ความเห็นต่างของปฏิบัติกับปริยัติในอรรถและพยัญชนะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ในสมัยครั้งพุทธกาล เวลาคนเขาไปถามปัญหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอก ปัญหาบางอย่างตอบตรงๆ ไม่ได้หรอก ต้องยกตัวอย่างขึ้นมาให้ดู แล้วก็เทียบเคียงเอาให้คนนั้นเห็น
อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะคุยเรื่อง อัตตาและอนัตตา
อรรถนะ อรรถคือความความหมายกับบัญญัติ บัญญัตินี้เป็นกฎหมายไง บัญญัติคืออักษรตามตัวอักษร แล้วก็ตีความตัวอักษรไป กฎหมายนี่ใครๆ ก็สามารถตีความได้ ตีความกฎหมาย ตีความอย่างไร? เขาตีความกฎหมายแต่ละครั้ง มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามแต่เหตุปัจจัย นี่ตีความกฎหมายคือตีความบัญญัติไง ตีความบัญญัติ
ฉะนั้น ถึงบอกว่ายกตัวอย่างก่อนใช่ไหม? เราจะเอาเรื่อง อรรถ อรรถคือเนื้อความ เนื้อความในเนื้อความนั้น กับตัวอักษร เห็นไหม ตัวพระไตรปิฎกนี่เป็นตัวอักษร บัญญัติไว้ถูกต้องดีงาม ถูกต้องหมดเลย แต่เราไปอรรถ เราไปตีความผิด ตีความตามตัวอักษรไง พอตีความตัวอักษรก็เอาภูมิหลังของมนุษย์ปัจจุบันนี้ไปตีไง กาลเวลาสองพันกว่าปี กับกาลเวลาปัจจุบันนี้มันต่างกันมากเลย เหตุผล สิ่งแวดล้อมนี่เปลี่ยนไป
คนไม่เชื่อเลยว่าคนโบราณเขาจะอยู่กันอย่างไร? เพราะไม่มีไฟเขาอยู่กันได้อย่างไร? เขาจุดไฟด้วยเครื่องจุดของเขานั่นล่ะ เรื่องเอาหินติดไฟมาตอกกัน เดี๋ยวนี้เขาใช้ไฟแช็ค แป๊บๆ ติด ทำไมเมื่อก่อนเขาจะจุดไฟ เขาต้องให้หินไฟมาตอกกันนะกว่าจะเป็นไฟ ในเมื่อสิ่งแวดล้อมต่างไป ความเห็น การตีความมันจะต่าง ทั้งๆ ที่อักษรตัวเดียวกันนั่นน่ะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทุกข์ยังเกิดขึ้นอยู่ มัคคะอริยสัจจังสามารถแก้ทุกข์ได้เป็นปัจจุบันเลย ปัจจุบันเด็ดขาด ร้อนๆ สดๆ ร้อนๆ เหมือนกันเลย
ฉะนั้น การตีความ เห็นไหม ยกตัวอย่างเลยนะ อย่างเช่นที่ว่าในพระไตรปิฎกบอกไว้นะ ว่า น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา น้ำใสใช่ไหม? ว่าน้ำใส การทำสมาธิต้องทำให้สมาธิ ให้จิต ให้น้ำมันใสแล้วจะเห็นตัวปลา เราก็เข้าใจว่าน้ำนี่ใสแล้วเห็นตัวปลา เราก็เข้าใจ เรามองเอาปัจจุบันนี้ เรามองนี่น้ำมันขุ่นอยู่ มีปลาอยู่ แทบไม่เห็นปลาเลยเพราะน้ำมันขุ่น พอน้ำมันใสไปเราเห็นปลานี่ว่ายอยู่ในน้ำ จริงไหม? จริงเด็ดขาด
พระพุทธเจ้าก็มีความหมายอย่างนี้ บอกว่าน้ำนี่ใสแล้วมันจะเห็นตัวปลา แต่ไม่ใช่เห็นตัวปลาด้วยน้ำใสแล้วเห็นวัตถุนี้ไง น้ำใสหมายถึงจิตนี้มันเป็นโลกียะ จิตนี้เป็นโลกอยู่ คิดหรือทำอย่างไร? ทำอะไรไปก็แล้วแต่มันก็เป็นเหมือนน้ำขุ่นๆ เพราะมันเป็นโลก เป็นความคิดของเรา ต้องทำให้จิตนี้สงบ พอจิตนี้สงบ จิตสงบ จิตผ่องใสเหมือนกับน้ำใสไง
