เรื่องวิชาการ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้วันธรรมสวนะ วันธรรมสวนะ วันนี้วันพระ วันพระวันฟังธรรม แล้วพอฟังธรรม ธรรมเป็นอะไรล่ะ? ธรรมะมันแปลกปลอม เวลาตอนนี้ให้นักวิชาการมาวิเคราะห์ศาสนา เห็นไหม ที่ว่าหนังสือพิมพ์ลงว่านี่เป็นตัวแทนของฝ่ายศีล อันนี้เป็นตัวแทนของฝ่ายสมาธิ อันนี้เป็นตัวแทนของฝ่ายปัญญา มันจะเหมือนทางโลกไง เฉพาะทางเฉพาะเหตุไป แต่ความจริงมันลงแล้วมันต้องเป็นมัคคะอริยสัจจังนะเว้ย
มันเด่นว่าเด่นทางศีลนะ คนมันเด่นทางศีล หรือเด่นทางสมาธิ หรือเด่นทางปัญญา แต่เสร็จแล้วต้องรวมเป็นอริยสัจทั้งหมด เป็นมรรครวมตัวมันถึงจะเป็นธรรมแท้ไง แต่ถ้าเด่นปัญญา เด่นไปเฉยๆ แต่มรรค ๘ ไม่สามัคคี ไม่เป็นภาวนามยปัญญา มันก็เป็นปริยัติทั้งหมดแหละ เขาแบ่งกันอย่างนั้นเลย แล้วเวลาเราเทศน์กัน เห็นไหม ทำไมต้องทาน ศีล ภาวนาล่ะ? ทาน ศีล ภาวนา เขาศีล สมาธิ ปัญญา ทำไมมันแบ่งออกไปเป็นศีล สมาธิ ปัญญา
ทีนี้ว่าทาน ศีล ภาวนา ศาสนาสอนเรื่องทาน เรื่องการให้เฉยๆ หรือ? ตัวศาสนานี่ตัวอริยสัจ แต่ทาน ศีล ภาวนาเป็นเครื่องเข้าสู่ตัวสัจธรรมต่างหากล่ะ เป็นทางดำเนิน เห็นไหม อริยสัจก็เหมือนกันมันเป็นทางผ่าน สัพเพ ธัมมาถึงเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายนี้ถึงเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาเพราะมันเป็นยาน ยานส่งเราขึ้นไป ยานส่งเราขึ้นไป ส่งใจเราขึ้นไปนะ ส่งใจเราขึ้นไป นี่ทาน ศีล ภาวนา เราสังเกตการทำทานของเราสิ ทำทานแล้ว ถ้ามองทางโลกเขาว่าเป็นการเสียไป แต่ถ้ามองในทางธรรม นี่เราได้หรือเขาได้? คนรับไม่ได้ คนให้ต่างหากถึงได้
เราให้ไป เราสละออกไป แต่คนรับรับด้วยความสุข คนให้นี่ได้นะ แต่ถ้าโลกมอง มองว่าคนรับนี่ได้ คนให้ไม่ได้อะไร คนให้มีแต่เสียไป แต่คนรับได้ ไอ้คนจะให้ ถ้าใจไม่สูงส่งกว่าสิ่งที่ให้ มันจะให้ได้ไหม? ของหามา นี่ของหามาด้วยน้ำพักน้ำแรง เหนื่อยทั้งนั้นแหละ แต่เราสละออกไป นี่ยานส่ง ส่งให้ใจมันสูงขึ้นๆ ทาน ศีล ภาวนานี้เป็นยานส่งขึ้นไป เป็นพาหะนำไปเข้าถึงธรรมต่างหาก ท่านถึงสอนทาน ศีล ภาวนา ต้องมีทานก่อนมีศีล มีภาวนา
นี่มันก็ยังไม่ใช่ตัวสัจธรรม ตัวสัจธรรมมันเป็นตัวธรรมตัวหนึ่ง ตัวอริยสัจ สัจจะจริงๆ อยู่ภายใน แต่ตัวเข้าหาสัจจะไง ต้องทำให้พวกเราเข้ามาถึงก่อน วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ วันนี้เป็นวันพระ เป็นวันฟังธรรมไง เพราะได้มาให้ทาน มาเข้าวัด แล้วมาฟังธรรม เข้าวัดวัดอะไร? วัดที่ใจ วัดที่ไหน? วัดนี่เป็นวัตถุนะ นี่สร้างเป็นวัดก็เป็นวัดขึ้นมา เวลาย้ายวัด ถอนวัด วัดก็ไม่ใช่ ก็เป็นแผ่นดินของโลกนั้นไป วัดที่ใจไง ไปวัด วัดใจเรา นี่วุฒิภาวะของใจเพิ่มขึ้นหรือลดลง นี่ข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม
พระก็เหมือนกัน พระขยัน พระทำงานทำการ นี่วัตรปฏิบัติ มันนั้นไม่ร้างไง ถ้าวัดร้างเห็นไหม เข้าไปวัดไหนมีแต่ความสกปรก ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย วัดร้าง ไม่มีข้อวัตรปฏิบัตินะ วัดเป็นตัววัด แต่ข้อวัตรเป็นข้อวัตร เหมือนกับพระธุดงค์ พระธุดงค์ธุดงค์ที่ไหน? ธุดงค์ที่ว่าห่มผ้าเข้มๆ หรือ? ไม่ใช่หรอก ห่มผ้าเข้มๆ ร้านขายผ้า ผ้าเต็มตู้ดีกว่าอีก
พระธุดงค์อยู่ที่ธุดงควัตร ๑๓ ไง ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร อาสนะเดียวเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร เห็นไหม นี่วัตรของพระธุดงค์ พระธุดงค์อยู่ตรงนี้ วัตร ๑๓ ธุดงควัตรไง เครื่องหมายของพระธุดงค์ ธุดงควัตรคือข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัตินั้นมันก็ห่มผ้าเฉยๆ เหมือนกันแหละ พระเหมือนพระ เห็นไหม วัดใจ ข้อวัตรปฏิบัติ
นี่ก็เหมือนกัน เรามาวัดมาได้ถวายทานก็มีข้อวัตร แล้วก็ดูกระทบเข้ามาที่ใจ อย่างบอกเขา เมื่อวานเขาจะมาหา ดูอย่างอาจารย์ท่านว่าสิ เช่นกราบพระ เรากราบพระพุทธรูป กราบถึงพระหรือกราบถึงพระพุทธเจ้า เวลาอาจารย์ถามว่าเวลามากราบพระกัน กราบถึงพระไหม? กราบถึงพระไหม? เราว่าทำไมไม่ถึง ก็กราบอยู่นี่ กราบพระอยู่นี่ แต่กราบพระทองเหลืองไง กราบพระเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าไง
ถ้ากราบพระถึงพระ คือว่าใจเราน้อมไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เรากราบพุทธคุณไง กราบพระนี้เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ กราบถึงพระพุทธเจ้า เป็นสัญลักษณ์ให้เรากราบกันเอง มันเป็นกิริยาที่เรากราบ แต่ใจมันน้อมไปถึงนั่น น้อมไปถึงปัญญาคุณ ไปถึงเมตตาคุณ ไปถึงปัญญาเราเชื่อไง พวกเราเป็นคนตาบอด เป็นตาบอดคือว่าหลับตาคลำกันไป แต่ถ้าพูดถึงเพราะมีแผนที่ มีเครื่องดำเนินขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราถึงตามไปได้
ฉะนั้น พอเมื่อวานที่ว่าเขามาวิเคราะห์เรื่องตัวแทนของศีลใช่ไหม? กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของศีล กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของสมาธิ กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของปัญญา เอาอะไรมาวิเคราะห์? เอาวิชาการมาวิเคราะห์ ไอน์สไตน์บอกไว้ยังอยากนับถือศาสนาพุทธเลย ไอน์สไตน์บอกว่าถ้าเลือกได้ขอเลือกนับถือศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีเหตุและผล แล้วเข้าถึงได้ ปัญญาอย่างนั้นยังเข้าไม่ถึง แล้วนี่เขามาวิเคราะห์พระนะ แล้วพระที่ปฏิบัติถึงจุดแล้วบอกว่า พระกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของศีล กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของสมาธิ กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของปัญญา
ถ้าเป็นตัวแทน เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม ถ้าวิเคราะห์อย่างนั้นมันก็วิชาการกับวิชาการเข้ากัน เขาไม่เคยเห็นมรรคสามัคคีไง เราจะวิเคราะห์ ถ้าวิเคราะห์แบบนักวิชาการนะ เราต้องแยกกระเพาะเรา เวลากินข้าวเข้าไปนี่ อันนี้เป็นพริก อันนี้เป็นแกง อันนี้เป็นกะทิ อันนี้เป็นเกลือ แยกได้ไหม? ถ้ามันแยกไม่ได้เพราะอะไร? เพราะมันคลุกเคล้ากันแล้วเข้าไปอยู่ในกระเพาะ แล้วอาหารที่มีคุณค่ามันจะให้เรา
ธรรมก็เหมือนกัน ดำริชอบ ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ การงานชอบ วิริยะชอบ สมาธิชอบ แล้วต้องรวมกันทั้งหมด ต้องมีปัญญาหนุนมาแล้วจะออกมา รวมเข้าไปแล้ว เห็นไหม ถึงที่ในมุตโตทัยหลวงปู่มั่นบอก ถ้าเป็นเจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ มันแยกออกมา แต่ถ้าเวลาเข้าไปถึงตรงนั้นแล้วมันไม่มีปัญญาหรือเจโตวิมุตติ มันต้องเป็นอันเดียวกันก่อน อันเดียวกันคือว่าจะเป็นทางไหนมา มรรคต้องสามัคคี มรรคต้องเหมือนกัน มรรคต้องรวมตัว มรรคต้องเข้ากันพอดี แล้วมันถึงชำระกิเลสได้ไง
แต่ถ้าเราไปแบ่งแยกอย่างนักวิชาการที่เขาแบ่งแยก มันแบ่งแยกออกไปเป็นอย่างนั้นปั๊บ มันแบ่งแยกออก เห็นไหม มันไม่รวม ก็เลยกินข้าวไม่เคยอิ่มไง เรากินข้าวอิ่มไม่ได้ เพราะมันเป็นส่วนสัด มันไม่รวมกัน อย่างอาหารนี่ถ้าเราทำแกง ถ้ามันไม่รวมกันมันก็เป็นไปไม่ได้ เราถึงบอกว่านักวิชาการนั้นวิเคราะห์ถูกหรือวิเคราะห์ผิด
ทีนี้เพียงแต่ว่าไอ้นี่ทำได้ เขาบอกว่าทำได้ เป็นวิชาการ เราเห็นด้วยทำได้ แต่ถ้าอย่างนี้ เราเชื่อไปอย่างนี้ๆ ไป แล้วเราภาวนาไปเราหลงทางกันไง ที่พูดนี่เพราะกลัวเราหลงทางใช่ไหม? ถ้าอย่างนี้เด่น เรามาทางนี้แล้วมันจะไปได้ ไม่ได้หรอก สุดท้ายแล้วมันก็เหมือนเงินนี่ เงินนั้นมันต้องสมคุณค่าของมัน มันถึงจะเป็นเงินได้ ถ้าเราไม่สมมุติขึ้นมา กระดาษนี่เป็นกระดาษหมดเลย แต่ถ้าพิมพ์ออกมาแล้วรัฐบาลรับประกันนี่เป็นเงิน ถ้ายังไม่รับรองเป็นเงินไม่ได้ แม้แต่พิมพ์แล้ว แล้วยังไม่ออกใช้ เก็บไว้ในคลังก่อน เห็นไหม ยังออกมาเป็นเงินไม่ได้ เพราะยังไม่ประกาศใช้ ต้องประกาศใช้
