เทศน์เช้า

อาหารใจ

๗ พ.ค. ๒๕๔๒

อาหารใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราถึงอยากแสวงหาเงินมากๆ เพื่อที่ว่าเราจะมีความสุขไง เราอยากจะแสวงหาเงินมามากๆ มีเงินแล้วว่ามันจะเป็นความสุข มันไม่จริงนะสิ เพราะเราคิดอย่างนั้นเราถึงมองแค่วัตถุไง พระพุทธเจ้าสอนถึงเรื่องของจิตใจ เรื่องของใจ เรื่องของนามธรรม วัตถุก็สอน บุญกุศลก็สอนอยู่ สอนให้เป็นบุญกุศล แต่เวลาเสร็จแล้วมันต้องรวมลงที่ใจ เพราะว่าข้ามพ้นทั้งบุญและบาป

ที่ว่าแจกหนังสือๆ นี่เห็นไหม เด็กมานี่เราบอกเลย อาหารให้ใส่ปาก กินเข้าไปเลยท้องมันอิ่ม เด็กมันรู้ได้แค่ว่าอิ่มแล้วมันมีความสุข แต่หัวใจกินอะไรเป็นอาหาร แม้แต่ให้หนังสือไป บอกว่าให้หนังสือน่ะให้อาหารเห็นไหม อาจารย์มหาบัวถึงว่าให้หนังสือไปอ่าน เราลองอ่านหนังสือสิ หนังสือนี่ว่าเป็นอาหารของใจ แต่หนังสือนั้นต้องเป็นหนังสือธรรมะ ถ้าเป็นหนังสือประโลมโลกยิ่งอ่านเข้าไปมันยิ่งคิดตามในโลก มีได้ มีเสีย มีอะไรเห็นไหม หนังสือมันซับเข้าไปเป็นอาหารของสมอง อาหารของปัญญา อาหารกาย อาหารสมอง อาหารสมองต้องเป็นอาหารที่ถูกต้องด้วย ถ้าอาหารสมองเป็นอาหารที่ผิดเข้าไปมันยิ่งรุนแรงเข้าไปใหญ่

ดูสิ เด็กที่มันดูทีวีหรือมันอ่านหนังสือเรื่องฆาตกรรม แล้วมันเอาไปฆ่ากันน่ะ นั้นเอามาจากไหน เด็กเวลามันฆ่ากันมันก็ศึกษามาจากตำรานั่นล่ะ แล้วก็วางแผนไปฆ่ากัน นั่นอาหารสมอง แต่อาหารสมองในทางที่ผิดไง ถึงว่าอาหารสมองต้องอาหารสมองในทางที่ถูก เพราะว่าสมองนี้เป็นตัวเริ่มต้น พระพุทธเจ้าบอกว่า “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” ถ้าดำริดีมันดีไปหมดเลย ถ้าดำริผิด อาหารสมองที่ผิด ไปซ้ำไปเติมไง ถึงต้องมีการฟังธรรมเห็นไหม

ฟังธรรมนี่ พระพุทธเจ้าถึงว่าฟังธรรมเมื่อกี้ที่ว่านี่ อันนั้นผิด อันนี้ถูก อันนั้นผิด อันนี้ถูก ถึงไม่ให้ทำไง แต่เรามันไม่เข้าใจ เพราะความไม่เข้าใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ กิเลสสิ้นไปแล้วถึงได้วางธรรมะไว้ให้เราพวกเราเดินไง แต่ผู้ที่บัญญัติ ผู้ที่เป็นเจ้าลัทธินั้นกิเลสเต็มตัวไง กิเลสเต็มตัวแล้วก็เป็นการจินตนาการแล้ววางขึ้นมา คิดด้วยกิเลส กิเลสพาคิดทุกอย่างก็ต้องเป็นกิเลสหมด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ด้วยหัวใจแล้วไม่มีพลาดไง คือว่าครบวงจรในเรื่องของหัวใจ ในเรื่องของจิต ครบวงจรคือเข้าใจการเกิดดับของจิต เข้าใจกิเลสมันจะเสี้ยมออกมาตรงไหนไง เราถึงบอกว่าอันนี้เป็นการเสี้ยมของกิเลส อันนี้ถึงไม่ให้ทำ อันนี้ไม่ให้ทำๆๆ แต่ผู้ที่ยังไม่สิ้นจากกิเลส มันจะมีเรื่องของกิเลสนี้ซ้อนออกมาจากความคิดนั้น มันมีตามน้ำ มีแซงหน้า มีแซงหลัง มีคอยจะเอานั้นออกมาเป็นผลประโยชน์ อย่างน้อยๆ ก็เพื่อยกตัวเองให้สูงขึ้น ถึงว่าถ้าคิดแบบนั้นมันถึงไม่ตรงกับความเป็นจริงไง ไม่ตรงกับธรรมะ

