรามันเป็นตัวจิต จิตนี้เป็นเรา มันยังอยู่เต็มๆ นี่พระโสดาบันทำไมมีคู่ไม่ได้? เขาว่าถ้าพระโสดาบันไม่มีเรา เราไม่มีในกาย กายไม่มีในเรา ต้องเข้าใจโลกทั้งหมด เข้าใจโลกทั้งหมด

นี่เวลาตัวเองปฏิบัติมา ปฏิบัติมาก็ว่าอันนั้นเป็นธรรม เวลาพระโสดาบันละสักกายทิฏฐิได้ก็ว่าละตัวตน ตัวตนมันอยู่ข้างในไง นี่ถึงว่าเอาปัญญาโลกมาจับ เอาปัญญาโลกมาจับธรรม ธรรมเป็นธรรม โลกเป็นโลก มันคนละอันกัน นี้ปัญญาของธรรม เขาไม่เคยมีปัญญาธรรมเลย มีปัญญาโลก... คือปัญญาอบรมสมาธิไง ปัญญาของเขาคือว่ากระทบ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เห็นสภาวธรรม สภาวธรรมไม่คงที่ สภาวธรรมตลอดไป

สภาวธรรมที่ตาเนื้อเห็น สภาวธรรมที่ความแปรปรวนไปของโลก กับสภาวธรรมตามความเป็นจริงที่มันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนจิต สภาวธรรมภายในที่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมโดยตามความเป็นจริง โดยตามความเป็นจริงคือเห็นจากไอ้ไดโนเสาร์อยู่ที่หัวใจ พอเห็นกายตามความเป็นจริงมันจะไหวมาก มันจะหวั่นไหว หวั่นไหวลงมาถึงตัวมานะทิฏฐิ ตัวยึดมั่น แล้วมันจะละเข้ามาเป็นชั้นๆ นั่นคือการเห็นตามความเป็นจริง แต่เห็นด้วยมโนภาพอย่างเขา มโนโลกนี่ แต่ถ้าเห็นด้วยพระจุลปันถกเอาผ้าขาวมาลูบ อันนั้นเห็นเพราะว่าเป็นจริตนิสัยของบุคคลนั้น เป็นวาสนาของบุคคลนั้นที่ได้สะสมบารมีอย่างนั้นมา เป็นของบุคคลคนนั้นคนเดียว จะค้านบุญกุศลของเขา ค้านอำนาจวาสนาบารมีของเขาได้อย่างไร?

“การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน เห็นไหม ถึงได้ว่ารู้จำเพาะตน เป็นปัจจัตตังแล้วขาดจำเพาะตน ไม่มีใครจะเดินรอยตามอันนั้นเป็นสูตรสำเร็จได้ แต่ถ้ามันจะมาซ้ำกันในอันเดียวกัน มันก็สร้างวาสนาบารมีมา แต่ลิมิตหรือว่าความมากน้อยของมรรคไม่เหมือนกัน ความมากน้อยของมรรคไง มรรคที่รวมตัวนี่เฉพาะบุคคลคนนั้น ขณะนั้นรวมแล้วขาด ขาดไป แต่บางคนต้องใช้มากกว่านั้น เพราะกิเลสมันหนากว่านั้น ทิฏฐิมันมาก ความยึดมั่นถือมั่นมันมาก ก็ต้องใช้แรงที่โน้มฟันลงไปมากกว่าปกติเขา แต่ถ้าคนมีวาสนาบารมีมา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่ายทำไมมันไปได้ล่ะ?

ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ผู้ที่ปฏิบัติยากรู้ง่าย ผู้ที่ปฏิบัติยากรู้ยาก กับผู้ที่ปฏิบัติแล้วไปไม่ได้เลย ไปไม่ได้เลยนะ ปฏิบัติแค่สะสมบารมีเป็นชาติๆ ไปเท่านั้นเอง นี่ให้พูดแค่ไหนก็ไม่ฟัง ถ้าคนที่ปฏิบัติแล้วไม่รู้ เพราะ เพราะกรรม กรรมความเชื่ออันนั้น กรรม จิตใต้สำนึก ความไม่เปิด ความไม่เปิดใจไง ความไม่ยอมรับรู้ ความปิด นี่ถ้าเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสามารถหงายภาชนะที่คว่ำให้หงายขึ้นมาได้ ถ้าหงายขึ้นมาไม่ได้ หงายขึ้นมาไม่ได้มันก็ปฏิบัติธรรมไปเท่านั้นเอง เพราะถ้าหงายไม่ได้มันก็ไม่สะเทือนถึงรากเหง้า ไม่สะเทือนถึงรากเหง้า ไม่สะเทือนข้อมูลเก่า มันจะปล่อยได้อย่างไร? มันจะปล่อยจากเปลือกเข้ามาได้อย่างไร?