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าธรรมมันปฏิบัติไป มันประกาศขึ้น ปัจจัตตังรู้ขึ้น เห็นขึ้น ไม่กล้าพูดอย่างนั้นหรอก เพราะมันแบ่งออกไปเลย แบ่งออกไปเป็นส่วนๆ ความจริงมันเดินเข้ามา อิงกันอยู่ถูกต้อง ศีล สมาธิ ปัญญาต้องอิงกัน ศีล สมาธิ ปัญญานะอิงกันขึ้นมา อย่างมรรคนี่เวลาแยกออกไปแล้วก็ว่าส่วนนี้ ๓ ข้อนี้เป็นปัญญา ๓ ข้อแรกนี่เป็นปัญญา ดำริชอบ ความเห็นชอบนี่เป็นปัญญา เป็นของฝ่ายปัญญา แล้วอันนี้เป็นฝ่ายของสมาธิข้างล่างใช่ไหม? เป็นฝ่ายของศีล พวกงานชอบเห็นชอบนี่เป็นฝ่ายของศีล แล้วสมาธิ นี่เป็นฝ่ายของสมาธิ มันก็ศีล สมาธิ ปัญญาเหมือนกัน ฉะนั้น มันต้องรวมกัน เห็นไหม รวมตัวกันออกมาเป็นผลงานไง
เวลามันเป็นประโยชน์หรอก ถ้าอย่างนี้ถึงเห็นด้วย เห็นด้วยเพราะว่าเราเป็นประโยชน์ หมายถึงว่าเราภาวนาไปจะได้ไม่หลงทางไง พูดเพื่อแบบว่าไม่ให้หลงทาง อย่าไปเชื่อตรงนั้น รับฟัง มันอิงกัน มันเป็นไป แล้วมันจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าแยกออกมาอย่างนั้นเลยมันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่เป็นประโยชน์สำหรับเวลาภาวนาไง เพราะเวลาภาวนาไปยึดตรงนั้นปั๊บ พอภาวนาไป เอานั้นไปมันไม่เข้าหรอก ก็เหมือนกระเพาะอาหารมันต้องกลับมาเป็นกระเพาะอาหาร นี่ธรรม ธรรมอันนั้นต่างหาก ธรรมอันที่จะเป็นไปนะ เป็นธรรม
นี่วันธรรมสวนะ อันนั้นเป็นเครื่องดำเนิน เป็นทางเข้ามาไง เป็นยานส่งเข้ามา เป็นยานส่งเข้ามาหมายถึงว่าถ้าเราขึ้นยานถูก เราทำถูก เราเป็นธรรมแล้วทำให้ดี จะเข้าถึงของเราได้ ถ้าเราขึ้นยาน เรามีความเห็น ความเห็นนั้นไม่เหมือนข้างนอกนะ ความเห็นถ้ามันเชื่อแล้วมันจับเลย พอมันจับแล้วมันติดที่นั่น ถึงนิวรณธรรมไง นิวรณธรรมเครื่องกั้นจิตไม่ให้จิตเข้าเป็นสมาธิไง กั้นจิตไม่ให้เป็นสมาธิ เห็นไหม
นี่เมื่อวานที่เขามาด้วยกัน เขามาถามปัญหา อีกคนลงสมาธิแล้วเงียบหมดเลย อีกคนลงสมาธิบอกรู้ตลอดเวลา แล้วเขาเข้าใจว่าถูกทั้งคู่ไง
เราบอกว่า คนที่ลงสมาธิเข้าไป ลึกเข้าไปๆ จิตมันจะรู้ตลอดเวลา
เขาบอก รู้ตลอดเวลาเลย แล้วถอนขึ้นมาแล้วทำงานอยู่จิตก็ยังเป็นสมาธิอยู่
เราบอก ไม่ใช่หรอก จิตเวลาถอนออกมาแล้วมันอยู่ปัจจุบันธรรม คืออยู่กับหน้าที่การงานแล้ว แต่ไอ้ที่ว่ายังเป็นสมาธิอยู่ นั้นคือผลของจิตต่างหาก เราทำงานขึ้นมา ผลก็คือจิตใจมันเป็นหลักไง ใจมันเป็นหลัก เห็นไหม มันมีสติอยู่ แม้แต่ออกมาทำงานแล้วมันยังระลึกรู้อยู่ถึงอารมณ์เก่าของมันครึ่งหนึ่ง ออกมาครึ่งหนึ่ง มันมีหลักเรื่อยๆ ถ้าสมาธิเราเข้าไปเรื่อยๆ มันจะตรึกตรงนั้น เห็นไหม
เขาบอกว่า แม้แต่ทำงานก็มีสมาธิอยู่... ใช่ สมาธิอยู่ เพราะจิตมันตั้งมั่นอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าจิตจะอยู่ในสมาธิ ถ้าอยู่ในสมาธิงานนั้นมันต้องเสียงาน ทำไมทำงานถูกต้อง?