น้ำใสถึงจะเห็นตัวปลาใช่ไหม? แต่มันมีจริงๆ เพราะว่าถ้าน้ำใสไปแล้วมันจะรู้ว่าตัวเองจิตมันสงบมีความสุขมาก ความสุขอันนี้มันจะเป็นผลไป พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า น้ำใสแล้วถึงจะเห็นตัวปลา คือจิตสงบแล้วมันจะมีกิเลสในความสงบนั้น ให้หาความสงบ ให้หากิเลสในความสงบนั้นไง
นี่ความหมายของพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ตรงตัวเลยนะ ตรงตัวคือว่าพอจิตสงบแล้วเป็นน้ำใส แล้วมันมีปลาคือกิเลสอยู่ในน้ำนั้น แต่ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติ ที่ว่าทำจิตนี้ให้สงบ น้ำนี้ใสแล้วมันจะเห็นตัวปลาไปโดยอัตโนมัติไง แต่ความจริงคือต้องขุดคุ้ยหากิเลสในน้ำใสๆ นั้น กิเลสมันหลบอยู่ในน้ำใสๆ นั้น แต่มันมีปลาอยู่ในนั้น แต่ปลาที่เรามองไม่เห็นไง แต่มีจริงๆ มีจริงๆ เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้จริงๆ พูดจริงๆ ให้เราเข้าใจจริงๆ ว่ากิเลสมันอยู่ในความใส ในความสว่าง ในความสงบ ในกิเลส ในอวิชชามันอยู่ในนั้นน่ะ ปลามันอยู่ในน้ำใสๆ นั้น
นี่ความหมายมันอยู่ตรงนี้ แต่คนตีความปัจจุบันนี้ว่าทำจิตให้สงบไป สงบไป พอจิตสงบแล้วมันเหมือนน้ำใส แล้วมันจะเห็นตัวปลาโดยอัตโนมัติ คือว่าเขาไม่ยอมยกจิตขึ้นวิปัสสนาไง เขาไม่ยอมทำจิตยกขึ้นวิปัสสนา เขาไม่ยอมค้นหาปลา เขาว่าปลานี่มันอยู่ในน้ำมันต้องเห็น ตาเนื้อๆ ยังเห็นเว้ย ตาเนื้อๆ นี่พอน้ำใสจะเห็นตัวปลาชัดๆ แล้วทำไมจิตสงบมันต้องเห็นชัดๆ อย่างนั้นบ้างสิ แต่มันไม่ใช่ มันเป็นคนละขั้นตอนไง
ขั้นตอนของการที่ว่าขุดคุ้ยหากิเลส ถ้าไม่พูดแบบนี้ไว้นะ พอจิตมันสงบไป มันก็เหมือนว่าคนเราจิตสงบไปใช่ไหม? ไม่เห็นกิเลสก็เข้าใจว่าหมดไป พระพุทธเจ้ากันเอาไว้แล้วชั้นหนึ่งนะ แต่มันต้องใช้เทคนิคในการเอาความสงบนี้ขุดคุ้ยค้นหากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม ขุดคุ้ยหาจิต หาธรรมเพราะหลักการมันเพื่อไม่ให้สาวก ไม่ให้ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าหลงไปไง หลงไป
ถ้าจิตนี้ใสแล้วเห็นตัวปลาโดยอัตโนมัติ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านะ ตอนออกศึกษากับอาฬารดาบส เห็นไหม ก็ไปฝึกจนได้สมาบัติ คำว่าสมาบัติ ๘ นี่จิตมันต้องใสมาก มันยังไม่เห็นตัวปลาเลย ถ้าจิตเราใสแล้วเห็นตัวปลาโดยอัตโนมัติ ก่อนที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบสอยู่แล้ว นี่จิตมันก็ใส แต่ไม่เห็นตัวปลา ท่านเห็นโทษของมันไง ท่านถึงได้บอกว่า น้ำนี้ใสจะเห็นตัวปลา