กิเลสมันเกิดจากใจ กิเลสอยู่ที่ใจไม่ได้อยู่ที่กาย กิเลสอยู่ที่ใจ การพิจารณานั้นต้องสะเทือนถึงหัวใจทั้งหมด ต้องสะเทือนเข้าไปที่ใจ เห็นไหม ธรรม นี่ธรรมเหนือโลกเหนือตรงนี้ไง เหนือเพราะโลกเป็นโลก ธรรมเป็นธรรม ธรรมสละโลกได้ สละออกจากโลกทั้งหมด พ้นไปจากแม้แต่โลกมนุษย์ โลกทุกโลก ๓ โลกธาตุพ้นออกไปหมดเลย แต่มันต้องสะเทือน สะเทือนถึงใจ ต้องพร้อมกันสิ นี่ถึงว่าธรรมกับโลกคนละอัน

ธรรมกับโลกนะ ปัญญาโลกก็เป็นปัญญาโลก ปัญญาโลกคิดจากเราคิดนี่แหละ ปัญญาคิดนี่เป็นปัญญาโลกทั้งหมดเลย เราคิดเป็นโลกใช่ไหม? แล้วก็คิดตะล่อมเข้าไปจนมันเป็นสมาธิ แล้วต้องมีความคิดอันใหม่ขึ้นมา นั่นล่ะคือภาวนามยปัญญา ความคิดหมดจากแรงดึงดูดแล้ว นั่นภาวนาขึ้นไป วิปัสสนานี่ ความคิดนี้จะเกิดได้ต่อเมื่อเรามีเหตุมีผล ถ้าไม่มีเหตุคือกาย เห็นไหม กายกับจิตที่จับเป็นจำเลยได้ จะไม่มีปัญญาหมุนไปได้เพราะมันไม่มีเหตุ วัวพันหลักไง มันไม่มีหลักให้หมุน ไม่มีหลักให้วน แต่ถ้าจับกายได้ จับจิตได้ มันจะมีจุดของกิเลสอยู่ตรงนั้น แล้ววัวจะพันหลักไป จักรของธรรมมันจะเคลื่อนไป นั่นภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นตรงนั้น วัวพันหลัก หมุนจนหลักนั้นขาดออกไป ขาดเลย หลักนั้นขาดออกไปเพราะมันพันหมุนจนขาด นั้นถึงเป็นปัญญาธรรมไง

ต้องมีเหตุมีผล คือต้องมีจับหลัก จับสิ่งที่ตัวเองเข้าไปถึงหัวใจได้ ฉะนั้น อันนั้นไม่ใช่สร้างภาพ ภาพอันนั้นมันเกิดจากตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการทำ จากสมาธิธรรม จากปัญญาธรรมหมุนเข้าไป หมุนเข้าไป แต่ถ้าสร้างภาพจากข้างนอกนี่เลย เห็นไหม เห็นกระทบวางๆ กระทบวางนั่นล่ะมันเป็นอะไร? มันเห็นโดยที่ใครๆ ก็เห็น เด็กน้อยคนไหนก็เห็น แต่มีปัญญาคิดหรือไม่มีปัญญาคิด นี่ปัญญาโลก มันเห็นแต่มันไม่ปักหลักเหมือนหลักของวัวไง มันไม่ปักหลักสะเทือนถึงหัวใจไง มันไม่ปักหลักถึงเจ้าวัฏจักรไง มันไม่ปักหลักถึงตรงที่ว่ากิเลสมันครอบงำอยู่ตรงนั้นไง มันไม่ทำลายถึงข้อมูลเดิมอันนั้น มันก็แค่ปล่อยวางเข้ามานั่นล่ะ นี่ปัญญาของโลกเขา เวลาทำไปๆ มันติดไง โลกกับธรรม

นี่เราไป เราไปคุยที่นั่นน่ะ เขาว่าเป็นๆๆ หมด เราถึงบอกว่าเอ็งจะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าหรือ? การปฏิบัตินี้ เอ็งจะปฏิบัติเพื่อธรรมะ หรือเอ็งจะปฏิบัติเป็นศาสดาองค์ใหม่? ว่าขนาดนั้นนะ เอ็งจะเป็นศาสดาองค์ใหม่ใช่ไหม? เอ็งถึงได้น้อมนึกเอาอย่างนั้น น้อมนึกเอาๆ ถ้าเอ็งจะปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมแบบพระพุทธเจ้า เอ็งต้องกลับมาพุทโธใหม่ ก็กลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธเพื่อให้จิตสงบ จะให้เกิดปัญญาธรรมไง

พุทโธเข้าไป พอพุทโธเข้าไปจิตมันสงบเข้าไป เห็นกายมันเป็นปีติ กายมันพองขึ้นมา กายมันพองขึ้นมา มาอีกแล้ว

“อ้าว แล้วถ้ากายพอง กายนอก กายในจะพิจารณาอย่างไร?”