แล้วอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า เขาลงเหมือนกัน ลงไปเลยนะ แล้วหายไปเลย
เราบอก ลงอย่างนี้ผิด ลงอย่างนี้ตกภวังค์ ถ้าลงอย่างนี้นะมันพุทโธ พุทโธแล้วพึ่บหายไปเลย แล้วรู้สึกตัวอีกที อย่างนี้ใช่ไหมเป็นอัปปนาสมาธิ ต้องถอนออกจากตรงนั้นมาวิปัสสนา
บอกผิด อันนี้ผิด อันนี้ตกภวังค์เลย เพราะว่าพอมันกำหนดไปแล้วหายไปเลย เขาเข้าใจว่าอันนี้เป็นอัปปนาสมาธิไง สมาธิที่ลึกไง เราบอกเขา บอกว่า ถ้าอัปปนาสมาธิกำหนดเข้าไป เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเป็นสมาธิอย่างเดียวเข้าไป เข้าไปแล้วมันภาวนาไม่ได้
อัปปนาสมาธิเข้าไป เหมือนกับเราเข้าฌาน มันไปนอนอยู่ มันเป็นสมาธิ คนเราพักผ่อนอยู่ทำงานไม่ได้ ต้องถอนมาอุปจารสมาธิ อุปจาระ เห็นไหม อุปจาระคือวงรอบของสมาธิ สมาธินี้รับรู้อะไรได้ สมาธินี่จะรับรู้อะไร? จะรับรู้อารมณ์ได้ สมาธิรับรู้แล้วยกขึ้นวิปัสสนาได้ไง วิปัสสนาตรงอุปจารสมาธิ แต่อัปปนาสมาธิเข้าไปนี้เพื่อไปพักผ่อนเอาแรง เอาแรง เอาพลังงาน เอาเป็นเอกภาพ จิตนี้มันไม่วอกแวกวอแว มันเป็นหนึ่งเดียว แล้วถอนออกมาทำงานเป็นหน้าที่เดียว
ทีนี้ถ้าจิตเขาหายไปเลยนี่เขาตกภวังค์ เพราะตกภวังค์แล้วก็เหมือนกับน้ำไหลมาเป็นร่องน้ำมา อย่าเข้าร่องน้ำเก่า ถ้าเราปล่อยน้ำไปตามร่องน้ำเก่ามันก็ตกภวังค์อีก เรากำหนดพุทโธ พุทโธไว้ เหมือนกั้นเขื่อนไว้ กั้นเขื่อนไว้ๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธตลอด จนเขื่อนนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ พอน้ำมันจะล้นเขื่อนให้มันไปทางอื่นไง ให้มันลงเป็นสมาธิไปไง อย่าให้ลงทางเก่า ถ้าลงทางเก่ามันก็จะลงไปอย่างเก่า ลงไปภวังค์อย่างเก่า
กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธไว้ เหมือนเรากั้นเขื่อนไว้ เรากั้นเขื่อนแล้วน้ำไหลมา เป็นไปได้ไหมว่าน้ำมันจะไม่ล้นเขื่อน มันต้องล้นเขื่อน แต่เราต้องพุทโธ พุทโธไว้ตลอด ไม่ยอมให้มันมาทางนี้ไง ให้มันลงไปทางสมาธิ ให้เป็นความจริงไง ให้มีสติไว้พร้อม ไม่ใช่ให้ตกภวังค์พั่บหายไป ถึงบอกกำหนดพุทโธ พุทโธไว้ แล้วไม่ต้องไปสนใจว่าจะเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ เพราะมันกลัวจะไม่เป็นสมาธิไง มันจะปล่อยแล้วมันก็จะลงทางเก่า ให้เขาแก้อย่างนั้น