ธรรมะนี่ที่ว่าอ่านแล้วมันเข้าไปขวางใจ อ่านธรรมะใหม่ๆ ทุกคนปวดหัวเลย มันเข้าไปดับไง ดูสิ ไฟเห็นไหม เราสาดน้ำมันเข้าไปนี่ลุกจรดเมฆเลยนี่ ไฟเราสาดน้ำเข้าไปสิ ฟู่ ดับนะ สาดน้ำเข้าไปนี่มันจะแรงมากเลย มันจะเกิดปฏิกิริยานะ น้ำกระเด็นออกมานะ ความร้อนถึงตัวเรา แต่มันดับ

ธรรมะก็เหมือนกัน น้ำสะอาด น้ำธรรม เข้าไปกดหัวใจเรานี่ มันไม่ยอมรับหรอก ใหม่ๆ ใครจะยอมรับ เหมือนกับสาดน้ำเข้าไปในน้ำมันนั่นล่ะ แต่สาดแล้วมันดับ กับสาดน้ำมันเข้าไปสิ กิริยาทางโลกที่อ่านที่ว่าเป็นประโลมโลกน่ะ มันเหมือนกับสาดน้ำมันเข้าไปที่หัวใจ ยิ่งสาดเข้าไปมันยิ่งจรดเมฆนะ แต่มันพอใจเพราะอะไร เพราะว่าเป็นเราไง อู้ย มันน่ะ อู้ฮู สะใจเนาะ อู้ฮู เรานี่เยี่ยมเนาะ นี่กิเลสมันไสไปยังไม่รู้ว่าเป็นมันเห็นไหม แต่ถ้าอ่านธรรมะนี่มันขวางใจ มันขัดใจเห็นไหม

ไปถามอาจารย์นะ คำก็กิเลส สองคำก็กิเลส แล้วเราจะแก้อย่างไรล่ะ ไอ้คำว่ากิเลส สองคำก็กิเลส เพราะว่าสิ่งที่มันขัดใจมันก็ว่าเป็นกิเลส แต่มัคคะอริยสัจจัง ที่ว่าวิธีการหลบหลีกไง กิเลสที่ว่าต้องเห็นผลของมันไง มันให้ผลเป็นความทุกข์ ต้องเห็นคุณและเห็นโทษ ถ้าเราเห็นแต่โทษนะ แล้วไม่เคยเห็นคุณของมันเห็นไหม นู่นก็เป็นโทษ เพราะความทุกข์ปัจจุบันนี้ทุกข์อยู่แล้ว

มาวัดนี่ลำบากไหม มาวัดนี่ต้องขวนขวายนะ เงินทองก็หายากนะ อุตส่าห์ขวนขวายมาเพื่อจะมาหาบุญกุศลนั้น เพื่อจะเปิดให้ใจนี่มันเปิดทางออกไง แค่เราแหวกทางออกนะนี่ แหวกทางที่ว่าเราจะมีทางไป กับอั้นตู้อยู่นี่ เกิดมาทั้งชาติอั้นตู้อยู่นี่ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ตายไปพร้อมกับมนุษย์นี่ ประกอบอาชีพไปวันๆ หนึ่ง ลืมตาข้างเดียวนี่ ประสบชีวิตในโลกนี้ไง กับพยายามจะเปิดชีวิต แหวกม่านออกไป หาทางออกนี่ ขวนขวายมา มาแล้วนี่ถึงว่าให้ฟังธรรมไง ธรรมตรงนี้ถึงว่าเอามาบังคับจิตใจ เอามากดถ่วงจิตใจ เห็นคุณเห็นโทษ ในโลกก็ทุกข์อยู่แล้ว ปฏิบัติทุกข์มากกว่า