จิตที่สงบๆ ที่เขาสงบกันในก่อนพุทธกาล ในก่อนที่ศาสนาจะเกิดเขาสงบอยู่แล้ว แต่เขาไม่เห็นปลาในนั้น ก็พยายามพูดออกมาเพื่อให้พวกเรา นี่พวกเรา พวกคนที่มีกิเลสมันโง่ ต้องให้เห็นภาพชัดอย่างนั้น ว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าปลาต้องอยู่ในน้ำ ถ้าน้ำใสถึงจะเห็นตัวปลา คือให้ยืนยันว่าเราเห็นภาพชัด เราจะได้จับประเด็นนั้นถูกไง เราจะยึดประเด็นนี้ได้ถูก ประเด็นว่าจิตสงบแล้วมันมีกิเลสอยู่ในนั้น เราจะยึดได้ แต่วิธีการไปหานั้นต้องเป็นอีกวิธีการหนึ่ง เป้าหมายมันอยู่ตรงนั้น เห็นไหม เป้าหมาย
นี่แล้วก็มาดูสิในมิลินทปัญหาบอกว่า ในน้ำมีปลา ในน้ำมีปลา พระนาคเสนบอกว่า ในน้ำมีปลา
มิลินทปัญหาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นในลูกมะพร้าวมีน้ำ ต้องมีปลา
นี่เวลาคนมันตะแบง เห็นไหม ว่าน้ำในมะพร้าวต้องมีปลา ก็เลยตกลงกันว่าต้องพิสูจน์ ก็เลยขึ้นไปเก็บมะพร้าวลงมา มาผ่ามะพร้าว ในมะพร้าวนั้นก็มีปลา อยู่ในมิลินทปัญหา ในอรรถกถา อยู่ในพระไตรปิฎกเลย อยู่ในอรรถกถา มีจริงๆ แล้วในตำราอธิบายว่า เพราะมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์นี่จะเป็นหลักชัยของศาสนามาก ถ้าทำให้เชื่อแล้วมันจะเป็นประโยชน์ไง
ในน้ำมีปลา ทุกคนก็ยอมรับใช่ไหม? พระเจ้ามิลินท์ก็ยอมรับว่าในแม่น้ำ หรือในน้ำทั่วไปมันมีปลา แต่กิเลสของตัวเองจะเอาชนะไง ถ้าในน้ำมีปลา ฉะนั้น น้ำในลูกมะพร้าวก็ต้องมีปลา คือไม่ยอมแพ้ เห็นไหม ก็ตะแบงไป แล้วเทวดานี่แปลงมาเป็นปลา ในตำราเขียนไว้ว่าอย่างนั้น เทวดานี่แปลงมาเป็นปลาอยู่ในมะพร้าว ผ่ามะพร้าวออกมาก็มีปลาจริงๆ
อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสของพวกเรา ว่าน้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา ก็เลยอยู่เฉย อยู่เฉยกัน แต่เทวดาไม่มาช่วยให้เห็นว่าเราต้องหาเอง เห็นไหม นี่ยกตัวอย่างตรงนั้นมาว่าน้ำใสแล้วเห็นตัวปลา อันนี้เป็นนักปฏิบัติติดมาก ติดว่าน้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา จิตสงบแล้วจะเห็นกิเลสเอง ผิด ผิดตรงที่ว่าตัวเองนอนเนื่องแล้วจิตจะเสื่อมไป จะเข้ามาตรงนี้แหละ นี่จะเข้าแล้ว
สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายนี้ต้องเป็นอนัตตา แล้วเรื่องของเพียรก็เหมือนกัน เรื่องของเพียรนี่เป้าหมายของพระพุทธเจ้า เพราะมีคนเขามาถามพระพุทธเจ้าว่า นิพพานมันเป็นอย่างไร? เป้าหมายคือจะตอบเรื่องนิพพาน ไม่ได้ตอบเรื่องอนัตตา ตอบเรื่องนิพพานก็ต้องเป็นนิพพานอย่างเดียว อย่าเอาอนัตตาเข้ามาเกี่ยวข้อง ท่านบอกว่าเปรียบเหมือนนะ นี่พระพุทธเจ้าอธิบายนะ ว่าเปรียบเหมือนเราจุดเทียนไว้ให้โยมดู เพราะโยมนี้ยังไม่มีปัญญามาก จุดเทียนให้โยมดู แล้วก็เป่าเทียนดับไป แล้วก็ถามว่า
เมื่อกี้นี้เห็นไฟที่เทียนไหม?
ไม่ใช่ว่าเรื่องเทียนนะ เรื่องไฟ จุดไฟที่เทียนขึ้นมาให้เห็นก่อน ให้เห็นภาพ แล้วก็เป่าเทียนดับไป ถามโยมว่า
เมื่อกี้เห็นไฟไหม?
เห็น
แล้วนี่ดับไปแล้ว ไฟเมื่อกี้ดับหรือยัง?
ดับแล้ว
แล้วนึกถึงภาพไฟนั้นเห็นไหม? นึกภาพไฟเมื่อกี้ออกไหม?