บอก “กายบ้า อันนี้มันเป็นปีติธรรม ปีติแล้วเอ็งกำหนดเข้าไป”

ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันจะเกิดเอกัคคตารมณ์จิตที่เป็นหนึ่ง ถึงตรงนั้น จิตมันสงบให้เข้าไปถึงอัปปนาสมาธิเลย เพราะว่าจิตมันเคยพิจารณาเคย มันจะออกตลอด มันเคยออกตลอด มันเคยกิน ช่องทางของกิเลสมันหลอกอยู่แล้ว ให้กำหนดจิตเข้าไป กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ สิ่งที่ทำมาแล้วผิดพลาดปล่อยไว้นั่นเลย อย่าไปเสียใจ จนท้อใจ จนไม่อยากจะประพฤติปฏิบัติ บอกว่ากลับมากำหนดใหม่ กำหนดพุทโธอย่างเดียว พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไป อย่าเห็นว่าพุทโธนี้เป็นของต่ำของต้อย เพราะเห็นว่าเป็นของต่ำของต้อย เห็นว่าเป็นสมถะไม่เกิดปัญญา มันทำให้เกิดความล่าช้า เพราะว่าความสบประมาทอันนั้น แล้วเข้าใจว่าตัวเองวิปัสสนาอยู่

ไอ้วิปัสสนานั้นทำไมถึงทุกข์ล่ะ? ทำไมตัวเองถึงทุกข์ ทำไมตัวเองถึงอยากจะผ่อนคลาย ทำไมตัวเองถึงไม่อยากจะทำล่ะ? เพราะอันนั้นเป็นโลก เห็นไหม แล้วมันเสื่อมไหม? เสื่อม นั่นล่ะถึงบอกว่าถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าไง ถ้าเชื่อในการประพฤติปฏิบัติต้องกลับมาที่พุทโธ แล้วพอพุทโธเข้าไปหน่อยเดียวเท่านั้นแหละ พอเห็นอาการอย่างนั้นมาทีเดียว

“จะทำอย่างไรต่อไป?”

บอกว่า “ไม่ได้ ต้องลงเข้าไปอีก ลงเข้าไปอีก”

“ก็นี่เจอแล้วไง”

เพราะมันจะไปเปรียบเทียบกับการประพฤติแบบเก่า การประพฤติแบบเก่ากระทบแค่นี้เอง ก็ว่าอันนี้มันเป็นธรรม อันนี้มันเป็นเห็นกาย อันนี้คือวิปัสสนาแล้ว อันนี้กายหลุดแล้ว เห็นไหม ทั้งๆ ที่เป็นแค่ปีติธรรมไง พอจิตเริ่มสงบตัวเข้าไป กายมันพองขึ้นมาเฉยๆ กายพอง กายใหญ่ นี่มันแค่ปีติ ไม่ผ่านสุข ไม่ผ่านเอกัคคตารมณ์เข้าไปเลย

ถึงบอกว่าให้กำหนดพุทโธซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป จนจิตมันจะลงไปให้ลึกเลย ให้ลึกกว่านั้นอีก ให้ลึกจนมันเคย ต้องต่อต้านกับความเคยชินที่ออกรู้นั่นล่ะ ออกรู้ ให้เข้าไป แล้วพอเข้าไปแล้ว ถ้าเห็นจริง นี่เห็นไหม ที่ว่าเห็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่มโนภาพ แต่ผู้ที่ปฏิบัติเป็นผู้ที่ปฏิบัติใหม่ไม่เข้าใจตรงนี้ พอครูบาอาจารย์บอกว่าให้น้อมนึกขึ้นมา ก็ว่าเป็นมโนภาพไง เป็นการสร้างภาพไง