งานใดๆ ในโลกนี้ อาจารย์มหาบัวพูด ไม่มีการสละชีวิตนี่ งานการนั่งการปฏิบัตินะ การปฏิบัติตัวเอง สละแม้แต่ชีวิตนะ สละชีวิต ฟังสิ ไอ้มือปืนที่ว่ายิงกันนั้นเป็นการเสี่ยงกัน เป็นการดวนกัน เป็นการต่อสู้กันมันมีแพ้มีชนะ แต่นี้มันกดตัวเองนะ กดตัวเองนี่แสนยากนะ เพราะเวลาไปนั่งอยู่นี่ คิดดูสิงานนี่มันหนักขนาดไหน ถึงว่ามันทุกข์ไง การปฏิบัตินี่คือว่ามันเป็นความสุข ไม่ใช่

เหตุที่การปฏิบัตินี้เป็นความทุกข์ ทุกข์ของการปฏิบัติมันถึงหนักกว่าทุกข์ของโลกไง ทุกข์ที่เราประกอบอาชีพนี้เราก็ว่ายากอยู่แล้ว ทุกข์เพื่อจะเอาชนะใจของตนเห็นไหม ทุกข์เป็นอริยสัจไง มันทุกข์ไง มันถึงว่าบุรุษที่เป็นอาชาไนยถึงจะเอาชนะตนเองได้ เอาชนะตนเองให้อยู่ในกรอบก่อนไง แล้วยังไปเอาชนะตนเอง ชนะกิเลสอีกชั้นหนึ่ง นี่โทษของมัน ถึงว่าเห็นเป็นโทษไง แต่ผลให้คุณค่ามหาศาล ให้คุณค่าของการพ้นออกไป ธรรมะล้างจนสะอาดหมด

สิ่งใดๆ ที่ทุกข์ในหัวใจ กังวลทุกข์ร้อนนี่ เราจะเห็นว่างานหนักๆ นะ เหงื่อไหลไคลย้อย อันนั้นเป็นงานทุกข์นะ เป็นงานใหญ่ ไม่จริงหรอก งานหนักๆ นี่มันทุกข์ของร่างกาย อารมณ์นิดหน่อย ลองเราเป็นผู้ใหญ่ เราคิดถึงลูกสิ อาลัยอาวรณ์ในหัวใจน่ะ ไอ้ที่นิ่มๆ อ่อนๆ ในหัวใจนะ ที่นอนอยู่ในหัวใจ อาลัยอาวรณ์ การคิดถึง อันนั้นน่ะทุกข์มาก มันเป็นไฟสุมขอนอยู่ในใจ ไฟสุมขอนอันนี้เห็นไหม อุปกิเลสอยู่ในใจนี่ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส หมองด้วยอุปกิเลสนี่ ความอาลัยอาวรณ์ ความโง่นอนเนื่องในใจ อนุสัยนอนในใจ นั่นล่ะตัวเชื้อ สุขแท้แล้วต้องทิ้งมันตรงนั้น สุขแท้นะ ไอ้ที่ว่างานข้างนอก หยาบที่ทุกข์ๆ มาน่ะ มันเป็นไกลๆ มันเป็นเรื่องข้างนอก