ออก
นั่นล่ะนิพพาน
นิพพานคือภาพที่เห็น ไฟที่จุดมันมีอยู่ใช่ไหม? นี่กิเลส คนเราเกิดมาจากกิเลส มีกิเลสในหัวใจทั้งหมด กิเลสจุดไฟขึ้นมา ไฟมันเผามันเร่าร้อน แล้วชำระกิเลสจนกิเลสนี้ดับหมด เป่าให้ไฟมันดับไป เห็นไหม คือกิเลสมันดับ พอกิเลสมันดับ เพราะเรามีจิตอยู่ จิตที่เห็น จิตรับรู้ ตาเห็นภาพ ตาเห็นไฟ เห็นไฟนั่นน่ะตาเห็นภาพ ภาพนั้นจักขุวิญญาณเกิดขึ้น วิญญาณที่หัวใจมันรับรู้ไปแล้วว่านี่ภาพไฟ ดับ! นี่ดับกิเลส
เพราะว่าจักขุวิญญาณมันเห็นภาพนั้นแล้ว แล้วมันจำภาพนั้นได้ ดับกิเลสคือดับความร้อนนั้นแล้ว แต่ธาตุนั้นจิตมันมีอยู่ จิตนี้ เพราะจักขุวิญญาณรับรู้แล้ว มันรวมลงอยู่ที่จิต จิตนี้มีพื้นฐานอยู่ จิตเห็นภาพไฟนั้นไหม? เห็น เห็นภาพไฟนั้น แต่ไฟนั้นมันเผาไหม? ไม่เผา เพราะอะไร? เพราะมันดับไปแล้ว นั้นคือนิพพาน
เป้าหมาย เหตุผลในการตอบปัญหามีเท่านี้ จบแค่นี้ นิพพานที่มีอยู่คือกิเลสมันดับไป ดับไปเพราะเราเห็นกิเลส เห็นไฟ ไฟมันเร่าร้อน มันเผา แต่ถ้าเป็นอนัตตานะ เป็นอนัตตา ไฟเกิดขึ้นอยู่มันก็ต้องดับไปใช่ไหม? ไฟมันเผามีเชื้อต้องดับไป ถ้าจุดไฟไว้นะ แล้วไฟเผาไหม้เทียนนั้นจนหมดไป หมดต้นเทียนนั้น แล้วเทียนนั้นดับ เทียนนั้นดับไปโดยธรรมชาติ นี้คืออนัตตา
อนัตตาคือมีการเกิดขึ้น มีการจุดไฟขึ้น ไฟนั้นเผาผลาญอยู่พักหนึ่ง แล้วไฟนั้นต้องดับไปเพราะมันหมดเชื้อโดยธรรมชาติของมัน ไฟนี้ไม่ใช่กิเลส ไฟนี้เป็นเชื้อ ไฟมันเป็นความร้อน เผาเชื้อคือไส้ของเทียน เห็นไหม เพราะตัวเทียน ตัวไฟมันไม่มีธาตุรู้ นิพพานเข้ากับจิต จิตนี้เป็นธาตุรู้ รับรู้เรื่องนิพพานเท่านั้น ไม่มีภาชนะใดๆ จะรับรู้นิพพานได้
ตัวเทียน ตัวไส้ของเทียน ตัวไฟมันเป็นธาตุ มันเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง มันไม่มีชีวิต มันรับรู้เรื่องนิพพานไม่ได้ แต่มันเป็นสิ่งที่จุดไฟเผาแล้วมันเกิดขึ้น เห็นไหม มันเผาไหม้ไปชั่วคราว ตั้งอยู่ แล้วมันต้องแปรสลายไป นั้นคืออนัตตา อนัตตาคือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สรรพสิ่งในโลกนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วดับไป นั้นคืออนัตตา อนัตตานะ
แต่จิตนี่ถ้ามันเป็นไฟเผาอยู่ จิตนี่นะมันมีกิเลสอยู่ มันมีกิเลสอยู่ มันยังเกิด มันเผาอยู่ เห็นไหม มันต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป แต่ดับไปเหลือวิบาก ฟังสิ วิบากที่ซับอยู่ที่จิตนั้นเป็นบุญกุศล เกิดต่อไปๆ นี่คือวัฏฏะ นี่มันหมุนไป แต่เทียน ไฟนั้นมันดับแล้ว ดับเพราะอะไร? ดับเพราะตบะธรรม ดับเพราะมัคคะอริยสัจจัง ดับเพราะว่าพระพุทธเจ้าบอก เพราะพระพุทธเจ้าอธิบายเรื่องนิพพานให้คนตาบอดมันฟัง ก็ต้องเอาวัตถุนี้เองใช่ไหม?