สร้างภาพขึ้นมาสิ สร้างภาพคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อจะให้เกิดจอภาพไง จะได้อ่านค่ามันออกไง ถ้าไม่มีจอคอมพิวเตอร์ขึ้นมา โปรแกรมมันก็อยู่ในหัวใจนั่นแหละ มันไม่ได้สร้างภาพออกมาให้เราวิเคราะห์วิจัยไง มโนภาพอันนั้น จิตอันนี้มันสงบแล้ว ถ้าสร้างภาพขึ้นมามันสะเทือนถึงใจ ถ้าจิตมันไม่สงบมันเป็นภาพของโลก โลกกับธรรม โลกเป็นส่วนหนึ่ง ธรรมเป็นส่วนหนึ่ง ธรรมมันถึงเป็นส่วนที่ลึกเข้าไป ถึงต้องมีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะไง กรรมฐานเราถึงว่าติดครู ติดอาจารย์ไง

ติด ต้องติดผู้รู้จริง แล้วผู้รู้จริงจะชี้นำให้เข้าถึงช่องทางได้ ถ้าไม่ติดมันก็เป็นมโน นึกจริงๆ เหมือนกันนั่นแหละ เป็นโลกทั้งหมด เป็นการคาดเดาทั้งหมด เพราะไม่มีใครเคยเห็น ไม่มีใครเคยทำ พอสิ่งนั้นเกิดขึ้นมามหัศจรรย์ทุกอย่าง มหัศจรรย์จริงๆ เพราะมันมีใจเข้าไปเป็นตัวสอด ภาพที่เคยเห็น พอใจเข้าไปขยายได้ ใหญ่ได้ จินตนาการนี้กว้างครอบโลก อันนี้ว่าเป็นผลทั้งหมดเลย เป็นผลจากการปฏิบัติ

พอปฏิบัติขึ้นมา พอมันเสื่อมไป เห็นไหม พอมันเสื่อมไป สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งที่เกิดขึ้นต้องเสื่อม ต้องแปรสภาพโดยธรรมดาของมันเลย ขนาดทุ่มทั้งชีวิตนะ จนถอดใจ จนท้อใจ นั่นน่ะถึงเห็นโทษของมันไง เห็นโทษบอกนี่ปัญญาโลก ปัญญาโลกกับปัญญาธรรม แต่ปัญญาโลกสื่อกับโลกเข้าใจง่าย แล้วโลกเชื่อตามกันไปหมดเลย พอโลกเชื่อตามกันไปก็ทำกันไปไงว่าอันนี้เป็นธรรม เพราะมันจะก้าวขึ้นมาถึงจุดของว่างนี่ได้ยาก

พอก้าวขึ้นมาถึงจุดที่ว่าง น้อยคนที่จะเป็นได้ แต่คนที่ก้าวมาถึงจุดตรงว่าง แล้วมันเสื่อมลง ทุกคนจะรู้ว่าอันนี้ผิด! ผิดหมดเลย เพราะอะไร? เพราะมันเสื่อมสภาพ มันไม่ใช่คงที่ ไม่ใช่ธรรมความเป็นจริง แต่ถ้าธรรมความเป็นจริง เห็นไหม นางวิสาขาขาด! ขาดออกไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต เก้อๆ เขินๆ ไม่มีวันเสื่อม แต่ไปโทษไอ้ตรงที่ว่ากลับมามีครอบครัว อันนั้นเพราะว่าเขาสร้างบารมีมาเท่านั้น ต้องการเป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า สะสมบารมีเท่านั้น ตั้งใจมาเท่านั้น ปรารถนาเท่านั้น

ทำไมพระอานนท์เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน

“อานนท์ เธออย่าเสียใจไปเลย เราตถาคตนิพพานไปแล้ว อีก ๓ เดือนเธอจะสิ้นกิเลส”

พระอานนท์ก็เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน อุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามา ๒๕ ปี เพราะว่า ๒๐ ปีแรกไม่ใช่ ๒๐ ปีแรกอุปัฏฐากทั่วไป อุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามา ๒๕ ปี

“อานนท์ เธอได้สร้างบุญกุศลไว้มาก เรานิพพานไปแล้ว วันสังคายนาเธอจะสำเร็จ”

นี่ก็สำเร็จ พระโสดาบันทำไมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ล่ะ? พระโสดาบันก็ต้องผ่าน คนปฏิบัติส่วนใหญ่ต้องผ่านพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคา แล้วก็สิ้นไป แต่นี้ไม่สิ้นไปเพราะว่าต้องการแค่นั้น ต้องการเท่านั้น นางวิสาขาต้องการเท่านั้น ไม่ไปอีก