นี่มาด้วยกัน แต่ ๒ คนนั้นเข้าใจว่าถูกทั้งคู่ไง แต่ทางฝ่ายที่ภวังค์เขาเข้าใจว่าอันนี้เป็นอัปปนาสมาธิ คือมันลึกเกินไป เขาลงไปแล้วเขาไม่ได้พิจารณาอะไรเลย ไม่ได้พิจารณาสิก็มันหายไปเลย แล้วเขานึกว่าอัปปนาต้องถอนขึ้นมาถึงจะมีความรู้สึกไง มันไม่ใช่ถอน ถ้าเป็นอัปปนามันก็ลงไปเหมือนกัน แต่มีสติพร้อม สติระลึกรู้ตลอดเวลา สักแต่ว่ารู้ ลึกเท่าไหร่ก็สักแต่ว่ารู้ รู้ตัวตลอด ไม่มีการคลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว จะรู้ตัวตลอดเลย นี่คือสมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสมาธิ แต่ภวังค์วับหายไปเลยแล้วขึ้นมา เราบอกอันนี้จะมาวิปัสสนาก็ไม่ได้ เพราะมันตกภวังค์ไป มันเป็นพรหมลูกฟักไง มันแทบจะไม่ให้พลังงานอะไรเลย เพียงแต่สมาธิมันไปค้างอยู่
นี่มาด้วยกัน เห็นไหม พูดถึงถ้าจิตมันลงอย่างนั้นแล้ว เข้าใจว่าก็อยู่อย่างนั้นแหละ แล้วถ้าไม่แก้มันจะไปเรื่อยๆ นะ จะตกลึกไปเรื่อยๆ จะตกลึกไปเรื่อยๆ แล้วจะไปเรื่อยๆ มันจะหนาไปเรื่อยๆ แล้วแก้ยาก เหมือนกับโลกเหมือนกัน นี่จิตเราตกภวังค์ ต้องถอนทันทีเลย พยายามแก้ให้ได้
ศีล สมาธิ ปัญญา ขนาดตรงนี้เข้าไปมันก็เข้าไปติดแล้ว เข้าไปติดคือว่าเข้าไปไม่เข้าใจ มันเป็นการลองผิดลองถูกไง เป็นประสบการณ์ตรง เป็นประสบการณ์ตรงนะ จิตต้องเข้าไปสัมผัสเองมันถึงเป็นปัจจัตตัง ถึงจะรู้เท่าตามความเป็นจริงไง ถ้าเราศึกษามาขนาดไหนมันกู้ยืมมา เมื่อวานเราก็บอกเขาบอกกู้ยืมพระพุทธเจ้ามา กู้ยืมมาคือว่าเรียนมา จำมา กู้ยืมมาหมดเลย
รู้ รู้ในกรอบหนึ่ง แต่จิตใต้สำนึกไม่สามารถถอนตัวนั้นได้ แต่ถ้าประสบการณ์ตรงมันตอกเข้าไปถึงจิตใต้สำนึกเลย เพราะมันต้องออกมาจิตใต้สำนึก แล้วมันจะแก้ตรงนั้นได้ ชำระกิเลสได้ตรงนั้น นี่ประสบการณ์ตรงก็ต้องเข้าไปปฏิบัติ คราดไถลงไปที่หัวใจเลย ภวาสวะไง เนื้อนา เนื้อภพของใจ
ฟังแล้วเขาก็พอใจอยู่ รู้สึกเขาจะพอใจอยู่นะ แต่ว่าแล้วอาทิตย์หน้ามาก็มาแก้กันใหม่ วันนี้วันพระ เพราะว่าวันนี้วันฟังธรรมก็ต้องฟังธรรมหน่อย วันธรรมสวนะไง