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิบายถึงว่าการชำระกิเลสมันละเอียดลึกซึ้งไป เรื่องของกิเลสมันมากกว่านั้น แต่เขาถามว่านิพพานเป็นแบบใด? ข้อที่ดับเทียนท่านอธิบายเท่านั้น มันต้องสรุป หรือว่าต้องตัดตอนที่ว่าไฟดับเท่านั้นสิ แล้วนี่อธิบายเฉพาะตัวไฟก็ได้ ว่าตัวไฟพอมันจุดติดแล้ว มันตั้งอยู่แล้วมันต้องดับไป ดับไปเพราะหมดเชื้อสิ แต่นี้ถ้าจุดไฟใช่ไหม? แล้วไฟนี่มันต้องหมดเชื้อใช่ไหม? หมดเชื้อมันก็เผาไหม้ไป เป็นเหมือนเราเกิดมาแล้วก็ตายไป ไม่ได้ชำระกิเลสไง
เราเกิดมานี่แล้วเราทำความดีอยู่ แต่เราสามารถชำระกิเลสได้เราก็ต้องตายไป มันก็ต้องไปเกิดอีก มันถึงไม่ใช่นิพพานไง ถ้าเป็นอนัตตา เทียนมันเผาไหม้หมด เผาไหม้หมดแล้วเทียนมันละลายไป เราสามารถเอาเศษเทียนนี้มาหล่อเทียนใหม่ได้ เราสามารถจุดได้อีก เห็นไหม มันถึงว่าเป็นนิพพานไม่ได้ มันถึงว่าเป็นอนัตตาไม่ได้ไง ถ้าเป็นนิพพาน ท่านดับไฟแล้ว จบแล้ว คือเรื่องของเทียนนี่ไม่พูดถึงมัน
อันนี้เพียงยกเป็นตัวอย่างไง เป็นอุปกรณ์ที่เอามาอธิบาย แต่ไม่ใช่เอาอุปกรณ์นั้นมาเป็นที่ว่าเราต้องอธิบายต่อไปเป็นกรณีที่ ๒ เป็นเหตุผลที่ ๒ ต่อไป เราถึงว่า ทำไมเขาถึงเข้าใจว่าเรื่องดับเทียนนี้ยังเป็นอนัตตาอยู่ เพราะว่าถ้าเรามาคิดเอาเอง ตรึกเอาเองมันเป็นไปได้ แต่ถ้าเขาไปดูตรงนี้ ตรงที่คำถามในพระไตรปิฎก เขาถามว่านิพพานเป็นอย่างไร? เขาไม่ได้ถามว่าอนัตตาเป็นอย่างไร? พระพุทธเจ้าตอบเรื่องนิพพาน
ประเด็นนี้นะ ครูบาอาจารย์เอามาตอบโยมไว้มาก แล้วก็ตอบเรื่องนิพพาน นิพพานคืออะไร? นิพพานนี่เหมือนกับมีเทียนอยู่ จุดเทียน ไม่ใช่เหมือนมีเทียน เหมือนมีไฟ เฉพาะมีไฟนะ เพราะไฟนี่เป็นอาการเกิดดับ เหมือนมีไฟอยู่ จุดไฟให้เห็นไง แล้วเราก็เห็น แล้วดับไปนั้นไปซะ แล้วท่านไม่ได้พูดเรื่องไฟแล้วนะ ท่านไม่ได้ถามเรื่องไฟแล้ว ท่านถามกลับมาคนที่ดูน่ะ ว่านึกภาพไฟนั้นออกไหม? เห็นไฟไหม? เห็น แล้วมันมีไหมล่ะ? ไม่มีหรอก เพราะอะไร? เพราะดับไฟไปแล้ว ถ้ามีเป็นสมมุติ ถ้ามีออกมามันก็ยังมีการต่อเนื่อง จริงไหม?
ถ้าเทียนนั้นไม่ได้ดับ เห็นเทียนนั้นอยู่ มันก็ไม่ใช่นิพพานสิ เพราะมันยังไหม้อยู่ นี่คืออนัตตา มันยังแปรสภาพอยู่ แต่ถ้ามันดับไปแล้ว เทียนนั้นดับไปแล้ว มันไม่มีการสืบต่ออีกแล้ว เทียนนี่ไฟมันดับไปแล้วใช่ไหม? แต่ภาพฝังที่ใจที่เห็นภาพนั้นดับไหม? นั่นคือนิพพาน แต่คือนะ คือแต่ไม่ใช่นิพพาน ถ้านิพพานจริงๆ มันต้องกำจัดกิเลสจนสิ้นมันคือนิพพานจริง นิพพานจริงนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่นี่พระพุทธเจ้าพยายามจะยกตัวอย่าง ยกตัวอย่างให้พวกเราเข้าใจ ยกตัวอย่างให้พวกเราปฏิบัติไปแล้วไม่หลงทาง คือเป้าหมายอยู่ที่ตรงนั้นไง