พอเท่านั้น ความเห็นมันยังมีกามราคะ เห็นไหม มีปฏิฆะอยู่ กามราคะ ปฏิฆะ พระสกิทาคาอ่อนลง พระอนาคาถึงสิ้นลง พระอนาคาเท่านั้นถึงจะไม่มีเรือน แต่นี่ยังไม่ถึง แต่เห็นสภาพกายกับจิตแยกออกจากกันตามความเป็นจริง เป็นพระโสดาบันไม่ตกต่ำ ไม่ตกต่ำ ลูกหลานนี่รักมาก แล้วเป็นคนที่ชักลูกหลานให้กลับมามีสัมมาทิฏฐิทั้งหมด ในสัมมาทิฏฐิทั้งหมดชักลูกหลานเข้ามา เป็นผู้นำของโลกเขาได้โดยประเสริฐ เพราะว่ามีธรรมในหัวใจ แล้วไม่แก่ไม่เฒ่า มีความสุขไปตลอด แล้วไปข้างหน้า มันไม่ตกต่ำไปข้างหน้า

ดูสิขนาดที่ว่ามีเหย้ามีเรือน เห็นไหม ตอนที่หลานตาย หลานตาย ประเพณีของอินเดียเขาเอาน้ำโพกหัวไว้ให้เปียกๆ มาหาพระพุทธเจ้า อ๋อ เสียใจมาหาน่ะ

“วิสาขา ในเมืองนี้จะไม่มีใครเคยตายเลยหรือ?” มีคนตายตลอด เห็นไหม

“ถ้าหลานเขาตาย เธอโศกเศร้า แล้วที่อื่นคนตายล่ะ?”

ถ้าเป็นเราเราก็ยังไม่สะเทือนใจ แต่พระโสดาบันสติพร้อมไง พอพูดปั๊บความทุกข์หายเปี๊ยบ เพราะมันเข้าใจธรรมไง อ๋อ มันเป็นสภาวะตามความเป็นจริง เพราะเห็นความเป็นจริงแล้ว ลูกหลานคนอื่นก็เคยเสีย ลูกหลานเราเสียไป จะมาเสียใจไปทำไม? นี่สลัดผลัวะ หลุดเลย เพราะตัวเองมีพื้นฐานอยู่ เป็นผู้มีธรรมอยู่ในหัวใจ แต่เพราะว่าสติยังไม่พร้อม สติ มหาสติ สติอัตโนมัติ เห็นไหม พระโสดาบันนี่มีสติปัญญาพร้อม แต่พระอนาคาขึ้นไปถึงมหาสติ มหาปัญญาต้องผ่านตรงนี้ แต่ข้างบนเลยนี่เป็นปัญญาญาณ เป็นสติอัตโนมัติ ผู้ที่มีสติพร้อม เห็นไหม พอพระพุทธเจ้าเตือนหน่อยเดียวหลุดเลย ทุกข์นั้นพึ่บออกเลย

เวลามีครอบครัวก็มีได้ เวลาลูกหลานเสียไปก็มีทุกข์ เห็นไหม เหมือนกัน เพราะว่าพระโสดาบันยังแค่เห็นสภาวะตามความเป็นจริงของกาย ยังไม่เห็นสภาวะตามความเป็นจริงของขันธ์ที่จิต ยังไม่สามารถชำระต้นตอของจิตให้พ้นออกไปได้ มันอีกตั้งหลายขั้นตอน ถ้าเข้าใจตรงนั้นแล้วมันก็จะไม่มาค้านตรงนี้ไง เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติแสนยากเข้าไม่ถึง เวลานางวิสาขาเป็นพระโสดาบันก็ยังค้านอีกว่าทำไมโสดาบันมามีครอบครัว นี่ตำราน่ะ อ่านผิด วิเคราะห์ผิด ความเห็นของโลกเห็นผิด เห็นผิดหมดเลย

นี่ปฏิบัติตามความเป็นจริง แบบครูบาอาจารย์ถึงตามความเป็นจริง พอเห็นเข้าใจนี้ ไม่เคยค้านใดๆ ทั้งสิ้นเลย ธรรมไม่เคยค้านกันนะ ถ้าลองค้านกัน การโต้เถียงกันเกิดขึ้น ต้องมีคนหนึ่งผิด คนหนึ่งถูกเด็ดขาด แต่ถ้าธรรมความเป็นจริงนี้จะไม่มีการค้านเลยแม้แต่นิดเดียว รู้สภาวะขณะนั้นๆ สภาวะจากฝ่าเท้าขึ้นมาถึงหัวเข่า สภาวะจากหัวเข่าขึ้นมาถึงเอว สภาวะจากเอวขึ้นมาถึงคอ สภาวะของหัวไง สภาวะของสมองไง

นี่ก็เหมือนกัน มรรค ๔ ผล ๔ สภาวะของโสดาบัน สกิทาคา อนาคาจะถึง…

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)