เรื่องของข้างใน เรื่องของความเฉาของใจ ใจมันเฉา ใจมันฟู่ อันนั้นต่างหากล่ะ ตัวนั้นตัวสำคัญ นี่อวิชชาปัจจยา สังขารา อยู่ที่ใจถึงว่าย้อนกลับมา เราไปมองข้างนอกไง เลยว่าอันนั้นหนัก อันนั้นหนัก แต่จริงๆ คือตัวนี้หนัก หนักจนเราจับต้องมันไม่ได้ เราไม่เห็นมัน ถึงว่ามันลึกไง กิเลสนี้อยู่ในหัวใจ อยู่ลึกมาก แต่เราไม่สามารถ ถึงต้องมีทาน มีศีล ศีลขอบเขต จากที่ว่าในทะเลนี่ เราเห็นแต่ทะเลกว้างขวาง แต่ไอ้ปลาวาฬ ปลาฉลาม ในทะเลมหาศาล ไม่เคยเห็นเลยเพราะมันอยู่ในน้ำ มันกว้างมากเลย ความคิดแต่เดิมเราปล่อยเหมือนทะเล มันไปสุดเขตสุดแดนนะ คิดถึงพรหมโลกมันก็คิด แต่เราไม่เคยเห็นเลย แล้วเราว่าเป็นเราเห็นไหม มันกว้างจนเราจับไม่ได้ ถึงต้องมีศีล พอมีศีลมานี่เริ่มขัดใจแล้ว นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ นี่ขอบเขตกั้นเข้ามา เอาตาข่ายลงไป เอาอวนเอาแหไปกันปลาเข้ามาถึงจะเห็นแล้ว

ทาน ศีล ภาวนา แต่เดิมมันไม่มีตรงนี้นี่นา นี่ถึงว่ามันถึงกว้างขวางมาก เรื่องศาสนานี่มหาศาลเลย อาจารย์มหาบัวท่านพูดนะ เวลาจิตหลุดพ้นไปแล้วมันเหมือนมังกร พญานาคอยู่ในกลางอากาศเห็นไหม สามโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรไปปิดบังมันได้ ฟังสิ จิตนี้ครอบสามโลกธาตุ หัวใจมันใหญ่ขนาดไหน ความคิดเราไปได้หมดสามโลกธาตุ นี่มันถึงกว้างมาก กว้างมหาศาล เพราะเราเจอพุทธศาสนา พุทธศาสนานี่เอกมาก เอกจริงๆ เราถึงว่าจับต้องกลางของความคิดเราได้ ขยายไปทั่วสามโลกธาตุเลย แล้วจิตอันนี้มันสงบ จิตนี้มันชำระล้างได้ ทำไมมันจะไม่ครอบสามโลกธาตุ ทำไมเทวดาต้องมาฟังธรรมพระพุทธเจ้า เทวดาต้องมาฟังธรรมนะ แม้แต่พรหมต้องลงมาฟังธรรม ฟังธรรมะสอน เพราะเขาอยู่ในชาตินั้นเขายังไม่รู้ตัวเลย เพราะมันกว้างขวางอย่างนี้ไง

นี่ธรรมะ ธรรม ถึงว่าศาสนาพุทธเราเยี่ยมมาก นี่การศึกษา การอ่านหนังสือนี่ อ่านหนังสือเข้ามานี่มันเป็นธรรม กับอ่านเข้ามาในหัวใจ อาหารของสมอง เป็นอาหารของสมองนะ เป็นจินตมยปัญญา แล้วต้องปฏิบัติขึ้นมาให้ได้อย่างนั้น ให้ได้อย่างนั้นโดยเป็นปัจจัตตังนะ ไม่ใช่ได้อย่างนั้นด้วยการจำนะ ได้อย่างนั้นด้วยการจำนี้เป็นจินตมยปัญญาทั้งหมด ได้อย่างนั้นตามความเป็นจริงคือปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน เกิดขึ้นจำเพาะหัวใจนั้น หัวใจนั้นเป็นหัวใจที่คิดออกไปจากกิเลส พลิกออกจากความสกปรกเป็นความสะอาดไป เพราะจิตใจสะอาดอย่างนั้น คนดีผีคุ้ม เห็นไหม

นี่การทำบุญมันถึงได้บุญอย่างนั้น บุญจริงๆ พ้นออกไป ทำบุญที่ใจไง คือว่าใจกับใจมันทำกันเองได้ แต่ก่อนจะเข้าเราก็ต้องมีทาน มีศีล มีภาวนา เข้ามา จากข้างนอกเข้ามา ขดเข้ามาไง จากข้างนอกเข้ามา ขยับเข้ามาๆๆ แต่ถ้าข้างในออกไป เอาข้างในก่อน ยังไม่ได้ปฏิบัติ ยังไม่ได้เป็นปัจจัตตัง ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า แล้วไปบัญญัติก่อน ไปทำก่อน นั่นล่ะมันเป็นความคิด มันถึงไม่ครบวงจร มันจะไปติดขัดอย่างที่ว่านั่นล่ะ