นี่ถึงบอกมันยังแปลกใจอยู่ ถ้าบอกว่าไอ้แค่นี้เหรอเป็นนิพพานนะ ฉันไม่ทำหรอก ฉันไม่ปฏิบัติหรอก แค่เทียนจุด เทียนดับเท่านั้น เรื่องอะไรจะไปปฏิบัติทั้งชีวิตเชียวหรือ? มันเป็นตัวอย่าง เป็นบุคลาธิษฐานให้เห็นตัวอย่าง ให้เราเข้าใจ แต่ปัญญาของพระพุทธเจ้านี่เยี่ยมๆ เยี่ยมมาก ใครถามอะไรก็แล้วแต่ท่านจะยกอุปกรณ์ขึ้นมาชี้ให้เห็นไง ชี้ให้เห็นภาพนั้น ถึงจะไม่รู้ภาพนั้นชัดก็เหมือนกับเข้าทางไง ไม่ผ่านจากตรงนั้นไป นี่คือปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่ทำไมพระยังมาอธิบายเป็นอนัตตาอยู่? อนัตตาไม่ได้ ถ้าเป็นอนัตตา อนัตตาฟังนะ อนัตตามันอยู่ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์หมายถึงว่า สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง นี่สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังมันเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร? เพราะใจเราก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
คำว่าอนัตตา เห็นไหม อนัตตาคือความทุกข์มันเกิดขึ้น อย่างเช่นเรากระทบกับสิ่งที่เราเสียใจมากๆ ช่วงนั้นเราสามารถทำลายตัวเราเองได้ทุกทีเลย ถ้าเราเสียใจจนสุดซึ้งนะ แบบว่าฟิวส์ขาด เราสามารถทำลายตัวเราเองได้เลย เพราะอะไร? เพราะเป็นทุกข์ที่ว่าเรารับไม่ได้ แต่สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เห็นไหม ทุกข์นี้เกิดขึ้น ทุกข์นี้ตั้งอยู่ แล้วมีคนช่วยปลอบประโลม กาลเวลามันช่วยทำให้เจือจางไป
ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่พักหนึ่ง แล้วทุกข์ก็จะหายไป เราจะลืมไป จะจางไป เห็นไหม นี่อนัตตา แล้วนิพพานมันจะเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ แล้วดับไปแบบทุกข์นี้หรือ? ทุกข์นี้ดับไป ทุกข์นี่ดับไปด้วยอนัตตา ความหมายของอนัตตาคือสิ่งใดก็ได้สิ่งหนึ่งเกิดขึ้น อย่างเช่นความทุกข์นี่มันกระทบอะไรเกิดขึ้น นี่ทุกข์เกิดขึ้นแล้วมันตั้งอยู่ชั่วคราว ทุกข์อยู่ ๕ วัน ๗ วัน ๘ วัน ทุกข์อยู่ชั่วโมงหนึ่ง ทุกข์อยู่เดือนหนึ่ง ทุกข์อยู่ปีหนึ่ง แล้วมันจะลืมไปๆ
แต่มีบางคนบ้างที่ว่าจะฝังใจไปจนตาย ฝังใจมันก็จางกับอันแรก จางจากที่กระทบครั้งแรก นี่มันจางไปๆ นี่คืออนัตตา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วต้องดับไป นี่คืออนัตตา ความหมายของอนัตตาเป็นอย่างนี้ แล้วนิพพานเป็นของจริง ถ้านิพพานเป็นอนัตตา นิพพานนี้ก็เหมือนกับกิเลสทั่วๆ ไป ก็ยังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็ยังต้องตายๆ เกิดๆ นิพพานยังต้องเกิดอีกหรือ? นิพพานต้องแปรสภาพอีกหรือ?
ฉะนั้น นิพพานถึงไม่ใช่อนัตตา นิพพานถึงผลักออกจากวัฏฏะไป นิพพานเป็นที่อยู่ของนิพพาน หนึ่งเดียวอยู่นั้น เอโก ธัมโม เป็นเอก หนึ่งไม่มีสอง คือไม่มีของคู่ สิ่งใดในโลกนี้เป็นของคู่หมด มืดคู่กับสว่าง ทุกข์คู่กับสุข ดีใจคู่กับเสียใจ ทุกอย่างเป็นของคู่หมด ของคู่แปรสภาพหมด แล้วของคู่ที่สัมผัสกัน เกิดสิ่งที่ ๓ ขึ้นมา ไปเรื่อยเฉื่อยไปหมดเลย นี่คือโลก
ธรรมคือการปฏิบัติธรรม ธรรมคืออนัตตานี่แหละ คืออนัตตา คือศีล คือธรรม
ธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตา เพราะธรรมมันมีหยาบขึ้นมา จากอนุบาล ประถม มัธยมขึ้นไป ธรรมต้องปฏิบัติขึ้นไป มรรคหยาบๆ ขึ้นมรรคละเอียด นี่ต้องเป็นอนัตตา ถ้ายึดเป็นอัตตาไม่ได้ อัตตามันแบบว่าถ้าเป็นโสดาบันจะเป็นสกิทาคามีไม่ได้ เพราะมันยึดตาย แต่มันแปรสภาพได้เพราะมันเป็นอนัตตา ธรรมนี่คืออนัตตา แต่นิพพานไม่ใช่ มันเหนือธรรม เหนือโลก ธรรมเหนือโลก เป็นธรรมล้วนๆ ธรรมฉุดออกไป ฉุดออกไปจากทุกๆ อย่าง ถึงเป็นเอโก ธัมโมไง ธรรมทั้งแท่ง ธรรมทั้งแท่งกับธรรมแปรสภาพ กับโลกที่เป็นทุกข์ๆอยู่นี่ โลกเรานี้เป็นทุกข์ๆ อยู่ โลกเขาเรียกว่าโลก ต้องมีน้ำธรรมมาดับ
ธรรม ธรรมคือการประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ธรรมนี้เป็นอนัตตาเพราะมันหมุนไป สัพเพ ธัมมา อนัตตาถูกต้อง สัพเพทุกอย่างนี้เป็นอนัตตาหมด เพราะมันแปรสภาพหมด แปรสภาพให้ดีขึ้น เรานะธรรมแปรสภาพให้ดีขึ้น ทุกข์แปรสภาพให้เลวลง ทุกข์มันทำให้เกิดความทุกข์ แต่ธรรมแปรสภาพอยู่ แต่แปรสภาพให้ใสสะอาด แปรสภาพให้กรองขึ้นๆ จนถึงจุดหนึ่ง จนถึงจุดหนึ่งกำจัดอวิชชา
อวิชชาปัจจยา สังขารา อวิชชา ปัจจยาการให้เกิดสังขารปรุงแต่งทั้งหมดในโลกนี้ ดับหมด! ดับหมด! ดับแล้วเป็นนิพพาน แล้วมันจะแปรสภาพได้อย่างไร? มันถึงค้านกับอนัตตา ค้านสุดๆ ค้านกับอัตตาด้วย โมฆราชไปถามพระพุทธเจ้า ปฏิบัติเองโดยไม่เข้าใจไง มองโลกนี้มันว่างหมดเลย ว่างแบบฌาน ว่างแบบสมาบัติ โอ๋ย โลกนี้ว่าง ไปถามพระพุทธเจ้า
โลกนี้ว่างหมดเลย ไม่มีอะไรเลย เหมือนกับผมนี่สิ้นหมดแล้ว ถามพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าบอก โลกนี้ว่างหมดเลย โมฆราช แต่เธอต้องกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิที่ว่าตัวเองไปเห็นว่าโลกว่าง
ถ้าเราบอกว่าโลกว่างอยู่ นี่ใครเห็นโลกว่าง? พระพุทธเจ้านั่งอยู่นี่ อวกาศมันไม่มากราบพระพุทธเจ้า อวกาศไม่ไปบอกพระพุทธเจ้าเลยว่าอวกาศนี้ว่าง เพราะอวกาศมันไม่มีชีวิต อวกาศมันพูดไม่ได้ แต่ถ้าเขาบอกโลกว่างอยู่คือมันมีความรู้สึกที่ตัวมันเอง มีอัตตานุทิฏฐิอยู่อันหนึ่ง มีจุดที่ว่าเข้าไปกระทบได้ ตัวใจแท้ๆ ตัวจิตนั้นมันไปบอกเขา เพราะมันดูอยู่ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าให้หันกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิที่ตัวเองไปเห็นทั้งหมดนั้น พระโมฆราชถึงเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาตั้งแต่ไปหาพระพุทธเจ้านั้น
นี่อัตตาก็ไม่ใช่ อัตตาจะว่างขนาดไหน อัตตาทำสมาบัติขนาดไหน มันมีตัวมันเองอยู่ เหมือนกับว่าเราฆ่าคนทุกคนเลย เราเป็นเจ้าอิทธิพลใหญ่ เราฆ่าคนหมดเลย แล้วเราอยู่ ทำไมไม่เอาปืนส่องหัวตัวเอง? ทุกคนกลัวตาย ทุกคนกลัวเจ็บปวด อัตตาเป็นอย่างนั้น แต่อนัตตานี่แปรสภาพขึ้นมา เพราะอนัตตาทำลายอัตตามา อัตตานี่มันยึด นู่นก็ของเรา นี่ก็ของเราๆ เห็นไหม พิจารณาจนกายนี้เป็นของเรา สักกายทิฏฐิเป็นของเรา ปล่อย.. เป็นพระโสดาบัน
พิจารณากายออกมาเป็นธาตุ เป็นขันธ์ ให้กายแยกออกโดยความเป็นจริง กายนี้เป็นของเราอยู่แต่มันเนื่องกันอยู่ พิจารณาซ้ำเข้าไป แยกออกไปเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต นี่เป็นพระสกิทาคามี พระสกิทาคามีอยู่แล้ว จิตนี้มันเชื่อมไปด้วยกาม จิตนี้มันเกิดๆ ดับๆ อยู่ มันสะสมมาด้วยกาม มันเป็นกามราคะอยู่ในจิตใจ พิจารณาซ้ำเข้าไปอีกเป็นพระอนาคามี เป็นพระอนาคามีนี่ชำระออกเรื่องของกามราคะ เรื่องของโอฆะทั้งหมด