บัญญัติไว้ๆ แล้วทำไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าให้บัญญัติเหมือนกัน แต่บัญญัติอยู่ในขอบเขตของเวลาไง เช่น อาหาร ๓ เห็นไหม อาหารที่ว่านี่อาหาร ๓ อย่าง อาหารหยาบ อาหารกลาง อาหารละเอียด

เขาว่านะ เขาบอกว่ากินอาหาร ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วมันจะเป็นบุญกุศลน่ะ พระพุทธเจ้าอดอาหาร ๔๙ วัน พระเราอดอาหาร อดอาหารนี่ไม่กินเลย มันยิ่งไม่ได้บุญมากกว่าเหรอ คนไม่กินอะไรเลย ไม่เบียดเบียนใครทั้งสิ้นเลย กินแต่ลม กินแต่น้ำ ไม่เบียดเบียนสัตว์เลย นั่นล่ะอดอาหารเพื่อจะเอาชนะกิเลสไง การอดอาหารนั้นก็ไม่ใช่วิธีการเห็นไหม เพื่อจะให้จิตใจนี้อ่อนลง อ่อนลงมาเพื่อจะไม่ให้ธาตุขันธ์นี่ทับจิตใจ เสร็จแล้วเราเริ่มทำมานี่ เป็นวิธีการไง

ถึงว่าตอนพระพุทธเจ้าปฏิบัติแล้วว่าไม่ถูกทางไง บอกว่าเราทำแล้วไม่ได้ ต่อไปพระอย่าทำ เพราะว่าพระทุกคนหรือคนทำทุกคนคิดว่าการอดอาหารหรือวิธีการนี้จะเป็นทางที่ถูกต้อง แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าใครอดอาหารเพื่อเป็นกลอุบาย ฟังสิ เป็นอุบายวิธีการนะ อดอาหารเพื่อจะให้ร่างกายนี้เบา ปฏิบัติไปเพื่ออันนี้มันเป็นวิธีการหนึ่ง เป็นอุบายหนึ่งที่จะพลิกใจออกไป เราตถาคตอนุญาต ท่านอนุญาตให้อดอาหาร ให้ผ่อนเห็นไหม อาหารหยาบ อาหารกลาง อาหารละเอียด อาหารหยาบๆ ก็นี่เนื้อสัตว์ อาหารกลางก็คือผัดกับผัก อาหารละเอียดคือว่าพวกผัก ก็บัญญัติอยู่แล้วอาหาร ๓

ในเนื้อ ๓ อย่างอีก บัญญัติไว้หมด คือว่ากิเลสคนไม่เหมือนกัน นิ้วคนไม่เท่ากัน ความเห็นคนไม่เหมือนกัน แต่กิเลสทุกดวงใจสามารถชำระได้หมดนะ ดวงใจทุกดวงใจสามารถชำระกิเลสได้หมดเลย เพียงแต่ว่ามีกำลังพอไหม มีกำลังพอที่จะสลัดไปตั้งแต่ชาตินี้ไหม ถ้าสลัดได้ทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องต่อไป

นี้บางองค์หยาบ บางองค์ละเอียด แม้แต่พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล วิธีการสอนก็สอนคนละอย่างๆ ไม่เหมือนกัน แล้วพอสิ้นกิเลสไปแล้ว ทางไหนเป็นทางที่ถูกต้อง ถึงว่าการเข้าหาความสงบนี้ ๔๐ ช่องทาง แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้วไม่มีขอบเขต ปัญญาไม่มีขอบเขตเลย แล้วแต่ว่าปัญญาของใคร ปัญญานี้กว้างกว่าความสงบ กว้างกว่าสมาธิมหาศาลเลย นี้คือผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ววางไว้ไง ถึงว่าไม่มีขอบเขตว่าต้องเฉพาะเจาะจงอย่างเดียว จุดนี้อย่างเดียว ถนนสายไหนก็ได้ ทุกทิศ ถ้าเป็นจุดศูนย์กลางนั้นได้หมด กรุงเทพมหานคร ถนนทุกสายที่ผ่านเข้าไปไปได้หมด สายไหนก็ได้ แต่ต้องให้ถูกต้อง

ถูกต้องหมายถึงว่า ไปบนถนน ไม่ใช่ไปเดินบนคันนาโน่น ลงไปถนนไปก็จะดำไปๆ ไม่มีถนนไป ไม่สามารถจะเอารถยนต์ไปได้ ถ้าเดินไปๆ ได้อยู่ ถึงจะไม่ใช่ถนนแต่ถ้าเดินเอานะ

มรรคเหมือนกัน เดินเข้าใจไง เดินเข้าไปที่อวิชชาไง ทำลายอวิชชาหมดแล้วก็จบ นี่ฟังธรรม ว่าฟังธรรมไง อ่านหนังสืออาหารสมองน่ะ ถึงอาหารสมองแล้วเราก็ต้องเลือก ต้องอ่านนะ ไม่ใช่เข้าไปที่ใจ อาหารสมอง สมองนี้เป็นแค่ควบคุมร่างกายนะ แต่จริงๆ แล้วคือจิต ดูสิ เวลาคนที่สมองเสื่อม ทำไมมันยังไม่ตายล่ะ สมองนี้เป็นแค่สวิทซ์คุมร่างกายเท่านั้น เป็นปลายประสาท ประสาทควบคุม เหมือนห้องบัญชาการนั่นล่ะ คือว่าสมองนี้บัญชาการร่างกาย แต่ความจำคือสัญญา คือเรื่องของหัวใจ เรื่องของหัวใจไม่ใช่สมอง แต่สมองนี้เอาวัตถุมาว่ากันก็ต้องว่ากันตามวัตถุนั้น โลกถึงยอมรับไง

มีอาหารใจแล้ว กินอาหารใจแล้ว ต้องเปลี่ยนนิสัย ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าได้เปลี่ยนพฤติกรรมแล้วเราก็จะพัฒนาได้ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในเวลาปฏิบัตินะ ในเวลาที่เราจะเอาชนะตนเอง ในเวลาที่เราจะเป็นคนดี เราต้องดูพฤติกรรมของเรา แล้วเราจะพยายามเปลี่ยนไป ไม่อย่างนั้นจะมีธุดงค์ทำไม มีศีล ๒๒๗ แล้วนะ ยังมีศีล ๒๑,๐๐๐ นะ เสร็จแล้วยังมีธุดงควัตรอีกนะ กลางคืนนี้ไม่นอนเลยเห็นไหม เพื่อจะดัดตนไง ฤๅษีดัดตน ตบะธรรมเผาหัวใจไง เผาหัวใจแล้วจะเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนจริต เปลี่ยนความคิดไง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนสิ้นจากกิเลส อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือว่าลูกศิษย์ในสมัยพุทธกาลแล้วอันนั้นหมดเรื่อง

ความคิดนี้ก็เป็นแค่สมมุติ เกิดแวบๆๆๆๆ เท่านั้นเอง จับไว้มันก็คิด อาจารย์มหาบัวท่านบอกอยู่ ถ้าเวลาความคิดเราจะจับไว้นะ ขันธ์จะพิจารณาก็ได้ ถ้าเราไม่จับนะ มันจะเกิดดับเกิดดับอยู่ที่กลางหัวใจตลอด ความคิดน่ะเกิดดับเกิดดับกลางหัวใจ คือว่ามันก็เกิดดับในธรรมชาติของมัน เหมือนพระอาทิตย์ขึ้นลง มันต้องขึ้นลงอยู่อย่างนี้ตลอดไป แต่เราแค่รับรู้เฉยๆ เห็นไหม เราไม่ตามไง