โอฆะคือกามทั้งหมดออกจากหัวใจไปแล้ว มันปล่อยออกจากขันธ์ ออกจากความรู้สึกไปหมด ไปเป็นอัตตาไง ไปเป็นพรหมหนึ่งเดียว เป็นเอโก ธัมโมไง โลกนี้ว่างหมด ทุกอย่างไม่มีเลย ไม่มีหมด แต่มันเป็นขันธ์ ๑ ไง เป็นขันธ์ ๑ เพราะกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิตัวนี้ไง ถึงเป็นนิพพานออกไป เห็นไหม นิพพานจึงไม่ใช่อัตตา นิพพานถึงไม่ใช่อนัตตา
แต่ในภาคปฏิบัติ ในภาคปฏิบัติคือในอรรถ ในความเป็นจริง แต่ในพยัญชนะ เห็นไหม กฎหมาย กฎหมายมันตีความ พระไตรปิฎกก็ตีความ ตีความทั้งนั้นแหละ ทีนี้การตีความไปแล้ว ถ้าตีความแล้วรอบคอบ มันต้องดูคำถามก่อน คำถาม คำตอบ ธรรมนี้ถามเรื่องนี้ ท่านจะตอบเรื่องนี้ แต่ถ้าตอบอย่างนี้ปั๊บ เขาชักไปเกี่ยวกับเรื่องอนัตตามันก็เป็นไปได้
คำถามกรณีนี้ ถึงบอกเลยว่าเวลาดูกฎหมาย นักกฎหมายเขาสอนมานะ ถ้าดูกฎหมาย เอากฎหมายมาเถียงกัน เขาบอกว่าถ้าเถียงกันแล้วให้กลับไปดูนิยามกฎหมาย นิยามกฎหมายว่ากฎหมายข้อนี้ กฎหมายบัญญัตินี้เขาบัญญัติมาเพื่ออะไร? นิยามกฎหมายจะบอกว่าเพราะมีเหตุนี้ๆๆ แล้วถึงมาบัญญัติกฎหมายข้อนี้ เขาให้ย้อนกลับไปดูที่นิยามของกฎหมาย แล้วจะเอากฎหมายนั้น เพราะคุมเกี่ยวกับเรื่องนิยามนั้น นิยามกฎหมายหมายถึงมีกฎหมาย
นี่ก็เหมือนกัน ผู้ถามถามเรื่องนี้ ถามเรื่องนิพพาน แล้วท่านตอบให้เป็นนิพพาน ท่านไม่ได้ตอบให้เป็นอนัตตาหรอก ไม่ได้ตอบให้เป็นอนัตตา ถ้าตอบให้เป็นอนัตตาท่านพูดเรื่องอนัตตาแล้ว ต้องพูดถึงการแปรสภาพแล้ว นี่ท่านพูดถึงว่า เห็นไหม ฟังสิ
เห็นไหม? ดับปั๊บ...
มีไหม?
ไม่มี
เรานึกออกไหม?
ออก
เห็นไหม มันไม่มี ไฟมันดับไปแล้ว มันไม่มี แต่นึกภาพออกไหม? ออก นึกภาพไฟออกไหม? ออก นี่นิพพาน พระไตรปิฎกมันชัดๆ ทั้งคำถาม ชัดๆ ทั้งคำตอบ ชัดๆ ทั้งคำสืบถามว่าเข้าใจไหมด้วย แล้วทำไมมาแปรกันเป็นอนัตตา งง... งงมากๆ ทั้งๆ ที่ว่าเอ็งก็อ่านพระไตรปิฎก ข้าก็อ่าน ข้าก็อ่านพระไตรปิฎกข้อเดียวกันนั่นแหละ แต่ข้าตีความอย่างนี้ เขาตีความอย่างนั้น
นี่ถึงว่าพยัญชนะ อรรถ ถึงว่าพยัญชนะเราไม่ได้นะ ถ้าเราได้นะเราจะพูดเลย เรื่องสมาธินะ สมาธิ เห็นไหม ในบทสวดมนต์ ถ้ามีศีล ศีลที่บริสุทธิ์จะทำให้เกิดสมาธิที่บริสุทธิ์ เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิที่บริสุทธิ์ สัมมาสมาธินะจะทำให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่บริสุทธิ์นี้สามารถทำให้ก้าวถึงวิมุตติ หลุดพ้นไง
ศีลที่บริสุทธิ์นะ ศีลเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ วางพื้นฐานดีจะเกิดเป็นสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้าเกิดมีศีลไม่บริสุทธิ์จะเกิดสมาธิไหม? มีสิ เวลาที่เขาทำไสยศาสตร์กัน เห็นไหม ศีลเขาไม่บริสุทธิ์เขาก็เกิดสมาธิได้ แล้วก็เอาสมาธินี้ไปทำในสิ่งที่ทำให้ครอบครัวแตกแยก ทำคุณไสย นี่เป็นไสยศาสตร์ เห็นไหม นี่แล้วว่าสัมมาสมาธิทำให้เกิดปัญญา
(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)