แต่ถ้าเราจะพิจารณานะ เราก็บ่ายแล้วเนาะ ตอนนี้ก็จะเที่ยงแล้วนะ ตอนนั้นพระอาทิตย์จะตกแล้วนะ คือว่าเราคำนวณเวลากับมันไปด้วย เราเอาอันนั้นมาเป็นอารมณ์คือจับพิจารณา แต่ถ้าไม่พิจารณาเราก็เฉย มันก็ต้องขึ้นตกเหมือนกัน นี่คือขันธ์ นี่มันอยู่ที่กลางหัวใจนี่ อย่างนั้นแล้วไม่มีปัญหา

ถึงว่าจริตนิสัยเดิมของครูบาอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน แต่ขณะที่จะเข้านี่ปัญหา ขณะปฏิบัตินี่ปัญหา ปัญหาเพราะอะไร เพราะว่าอันนี้ถ้าเราปล่อยไปแล้วนี่ มันยิ่งหนักหน่วงไปเรื่อยๆ เหมือนกับกรีดน้ำ แต่นี่เรากรีดใจ ความประพฤตินี้มันลงที่ใจ กรรมมันเกิดที่ใจ มโนกรรมเกิดขึ้นแล้วความคิดมันจะย้อนกลับมาที่มโนกรรมนั้น แผลที่มโนกรรมนั้นมันจะลึกๆๆ กรรมมันจะสะสมไปๆ อยู่ที่ดวงใจนั้น ดวงใจนี้เกิดดับไปพร้อมกับกรรมที่มันสร้างไว้ไง

ถึงว่าเวลาจะปฏิบัติสำคัญมาก เว้นไว้แต่พ้นออกไปแล้ว อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดๆ เพราะว่าดวงใจไม่มี มโนมิงปิ นิพพินทะติ ฐานของภวาสวะ ภวาสวะคือฐานของจุดหมายของการเกิดดับ ฐานกระทบมันไม่มี มันถึงขีดไม่ได้ไง ไม่มีสิ่งใดขีด มารมองไม่เห็น มารตามไม่เจอ มารไม่สามารถรู้ว่าเกิดที่ใด แต่ถ้ายังเป็นผู้ปฏิบัติ เราปฏิบัติกันอยู่นี้มารมันขี่คอหัวเราะ ไม่เจอเหรอ กูขี่คอมึงอยู่นี่ ไม่เจอเหรอ มึงคิดตามข้า ข้าสั่งให้เอ็งคิดเอ็งไม่รู้อีกเหรอ ไอ้ที่ว่าฉลาดๆ นั่นน่ะใต้ความคิดของกิเลสทั้งหมดเลย

นั่นฟังธรรมแล้วต้องย้อนกลับมาที่เรานะ อันนี้คืออาหารใจ มีอาหารกายแล้วต้องมีอาหารใจ อาหารใจเราพัฒนาสูงขึ้นๆ ให้เป็นผู้ที่ว่าเราพบพุทธศาสนาแล้ว อย่างที่ว่ามีตะกร้าตักตวงศาสนธรรมเท่าไหร่เข้าหัวใจเรา เกิดมาพบพุทธศาสนา เยี่ยม ประเสริฐมาก คิดดูโลกปัจจุบันนี้ทั้งโลกนี้กี่พันล้าน ชาวพุทธกี่สิบล้าน แล้วประพฤติปฏิบัติกี่คน แล้วเราเป็นคนหนึ่งทำไมเราไม่ภูมิใจในวาสนาของเรา อันนี้ถึงว่าน่าภูมิใจมาก คือภูมิใจแล้วใกล้เกลือกินด่างไหม ใกล้ศาสนาแล้วหยิบฉวยใส่หัวใจเราไหม

อันนี้สำคัญอีกอันหนึ่งนะ นี่ถึงว่าวาสนาๆ อยู่ตรงนี้ต่างหาก อยู่ที่เรา อยู่ที่พวกเรา อยู่ที่ใจของเรา คนอื่นไม่เกี่ยว ถ้าหัวใจเราเป็นไปได้เราทำได้ดีแล้วเยี่ยม นี่คืออาหารใจนะ อาหารกายเห็นไหม นี่มาถวายพระ วันนี้วันพระ กินเพื่อดำรงธาตุขันธ์ไป แต่อาหารของใจธรรมเท่านั้น อย่างอื่นไม่มี